เวทีพูนพลังครู ครั้งที่ 1: ครูผู้สร้างคุณลักษณะนิสัยที่ดีให้เด็ก

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเรื่องราวที่เป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดการพัฒนาเด็ก

ในแต่ละปีประเทศไทยมีนักเรียนที่ต้องลาออกจากระบบการศึกษากลางคันนับแสนคนโดยส่วนใหญ่เรียนไม่จบการศึกษาภาคบังคับระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และบางส่วนต้องลาออกขณะที่เรียนอยู่เพียงชั้นประถมศึกษาเท่านั้นสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากความยากจนต้องช่วยพ่อแม่ทำมาหากินและปัญหาส่วนตัว อาทิ ตั้งครรภ์ ติดยาเสพติด และต้องโทษในคดีต่างๆ เป็นต้น

ในปี 2555 ครูยุคลธรได้เริ่มต้นทำ “โครงการการศึกษาสำหรับเด็กด้อยโอกาสทางการศึกษา:กลุ่มเด็กออกกลางคัน” ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน(สสค.) โดยกลุ่มเป้าหมายเป็นนักเรียนที่ลาออกจากระบบการศึกษากลางคันให้มีโอกาสเรียนหนังสือจนสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นด้วยเงื่อนไขที่ว่าต้องเป็นเยาวชนอายุไม่เกิน 15 ปี เนื่องจากเยาวชนอายุมากกว่านี้เป็นส่วนความรับผิดชอบของสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.)

ครูยุคลธรทำงานในโรงเรียนขยายโอกาส อยู่กับเด็กด้อยโอกาสตั้งแต่ปี พ.ศ.2547-2555 จึงเล็งเห็นปัญหาเด็กที่ถูกให้ออกจากโรงเรียนกลางคันในทุกๆ ปี ของโรงเรียนในสังกัดสำนักงานพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สปพ.) พิจิตร มีการส่งข้อมูลตัวเลขของนักเรียนที่ออกกลางคันมายังเขตพื้นที่นี้ เป็นที่น่าตกใจว่ามีนักเรียนจำนวนเป็นร้อยที่ต้องออกกลางคันไปอย่างน่าเสียดาย และนักเรียนกลุ่มนี้หลุดออกจากระบบการศึกษาไปด้วยปัญหาที่หลากหลาย ด้วยความอยากช่วยเหลือนักเรียนที่ออกจากโรงเรียนกลางคันต่างมีปัญหาที่แตกต่างกัน มีทั้งยากจนและเกเร หากปล่อยให้เขาออกมาสู่สังคมทั้งที่ยังไม่มีความพร้อม ขาดโอกาส เขาอาจต้องกลายเป็นโจร เป็นคนไม่ดีจริงๆแต่ในทางกลับกันเราเป็นครูของเขา เราสามารถฉุดเขาขึ้นมาได้ ทำให้เขามีโอกาสยืนอยู่ในสังคมและเป็นคนดีได้ คิดว่าหน้าที่นี้เป็นของเรานอกจากนี้ ครูยุคลธรยังได้รู้จักกับ ดร.สุรเสน ทั่งทอง (ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพิจิตร เขต 1 ในขณะนั้น) ท่านมีแนวคิดเหมือนกัน จึงมีนโยบายให้นักเรียนที่ออกจากการศึกษากลางคันได้มีโอกาสเรียนหนังสืออีกครั้ง โดยคุณครูยุคลธรเป็นผู้รับผิดชอบหัวหน้ากลุ่มบริหารงานวิชาการ

ในปี พ.ศ.2555 โครงการนี้รับเด็กที่ออกจากโรงเรียนกลางคันเข้ามาศึกษาในระบบ “การศึกษานอกระบบ” จำนวนประมาณ 20 คน ระยะเวลาผ่านไปมีจำนวนเด็กเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันมีจำนวน 28 คน เรียนจบในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นแล้วทั้งสิ้น 6 คน มีนักเรียนที่กำลังอยู่ระหว่างเรียนอีก 22 คนครูยุคลธรคิดว่าเป็นหน้าที่ของตนเอง(ครู)โดยตรงที่ต้องดูแลเด็กนักเรียนทุกคนให้มีการศึกษา รวมถึงเด็กที่มีปัญหาค่าใช้จ่ายหรือปัญหาครอบครัว ซึ่งเป็นกลุ่มเด็กที่ต้องออกจากการเรียนกลางคัน ครูจึงต้องพยายามทุกวิถีทางให้เด็กกลับมาเรียนจนจบชั้น ม.ต้น เมื่อเด็กเรียนจบ ได้งานทำที่ดี ครูรู้สึกภาคภูมิใจ เพราะครูได้หยิบยื่นโอกาสที่ดีให้กับพวกเขา และโอกาสนั้นทำให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้น

