เวทีพูนพลังครู ครั้งที่ 1: ครูผู้สร้างคุณลักษณะนิสัยที่ดีให้เด็ก

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเรื่องราวที่เป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดการพัฒนาเด็ก

ครูอั๋นเป็นครูประจำวิชาภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เห็นสภาพห้องเรียนที่เด็กไม่สนใจเรียน เล่นอุปกรณ์การเรียนระหว่างที่ครูสอนอยู่ เช่น โยนยางลบใส่เพื่อน ขว้างกระดาษแกล้งเพื่อนและคิดว่าการตำหนิหรือดุด่านั้นทำให้เด็กเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่ยั่งยืน ต้องแก้ปัญหาโดยเริ่มจากตัวครูเอง ด้วยการเปลี่ยนวิธีการสอนแบบเดิมที่เน้นให้เด็กเกิดความสนใจก่อนแล้วเด็กจะเกิดความเข้าใจและซึบซับกับเนื้อหาไปเอง และอีกเหตุผลหนึ่งที่อยากปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอนคือ รู้สึกว่าถ้าเด็กเกิดความเข้าใจ รู้สึกว่าเนื้อหาง่ายและมีความน่าสนใจกว่านี้ เขาอาจจะตั้งใจเรียนและเข้าใจเนื้อหาเองโดยที่ครูอั๋นไม่ต้องเคี่ยวเข็ญมาก

กระบวนการสร้างการเรียนรู้และพัฒนาเด็ก

สร้างความเข้าใจ กติกาโดยการพูดคุย อธิบายกับเด็กนักเรียนว่าเราจะมีกิจกรรมรูปแบบใหม่ในวิชาภาษาไทย ว่าจะมีการถอดบทประพันธ์เรื่อง “เงาะป่า” เพราะถ้าให้เด็กนักเรียนชั้น ป.4 มาเรียนบทกลอนบทละครที่ยาวเหยียด ภาษาก็ยากต้องมีการตีความลึกลงไปอีก อาจทำให้เด็กเบื่อหน่าย ไม่เข้าใจ ไม่สามารถเข้าถึงได้

ครูอั๋นจึงหาวิธีที่ดึงดูดความสนใจของเด็กนักเรียน คือ สร้างแรงบันดาลใจให้เด็กๆ เกิดความสนใจและเห็นคุณค่าในเรื่อง “เงาะป่า” ก่อน เริ่มจากการเล่าความเป็นมาให้เด็กฟัง ดูภาพประกอบ และให้เด็กเล่าถึงความประทับใจของบทประพันธ์นี้ สิ่งที่เกิดขึ้นกับเด็ก คือ เด็กๆ นั่งฟังครูอย่างใจจดจ่อราวได้ดูหนังเรื่องหนึ่งจากนั้นให้เด็กได้ลองอ่านเนื้อหาและเลือกบทกลอนในท่อนที่สนใจ ทำความเข้าใจ ถอดบทประพันธ์และมาเล่าให้เพื่อนๆ ฟังหน้าห้อง เด็กๆ เริ่มเข้าใจในบทกลอนมากขึ้น ซึ่งต้องใช้เวลาจากนั้นครูสอนหลักการถอดคำประพันธ์ซึ่งให้ทำเป็นกลุ่ม โดยแต่ละกลุ่มรับผิดชอบ 1 ตอน ส่งตัวแทนมาเล่าให้เพื่อนฟังหน้าห้อง เด็กทุกคนช่วยกันเชื่อมโยงเรื่องราวของทุกกลุ่ม ดังนั้น ถ้ากลุ่มไหนไม่ได้อ่านหรือทำความเข้าใจมาแล้วมานำเสนอ จะทำให้เพื่อนกลุ่มอื่นไม่เข้าใจ บทกลอนเรื่องนี้ก็จะขาดการต่อเนื่อง

วิธีการสร้างแรงบันดาลใจอีกอย่างหนึ่ง คือ หาวิดีโอให้เด็กได้เรียนรู้วิถีชีวิต “เงาะป่า” ตอน ซมพลาสู้เสือ ที่สัมพันธ์ตรงกับบทกลอนที่กำลังเรียนอยู่ เพราะเด็กชอบดูภาพที่มีเรื่องราวมากกว่าการอ่านหนังสือ หลังจากนั้น เด็กสะท้อนออกมาว่าการอ่านจากหนังสือมีรายละเอียดชัดเจนและได้จินตนาการตาม รู้สึกตื่นเต้นกว่าการดูหนัง แม้ในหนังจะเห็นภาพแต่เนื้อหาไม่ชัดเจนเหมือนในหนังสือทำให้เด็กทั้งอยากอ่านหนังสือและดูหนังควบคู่กันไปในส่วนนี้เด็กจะเกิดคุณลักษณะที่ดี คือ มีความขยันหมั่นเพียร มีความมุ่งมั่น มีเป้าหมาย มีความรับผิดชอบ กระตือรือร้น ใฝ่เรียนรู้ มีความกล้าหาญ เพราะเป็นชิ้นงานที่ทำร่วมกันเป็นกลุ่มกับเพื่อน กล้าที่จะนำเสนอผลงานหน้าห้อง และมีสุนทรียภาพ

