พิเชษฐ์ เบญจมาศ : การพัฒนาคนคือ ‘งาน craft’ การศึกษาจึงต้องไร้พรมแดน

การพัฒนาคนคือ ‘งาน craft’ การศึกษาจึงต้องไร้พรมแดน: พิเชษฐ์ เบญจมาศ

เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดี

ภาพ เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา

  • การเรียนรู้แบบนี้การเลือกเป็นของเด็กๆ และพื้นที่เรียนรู้เป็นชุมชนของเขา เวลาที่เรียนรู้ก็เป็นเวลาจริงๆ ที่เขาอยู่ในชุมชน มีความรู้สึกจริงกับพื้นที่ กับผู้คน เรียนรู้กับมัน ซึมซับกับมัน แล้วก็เข้าใจมัน
  • ที่สำคัญคือ เขาได้เป็นคนออกแบบการเรียนรู้ โดยมีคนในชุมชนเป็นคุณครู ครูที่ว่าก็ตั้งแต่ คนขับรถรับส่งนักเรียน คุณแม่ ข้าราชการ ครู จนถึงผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน
  • น่าสนใจว่าคนออกแบบการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นห้องเรียนรู้ คิด ทำ ลงมือ สร้างการเรียนรู้อย่างไร เขาทำด้วยหัวใจหรือความเชื่อแบบไหน การจัดการเรียนรู้ในพื้นที่โดยคนในชุมชนมันเป็นอย่างไร รูปแบบการเรียนรู้แบบนี้ทำได้จริงหรือไม่ ชาวบ้านนี่หรือคือคนที่จะจัดการความรู้ให้กับลูกหลานในชุมชน ไม่ใช่คุณครู?

แก่นหลักและปรัชญาการศึกษา แน่นอนว่าหนึ่งในนั้นคือ ‘การพัฒนาคน’ และการพัฒนาคน คือ ‘งาน craft’

เขาวิ่งเล่นที่ไหน อาหารที่เขากินมีที่มาที่ไปอย่างไร จินตนาการในชีวิตเขามาจากการได้เห็น ได้ยิน ได้ฟังเรื่องราวชีวิตของใครบ้าง ชุดคำถามแบบไหนที่เขาได้เจอในแต่ละวัน เขายึดถือเคารพใครในชีวิต

หากเชื่อเช่นนี้ การเรียนรู้ในรั้วโรงเรียนย่อมไม่ใช่คำตอบเดียว มองให้รอบและเขียนแผนเตรียมมนุษย์คนหนึ่งให้เติบโตสมบูรณ์พร้อมตลอดหนึ่งช่วงชีวิต มันคืองาน craft คือการรังสรรค์ปั้นแต่งโดยสิ่งแวดล้อม โดยคนที่ห้อมล้อม โดยความรู้ที่เขาได้รับตลอดการเปลี่ยนผ่านเติบโต พูดให้ตรงไปตรงมา… การเติบโตของมนุษย์หล่อหลอมจากทุกคนและทุกอย่างในชุมชน นี่คือเรื่องเดียวกับการจัดการศึกษา

หนึ่งในนักออกแบบการเรียนรู้ นักจัดการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ คือ พิเชษฐ์ เบญจมาศ ผู้ประสานงานโครงการสตูล active citizen โครงการที่สนับสนุนการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ (Project Based Learning) เชื่อว่าการเรียนรู้โดยเฉพาะการพัฒนาคน การสร้างทักษะ (Skill) และลักษณะนิสัย (Character) ไม่ได้เกิดแค่ในรั้วโรงเรียน แต่ผ่านการทำงานที่มาจากความสนใจใคร่รู้ของบุคคลนั้นเอง งานที่กำหนดช่วงเวลาและออกแบบให้เจอเรื่องท้าทาย แก้ปัญหา และเรื่องที่หยิบมาเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้นั้นเป็นเรื่องใกล้ตัวในระดับชุมชน รู้จักและรู้สึกกับเรื่องใกล้ตัว รู้ว่าตัวเองคือส่วนหนึ่งที่จะจัดการแก้ปัญหาได้ โดยมี ‘เมนเทอร์’ (Mentor) หรือคนที่ช่วยสนับสนุนการเรียนรู้เป็นคนในชุมชน ที่มักเรียกกันว่า โค้ช หรือ พี่เลี้ยง

