​สุนิตรา สาหมีด : บทสัมภาษณ์เยาวชนเด่นโครงการการทำผ้ามัดย้อมจากสีธรรมชาติในชุมชนบ้านโคกพยอม

บทสัมภาษณ์เยาวชนเด่นโครงการการทำผ้ามัดย้อมจากสีธรรมชาติในชุมชนบ้านโคกพยอม

ตำบลละงู อำเภอละงู จังหวัดสตูล

ชื่อ-นามสกุล : เด็กหญิงสุนิตรา สาหมีด ชื่อเล่น นิ

อายุ : 13 ปี

โรงเรียน : ละงูพิทยาคม ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1




ถาม : นิทำโครงการอยู่ที่อำเภออะไรคะ

ตอบ : ตำบลละงู อำเภละงู


ถาม : ทำโครงการจากผ้ามัดย้อมจากธรรมชาติใช่ไหม เล่าให้ฟังหน่อยว่าทำไมถึงเลือกทำเกี่ยวกับผ้ามัดย้อมจากธรรมชาติ มีที่มาที่ไปอย่างไร

ตอบ : เพราะว่าเล็งเห็นถึงพันธุ์ไม้ในหมู่บ้านมันมีพันธุ์ไม้ที่ให้สี และพันธุ์ไม้หลายอย่าง เพราะว่าหมู่บ้านที่อยู่เป็นหมู่บ้านป่าชายเลน ติดกับลำคลอง


ถาม ; ชื่อหมู่บ้านอะไรนะคะ

ตอบ : โคกพะยอม


ถาม : โครงการนี้เป็นโครงการที่ทำขึ้นปีนี้ปีแรกหรือว่าเมื่อปีที่ผ่านมาก็ทำ

ตอบ : ปีนี้เป็นปีแรกค่ะ


ถาม : ติดกับป่าชายเลนใช่ไหม พี่นึกภาพไม่ออกว่าชุมชนเราเป็นอย่างไรลองเล่าให้พี่ฟังหน่อยได้ไหม

ตอบ : ที่บ้านจะมีลำคลองชื่อว่าลำคลองติหงี มีป่าชายเลนรอบ ๆ และมีศูนย์เรียนรู้ในป่าชายเลน เกี่ยวกับการฝึกการดำรงชีวิตด้วยตัวเองค่ะ เเช่น การหุงข้าวทำกับข้าวโดยไม่ใช้ไฟฟ้า


ถาม : คนที่จะเข้าไปทำกิจกรรมที่ศูนย์การเรียนรู้นั้น เป็นคนในชุมชนหรือว่าเป็นคนข้างนอกเข้ามา

ตอบ : ส่วนมากจะเป็นเด็กในชุมชนค่ะ


ถาม : ในชุมชนมีกิจกรรมให้พวกเราได้ทำกันอยู่แล้ว แล้วอย่างนิก่อนหน้านี้นิทำกิจกรรมอะไรกับชุมชนไหม

ตอบ : ก่อนหน้านี้เคยค่ะ ตอนปิดเทอมจะเข้าร่วมค่ายในชุมชน


ถาม : เป็นตัวแทนของชุมชนไหม มีความสำคัญกับชุมชนไหมหรือว่ายังไง

ตอบ : สำหรับชุมชนส่วนมากจะร่วมค่ายไม่ค่อยมีอะไร


ถาม : ถ้าเขามีกิจกรรมให้ร่วมนิก็จะไปร่วมกับเขาด้วย

ตอบ : ใช่ค่ะ


ถาม : แล้วใครเป็นคนชักชวนเราให้เข้ามาทำโครงการนี้ เรารู้จักโครงการนี้ได้อย่างไร

ตอบ : มีรุ่นพี่เมื่อปีที่แล้วเขาทำโครงการอยู่ที่นี่แต่ว่าทำเรื่องอื่น ก็เลยสนใจ


ถาม : รุ่นพี่ปีที่แล้วชื่ออะไร

ตอบ : พี่ฮัสนา พี่นรินยา


ถาม : เขาเคยทำโครงการเมื่อปีที่แล้วเขาทำเกี่ยวกับอะไรหรอคะ

ตอบ : เกี่ยวกับขยะในชุมชน


ถาม : ตอนนั้นเราได้เข้ามาเป็นหนึ่งในสมาชิกไหมหรือว่ายังไม่ได้เข้าร่วม

ตอบ : เคยมาร่วมค่ะแต่ไม่ได้เป็นสมาชิก


ถาม : แค่เราเข้ามาร่วมกิจกรรมกับเขาเฉย ๆ แต่ไม่ได้เป็นสมาชิกอะไร เขาให้มาเข้าร่วมก็มาใช่ไหม

ตอบ : ใช่ค่ะ


ถาม : แล้วพอเราไปรู้จักกับพี่เขาแล้วยังไงต่อ พี่นรินยาเขามาชวนเราหรอ หรือว่าอย่างไง

ตอบ : ทางพี่เลี้ยงที่สตูลเขาติดต่อมาว่าสนใจทำโครงการต่อไหม พวกหนูคิดมาอยู่แล้วว่าอยากทำโครงการต่อ เรื่องผ้ามัดย้อมจากสีธรรมชาติ เพราะละแวกใกล้เคียงใช้สีสังเคราะห์ที่เป็นเคมีย้อมผ้า


ถาม : ใครเป็นคนมาชวนเราตอนนั้น

ตอบ : บังเชษฐ์ค่ะ


ถาม : ทำไมตอนนั้นถึงตกลงทำโครงการด้วยเราเห็นอะไรจากการชวนในครั้งนั้น หรือว่าเห็นอะไรจากรุ่นพี่ปีหนึ่งถึงตัดสินใจตอบรับ

ตอบ : เราตกลงทำโครงการเพราะอยากฝึกตัวเองให้ลองใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น แล้วฝึกฝนทักษะให้เราโตขึ้น เป็นผู้ใหญ่ขึ้น


ถาม : ถ้าอย่างนั้นก่อนหน้านี้เราคิดว่าเป็นคนอย่างไร ก่อนเข้าโครงการ เรามีนิสัยแบบไหน

ตอบ : ก่อนหน้านี้เป็นคนอยู่บ้านเล่นแต่โทรศัพท์ไม่ค่อยทำอะไร ไม่ถึงขนาดมีโลกส่วนตัวสูง เล่นกับเพื่อนปกติแต่จะติดเล่นมือถือ เลยอยากทำอะไรที่มากกว่าการเล่นเกม


ถาม : เราบอกว่าจริง ๆ เราสนใจเรื่องนี้มาก่อนอยู่แล้วแต่ว่าไม่ได้เป็นสีธรรมชาติ หมายความว่าที่ชุมชนทำกันอยู่แล้วหรือว่าอะไรอย่างไร

ตอบ : เคยรวมกลุ่มกันกับอาสาสมัคร ใช้เวลาว่างหลังเลิกเรียนมาลองทำ


ถาม : หมายความว่าเยาวชนในหมู่บ้านใช่ไหมคะ

ตอบ : ค่ะ


ถาม : ก่อนหน้านี้ก็คือเคยรวมกลุ่มกันอยู่แล้ว

ตอบ : ค่ะ


ถาม : แต่ว่าเป็นสีเคมีที่ไม่ใช่สีธรรมชาติ ก่อนหน้านี้เราก็มีความรู้เกี่ยวกับผ้ามัดย้อมอยู่แล้วใช่ไหม

ตอบ : ใช่ค่ะ


ถาม : ผ้ามัดย้อมขั้นตอนต้องทำอย่างไรบ้างมีเทคนิควิธีการอย่างไรบ้าง

ตอบ : เราต้องศึกษาก่อนค่ะ ว่าเราจะใช้เนื้อผ้าแบบไหน สีใช้แบบไหน ศึกษาลาย อุปกรณ์มีอะไรบ้าง  จากนั้นก็จดและมาศึกษาดูว่าในหมู่บ้านของเรามีวัตถุดิบอะไรบ้าง ลายอะไรบ้างที่เราจะใช้แล้วทดลองหาพืชมาสกัดสี ซื้อผ้ามาลองผิดลองถูกบ้าง หลังจากที่มัดลายเสร็จก็ต้มผ้าด้วยสีที่สกัดมาทิ้งไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง จะมีตัวที่ทำให้เป็นสีสว่าง สีเข้ม แล้วพักไว้ประมาณ 10 นาที แล้วผึ่งในที่ร่ม