กระบวนการสร้างการเรียนรู้และพัฒนาเด็ก

เกิดการรวมตัวกันกับครูจากโรงเรียนต่างๆ ที่มีจิตอาสา เป็นกลุ่มที่มีชื่อว่า “ครูปราณี” มีครูประมาณ 30 คน คิดกระบวนการ “ทำอย่างไรให้นักเรียนกลุ่มนี้มีโอกาสได้เรียนหนังสืออีกครั้งจนสำเร็จการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น” มีการจัดแบ่งหน้าที่สอนหนังสือเด็กตามความถนัดของครู โดยมีการจัดทำหลักสูตรที่เด็กสามารถเรียนไปทำงานไปด้วยกันได้ มีการเรียนการสอนรายบุคคล เพราะนักเรียนมีพื้นฐานความรู้แตกต่างกัน

กำหนดเนื้อหาและพิจารณาการเทียบโอนหลักสูตรนอกระบบของการศึกษานอกระบบ (กศน.) เพื่อขออนุมัติจาก สพฐ. ในการใช้หลักสูตรการสอนกับนักเรียนกลุ่มนี้ต่อไป (หลักสูตรประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น) หลักสูตรมีระยะเวลา 2 ปี มี 5 สาระ คือ ทักษะการเรียนรู้ ความรู้พื้นฐาน การประกอบอาชีพทักษะการดำเนินชีวิตและการพัฒนาสังคม

มีการออกแบบวิธีการเรียนการสอนจากเงื่อนไขของนักเรียนเป็นตัวตั้ง การสร้างโอกาสและขจัดทุกอุปสรรคในการเรียน ได้แก่ ครูเดินทางไปสอนหนังสือนักเรียนถึงบ้านหรือที่ทำงาน เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับนักเรียนนักเรียนแต่ละคนมีครูที่ปรึกษาหลัก 1 ท่าน และมีครูผู้สอน 3 ท่าน ตั้งแต่การปฐมนิเทศ การพูดคุยกับผู้ปกครอง วางแผนตารางเรียนร่วมกัน ผลิตสื่อการเรียนการสอนของแต่ละวิชา โดยมีโรงเรียนพิจิตรอนุสรณ์เป็นเสมือนศูนย์บัญชาการ

กระบวนการติดตามให้เด็กได้เข้ามาศึกษาต่อใน “ระบบการศึกษานอกระบบ” นั้น เมื่อทราบที่อยู่จะเข้าไปติดตามที่บ้าน (บางส่วนไม่พบเพราะเด็กติดตามไปทำงานที่อื่นกับผู้ปกครอง) แต่ถ้าพบเด็กและครอบครัว ผู้ปกครองจะไม่อยากให้เด็กกลับไปเรียน เพราะถ้าเด็กไปเรียน ครอบครัวจะขาดรายได้ส่วนนั้นไป มีการพูดคุยทำความเข้าใจกับเด็กและครอบครัวหลายครั้ง พูดถึงการเรียนการสอนนอกระบบว่าเป็นอย่างไร อธิบายว่าสามารถเรียนที่บ้านหรือที่ทำงานก็ได้ เรียนไปมีรายได้ไป และมีการมาพบปะกันบ้างเป็นครั้งคราว คือ ช่วงปฐมนิเทศในช่วงการปฐมนิเทศนี้จะทำให้เด็กได้พบและรู้จักครูที่ปรึกษา ครูผู้สอน 3-4 ท่าน บอกเล่ารายละเอียดของวิธีการเรียนการสอนและการวัดผลของการศึกษานอกระบบ พูดคุยให้เด็กเกิดความสบายใจที่ได้เรียน เด็กทุกคนจะมีครูที่ปรึกษา 1 ท่าน ที่คอยให้คำแนะนำในทุกๆ เรื่องส่วนเรื่องการวัดผลการเรียนนั้น วัดจากงานที่ครูมอบหมายและการทดสอบรายบุคคล ซึ่งนัดวันเวลาที่เด็กและครูสะดวก การติดต่อสื่อสารระหว่างครูกับเด็กใช้วิธีไปเยี่ยมบ้านและโทรศัพท์ ส่วนกรณีเด็กที่จบการศึกษาในชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นไปแล้ว จะมีการติดต่อพูดคุยกันผ่านทาง Social network : Facebook, Line

ในส่วนร้านค้าและสถานประกอบการหลายแห่งที่มีนักเรียนทำงานเป็นลูกจ้างและอยู่ในพื้นที่เขตการศึกษาของโรงเรียนให้ความร่วมมือกับกลุ่ม “ครูปราณี” เป็นอย่างดีโดยการเป็นครูประจำชั้นให้ ได้จัดสรรเวลาเรียน ช่วยติดตามว่านักเรียนทำงานถึงไหนแล้ว ส่งงานหรือไม่ และสนับสนุนงบประมาณสำหรับทำกิจกรรมพิเศษกับนักเรียน