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะเชื่อว่า “ทุกคนจัดการเรียนรู้ได้ และจัดได้ด้วยวิธีที่ไม่เหมือนกัน” พิเชษฐ์บอกกับเราตอนหนึ่งระหว่างนั่งคุยกัน

วันที่เราพบพิเชษฐ์คือวันสุดท้ายของงาน Showcase เด็กในโครงการ active citizen ปีที่ 2 หรืออาจจะบอกว่าคือวันแสดงงาน (present) หลังปิดโปรเจกต์ที่ตัวเองและเพื่อนศึกษามาเป็นเวลากว่า 6 เดือนเต็ม แต่ละคนศึกษาประเด็นที่ตัวเองสนใจแตกต่างหลากหลายกันไป บางกลุ่มศึกษาข้าวพันธุ์อัลฮัมดุลิลละห์ ข้าวพื้นเมืองจังหวัดสตูล ซึ่งเหลือคนปลูกน้อยรายแล้วในปัจจุบัน บางกลุ่มศึกษาประวัติศาสตร์(มลายู)ท้องถิ่นผ่านบ้านโบราณ บางกลุ่มลุยเรื่องการทำประมงพื้นบ้านผ่านอาชีพพ่อแม่ของพวกเขาเอง ความน่าสนใจของงานครั้งนี้คือ พวกเขาจัดแสดงงานเพื่อคืนความรู้ที่ศึกษามาให้กับชาวบ้านในพื้นที่เป็นเวลาถึง 15 วัน ผลัดกันไปนำเสนอ ณ สถานที่ที่ตัวเองศึกษา บ้างนำเสนอที่ป่าชายเลน บ้างไปที่นาข้าว บ้างไปที่บ้านโบราณ นับเป็นงาน Showcases ที่ราวกับการพาเที่ยวบ้านแต่มีความรู้หนุนหลังชั้นดี

น่าสนใจว่าคนออกแบบการเรียนรู้แบบนี้ คิด ทำ ลงมือ สร้างการเรียนรู้อย่างไร เขาทำด้วยหัวจิตหัวใจหรือความเชื่อแบบไหนกัน การจัดการเรียนรู้ในพื้นที่โดยคนในชุมชนมันเป็นอย่างไร หน้าตาแบบไหน รูปแบบการเรียนรู้แบบนี้ทำได้จริงหรือไม่ ชาวบ้านนี่หรือคือคนที่จะจัดการความรู้ให้กับลูกหลานในชุมชน ไม่ใช่คุณครู?

ก่อนว่ากันเรื่องการจัดความรู้โดยคนในชุมชน อยากให้พูดถึงกิมมิกการจัดแสดงงานของเด็กๆ หลังปิดโปรเจกต์ โดยปีนี้จัดกันถึง 15 วันและเป็นการจัดแสดงงานแบบออนไลน์ด้วย มีที่มาที่ไปอย่างไร

15 วันที่จัดงาน เราไปจัดเวทีในป่าชายเลน จัดใต้ร่มไม้ จัดในถ้ำ จัดในสถานที่ที่เราเรียกว่าเป็น ‘Unseen’ ของหมู่บ้าน แล้วก็เปิดพื้นที่แห่งนี้ให้สาธารณะได้เห็นผ่านการ live ในเฟซบุ๊ก ฟีดแบ็คที่กลับมา เราพบว่าคนในหมู่บ้านก็เริ่มสนใจ มองเห็นเด็กๆ ผ่านกิจกรรมเล็กๆ เหล่านี้ บางเวทีเรามีคนแค่ 5-6 คน กับเครื่องมือสื่อสารสมัยใหม่ที่สื่อสารเรื่องราวเหล่านี้ออกไป แต่เจตนาหลักๆ ของเวทีเราไม่ได้จัดเพื่อบอกว่าเราดีกว่าใคร หรือเราทำแล้วประสบความสำเร็จ ความสำเร็จไม่ได้วัดที่ตรงนี้ มันยังอีกยาวนานที่เราจะเริ่มเดิน แต่ว่านี่คือการวิ่งทางไกล ฉะนั้นนี่คือหนึ่งในเข็มไมล์ของการเดินทางไกลครั้งนี้

