เวทีพูนพลังครู ครั้งที่ 1: ครูผู้สร้างคุณลักษณะนิสัยที่ดีให้เด็ก

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเรื่องราวที่เป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดการพัฒนาเด็ก

โรงเรียนที่ครูตุ้มสอนเป็นโรงเรียนเล็กๆ เปิดสอนในระดับชั้น ม.1- ม.6 โรงเรียนแห่งนี้ ส่วนมากมีแต่เด็กที่อาจกล่าวได้ว่า “ด้อยโอกาส” เด็กๆส่วนมากถ้าเอาความจริงมาพูดจากการคัดกรองโดยใช้การประเมินSDQ และตัดสิน พบว่านักเรียนเรามากกว่า 80%ล้วนเป็นเด็กกลุ่มเสี่ยง และกลุ่มมีปัญหา ในด้านต่างๆเช่น ความสามารถด้านการเรียน ด้านสุขภาพทางร่างกาย-จิต ด้านครอบครัวเศรษฐกิจ ด้านการคุ้มครอง ด้านยาเสพติดและเพศนักเรียนส่วนมากมาจากโรงเรียนรอบนอกส่วนมากถูกคัดออกมาเป็นพิเศษ จากที่อื่นๆ อีกทั้งโรงเรียนของเรามีการรับนักเรียนเข้าเรียนเกือบตลอดทั้งปี

เด็กนักเรียนในโรงเรียน เรียกได้ว่าส่วนใหญ่มีต้นทุนในทุกๆด้านต่ำมากๆ เช่น ครอบครัวแตกแยกต้องอยู่กับปู่ย่าตายายญาติพี่น้อง บางคนต้องอาศัยวัด หรืออยู่ตามลำพัง ต้องหารายได้พิเศษ แม้มีผู้ปกครองๆ ส่วนมากต้องหาเช้ากินค่ำ ทำงานรับจ้าง หรือทำงานในโรงงาน เป็นส่วนมากออกจากบ้านแต่เช้ากลับมาก็มืดดึกไม่มีเวลาดูแล สนใจอบรมเลี้ยงดู ลูกหลาน เด็กๆจึงให้ความสนใจในการเรียนน้อยลง

โจทย์ของครู คือ ทำอย่างไรให้เด็กอยากมาโรงเรียนทุกวัน

เรื่องเล่าของครูคงยังไม่ไปถึงขั้นทำอย่างไรให้เด็กได้เรียนรู้และประสบความสำเร็จในทุกๆวัยแต่กลายเป็น “ทำอย่างไรให้เด็กๆ ได้มาโรงเรียนในทุกวัน ได้เรียนรู้และพัฒนาเห็นคุณค่าในตนเองบ้างแม้เพียงเล็กน้อย ก็ดียิ่งแล้ว” นั่นคือความสำเร็จของครูตุ้ม “อะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับลูกศิษย์” ครูตุ้มจะพยายามทำสิ่งนั้น ทั้งนี้ ต้อง ลด ละ เลิก อัตตาตนเองในความเป็น perfectionist ในแบบเดิมให้ได้มากที่สุด

กระบวนการสร้างการเรียนรู้และพัฒนาเด็ก

สิ่งหนึ่งที่ครูตุ้มพยายามปรับเปลี่ยนคือห้องเรียน (Classroom) ที่มักเอาแต่สอน สอน สอน (หนังสือ) เพื่อมุ่งเก็บคะแนน ให้มากที่สุด ใช้อำนาจจัดการกับเด็กๆเพื่อให้นิ่งและทำตามที่เราสั่ง-สอน ต้องเปลี่ยนให้กลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยเพื่อเอื้อให้เกิดการเรียนรู้ และสามารถประเมินเด็กจากกิจกรรม ในทุกๆวันให้ได้มากที่สุด

