เวทีพูนพลังครู ครั้งที่ 1: ครูผู้สร้างคุณลักษณะนิสัยที่ดีให้เด็ก

การใช้จิตศึกษาในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน

โรงเรียนบ้านนางแดดเหนือเป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาเปิดสอนระดับชั้นอนุบาลจนถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่๓อยู่ห่างจากตัวอำเภอหนองบัวแดง ๓๖กิโลเมตรห่างจากตัวจังหวัด๔๖กิโลเมตรอยู่ในเขตบริการ ๕ หมู่บ้านคือหมู่บ้านนางแดดโคกหมู่บ้านนางแดดเหนือหมู่บ้านม่วงมณีหมู่บ้านทรัพย์เจริญ และหมู่บ้านหลักแดนประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรและรับจ้างทั่วไป

เว้นจากช่วงฤดูทำไร่ทำนาผู้ปกครองส่วนมากก็จะไปทำงานรับจ้างต่างจังหวัดทิ้งลูกหลานให้อยู่ในความดูแลของปู่ย่าตายายทำให้เด็กๆ โดยเฉพาะเด็กที่กำลังเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นหันมารวมกลุ่มกันเพื่อทำกิจกรรมหลายๆกิจกรรมซึ่งมีทั้งทางบวกและทางลบเสมอ

ข้าพเจ้ารับผิดชอบหน้าที่ในการสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑-๓ และทราบดีว่าศัตรูตัวฉกาจของครูคือ “ความไม่รู้ของเด็ก”คิดอยู่เสมอว่าทำอย่างไรครูอย่างเราจะสามารถเอาชนะศัตรูตัวนี้ได้สักทีทุกครั้งก่อนที่จะเข้าสอนข้าพเจ้าบอกตัวเองอยู่เสมอว่า“เด็กไม่ใช่ผู้ใหญ่ย่อส่วนถ้าเด็กเก่ง เด็กรู้ เขาคงไม่มาเรียนกับเรา”แต่เราจะทำอย่างไรกับเด็กในความปกครองโดยเฉพาะนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ ซึ่งกำลังเข้าสู่วัยรุ่นเด็กแต่ละคนมีพื้นฐานทางครองครัวที่แตกต่างกันในแต่ละปีปัญหาเด็กออกเรียนกลางคันมีไม่น้อยกว่า ๔-๕ คนอีกทั้งปัญหาเด็กก้าวร้าวทะเลาะวิวาทลักขโมย

ไม่รับผิดชอบ ไม่มีวินัย ไม่ส่งงานโดดเรียน และอีกมากมายหลายปัญหาข้าพเจ้าพยายามจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่หลากหลายวิธีเช่น การเล่นปนเรียน การเล่นเกม เล่าเรื่องหรือนิทานยกตัวอย่างที่ดีและไม่ดีให้เด็กเปรียบเทียบกับกรณีตัวอย่างในหมู่บ้าน ทำทุกรูปแบบที่สามารถทำได้แต่ดูเหมือนจะไม่ประสบผลตามที่เราหวังไว้จนบางครั้งข้าพเจ้าเกิดความเครียดมีอาการปวดตามเนื้อตามตัว รู้สึกร้อนวูบวาบตามร่างกายเวียนศีรษะและอาเจียนถึงขนาดไปพบแพทย์ซึ่งแพทย์ก็วินิจฉัยว่าอยู่ในช่วงระหว่างวัยทองด้วยวัย ๔๙ ปี ย่าง ๕๐ ปีแพทย์แนะนำให้พักผ่อนและผ่อนคลายกับการงานบ้าง แต่ข้าพเจ้าจะทำได้หรือจะผ่อนคลายได้หรือ เมื่อลูก ๆ ของข้าพเจ้าเป็นแบบนี้