ถาม : ในทีมเรามีกี่คนนะคะ

ตอบ :7 คน


ถาม : รับหน้าที่เป็นอะไรใน 7 คนนั้น

ตอบ : เป็นหัวหน้ากลุ่มค่ะ


ถาม : ทำไมถึงได้เป็นหัวหน้ากลุ่มเพื่อนเลือกหรือว่ายังไง

ตอบ : เพราะว่าคนอื่นเขาขี้อาย แต่นิไม่อาย สามารถควบคุมผู้อื่นได้


ถาม : หน้าที่ของหัวหน้าโครงการ สำหรับนิทำอะไรบ้างในโครงการนี้

ตอบ : ขั้นแรกคุยกับสมาชิกในกลุ่ม เสร็จแล้วก็เช็คดูว่ามีปัญหาอะไรตรงไหนไหม ทำเกือบทุกอย่าง


ถาม : เหนื่อยไหมกับการเป็นหัวหน้าโครงการ

ตอบ : ก็เหนื่อยบ้างค่ะ


ถาม : มีตรงไหนบ้างที่เรารู้สึกว่าเหนื่อยจังเลยกับการเป็นหัวหน้าโครงการ

ตอบ : เวลาความคิดเห็นไม่ตรงกัน


ถาม : พอความคิดเห็นไม่ตรงกัน นิในฐานะหัวหน้าโครงการเรามีวิธีการจัดการอย่างไร

ตอบ : เวลาทำงานถ้าความคิดเห็นไม่ตรงกัน เรานำความคิดเห็นมาชั่งน้ำหนัก ลองดูความคิดเห็นแรกว่าเป็นอย่างไร ความคิดเห็นที่สองเป็นอย่างไร แล้วความคิดเห็นไหนใช้ในทางปฏิบัติได้ดีกว่า


ถาม : ลองยกตัวอย่างให้ฟังได้ไหมว่าสถานการณ์ไหนที่นิจัดการปัญหาแบบนี้

ตอบ : เหมือนกับว่าจะนำเสนอโครงการคนพูดคือคนนี้ กับคนนี้แต่เขาไม่พูด กว่าจะพูดได้ ไม่มีคนพูด


ถาม : ก็คือตอนนำเสนอโครงการหาคนพูดไม่มีใครพูดใช่ไหม แล้วเราจัดการปัญหานี้อย่างไร

ตอบ : สลับกันพูดอาทิตย์นี้ใครพูด อาทิตย์หน้าใครพูด


ถาม : ได้พูดทุกคนแต่แค่ใครจะเป็นคนพูดก่อนพูดหลัง

ตอบ : ค่ะ


ถาม : ที่เราเล่ารายละเอียดให้พี่ฟังคร่าวๆ เราต้องศึกษาเกี่ยวกับเรื่องเนื้อผ้า เรื่องลาย อุปกรณ์ ถ้าจะให้นิลองนึกย้อนกลับไปแล้วเล่ารายละเอียดขั้นตอนในการทำกิจกรรมตั้งแต่เริ่มทำกิจกรรมอะไรบ้างในโครงการของเรา

ตอบ : ประชุมทีม เตรียมตัวว่าจะทำอะไร สีอะไร วันไหน พอกำหนดวันได้แล้วก็แบ่งหน้าที่แต่ละคนว่าแต่ละคนทำอะไรบ้าง แล้วแยกกันลงพื้นที่หาข้อมูล พอได้ข้อมูลมาแล้วเราก็รวบรวมข้อมูลว่าพืชไหนในชุมชนมีเยอะที่สุดเราก็ลองทำพืชนั้น แล้วไปซื้อผ้าเนื้อต่าง ๆ มาทดลองว่าเนื้อไหนที่ติดแล้วซักไม่ออก เนื้อไหนใช้ได้ แล้วก็ลองมัดลาย ตอนแรกดูจากยูทูปหลัง ๆ ก็เริ่มมัดมั่ว ๆ แล้วออกมาเป็นลาย เริ่มมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ มีเสื้อ กางเกง แล้วหน้ากากอนามัย แล้วทำกิจกรรมกับเด็กในชุมชน ฝึกให้เขาใช้เวลาว่างแล้วสอนให้เขาทำผ้ามัดย้อม


ถาม : มีคืนข้อมูลให้กับชุมชนไหม

ตอบ : ตอนแรกวางแผนจัดค่ะ แต่ว่าโควิดมาเลยไม่ได้จัด


ถาม : ตอนที่เราประชุมทีมตอนนั้นเราประชุมเกี่ยวกับอะไรบ้างคะ

ตอบ : ครั้งแรกเราชวนกันคิดว่าทำอะไรดี เพราะไม่รู้ว่าจะทำผ้ามัดย้อมอันเก่าหรือว่าจะทำอันใหม่ แล้วถามว่าคนไหนสมัครใจมาร่วมทำโครงการ


ถาม : เป็นช่วงที่เรากำลังคิดว่าจะทำโครงการเกี่ยวกับอะไรดี ในทีมนอกจากนำเสนอเรื่องผ้ามัดย้อมแล้วมีนำเสนอเกี่ยวกับโครงการอื่นบ้างไหมที่อยากทำ

ตอบ : ส่วนมากก็จะมีวัฒนธรรมเก่าของหมู่บ้าน


ถาม : แล้วทำไมได้ข้อสรุปเป็นผ้ามัดย้อมตอนนั้น

ตอบ : เพราะว่าเรามีความรู้อันเดิมอยู่แล้ว แล้วพืชในชุมชนก็มีแต่พืชไม่รู้จะใช้ประโยชน์อะไร


ถาม : ตอนที่ประชุมระดมหาความคิดเห็นกันเรามีปัญหาอะไรไหม เห็นต่างกันไหม

ตอบ : ปัญหาที่เยอะที่สุดคือเรื่องเวลา เพราะว่าอยู่คนละโรงเรียนกัน ไม่ค่อยมีเวลาว่างหลังเลิกเรียน


ถาม : ตอนเราประชุม ใครเป็นคนพาประชุม พี่เลี้ยงในโครงการหรือว่าเราประชุมกันเอง

ตอบ : ประชุมกันเองแล้วบอกพี่เลี้ยงชุมชน


ถาม : พี่เลี้ยงในชุมชนเราชื่ออะไรนะคะ

ตอบ : บังศักรินทร์


ถาม : ได้โครงการมาแล้วว่าจะทำเกี่ยวกับผ้ามัดย้อมเสร็จแล้วเราทำอะไรต่อ นัดเวลากันเหรอ

ตอบ : ค่ะนัดเวลา เพื่อลงมือทำเตรียมข้อมูล


ถาม : ส่วนใหญ่กิจกรรมที่ทำเราทำช่วงไหนคะ เสาร์ อาทิตย์หรือว่าช่วงเย็นหลังเลิกเรียนของทุกวัน

ตอบ : ส่วนมากทำกิจกรรมวันเสาร์-อาทิตย์ แต่ประชุมช่วงหลังเลิกเรียน


ถาม : เราแบ่งหน้าที่กันทำอะไรบ้าง

ตอบ : แบ่งหน้าที่รวบรวมข้อมูล ศึกษาเกี่ยวกับลายผ้า ศึกษาเกี่ยวกับการแปรรูป เตรียมว่าจะทำอะไรกับเด็กในชุมชนบ้างและออกแบบกิจกรรม

ตอบ : กิตติยา กับ จีรนา รวบรวมข้อมูล, ทำกิจกรรมกับเด็ก คือสุรยากับมุตา ,สุทินา เป็นตากล้อง , นิ เป็นฝ่ายแปรรูป ส่วนฝ่ายศึกษาลายมีดารายากับพัศยา


