"หลักสูตรนักถักทอฯ" สร้างให้ทำงานอย่างมีใจ

คุณค่าของกระบวนการมีส่วนร่วม

เพราะเคยมีประสบการณ์จากการเข้าร่วมหลักสูตรนักถักทอชุมชน: เพื่อพัฒนาเด็ก เยาวชน และครอบครัว ภายใต้โครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น (4 ภาค) ร่วมกับสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) มาก่อน จนค้นพบ “หัวใจ” ของการทำงานพัฒนาเด็กและเยาวชน คือ การให้สมาชิกในแต่ละชาชนหรือหมู่บ้านขับเคลื่อนการกิจกรรมของตัวเองได้ โดยมีผู้ใหญ่บ้าน สมาชิก อบต. คณะกรรมการแต่ละหมู่บ้าน และผู้ใหญ่ใจดี เข้ามาเป็นแกนหลักในการทำงาน...โดยมีเป้าหมายระยะยาวคือ เด็กจะต้องไม่เป็นภาระของสังคม รู้ร้อนรู้หนาวที่จะแก้ไขปัญหาของชุมชน มีความเข้มแข็ง แข็งแรงที่จะช่วยเหลือผู้ที่ด้อยกว่า และพร้อมที่จะถ่ายทอดคุณลักษณะเหล่านี้ และประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้มาให้เด็กรุ่นต่อ ๆ ไป

เมื่อทีมนักถักทอชุมชนจากตำบลพลับพลาไชย อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ได้รับการชักชวนให้ขับเคลื่อนงานพัฒนาเด็กและเยาวชนต่อด้วยกระบวนการวิจัยท้องถิ่น โดยศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสมุทรสงคราม จะเป็นโค้ชคอยเคียงข้างในการพัฒนางานด้านเด็กและเยาวชนด้วยกระบวนการวิจัยท้องถิ่นไปสู่การเป็น “กลไกหนุนเสริมศักยภาพเด็กและเยาวชน” พวกเขาจึงตอบตกลงอย่างง่ายดาย ด้วยหัวใจที่มุ่งมั่นอยากพัฒนาเด็กและเยาวชนให้เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพของชุมชนและสังคม ผ่านโครงการศึกษากระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนตำบลพลับพลาไชยในการพัฒนาศักยภาพของเด็กและเยาวชนให้อยู่ในสังคมอย่างมีความสุข

ยกระดับงานเดิม

บทเรียนการทำกิจกรรมที่ผ่านมาของตำบลพลับพลาไชยพบว่า กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนจัดขึ้นจากความคิดของผู้ใหญ่ ซึ่งไม่ตรงกับความสนใจของเด็ก กิจกรรมส่วนใหญ่ไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน มักจัดขึ้นเป็นครั้งคราว เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าหรือจัดกิจกรรมตามวันสำคัญหรือตามภารกิจเท่านั้น จึงไม่เกิดการเชื่อมร้อยกระบวนการ และไม่สามารถจัดตั้งกลุ่มเด็กและเยาวชนในการทำกิจกรรมอย่างจริงจัง จนมีโอกาสได้เข้าร่วมหลักสูตรนักถักทอชุมชน: เพื่อพัฒนาเด็ก เยาวชน และครอบครัว ภายใต้โครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น (4 ภาค) ระยะที่ 2 ทำให้คนทำงานได้แนวคิดใหม่ในการพัฒนาเด็กและเยาวชน ใช้ฐานทุนที่อยู่ในชุมชน เช่น เศรษฐกิจพอเพียง ป่าชุมชน ขนม ดนตรี เป็น “เครื่องมือ” โดยทดลองโครงการนำร่องใน 5 หมู่บ้าน จากทั้งหมด 14 หมู่บ้าน โดยคาดหวังว่าหากประสบผลสำเร็จจะขยายพื้นที่ดำเนินการให้ครอบคลุมทุกหมู่บ้าน

ปีนี้ทีมวิจัยจึงต้องการยกระดับรูปแบบการกิจกรรมกับเด็ก และเพิ่มจำนวนคนทำงานด้วยการดึงการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนผ่านกระบวนการวิจัย เพื่อสร้างกลไกในการดูแลเด็กและเยาวชนในตำบลฯ ตลอดจนพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนในชุมชนให้มีกระบวนการคิดและการจัดการตนเองในการดำเนินชีวิตอย่างเป็นระบบและมีส่วนร่วมกับชุมชน

แม้ทีมงานชุดเดิมที่ร่วมหัวจมท้ายมาด้วยกันในงานนักถักทอชุมชนจะมีความเปลี่ยนแปลง เนื่องจากย้ายไปทำงานพื้นที่อื่น แต่เพราะมีต้นทุนจากโครงการเดิมที่เคยเชื่อมร้อยถักทอเพื่อนร่วมงานในองค์การบริหารส่วนตำบลมาร่วมกันรับผิดชอบโครงการเด็กและเยาวชนในแต่ละหมู่บ้าน จึงทำให้การเริ่มต้นจัดทัพจัดทีมในงานครั้งนี้ไม่ยากนัก เอก-เอกวิทย์ ชาวสวน หัวหน้าสำนักปลัดและหัวหน้าทีมวิจัย เล่าถึงต้นทุนทางความคิดที่พวกเขามีคร่าว ๆ ว่า