กรณีเด็กในระบบโรงเรียนปกติแต่มีพฤติกรรมเสี่ยง ครูยุคลธรมีการติดตามรายบุคคล กล่าวคือ ถ้าขาดเรียนเกิน 3 วัน ครูจะติดตามไปที่บ้าน สอบถามพูดคุยกับผู้ปกครองว่าเพราะเหตุใดเด็กถึงไม่ไปโรงเรียน พบว่าเหตุผลหลัก คือ ความยากจน ครอบครัวแตกแยก ทำให้เด็กต้องไปช่วยครอบครัวหารายได้เด็กบางคนมาเรียนแต่มีพฤติกรรมโดดเรียน ทำให้ผลการเรียนตกต่ำ การจัดการกับเด็กกลุ่มนี้ คือ เข้าไปพูดคุยกับผู้ปกครอง เปิดโอกาสให้เด็กทำงานส่งเพื่อชดเชยกับคะแนนที่ขาดหายไป หรือทางเลือกอีกทาง คือ แนะนำการศึกษานอกระบบที่สามารถเรียนไปทำงานไปได้ แต่ถ้าเป็นกรณีคุณแม่วัยใสนั้น ครูจะทราบปัญหาในช่วงเด็กใกล้จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งมีบางรายที่สามารถติดตามกลับมาให้เรียนการศึกษานอกระบบได้

ครูยุคลธรใช้การอธิบายด้วยเหตุและผลกับเด็กนักเรียน ถ้าเด็กกระทำผิด เกเร ครูจะไม่ถามตรงๆ ไม่ต่อว่า ไม่ดุด่า จะพยายามสร้างความเข้าใจ พูดจาดีๆ ด้วยเหตุและผล คอยถามไถ่ชีวิตความเป็นอยู่กับเด็ก อธิบายให้เด็กเข้าใจว่า ครูทุกคนจะช่วยแก้ปัญหาและให้โอกาสที่ดีกับเด็ก จึงอยากให้เด็กเปิดใจและพูดความจริงกับครูทำให้เขาได้พูดออกมาและชีวิตมีความหวังมากขึ้น เพียงใช้คำถามกับเด็กว่า “มีอะไรจะเล่า/บอกให้ครูฟังไหม” เมื่อเวลาผ่านไปเด็กจะมาเล่าหรือสารภาพความผิดให้ครูฟังเอง ซึ่งอาจทำให้เชื่อมโยงไปยังความผิดของเด็กคนอื่นๆ ในโรงเรียนด้วย

ผลการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเด็ก

เมื่อเด็กมีปัญหามากๆ จะไม่อยากมาโรงเรียน ครูลองชักชวนให้เด็กลาออกแล้วไปหางานทำ แต่เด็กก็ไม่อยากลาออก เพราะถ้าเด็กลาออกจะไม่ได้ค่าใช้จ่ายจากผู้ปกครองที่เคยได้ทุกวัน แต่ถ้าจะให้เรียนเด็กก็ไม่อยากเรียน เมื่อครูอธิบายเด็กเริ่มเข้าใจว่าถ้าเรียนจบแค่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 งานและรายได้จะมีน้อยและหายากกว่าการจบชั้นมัธยมศึกษาตอนตั้น เด็กเริ่มเข้าใจและสนใจที่จะเข้ามาเรียนการศึกษานอกระบบกับกลุ่ม “ครูปราณี” รวมถึงเมื่อเด็กได้ฟังวิธีการเรียนการสอนที่ไม่กระทบกับการทำงานหารายได้ทำให้เด็กและผู้ปกครองสนใจและเลือกมาเรียนกับ “ครูปราณี”

จากเดิมเด็กมีลักษณะเกเร ทำร้ายร่างกายเพื่อน โดดเรียน ก็เริ่มสนใจเรียนมากขึ้น ทำงานส่งครู พบปะพูดคุยกับครูที่ปรึกษา สนใจการเรียนมากขึ้นโดยดูจากการที่เด็กนัดหมายเรียนแต่ติดธุระจึงโทรแจ้งกับครูผู้สอนให้ทราบล่วงหน้าหรือเด็กบางคนจะพยายามมาตามที่นัดไว้ให้ได้ ทำให้เด็กที่เข้ามาเรียนในระบบนี้พยายามมุมานะเรียนจนจบการศึกษาในระดับประถมศึกษาปีที่ 6 และระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 บางคนก็ไปศึกษาต่อในระดับวิชาชีพหรือทำงานหาเลี้ยงครอบครัวต่อไป