ครูอั๋น มีทักษะในการสอนที่ดี ออกแบบและจัดการปรับเปลี่ยนการเรียนรู้ให้กับเด็ก สร้างการมีส่วนร่วมระหว่างเด็ก ครู และเนื้อหาของวิชาภาษาไทยได้เป็นอย่างดี ทำให้เด็กไม่เบื่อที่จะเรียนบทกลอนซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่เข้าใจยากสำหรับเด็กชั้น ป.4ทั้งนี้ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเด็ก คือ เด็กที่ไม่สนใจ ไม่ตั้งใจเรียน เริ่มมีส่วนร่วมกับงานหรือกิจกรรมที่ได้รับมอบหมายเพิ่มมากขึ้น ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีความสามัคคี อย่างเช่น งานกลุ่มที่ต้องไปอ่านบทกลอน มีการแบ่งหน้าที่กันไปหาคำศัพท์ ไม่เกี่ยงกันเมื่อต้องออกไปนำเสนองาน

ผลการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเด็ก

จากการเรียนคำประพันธ์เรื่อง “เงาะป่า” ของครูอั๋น ทำให้เด็กเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับกระบวนการสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนการสอนให้เกิดกับทั้งครูและเด็กในทุกขั้นตอน ตั้งแต่เริ่มเล่าความเป็นมา ให้เด็กดูภาพ อ่านและแปลความมาเล่าให้เพื่อนฟัง เมื่อเด็กเริ่มเข้าใจหลักการและเห็นตัวอย่างการถอดคำประพันธ์แล้วก็มาเรียนร็วถีชีวิตเงาะป่าผ่านการดูวิดีโอ จนได้เป็นข้อคิดจากบทประพันธ์เรื่องเงาะป่าในตอนนี้ จากความเบื่อหน่ายและไม่ชอบเรียนภาษาไทยมาเป็นสนใจและอยากติดตามเรื่องราวของ “เงาะป่า” มากขึ้นทำให้เด็กมีความมุ่งมั่น มีเป้าหมายมีความรับผิดชอบในงานที่ได้รับมอบหมาย รู้สึกกระตือรือร้น ใฝ่เรียนรู้มีความสามัคคีเพราะเป็นชิ้นงานที่ทำร่วมกันเป็นกลุ่มกับเพื่อน มีความกล้าหาญ กล้าที่จะนำเสนอผลงานหน้าห้อง และมีสุนทรียภาพกับบทกลอนและเรื่องราวของ “เงาะป่า”

เด็กบางคนมีการเปลี่ยนแปลงจากเด็กที่ไม่ตั้งใจเรียน ไม่สนใจ เหม่อลอย ชอบมุดไปเล่นใต้โต๊ะ เคาะขาโต๊ะ ระหว่างที่ครูสอน รบกวนทั้งครูและเพื่อนในห้องเรียน เวลาทำงานก็สนใจแค่ว่ามีส่งครูทันเวลา ครูก็จะตำหนิว่ากล่าวตลอด ทำให้ส่งงานช้าไปอีก แต่มีงานชิ้นหนึ่งที่ทำให้ครูเล็งเห็นว่าเด็กมีฝีมือดีด้านการวาดลายไทย มีลายมือที่สวยงาม ครูอั๋นจึงใช้วิธีชมเชยความสามารถด้านนี้ของเด็ก ชมเชยและสนับสนุนให้เด็กใช้ความสามารถด้านนี้ออกมาบ่อยๆ เช่น ให้วาดลายไทยมาประดับผลงานอื่นๆ ของเด็กหลังจากนั้น เด็กเริ่มมีความตรงต่อเวลาในการส่งงานครู มีผลงานที่ดีกว่าเดิม ชื่นชอบครูอั๋นมากขึ้นและชอบเรียนวิชาภาษาไทยมากขึ้นด้วย เทคนิคที่สำคัญที่ครูอั๋นใช้กับเด็กคือ การรู้จักหาข้อดีของเด็กเพื่อชื่นชมเขามากกว่าการตำหนิเขาเพียงอย่างเดียว ซึ่งคิดว่าเป็นเทคนิคที่สำคัญ

สิ่งที่ครูได้เรียนรู้จากการสร้างการเรียนรู้

การ “เปิดใจ” ถ้าเราเปิดใจรับฟังเขา ยอมรับในความเป็นตัวตนของเขา เขาจะเปิดใจคุยกับเรา ให้เราได้เรียนรู้ซึ่งกันและกันทำให้กำแพงระหว่างผู้ใหญ่กับเด็กหมดไป ทำให้เวลาเด็กมีปัญหาเรื่องต่างๆ เด็กก็จะกล้าเข้ามาพูดคุยกับครูมากขึ้น และการรู้จักหาข้อดีของเด็กเพื่อชื่นชมมากกว่าการตำหนิเขาเพียงอย่างเดียว เพราะการชื่นชมเขาในทางที่ถูกที่ควรหรือการพยายามหาจุดเด่นของเขานั้นจะทำให้เขายอมรับในตัวเราเปิดใจรับฟังและจะแสดงศักยภาพในด้านที่ดีออกมาเอง