ถาม : ตอนแบ่งหน้าที่กันให้แต่ละคนเลือกตามความสมัครใจหรือว่ายังไงคะ

ตอบ : แบ่งว่าแต่ละคนถนัดด้านไหน ก็เลือกด้านนั้น


ถาม : อย่างนิ ทำไมเราถึงเลือกการแปรรูป เราชอบอะไร หรือถนัดอะไร

ตอบ : เพราะว่าส่วนตัวนิชอบเย็บผ้า ตัดผ้าค่ะ


ถาม : ทำอย่างไรกันต่อคะ

ตอบ : เราก็มาดูว่าคนที่ทำหน้าที่นั้นเขาเหมาะสมกับหน้าที่ที่ได้รับไปไหม


ถาม : เราตัดสินอย่างไรว่าแต่ละคนเหมาะหรือไม่เหมาะ

ตอบ : ตอนแรกลองให้เขาทำหน้าที่นั้นก่อนว่าเขาทำได้ไหม ถ้าทำไม่ได้ก็เปลี่ยนคนที่ทำได้มากกว่านี้


ถาม : เราไปได้เทคนิควิธีคิดมาจากไหนว่าให้ลองทำดูก่อนว่าทำได้ไหม ใครแนะนำหรือว่าเราคิดกันเอง

ตอบ : ส่วนมากคิดเอาเอง


ถาม : แล้วเป็นอย่างไรผลสรุปลองครั้งที่หนึ่งมีใครเปลี่ยนไหม

ตอบ : ลองครั้งที่หนึ่งทุกคนเต็มที่กับหน้าที่เลยไม่เปลี่ยนคน


ถาม : จากนั้นแยกกันลงพื้นที่ใช่ไหมคะ ลงพื้นที่คือแยกกันลงตามบทบาทที่ตัวเองได้ อย่างคนที่รวบรวมข้อมูลก็ไปหาพื้นที่กันใช่ไหมคะ ถ้าอย่างนั้นนิลองเล่าหน้าที่ของนิที่ทำเกี่ยวกับการแปรรูปให้ฟังหน่อย เราไปทำอะไรบ้าง

ตอบ : เราไปศึกษานอกพื้นที่ค่ะ จะมีกลุ่มวิสาหกิจที่ควนสะตอ ทำเกี่ยวกับการแปรรูปผ้าบาเต๊ะ ก็ไปศึกษาว่าผ้ามัดย้อมแปรรูปเป็นอะไรได้บ้าง เขาใช้วิธีไหนในการเย็บ ทำอย่างไรให้คงทน ทุกครั้งจะมีเพื่อนในกลุ่มไปด้วย เพื่อที่ว่าจะได้ช่วยกันจำ ช่วยกันจด


ถาม : ไปกันกี่คน

ตอบ : ไปกันพวกหนู 6 คนแล้วจะมีเด็กในชุมชนด้วยค่ะ


ถาม : หมายความว่าเวลาไปในแต่ละหน้าที่ในแต่ละข้อมูลคือไปกันทั้งกลุ่ม แต่ว่าคนที่รับผิดชอบก็จะเป็นคนที่เลือก อย่างถ้าเป็นแปรรูปก็จะเป็นนิที่คอยเป็นคนถาม เก็บข้อมูล ถูกไหม แล้วเราไปรู้ได้อย่างไร ว่าเราควรที่จะไปศึกษาพื้นที่ตรงนี้นะ เราไปหาข้อมูลมาจากไหน

ตอบ : เพราะว่าเคยมีกลุ่มแม่บ้านในชุมชนไปศึกษามาก่อนแล้ว เรื่องการแปรรูปผลิตภัณฑ์เหมือนกันในชุมชน ก็เลยลองไปดูบ้าง


ถาม : ตอนไปเป็นอย่างไรบ้างบรรยากาศ มีปัญหาไหมหรือว่าได้ข้อมูลอะไรมาบ้างลองเล่าให้ฟังหน่อย

ตอบ : ได้ข้อมูลมาก็คือเขาสอนเย็บด้วยมือเพราะว่าพวกหนูไม่มีเครื่องเย็บ แล้วสอนว่าผ้าผืนหนึ่งแปรรูปเป็นอะไรได้บ้าง ปัญหาที่เจอก็คือน้องๆ บางส่วนที่เราพาไปลงชุมชนยังเด็กเกินไปที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาใช้ได้


ถาม : เราพาเด็กอายุเท่าไหร่ไป ที่บอกว่าเด็กเกินไป

ตอบ : ประมาณ 9-13 ขวบ


ถาม : ช่วงไหนที่เราบอกว่าเด็กเกินไป

ตอบ : ช่วง 9 ขวบ


ถาม : สถานการณ์ไหนที่เรารู้สึกว่าน้องเขาเด็กเกินไป มันมีปัญหาอะไร

ตอบ : การใช้เข็มกับด้าย มันไม่ค่อยถนัดสำหรับเขาส่วนมากจะเป็นรุ่นพี่ที่ใช้ได้มากกว่า เรื่องของความระมัดระวัง


ถาม : ตอนไปไม่ใช่แค่ทีมไปแต่เราเอาน้องในชุมชนไปด้วย ทำไมเราถึงต้องเอาน้องในชุมชนไปด้วย

ตอบ : เราชวนน้องๆ ที่เป็นเด็กเล็กๆ ไปด้วย เพราะอยากให้น้อง ๆ ออกจากพื้นที่ชุมชนไปหาความรู้ที่ไม่ใช่จากโรงเรียนหรือจากที่ครูสอน อยากให้เขามาเรียนรู้ว่าชาวบ้านสอนเราก็เรียนรู้ได้ ไม่ใช่เรียนรู้ในโรงเรียนอย่างเดียว


ถาม : อยากให้น้อง ๆ ฝึกประสบการณ์นอกห้องเรียนบ้างแล้วเราชักชวนน้องกลุ่มนี้อย่างไรน้องเขาถึงสนใจ

ตอบ : ตอนแรกเรามีกิจกรรมสอนทำผ้ามัดย้อม แล้วสอบถามว่าคนไหนสนใจแล้วก็ดูความตั้งใจการปฏิบัติว่าคนนี้ควรออกข้างนอกไหม ก็มีคนสนใจ


ถาม : แล้วในกิจกรรมนี้ นิมีบทบาทหน้าที่อย่างไรบ้างตอนที่พาเด็กไป

ตอบ : ดูแลเด็ก ๆ เวลาผู้รู้อธิบาย


ถาม : เรามีการประชุม กันก่อนไหมว่าจะถามคำถามอะไรบ้าง

ตอบ : มีประชุมไว้ก่อนล่วงหน้าค่ะ


ถาม : คำถามหลัก ๆ ที่เราตั้งใจไว้ว่าเราจะไปถามเขามีอะไรบ้าง

ตอบ : แปรรูปเป็นอะไรได้บ้าง แล้วเย็บมืออย่างไรให้คงทนเหมือนใช้จักร ทำอย่างไรไม่ให้สีตก สีคงทนเพราะว่าเขาเป็นผ้าบาเต๊ะ เขาก็ทำไม่ให้สีตกได้


ถาม : แต่ของเราทำเป็นผ้ามัดย้อมใช่ไหม มันต่างกันอย่างไรระหว่างมัดย้อมกับบาเต๊ะ

ตอบ : บาเต๊ะเขาใช้สีจากเคมี เขาวาดจากเคมี แต่ของเราเป็นธรรมชาติ


ถาม : แล้วเราได้ข้อมูลตามที่เราตั้งใจไว้ไหมคะ

ตอบ : ได้ค่ะ


ถาม : ครบไหม

ตอบ : ได้บางส่วน วิธีการทำไม่ให้สีตก คือ ใช้น้ำปูน แต่ของเราถ้าใช้น้ำปูนสีจะเปลี่ยน เป็นปฏิกิริยาธรรมชาติ


ถาม : เราไปศึกษาที่นี่กี่ครั้ง

ตอบ : แค่ครั้งเดียว


ถาม : พอกลับมาเราเอาข้อมูลพวกนี้มาทำอะไรต่อ

ตอบ : ขั้นแรกเราก็รวบรวมข้อมูลว่าเราได้อะไรมาบ้าง มาศึกษาว่าใช้ได้กับเราไหมแล้วลองทำ