“หลักสูตรนักถักทอฯ ทำให้พวกเราเปลี่ยนความคิดจากการทำงานตามหน้าที่ กลายเป็นคนที่ทำงานโดยไม่คำนึงถึงแค่มาตรฐานกำหนดตำแหน่ง เป็นให้ทำงานอย่างมีใจ มองเห็นเป้าหมายสุดท้ายในการทำงานร่วมกัน ทำให้ช่วยกันขับเคลื่อนงานไปสู่ปลายทาง”

การดำเนินโครงการวิจัยครั้งนี้มีเวลาทั้งหมด 20 เดือน แบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 ใช้เวลา 6 เดือนในการสร้างความเข้าใจงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น พัฒนาทักษะของทีมงาน วิเคราะห์ผู้เกี่ยวข้องกับโครงการ และเก็บข้อมูลทุกข์-ทุนในชุมชน ระยะที่ 2 มีเวลา 6 เดือน สำหรับการเก็บข้อมูลเชิงลึกของเด็กและเยาวชน การศึกษาดูงาน จัดเวทีกิจกรรมทำความประสานความร่วมมือและเก็บข้อจากชาวบ้าน และระยะที่ 3 เป็นการลงมือปฏิบัติ เพื่อค้นหารูปแบบและแนวทางการดำเนินกิจกรรม เก็บข้อมูลกิจกรรม สรุปผลการทำงาน และคืนข้อมูลให้ชุมชน

กิจกรรมช่วงแรก ทีมโค้ชจึงชวนทีมวิจัยปูพื้นความรู้วิจัยท้องถิ่นผ่านการอบรมหลักสูตร “วิทยากรกระบวนการ” เพื่อฝึกกระบวนการ การใช้เครื่องมือเพื่อชุมชน และเทคนิคการทำงานวิจัยท้องถิ่นในชุมชน เช่น แผนที่เดินดิน ไทม์ไลน์ประวัติศาสตร์ชุมชน ปฏิทินชุมชน เป็นต้น

นอกจากการเรียนรู้ในเวทีดังกล่าว ทีมโค้ชยังจัด “เวทีสร้างความเข้าใจ” แก่เด็กและเยาวชนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของโครงการวิจัย เพื่อเป็น “ตัวอย่าง” การสร้างสรรค์กิจกรรมแบบ Active Learning และการวางแผนกระบวนการทำกิจกรรมแก่ทีมวิจัย รวมทั้งทีมโค้ชเองก็จะได้ทำความรู้จักกับเด็กและเยาวชนด้วย เพื่อชวนคิดชวนคุยสิ่งที่อยากทำและเติมเต็มทักษะการคิดวางแผน การทำงานเป็นทีม และทักษะการทำงานอื่นที่ต้องใช้ในการทำวิจัย

เอกเล่าว่า “ผมได้เรียนรู้วิธีการทำงานที่ต้องวางแผน วางเป้าหมาย จากเมื่อก่อนผมจะทำไปเรื่อย ๆ ไม่เคยคิดวางแผนว่าจะให้ใครรับผิดชอบเรื่องอะไร จะเดินงานอย่างไร ไม่มีการคิดให้รอบคอบ เพื่อไปสู่เป้าหมายการทำงาน แต่ปัจจุบันผมเข้าใจมากขึ้นว่าการทำงานจำเป็นต้องวางแผนเพื่อไปให้ถึงผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพ

“ภาพฝันตั้งแต่เป็นนักถักทอชุมชนคือเราอยากเห็นสังคมไทยเต็มไปด้วยพลเมืองที่รู้ร้อนรู้หนาวกับทุกเรื่องราวที่เกิดขึ้น เห็นเด็กบ้านเราเป็นคนดี มีคุณภาพ ซึ่งการเข้ามาของโครงการวิจัยทำให้เราเห็นวิธีการทำงานอย่างมีส่วนร่วมของชุมชนที่จะไปสู่ภาพฝันการเป็นชุมชนจัดการตนเอง สิ่งที่เราต้องทำต่อจึงเป็นการถ่ายทอดกระบวนการวิจัยที่เรียนรู้มาให้ครอบครัว โรงเรียน และชุมชน เพื่อให้เขาจัดการตนเองแก้ปัญหาภายในชุมชนได้โดยไม่รีรออำนาจภายนอกมาจัดการ รวมถึงการที่ชุมชนช่วยกันพัฒนาลูกหลานของเขาด้วย” เอกบอกภาพฝันของทีมวิจัย