ครูสังเกตเห็นว่าเด็กมีความมุ่งมั่น มีความใฝ่ฝัน มีเป้าหมายมากกว่าแต่ก่อน เช่น มีความตั้งใจอยากเรียนให้จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จะได้หางานทำ หารายได้ที่ดีขึ้นเพื่อช่วยเหลือครอบครัว มีความรับผิดชอบ มีระเบียบวินัยเมื่อเวลาที่ไม่สามารถมาเรียนกับครูได้ตามนัดจะโทรแจ้งให้ครูทราบล่วงหน้า ส่วนการอยู่ร่วมกันในสังคม ครูสังเกตจากการที่พาเด็กกลุ่มดังกล่าวไปทัศนศึกษานอกโรงเรียนที่อุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้าหว้ากอ จ.ประจวบคีรีขันธ์เด็กกลุ่มนี้ไม่คุ้นเคยกันมาก่อน ครูจึงกังวลว่าเด็กกลุ่มนี้จะทะเลาะหรือมีปัญหาขัดแย้งกัน เมื่อไปถึงจุดทัศนศึกษา เริ่มต้นทำความรู้จักกัน ครูอธิบายวัตถุประสงค์ในการมาทัศนศึกษาในครั้งนี้ เด็กๆ ทุกคนเข้าใจและเมื่อเข้าไปชมตามจุดต่างๆ สิ่งที่ครูคาดไม่ถึง คือ เด็กทุกคนสนใจมาก มีสมุดบันทึกเพื่อจดความรู้ที่ได้รับในการมาทัศนศึกษาในครั้งนี้ เพราะครูคาดหวังเพียงแค่ให้เด็กส่วนหนึ่งได้หยุดอ่านข้อมูลความรู้จากที่นี่ก็เพียงพอแล้ว มีรุ่นพี่ที่สามารถดูแลรุ่นน้องในกลุ่มได้เป็นอย่างดี คอยควบคุมดูแลกำกับกันเอง ไม่ต้องให้ครูเป็นห่วง เด็กบางคนรู้จักแบ่งปัน มีน้ำใจ ซื้อขนมให้กับเพื่อนและครูช่วยครูถือของ ซักถามเป็นห่วงครูเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการมาทัศนศึกษาครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่าเด็กเหล่านี้มีความรัก ความเมตตา มีน้ำใจ รู้จักกาละเทศะ

กรณีน้องณัชชา เป็นเด็กเรียนดีแต่เกิดความพลาดพลั้งในชีวิตต้องตั้งครรภ์ในวัยเรียน ตอนนั้นเรียนจบระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 พอดี เมื่อทางโรงเรียนทราบก็ไม่ให้น้องเรียนต่อในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 น้องจึงไปติดต่อ กศน.จังหวัด แต่ทาง กศน.แจ้งว่านักเรียนที่สามารถศึกษาได้ต้องอายุเกิน 15 ปี แต่น้องณัชชาอายุยังไม่ถึง บังเอิญไปรู้จักจากครูคนอื่นว่ามี “การศึกษานอกระบบ” น้องณัชชาจึงสมัครไปเรียน ปัจจุบันน้องกำลังศึกษาในระดับชั้น ปวช.2 และคิดว่าจะศึกษาต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้ทำงานที่พอใจ ถือว่าเป็นการสร้างโอกาสทางการศึกษาที่ดีให้กับเด็กที่ประสบปัญหาต่างๆ ในวัยเรียน

สิ่งที่ครูได้เรียนรู้จากการสร้างการเรียนรู้

ได้เรียนรู้ว่า การที่เราให้โอกาสกับเด็ก เด็กก็จะให้โอกาสกับเราเช่นกัน นั่นคือ โอกาสในการเรียนรู้การแก้ไขปัญหาแต่ละปัญหาของเด็ก การปฏิบัติต่อเด็กแต่ละคน ซึ่งปัญหาของเด็กแต่ละคนย่อมแตกต่างกันทำให้การแก้ไขปัญหาก็แตกต่างกันไปด้วย ซึ่งต่างจากการดูแลเด็กที่เรียนในระบบปกติ การที่ครูให้โอกาส ให้ความรัก ความเข้าใจแก่เด็ก ครูก็ย่อมได้รับความรักและความเข้าใจกลับมาเช่นกัน สิ่งสำคัญที่สุดครูรู้สึกภาคภูมิใจมากที่เด็กกลุ่มนี้สำเร็จการศึกษาตามเป้าหมายที่เขาได้วางไว้ เวลาเด็กไปเจอครูที่ไหนก็ทักทายและยังจดจำครูได้เสมอ