เวทีพูนพลังครู ครั้งที่ 1: ครูผู้สร้างคุณลักษณะนิสัยที่ดีให้เด็ก

มากกว่าความเป็นครู

“เพราะการเป็นครู ตชด. ไม่ใช่แค่หน้าที่สอน เพราะมีหน้าที่อื่น ๆ ต้องทำหลายเรื่อง...เช่นครอบครัวที่พ่อหนีไปอยู่ในป่า เราก็รับเลี้ยงลูกให้ ดูแลลูกเขา เมื่อเขากลับมาเยี่ยมบ้าน ก็จะเห็นนมที่เราซื้อให้ลูกเขากิน...เขาถามเมียว่า ใครซื้อของให้ เมียบอกครูซื้อให้ ตรงนี้ก็จะได้ความไว้เนื้อเชื่อใจกัน เพราะช่วยดูแลลูกเขาบางทีเกิดเหตุการณ์ โรงเรียนถูกเผา ต้องสร้างโรงเรียนใหม่ มันก็ไม่มีใครมาทำ...ก็ต้องทำกันเอง ประสบการณ์การเป็นผู้รับเหมาช่วยให้สร้างอาคารเรียนได้”

เท่านั้นยังไม่พอ ครูต้องดูแลเรื่องอาหารการกินของเด็ก ๆ ในความรับผิดชอบ...และสถานการณ์ความรุนแรงทำให้พื้นที่มีอาหารไม่เพียงพอ ครูก็ต้องอาศัยความรู้ด้านการเกษตรที่ติดตัวมาก่อนเข้ารับราชการมาพัฒนาพื้นที่รอบ ๆ โรงเรียนให้เป็นแหล่งผลิตอาหารทั้งการปลูกผักและเลี้ยงสัตว์

ยังมิพักต้องเอ่ยถึงว่า ในบางเวลาที่เด็ก ๆ ต้องการผ่อนคลาย ครูก็ต้องอาศัยประสบการณ์จาก “วงดนตรีลูกทุ่ง” มาเปิดการแสดงให้กับเด็ก ๆ และคนในชุมชน

สำหรับการสอนหนังสือ ครูสุวิทย์ก็ใช้ประสบการณ์ในวัยเด็กมาปรับใช้กับลูกศิษย์ของตัวเอง

“ตอนเราเป็นเด็กครูสอนเราอย่างไรก็เอามาปรับใช้ไปตามสถานการณ์ แต่ก็ต้องมีการเสริมความรู้ใหม่ๆ เข้าไปบ้าง...แต่เอาเข้าจริง ๆ ผมกลับพบสิ่งที่เป็นสัจธรรมว่า วุฒิครู ป.โท ป.เอก บางครั้งสู้ “ประสบการณ์” ไม่ได้ โดยเฉพาะการเป็นครู ตชด. ที่ต้องสอนเด็กที่ไม่มีอะไรพร้อมเลยสักอย่าง จะต้องเอาคนที่ผ่านความไม่พร้อมมาเป็นครูจึงจะเข้าใจเด็กประสบการณ์จึงเป็นครูที่ดีที่สุด”

จากต่ำสุด....สู่จุดสูงสุด

ถอยกลับไปที่ชีวิตก่อนมาเป็นครู ตชด. รับผิดเด็กหลายสิบคน ครูสุวิทย์ยอมรับว่าชีวิตก่อนหน้านั้นมันเดินทางไปจนถึงจุดต่ำสุดและอาจะเป็นเพราะชีวิตวัยรุ่น ทำให้ครูต้องผ่านการดำเนินชีวิตอย่างโชกโชน ทั้งการเป็นนักมวย เป็นชาวสวนแม้กระทั่งเป็นลูกวงในวงดนตรีลูกทุ่ง

“และชีวิตเคยผิดพลาดถึงขั้นเคยรับจ้างขนของเถื่อน จนวันหนึ่งกลับตัวได้เพราะเพื่อนที่รู้จักถูกจับด้วยข้อหาขนยาเสพติด จึงกลับตัวหันมาทำงานรับเหมาก่อสร้าง ขณะรับจ้างทำพื้นอาคารที่กองกำกับการยะลา ได้เห็นประกาศรับสมัครครูตชด.ก็เลยลองสมัครดู เพราะเราเองก็เคยเรียนที่โรงเรียน ตชด.มาก่อนเหมือนกัน”

