จิรัชญา โลนันท์ : แกนนำเครือข่ายเยาวชน Active Citizen จ.น่าน

นางสาวจิรัชญา โลนันท์ (นิ) แกนนำเครือข่ายเยาวชน Active Citizen จ.น่าน

­

นิ จิรัชญา โลนันท์ ตัวแทนเยาวชนจากจังหวัดน่าน ถือเป็นเยาวชนในรุ่นแรก ๆ ที่เข้าร่วมโครงการเสริมสร้างศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน ปัจจันเธอเรียนจบจากวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีแพร่ และเข้าทำงานเป็นพยาบาลวิชาชีพ อยู่ที่โรงพยาบาลน่าน ในตึกศัลยกรรมกระดูกชายมากว่าหนึ่งปี เธอบอกว่าแม้เวลาจะผ่านมานานแค่ไหนแต่เธอยังคงจำที่มาและความสุขที่เธอได้รับจากกการทำโครงการนี้ได้เสมอ

นิยังคงนำกระบวนการที่ได้จากโครงการฯ มาประยุกต์ใช้กับงานที่เธอทำ พร้อมยกตัวอย่างสิ่งที่นำไปใช้อยู่ตลอดคือกระบวนการ 5 ขั้นตอนว่า มันคือการฝึกทักษะการคิดให้เป็นระบบ เริ่มตั้งแต่ประเมินสภาพปัญหา ระบุปัญหา วางแผน ลงมือปฏิบัติ และประเมินผล ซึ่งในการเรียนมักจะต้องใช้ในกระบวนการพยาบาล ตั้งแต่ประเมินสภาพปัญหาผู้ป่วย ตั้งข้อวินิจฉัยทางการพยาบาล วางแผนการพยาบาล ปฏิบัติงาน และประเมินผลในแต่ละเวร ซึ่งเมื่อถึงขึ้นประเมินผล เราจะสามารถวิเคราะห์ได้ว่าปัญหาไหนหมดไป ปัญหาไหนคงอยู่ และต้องปรับปรุงแก้ไขต่อไป

เธอเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการให้ฟังว่า ย้อนกลับไปเมื่อ 6 ปีก่อน ในชุมชนมีปัญหาวัยรุ่นค่อนข้างเยอะ ทางผู้อำนวยการโรงเรียนจึงพยายามรวมกลุ่มเยาวชนทำกิจกรรมเพื่อสังคม จนได้มีโอกาสพบกับพระอาจารย์สมคิด จรณธมฺโม เจ้าอาวาสวัดโป่งคำ เป็นผู้แนะนำให้เข้าร่วมโครงการ เธอยอมรับตรงๆ ว่าช่วงแรกที่ตัดสินใจทำโครงการไม่ได้คาดหวังกับสิ่งที่ทำสักเท่าไหร่คิดแค่ว่าลองทำดู แต่ผลลัพธ์ที่ได้หลังจบโครงการทำให้เธอปรับมุมมองวิธีคิดใหม่ และตั้งใจ ใส่ใจกับสิ่งที่เธอทำมากกว่าเดิม นิทำโครงการในชุมชนโดยมีเป้าหมายเพื่อให้คนในชุมชนตระหนักที่จะอนุรักษ์ป่าชุมชนหัวนา ตำบลพงษ์ อำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน ป่าที่เปรียบเสมือนตู้เย็นของชุมชน ตอนแรกปีแรกหนูคิดว่าทำไป ๆ ปีแรกพอเราได้โครงการก็ทำ ไม่ได้คิดอะไร เพราะตอนนั้นเรามองว่าจะไปเปลี่ยนความคิดคนให้มาตระหนักถึงความสำคัญของป่าน่าจะเป็นเรื่องยากและต้องใช้เวลา เหมือนที่หนูบอกพอปีสองเราเห็นว่าผู้นำชุมชนเขาก็เห็นกับเรา เขาไปกับเรา ชาวบ้านเขาก็ให้ความร่วมมือดี เราก็รู้สึกดี

