นัฐวุฒิ หนูปอง : แกนนำเยาวชน Active Citizen จ.สตูล

นายนัฐวุฒิ หนูปอง แกนนำเยาวชน Active Citizen จ.สตูล

“ตอนเด็ก ๆ ผมมีเพื่อนผู้ชายตามสไตล์เด็กต่างจังหวัดที่อยู่ ป.4-6 ก็เริ่มติดน้ำท่อมกันแล้ว ถ้าอยู่กับเพื่อนผู้ชายกลุ่มนี้ต่อไปเราต้องติดเหมือนกันแน่ ๆ ในใจอยากทำกิจกรรม หรืออะไรก็ได้ที่ให้ตัวเองออกจากตรงนั้น ก็เลยไปอยู่กับกลุ่มเพื่อนผู้หญิง จนช่วงม.ต้น ก็มีกลุ่มเพื่อนที่ทำกิจกรรมกีฬาแล้วผมก็ทำพวกจัดแข่งกีฬาในหมู่บ้านกับพวกเพื่อนๆ แต่ก็คุยกันว่า จะไม่ขึ้นกับใคร พอมีโครงการ

เข้ามา แต่เราไม่เอา เพราะกลัวไม่เป็นตัวเอง”

ฮารีส หนุ่มใต้อารมณ์ดี มีความมุ่งมั่นแน่วแน่ที่จะปั้นฝันสร้างแหล่งน้ำตกในชุมชนของตัวเองให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวและเป็นที่รู้รู้จัก ก่อนที่จะมาเป็นนักกิจกรรม Active Citizenผู้นำที่มีทักษะการบริหารและขับเคลื่อนชมรมเกี่ยวกับรัฐศาสตร์และการเมืองให้เกิดกิจกรรมการเรียนรู้แก่เพื่อนสมาชิกที่มีจำนวนหลักร้อยในช่วงมหาวิทยาลัย

ชีวิตวัยเด็กที่เจอกับบรรยากาศกลุ่มเพื่อนผู้ชายที่อยู่ชั้นประถมปลายก็เริ่มชักชวนกันกินน้ำท่อมกันแล้ว ด้วยใจที่รักดี คิดว่าหากคบเพื่อนกลุ่มนี้ที่ไม่ค่อยเป็นชิ้นเป็นอันกลุ่มนี้ต่อไปคงไม่รอดจากยาเสพติดอื่นๆ ต่อไปแน่นอน จึงเกิดความรู้สึกอยากเปลี่ยนสังคมและสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ให้ดีขึ้น เลยคบหากลุ่มเพื่อนกลุ่มใหม่ที่ชักชวนกันเล่นกีฬาและทำกิจกรรมเพื่อชุมชน จนรวมเป็นกลุ่มใหญ่จัดแข่งขันกีฬาเยาวชนขึ้นในหมู่บ้าน อย่างวอลเลย์บอลและฟุตบอลที่พวกเขาถนัดและเล่นอยู่ประจำ ได้ตั้งเป้าร่วมกันว่าจะทำกิจกรรมแบบอิสระที่ไม่ขึ้นกับใคร ไม่รับทำโครงการที่อยู่ภายใต้การควบคุมของหน่วยงานหรือกลุ่มใดๆ เพราะกลัวสูญเสียความเป็นตัวเองแต่หากจะทำก็จะทำเพราะอยากทำและเห็นความสำคัญจากตัวพวกเขาเอง