ถาม : เราเอาข้อมูลมารวบรวมแล้วลองดูว่าอันไหนที่ประยุกต์กับเราได้บ้าง ด้วยการลองทำดู มีการทำสรุปข้อมูลอะไรไหม

ตอบ : จะเอามาเขียนในกระดาษว่าเราทำอะไร เขาทำอะไรแตกต่างกันอย่างไร


ถาม : นิรู้จักพวก R1 R2 R3 ไหม

ตอบ : สอนค่ะแต่ว่าจำชื่อไม่ได้แล้ว


ถาม : จำชื่อไม่ได้แต่เรารู้ไหมว่าขั้นตอน กระบวนการคืออะไร ลองเล่าให้ฟังหน่อย

ตอบ :R1 คือ research ก็คือค้นหาข้อมูล เตรียมข้อมูล R2 ลงมือทำ R3 รวบรวมข้อมูล แปลผล


ถาม : ซึ่งวิธีการที่เราทำมันตรงกับ R1-3 ไหม เราก็ทำตามนี้เลยใช่ไหมคะ เราได้เทคนิคมาจากไหน ใครเป็นคนสอน

ตอบ : มาที่ชมรมแล้วเขาสอน


ถาม : เราเอามาใช้ประโยชน์กับโครงการเราได้ไหม

ตอบ : ใช้ได้ค่ะ กระบวนการที่เราทำก็ตรงกับ R1-3 เหมือนกัน


ถาม : มันทำให้เราทำงานเป็นระบบมากขึ้นไหม

ตอบ : ถ้าเราไม่ทำ R1-3 เราจะมาค้นหาแล้วรวบรวมข้อมูลก่อนไม่ได้ เราต้องทำการทดลองก่อน


ถาม : แล้วในส่วนของพันธุ์ไม้ที่เราบอกว่าในหมู่บ้านของเรามีพันธุ์ไม้เยอะมาก ลองเล่าให้ฟังหน่อยได้ไหมคะว่าพันธุ์ไม้ในชุมชนของเราที่บอกว่ามีเยอะ มีอะไรบ้าง

ตอบ : ส่วนมากจะเป็นต้นแสมอยู่ในป่าชายเลน ต้นพังกา แล้วก็โคลนไม่ใช่พันธุ์ไม้แต่เราสังเกตแล้วว่ามันเยอะเหมือนกันที่ริมคลอง และพวกดอกไม้ ดอกดาวเรือง ดอกอัญชันและใบเตยหอม


ถาม : อย่างต้นไม้เราใช้วิธีการอย่างไรในการสังเกตว่ามันจะให้สีเราอย่างไร

ตอบ : ต้นแสม เวลาติดเสื้อมันจะแดงซักก็ไม่ออก โคลนก็เหมือนกันติดแล้วก็ไม่ออก ใบเตยเวลาเราต้มน้ำใบเตยใช้ทำประกอบอาหารจะมีสีเขียว


ถาม : เราเอาข้อมูลพวกนี้มาจากไหน เราถามผู้รู้ในชุมชนหรือว่าเราใช้วิธีการหาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตหรือสังเกตกันเอาเองในทีม

ตอบ : ถามผู้รู้ในชุมชนค่ะ


ถาม : เขามีความรู้เกี่ยวกับเรื่องอะไรที่เราไปถาม

ตอบ : พืชไหนใช้ได้บ้าง ที่มีสี แล้วก็ต้มนานเท่าไหร่ ต้องต้มใช้น้ำอะไร


ถาม : เขาเป็นผู้รู้เกี่ยวกับเรื่องผ้ามัดย้อมเรื่องสีธรรมชาติอยู่แล้วใช่ไหมคะ

ตอบ : พวกหนูลงพื้นที่ในชุมชนก็คือสอบถามคนในชุมชนเลย เดินรอบชุมชนแล้วสอบถามแต่ละบ้าน


ถาม : เราเดินถามแต่ละบ้านเลยว่าเขาจะให้ข้อมูลอะไรเราบ้างใช่ไหมคะใครที่ให้ข้อมูลเราได้เยอะสุด

ตอบ : จำชื่อไม่ได้แล้วค่ะ


ถาม : เสร็จแล้วเราได้ข้อมูลมาก็เอามารวบรวมแล้วทดลองเหมือนเดิม แล้วได้ผลตามคำแนะนำไหม

ตอบ : บางอย่างก็ได้ผล บางอย่างก็ไม่ได้ผล


ถาม : ที่ได้ผลมีอะไรบ้าง

ตอบ : ที่ได้ผลก็คือต้นแสม อัญชันได้ผลแต่ว่าสีอ่อน ที่พวกหนูหาเองก็คือโคลน พังกาได้รับคำแนะนำมาก็ได้ผล จะมีพวกใบเตย ดาวเรืองได้ผลแต่ว่าให้สีอ่อนค่ะ


ถาม : แล้วอะไรบ้างที่เขาแนะนำมาแล้วไม่ได้อย่างที่เขาแนะนำ

ตอบ : ใบกล้วยค่ะ ยางของใบกล้วย แต่ว่ามันยากที่จะเอายางของมันมา


ถาม : มีปัญหาอะไรไหมของกิจกรรมนี้

ตอบ : ไม่มีค่ะ เป็นกิจกรรมที่ไม่มีปัญหาอะไร แต่กิจกรรมอื่น ๆ จะมีปัญหาบ้างเล็กน้อย


ถาม : อะไรบ้างที่มีปัญหา

ตอบ : มีปัญหาก็คือเวลาเรารวบรวมเด็ก ๆ แล้ว เขาวิ่งเล่นตามถนนเพราะว่าเราใช้วิธีเดินเท้าไป


ถาม : ชาวบ้านให้ความร่วมมือดีไหม

ตอบ : ทุกคนค่ะ


ถาม : เวลาที่เราเข้าไปถามเขาเราแนะนำตัวไหมว่ามาทำโครงการหรือว่าเดินเข้าไปถามเขาเลย

ตอบ : แนะนำตัวก่อนค่ะ ว่าเรามาจากโครงการอะไร ว่างอยู่ไหมขอสอบถามสักครู่ แล้วก็ถามเขาว่าเขาชื่ออะไร แล้วก็ถามเขา


ถาม : อัดเสียงไหมหรือว่าถามอย่างเดียว

ตอบ : ถ่ายวิดีโอแล้วก็จดไว้ค่ะ


ถาม : พอเราหาข้อมูลเกี่ยวกับสีธรรมชาติได้แล้วเราทำอะไรต่อ

ตอบ : เราศึกษาลายต่อ


ถาม : เหมือนเดิมคนในชุมชนหรือว่าผู้รู้โดยเฉพาะ

ตอบ : คนในชุมชนค่ะเพราะว่าวันที่เราเดินรอบหมู่บ้านเราก็ถามเรื่องลายด้วย


ถาม : เราถามทั้งเรื่องลายแล้วก็เรื่องลายไปด้วยเลย มีลายอะไรบ้างในชุมชนของเรา

ตอบ : เรื่องลายในชุมชนเขาบอกว่าเขาไม่รู้ค่ะ เขาบอกว่าไม่รู้เหมือนกันไม่เคยทำ แต่บางคนที่เคยทำก็บอกว่าเป็นวงกลม


ถาม : ส่วนใหญ่จะเป็นลายกลม ๆ ไม่มีชื่อลาย จะบอกเป็นลักษณะลายเฉย ๆ ใช่ไหมคะ แล้วที่เราบอกว่าเราคิดลายเอง เป็นลายอะไร

ตอบ : ทีหนูลองคิดก็คือเป็นลายต้นไม้


ถาม : จากการมัดย้อมเลยใช่ไหมคะ ลองเล่าให้ฟังหน่อยสิวิธีการเป็นอย่างไร เราลองเล่าวิธีการก่อนก็ได้ ทำไมถึงอยากทำเป็นลายต้นไม้

ตอบ : เพราะว่าอยากสื่อถึงว่าในชุมชนเรามีอะไรเยอะที่สุด ก็คือวิธีการทำลายต้นไม้ นิลองวาดเป็นต้นไม้แล้วพับตามที่เราวาดไว้ ใช้ด้ายเย็บให้มันแน่นตามที่เราวาดแล้วเราเอาไปต้ม พอแกะมาเป็นลายต้นไม้ค่ะ


