เวทีพูนพลังครู ครั้งที่ 1: ครูผู้สร้างคุณลักษณะนิสัยที่ดีให้เด็ก

ครูที่กลับมาฟื้นตัวเองและการสอนเด็ก.... “แม้จะเป็นครูมา 30 กว่าปี มีวิธีการสอนมาหลายแบบ แต่ก็ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปเท่าไหร่กับตัวเด็ก จนมาวันนี้เริ่มเข้าใจดีแล้วว่าครูต้องเป็นอย่างไร...”

สถานการณ์ที่บีบบังคับสร้างความเปลี่ยนแปลงตัวครู

โรงเรียนบ้านกุดระหวี่ เป็นโรงเรียนประถมขนาดเล็ก ที่ไม่ต่างกับโรงเรียนอื่นๆใน จ.ยโสธร จำนวนเด็กลดน้อยลง น้อยลง และก็น้อยลงทุกวัน โรงเรียนก็รอวันยุบหรือไม่ก็โอนย้ายไปรวมกับโรงเรียนที่ใหญ่กว่า ตัวผู้เป็นครูเองแม้จะอยู่กันมานาน ก็ทำงานไปตามหน้าที่ สอนไปตามระบบ หมดวันก็แยกย้ายกันกลับไปบ้านใครบ้านมัน ทั้งตัวเด็กและตัวครู รวมทั้งตัวของครูอุดร ด้วยเช่นกัน ผู้อำนวยการย้ายมาแล้วก็ย้ายไปผ่านไปผ่านมา จนมาถึงช่วงหนึ่ง โรงเรียนได้ผู้อำนวยการ เป็นผู้ที่มีประสบการณ์งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ของ สกว. ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น ผอ.ท่านนี้จึงนำโรงเรียนและครูในโรงเรียนร่วมกันทำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ด้านการศึกษา เพราะผอ. คิดว่าถ้าไม่ทำอะไรสักอย่างโรงเรียนอาจจะต้องปิดไปอย่างแน่นอน หรือไม่ปิดเด็กก็ไม่ได้เรียนดีขึ้น การต้องปฏิบัติตามคำสั่งผอ. ถือเป็นสิ่งที่ฝืนความรู้สึกครูอย่างมาก ระยะแรกๆ ครูอุดร ก็ทำไปแบบไม่ค่อยเต็มใจนัก

ช่วงของการทำงานวิจัย สิ่งหนึ่งที่ต้องทำกันบ่อยมากคือ ครูต้องออกจากรั้วโรงเรียน เดินเข้าไปคุยกับชาวบ้านในชุมชน ทั้งไปประชุมเวลาชาวบ้านมีงานร่วมกัน ทั้งชวนชาวบ้านผู้ปกครองมาคุยที่โรงเรียน เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับความต้องการของชุมชน ร่วมทั้งสอบถามเกี่ยวกับเด็กๆด้วย คำตอบของชาวบ้านต่อสิ่งที่อยากเห็นกับลูกหลาน และ พฤติกรรมเกี่ยวกับเด็กๆเวลาอยู่บ้าน ทำให้ตัวครูในโรงเรียนรวมทั้งครูอุดร ได้รับรู้ว่ามุมความคิดที่ชาวบ้านมีต่อโรงเรียนเป็นอย่างไรบ้าง ความคาดหวังผู้เป็นพ่อ-แม่ที่อยากเห็นลูกเป็นอย่างไรในอนาคต จนต้องกลับมานั่งถามกับตัวเองว่า เราทำอะไรอยู่ทุกวันนี้? และเราเป็นครูแบบไหน?.... ประสบการณ์การเป็นครูมาเกือบ 30 ปี ใช้วิธีการสอนหลายวิธีแต่ก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปเท่าไหร่....นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ครูอุดรคิดว่าต่อไปนี้จะต้องทำเพื่อเด็กให้ได้นั่นเอง

กระบวนการจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการฝึกคิดวิเคราะห์

เมื่อเดินเข้าสู่แนวทางการใช้เครื่องมือสู่ความเปลี่ยนด้านการจัดการเรียนการสอน ผ่านกระบวนการงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น วิธีการเริ่มต้นที่ครูเองล้อมวงคุยวิเคราะห์ปัญหาที่ผ่านมาของโรงเรียนร่วมกันแล้ว ทั้งครูอุดรและครูท่านอื่นๆ จึงเห็นว่าน่าจะมีจุดเน้นให้ครูได้ใช้ทักษะการจัดการเรียนรู้ที่เน้นการมีส่วนร่วมในการออกแบบการเรียนรู้ร่วมกันของครูนักเรียน และชุมชนเป็นหลักน่าจะดี เพราะที่ผ่านมาโรงเรียนเองก็ไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่า ชุมชนมีความรู้ภูมิปัญญาของดีอย่างไรทั้งๆที่มีหลายเรื่องราวในชุมชนเป็นเรื่องใกล้ตัวที่เด็กเองก็ควรจะได้เรียนรู้ไปด้วย หรือว่าเด็กๆควรจะเรียนรู้แบบไหนที่จะทำให้เด็กรู้สึกสนใจ

