เวทีพูนพลังครู ครั้งที่ 1: ครูผู้สร้างคุณลักษณะนิสัยที่ดีให้เด็ก

สถานการณ์ที่เกิดขึ้น/เรื่องราวที่เป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดการพัฒนาเด็ก

นับตั้งแต่รู้ว่าตนเองต้องเข้ามาทำหน้าที่ครูในโรงเรียนขยายโอกาสของกรุงเทพมหานครตัวผมเองก็ได้ศึกษาข้อมูลเบื้องต้นของสภาพทั่วไปทั้งของโรงเรียน ชุมชน และนักเรียน โดยข้อมูลเบื้องต้นก็ทำให้ผมต้องปรับตัวพอสมควร เพราะข้อมูลแรกที่ทราบมาคือนักเรียนมีความหลากหลายมาก และส่วนใหญ่เป็นครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว เด็กนักเรียนอยู่ในชุมชนแออัดที่เต็มไปด้วยปัญหายาเสพติด และหลังจากที่เปิดเทอมและเข้าไปสอนในสัปดาห์แรกกับรายวิชาวิทยาศาสตร์พื้นฐานระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2-3 ก็ยิ่งทำให้ผมต้องตกใจ แต่ไม่ใช่เพราะเรื่องผลการเรียนต่ำหรือความเก่งไม่เก่งเลยเพราะนั่นคือปัญหาโดยทั่วไปที่ต้องเผชิญ แต่สิ่งที่ทำให้ผมค่อนข้างต้องปรับตัวพอสมควรคือ นักเรียนส่วนใหญ่ที่สอนมีพฤติกรรมความรุนแรงทั้งทางกาย วาจา และวิธีคิด ซึ่งบางห้องที่ผมสอนนักเรียนเกือบทั้งหมดอยู่ในสภาพที่ไม่พร้อมจะเรียน ห้องเรียนไม่มีกฏกติกา ทุกคนเคยชินกับห้องเรียนแบบเก่าที่อาจไม่ได้มีบรรยากาศเหมือนห้องเรียนมากนัก กับรายวิชาวิทยาศาสตร์ที่มีเนื้อหาค่อนข้างยาก ยิ่งเป็นปัญหาหนักเข้าไปอีก นักเรียนมีการต่อต้านรายวิชาตั้งแต่ชั่วโมงแรก และเมื่อรู้ว่าผมเป็นครูใหม่ ทุกอย่างก็ยิ่งท้าทาย ถาโถมเข้ามานับเท่าทวีคูณ

กระบวนการในการสร้างการเรียนรู้และพัฒนาเด็ก

ในช่วง 2 สัปดาห์แรกผมใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการศึกษาข้อมูลเฉพาะของนักเรียนที่ต้องสอนเกือบ 200 คนทั้งจากผู้อำนวยการโรงเรียน รองผู้อำนวยการ ครูฝ่ายปกครอง ครูพี่เลี้ยง และครูประจำชั้นบางท่าน เพื่อวิเคราะห์ว่าเหตุใดนักเรียนจึงเป็นเช่นนี้ และคำตอบจากครูหลายท่านมักออกมาในแนวทางเดียวกัน ซึ่งนั่น ก็คือนักเรียนส่วนมากอยู่ใน สถานะที่ครอบครัวแตกแยกหลายคนไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่ นักเรียนบางคนเผชิญปัญหาความรุนแรงในครอบครัว บางคนพัวพันอยู่กับปัญหายาเสพติดทั้งกับตนเองและครอบครัว หลายคนไม่รับความอบอุ่นจากครอบครัวใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการอยู่ร้านเกม เมื่อได้ข้อมูลดังกล่าวประกอบกับพูดคุยกับนักเรียนโดยเบื้องต้นก็พบว่ามีหลายสิ่งที่นักเรียนต้องได้รับการพัฒนา และปรับปรุงในบางลักษณะนิสัย โดยปัญหาที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงทั้งกาย วาจา และความคิดผมต้องใช้เวลานานพอสมควรเพื่อให้นักเรียนตระหนักถึงความสำคัญ แต่สิ่งแรกที่ผมทำคือ "เวลา" เนื่องจากการพบกันสัปดาห์ละ 3ชั่วโมงต่อสัปดาห์ทำให้มีโอกาสพูดคุยกันค่อนข้างน้อย ทุกเวลาที่อยู่ด้วยกันจึงสำคัญมาก ในทางตรงกันข้ามนักเรียนกลับไม่รู้สึกเช่นนั้นเลย เกือบทั้งหมดเข้าเรียนสาย เข้าห้องเรียนช้ากว่ากำหนด ไม่ส่งงาน ไม่ทำการบ้าน ส่งการบ้านไม่ตรงเวลา ซึ่งจุดนี้เองผมใช้เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงนักเรียนที่สอนทั้งหมด