ถาม : ใครเป็นคนทำนิเองใช่ไหม แล้วเราไปรู้วิธีการทำจากไหน ดูยูทูปหรือว่าอะไร

ตอบ : นิเห็นในยูทูปเวลาเขาทำเป็นลายดอกไม้สวยๆ เขาเย็บตามรูปเลยลองทำแบบนั้นบ้าง


ถาม : จุดเริ่มต้นก็คือไปดูในยูทูปว่าเขาทำลาย แล้วเราเลยลองทำเองแล้วเป็นอย่างไรบ้างทำครั้งแรกแล้วได้ผลหรือว่าทำแล้วทำอีก

ตอบ : ครั้งแรกก็เป็นต้นไม้เลยค่ะ


ถาม : ตอนที่เราทำได้แล้วเรารู้สึกอย่างไรบ้าง

ตอบ : รู้สึกว่าเราภูมิใจที่เราเป็นคนคิดค้นลายได้


ถาม : พอเราทำสำเร็จแล้วเราไปให้เพื่อนดูไหมหรือว่าอย่างไร

ตอบ : ก็ไปบอกเพื่อน ๆ ว่าเราคิดค้นลายขึ้นมาใหม่แล้วเป็นลายที่บอกถึงหมู่บ้านเรา


ถาม : แล้วเป็นอย่างไรบ้างผลตอบรับเพื่อน ๆ

ตอบ : เพื่อนก็ไม่ได้อะไรค่ะ


ถาม : แล้วเราเอามาสอนเพื่อนไหม

ตอบ : ส่วนมากเพื่อนจะมีลายเป็นของตัวเองอยู่แล้วค่ะ


ถาม : แต่ถ้าเป็นต้นไม้จะเป็นของนิ แล้วถ้าอย่างคนอื่นที่บอกว่าเขาจะมีลายเป็นของตัวเองมีลายอะไรบ้าง

ตอบ : ชื่อลายจำไม่ได้แต่จะทำมั่ว ๆ แล้วเกิดมาเป็นลาย


ถาม : แล้วแต่ละลายมีความหมายไหม

ตอบ : มีความหมายค่ะ


ถาม : แล้วนิลองทำลายของเพื่อนบ้างไหม

ตอบ : ลองทำอยู่ค่ะแต่ว่าไม่เหมือนของเพื่อน


ถาม : ก็จะเป็นลายใครลายมัน

ตอบ : ผ้ามัดย้อมไม่มีที่สิ้นสุดของลายเพราะว่าขนาดเราพับมันก็ยังเป็นลาย


ถาม : ของนิมีชื่อลายไหมคะ

ตอบ : น่าจะเป็นลายต้นไม้


ถาม : มีปัญหาอะไรไหมตอนคิดลาย ออกแบบลาย

ตอบ : อุปกรณ์ที่ใช้มันไม่เข้ากับลายที่เราออกแบบมา แล้วลายที่เราออกแบบมามันคนละอย่างกับที่มีอุปกรณ์


ถาม : ไม่เข้ากันอย่างไรลองอธิบายรายละเอียดให้พี่ฟังหน่อย

ตอบ : เรามีอุปกรณ์เป็นไม้จิ้มฟันแต่ว่าลายที่เราออกแบบจะเป็นลายใหญ่ไม่มีของสำหรับลายใหญ่ ๆ


ถาม : แล้วนิใช้วิธีการแก้ไขอย่างไรในเมื่ออุปกรณ์เรามีไม่พร้อม

ตอบ : เราลองใช้อันเล็ก ใช้อันที่มีทำดู


ถาม : ซึ่งได้ผลไหม

ตอบ : ได้ผลค่ะ


ถาม : ไม่ได้มีปัญหาหนักอะไร แค่อุปกรณ์ไม่รองรับกันเท่านั้น

ตอบ : ค่ะ


ถาม : ส่วนของผ้าละ

ตอบ : ตอนผ้าที่ใช้สีเคมีกับธรรมชาติมันใช้ไม่เหมือนกัน ถ้าสีเคมีจะเป็นผ้าที่มันดิบ แต่ว่าสีธรรมชาติก็ติดแต่ว่ามันคนละสีกันเลย ผ้าบางอย่างใช้ไม่ได้


ถาม : ถ้าอย่างนั้นผ้าที่เราจะใช้ทำผ้ามัดย้อมได้ต้องเป็นผ้าอะไร

ตอบ : เป็นผ้ามัสลิน ผ้าอย่างอื่นลองใช้แล้วแต่มันเป็นสีอ่อน


ถาม : แสดงว่าเราไปซื้อผ้าแต่ละชนิดมาทดลองเหมือนเดิม เราไปซื้อผ้าอะไรมาบ้างที่เอามาทดลอง

ตอบ : เป็นผ้าแข็ง คอสตอน แล้วมัสลิน ด้ายดิบ ลองใช้ ปรากฏว่ามัสลินใช้ได้ดีที่สุด สัมผัสนิ่ม คอสตอนกับด้ายดิบมีความแข็งสีไม่ค่อยติดต้องเอาไขมันออกจากผ้าก่อน


ถาม : แปรรูป เราเอามาแปรรูปเป็นอะไรบ้างนะคะ

ตอบ : เสื้อ กางเกง แมสแล้วก็กระเป๋าดินสอ


ถาม : ลองเล่ากระบวนการตรงนี้ให้ฟังหน่อยเรามีวิธีการอย่างไรบ้าง ทำกันเองในชุมชนใช่ไหมตอนแปรรูป หลังจากที่เราไปขอข้อมูลจากเขามาแล้วเราทำเสร็จแล้วเราเอาไปขายหรือว่าลองทดลองทำดูก่อน

ตอบ : ลองทดลองทำดูเฉยๆ ก่อนว่าทำเป็นอะไรได้บ้าง


ถาม : ใครทำบ้างแปรรูป

ตอบ : พวกเราในกลุ่มมาช่วยกันทำช่วยกันทำค่ะ


ถาม : คนหลักจะเป็นใคร

ตอบ : หนูค่ะ


ถาม : อย่างเป็นเสื้อเราเอาเสื้อสำเร็จรูปมาลองมัดหรือว่าเราเอามาตัดเย็บใหม่หมดเลย

ตอบ : ตัดเย็บใหม่หมดเลยเพราะว่าเราออกแบบไม่เหมือนเสื้อปกติ ด้านหน้าสั้น ข้างหลังยาวกว่าข้าง ๆ


ถาม : ใครเป็นคนออกแบบ

ตอบ : ความชอบของแต่ละคน


ถาม : เวลาตัดเสื้อต้องวาดแบบไหม

ตอบ : เราวาดแบบแล้วจะมีช่างในหมู่บ้านตัดให้ บอกว่าอยากได้แบบไหนแล้วเขาก็วาดออกมาเป็นเสื้อ


ถาม : โดยเสื้อก็เป็นผ้ามัสลินถูกต้องไหมคะ แล้วอย่างกางเกงเราวาดแล้วให้เขาทำเหมือนกันหรอคะ

ตอบ : ค่ะ


ถาม : มีสีอะไรบ้างคะ ถ้าเป็นเสื้อจะเป็นสีอะไรบ้าง

ตอบ : สีเหลืองจากขมิ้น สีส้มจากเปลือกแสม สีม่วงกับชมพู จากมะม่วงหาวมะนาวโห่ แล้วเรามาเปลี่ยนสีด้วยตัวเร่งที่ทำให้เปลี่ยนสี เช่น สารส้ม ปูนใสจะเปลี่ยนสีจากสีชมพูเป็นสีฟ้า จากสีม่วงเป็นสีน้ำเงินจากสีเหลืองเป็นสีส้มแก่ แล้วจากสีน้ำตาลเปลี่ยนเป็นสีแดงเข้ม


ถาม : เราไปเอาเทคนิคเรื่องของการเปลี่ยนสีของแต่ละสีมาจากไหน

ตอบ : ตอนแรกเราลองทำ แบบว่าเป็นสีที่ว่ากัด อย่างกรด-เบส เราก็ลองทำดู ตอนแรกมันหกใส่เสื้อที่เราทำแล้วมันเปลี่ยนสี


