พัชรีภรณ์ ติ้งหวัง : โครงการแนวทางการสร้างสื่อการเรียนรู้ประวัติบ้านนาพญา พญางอกเขี้ยว นาสี่บิง และแหลมตันหยงกุโบว์ให้กับเยาวชน ต.ละงู อ.ละงู จ.สตูล

“ถ้าเจ้าของบ้านไม่รู้จักชุมชนตัวเองแล้วจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนภายนอกได้ อย่างไร”
.
จากจุดเริ่มต้นที่อยากเห็นคนภายนอกรู้จักชุมชนของตนเองมากขึ้น นำมาซึ่งการค้นคว้าหาประวัติความเป็นมาของพื้นที่ พัฒนาเป็นองค์ความรู้ที่ไม่เพียงสร้างความภูมิใจให้กับเยาวชนกลุ่มนี้ ยังเปลี่ยนมุมมองความคิดของพวกเขาและคนในชุมชนด้วย
ความท้าทายในการทำโครงการของกลุ่มเยาวชนบ้านนาพญา ที่ทำให้พวกเธอลุกขึ้นมาทำโครงการเพื่อสืบค้นรากเหง้าความเป็นมาของชุมชนตนเอง เพื่อเป็นข้อมูลให้พวกเธอสามารถถ่ายทอดเรื่องราวความภาคภูมิใจของชุมชนตนเองให้กับคนภายนอกได้รับฟังและเห็นคุณค่าของประวัติศาสตร์ชุมชนเฉกเช่นพวกเธอ

หัวใจสำคัญของการทำงานเป็นทีมสำหรับหนูคือการ พูดคุย”
เพราะประสบการณ์ที่สอนให้นุชเรียนรู้และเข้าใจว่า หัวใจสำคัญของการทำงานเป็นทีมสำหรับเธอคือการพูดคุย ไม่ควรเก็บปัญหาทุกอย่างไว้ที่ตัวเอง เพราะเชื่อว่าการเปิดอกพูดคุยถึงปัญหาให้กับทีมฟังจะทำให้งาน หรือปัญหานั่นคลี่คลายไปได้ ดีกว่าเก็บไว้คนเดียวเพราะไม่ได้ช่วยให้ปัญหานั้นหายไป
นอกจากนี้นุชยังรู้จักเทคนิควิธีการวางตัวต่อหน้าผู้ใหญ่ การเข้าหาผู้ใหญ่ซึ่งเธอบอกว่าเป็นประโยชน์สำหรับเธอในการอยู่ร่วมกันในสังคม

“อยากให้คนอื่นรู้จักหมู่บ้านเรา แต่เจ้าของบ้านยังไม่รู้จัก เลยเป็นแรงบันดาลใจให้หนูรู้สึกอยากรู้จักบ้านตัวเองให้มากกว่าเดิมค่ะ”
ไหม เกิดและเติบโตที่บ้านนาพญา อยากให้คนข้างนอกรู้จักชุมชนของตัวเองและเข้ามาเที่ยวชุมชนของตนเอง แต่เกิดปัญหาที่ว่าเจ้าของชุมชนอย่างตัวไหมเองกลับยังไม่รู้จักประวัติของชุมชนตัวเองดีพอ ทำให้ไหมและเพื่อน ๆ ในทีมไม่รอช้าตัดสินใจทำโครงการนี้ขึ้น เพราะอยากสานต่อให้เด็กรู้จักว่านี่คือที่มาของบ้านเรานะ คือเราไม่อยากเห็นเด็กๆ ลืมหมู่บ้านของตัวเอง

เชื่อว่าหลังจากจบโครงการไหม นุช และเพื่อน ๆ ในทีมงานจะสามารถถ่ายทอด บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ของชุมชนให้คนภายนอกได้ฟังอย่างมั่นใจ และนำมาซึ่งความภาคภูมิใจในตัวเองที่รูและเข้าใจที่มาของชุมชนของตนเอง อีกทั้งยังถือเป็นช่องทางที่จะทำให้เกิดการตรวจทานข้อมูลของชุมชนอีกครั้งหนึ่งและยังเป็นการเปิดโอกาสให้ชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งนั่นหมายถึงการตระหนักในความเป็นเจ้าของประวัติศาสตร์ร่วมกัน โครงการดังกล่าวจึงไม่เพียงสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ให้กับท้องถิ่น แต่ยังสร้างเยาวชนที่มีศักยภาพเพื่อขับเคลื่อนสังคมคุณภาพต่อไป