จุดประกาย “ชุมชนเขาไคร” ใครๆ ต้องได้รู้จัก

กระทั่งฮารีสได้เข้าไปเรียนชั้นมัธยมปลายในตัวจังหวัดสตูล ได้มีโอกาสแนะนำตัวกับเพื่อนร่วมห้องเรียนว่ามาจาก “เขาไคร” เพื่อนต่างทำหน้าสงสัยและไม่เคยได้ยินชื่อสถานที่แห่งมาก่อน จึงเกิดเป็นปมในใจว่าทำไมไม่มีใครรู้จักทั้งที่ชุมชนแห่งนี้มีน้ำตกที่น่าสนใจอยู่ในหมู่บ้าน จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ฮารีสอยากจะทำให้คนรู้จักชุมชนแห่งนี้ เลยเกิดความคิดในหัวว่า “ฉันต้องทำให้คนอื่นรู้จักบ้านฉันให้ได้” ในระหว่างนั้นฮารีสและกลุ่มเพื่อนที่ร่วมเล่นและทำกิจกรรมด้วยกันก็เริ่มพัฒนาน้ำตกให้ดูน่าเที่ยวน่ามอง ด้วยการจัดการเรื่องความสะอาด เก็บขยะและทำห้องอาบน้ำตามกำลังที่จะทำได้ ทั้งที่หวังว่าจะพัฒนาน้ำตกไปได้อีกไกลกว่านี้ ในขณะเดียวกันก็ยังมุ่งทำกิจกรรมทางด้านกีฬาไปด้วย จนได้รู้จักกับรุ่นพี่คนหนึ่งในหมู่บ้านที่ได้ชักชวนเพื่อนที่เป็นเยาวชนรุ่นพี่มาร่วมทำกิจกรรมด้วย จึงทำให้เกิดเป็นกลุ่มทำงานกลุ่มใหญ่และมีความสนใจที่กว้างกว่าเดิมจากการจัดแข่งขันกีฬาเล็กๆ ในหมูบ้านไปสู่งานกีฬาฟุตบอลประจำปีที่เริ่มเป็นที่รู้จักจากคนข้างนอกหมู่บ้าน จากนั้นได้ชักชวนกันตั้งกลุ่มขยายเป็นการทำงานเชิงอนุรักษ์และงานด้านกีฬาควบคู่กันไป พอกลุ่มเริ่มใหญ่ ส่วนงานพัฒนาน้ำตกให้เป็นแหล่งเที่ยวจากที่เคยมีแค่ห้องอาบน้ำก็ได้กลายเป็นที่ท่องเที่ยวของคนในหมู่บ้านและหมู่บ้านใกล้เคียงโดยไม่ต้องไปเที่ยวน้ำตกของหมู่บ้านอื่น

จากที่ไม่เคยสนใจทำกิจกรรมหรือโครงการภายใต้หน่วยงานหรือแหล่งทุนใดๆ เลย ในช่วงจังหวะนั้นก็มีรุ่นพี่ที่รู้จักกัน ซึ่งหลังจากจากนั้นก็ได้เป็นโค้ชของโครงการได้ชวนให้ฮารีสมาร่วมทำงาน และในที่สุดก็ได้ตกลงเข้าร่วมทำโครงการภายใต้ Active Citizen ด้วยเหตุผลที่อยากทำให้ “ชุมชนเขาไคร” ได้เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป ซึ่งได้ตั้งเป้าหมายในการทำโครงการไว้ว่า “ชุมชนเขาไคร” จะต้องเป็นที่รู้จัก และมากไปกว่านั้นคือต้องรู้จักในฐานะสถานที่เป็นมีน้ำตกเป็นสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจที่น่าสนใจและคนต้องมาเที่ยว จึงผสานความถนัดของกิจกรรมกีฬาและความฝันที่อยากจะทำให้ชุมชนบ้านเกิดเป็นที่รู้จักในฐานะแหล่งท่องเที่ยวด้วยการเริ่มส่งทีมฟุตบอลของหมู่บ้านเข้าประกวดแข่งขันเกือบทุกรายการที่เปิดรับสมัคร บางครั้งก็ลงเงินลงขันกันเองจากคนในทีมเพื่อสมัครลงรายการแข่ง มีเป้าหมายว่าจะต้องเข้ารอบไปให้ได้มากที่สุดทั้งความคาดหวังของผลในการเล่นฟุตบอลชนะ เพื่อสุขภาพ ห่างไกลยาเสพติดและทำให้คนทั่วไปรู้จักชุมชนของพวกเขาผ่านชื่อทีมฟุตบอลที่ได้ถูกประกาศชื่อและปรากฏบนเสื้อทีมฟุตบอล ไม่เพียงแค่ชื่อ “เขาไคร” ที่ใครๆก็เริ่มได้รู้จักผ่านการลงรายการแข่งขันฟุตบอลในช่วงเวลา 3-4 ปี ก็ยังมีพันธมิตรจากการแข่งขันที่คอยส่งข่าวรายการแข่งขันและกิจกรรมอื่นๆ ซึ่งหากไม่ติดสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด 19 ก็น่าจะมีการร่วมมือจัดการแข่งขันนัดใหญ่ที่ชุมชนเขาไครเป็นเจ้าภาพแน่นอน