ต่อมาเมื่อช่วงต้นปี๒๕๕๗ทางโรงเรียนบ้านนางแดดเหนือได้ต้อนรับผู้บริหารคนใหม่เข้ามาบริหารโรงเรียนคือนายจิระพงษ์บุญเสนาและท่านได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการสอนกระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนภายในโรงเรียนโดยใช้จิตศึกษาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการจัดกิจกรรมแรกๆ ข้าพเจ้างงมากไม่เข้าใจเอาเสียเลยว่าคืออะไรต่อมาเมื่อได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานโรงเรียนที่เขาจัดกิจกรรมจิตศึกษาได้เข้ารับการอบรมเกี่ยวกับขั้นตอนกระบวนการต่าง ๆ ของจิตศึกษา และได้ศึกษาความเป็นมาการนำกระบวนการจิตศึกษามาใช้ในห้องเรียนข้าพเจ้าเริ่มลองใช้กระบวนการจิตศึกษาไปพร้อม ๆ กับเด็กนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑แรก ๆ ดูเหมือนเป็นเรื่องตลกแต่ก็พยายามเรียนรู้ปรับเปลี่ยนกิจกรรมทุกรูปแบบตามบริบทของห้องเรียนดูเหมือนจะใช้เวลาเกือบตลอดปีการศึกษาปรากฏว่าพฤติกรรมของเด็กเริ่มเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นแม้จะไม่ได้ผลร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็ทำให้ข้าพเจ้าเริ่มมีความหวัง

จากการศึกษาข้าพเจ้าพบว่าจิตศึกษาเป็นการฝึกจิตจากภายใน เป้าหมายเพื่อพัฒนาความฉลาดด้านจิตวิญญาณและด้านอารมณ์ให้เห็นคุณค่าของสรรพสิ่งนำสิ่งที่ดีงามเข้าไปสู่จิตใต้สำนึกโดยแบ่งเวลาฝึกช่วงเช้าก่อนเริ่มเรียนหลังรับประทานอาหารเที่ยงและก่อนกลับบ้านซึ่งแต่ละกิจกรรมมุ่งเน้นผลแตกต่างกันออกไปเช่น

  • กิจกรรมที่มุ่งให้เกิดสติ กลับมารู้ตัวได้เสมอ ตัวอย่างกิจกรรมเช่น เด็กนั่งเป็นวงกลมปรบมือ

นับถอยหลัง ๑๐๐-๑ การนับ ๑-๑๖ พร้อมทำท่าทางการร้องเพลงความเกรงใจพร้อมทำท่าทางและสนทนาเนื้อหาของเพลงในช่วงท้าย

  • กิจกรรมฝึกสมาธิให้เด็กคงสมาธิได้มากขึ้น ตัวอย่างกิจกรรมเช่นการถักยางวง การวาดภาพ

ระบายสีตามจิตนาการการใช้นิ้วทรงตัวไม้ยาวประมาณ ๑ เมตรให้ได้นานที่สุดการเล่นขาโถกเถกการเล่นวิ่งกะลาการกระโดดเชือกเป็นกลุ่ม การฟังนิทานหรือเรื่องเล่า

  • กิจกรรมที่มุ่งเน้นเสริมสร้างพลังสงบภายในและการผ่อนคลายตัวอย่างกิจกรรมเช่น การทำ

โยคะ การทำบอดีแสกนช่วงบ่าย ประมาณ ๑๕-๒๐ นาที พร้อมดนตรีเสียงเบาๆ คลื่นความถี่ต่ำเพื่อนำคลื่นสมองของเด็กให้มีความถี่ต่ำลง

  • กิจกรรมที่มุ่งเน้นให้เห็นคุณค่าของตัวเองคนอื่นหรือสิ่งอื่น ตัวอย่างกิจกรรมเช่นการ

นำเสนอการทำความดีของตนเองในวันนี้บันทึกการทำความดี การขอบคุณต้นกำเนิดของเราขอบคุณสิ่งต่างๆบอกประโยชน์ของสิ่งต่างๆ รอบตัว

  • กิจกรรมที่มุ่งเน้นเกิดพลังความรักความเมตตามีจิตสำนึกที่ดีงาม ตัวอย่างกิจกรรมเช่นการ

ไหว้กันและกัน การยกย่องชื่นชมความดีของกันและกันการขอบคุณกันและกันการยอมรับความเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี

กิจกรรมจิตศึกษาที่กล่าวมาข้างต้นสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสมแต่ทั้งนี้ข้าพเจ้าก็ยังเห็นว่าก่อนที่จะใช้กิจกรรมใด ๆ กับเด็ก เราจำเป็นต้องรู้พื้นฐานทางครอบครัวของเด็กปัญหาของเด็กและความต้องการของเด็กก่อนจะทำให้เราได้รับความร่วมมือในการจัดกิจกรรมได้ง่ายขึ้น ดังนั้นข้าพเจ้าจึงหาเวลาว่างจากการทำงานไปเยี่ยมบ้านเด็ก ๆ บ่อยขึ้นเนื่องจากข้าพเจ้าเป็นคนในพื้นที่จึงไม่ยากนักที่จะเข้าถึงครอบครัวของเด็กได้ทุกคนซึ่งหลังจากใช้เวลาในการศึกษาและทดลองนำกระบวนการจิตศึกษามาใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนไปพร้อม ๆ กับเด็กนักเรียนข้าพเจ้าพบว่าตัวเองไม่มีอาการปวดตามเนื้อตามตัวไม่รู้สึกร้อนวูบวาบตามร่างกายไม่เวียนศีรษะและไม่อาเจียน อาการหงุดหงิดเริ่มหายไปรู้เท่าทันอารมณ์ของตนเองเปิดใจรับฟังปัญหาของเด็กได้ทุกเรื่องและมีความสุขกับการทำงานมากขึ้นสุขที่เห็นเด็กมีความรับผิดชอบ มีเหตุผลมากขึ้นสุขที่เห็นเด็กไม่ทะเลาะกันสุขที่เห็นเด็กเข้าร่วมกิจกรรมอย่างสนุกสนานและมีความสุขสุขที่เห็นเด็กไม่โดดเรียนเหมือนเมื่อก่อนแม้ผลจะไม่เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์แต่ก็ทำให้ข้าพเจ้าเริ่มมั่นใจที่จะนำกิจกรรมนี้มาใช้ต่อไป

การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในรูปแบบต่าง ๆข้าพเจ้ามองว่ายังไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวแม้กระทั่งจิตศึกษาเราสามารถปรับกิจกรรมให้มีความเหมาะสมกับบริบทของเราเองได้ดังนั้นหลักสูตรของความเป็นครูอย่างเราจึงไม่จบไม่สิ้นเป็นหลักสูตรที่ท้าทายต้องคิดพลิกแพลงปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลาตามสถานการณ์แต่เรามีเป้าหมายเดียวกันคือกำจัดความไม่รู้ของเด็กให้เป็นเด็กที่รู้จักตนเองเข้าใจสิ่งแวดล้อมสามารถเลือกตัดสินใจแก้ปัญหาและปรับตัวได้อย่างเหมาะสมเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต

ของเขาให้เป็นคนได้โดยสมบรูณ์อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขเท่านี้ครูก็สุขใจแล้ว!!!!!!!

สุขของฉันคืองานบันดาลจิต

สุขของฉันอยู่ที่คิดสมบัติบ้า.....

คิดทำโน่นทำนี่ทุกเวลา.......

เมื่อเห็นงานก้าวหน้าก็สุขใจ!!!!!

นางเสาวนีประจงสุข

ครูคศ. ๑

โรงเรียนบ้านนางแดดเหนือ ต. วังชมภูอ.หนองบัวแดงจ. ชัยภูมิ

๔พฤษภาคม๒๕๕๘

DSC00781

DSC00778

การอบรมตามโครงการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมและบุคลิกภาพของข้าราชการครู

และบุคลากรทางการศึกษา

อบรมการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับพัฒนาการทางสมอ BBL

ศึกษาดูงานที่โรงเรียนชุมชนบ้านห้วยค้อมิตรภาพที่ ๒๐๖อำเภอพล

จังหวัดขอนแก่น ระหว่างวันที่๖มิถุนายน๒๕๕๗

กิจกรรมจิตศึกษาหลับตาส่งกระแสจิตมอบสิ่งดีๆ ให้แก่กันร้องเพลงร่วมกัน

ฝึกสมาธิ การใช้นิ้วประคองไม้ยาวประมาณ ๑ เมตร ให้ได้นานที่สุด

ทำงานกลุ่มร่วมกัน ยอมรับความคิดเห็นร่วมกัน นำเสนองานร่วมกันอย่างสนุกสนาน

นำเสนอผลงานตนเองด้วยความภาคภูมิใจ

บอดีแสกน ช่วงบ่ายหลังรับประทานอาหารเที่ยง ประมาณ ๑๕-๒๐ นาที

พร้อมดนตรีเสียงเบาๆ คลื่นความถี่ต่ำเพื่อนำคลื่นสมองของเด็กให้มีความถี่ต่ำลง