เวทีพูนพลังครู ครั้งที่ 1: ครูผู้สร้างคุณลักษณะนิสัยที่ดีให้เด็ก

สถานการณ์ที่เป็นจุดเริ่มต้นและกระบวนการพัฒนาเด็ก

ครูมะนาว เปรี๊ยวจี๊ดโดนใจเด็ก

ครูศุภวัฒน์ พรมตัน หรือครูมะนาว จบการศึกษาจากคณะครุศาสตร์ (มัธยมศึกษา) เอกภาษาไทย จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มต้นเส้นทางวิชาชีพครูประถมกับเด็กๆ ชาวกะเหรี่ยงที่โรงเรียนบ้านดอย อำเภอดอยหลวง จังหวัดเชียงราย ก่อนจะย้ายมาเป็นครูภาษาไทยที่ต้องรับผิดชอบงานบรรณารักษ์ควบคู่ไปด้วยที่โรงเรียนนครวิทยาคม อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ครูมะนาวก้าวเดินบนเส้นทางวิชาชีพครูมาได้ราว 7 ปี โดยมีคุณพ่อเป็นแบบอย่างของความเป็นครู

การสร้างความไว้วางใจ ความรักและความเข้าใจกับนักเรียน

  • สะกดใจที่คาบเรียนแรก

“พ่อผมซึ่งเป็นครูเหมือนกัน จะย้ำเสมอว่า คาบแรกที่เราเจอนักเรียนนั้นสำคัญมาก ถ้าหากครูได้ใจนักเรียนในคาบแรกที่เจอกัน จะเป็นตัวกำหนดบรรยากาศของห้องเรียนนี้ทั้งเทอมเลยนะครับ”

“การทำความรู้จัก” จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ครูมะนาวเน้นในคาบเรียนแรกที่ได้เจอนักเรียน ซึ่งการทำความรู้จักนี้มิใช่การทักทายระหว่างครูกับนักเรียน แต่เป็น “รู้จักครู รู้จักตนเอง รู้จักชีวิตและรู้จักวิชา”

รู้จักครู ที่มากกว่าบอกชื่อและตำแหน่ง แต่ รู้ว่าครูของเด็กๆ เป็นคนอย่างไร ...“บางทีแค่รอยยิ้มของครู ก็ได้ใจนักเรียนแล้วนะครับ”

รู้จักตนเอง ทบทวนตัวเองผ่านการเขียน “10 สิ่งที่น่ารู้เกี่ยวกับตัวฉัน” หรือ “ลักษณะของฉันเหมือนสัตว์ชนิดใด เพราะอะไร

รู้จักชีวิต รู้จักวิชาด้วยการตั้งคำถามหรือประเด็นปัญหาจากครูๆ แล้วเชื่อมโยงสู่คำตอบหรือทางออกอยู่ที่ “ถ้าเด็กๆ ได้เรียนรู้เรื่องนี้กับครู” เพื่อที่เด็กๆ จะได้รู้ว่าเรียนวิชานี้ไปทำไม และจะเชื่อมโยงไปสู่ชีวิตได้อย่างไร

“ลองนึกภาพกันเถอะครับว่าหลังจากจบคาบแรกนี้ไปแล้ว เราอยากให้นักเรียนเดินตัวเหี่ยวๆ ออกจากห้อง หรืออยากให้หัวใจเขาพองโต เฝ้ารอจะกลับมาเจอกับเราในคาบหน้าอีก”

  • ที่อยู่ของครู

“ผมว่าบุคคลที่มีวุฒิภาวะที่ใกล้ชิดกับเด็กรองจากพ่อแม่ หรืออาจจะมากกว่าพ่อแม่บางคน ก็คือคนเป็นครูนะครับ ในชีวิตที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมา แม้ไม่เคยประสบกับตัวเอง ก็ต้องเห็นตัวอย่างมาจากคนอื่น ซึ่งประสบการณ์ของครู น่าจะช่วยเด็กได้เยอะนะครับ อย่างน้อยที่สุดก็เป็นคนที่รับฟังปัญหาได้อย่างเข้าใจ เด็กๆ ก็จะไม่ต้องแก้ปัญหาอย่างโดดเดี่ยว หรือทำตามคำแนะนำที่อาจจะไม่ถูกต้องของเพื่อนในวัยเดียวกัน”

สำหรับครูรุ่นใหม่อย่างครูมะนาวที่ตกหลุมรักเส้นทางอาชีพนี้จากสายตาของเด็กๆ ที่มองเขาด้วยความหวังและความไว้ใจ การเข้าไปนั่ง “ในใจเด็ก” จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ครูมะนาวพยายามทำให้ได้