ความคาดหวัง ผิดหวัง และอุปสรรค

เริ่มต้นในทำโครงการเกิดจากความอยากของฮารีสล้วนๆ ที่อยากจะทำชุมชนเขาไครให้เป็นที่รู้จัก แต่เมื่อได้ลองทำงานแล้วกลับทำให้รู้สึกว่าไม่เหมาะกับทีมกับเพื่อนๆ ที่ร่วมทำกิจกรรมกันมา เพราะทุกคนต่างมีความอิสระ ไม่อยากผู้มัดอะไรในการทำงาน ในการวางแผนและจัดการเวลาเพื่อมาทำโครงการค่อนข้างติดขัดเพราะหลายคนมีภารกิจทางบ้านต้องรับผิดชอบ ต้องกรีดยางเพื่อหารายได้ ในการเดินทางที่ต้องมีการค้างคืน หรือจัดกิจกรรมในช่วงกลางคืนจึงทำให้คนในทีมเกิดความลำบากเพราะกินเวลาส่วนตัว เรื่องของทักษะและความถนัดต้องใช้ในการทำงานโครงการอย่างเรื่องของการจัดการที่หลายคนไม่ถนัดก็เป็นอีกปัญหาที่ทำให้รู้สึกอึดอัดไม่อยากทำงาน แนวทางก็ไม่ได้เป็นไปในแบบที่อยากให้เป็นแล้ว ในตัวเนื้อหาที่ทำยังคมสนุกและท้าทายแต่เรื่องรูปแบบที่มีกรอบจำกัด กระบวนการของโครงการที่ใช้เวลาและจัดกิจกรรมถี่มาก ในทางกลับกันทีมสนุกและมีความสุขกับการลงมือทำในการเก็บขยะที่น้ำให้พื้นที่บริเวณน้ำตกสะอาดทำให้คนเข้ามาเที่ยวได้เลย

ในทีมจึงเริ่มตั้งคำถามกันว่าไหวไหม และงานแบบนี้เหมาะกับทีมไหม ช่วงนั้นฮารีสเริ่มไม่มีความสุขในการทำงาน รู้สึกผิดที่เอาความอยากของตัวเองไปเสนอขายฝันให้เพื่อนทั้งที่เพื่อนไม่ถนัดและเหมาะกับงานแบบนี้ ความฝันไฝ่ที่ตั้งใจไว้และไฟที่เคยมีเริ่มหมด และปัญหาต่างๆ เกิดขึ้นในทีมระหว่างการทำโครงการ แต่ความรับผิดชอบยังคงอยู่ ฮารีสประคับประคองคอยติดตามงานอยู่ตลอด

Active Citizen บนเส้นทางมหา’ลัย

ความสนใจของฮารีสช่วงเตรียมความพร้อมสอบเข้าเรียนมหาวิทยาลัยนั้นอยากเป็นเชฟเพราะพอจะะมีทักษะความสนใจด้านอาหารอยู่บ้าง เมื่อลองคิดชั่งน้ำหนักดูว่าตัวเองสนใจอะไรกันแน่ จากที่ครูแนะแนวได้แนะนำคณะรัฐศาสตร์เลยไปค้นข้อมูลเพิ่มว่าคณะนี้เรียนเกี่ยวกับอะไร พอศึกษาคร่าวๆ แล้วคิดว่าเข้าทางความสนใจของตัวเอง ด้วยคณะนี้ยังไม่มีเปิดตามมหาวิทยาลัยในจังหวัดใกล้เคียง ฮารีสกลัวว่าจะหาที่เรียนไม่ได้เลยรีบยื่นประวัติผลงานที่เคยทำกิจกรรมในช่วงมัธยมปลาย เพื่อยื่นสอบเข้าเรียนสาขารัฐศาสตร์ วิทยาลัยนวัตกรรมและการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ในปีแรกของชีวิตการเรียนในมหาวิทยาลัยของฮารีสเป็นไปอย่างเคว้งคว้างและเหนื่อยหน่าย ความรู้สึกอิ่มตัวกับการทำกิจกรรม เหมือนอาการตกค้างจากประสบการณ์ที่เคยทำโครงการในช่วงมัธยมปลายยังไม่หาย เลยทำให้ฮารีสไม่เอากิจกรรมอะไรเลย ในขณะเดียวกันเรื่องการเรียนก็ไม่ได้มีไฟอะไรเลยเพราะยังจับจุดการเรียนยังไม่ได้ ในปีที่ 2 นั้นเองอาจารย์เริ่มเห็นแววและเชื่อมั่นอะไรบางอย่างในศักยภาพของฮารีส จึงชวนให้เข้าค่ายเข้าร่วมโครงการค่าย NBI YOUTH (เยาวชนสร้างชาติ) ที่รวมตัวแทนเยาวชนที่เป็นนักเรียน นักศึกษาทุกระดับทั่วประเทศมาเข้าค่าย เพื่อร่วมและเปลี่ยน สร้างแนวคิดในการฝึกทักษะและส่งเสริมในการเป็นคนดี คนเก่ง คนกล้า เพื่อสามารถเป็นผู้นำที่ดีในอนาคต เมื่อกลับมาจากออกค่าย อาจารย์ก็ชักชวนให้เปิดชมรมที่ได้แนวคิดมากจากการเข้าค่าย

