Interview : การอบรมเชิงปฏิบัติการ TOT ทบทวนและยกระดับสมรรรถนะของพี่เลี้ยงวิจัย

Interview

นางสาวรัตนา สุขสบาย

หัวหน้าสำนักงานปลัดเทศบาลตำบลกันตวจระมวล จังหว้ดสุรินทร์


โครงการนี้เราต้องคิดเอง ทำเองได้ นำเสนอได้ด้วยคือสามารถทำให้จบไปในกระบวนการได้

เป็นการพัฒนาทั้งตัวเองและทีมงาน”

บทบาทหน้าที่ในโครงการ

เข้ามาทำงานในโครงการนี้ (โครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น 4 ภาค ระยะที่ 3 : ขับเคลื่อนกลไกเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนด้วยหลักการจัดการความรู้และกระบวนการวิจัย) เป็นหัวหน้าโครงการวิจัยเฟส 1 ของเทศบาลที่ทำงานร่วมกับทางสกสว. (สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม)

­

ผลเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวเอง ความรู้หรือทักษะที่ได้จากการเข้าร่วมโครงการวิจัยเพื่อท้องถิ่น เฟสที่ 1

การเปลี่ยนแปลงกับตัวเอง คือมีวิธีคิด วิธีการทำงานกับตัวเอง มีการจัดการตัวเองได้ดีขึ้น อย่างเรื่องการแบ่งเวลา และสามารถคุยกับน้อง ๆ เป็น สามารถให้คำปรึกษาให้กำลังใจตัวเองได้ ให้กำลังใจทีมได้ เหมือนตอนแรกที่บทบาทหน้าที่ในงานประจำเป็นคนทำงานสำนักงาน ทำงานเกี่ยวกับเรื่องเอกสารหรือว่าโครงการตามนโยบาย พอได้มาลงเป็นวิจัยท้องถิ่น เราสามารถพัฒนาตัวเอง พอเข้ามาทำงานกับ สกว. มีการจัดการตัวเองได้ดีขึ้น มีการทำงานร่วมกับชุมชน มีการประสานงาน การให้กำลังใจกับตัวเองกับทีม บางทีเหมือนว่าภาระงานเราเยอะ เหมือนงานนี้เข้ามาเสริม เวลาที่เป็นส่วนตัวแทบจะหายไปเลย ก็จะมีอาจารย์นี่แหละมาบอกมาสอนวิธีการว่าต้องทำอย่างไร จะจัดการตัวเองอย่างไร เราเอาสิ่งที่เรียนรู้จากที่นี่ไปประยุกต์ใช้กับงานประจำเราได้ด้วย และในเรื่องการเข้าชุมชนเหมือนไม่ค่อยเข้าชุมชน ทำงานก็ทำตามหน้าที่ตามนโยบายที่ว่าเราได้รับมา พอมาทำอันนี้ เราต้องคิดเอง ทำเองได้ นำเสนอได้ด้วยคือสามารถทำให้จบไปในกระบวนการได้ เป็นการพัฒนาทั้งตัวเองและทีมงาน


การเปลี่ยนแปลงของตัวเองจากการทำงาน การลงชุมชน

อย่างแรก สามารถจัดการอารมณ์ตนเอง อารมณ์เย็นลง เพราะเราต้องทำงานกับเด็กนอกระบบ บางทีต้องไปเข็นเขาน่ะ แต่ก่อนถ้าเขาไม่ทำก็ไม่เป็นไร แต่ตอนนี้ รู้จักจัดการเขา รู้จักว่า ต้องมีวิธีการว่าจะทำอย่างไรกับคนนี้ เหมือนว่าเราศึกษาคนมากขึ้น ถ้าจะไปทำงานกับคน ๆ นี้ เขาเป็นอย่างไร ต้องใช้วิธีการอย่างไรถึงจะเข้าไปหาคนกลุ่มนี้ได้

อย่างที่ 2 การแบ่งเวลาได้ เสาร์ อาทิตย์เราก็อยากไปเที่ยว แต่ได้มาทำงานจิตอาสามากขึ้น เห็นประโยชน์ของการทำอย่างนี้มากขึ้น เห็นว่าดีนะเราทำแล้ว เขาได้ประโยชน์ แต่ก่อนเราทำแค่เอกสาร เราไม่ต้องไปทำอะไรกับคนกลุ่มนี้ เราไม่ต้องไปสนใจน้องๆ กลุ่มที่ว่า เดิมเขาสะท้อนปัญหามา มันก็ไม่ใช่หน้าที่ของเรานะ เป็นหัวหน้าสำนักงาน ไม่ต้องไปทำอย่างนี้นะมีคนอื่นทำให้ พอมาทำเราเป็นคนใจดีขึ้น เรารักเด็กมากขึ้น เหมือนอยากให้เขาเป็นแบบนี้ ไม่อยากให้เขาเป็นภาระเหมือนคนอื่นเขาว่า พอทำไปเรื่อยซึมเข้าไปกับตัวเราเอง เหมือนเราไม่รู้เลยค่ะ ว่าเราเปลี่ยนไป มีคนอื่นสะท้อนมาว่าดีขึ้นนะ