สาเหตุทางความคิดของการเปลี่ยนมาจากหลายประเด็นที่ถูกสะกิด จุดประกาย และซึมซับอยู่ในตัวครูตุ้มเริ่มจากย้อนไปเมื่อเกือบยี่สิบปีมาแล้วการมีความรู้สึกที่อยากให้เด็กของเรา รู้จักรักตัวเองรักและภาคภูมิใจในท้องถิ่นของเราให้มากขึ้น ด้วยความที่เห็นการเปลี่ยนแปลง (ในทางลบ) ของสังคมในพื้นที่ที่เกิดขึ้นมากมาย ตัวครูตุ้มค่อยๆเรียนรู้เพราะเป็นครูวิทยาศาสตร์ไม่ได้สอนสังคม แล้วจะปลูกฝังเด็กๆอย่างไร ความคิดที่จะบูรณาการการจัดการเรียนการสอน ก็เกิดขึ้นแบบไม่รู้ตัว

แนวทางที่เราคิดว่าคือทางออกในการแก้ปัญหาคือ การพัฒนาหลักสูตรวิทยาศาสตร์ท้องถิ่น ซึ่งใช้จัดการเรียนการสอนในลักษณะของหลักสูตรเพิ่มเติมทางวิทยาศาสตร์ ภายใต้ความเชื่อมั่นว่าเด็กทุกคนมีศักยภาพและสามารถเรียนรู้ได้ เราจึงพาเด็กๆเรียนรู้ในท้องถิ่นและทำโครงงานอย่างง่ายๆ และพัฒนาเรื่อยมา สิ่งเหล่านี้ทำให้ครูตุ้มค่อยๆตกผลึกและเข้าใจแนวคิดเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้ที่ต้อง Learning by Doing

จนมาถึงในปัจจุบัน เมื่อนำ Research-Based Learning (RBL) จากห้องเรียนเพาะพันธุ์ปัญญามาใช้เทคนิคสำคัญที่นำมาใช้ในห้องเรียนอย่างหนึ่งก็คือ ารใช้วิธีถามคือสอน ไล่ต้อนให้นักเรียนคิดหาคำตอบด้วยตนเอง ช่วงแรกๆยอมรับว่าเด็กกลัว ไม่กล้าเอามากๆ เพราะกลัวว่าตอบไม่ได้ อาย และไม่เคยชินกับการฝึกคิด ต้องตอบเดี่ยวๆ ด้วยตนเอง ครูต้องต้องหาแรงจูงใจบ้างเล็กๆน้อย เพื่อช่วยกระตุ้นเป็นแรงเสริม เช่น ครูจะให้ point ไว้เมื่อนักเรียนตอบ (กิจกรรมนี้พบว่าใช้ได้ผลดี และยังฝึกความกล้า ฝึกความซื่อสัตย์ คือเด็กจะมาบอกจำนวน point ที่ตัวเองได้สะสมไว้เมื่อหมดชั่วโมง ให้ครูบันทึกเก็บไว้ สามารถเป็นเทคนิควิธีหนึ่งที่ใช้ประเมินนักเรียนได้อีกด้วยแม้ว่าเป็นแรงจูงใจที่เกิดจากภายนอกก็ตาม ก็ยังดีกว่าไม่มีเลย) ครูพยายามปรับใช้เทคนิควิธีถามหลายๆแบบเพื่อฝึกให้เด็กมีโอกาสตอบคำถาม เด็กอาจกลัวไม่กล้า แต่ถ้าเราค่อยๆฝึกมากขึ้นเขาก็จะเริ่มชินและพยายามตอบมากขึ้นครูอาจต้องเริ่ม จากคำถามง่ายๆ ให้ค่อยๆคิดเชื่อมโยงเหตุ-ผล และเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้นตามลำดับและสถานการณ์ บางครั้งอาจใช้การตอบแบบสมัครใจ ยกมือตอบ แต่บางครั้งอาจต้องเปลี่ยนเป็นครูสุ่มเลือกให้ตอบ ไม่เช่นนั้นจะมีแต่เพียงคนที่กล้าตอบเพียงไม่กี่คนถ้าให้ยกมือตอบ จากการจัดกิจกรรมที่ผ่านมาพบว่าการสุ่มชี้จะกระตุ้นต่อมตื่นเต้นตลอด ว่าใครจะโดนถาม และยิ่งกว่านั้นบางคำถามเมื่อมีนักเรียนตอบแล้ว ครูก็จะสุ่มต่อไปเพื่อให้นักเรียนได้แสดงความคิดเห็นต่อคำตอบของเพื่อนอีกเป็นต้น ทำให้ห้องเรียนตื่นตัวตลอดเวลา นักเรียนได้เรียนรู้ ครูเองก็สามารถประเมินนักเรียนระหว่างทางได้ตลอดเวลาเช่นกัน (Formative Assessment)