ต่อให้ฮารีสเหนื่อยหน่ายหมดไฟกับการเป็นนักกิจกรรมแค่ไหนก็ตาม แต่แววความเป็นผู้นำก็ส่งประกายให้เห็นและทำให้ฮารีสต้องกลับมาในเส้นทางนักกิจกรรมอีกครั้งในช่วงเรียนมหาวิทยาลัย วันแรกของการเปิดรับสมัครสมาชิกชมรม มีคนสนใจสมัครถึง 300 คน ฮารีสรู้สึกตกใจกับจำนวนสมาชิกที่สมัครเข้าร่วมชมรมและไม่เคยต้องจัดการคนเยอะขนาดนี้ อาจารย์จึงส่งรุ่นพี่ชั้นปีที่ 2 มาช่วยทำชมรม โดยฮารีสรับหน้าที่เป็นประธานชมรม ต่อมาในช่วงปีที่ 2 ก็ได้ลงสมัครประธานนักศึกษาปีที่ 2 และได้รับเลือกเป็นตำแหน่งรองประธาน

ความรู้และทักษะติดตัวจากการทำโครงการ Active Citizen ยังคงติดตัวฮารีสมาให้ได้หยิบจับ เลือกมาใช้ให้เหมาะกับสถานการณ์ ในการทำกิจกรรมชมรมในมหาวิทยาลัยที่ต้องพบความยากและท้าทายของงานอีกรูปแบบและสเกลที่ใหญ่ขึ้น โดยเฉพาะการบริหารจัดการ และการเขียนโครงการเพื่อขอทุนมาทำงาน แต่ก็ได้รับการช่วยเหลือและแนะนำจากรุ่นพี่ช่วยสนับสนุนด้วย บวกกับใช้ทักษะที่เคยใช้ในการทำโครงการ เช่น การระดม รับฟังความคิดและพัฒนาไอเดีย คัดเลือกโครงการที่ใช้การวิเคราะห์ประเมินความเป็นไปได้ คิดวางแผนงานจนสามารถเป็นโครงการเพื่อยื่นของบมาทำกิจกรรมในชมรมได้ “กระบวนการที่ได้เอามาใช้ คือ เราต้องฟังความคิดเห็นเยอะมาก และยิ่งงานชมรม หลัก ๆ ก็คือให้น้องทำร่างโครงการมาให้ เหมือนน้องในชมรมมาขายความคิดให้ผม ผมชอบจังหวะที่คนเทความคิด มากองรวมกัน ผมชอบฟังคนอื่นนะ ผมเรียนการเมือง ผมก็ให้ทุกคนโหวต ส่วนมากคือ ผมอยากฟังคนอื่น” ฮาริสเล่าถึงชีวิตการทำกิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัยที่ค่อนข้างราบรื่นกว่าตอนทำกิจกรรมอยู่มัธยมปลาย โดยเฉพาะเรื่องของทักษะความถนัดของทีมและการจัดเวลาในการทำโครงการ

ฮารีสค่อนข้างสนุกกับชีวิตการเรียนมหาวิทยาลัยในสาขาที่เกี่ยวกับการเมืองการปกครองคู่กับการทำกิจกรรมชมรมที่สอดคล้องกับสิ่งที่เรียน ทำให้ฮารีสสามารถเชื่อมโยงและจากประสบการณ์การออกค่าย ได้เดินทางไปหลายภาคหลายจังหวัด สิ่งหนึ่งที่ชอบทำมากเวลาไปออกค่าย คือ การออกไปพูดคุยกับชาวบ้าน เพื่อรับฟังมุมมองของคนที่ถือเป็นเสน่ห์ของการทำค่าย โดยเฉพาะกับผู้ใหญ่บ้านหรือผู้นำชุมชนในระดับต่างๆ เพื่อเข้าใจความต้องการของคนทำงานภาคการปกครองส่วนท้องถิ่นมากขึ้น

