Interview : การอบรมเชิงปฏิบัติการ TOT ทบทวนและยกระดับสมรรรถนะของพี่เลี้ยงวิจัย

Interview นายสุเนตร ปทุมขวัญ

หัวหน้าสำนักงานปลัด อบต.หนองอียอ อ.สนม จ.สุรินทร์

“ได้รู้ว่า น้อง ๆ เยาวชนถ้าหากพวกเขาได้จับกลุ่มกัน

และถ้ามีผู้ใหญ่หรือคนโตชักจูงไปในทางที่ดี เขาก็มีพลังที่จะทำความดีมาก”


งานที่เคยทำมาก่อนเข้าร่วมกับโครงการ

เดิมอยู่ตำบลนานวล เป็นหัวหน้าสำนักงานปลัด ตัวงานเด่น ๆ ที่นั่นคือ การจัดการขยะ ส่วนเรื่องเยาวชน เคยทำกับบ้านพักเด็ก จ.สุรินทร์ เป็นเรื่องของเด็กที่ท้องก่อนวัยอันควร และเด็กที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ปัจจุบันมาทำงานที่หนองอียอในปี 2561 มาสานงานต่อจากหัวหน้าสมเกียรติ (สมเกียรติ สาระ ย้ายไปอยู่ที่อบต.หนองสนิท) ที่ท่านเคยทำงานเด็กที่หนองอียอมาตั้งแต่ปี 2553 เกี่ยวกับสภาเด็กและเยาวชน ปีที่ผ่านมาทำโครงการเกี่ยวกับอาหารปลอดภัย เด็กสำนึกรักษ์บ้านเกิดเกี่ยวกับการป้องกันอุบัติเหตุบนถนน มีการประชุมกันเป็นเดือน ๆ หารือเกี่ยวกับเรื่องของเยาวชน

­

บทบาทหน้าที่ใน อบต. หนองอียอและบทบาทหน้าที่ในโครงการ

บทบาทเป็นหัวหน้าสำนักงานปลัด ดูแลงานผู้สูงอายุ งานพัฒนาชุมชน งานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย งานบุคคล งานเกี่ยวกับนิติกร กฎหมาย งานส่งเสริมอาชีพและงานธุรการด้วย

ในโครงการนี้ (โครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น 4 ภาค ระยะที่ 3 : ขับเคลื่อนกลไกเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนด้วยหลักการจัดการความรู้และกระบวนการวิจัย) ผมมีบทบาททำเกี่ยวกับสภาเด็กและเยาวชน เป็นตัวประสานระหว่างผู้บริหารและน้อง ๆ พนักงานส่วนตำบลและน้อง ๆ สภาเด็กและเยาวชน รวมถึง โรงเรียน กศน. ทางอำเภอและหน่วยงานที่เราทำงานเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน

­

สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการเข้าร่วมโครงการ

ยอมรับว่าพอมาถึงก็ประทับใจว่า เด็กและเยาวชนที่อบต.หนองอียอ เค้าสามารถเป็นวิทยากร เป็นผู้นำกระบวนกรเกี่ยวกับสันทนาการได้ สิ่งที่ได้เรียนรู้สามารถเอามาปรับใช้ในงานได้ เช่น การประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ เป็นงานที่ทำให้ อบต.เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป

