Interview : อบรมเชิงปฏิบัติการ TOT ทบทวนและยกระดับสมรรรถนะของพี่เลี้ยงวิจัย

Interview

นางนันทนะ บุญสอน

นักวิเคราะห์นโยบายและแผน อบต. สลักได จังหว้ดสุรินทร์

ถ้าเราจะทำงานร่วมกับเด็กและเยาวชน ต้องให้เด็กเขาเลือกเอง เลือกทำในสิ่งที่เขาชอบ


การเข้าร่วมกับโครงการ

จริงๆ แล้ว เราก็ไม่ได้เข้าร่วมตั้งแต่แรก เราก็เข้ามาเรียนรู้เหมือนน้อง ๆ ภาคีเครือข่ายย่อย ๆ ที่ได้เข้าร่วมงาน ได้ผ่านกระบวนการ การฝึกของเยาวชนบ้าง

­

เมื่อเข้าร่วมโครงการแล้ว มีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง

คือตอนทำงาน เราทำงานในลักษณะของเอกสาร เป็นเอกสารพอได้มาร่วมกระบวนการเรียนรู้ ผ่านหลักสูตรหลาย ๆ อย่าง ทำให้ตัวเองกล้าพูด กล้าแสดงออก กล้าแสดงความคิดในที่ชุมชน ไปประชุมกับข้างนอกบ้าง คิดว่าตัวเองมีพัฒนาการขึ้นค่ะ

­

บทบาทของตัวเองในโครงการ

ตอนเข้าร่วมกระบวนการวิจัยระยะแรกเฟสหนึ่ง (โครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น 4 ภาค ระยะที่ 3 : ขับเคลื่อนกลไกเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนด้วยหลักการจัดการความรู้และกระบวนการวิจัย) เข้ามาในลักษณะเหมือนเราทำแผนในหน้าที่อยู่แล้ว พอการทำวิจัยหนุนเสริมการทำงานด้วย เลยเข้ามาเป็นคนหนึ่งในการทำวิจัย เป็นทีมวิจัยนะคะ ทำหน้าที่การประสานชุมชน ตั้งแต่ขั้นการชักชวนชุมชนให้เข้ามาทำโครงการร่วมด้วย ดูว่าเขาพร้อมไหมที่จะเข้ามาทำโครงการกับเรา พูดคุยกับชุมชน ผู้นำหมู่บ้าน ในทีมวิจัยเองเราทำหน้าที่เป็นคนประสานงาน ทั้งประสานงานและเป็นการเงินของโครงการด้วย ทำกระบวนการตั้งแต่แรกจนจบ เราจะอยู่ทุกขั้นตอนของการทำงาน กระทั่งการประชุมหรือจัดกระบวนการในการจัดกิจกรรมต่างๆ เราก็ทำในการทำวิจัยตัวนี้

­

ผลที่เกิดขึ้นกับตนเองหลังเข้าร่วมโครงการ

ส่งผลกับตัวเองว่า จากการทำวิจัยไปเรื่อย ๆ ตั้งแต่กระบวนการแรก ขั้นตอนแรก ๆ ตั้งแต่การจัดเก็บข้อมูล การลงชุมชน ก็ทำให้เรารู้ว่า โดยลึก ๆ เราพัฒนาไปโดยเราไม่รู้ตัว ผ่านกระบวนการเรียนรู้ไปเรื่อยๆ จากที่ไม่เคยมั่นใจกลับมั่นใจมากขึ้น กลับได้ข้อมูลมากขึ้น และก็ได้ความรู้มากขึ้น รู้จักคิด รู้จักวางแผน เราสามารถไปคุยกับชุมชนด้วยความมั่นใจ สิ่งที่ฉันทำมา คือ พูดได้จากการลงมือทำ ถ้าพูดโดยไม่ได้ลงมือทำ มันจะไม่ถูกทิศทางอยู่แล้ว พอลงมือทำ ทำให้เรามั่นใจมากขึ้นเวลาที่เราพูดกับชุมชน และข้อมูลที่เราทำวิจัยมาเรื่อย ๆ อยู่ในความคิดของเราอยู่แล้วว่า เราต้องเดินไปอย่างไรต่อ ทำอย่างไรต่อ ทำให้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ ทำได้ทีละขั้นทีละตอนอยู่แล้ว เฟสหนึ่งทำให้เราได้เรียนรู้เยอะ

คิดว่าตัวเองกล้าแสดงออกมาขึ้น เวลาเราพูด เรามีจัดลำดับความคิดขั้นตอน กระบวนการได้มากขึ้น ที่สำคัญคือ เราสามารถเสวนาหรือเข้าชุมชนได้มากขึ้น เราไม่ต้องไปเหมือนตอนแรก ๆที่เราไม่เป็นอะไรเลยน่ะค่า คิดว่าตัวเองพัฒนาการดีขึ้น