วันที่เห็นประกาศนั้นเหลือเวลาอีก 2 วันจะปิดรับสมัคร ครูสุวิทย์วิ่งวุ่นกลับไปบ้านที่จังหวัดพัทลุงเพื่อหาหลักฐานรับรองการเรียนจบชั้น ม.6 จากโรงเรียนเก่า ตั้งใจว่าต้องเป็นครูตชด.ให้ได้เพราะเป็น“ความฝัน” แรกในวัยเยาว์ แล้วก็สมใจเมื่อสอบได้ที่ 1 จากคนสมัคร 49 คน

“ประสบการณ์” คือ “ครู” ที่ดี

ครูสุวิทย์ บรรจุเป็นครูครั้งแรกที่โรงเรียน ตชด. บ้านละโอ อำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส ปีแรกที่สอนครูสุวิทย์รับผิดชอบสอนเด็กชั้นอนุบาล ซึ่งครูบอกว่า สนุกมากแต่ก็ปวดหัวมาก เพราะครู 1 คน กับเด็กเล็กๆ 20 กว่าคน ซึ่งช่วยตัวเองไม่ได้ ครูต้องดูแลตั้งแต่การแต่งตัว การเข้าห้องน้ำ ล้างหน้าล้างตา ดูแลกันเหมือนลูกจนผูกพัน เมื่อผ่านไป 1ปี ได้เปลี่ยนมาสอนเด็กชั้นโตขึ้น คือ ป.5 -ป.6 โดยรับผิดชอบสอนวิชาภาษาไทย และการงานอาชีพ เนื่องเพราะนโยบายของโรงเรียนที่ต้องการให้ครูทุกคนช่วยกันรับผิดชอบสอนวิชาหลัก 1 วิชาและวิชาเสริม 1 วิชา

ชุมชนบ้านละโอ เป็นชุมชนที่ตั้งขึ้นมาได้ไม่นานนัก ประชากรทั้งหมดนับถือศาสนาอิสลาม โดยย้ายจากพื้นที่ชายทะเลจังหวัดปัตตานีเข้ามาบุกเบิกพื้นที่ทำกิน จึงไม่มีความสัมพันธ์กันทางเครือญาติ ส่งผลให้หน่วยงานที่ทำงานในพื้นที่ต้องใช้ความละเอียดรอบคอบในการดูแลจัดสรรความช่วยเหลือให้อย่างเท่าเทียมเช่น การจะพิจารณาให้ทุนการศึกษาแก่ใครก็ต้องสร้างความเข้าใจกับทุกครัวเรือน เพราะต่างมีสภาพยากจนก้ำกึ่งกัน ไม่เช่นนั้นแล้วก็จะเป็นการสร้างความน้อยเนื้อต่ำใจระหว่างกัน

ผมเป็นศิษย์โรงเรียน ตชด. พอมีลูกก็เป็นผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนตชด. อีก จึงเข้าใจผู้ปกครอง ผมเชื่อมั่นโรงเรียน ตชด.เพราะว่า ยุคผมเรียนที่เรียนโรงเรียน ตชด. เหมือนกัน ก็ยังไม่มีอาคารเรียน ยังทำให้ผมเก่งได้ ผมจึงเอาลูกไปเรียน เมียก็บ่นว่า ครูสอนไม่ดี แต่ก็ต้องทน แม้เจ็บใจเพราะเป็นลูกตนเอง จึงเข้าใจหัวอกผู้ปกครอง แสดงว่าผู้ปกครองคนอื่นก็เจ็บปวดเหมือนผม ดังนั้น การสอน การดูแลนักเรียน ก็ต้องทำให้เป็นตัวอย่าง...และทำให้ดีที่สุด”

ครูสุวิทย์บอกว่า การปฏิบัติตนอย่างสม่ำเสมอ เท่าเทียม จริงใจ และชัดเจนในบทบาทหน้าที่จึงเป็นเสมือน “เกราะป้องกันตัว” ยามอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย เท่านั้นยังไม่พอการดูแลพี่น้องประชาชนเสมือนญาติเป็นสิ่งที่คนในพื้นที่ต่างซาบซึ้ง เพราะไม่ว่าใครจะเป็นอย่างไร ครูยินดีช่วยเหลือ แม้ว่าบางครอบครัวหัวหน้าครอบครัวหนีเข้าป่าเพราะสถานการณ์ความรุนแรงที่ทำให้กลายเป็นผู้ร้าย ครูก็จะช่วยดูแลลูกและภรรยาให้