จัดเวทีกันที่ถ้ำ ในป่าชายเลน ที่เรียกว่าเป็น ‘Unseen’ ทำไมต้องไปจัดเวทีที่สถานที่เหล่านั้น

เพราะน้องๆ ศึกษาเรื่องราวเหล่านั้นที่สถานที่เหล่านั้นจริงๆ เมื่อศึกษาเรื่องถ้ำก็ควรจะไปที่ถ้ำ เพราะมันมีความรู้สึก มีความจริงอยู่ที่นั่น นี่คือสิ่งที่น้องๆ เขาเห็น ฉะนั้นเราอยากให้น้องๆ ได้สื่อสารเรื่องเหล่านี้โดยการเล่าในพื้นที่จริงๆ แล้วก็นำเรื่องราวเหล่านั้นออกมาสู่ผู้คนผ่านกระบวนการเรียนรู้

แต่สิ่งที่เราอยากนำเสนอไม่ใช่สิ่งที่น้องๆ ทำ แต่เป็นการเติบโตของน้องๆ จากการทำสิ่งเหล่านี้ เรื่องที่เราทำมันเป็นเรื่องไกลตัว เป็นเรื่องพื้นที่สาธารณะ เป็นเรื่องชุมชน เรื่องของหมู่บ้าน ประเด็นสำคัญไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงสิ่งเหล่านั้น แต่การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่สำหรับผมคือเราเจอวินัยที่ดีขึ้นของพวกเขา ความเอาใจใส่ ความรักต่อพื้นที่ การรู้จักเคารพคนอื่น นี่ต่างหากคือความสำเร็จของเรา

ทำไมโครงการนี้จึงออกแบบให้เด็กๆ ออกไปรู้นอกสถานที่ เอาเข้าจริงโรงเรียนก็ออกแบบให้ผู้เรียนได้ทัศนศึกษาหรือเรียนรู้นอกห้องเรียนเช่นกัน การเรียนรู้นอกห้องเรียนด้วยโค้ชซึ่งเป็นคนในชุมชนอย่างที่คุณว่ามันดีหรือแตกต่างอย่างไร

ต่างกันนิดเดียว การเลือกเป็นของเด็กๆ และพื้นที่เรียนรู้เป็นชุมชนของเขา เวลาที่เรียนรู้ก็เป็นเวลาจริงๆ ที่เขาอยู่ในชุมชน และไม่ใช่แค่ 8.00-16.00 น. วันจันทร์-ศุกร์ แต่อาจเป็น 6 โมงเย็น 2 ทุ่ม 3 ทุ่ม ในวันเสาร์-อาทิตย์ และการเรียนรู้แบบนี้เราเรียนรู้โดยใช้เงื่อนไขความจริง เราพบว่าความจริงสร้างการเจริญเติบโตให้กับเด็ก สร้างระเบียบวินัย สร้างความเข้าใจ สร้างความรู้จักกับสิ่งนี้