กระบวนการจัดการเรียนการสอนที่เกิดทักษะการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ การจัดการเรียนรู้ที่เน้นการปฏิบัติจริงของผู้เรียนการจัดการเรียนรู้ที่เน้นการมีส่วนร่วม จึงถูกออกแบบการเรียนรู้ผ่านงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นโดยการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ เรื่อง “กล้วย” กับวิถีชีวิตประเพณีวัฒนธรรมศาสนาอาชีพ เป็นต้นว่า ถ้าหยิบเรื่องกล้วยขึ้นมา แล้วครูก็จะเป็นผู้ออกแบบว่า เด็กจะได้เรียนเรื่องอะไรบ้าง อาทิ วิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับกล้วย ทั้งต้นกล้วย ใบกล้วย(ใบตอง) ผลกล้วย อาหารการกินเกี่ยวกับกล้วย การหัดพับพานบายศรีที่ต้องใช้ไปตองจากต้นกล้วย ผู้เฒ่าผู้แก่ของชุมชนก็จะมาเป็นผู้สอนเด็กๆ ซึ่งในการสอนมีทั้งคำกล่าว ข้อห้าม ความเชื่อ สุภาษิต ต่างๆ อยู่ในการเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ

นอกจากนี้ยังมีการเรียนรู้แบบบูรณาการเรื่อง “ฝ้าย”ที่มีอยู่ในวิถีชีวิตชาวบ้านกุดระหวี่ นับเป็นการเรียนการสอนที่เป็นกิจกรรมบูรณาการในกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่างๆ ตามระบบเข้าไปรวมทั้งกิจกรรมการส่งเสริมการอ่านแบบมีส่วนร่วมของโรงเรียนและชุมชน และกิจกรรมการเรียนรู้บูรณาการ เรื่อง “สหกรณ์ไก่ไข่” เป็นต้น

ผลความเปลี่ยนแปลงต่อเด็ก

จากกระบวนการเรียนรู้ดังกล่าว จากการถอดบทเรียนที่ผ่านมาพบว่าส่งผลต่อตัวเด็กหลายอย่าง เช่น

- เด็กเกิดทักษะการคิด เชื่อมโยง เช่น เมื่อพูดเรื่องกล้วยเด็กสามารถเชื่อมโยงไปเรื่องประโยชน์ของกล้วยด้านต่างๆได้ทั้งเชิงประเพณีวัฒนธรรม และด้านการใช้สอยอื่นๆ

- เด็กๆ มีกระบวนการเรียนรู้และทักษะเกี่ยวกับกล้วยทั้งการปลูกกล้วย พันธุ์กล้วย การแปรรูปจากกล้วย รวมทั้งการนำใบกล้วยมาทำขันหมากเบ็ง การใช้ต้นกล้วยในการมัดย้อม ทำเชือกกล้วย ขนมที่ทำจากกล้วย อาหารจากกล้วย เป็นต้นซึ่งเป็นทักษะและกระบวนการที่สามารถนำไประยุกต์ใช้ในเรื่องอื่นๆ

- เด็กเรียนรู้ผ่านส่งเสริมการอ่านทั้งในโรงเรียนและชุมชนจากกระบวนการอ่านหนังสือให้เด็กฟังจากรุ่นพี่สู่รุ่นน้องทั้งในโรงเรียน และน้องๆที่ยังไม่เข้าเรียนพ่อแม่ปู่ย่าตายายส่งเสริมการอ่านทั้งชุมชนโดยการเล่านิทานอ่านหนังสือให้เด็กฟังทำให้เด็กมีทักษะทางภาษาการเล่าเรื่องจนเกิดนักเล่านิทาน จำนวน 2 คน คือ ปี 2555 เด็กหญิงสุดารัตน์แมนสืบชาติชั้น ป.3สามารถเป็นตัวแทนเขตพื้นที่ไปแข่งขันได้ระดับเหรียญทอง ที่ 8 ในระดับภาคปี 2557 เด็กหญิงธนพรเผ่าเพ็งชั้น ป.2เป็นตัวแทนเขตพื้นที่ไปแข่งขันได้ระดับเหรียญทอง ที่ 10 ในระดับภาค เช่นกันนอกจากนี้นักเรียนทุกคนของโรงเรียนจะมีนิสัยรักการอ่านโดยดูจากพฤติกรรมการอ่านหนังสือ และสถิติการยืมหนังสือ ที่แต่ละคนจะมีการยืมหนังสือแทบทุกวัน