พื้นที่ในใจเด็ก เป็นพื้นที่เดินทางเข้าไปได้ยากมาก ทางเข้าคดเคี้ยวและวกวน แต่ละคนก็จะมีทางเข้าไม่เหมือนกัน แต่ถ้าหากเราโชคดีหาจุดร่วมที่เจ๋ง ๆ ได้ เราก็จะเข้าไปได้ทีละหลายคนครับ”

“การเปิดใจ” เป็นวิธีการเปิดประตูเข้าไปในใจเด็กของครูมะนาว เมื่อต้องการให้ใครเข้าใจเรา เราก็ควรต้องเปิดใจเข้าใจเขาก่อน และสำหรับเด็กๆ แล้ว “ความเข้าใจ” แตกต่างจาก “รู้ทัน”

เข้าใจว่าเขาชอบให้เราสอนแบบไหน
เข้าใจว่าเขาสนใจอะไร เข้าใจว่าเขามีเป้าหมายอะไร
เข้าใจว่าวิธีสอนแบบไหนทำให้เขาเพลิดเพลินกับการเรียน

สิ่งสำคัญที่ไม่น้อยไม่กว่า “ความเข้าใจ” ก็คือ การเป็นตัวอย่างที่ดีให้เด็กๆ ซึ่งจะทำให้เด็กๆ นับถือและศรัทธาต่อครู

  • ครูพันธุ์ใหม่หัวใจไอที

ครูมะนาวถือได้ว่าเป็นคนรุ่นใหม่ที่เติบโตมากับความก้าวหน้าของเทคโนโลยี โดยเฉพาะการเติบโตของช่องทางการสื่อสารออนไลน์หรือโซเชียลมีเดีย (social media) ซึ่งคนทุกเพศวัยต่างเข้าถึงได้โดยไม่มีเงื่อนไข

การเรียนการสอนในปัจจุบันพึ่งพาการสื่อสารออนไลน์ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็น เฟซบุ๊ก (face book) ไลน์ (line) อินสตาแกรม (instragram) ฯลฯ ครูสามารถสั่งงาน ติดตามการบ้านนักเรียนผ่านช่องทางเหล่านี้ได้ ขณะเดียวกันก็เป็นพื้นที่ให้ครูได้แลกเปลี่ยนความรู้สะท้อนความคิดต่อกัน

ครูมะนาวมองว่าการที่ครูคนใดคนหนึ่งจะรับนักเรียนเป็นเพื่อนบนเฟซบุ๊กนั้น มีข้อดีหลายอย่าง คือ1. ทำให้ครูเข้าถึงตัวนักเรียนได้มากขึ้น
2. ทำให้ครูทราบปัญหาของนักเรียนและหาวิธีแก้ได้ทันท่วงที3. ทำให้ครูทวงการบ้านได้ง่ายขึ้น 4. ครูสามารถแชร์เรื่องราวดี ๆ ให้นักเรียนได้รับรู้5. ครูสามารถตักเตือนพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ที่นักเรียนแสดงออกทาง social network ได้

ครูมะนาวเป็นคนหนึ่งที่มีหน้าเพจบนเฟซบุ๊กชื่อ “krumanow” และ “อะไรอะไรก็ครู” ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมาก กิจกรรมที่ครูมะนาวคิดและร่วมทำกับเด็กๆ ถูกเผยแพร่ผ่านช่องทางการสื่อสารออนไลน์ ไม่เพียงจะเป็นการแบ่งปันให้ครูท่านอื่น หากยังสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครูมะนาวและลูกศิษย์ บ่งบอกถึงความศรัทธาที่เด็กๆ มีต่อคุณครูของพวกเขา

การส่งเสริมและกระตุ้นให้ผู้เรียนพัฒนาตน

  • เกม > ความสนุก

การสอนวิชาภาษาไทยให้เด็กๆ รู้สึกสนุกที่จะเรียนและได้ความรู้ด้วยนั้น ครูมะนาวได้ใช้ “เกม” มาเป็นเครื่องมือกระตุ้นความสนใจของเด็กๆ ดังเช่น การนำเข้าสู่บทเรียนด้วยเกม Q20 หรือเกม 20 คำถาม โดยครูจะเขียนคำตอบใส่กระดาษไว้ แล้วนักเรียนจะต้องหาคำตอบให้ได้ว่าคำที่ครูเขียนคืออะไร โดยจะต้องช่วยกันถามคำถาม ได้ไม่เกิน 20 คำถาม ครูจะตอบได้แค่ว่า “ใช่” หรือ “ไม่”

“เกมนี้จะช่วยให้คอนเซปต์หรือข้อความที่อธิบายลักษณะของคำที่เราเขียนไว้ได้ครับ ซึ่งคำถามของนักเรียนและคำตอบของครูที่จะเป็นตัวช่วยสร้างคอนเซปต์นั่นเองครับ”