เทคนิคอีกอย่างหนึ่ง ที่ครูตุ้มได้มาจากการทำห้องเรียนเพาะพันธุ์ปัญญาคือ การใช้กระบวนการจิตตปัญญา เพื่อให้เกิดการเข้าใจตนเองและยอมรับในความแตกต่างของผู้อื่น อยู่ร่วมกันได้อย่างมีความเข้าใจกันและกัน ครูตุ้มต้องสอนเด็กๆชั้น ม.1 ที่มาจากหลากหลายโรงเรียนซึ่งก็มักเป็นโรงเรียนรอบนอกที่ค่อนข้างด้อยโอกาสเช่นกัน และบางครั้งก็มีเด็กที่ตกค้างจากโรงเรียนดังๆ ในจังหวัดที่เรียนไม่จบ มาเข้าเรียนใหม่ การบริหารจัดการชั้นเรียนจึงเป็นไปด้วยความยากลำบากอย่างยิ่ง เด็กๆไม่พร้อมเรียนบ้าง เคยชินกับการเรียนแบบเดิมที่เรียนบ้างไม่เรียนบ้าง เรียนตามครูสั่งงานจากหนังสืออย่างเดียว เด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ เด็กขาดเรียน เด็กไม่ยอมรับเพื่อนบางคนเข้ากลุ่ม เด็กๆชอบฟ้อง ชอบแกล้งเพื่อน สารพัดมากมาย เวลาแบ่งกลุ่มเพื่อนๆที่อ่อนด้อยจะถูกผลักไส เพื่อนที่เก่งๆ จะเป็นแต่ผู้นำตลอดเวลา บางครั้งเมื่อคนเก่งมาอยู่ด้วยกัน ก็ไม่ฟังกัน คนที่อ่อนด้อยกว่าก็ไม่กล้าแสดงออก ขาดความสามัคคี ไม่ช่วยกัน เกี่ยงกัน สารพัดปัญหา ต้องปรับ ต้องแก้ไข พัฒนา ด้วยอย่างยิ่ง กระบวนการเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้งจากภายในตามแนวคิดของจิตปัญญาศึกษา จึงเป็นบทเรียนหนึ่งให้หยิบมาใช้จัดการชั้นเรียนของเรา ชั้นเรียนของเราบางวันจึงดูวุ่นวาย เสียงดังสนุกสนาน บางวันก็นิ่งเงียบ นั่งบ้าง นอนบ้าง จนมีครูอาจารย์ แวะเวียนมาสังเกตการณ์ว่ากำลังทำอะไร มีครูอยู่หรือไม่ ตัวอย่างที่ครูตุ้มนำจิตปัญญาศึกษา มาใช้ อย่างเช่น เกมเป็ดชิงพื้นที่ เพื่อให้เด็กคิดได้เองว่าเมื่อเราต้องทำงานร่วมกันให้สำเร็จเราควรยอมรับ-ทำอย่างไรบ้างเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามกติกาการใช้สุนทรียสนทนา การฟังแบบลึกซึ้ง การผ่อนพักตระหนักรู้เป็นต้นทำให้ครูได้รับข้อมูลป้อนกลับ เพื่อการปรับปรุงตนเองของนักเรียนและของชั้นเรียนได้เป็นอย่างดี สิ่งเหล่านี้ทำให้ครูสามารถบริหารชั้นเรียนได้ง่ายขึ้น