­

วิธีการทำงานที่เปลี่ยนไป ทำให้/ส่งผลระหว่างเรากับชุมชน ระหว่างเรากับที่ทำงานอย่างไรบ้าง

เฟสแรกที่ทำ เรื่องการแบ่งเวลา สงสัยว่า เราจะทำงานประจำอย่างไร เราจะลงไปทำงานวิจัยได้อย่างไร พอนาน ๆ เข้า เราขมวดให้การทำงานประจำกับงานวิจัยไปด้วยกันได้อย่างไร เหมือนกับว่าเราไม่ต้องแบ่งเวลาแต่เป็นการทำงานไปด้วยกันได้ ก็เลยบางทีในลงชุมชน เราก็ต้องนัด ถ้าเราทำงานเสาร์ อาทิตย์บ้าง ทำงานนอกเวลาบ้าง จะส่งผลอย่างไรกับทีมวิจัยไหม มันจะไปเบียดเวลาส่วนตัวหรือเปล่า แต่พอทำไปเรื่อย ๆ ชุมชนเริ่มจะเข้าใจ ชุมชนเริ่มเห็นด้วย ตอนหลัง ๆ เมื่อไหร่จะประชุมกันอีก เมื่อไหร่จะเจอกันอีก เรามีการสร้างกลุ่มไลน์กลุ่มวิจัย มีปัญหาอะไรก็คุยกันในไลน์ ช่วยหน่อยได้ไหม คิดอันนี้ให้หน่อย เสิร์ชหาข้อมูลอันนี้ให้หน่อย จะมีการชุมชนจะมีส่วนร่วมในเรื่องเหล่านี้ด้วยค่ะ มีปัญหาอะไรเราก็จะคุยกันในกลุ่มด้วย เป็นการสร้างกลุ่มขึ้นมาด้วยตนเอง

­

วิธีการทำงานที่เปลี่ยนไปส่งผลกับการทำงานกับชุมชนอย่างไรบ้าง

จากการทำงานกับชุมชน ทำให้การทำงานเราดีขึ้น ผลลัพธ์ที่ออกมาดูจะดีขึ้น เราสามารถประสานงานอย่างอื่นได้ด้วย เช่น งานที่เราทำอยู่แล้วกับงานวิจัยที่เราเคยทำกับชุมชนน่ะ ต่อไปเราจะพูดอะไร จะทำกิจกรรมอะไร ก็คือเราไปได้หมด เพราะเรามีพื้นฐานจากการทำงานวิจัยนี่แหละค่ะ ทำให้เรามีความคุ้นเคยกันกับชุมชน พอเราไปเหมือนเราเอาแต่สิ่งดี ๆ ให้เขา เขาได้ประโยชน์จากสิ่งที่เราเข้าไปทำแหละค่ะ ก็จะไม่มีปัญหาตรงนี้แหละค่ะ

แต่ก่อนเหมือน อบต.เป็นหน่วยงานของภาครัฐ ประชาชนอาจจะเข้าไม่ถึงตัวบุคคล ไม่ถึงตัวเจ้าหน้าที่เอง แต่พอเจ้าหน้าที่เราไปทำงานกับชุมชน ทำให้เขารู้จักบุคลากรมากขึ้น รู้จักนิสัยใจคอกันมากขึ้น คุยกันได้ทุกเรื่อง เขามีปัญหาอะไรก็ปรึกษาเราได้ทั้งเรื่องไม่เกี่ยวกับงานหรือชุมชน เขาสามารถคุยกันได้ ทำให้ภาพลักษณ์ระหว่างองค์กรกับชุมชนดีขึ้นค่ะ อันนี้มาจากการทำงานวิจัยเป็นพื้นฐาน


การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับการทำงานกับเด็กและเยาวชน