­

โครงการที่ทำอยู่ตอนนี้ อยู่ในขั้นตอนไหน

พอเราทำระยะที่ 1 แล้ว ที่นี่ทำกับเด็กนอกระบบ พอเราทำเสร็จแล้ว เราคืนข้อมูลให้เทศบาลด้วยตอนประชุมสภา ประชุมประจำเดือน เขาเห็นประโยชน์นะ ตอนนี้เลยให้ขยาย ตอนแรกทำ 2 หมู่บ้านจะให้ขยายทั้งตำบล ตอนนี้ ผู้นำ สมาชิกสภาและนายกเทศบาลเขาเห็นว่า โครงการนี้ได้ประโยชน์น เรานำเด็กที่เห็นว่าเป็นปัญหา เป็นภาระของพ่อแม่ มาทำแล้ว ตัวเด็กเขาสะท้อนกลับไป บอกว่าเขามาทำโครงการนี้แล้วสามารถมีรายได้ ไม่ต้องขอเงินพ่อแม่ ตายาย เขาแบ่งเวลาเป็น รับผิดชอบมากขึ้น ตอนนี้ขยายเป็น 8 หมู่บ้านเต็มทั้งตำบล

­

การอบรมในครั้งนี้ ตั้งแต่วันแรกถึงตอนนี้ได้ทำอะไรไปบ้าง

เข้ามาวันแรก กังวลว่า เราต้องไปเป็นโค้ช เป็นพี่เลี้ยงให้เด็กน้อย เด็กที่เข้าโครงการเน้นไปที่เด็กนอกระบบ น้องจะไม่คิด ไม่พูด ไม่บันทึก จะไม่อะไรเลยเค้าจะอยากทำอย่างเดียว ก็จะคล้ายเฟสแรก ทีนี้ ได้วิธีการแล้วว่าเราจะไปทำอะไรกับเด็กพวกนี้ หวังว่า เราจะได้ตามที่คิดหวังได้วิธิการไปทำกับพี่เลี้ยง เด็กกลุ่มย่อยที่โรงเรียน ทำอย่างไรโครงการนี้ถึงสิ้นสุด บรรลุวัตถุประสงค์ ได้บ้างแล้ว แต่ยังไม่หมด

­

หัวข้อที่อยากให้วิทยากรให้ความรู้

การจับประเด็นและเทคนิคการทำงานกับเยาวชนนอกระบบ เราจะมีวิธีการอย่างไรที่จะดึงน้อง กลุ่มเป้าหมายเรากระจัดกระจายอยู่ บางคนไปอยู่กรุงเทพฯ เขาก็รอเราทำแหละค่ะ บางทีคือ อยากได้เทคนิค เราต้องไปชวนน้องอย่างไร ไปพูดกับน้องอย่างไร แล้วเวลาทำแล้วจะบอกน้องอย่างไรว่าจะไปทำแบบนี้ ต้องไปเก็บแบบนี้ แบบเฟสแรก มีน้องแค่ไม่กี่คน ตอนนี้กันตวจระมวลมี 5 กิจกรรม คนจะมาเยอะขึ้น เหมือนเรายังไม่เก่งพอ เมื่อต้องไปฝึกอบรมเขา จึงอยากได้เทคนิคต่าง ๆ เลย


Interview จากเวทีการอบรมเชิงปฏิบัติการ “TOT ทบทวนและยกระดับสมรรถนะของพี่เลี้ยงวิจัย 5 อปท.จ.สุรินทร์” (ภายใต้การดำเนินงานของ(โครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น 4 ภาค ระยะที่ 3 : ขับเคลื่อนกลไกเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนด้วยหลักการจัดการความรู้และกระบวนการวิจัย เฟส 2) ระหว่างวันที่ 17 – 21 กรกฏาคม 2562สนับสนุนโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) , กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น , มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) โดยมีอปท. จังหวัดสุรินทร์เข้าร่วมได้แก่ ทต.เมืองแก , ทต.กันตวจระมวล , อบต.หนองอียอ , อบต.สลักได , อบต.หนองสนิท