ตลอดระยะเวลาที่ทำโครงการการรักษา อนุรักษ์ ฟื้นฟูป่าชุมชนบ้านหัวนา แม้จะต้องพยายามสร้างความเข้าใจกับชาวบ้านที่ช่วงแรก ๆ ยังไม่เข้าใจในสิ่งที่เราทำ หรือการติดต่อประสานงานกับหน่วยงานหลายหน่วยงานในช่วงปีที่สองเพื่อขยายผลการใช้ประโยชน์จากป่าชุมชน แต่สุดท้ายสิ่งที่เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของโครงการในวันนี้คือ ชาวบ้านเข้าไปใช้ประโยชน์ ที่ใช้ประโยชน์จริงๆ จะเป็นเรื่องของการใช้นำประปาภูเขา จะมีบ่อเก็บน้ำสองที่ เลี้ยงปลา เก็บน้ำไว้ใช้ในหมู่บ้าน ตอนนี้ไม่มีปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำ

ในส่วนของนิเองเธอบอกว่าการทำโครงการนี้เปลี่ยนเธอไปมาก นิยอมรับว่าเดิมเธอเป็นคนขี้อาย ไม่กล้าแสดงออก “ก่อนที่จะมาโครงการกับมูลนิธิฯ หนูเคยทำโครงการกับทางโรงเรียนมาก่อนตอนนั้นหนูเป็นคนไม่กล้าพูด ทางพี่สนใจโครงการหนูเลือกให้เราเข้าเฝ้าสมเด็จพระเทพฯ เพื่อนำเสนอโครงการให้ท่านฟัง แต่หนูไม่กล้าพูด เลยพลาดโอกาสไป จนได้มาทำโครงการนี้ หนูไม่รู้ว่าอยู่ดีๆ หนูก็กล้าพูดกับพวกพี่ได้ไงก็ไม่รู้แล้วเหมือนเราพูดแล้วมีคนฟัง เรากล้าแสดงออกมากขึ้น มีเวทีให้เราได้พูดมากขึ้น เหมือนมีเวทีให้เราฝึกบ่อย เวลาที่เรานั่งล้อมวงแล้วให้แต่ละคนพูด หนูจำภาพได้เลยแล้วพอเราได้พูดบ่อยๆ เขาฟังเรา เราจะมีความกล้าแสดงออกค่ะ ” นิสะท้อนการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวเองให้ฟัง

เมื่อเข้ารั้วมหาวิทยาลัย นิยังคงนำความรู้ ทักษะที่ได้จากการทำโครงการไปประยุกต์ใช้ต่อยอดในการเรียนต่อ โดยเธอบอกว่า “ตอนเรียนที่วิทยาลัยในวิชาลงชุมชน เราต้องเขียนโครงการลงไปทำกิจกรรมกับชุมชน เหมือนตอนที่ทางมูลนิธิที่เคยสอน เป็นการเขียนโครงการขึ้นมาแล้วใช้คล้ายๆ กัน แบบฟอร์ม กระบวนการทำเหมือนกันทำให้เราเข้าใจง่ายกว่าเพื่อนคนอื่นในห้อง”

ถึงตอนนี้เธอบอกว่าเวลาที่มองย้อนกลับไปทีไรเธอรู้สึกภูมิใจในตัวเองทุกครั้ง ไม่ใช่แค่เธอที่ภูมิใจแต่เธอบอกว่าแม่ของเธอเองก็ภูมิใจเช่นกัน เธอเล่าว่า “แม่บอกว่าหนูกล้าแสดงออกขึ้น ตอนสอบสัมภาษณ์สมัครเรียนหนูผ่านรอบแรกเลย แม่บอกว่าเป็นเพราะว่าเราทำโครงการนี้ทำให้หนูกล้าพูดมากขึ้น ปกติเราไม่ค่อยเห็นว่าตัวเองเปลี่ยนแปลง แต่ว่าคนรอบข้างเขาเห็น อีกอย่างคือการเข้ากับคนอื่นได้ง่าย เพราะทำโครงการแล้วเราเจอคนเยอะ ทำให้ปรับตัวเก่ง” นิพูดถึงความภาคภูมิใจของการทำโครงการให้ฟังอย่างสดใสก่อนจบบทสนทนา