­

ตั้งแต่ได้เข้าร่วมโครงการ มีความรู้หรือวิธีการใหม่ที่ได้เรียนรู้อะไรบ้าง

มีเรื่องกระบวนการ การอบรมเด็กและเยาวชน มีเรื่องการค้นหาปราชญ์ชาวบ้าน เช่นปราชญ์ชาวบ้านเกี่ยวกับการเป่าแคน ชาวบ้านที่มีความรู้เรื่องการปรุงอาหารในเรื่องอาหารปลอดภัยของเด็กและเยาวชน และปราชญ์ชาวบ้านที่เกี่ยวกับประเพณีเก่า ๆ คือ ประเพณีบุญบ้องไฟ ไม่ค่อยมี หลายที่งดไปเพราะเวลาจัดเราจะต้องขออนุญาต เป็นการจำลองเรื่องบุญบ้องไฟ มีปราชญ์ชาวบ้านมาสอนเด็ก วิธีการมีตั้งแต่ ทำไมต้องจัดโครงการนี้ เพื่ออะไร วัตถุประสงค์เพราะอะไร และสาธิตการทำบุญบ้องไฟขนาดเล็กซึ่งไม่อันตราย จึงได้รู้ในเรื่องปราชญ์ชาวบ้านเพิ่มมากขึ้น ได้รู้ว่า น้อง ๆ เยาวชนถ้าหากพวกเขาได้จับกลุ่มกัน และถ้ามีผู้ใหญ่หรือคนโตชักจูงไปในทางที่ดี เขาก็มีพลังที่จะทำความดีมาก


สิ่งที่ได้รับจากการอบรมในครั้งนี้

ตั้งแต่วันแรก คุยในเรื่องความคาดหวังว่า เราจะขับเคลื่อนงานสภาเด็กและเยาวชนที่เราตั้งเป้าไว้ 3 โครงการนี้ ในทิศทางใด เริ่มจะมองเห็นว่า มีวิธีการจะเข้าไปคุยกับเด็กอย่างไร ใครบ้างที่เกี่ยวข้อง คิดไว้ว่า มีการมอบหมายงานให้เจ้าหน้าที่รับผิดชอบ คนนี้จะรับด้านใด ด้านใดไปเพื่อให้งานออกมาชัดเจน คล้ายเป็นตัวละครที่จะแสดงบทบาทของแต่ละคน น่าจะขับเคลื่อนไปได้ดี

­

ประเด็นอะไรที่มีในการอบรม ได้ช่วยตอบโจทย์ สามารถนำไปใช้กับการทำงานได้

เรื่องการมอบหมายงาน ก่อนนั้นผมเข้ามาเป็นผู้ประสานยังไม่รู้ว่า ใครทำอะไร ยังไม่มีตัวหลักที่ทำ ตอนนี้เริ่มดึงน้อง ๆ เข้ามา ทางผู้บริหารก็เห็นชอบด้วย จึงเริ่มแบ่งว่า ใครจะทำงานอะไร ช่วงไหน งานนี้เป็นงานที่บางช่วงมีอบรมหลายวัน เราก็ต้องแบ่งกันไป เพราะงานหลักเราก็มี

­

สิ่งที่อยากได้ในการอบรมครั้งนี้

สิ่งที่อยากได้คือกระบวนการและวิธีการที่จะคุยกับเด็ก ทำอย่างไรเด็กอยากเข้ามามีส่วนร่วมกับเรา ทำอย่างไรจะทำให้เยาวชนเห็นความสำคัญในการพัฒนาตรงนี้ และยินดีอยากร่วมกับเราแล้วก็ผู้ปกครอง คนในชุมชน และอยากได้การเขียนงานวิจัย เขียนอย่างไรถึงจะทำได้สมบูรณ์


Interview จากเวทีการอบรมเชิงปฏิบัติการ “TOT ทบทวนและยกระดับสมรรถนะของพี่เลี้ยงวิจัย 5 อปท.จ.สุรินทร์” (ภายใต้การดำเนินงานของ(โครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น 4 ภาค ระยะที่ 3 : ขับเคลื่อนกลไกเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนด้วยหลักการจัดการความรู้และกระบวนการวิจัย เฟส 2) ระหว่างวันที่ 17 – 21 กรกฏาคม 2562สนับสนุนโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) , กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น , มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) โดยมีอปท. จังหวัดสุรินทร์เข้าร่วมได้แก่ ทต.เมืองแก , ทต.กันตวจระมวล , อบต.หนองอียอ , อบต.สลักได , อบต.หนองสนิท