ก่อนหน้านี้ เราเคยทำงานโครงการเด็กและเยาวชนขององค์กรเราเอง ก็คือทำเหมือนทำโครงการแล้วจบไป ไม่ได้คุ้นเคยกับเยาวชน แต่หลังจากมีกระบวนการการฝึกเยาวชนของมูลนิธิสยามกัมมาจล มีกระบวนการของพี่อ้อย (วราภรณ์ หลวงมณี ผู้อำนวยการสถาบันยุวโพธิชน) เลยได้คลุกคลีกับเยาวชนมากขึ้น หลาย ๆ พื้นที่จะบอกตรงกันว่าการทำงานกับเยาวชนรู้สึกยากเหมือนกัน เป็นความต่างวัย การเข้าไปหา เข้าถึงเขายาก เลยใช้วิธีเป็นการชักชวนในลักษณะเข้าไปคุยกับผู้ปกครองมากกว่า ถ้าผู้ปกครองเข้าใจ เด็กเข้าใจ เราก็ไปด้วยกันได้ในเรื่องของการทำงานเยาวชน ในส่วนของสลักไดเอง ก็จะยากหน่อย คือเป็นชุมชนเมืองกึ่งชนบท การค้นหาตัวเยาวชนจะยากหน่อยจะเป็นปัญหาให้เราเหมือนกัน การค้นหาเยาวชนมาร่วมกระบวนการ เพราะแต่ก่อนเราทำโครงการแบบจบแล้วจบไป พอเด็กเรียนจบก็ไปทำงาน ก็คือจบไป

­

เมื่อใช้เครื่องมือจากโครงการวิจัยระยะที่ 1 การทำงานกับเด็กเป็นอย่างไร

จากวิจัยเฟส 1 จากข้อสังเกตที่เราสรุปบทเรียนจากงานวิจัย ถ้าเราทำงานแบบเหมือนผู้ใหญ่พาทำ ถ้าผู้ใหญ่พาทำ เด็กอาจจะชอบหรือไม่ชอบสิ่งที่เราพาทำก็ได้ ในเฟส 1 น่ะ เด็กเขาไม่ได้ชอบในสิ่งที่เราพาทำ แต่เขาก็ทำได้ เลยมาคิดใหม่ว่า ถ้าเราจะทำงานร่วมกับเด็กและเยาวชน ต้องให้เด็กเขาเลือกเอง เลือกทำในสิ่งที่เขาชอบ ทำในสิ่งที่เพื่อนพาทำจะประสบความสำเร็จมากกว่าที่เราจะไปนำความคิดเขา พาเขาทำ ซึ่งเป็นบทเรียนจากการทำวิจัยเฟสแรก

­

สิ่งที่ได้ทบทวนความรู้ ทักษะในอบรมครั้งนี้

จากการทำงานเฟสแรกและได้มาทบทวนงานวิจัยในการอบรมครั้งนี้ จากวันที่ 17 ถึง วันนี้ เราได้เติมเต็มในสิ่งที่ จริง ๆ ในเฟสแรกเราก็รู้มาบ้างแล้วแหละว่า ต้องเป็นพี่เลี้ยงให้น้อง ๆ นะ เยาวชนในกลุ่มของโครงการย่อย เราต้องมาเรียนรู้เพิ่มเติม ในสามสี่วันนี้ที่เราทำกระบวนการมานี้ คิดว่า ได้ในสิ่งที่อยากรู้ ก็ได้เรียนรู้เพิ่มเติมเรื่องกระบวนการ ว่า ไปโค้ชเด็กอย่างไร ไปพาเด็กทำอย่างไร นำเขาเข้าสู่กระบวนการวิจัยแบบไหน ได้เติมเต็มในสิ่งที่ตัวเองคิดมาว่าจะต้องทำอย่างไร

­

หัวข้อใดที่คิดว่าสามารถนำไปใช้กับงานได้

สิ่งที่นำไปใช้กับงานวิจัยงานเด็ก อย่างน้อยเรื่องการประชุมกลุ่ม อย่างน้อยเรื่องการสร้างความคุ้นเคยกับเด็กก่อน ให้เขาค่อยๆ เรียนรู้งาน ค่อยๆ สอนงานเขา ในเรื่องการจัดกิจกรรม จัดกระบวนการเรียนรู้ ถ้างานวิจัยเราแรกคือ สร้างความคุ้นเคยให้เขารู้จักคิดก่อนว่าจะต้องทำอะไร อย่างไรในเรื่องของกระบวนการวิจัย


Interview จากเวทีการอบรมเชิงปฏิบัติการ “TOT ทบทวนและยกระดับสมรรถนะของพี่เลี้ยงวิจัย 5 อปท.จ.สุรินทร์” (ภายใต้การดำเนินงานของ(โครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น 4 ภาค ระยะที่ 3 : ขับเคลื่อนกลไกเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนด้วยหลักการจัดการความรู้และกระบวนการวิจัย เฟส 2) ระหว่างวันที่ 17 – 21 กรกฏาคม 2562สนับสนุนโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) , กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น , มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) โดยมีอปท. จังหวัดสุรินทร์เข้าร่วมได้แก่ ทต.เมืองแก , ทต.กันตวจระมวล , อบต.หนองอียอ , อบต.สลักได , อบต.หนองสนิท