โครงงาน...เปลี่ยนเด็กห้องท้าย (เรื่องเล่าประทับใจของครู)

ตัวอย่างหนึ่งของการจัดการเรียนรู้ให้กลุ่มนักเรียนด้อยโอกาสห้องท้ายๆกลุ่มหนึ่ง จำนวน 16 คน ข้อมูลพื้นฐานคือ เด็กกลุ่มนี้เป็นเด็กผู้ชายล้วน ที่มีผลการเรียนต่ำมากมากๆ ประมาณเกรด 0-1-2 เฉลี่ยประมาณ 1 กว่าๆ มาโรงเรียนบ้างไม่มาบ้าง มาแล้วหนีไม่เข้าเรียนบ้าง พวกเขายกกันมาขอเรียนวิชาเพิ่มเติมวิทยาศาสตร์ชั้น ม. 2

ครูตุ้ม: “ก็รู้อยู่ว่าครูดุ แล้วทำไมจึงมาขอเข้าเรียนกับครู”

เด็กคนที่1: “ผมไม่รู้จะไปเรียนอะไรได้ บางวิชาเขาก็บอกว่าเต็มแล้วไม่รับ บางวิชาผมคงเรียนไม่รู้เรื่องแน่เลย”

เด็กคนที่2: “ผมรู้จักครูเพราะครูสอนวิทย์ผมตอน ม. 1”

แต่ละคนก็พรรณนากันไป ครูเองก็สะท้อนใจว่าเด็กไม่รู้ว่าจะไปทางไหนดี บางเส้นทางก็ปิดประตูไม่ต้อนรับ เพราะเด็กเหล่านี้ชื่อเสียงเลื่องลือ (ในทางลบทั้งนั้น) จนครูท่านอื่นๆไม่กล้ารับไว้ครูตุ้มทำความเข้าใจกับเด็กๆและสร้างข้อตกลงร่วมกันว่า

ครูตุ้ม: “ครูยินดีรับ ถ้าพวกเราแน่ใจว่ายินดีเรียนรู้ไปกับครู”

แน่นอนเด็กๆตกลงแม้มีบางคนกลัวๆกล้าก็ตาม แต่คงไม่รู้จะไปทางไหน ครูเองเริ่มเครียดเล็กๆว่าจะต้องสอนเด็กกลุ่มนี้ให้ทำโครงงานได้อย่างไร แถมเป็นโครงงานบนฐานวิจัย (ปกติมักจะเป็นเด็กห้อง1 ที่เลือกเรียนวิทยาศาสตร์เพิ่มเติม)

กระบวนการเรียนรู้เริ่มจากการให้เด็กๆได้มีส่วนร่วมในการร่วมกันคิด เพื่อให้เด็กรู้สึกได้ว่าได้เป็นเจ้าของการเรียนรู้ด้วยตัวเอง กิจกรรมเริ่มขึ้นจากการเลือกเรื่องทำโครงงานใครจะทำอะไรที่ไหน อย่างไรประเด็นหลักที่ได้ตกลงร่วมกันคิดในปีนั้นคือพื้นที่ดอนหอยหลอด และจึงค่อยๆหาว่าอยากเรียนรู้ในเรื่องเด็กๆยังอาจนึกภาพไม่ออก ครูจึงต้องพาลงพื้นที่ หาปราชญ์ชาวบ้านผู้ที่สามารถให้ข้อมูลเรื่องราวที่เกี่ยวข้องให้กับเด็กๆดูแล้วเด็กๆตื่นเต้นเพราะคงได้ไปเรียนรู้นอกห้องเรียน กระตือรือร้น หลายคนรีบลงพื้นที่ทำงานเก็บข้อมูล หลายคนไปแต่ยังไม่ได้ข้อมูลใดๆพอถึงเวลาในชั่วโมงเรียนให้รายงานความก้าวหน้า พบอุปสรรคมากมาย ไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ครูประเมินแล้วพบว่างานออกพื้นที่ไม่ใช่ปัญหาแต่งานด้านสืบค้นวิชาการที่ต้องนำข้อมูลมาใช้ประกอบกัน คงลำบากมากสำหรับกลุ่มนี้ สุดท้ายครูต้องช่วยหาทางเลือกให้นักเรียน ได้ปรับให้เกิดงานเรื่องใหม่ที่ได้จากการฟังข้อมูลของปราชญ์ชาวบ้านในพื้นที่พูดถึงการลดลงของทรัพยากรในอ่าวไทย จากสาเหตุต่างๆ ทำให้ครูต้องหยิบประเด็นนี้มาใช้เป็นประเด็นร่วมกันคิดใหม่ ช่วยกันสาวหาเหตุหาผลเท่าที่นักเรียนที่ไม่ชอบเข้าห้องเรียนแบบกลุ่มนี้จะพอคิดเหตุผลได้