ครูสุวิทย์บอกว่า เคล็ดลับการสอนของครู ไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอน แต่เป็นเรื่องของการเข้าไปอยู่ใน“ใจ”ของเด็กๆ ให้ได้ “ทำอย่างไรก็ได้ให้เด็งกรักครู ชอบครู ประทัปใจครูก่อน สร้างความเข้าใจระหว่างกันก่อน เด็กจึงจะเปิดใจที่จะเรียนรู้”

สิ่งที่ทำคือ การสร้างความเข้าใจ ให้ความรัก ความนับถือ ในระนาบเดียวกัน เท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นต่อผู้นำ คนที่มีฐานะดีหน่อยหรือคนที่มีฐานะยากจน และต้องทำทุกอย่างตามธรรมเนียมและหลักศาสนา ช่วงแรกๆ ก็กังวลว่าจะขัดต่อหลักทางศาสนาไหม เพราะผมเองมาจากพัทลุง อาจมีบางอย่างไม่เหมือนที่นี่ แต่ก็ผ่านมาได้ แต่ในช่วงหลังๆที่สถานการณ์ความรุนแรงเพิ่มขึ้น และพื้นที่นี้ก็เป็นพื้นที่สีแดงอันดับ ๑ ของ ๓ จังหวัดชายแดนใต้ ก็ต้องชี้แจง ประชุมกับชุมชนบ่อยๆ แสดงให้เขาเห็นว่า เราทำหน้าที่ด้านการเรียนการสอนอย่างเดียว”

ทุกวันนี้ ครูสุวิทย์ และครู ตชด.คนอื่น ๆ ยังคงเดินหน้าทำหน้าที่ของตนเอง , หน้าที่ของความเป็นครู หน้าที่ของตำรวจตระเวนชายแดน ที่ไม่ได้มองเฉพาะเรื่องการจับกุมปราบปราม หากสิ่งที่ครูให้ และหว่านลงไปแผ่นดินของสามจังหวัดคือความโอบอ้อมอารีย์ ความสมดุล เสมอภาคแม้ว่ามันเกิดขึ้นในพื้นที่เล็ก ๆที่ซ่อนตัวอยู่กลางป่า และอันตรายพร้อมจะเดินทางเข้าไปเยี่ยมเยียนได้ตลอดเวลานั้น

แต่บนพื้นฐานของความเชื่อที่สำคัญที่ครูสุวิทย์ใช้เป็นแนวทางในการทำงานและสอนครูรุ่นน้องและลูกศิษย์ของเขาเสมอคือ

“ทุกอย่างต้อง “เท่าเทียม”

ที่ในอนาคต อาจเป็นแนวทางหนึ่งที่จะทำพาสันติสุขคืนสู่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เป็นได้

+++++++++++++++

วิจัยแผ่นเดียว...เก็บเกี่ยวความรู้บนพื้นฐานความรักถิ่น

ร.ต.ต.สุวิทย์ ช่วยเทวฤทธิ์ เฝ้ามองปรากฏการณ์ที่คุกคามความงดงามของชุมชน จึงเกิดความคิดอยากให้เยาวชนได้เรียนรู้เรื่องราวของชุมชนตนเอง ผ่านกระบวนการเรียนรู้ในรูปแบบของการวิจัย ซึ่งเป็นวิจัยแผ่นเดียว

กระบวนการเรียนรู้ที่ออกแบบใน ขั้นตอนที่ 1คือ “การสร้างกลุ่มการเรียนรู้ของเด็ก” ด้วยการจัดกลุ่มให้นักเรียนที่อยู่บ้านเดียวกันอยู่กลุ่มเดียวกัน

ขั้นที่ 2 เป็นขั้น “ระเบิดจากข้างใน” เปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงศักยภาพที่มีอยู่อย่างเต็มที่ เช่นในกลุ่มมี ๗ คน คนไหนที่พูดเก่งที่สุดก็ให้เป็นฝ่ายนำเสนอ คนไหนเขียนเก่งก็ให้เป็นเลขาคนไหนที่คุมเพื่อนได้ก็ให้เป็นประธานกลุ่มให้เด็กได้ระเบิดความสามารถของตนเอง