- ผลการสอบ O-net และ NT สูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับเขต และระดับประเทศทุกปี

- นักเรียนมีพฤติกรรมที่พึงประสงค์โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีจิตสาธารณะ โดยจะไปทำความสะอาดวัด และภายในหมู่บ้านในวันสำคัญต่างๆ

- นักเรียนเห็นความสำคัญของการพัฒนาจิตหรือความสำคัญของธรรมะจากการที่เด็กๆมีการเรียกร้องขอเข้าปฏิบัติธรรม ตามหลักสูตรปฏิบัติธรรมประจำปี 3 คืน 2 วัน ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 จากที่เคยเข้าครั้งแรกที่พบว่าเด็กอาจไม่อยากเข้าร่วมกิจกรรมอีก เนื่องจากเหน็ดเหนื่อยเป็นอย่างมากในการปฏิบัติแต่ละวัน

- นักเรียนมีความรับผิดชอบสามารถทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มจากกิจกรรมสหกรณ์ไก่ไข่มีการแบ่งหน้าที่กันทำงาน เช่น การให้น้ำและอาหารไก่การซื้ออาหาไก่ การเก็บไข่ การขายไข่และการทำบัญชีซึ่งที่ผ่านมาพบว่าทุกคนทำหน้าที่ของตนเองได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้กระบวนการเรียนรู้ดังกล่าวยังส่งผลต่อชุมชนในด้านต่างๆ คือ

-ชุมชนมีความเข้าใจต่อปัญหาการจัดการศึกษาในปัจจุบันและตระหนักถึงบทบาทของชุมชนในการเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา

-ชุมชนเล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาที่ส่งผลต่อการเติบโตของลูกหลาน

-ชุมชนมีความตระหนักต่อการมีส่วนร่วม เข้าใจถึงหลักการมีส่วนร่วมการจัดการศึกษา

-ชุมชนได้เปลี่ยนแปลงวิธีคิดต่อการจัดการศึกษา ที่ไม่ต้องรอให้ผอ. หรือครูเป็นผู้นำกิจกรรม แต่ชุมชนสามารถประเมินความสำคัญและจำเป็นต่อการเข้ามามีส่วนร่วมและตัดสินใจต่อการจัดการเรียนการสอน เช่น ตัดสินใจไม่รับไก่จาก อบต. แต่นำมาให้เป็นการเรียนรู้ร่วมกันในโรงเรียน เป็นต้น ซึ่งสะท้อนถึงความเข้าใจต่อการเรียนรู้ร่วมกันและสะท้อนถึงวิธีคิดต่อส่วนรวม

บทเรียนที่ครูได้เรียนรู้

ครูอุดร ค้นพบว่าความจริงแล้วครูถือเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการจัดการเรียนการสอนแบบนี้ เพราะครูต้องทำหน้าที่เชื่อมโยงความรู้ที่เป็นความรู้เชิงระบบ กับความรู้ที่มีอยู่ในชุมชนให้มาบูรณาการร่วมกัน และคณะเดียวกันก็ต้องคอยกระตุ้นชวนเด็กๆคิด ชวนเด็กๆคุยแบบเปิดโอกาสให้เด็กได้สะท้อนด้วยว่าเด็กอยากเรียนอะไรแบบไหน เมื่อเด็กมีความสนใจตามที่เด็กเสนอมาก็จะทำให้เด็กเกิดความตั้งใจเรียน และเรียนอย่างมาสมาธิ ถ้าเด็กมีสมาธิแล้วการเรียนรู้ก็จะเกิดขึ้นตามมา ขณะเดียวกันหากโรงเรียนหรือตัวครูเปิดโอกาสเชื่อมโยงความรู้ของชุมชนเข้ามาได้ ชาวบ้านผู้ปกครองในชุมชนก็จะเป็นอีกหนึ่งแรงเสริมที่ช่วยขัดเกลาเด็ก ช่วยกันดูแลเด็ก เพราะทุกคนจะเห็นเป็นเรื่องส่วนร่วมของชุมชน ไม่ใช่ผลักภาระมาให้กับโรงเรียนที่เดียว เพราะเด็กๆเป็นเด็กของชุมชน ส่วนสำคัญยิ่ง คุณครูอุดรเปลี่ยนแปลงตัวเอง จากครูที่สอนแบบเรื่อยๆหมดไปวันๆรอวันเกษียร กลับกลายเป็นคนที่มีความกระตือรือร้น และคิดออกแบบการเรียนการสอนแบบไม่หยุด หาความรู้มาเติมตัวเองอยู่เรื่อง เพราะมองเห็นผลผลิตที่เกิดขึ้นคือตัวเด็กที่ออกไปเรียนต่อกันนั่นเอง