ถาม : มันเริ่มต้นจากความบังเอิญหรอ

ตอบ : ค่ะ ตอนแรกมันหกค่ะ เราเลยอยากลองเปลี่ยนสีเสื้อที่เราได้มาดู


ถาม : สนุกไหมเวลาทำ ดูน่าสนุกดีนะ สีนั้นเปลี่ยนเป็นสีนี้

ตอบ : สนุกค่ะแต่ว่าเวลาเราเปลี่ยนสี ถ้าเราไม่ตั้งใจจะให้เปลี่ยนจากสีนั้นเป็นสีนี้ แต่ว่าพอเปลี่ยนสีที่ออกมาเป็นคนละสีกัน


ถาม : แล้วพอมันเปลี่ยนแบบนั้น มันใช้ได้ไหม

ตอบ : ใช้ได้ค่ะ


ถาม : ส่วนใหญ่ใครจะเป็นคนชอบคิดทดลอง

ตอบ : จะเป็นนิค่ะ


ถาม : เราลองไปหาข้อมูลไหมจากยูทูป แล้วลองมาทำมีบ้างไหมคะ

ตอบ : มีค่ะ ในยูทูปเราหาลายในยูทูปแล้วลองทำ แต่วัสดุอุปกรณ์เราไม่เหมือนของเค้า ทำได้แต่มันไม่เหมือนกัน


ถาม : ทำไมเราถึงเลือกทำเป็นเสื้อกับกางเกง

ตอบ : เพราะว่าเสื้อกับกางเกงเราใส่อยู่ทุกวัน เราเลยลองแปรรูปเป็นเสื้อกับกางเกงก่อนค่ะ


ถาม : แมสมาตอนไหน

ตอบ : พึ่งมาตอนโควิดระบาดค่ะ เหลือเศษผ้าจากการตัดเสื้อ เราเลยมาคิดว่าเศษผ้าทำเป็นอะไรได้บ้างเลยได้มาเป็นแมสค่ะ


ถาม : ที่เราบอกว่าเราทำกิจกรรมในชุมชนเราทำเกี่ยวกับอะไรบ้างคะ

ตอบ : สอนเด็กมัดลายแล้วให้เขาศึกษาสิ่งที่มีในชุมชนว่าเราจะใช้อะไรบ้าง มีอะไรบ้างที่เราใช้ประโยชน์ได้


ถาม : เด็กอายุเท่าไหร่ถึงเท่าไหร่

ตอบ : ส่วนมากเด็กที่เข้าร่วมโครงการจะเป็นเด็ก 7-9 ขวบ เด็กโตไม่เข้าร่วมโครงการเพราะว่าจะเล่นมือถือเสียส่วนใหญ่


ถาม : กิจกรรมที่เราให้เด็กทำ เราให้เขาทำอะไรบ้าง

ตอบ : ถามเขามีว่ามีพืชอะไรบ้างที่เราเห็นอยู่ทุกวัน เรากินได้ไหม ใช้ได้ไหม มีสีไหม


ถาม : เราพูดข้างหน้าเด็กหรือว่าเราพาเด็กเดินไปด้วย ดูไปด้วยว่ามีอะไรบ้าง

ตอบ : เราพูดข้างหน้าเด็กแล้วให้เด็กหาวัสดุที่อยู่รอบข้างมาลองดู พืชที่เราเห็นว่าเป็นสีเขียวแต่เราลองทำมันไม่ใช่สีเขียว


ถาม : เราให้โจทย์เด็กแล้วให้เด็กลองไปหาดู แล้วให้เขาทดลอง

ตอบ : ทดลองก็คือนำมาขยำน้ำว่าออกเป็นสีอะไร


ถาม : ตอนที่จัดกิจกรรมมีใครเข้าร่วมบ้างนอกจากเรา มีพี่เลี้ยงไหม มีผู้ใหญ่ หรือว่าผู้ปกครองมาดูไหม

ตอบ : มีพี่เลี้ยงและผู้ปกครองของพวกหนูมาดู


ถาม : เด็กที่เข้าร่วมเยอะไหม

ตอบ : ประมาณ 20 คน


ถาม : กิจกรรมจัดทั้งวันหรือว่าครึ่งวัน

ตอบ : ครึ่งวัน


ถาม : ใครเป็นคนออกแบบกิจกรรมที่เราเล่าให้ฟังเมื่อกี้

ตอบ : เราวางแผนกันมาก่อนแล้วค่ะว่าจะให้ทำอะไร


ถาม : ในเวทีนี้ นิรับหน้าที่เป็นอะไร

ตอบ : เป็นฝ่ายพิธีกร คนถือไมค์แล้วอธิบายรายละเอียด


ถาม : มีการซักซ้อมไหมว่าเราต้องพูดอะไรบ้าง

ตอบ : ซ้อมค่ะ ว่าอันที่เราพูดไปเด็กจะเข้าใจไหม เด็กจะชอบไหม


ถาม : เราตื่นเต้นไหมตอนพูด

ตอบ : ตื่นเต้นเหมือนกันค่ะแต่ว่าไม่เยอะเพราะว่าเป็นเด็กที่เราเจอทุกวันในหมู่บ้านอยู่แล้ว แต่เวลามีผู้ปกครองผู้ใหญ่มาดูด้วยก็จะตื่นเต้นค่ะ


ถาม : เวลาเราตื่นเต้นเราทำอย่างไรให้เรารู้สึกว่าเราตื่นเต้นน้อยลง

ตอบ : บอกกับตัวเองว่าสู้ๆ เราต้องทำมันให้ได้ แล้วก็หายตื่นเต้น


ถาม : เรามีปัญหาไหมในการจัดกิจกรรม

ตอบ : เรื่องเวลาเป็นปัญหาบ่อยที่สุด การนัดคนในกลุ่มนัดแปดโมงแต่มาเก้าโมง แปดโมงครึ่งกิจกรรมเริ่มเก้าโมงแต่พี่เลี้ยงยังไม่มา พวกเราก็มาแปดโมงเก้าโมง


ถาม : แล้วถ้าเป็นปัญหากับเด็ก ๆ มีไหม

ตอบ : ไม่มีค่ะ น้องเขาตั้งใจฟัง เพราะว่ามีข้อตกลงกันถ้าน้องซนเราก็จะหยุดเขาจะไม่ซน ปล่อยให้เด็กคิดเองว่าควรทำไหม


ถาม : พอจบกิจกรรมแล้วเรามานั่งพูดคุยกันไหม

ตอบ : มีค่ะนั่งคุยกันว่าเรื่องไหนที่ว่าเหนื่อยที่สุดมีปัญหาอะไรไหมเรื่องไหนที่ว่าเหนื่อยที่สุดควรแก้เรื่องไหน


ถาม : แล้วได้บทสรุปเป็นอย่างไร เรื่องไหนที่ว่าเหนื่อยที่สุด

ตอบ : เรื่องการดูแลเด็ก ความแตกต่างของเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนก็ซน บางคนก็ไม่ซน แต่ส่วนมากเราจะไปจัดที่ศาลาริมน้ำ เด็กจะชอบไปเล่นน้ำ เราจะห้ามไม่ให้เด็กเล่นน้ำ ถ้าเล่นน้ำแล้วเกิดอุบัติเหตุขึ้นมาใครจะรับผิดชอบ


ถาม : แล้วถ้าสมมุติว่าในส่วนของตัวนิเองให้เราลองคิดถึงกิจกรรมในวันนั้นเราคิดว่าอะไรที่เราเหนื่อยที่สุด

ตอบ : การทำความเข้าใจกับเด็ก ๆ ค่ะว่าเด็กต้องการอะไร และเราต้องการอะไร


ถาม : ย้อนกลับไปตั้งแต่ทำงานจนถึงกิจกรรมที่เราพูดคุยกับเด็ก นิคิดว่าสำหรับเราเองมีปัญหาหรือว่าอะไร ที่เราหนักใจมากที่สุดในการทำโครงการไหม