ขั้นที่ 3 คือ การวางแผนการศึกษาสิ่งที่ดีงามที่มีอยู่ในชุมชนว่า การลงพื้นที่ในกลุ่มบ้านที่อาศัยอยู่ จะสำรวจอะไร จะถามใครได้บ้าง โดยโจทย์จะมุ่งเน้นไปที่การรวบรวมข้อมูลเรื่องราวดีๆ ในชุมชน ความปรารถนาของคนในชุมชนต่อสิ่งที่ดีงาม และวิธีที่จะทำให้สิ่งดีงามนั้นคงอยู่อย่างยั่งยืน ทั้งนี้นักเรียนสามารถสอบถามความคิดเห็นของผู้คนได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นผู้ปกครอง ชาวบ้าน ผู้นำศาสนาหรือผู้นำชุมชน

ขั้น 4 คือ การเก็บข้อมูลทั้งภาพและเนื้อหาโดยครูจะมอบกล้องถ่ายรูปและเครื่องบันทึกเสียงให้นักเรียนนำไปถ่ายภาพและไปสอบถามสิ่งดีงามที่มีอยู่ กระตุ้นให้นักเรียนบันทึกข้อมูลให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าผู้ตอบจะให้ข้อมูลแบบไหนก็ตาม

หลังจากเก็บข้อมูลเสร็จ ขั้นที 5 นำข้อมูลมาวิเคราะห์ แต่เป็นการวิเคราะห์แบบเด็ก ๆ โดยจำแนกแยกแยะข้อมูลให้เป็นกลุ่มตามช่องต่างๆเช่น ข้อมูลเรื่องการละหมาดรวบรวมไว้ในช่องละหมาดการทำขนมการทำฮารีรายอแล้วสังเคราะห์ว่าหมวดหมู่ไหนมีมากน้อยแค่ไหน ซึ่งในการสังเคราะห์นี้จะให้นักเรียนระดมความคิดในกลุ่มของตนเองก่อนว่า มีข้อเสนอและวิธีการที่จะทำให้เรื่องนั้นคงอยู่อย่างยั่งยืนได้อย่างไร แล้วเปรียบเทียบข้อเสนอของกลุ่มกับข้อเสนอที่ได้จากชุมชนจากนั้นนำข้อเสนอที่ตรงกันมาสรุปเป็นผลงานของกลุ่มเพื่อตอบคำถาม 3 ข้อ คือ

  1. สิ่งที่ดีงามในชุมชน
  2. ความปรารถนาต่อสิ่งนั้น
  3. วิธีที่จะทำให้สิ่งนั้นคงอยู่อย่างยั่งยืน

ซึ่งแต่ละกลุ่มสามารถสรุปเป็นภาพวาด ข้อความ หรือรูปแบบต่างๆ ได้อย่างอิสระ เพื่อนำเสนอต่อไปใน ขั้นตอน 6 คือ การนำเสนอ

“หลังจากผ่านการทำงานกลุ่ม ครูจะทำหน้าที่ชวนถอดบทเรียน ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ 7 ครูจะชวนเด็กๆ ถอดบทเรียนว่าความสามัคคีในมุมมองของชาวบ้านคืออะไรทำอย่างไรเพื่อตอบคำถามสำคัญ ๓ ข้อ และเมื่อจบกระบวนการกับเด็กๆครูจะเชิญชาวบ้าน กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มผู้นำหมู่บ้านมาฟังการนำเสนอของเด็ก โดยครูจะเป็นคนนำการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และถอดบทเรียนร่วมกับชุมชนอีกครั้ง”

ครูสุวิทย์บอกว่า ที่ทำเช่นนี้เพราะอยากให้เด็กเห็นคุณค่าชุมชนของตนเอง ทั้งนี้เพราะชุมชนยังมีสิ่งดีๆ อยู่มาก เราต้องพยายามเจาะออกมาเพื่อมากลบปัญหาที่รุมเร้าอยู่ในขณะนี้บางคนอาจจะมองว่าที่นี่ไม่ปลอดภัยน่ากลัวและอันตรายแต่จริงๆ แล้วในชุมชนยังมีความดีงามอยู่มากมายถ้าเราให้เด็กยึดโยงไว้มันจะส่งผลทางด้านจิตใจ เด็กก็จะเกิดความภาคภูมิใจ