Interview : อบรมเชิงปฏิบัติการ TOT ทบทวนและยกระดับสมรรรถนะของพี่เลี้ยงวิจัย ๕ อปท

Interview

นายสุรินทร์ อยู่ดีรัมย์

นักวิเคราะห์นโยบายและแผน

องค์การบริหารส่วนตำบลสลักได จังหว้ดสุรินทร์


“การเก็บข้อมูลจะทำให้เราเห็นภาพ พอวิเคราะห์ข้อมูลในด้านดี ด้านลบ พอเราเห็นข้อมูลแล้วเราสามารถทำโครงการสนับสนุนได้ถูกต้องครับ”


บทบาทหน้าที่เกี่ยวข้องกับงานเด็กและเยาวชนหรือไม่

จริง ๆ ก็ผมก็ไม่ได้ทำเรื่องเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนโดยตรงครับ งานของผมจะเป็นเรื่องการทำแผนแต่ก็จะมีแผนที่มาจากเยาวชนมีเข้ามาบ้าง ที่เคยทำเรื่องเยาวชนได้รับมอบหมายจากนายกอบต. ทำเกี่ยวกับเรื่องกีฬา จัดอบรม เคยพาเด็กไปสวนกุหลาบ เรื่องการเป็นผู้นำครับ

­

ทำไมอบต.สลักไดต้องทำเรื่องเยาวชน

ผมว่า สถานการณ์ที่สลักไดเป็นชุมชนกึ่งเมือง เด็กส่วนหนึ่งประมาณ 8 หมู่บ้านติดเมือง อีก 8 หมู่บ้านเป็นลักษณะชนบท ปัญหาในเขตของสลักได ส่วนใหญ่เป็นเรื่องความอบอุ่นของครอบครัว เทคโนโลยี ติดโทรศัพท์และอีกเรื่องก็คือ การเลียนแบบของสังคมเมืองทั้งที่เราเป็นชนบทอยู่ เรื่องเศรษฐกิจของสลักไดยังไม่ดีเท่าเมือง แต่เด็กมีพฤติกรรมใช้จ่ายเหมือนเด็กในเมืองครับ เป็นปัญหามาตั้งแต่ครอบครัว และพอมาถึงเราที่มีบทบาทหน้าที่ ส่งเสริมดูแลเด็ก เราต้องไปทำให้เด็กเป็นพลเมืองดี อยู่กับสังคมได้


ข้อดีของการใช้กระบวนการวิจัยในการทำงาน

ในส่วนของ อบต. จะเป็นโครงการลักษณะอบรมแล้วก็จบไปเลย ส่วนของงานวิจัยจะล้วงลึกเข้าไปในเรื่องวิธีการ กระบวนการ การเก็บข้อมูลของเด็ก โครงการของ อบต. ไม่มีการเก็บข้อมูล แต่งานวิจัยมีการเก็บข้อมูล แล้วมาวิเคราะห์ข้อมูล มาออกแบบกิจกรรม มีการสรุปและถอดบทเรียน จะแตกต่างกับโครงการ อบต. โดยสิ้นเชิง

การเก็บข้อมูลจะทำให้เราเห็นภาพ พอวิเคราะห์ข้อมูลในด้านดี ด้านลบ พอเราเห็นข้อมูลแล้วเราสามารถทำโครงการสนับสนุนได้ถูกต้องครับ โครงการอบต. ไม่มีวิเคราะห์ครับ อยากเชิญเด็กมาอบรมก็เชิญมาเลย

­

เมื่อเข้าร่วมโครงการมา 2 ปี ได้เรียนรู้อะไรบ้าง

ได้เรียนรู้เรื่องของกระบวนการการทำงาน มีวิธีการ มีข้อมูลก่อน ได้ข้อมูลมาก็วิเคราะห์ข้อมูลแล้วก็นำมาออกแบบการทำงานได้ แตกต่างจากของ อบต.โดยสิ้นเชิง เราไม่ได้ใช้เวลาเก็บข้อมูล ส่งผลให้ การทำงานของ อบต.ในเรื่องงบประมาณมันจะสิ้นเปลืองไปเปล่า ๆ แต่ถ้าเราวิจัยได้ข้อมูลที่แท้จริง เรื่องงบประมาณก็จะไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยครับ พอเรียนรู้ตรงนี้ ได้แนวทางเอาไปทำงานกับของ อบต. ได้ เพราะการทำงานของ อบต. มีขีดจำกัดเรื่องระยะเวลาและวิธีการครับ

­

การอบรมในครั้งนี้เน้นอะไร

เน้นให้เราเรียนรู้วิธีการทำวิจัยและสามารถที่จะไปเป็นโค้ชของทีมวิจัยในโครงการของเราได้ เราต้องไปเป็นอาจารย์สอนอีกรุ่นครับ โค้ชวิจัย มันเหมือนโค้ชทีมฟุตบอล มีเป้าหมายจะทำอะไร ต้องแบ่งหน้าที่ให้แต่ละคนเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย

­

คุณสมบัติของโค้ช มีอะไรบ้างครับ

ความรู้เรื่องบทบาทของโค้ชเป็นอย่างไร เรื่องของการพูด แล้วรู้จักสรุปประเด็น การควบคุมสถานการณ์ และบุคลิกภาพน่าเชื่อถือไหม เรื่องของการสื่อสาร

­

สิ่งที่อยากได้เพิ่มเติม ความรู้ ทักษะหรือเครื่องมืออะไร

การอบรมในครั้งนี้ เนื้อหาที่ได้เรียนรู้ เรายังไม่รู้ว่า ที่เราคิดไปมันถูกหรือผิด เช่น ออกแบบขั้นตอนการเป็นเทรนเนอร์แล้วเราจะไปเป็นเทรนเนอร์ เนื้อหามันไปอบรมนักวิจัยย่อย เราออกแบบ แต่อาจารย์ก็ไม่ได้บอกว่า มันถูกหรือผิด จริง ๆ มันน่าจะมีเป็นเอกสาร อันนี้เป็นการเรียนรู้แบบการพูด น่าจะมีเป็นเอกสารให้ทบทวน อันนี้เรียนแล้วจบไปเลย การจดบันทึกเราอยู่ตรงนี้ไม่ได้จดบันทึก


Interview จากเวทีการอบรมเชิงปฏิบัติการ “TOT ทบทวนและยกระดับสมรรถนะของพี่เลี้ยงวิจัย 5 อปท.จ.สุรินทร์” (ภายใต้การดำเนินงานของ(โครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น 4 ภาค ระยะที่ 3 : ขับเคลื่อนกลไกเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนด้วยหลักการจัดการความรู้และกระบวนการวิจัย เฟส 2) ระหว่างวันที่ 17 – 21 กรกฏาคม 2562สนับสนุนโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) , กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น , มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) โดยมีอปท. จังหวัดสุรินทร์เข้าร่วมได้แก่ ทต.เมืองแก , ทต.กันตวจระมวล , อบต.หนองอียอ , อบต.สลักได , อบต.หนองสนิท