ตอบ : เวลาความคิดเห็นเราไม่ตรงกันค่ะ ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมรับความคิดเห็นของคนอื่นกว่าจะพูดทำความเข้าใจก็ใช้เวลา


ถาม : ที่หนักใจเพราะความคิดเห็นเรากับเพื่อนไม่ตรงกันหรือว่าเราหนักใจตรงที่เราต้องเป็นฝ่ายไกล่เกลี่ย

ตอบ : เราต้องเป็นฝ่ายไกล่เกลี่ย หนักใจมากที่สุดคือนัดประชุมแล้วไม่มา เรานัดแล้วแต่เขาไม่มา


ถาม : แล้วเราจัดการอย่างไร

ตอบ : ประชุมเท่าที่มาแล้วให้คนที่มาไปบอกว่าเราจะทำอะไร ประชุมเกี่ยวกับอะไร


ถาม : มีเหตุการณ์ไหนหรือว่ากิจกรรมไหนของเราตั้งแต่ทำมาเรารู้สึกประทับใจ ภูมิใจมากที่สุด

ตอบ : วันที่จัดงานมหกรรมเพราะว่าก่อนหน้านั้นเราก็แยกกันไปเรียน เราก็กลับมารวมกลุ่มกันอีกครั้ง แต่ความสัมพันธ์มันก็ไม่เหมือนเมื่อก่อนแต่ว่าเราก็ยังทำงานกันได้


ถาม : แสดงว่าตอนที่ทำเราเรียนชั้นไหน

ตอบ : ป. 6 ขึ้นม.1


ถาม : ตอนที่เราบอกว่าเวลาความคิดเห็นไม่ตรงกัน เราคิดว่าปัญหาตรงนั้นพอเราแก้สถานการณ์ได้เรียบร้อยแล้วเราได้เรียนรู้จากปัญหานี้บ้างไหม

ตอบ : ก่อนนี้เราเอาความคิดเห็นของตัวเองเป็นใหญ่ ใครพูดอะไรไม่ตรงกับเรา เราค้านทุกอย่าง แต่ตอนนี้รับฟังผู้อื่นมากขึ้น ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามควรคิดถึงความคิดเห็นของผู้อื่นด้วย


ถาม : มันยากไหมเหนื่อยไหม เพราะว่าก่อนหน้านี้เราจะเอาความคิดเห็นตัวเองเป็นที่ตั้งแต่พอมาทำโครงการนี้เหมือนเราต้องฟังเขามันทรมานไหม

ตอบ : เหนื่อยค่ะ กว่าจะยอมรับได้ก็ต้องใช้เวลา


ถาม : แล้วที่เราบอกว่าเพื่อนๆ จะมีความคิดเห็นต่างกันแต่ละคน วิธีการที่เราแก้ปัญหาของเรา เราแก้อย่างไร

ตอบ : เราเอาความคิดเห็นมารวมกันแล้วใช้ความคิดเห็นที่รวมกันมาดูว่าผลจะเป็นอย่างไร


ถาม : ใครเสนออะไรมาก็ลองทำเลยแล้วมาดูผลว่ามันจะเป็นอย่างไรใช่ไหมคะ ตอนที่เราลงพื้นที่ทดลอง เก็บข้อมูลหลายอย่างเลย เราใช้ชุดความรู้หรือว่าเครื่องมือะไรในการทำกิจกรรมไหม พี่เขาให้เครื่องมืออะไรไหมในการทำงาน

ตอบ : เครื่องมือก็คือความรู้นี่แหละค่ะ ที่เราใช้การเขียน การนำเสนอ และการพูดกับคนที่เราไม่สนิท


ถาม : มีการใช้พวก Timeline ไหม

ตอบ : ส่วนมากเขียนในกระดาษแล้วแปะติดไว้ พูดตามกระดาษที่เขียนเนื้อหาใช้แผนที่ชุมชนนำเสนอว่าจุดที่เราใช้พืชอยู่ตรงไหนในชุมชนบ้าง เวลาเราจะใช้ครั้งต่อไปจะง่ายในการทำงาน


ถาม : ผลตอบรับในชุมชนที่เขามีต่อเราไปในทางที่ดีไหม

ตอบ : ก็มีทั้งคนชอบและคนไม่ชอบ ยากที่จะให้ทั้งหมดยอมรับเพราะว่าเราเป็นเด็ก


ถาม : ที่เขาไม่ชอบเขาไม่ชอบเรื่องอะไร

ตอบ : เขาไม่บอก แต่ด้วยความที่เราเป็นเด็ก บางคนก็มีความคิดดีกว่าผู้ใหญ่บางคนเขาเลยไม่ชอบ เวลาเขาเห็นพวกเราทำงาน เขาก็จะแสดงท่าทีเลยว่าไม่ชอบ


ถาม : อย่างเราเลือกทำสีจากธรรมชาติ ชาวบ้านเขาหันมาสนใจอยากทำสีจากธรรมชาติเหมือนเราบ้างไหม

ตอบ : ส่วนมากไม่ค่อยมีชาวบ้านมีแต่เด็กในชุมชน


ถาม : อย่างตอนแรกที่เราบอกว่ามีกลุ่มผ้ามัดย้อมอยู่แล้วแต่ว่าเขาทำเป็นสีเคมี เขาเห็นเราทำโครงการเขารู้ไหมว่าเราทำโครงการนี้อยู่

ตอบ : ไม่รู้เหมือนกันว่าเขารู้ไหม


ถาม : เราได้ไปมีส่วนร่วมหรือว่าไปถามข้อมูลกับเขาไหม

ตอบ : ไม่ได้ไปถามอะไรจากเขา เป็นหมู่บ้านถัดไป อยู่ใกล้กัน


ถาม : คนในหมู่บ้านที่เขาเห็น เรารู้สึกไหมว่าเขาก็อยากทำแบบเราบ้าง เขาสนใจไหมหรือว่าเขาก็ปล่อยให้เราทำของเราไป

ตอบ : ส่วนมากปล่อยให้เราทำ


ถาม : ให้นิประเมินตัวเองว่าก่อนกับหลังโครงการมีอะไรในตัวเราบ้างที่เปลี่ยนไป

ตอบ : เปลี่ยนหลายอย่างค่ะ ทั้งความคิดเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น เวลาจะทำอะไรก็หาเหตุผล เช่น การใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นต้องทำอย่างไร ต้องใช้ชีวิตแบบไหนที่บ้านกับที่สาธารณะเราต้องทำอย่างไร


ถาม : อย่างเรื่องของความคิดที่เราบอกว่าเปลี่ยนไปลองยกสถานการณ์ให้ฟังหน่อยได้ไหมว่า ภาพก่อนหน้าที่จะทำโครงการนี้เราเป็นอย่างไร

ตอบ : เราอยากทำอะไรเราก็ทำ เราไม่ได้มานั่งหาเหตุผล ไม่ได้นึกถึงผลของมัน อยากทำก็ทำ


ถาม : พอหลังจากทำโครงการนี้แล้วเป็นอย่างไร

ตอบ : เวลาเราจะทำอะไรเราต้องคิดก่อนนะว่าสิ่งนั้นควรทำหรือไม่ควรทำ ผลของมันเป็นอย่างไร


ถาม : เรื่องของการหาเหตุผล ก่อนหน้านี้เราเป็นอย่างไร

ตอบ : เวลาทำอะไรเราจะไม่รู้ว่าเราทำไปทำไม เราแค่อยากทำ แต่หลังจากทำโครงการเรารู้ว่าเราทำทำไม ทำเพราะว่าเราอยากทำหรือว่าทำเพราะมีเหตุผลอื่น


ถาม : แล้วที่เราบอกว่าการใช้ชีวิตร่วมกับผู้คนก่อนหน้าที่เราเป็นอย่างไร

ตอบ : ก่อนหน้านี้ใช้ชีวิตแบบไม่ค่อยสนใจ ไม่แคร์ความรู้สึกของคนอื่น ว่าทำแล้วเขาจะรู้สึกอย่างไร แต่ตอนนี้เราคิดก่อนว่าเราควรทำหรือเปล่า ทั้งตอนอยู่กับผู้อื่นในที่สาธารณะหรือแม้แต่ที่บ้านก็คิดควรทำตัวอย่างไร ถ้าเป็นแต่ก่อนเราจะพูดกับผู้ใหญ่ปกติเหมือนเป็นรุ่นเดียวกันแต่ตอนนี้เปลี่ยนไป