ผมมานั่งรอนักเรียนหน้าห้องก่อนเวลาอย่างน้อย 5 นาทีเสมอ เพื่อให้นักเรียนเห็นว่าผมให้ความสำคัญกับเวลามากแค่ไหน ในช่วงแรกที่นักเรียนไม่ทันสังเกตก็อาจยังไม่รู้สึกอะไร แต่ผมทำอย่างสม่ำเสมอ จนกระทั่งเรื่องของเวลา เริ่มเข้ามาสำคัญกับเนื้อหาการเรียน กำหนดการส่งงาน ที่ทุกอย่างเริ่มถูกวางเงื่อนไขเรื่องเวลาอย่างเคร่งครัด ซึ่งในระยะแรกนักเรียนเกือบทั้งหมดส่งงานไม่ตรงเวลา ไม่ตระหนักถึงผลเสียที่เกิดขึ้นจากการส่งงานสาย และเมื่อถึงคราที่ครูตี๋เรียกเก็บงานนักเรียนก็จะไม่ส่งและยังคงคิดว่าจะไม่เกิดอะไรขึ้นกับตัวเอง แต่เมื่อผลของมันคือการลงโทษเชิงวินัย ให้นักเรียนทำงานส่งโดยเพิ่มปริมาณของงานเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวจนอยู่ในระดับที่ทุกคนตระหนักเห็นถึงผลเสียที่จะตามมาหากส่งงานไม่ตรงเวลา เวลา เช่น จากปกติ งานให้เขียน 1 หน้า หากส่งไม่ตรงเวลาจะเพิ่มเป็น 10-20 หน้าขึ้นอยู่กับจำนวนของวันที่ส่งช้า ผมสม่ำเสมอในกระบวนการนี้มาก จนท้ายที่สุดนักเรียนเกือบร้อยละ 95 ก็ส่งงานตรงเวลาทุกครั้งที่สั่ง นักเรียนหลายคนในระยะแรกจะไม่พอใจสิ่งที่ผมทำ หลายคนเบื่อ หงุดหงิด ไม่อยากเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ แต่เมื่อมาถึงจุดที่ทุกคนอยู่ในข้อตกลงที่ดีร่วมกัน และทุกคนก็อยู่ภายใต้กฏกติกาเดียวกัน นักเรียนทุกคนก็ตระหนักดีว่า สิ่งที่ผมทำไปมีเจตนาดีกับเขาทุกคน นักเรียนหลายคนร้องไห้เพราะเหนื่อย หลายคนท้อใจ หลายคนมานั่งร้องไห้กับผมว่าทำไม่ได้ ไม่ไหวแล้ว และต่อรองขอลดงาน แต่เมื่ออธิบายให้เขาเหล่านั้นฟังอย่างเป็นมิตร เขาเข้าใจผมมากขึ้น และรู้ว่าที่ผ่านมาผมมีเจตนาเช่นไรกับเขา

ผลการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเด็ก

นักเรียนเริ่มปรับตัวในช่วง 2 เดือนแรก หลายคนมีปริปากบ่น ต่อว่า บางคนแสดงอาการไม่พอใจอย่างชัดเจน บางคนเดินเข้ามาโวยวาย อันมาจากผลของการไม่ตรงต่อเวลาของตนเอง ซึ่งผมวางข้อตกลงไว้หลายประการที่เกี่ยวกับเวลา เช่น หากส่งการบ้านช้า จะเพิ่มปริมาณงาน หากเข้าห้องไม่ตรงเวลาจะถูกเรียนในเวลาพักกลางวัน หรือก่อนกลับบ้าน การปรับตัวในช่วงแรกของนักเรียนจึงเป็นไปด้วยความโกลาหลพอสมควร แต่เมื่อนักเรียนถูกย้ำเตือนเสมอทั้งด้วยจากคำพูด และสิ่งที่ผมแสดงออก นักเรียนก็เริ่มปรับตัวได้ใน 2 เดือน และหลังจากนั้นทุกอย่างก็เริ่มดีขึ้น นักเรียนเข้าห้องเรียนตรงเวลาทำให้ผมมีเวลามากพอที่จะเริ่มพูดคุยกับนักเรียนในต้นชั่วโมงของทุกๆคราบ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาการเรียน แต่จะเป็นเรื่องทั่วไปที่เป็นประโยชน์ทั้ง การเรียนต่อ อาชีพ กระแสสังคม วิธีคิด ซึ่งผมเองก็ใช้เวลานั้นเรียนรู้วิธีคิดของเด็กแต่ละคนไปพร้อมๆกัน เพื่อเข้าสู่จุดสมดุลระหว่างตัวผมและนักเรียน ในช่วงเทอมแรกของการสอนจึงเป็นช่วงที่ทั้งครูและเด็กนักเรียนได้ใช้เวลาเรียนรู้ซึ่งกันและกัน พูดคุยกันตลอดเวลาที่โอกาสจะอำนวย

เมื่อเข้าสู่เทอมสองของการเรียนทุกอย่างก็ยิ่งดีขึ้น นักเรียนส่วนใหญ่มีท่าทีที่ดีขึ้นต่อการเรียน การเข้าห้องเรียนช้าแทบจะเป็นศูนย์ ผมจึงมีเวลามากพอที่จะเริ่มสร้างทัศนคติที่ดีให้แก่นักเรียนทั้งแบบรายห้อง และรายบุคคลมากขึ้น การพูดคุยให้กำลังใจ เป็นไปอย่างต่อเนื่องกับนักเรียนหลายคน จนกระทั่งสิ่งแวดล้อมของห้องเริ่มอำนวยให้ใช้นวัตกรรมการเรียนแบบใหม่มากขึ้น ผมใช้หลักคือ ต้องทำให้นักเรียนเริ่มรู้สึกอยากเรียน และปรารถนาสิ่งเหล่านั้นด้วยตนเองผ่านการกระตุ้น การให้กำลังใจจากครู หลังจากนั้นทุกอย่างก็จะเรียบร้อย ถึงแม้หลายปัญหาจะยังดำเนินต่อไป เช่น ปัญหาครอบครัว ปัญหาความยากจน แต่อย่างน้อยนักเรียนของผมก็ตระหนักดีว่าที่โรงเรียนยังมีครูที่พร้อมจะพูดคุย มีครูที่ให้พื้นที่เขา และมีครูที่เฝ้านึกถึงเขาตลอดเวลา ตลอดเวลาผมไม่ใช่ครูที่ใจดีนัก แอบจะดุๆด้วยซ้ำ เพราะเข้มงวดกับเวลามาก หลายครั้งที่แอบกังวลว่าจะถูกนักเรียนต้อต้าน จนกระทั่งช่วงท้ายของเทอมสอง นักเรียนทั้งหมดต้องสอบพูดรายบุคคล ช่วงนั้นถือเป็นช่วงเวลาที่ดีที่จะได้สะท้อนความเห็นระหว่างผมกับนักเรียนเป็นรายบุคคล และหลายคนก็พูดคล้ายกันว่า ในช่วงแรกไม่เข้าใจในสิ่งที่ผมทำ หลายคนเบื่อ รำคาญ ไม่อยากเรียน จนกระทั่งพอนานๆเข้าก็เริ่มเข้าใจ และรู้ที่ผมทำไปทั้งหมด็ด้วยหวังดี

สิ่งที่ครูได้เรียนรู้

ผมอาจเป็นครูที่ไม่ได้ใจดี แต่ทุกอย่างที่ผมทำก็หวังว่าเขาเหล่านี้จะได้มีโอกาสมากขึ้นในสังคม ได้มีโอกาสเรียนรู้ในสิ่งใหม่ มีโอกาสแก้ไขข้อบกพร่องของตนเอง และสามารถกำหนดชะตาชีวิตของตนได้ หรืออย่างน้อยที่สุดผมเห็นชัดว่า นักเรียนของผมทุกคนให้ความสำคัญกับเวลามาก และจะใช้เวลาทุกช่วงอย่างเกิดประโยชน์สูงสุดทั้งกับตนเองและสังคม และนั่นคือสิ่งเดียวที่ทั้งกับตนเองและสังคม และนั่นคือสิ่งเดียวที่ผมต้องการ