สิ่งที่ได้จากเกมนี้นอกเหนือจากการนำเข้าสู่บทเรียนนั้น ครูมะนาวบอกว่า คือการสรุปกิจกรรมที่เล่นไปโดยจะเห็นได้ชัดเลยว่า หากนักเรียนเพิ่งเคยเล่นเกมนี้เป็นครั้งแรกจะระดมยิงคำถามใส่ครูโดยไม่มีการคิดไตร่ตรองคำถามก่อน ซึ่งพอคำตอบของครูเป็นคำว่า “ไม่ใช่” มากเข้า จนไปถึงคำถามท้าย ๆ นักเรียนจะฉุกคิดและระวังคำถามมากขึ้น และเมื่อให้เล่นเกมนี้ซ้ำอีกรอบ นักเรียนจะมีวางแผนการใช้คำถามได้ดีขึ้นครับซึ่งถ้าคุณครูสังเกตพฤติกรรมเหล่านี้ได้ ก็สามารถเชื่อมโยงเข้ากับการใช้ทรัพยากรในชีวิตประจำวันได้

  • ทำอย่างไรให้เด็กอ่านหนังสือ

นอกเหนือจากหน้าที่สอนภาษาไทยให้กับนักเรียนระดับมัธยมปลายแล้ว ครูมะนาวยังรับผิดชอบงานบรรณารักษ์ห้องสมุดของโรงเรียน กิจกรรมส่งเสริมการอ่านที่แปลกและได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับโรงเรียนแห่งนี้ โดยกระตุ้นให้เด็กสนใจยืมหนังสือไปอ่านมากกว่าเอาหนังสือไปหนุนนอน

ครูมะนาวได้ชวน “ยุวบรรณารักษ์” กลุ่มนักเรียนที่อาสาช่วยงานห้องสมุด มาร่วมกันระดมความเห็นหาวิธีที่จะให้นักเรียนมาใช้บริการห้องสมุดให้มากขึ้น จากความคิดและข้อเสนอแนะมากมายนำไปสู่กิจกรรมส่งเสริมการอ่านที่สร้างสรรค์ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งได้รับการตอบรับจากนักเรียนมากขึ้นเรื่อยๆ ดังเช่น

“ปลุกวิญญาณ...นักอ่านในตัวคุณ” เป็นกิจกรรมแรกที่ครูมะนาวและยุวบรรณารักษ์ได้ร่วมกันจัดขึ้น โดยหยิบยกเรื่องราวเกี่ยวกับผีและวิญญาณจากหนังสือต่างๆ มาเล่าให้ผู้ร่วมงานฟัง ท่ามกลางบรรยากาศและการตกแต่งสถานที่ที่ชวนสะพรึงกลัว เด็กๆ ที่มาร่วมงานสนุกและประทับใจ และต่างสนใจยืมหนังสือเล่มที่ถูกนำมาอ่านให้ฟัง

The Soundtrack of Book...เพลงรักประกอบหนังสือ” กิจกรรมที่สองที่ดึงดูดให้เด็กๆ มาร่วมงานมากขึ้นเป็นสองเท่าจากครั้งแรก กิจกรรมนี้ครูมะนาวชวนนักดนตรีของโรงเรียนร่วมกับยุวบรรณารักษ์ช่วยกันเลือกหนังสือและเพลงที่เข้าคู่กัน โดยมีแนวคิด “สายตากวาดไปตามตัวอักษร หัวใจไหลไปตามเสียงเพลง”

The Voice Reading Season 1 ...อ่านจริง ไรจริง อีกหนึ่งกิจกรรมที่สร้างความสนุกและกระตุ้นให้เด็กๆ สนใจการอ่านมากขึ้น โดยเป็นกิจกรรมให้เด็กๆ แข่งขันอ่านหนังสือและแนะนำหนังสือให้น่าสนใจให้โดนใจคณะกรรมการ ซึ่งเป็นครูและนักเรียนในโรงเรียน

“เมื่อก่อนครูสอนนักเรียนก็เหมือนการทำกับข้าว

เราบอกนักเรียนว่าอาหารนี้มีประโยชน์ กินเข้าไปเถอะ

นักเรียนก็ก้มหน้าก้มตากินไม่คิดอะไร เดี๋ยวนี้ของกินรอบตัวเขามีเยอะ

ดังนั้นอาหารของครูจึงควรน่ากินกว่าอาหารอย่างอื่น

เขาถึงจะสนใจ และถ้าจะให้ดี อาหารนี้เขาต้องได้ช่วยหั่นผัก หั่นหมูด้วย มันถึงจะสนุก”

-ครูมะนาว-