ถาม : แล้วความรู้สึกกับชุมชนของเราเปลี่ยนไปไหมก่อนหน้านี้กับพอหลังจากทำโครงการ

ตอบ : ก่อนหน้านี้ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับชุมชน แต่พอทำโครงการนี้เราสนใจชุมชนมากขึ้น รู้จักชุมชนมากขึ้นว่ามีสิ่งดีๆ หลายอย่าง


ถาม : แล้วมีทักษะหรือความสามารถอะไรไหมที่เราได้จากโครงการนี้ ซึ่งก่อนหน้านี้เราไม่เคยได้มาก่อน ไม่เคยทำมาก่อน

ตอบ : หลังจากที่ทำโครงการขึ้นมัธยม หลักสูตรที่ใช้ทำโครงงานเหมือนกันเลย หลักสูตรเดียวกัน


ถาม : เราเอาไปประยุกต์ใช้ไหมใช้ได้ดีไหม

ตอบ : เหมือนกับว่าเราโดดเด่นกว่าคนอื่น คนอื่นเขายังมาไม่ถึงสิ่งนี้แต่เรามาถึงแล้ว


ถาม : มันเหมือนกันอย่างไรโครงงานที่เราทำในโรงเรียนกับโครงการสตูล

ตอบ : โครงงานในโรงเรียนจะคิดแล้วลงมือทำแล้วสรุปผลปกติโครงงานก็แค่เขียน ๆ แล้วคิดไม่ค่อยมีอะไรส่วนมากเป็นครูที่กำหนดให้ แต่นี่เรากำหนดหัวข้อเองว่าจะทำอะไร


ถาม : แล้วมีความสามารถอะไรไหมที่เราพึ่งค้นพบว่าตัวเองทำได้จากการทำโครงการนี้

ตอบ : การนำเสนอโครงการ


ถาม : ก่อนหน้านี้เราเป็นอย่างไร

ตอบ : เวลาเรานำเสนอเราไม่ทำความเข้าใจกับสิ่งที่เรานำเสนอ แต่ตอนนี้เราเข้าใจว่าเราจะนำเสนออะไรเข้าใจกับเนื้อหาที่เรานำเสนอ


ถาม : เรารู้สึกว่าเราเปลี่ยนแปลงช่วงไหน ที่แต่ก่อนเราไม่ได้เป็นแบบนี้

ตอบ : ช่วงหยุดทำโครงการ จะมีช่วงที่โควิดระบาดแล้วอยู่บ้าน ได้ใช้เวลากับตัวเองมากขึ้น


ถาม : ในช่วงที่เราใช้เวลาอยู่กับตัวเองมากขึ้นมันไปเอ๊ะยังไงถึงทำให้เราค้นพบเรื่องนี้ขึ้นมา ช่วงแรกที่เรานำเสนอโครงการจำได้ไหมว่าเป็นอย่างไร

ตอบ : ช่วงแรกพูดไปยิ้มไปหัวเราะไป แต่ตอนนี้ไม่เขิน พูดแบบจริงจัง พูดในสิ่งที่เราทำ


ถาม : ตอนนี้เรายังย้อมผ้าจากสีธรรมชาติอยู่หรือเปล่า

ตอบ : ช่วงนี้ไม่ค่อยมีเวลาว่าง เพราะว่าบางอาทิตย์ก็ต้องไปโรงเรียนเสาร์-อาทิตย์ไม่มีวันหยุด


ถาม : ถ้าให้เราลองประเมินตัวเองคะแนนเต็ม 10 เราคิดว่าเรามีความรู้หรือว่าความเชี่ยวชาญอะไรบ้าง อย่างเรื่องของการนำเสนอโครงการที่เราบอก ถ้าให้คะแนนเต็มสิบก่อนที่จะมาเข้าร่วมโครงการ กับหลังโครงการเราให้คะแนนเท่าไหร่

ตอบ : ก่อนเข้าร่วมโครงการเราให้ 5 หลังเข้าร่วมโครงให้ 8.5


ถาม : ก่อนเข้าร่วมโครงการทำไมให้ 5

ตอบ : เพราะว่าตอนนั้นเรายังเขินอาย ยังไม่ค่อยมีเนื้อหาสาระสำคัญที่เราต้องนำเสนอ


ถาม : แล้วพอหลังโครงการทำไมถึงให้ 8.5

ตอบ : เพราะว่าเวลาเรานำเสนอเราจะเลือกเนื้อหาที่สำคัญนำเสนอ ตอนไปโรงเรียนมีคุณครูมาบอกว่าให้เราทำโครงงานเพราะว่าเห็นเรานำเสนอได้ดี ก็ภูมิใจ


ถาม : แล้วอีก 1.5 คะแนนของเราหายไปไหน

ตอบ : เรายังมีความเล่นแล้วยังไม่ดีพอในความคิดของตัวเอง


ถาม : ตอนที่ครูมาบอกให้เรานำเสนอโครงงาน ก่อนหน้านี้เราเคยได้รับคัดเลือกหรือว่าคุณครูเคยมามอบหมายให้เราเป็นคนนำเสนอโครงการแบบนี้มาก่อนไหม

ตอบ : ไม่เคยค่ะ


ถาม : พอหลังจากทำโครงการนี้แล้วครูเห็นว่าเราพูดได้เลยมอบหน้าที่นี้ให้เรา ภูมิใจไหม

ตอบ : ภูมิใจค่ะ


ถาม : มีอะไรบ้างไหมที่เราอยากพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นกว่านี้

ตอบ : เรื่องคำพูดเพราะว่าส่วนมากจะชอบใช้คำหยาบ


ถาม : ถ้าเป็นในเรื่องทักษะความรู้เราอยากพัฒนาอะไรเพิ่มเติมไหม

ตอบ : ตอนนี้ยัง แต่อนาคตไม่แน่


ถาม : อยากเป็นอะไรตอนโต

ตอบ : อยากเป็นนักพัฒนาสังคม เพราะว่าอยากเห็นคนในชุมชนก้าวหน้า คนในประเทศก้าวหน้า


ถาม : ที่เราบอกว่าเรามีความรู้เรื่องการทำผ้ามัดย้อมอยู่แล้วเพราะว่าเราไปทำกับหมู่บ้านข้าง ๆ ไหม

ตอบ : ไม่เคยค่ะ แต่ว่าเคยเห็นขี่รถผ่าน


ถาม : แต่ไม่เคยทำมาก่อนใช่ไหม

ตอบ : ยังไม่เคยทำมาก่อน


ถาม : โครงการนี้เราทำเป็นครั้งแรก มัดย้อมก็เป็นครั้งแรกเลยใช่ไหม มันยากไหมดูเหมือนหลายขั้นตอน

ตอบ : ถ้าพูดมันอาจจะดูยากแต่เวลาเราลงมือทำมันจะง่ายมากกว่า


ถาม : ตอนแรกเราคิดไหมว่ามันจะยาก เพราะว่าเราก็ไม่เคยทำมาก่อน

ตอบ : ตอนแรกคิดว่าจะยากหลายขั้นตอนไม่อยากทำ แต่พอได้ลงมือทำมันง่ายกว่าที่คิด


ถาม : แล้วขั้นตอนไหนที่ยากที่สุดของการทำผ้ามัดย้อม

ตอบ : การสกัดสีออกมาและการรักษาสีของพืชนั้นให้คงทน


ถาม : วิธีการรักษาสีให้คงทนทำอย่างไร

ตอบ : พืชบางอย่างเวลาเราใช้น้ำปูนใสมันก็จะไม่เปลี่ยนสีแต่ว่ามันคงทนขึ้น แต่บางอย่างก็ไม่ต้องใช้น้ำปูนใส เพื่อให้สีไม่จก


ถาม : เราชอบเรียนวิชาวิทยาศาสตร์หรือเปล่าเพราะรู้สึกว่าเราชอบทดลอง

ตอบ : ไม่ชอบแนววิชาวิทยาศาสตร์