สุดท้ายเราก็ได้ความคิดว่าเราจะลอง “สร้างบ้านปลา” ที่เลือกใช้วัสดุในพื้นที่ ทดแทนป่าชายที่ลดน้อยลงเพื่อเพิ่มพื้นที่ในการอนุบาลสิ่งมีชีวิตเล็ก “เรา” (ครู ปราชญ์ คนในพื้นที่และ นักเรียน) ช่วยกันวางแผนขั้นตอนการทำงาน ช่วยกันทำงาน เรียนรู้กับปราชญ์ชาวบ้าน เข้าป่าตัดต้นจาก ทำทุ่นลอยไปปล่อย และร่วมกันถอดบทเรียนสุดท้ายของงานคือเด็กๆต้องร่วมนำเสนอผลงานของตนเองในรูปแบบ Poster ในงานนิทรรศการเปิดบ้าน เป็นการฝึกฝนการสื่อสารและเพิ่มความกล้าแสดงออกให้มีมากขึ้น

ผลการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเด็กท้ายห้อง

ครูตุ้มพบว่า กิจกรรมการสร้างบ้านปลาจากวัสดุในพื้นที่ แล้วออกไปทิ้งจริงๆในทะเล นักเรียนสนุกสนานมีความสุข มาตามนัดหมายเพื่อการทำงานทุกๆครั้ง แม้วันที่ต้องมาเรียนในชั่วโมงเรียน จนมีครูบางท่านสังเกต แล้วบอกว่าแปลกใจนักเรียนกลุ่มนี้ จะมาโรงเรียนกันไม่ขาด ไม่หนีเรียน สงสัยเป็นเพราะเพื่อมาเรียนวิชาของครูตุ้มนี่เอง นี่เป็นการสะท้อนของเพื่อนครูบางคน