ถามว่าโรงเรียนทำไหม? ทำครับ แต่โรงเรียนใช้เวลาที่ไม่ปกติในการทำ แค่ช่วงกลางวันของวันจันทร์ถึงศุกร์ อาจไม่พอสำหรับการเรียนรู้ แม้จะมีเทคนิค มีกระบวนการที่ซับซ้อน มีระยะเวลา มีการโค้ชที่ดี แต่สิ่งที่หายไปคือความรู้สึกที่จริงกับพื้นที่ ความรู้สึกที่จริงกับผู้คน สิ่งที่มากกว่าสิ่งที่เด็กๆ ทำอยู่คือการลงไปสัมผัสความจริงเหล่านี้ แล้วก็เรียนรู้กับมัน ซึมซับกับมัน แล้วก็เข้าใจมัน ฉะนั้นการเรียนรู้แบบนี้ไม่จำเป็นต้องสำเร็จภายใต้เป้าประสงค์ของการไปทำนั่นนู่นนี่ อาจจะไม่สำเร็จเลยก็ได้ แต่เด็กๆ ได้เรียนรู้จากความผิดพลาด ได้เรียนรู้การทำงาน ได้เรียนรู้การอยู่กับคนอื่น และสำคัญมากกว่านั้นก็คือเขาได้เป็นคนออกแบบการเรียนรู้ โดยมีคนในชุมชนเป็นคุณครู และมากกว่านั้นคือไม่ใช่แค่ใครคนใดคนหนึ่งที่จะทำให้งานนี้สำเร็จ มันไม่มีซูเปอร์ฮีโร่ มีแต่ทีมอเวนเจอร์ซึ่งเราเรียกมันว่า X-Men ทุกคนเป็น X-Men ที่มีพลังพิเศษในตัวเองรอเวลาที่มารวมตัวแล้วก็ทำมันด้วยกัน

พอบอกว่าเด็กๆ เรียนรู้จากชุมชน พี่เลี้ยงก็คือคนในชุมชน พี่เลี้ยงเป็นใครบ้าง เค้าทำหน้าที่อะไร เค้าไม่ใช่ครูแต่สร้างการเรียนรู้อย่างไร

ครูในชุมชนมีตั้งแต่ คนขับรถรับส่งนักเรียน คุณแม่ ข้าราชการ ครู ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สิ่งที่เขาทำคือเขาใช้เวลาว่างจากอาชีพของเขามาสร้างการเรียนรู้ให้เด็กๆ หน้าที่แรกๆ ของพวกเขาเลยคือรวมตัวเด็กๆ ให้มาอยู่ในพื้นที่เดียวกันให้ได้ โดยเขาเป็นคนไปติดต่อกับผู้ปกครองบ้าง ไปชวนเด็กๆ บ้าง แต่สิ่งที่พิเศษมากคือเขาฟังเด็กๆ เขาเปิดโอกาสให้เด็กๆ มารวมกัน แล้วก็ค่อยๆ ชวนคุย ค่อยๆ ทำงานร่วมกัน สิ่งสำคัญก็คือว่าเราเห็นธรรมชาติอยู่อย่างหนึ่งคือ

ยิ่งพี่เลี้ยงของเด็กเปิดโอกาส รับฟัง พูดคุย ตั้งคำถามกับเขา แล้วให้เขาได้ทำด้วยตัวเองให้มากที่สุดนี่แหละที่จะเป็นสิ่งที่เด็กๆ ทำได้ดี เพราะถ้าโครงการไหนที่พี่เลี้ยงทนไม่ได้ จนลงมือทำให้ การเรียนรู้ของน้องๆ ก็จะลดลง ถามว่าผิดไหม ไม่ผิด แต่ประเด็นคือเราไม่เชื่อว่าในแต่ละชุมชนจะต้องมีพี่เลี้ยงคนเดียว ฉะนั้นเขาจึงมีเพื่อนที่ทำงานแบบนี้ร่วมกันในพื้นที่

กระบวนการที่ออกแบบให้เด็กๆ ไปเจอความจริงด้วยเงื่อนไขเวลาที่เป็นจริง คนออกแบบ ออกแบบกระบวนการไว้อย่างไรบ้าง