ช่วงของการฝึกงานฮารีสได้มีโอกาสฝึกงานกับกรมที่ดินที่ได้มีโอกาสได้แสดงความรู้ความสามารถอย่างเต็มที่ และได้ถูกชักชวนเพื่อสอบเข้าทำงานรับราชการกับหน่วยงานดังกล่าว ฮารีสได้ลองคิดทบทวนจนได้ข้อสรุปว่าสิ่งนี้ยังไม่ใช่ทางของตัวเอง และมองว่าความมั่นคงสำหรับฮารีสไม่ใช่การทำงานเป็นข้าราชการ แต่สามารถสร้างความมั่งคงทางอื่นได้ อยากเก็บเกี่ยวและหาประสบการณ์อื่นก่อน แต่ในอนาคตอีกสัก 10 ปี อาจจะเดินทางเข้าสู่เส้นทางที่ทำงานสายราชการ

เส้นทางในอนาคต

ตอนนี้ฮารีสเพิ่งเรียนจบ ซึ่งอยู่ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้ไม่สามารถหางานและออกไปทำกิจกรรมข่างนอกได้ ฮารีสเลยอยู่บ้านช่วยแม่กรีดยาง ด้วยความรักในการออกกำลังกายและซื้อรองเท้าวิ่งมาใช้เองอยู่แล้วเลยลองโพสต์ลงขายในเฟสบุ๊ค ปรากฏว่าคนสนใจซื้อกันเยอะ เลยใช้เวลาว่างที่เหลือในการหารองเท้ามาขายเกิดรายได้ในช่วงพักหลังจากเรียนจบ

ฮารีสได้เล่าถึงอีกหนึ่งฝันในด้านกิจกรรมที่อยากจะจัดเกี่ยวกับประเด็นการเมือง โดยอยากบ่มเพาะและชักชวนเด็กและเยาวชนจากทั่วทุกประเทศมาเข้าค่ายเพื่อเดินทางไปแต่ละที่แลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิด สร้างความตระหนักต่อประเด็นปัญหาที่เกิดในชุมชนของตัวเอง และรับรู้ถึงประเด็นปัญหาของคนพื้นที่อื่นที่กำลังเผชิญ โดยชี้ให้เห็นว่าปัญหาใกล้ตัวเหล่านี้เชื่อมโยงกับการเมืองทั้งสิ้น และการเมืองนั้นเป็นเรื่องใกล้ตัว เช่น ปัญหาเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ ปัญหาภัยแล้ง ปัญหาและพวกเราจะมีส่วนในการแก้ปัญหาอย่างไร “ผมอยากทำกิจกรรมเกี่ยวกับประเด็นการเมือง เพราะว่าชาวบ้านยังไม่รู้ ว่าการเมืองคืออะไร หลายคนคิดว่าการเมืองเป็นเรื่องไกลตัว ทั้งที่จริงมันใกล้ตัว ให้ได้มีการแลกเปลี่ยน เช่น ธรรมชาติพื้นที่แต่ละพื้นที่มันไม่เหมือนกัน มีปัญหาต่างกัน อย่างภาคอีสานมีเรื่องความแห้งแล้ว แต่ได้มาเที่ยวภาคใต้ได้เห็นปัญหาเกี่ยวกับทรัพยากรสัตว์น้ำหรือการประมง”

พร้อมกันก็อยู่ในช่วงที่กำลังตัดสินใจว่าจะทำงานต่อหรือเรียนต่อทางด้านจิตวิทยา หรือรัฐศาสตร์การปกครองระหว่างประเทศดี ในความสนใจทางด้านจิตวิทยานั้น ส่วนหนึ่งฮารีสได้แรงบัลดาลใจและรู้สึกชอบจากการที่เคยใช้ทักษะนี้มาตั้งแต่ทำโครงการตอนอยู่มัธยมปลายและต่อเนื่องมาจนถึงมหาวิทยาลัย ที่ได้มีกิจกรรมที่ทำให้ฮารีสได้รับฟังผู้อื่นเสมอเพราะได้รับฟังในฐานะการบำบัดรับฟังปัญหา ช่วยคิดและแก้ปัญหา พร้อมเปิดรับมุมมองความคิดจากคนอื่นด้วย ทั้งหมดนี้ฮารีสหวังที่จะนำไปสานฝันต่อ ทำความฝันที่อยากสร้างการเปลี่ยนแปลงเดินทางฝันในสายการเมืองอย่างที่ได้เรียนมา โดยวางแผนจะลงสมัครเล่นการเมืองท้องถิ่นในอีก
4 ปีข้างหน้า“อีกอย่างที่อยากเรียนต่อคือ รัฐศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอีกใบ รู้ให้ลึกไปเลย เพราะอีก 4 ปี ผมจะลง อบต. นะ”ฮารีสเล่าด้วยน้ำเสียงมุ่งมั่นมีพลังกับแผนในอนาคต