ครูเองจำภาพนักเรียนตื่นแต่เช้ามาตามการนัดหมายของปราชญ์ชาวบ้านที่ร่วมทำงานวิจัยกับเด็กๆในการทิ้งบ้านปลาในทะเลในขณะที่ปกติเด็กพวกนี้จะสายเสมอหรือไม่ก็ไม่มาเรียนในวันปกติภาพที่เห็นเด็กๆแบ่งงานการเตรียมวัสดุอุปกรณ์ งานต่างๆส่วนมากต้องใช้การลงแรง ตั้งแต่เริ่มหาวัสดุไปทดลองทิ้งเพื่อดูว่าจะถูกคลื่นวัดให้เคลื่อนที่หรือไม่ ต้องเข้าป่าตัดต้นจาก มาช่วยกันเตรียมผูกขวดเป็นทุ่นลอยกำหนดพื้นที่ในการศึกษาครั้งนี้เด็กๆสนุกสนานไม่เห็นการเกี่ยงกัน ช่วยกันทำงาน เมื่อถึงคราวที่ต้องลงทะเลก็ยิ่งตื่นเต้นแม้ต้องต่อสู้กับความหนาวเย็นในตอนเช้าและความร้อนในตอนกลางวัน คลื่นเบาๆในทะเลที่ทำให้เรือโครงเครงจนคลื่นไส้เวียนหัว แต่เด็กๆก็ช่วยกันทำงานจนผลงานเสร็จสิ้น ทำกันอย่างสนุกสนานแบบที่เรียกว่าได้เรียนรู้แบบไม่รู้ตัวจากการลงมือทำด้วยตัวเองเมื่อถึงเวลาถอดบทเรียนให้เป็นสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ในเรื่องระบบนิเวศ และความหลากหลายของทรัพยากรในท้องถิ่นของเรา ครูก็ให้นักเรียนสะท้อนการทำงานในวันนั้นที่บ้านปราชญ์ในพื้นที่ โดยการใช้ภาพวาดเพื่อการสื่อสารหรือใครสะดวกเขียนก็ตามถนัด ครูมีผู้ใหญ่บ้านมาช่วยประเมินทำให้เด็กๆตั้งหน้าตั้งตาและตั้งใจทำงานเป็นพิเศษ นอกเหนือความรู้ที่เชื่อมโยงได้ จากการทำงานนี้แบบไม่รู้ตัวแล้วครูยังมองเห็นพัฒนาการที่ดีเกี่ยวกับคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียน นั่นคือการเรียนรู้ที่มีความหมายของเด็กๆ ที่เกิดจากการร่วมกันคิดและลงมือปฏิบัติ เฝ้ารอคอยให้ถึงเวลาอย่างมีความสุขเพื่อเก็บข้อมูล จากของจริงๆที่สัมผัสได้ ไม่ใช่จากห้องสี่เหลี่ยมที่ครูจะต้องสอนความรู้ ให้ท่องจำเป็นตัวหนังสือ ที่กล้ารับรองได้ว่าถ้าทำเช่นนั้นกลุ่มเด็กๆเหล่านี้ก็คงไม่รู้เรื่องแน่นอน

สิ่งที่ครูได้เรียนรู้จากการสร้างการเรียนรู้

  1. การที่ครูตุ้ม นำ Research-Based Learning (RBL) มาใช้ ทำให้รู้ว่า ครูต้องเป็นยิ่งกว่านักเรียน ครูต้องเรียนรู้ตลอดเวลาหยุดไม่ได้เลย เด็กมีหลากหลายรูปแบบเราไม่สามารถจัดอาหารสำเร็จรูปแบบเดียว แบบเดิม แล้วบังคับให้เขากินได้ทุกรุ่นทุกคนได้ ถ้าเขาไม่ชอบเขาก็ไม่มีความสุข ก็จะไม่มีความหมายอะไรเลยสำหรับการเรียนรู้
  2. ครูพยายามปรับใช้เทคนิควิธีถามหลายๆแบบเพื่อฝึกให้เด็กมีโอกาสตอบคำถาม เด็กอาจกลัวไม่กล้า แต่ถ้าค่อยๆฝึกมากขึ้นเขาก็จะเริ่มชินและพยายามตอบมากขึ้น ครูอาจต้องเริ่ม จากคำถามง่ายๆ ให้ค่อยๆคิดเชื่อมโยงเหตุ-ผล และเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้นตามลำดับและสถานการณ์
  3. ครูตุ้มได้ปรับเปลี่ยน ได้ฝึกฝนหาเทคนิค เพื่อล่อหลอกยั่วยุให้นักเรียนได้ฝึกคิดด้วยตนเองมากขึ้น เด็กๆหลายคนสนุกและเมื่อเขาได้ฝึกคิดมากขึ้น เขาสามารถคิดตอบได้มากขึ้น สิ่งสำคัญที่ค้นพบอีกสิ่งหนึ่งคือ เด็กๆจะภูมิใจและเห็นคุณค่าในตัว ที่เกิดขึ้นภายในตัวตนเขาเอง ทำให้เขามั่นใจในตัวเองมากขึ้น