เหมือนจะออกแบบ แต่เราให้สิทธิ์เขารับฟังก่อนว่า ‘คุณทำอะไร’ แล้วค่อยลงไปช่วยถอดบทเรียน ช่วยวางแผน ซึ่งโดยส่วนตัวค่อนข้างไม่เชื่อในแผนที่รัดกุม แผนที่ละเอียดจนต้องทำตามทุกอย่าง เชื่อในเจตจำนงชัดเจน หมายถึงเป้าหมายที่ตรงและการวางแผนพอสมควร จึงลองทำแล้วมาสรุป แต่ยิ่งออกแบบให้รัดกุมเท่าไรก็จะยิ่งเป็นการมัดเขาแล้วเราจะทำอะไรไม่ได้เลย นี่คือสิ่งที่เรายืนยันว่ากระบวนการเรียนรู้ทั้งหมดไม่อยากจะรัดกุมมาก แต่ต้องรอบคอบ เราเชื่อวิธีนี้

หมายความว่าหน้าที่ของพี่เลี้ยงคือการช่วยถอดบทเรียนแล้วช่วยคืนความรู้แค่นั้นมั้ย? หน้าที่พี่เลี้ยง จริงๆ แล้วทำอะไรบ้าง

จุดไฟ จุดแรงบันดาลใจ ตั้งคำถาม ชวนเขาไปให้ไกลกว่าสิ่งที่เขาทำ ให้พลัง โอบกอดบ้างเวลาเขาเหนื่อย กอดปลอบโยนเป็นเพื่อน คือผมคิดว่ามันไม่ใช่เรื่องความรู้อย่างเดียว เป็นเรื่องของความรู้สึก เป็นเรื่องของความสำคัญ คือความเป็นพี่เป็นน้อง ทั้งหมดทั้งมวลคือเห็นว่านี่คือคนหนุ่มสาวที่จะเติบโตขึ้นและเขาก็เป็นเพื่อนเรา เป็นพี่เป็นน้อง

ดีไซน์วิธีการเรียนรู้ไว้หลวม แต่มันก็มีโครงใหญ่ของมันอยู่ใช่ไหมคะ อยากฟังว่าเวลาทำงานจริง เด็กที่เข้ามาทำโครงการจะเจอ จะเห็น จะทำอะไรบ้าง

ไทม์ไลน์การทำงานของน้องๆ 2 เดือนแรก จะใช้ไปกับการแสวงหาความรู้ในสิ่งที่เขาสนใจ การแสวงหาความรู้ก็ใช้ทั้งช่องทางที่เป็นความรู้เดิมที่หาได้จากโซเชียลมีเดียและหนังสือ น้องๆ จะต้องค้นมา แล้วก็ทำ ข้อมูลมาคุยกัน ต่อมาเขาต้องไปหาความรู้ที่ไม่มีในตำราหรือในสื่อแต่ต้องลงไปสัมภาษณ์ไปค้นหา ไปเจอผู้คน 2 เดือนแรกเราจะเคี่ยวกรำกับเรื่องนี้ ถามว่ามันสมบูรณ์แบบตามวิธีคิดนี้ไหม ไม่ครับ ในกระบวนการ RBM (Research, Development, Movement กระบวนการทำงานบนฐานการวิจัย วิธีการหลักที่โครงการ active citizen จังหวัดสตูลใช้ในโครงการพัฒนาเด็ก) R – Research มันไม่ได้จบใน 2 เดือน แต่ใน 6 เดือนที่เด็กๆ ใช้ทำงาน ก็ทำไปสรุปไป เรียนรู้ไป หาความรู้ไป วนอยู่เป็นลูปแบบนี้

กระบวนการที่ 2 เมื่อได้แผนที่น้องๆ อยากจะทำ ก็ลงมือปฏิบัติการเรียนรู้ ลงมือในสิ่งที่เขาอยากจะทำ ทำเสร็จสรุปบทเรียน แล้วก็สื่อสารกับผู้คนเพื่อขยายการเรียนรู้ต่อไป สิ่งที่เรามองต่อไม่ใช่แค่การสื่อสารเพื่อให้ประเด็นนั้นเดินต่อไปได้ แต่เป็นการสื่อสารเพื่อให้น้องๆ มีกำลังใจจะไปต่อ

ที่ว่า ‘ไม่ใช่แค่การสื่อสารเพื่อให้ประเด็นนั้นเดินต่อไปได้ แต่เป็นการสื่อสารเพื่อให้น้องๆ มีกำลังใจเพื่อจะไปต่อ’ สองอย่างนี้ต่างกันยังไงคะ?

ต่างกันนิดเดียวครับ ปกติเวลาเราสื่อสารเราจะคิดว่าจะต้องมีคนมาจัดการ มาช่วย แต่จริงๆ ไม่ใช่ครับ การทำโปรเจกต์ยาวนานแบบนี้ ระยะเวลาแค่ 6 เดือนดูเหมือนสั้น แต่สำหรับเด็กๆ กับการใช้เวลาว่างนั้นมันยาวนาน ต้องใช้เวลา ใช้กำลังใจ ใช้ความมุ่งมั่นสูงมาก สิ่งที่เขาต้องการคือจุดไฟให้เขาต่อ ให้เห็นว่าเรื่องที่เขาทำมีค่าและเขาเติบโตขึ้น มันไม่ใช่สิ่งของที่จับต้องได้ ไม่ได้เห็นได้ด้วยตาเหมือนไปทำเรื่องต้นไม้เห็นต้นไม้ ไปทำเรื่องภาพศิลปะเห็นศิลปะ แต่สิ่งที่เราเห็นมากกว่านั้นคือเขาเติบโตข้างใน และเรายืนยันว่าสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ต้องไปต่อ

พี่เลี้ยงคนอื่นเข้าใจตรงกันกับคุณไหมคะว่าต้องช่วยจุดไฟ ช่วยพาเขาไปสู่เป้าหมาย

เข้าใจตรงกันครับ แต่ทักษะเทคนิคอาจจะไม่เหมือนกัน ซึ่งเรายืนยันว่าไม่ต้องเหมือนกัน ทุกคนเป็นตัวของตัวเองทำในสิ่งที่ตัวเองเคยทำ สิ่งที่ตัวเองถนัดนั่นแหละ แต่สิ่งที่เราเปิดกว้างต่อก็คือว่าเปิดโอกาสเรียนรู้และยกระดับความรู้ตัวเองขึ้น เชื่อมโยงกับคนอื่นเพิ่มขึ้น จากที่เราเคยทำคนเดียว ต้องเชื่อมโยงกับผู้คน กับหน่วยงาน เชื่อมโยงเพื่ออะไร? ไม่ใช่เพื่อเรา แต่เพื่อไปส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ โดยไม่ต้องเปลี่ยนอะไร แค่ทำสิ่งที่คุณทำให้ดี ไม่ต้องมีมาตรฐานว่าต้องเป็นพี่เลี้ยงแบบนี้จึงจะเป็นพี่เลี้ยงได้ แล้วก็ยืนยันว่าไม่ต้องมีใครเปลี่ยนเป็นใคร เป็นตัวของคุณให้สุดไปเลย แล้วก็เคารพกัน ทำงานด้วยกัน

จริงๆ การเป็นพี่เลี้ยงในโครงการแบบนี้ ยากเหมือนกันนะคะ ต้องพาไปเจอสถานการณ์จริง ต้องจุดไฟการเรียนรู้ ต้องรับฟังเป็น สนใจว่าคุยกันในวงพี่เลี้ยงอย่างไรว่าพี่เลี้ยงต้องมีคาแรคเตอร์แบบไหน ทำยังไงให้เด็กยังอยากเรียนรู้ ทำโปรเจกต์จนจบ สำเร็จ

เรามีการประชุมโครงการพี่เลี้ยง เวลาลงพื้นที่เราจะคุย 2 รอบ คุยกับเด็กๆ ด้วย คุยกับพี่เลี้ยงด้วย ถามว่าคนที่เรียนรู้มากที่สุดในโปรเจกต์นี้คือใคร ไม่ใช่เด็ก แต่เป็นพี่เลี้ยงของพื้นที่ เพราะคนเหล่านี้เขามีจิตอาสา มีจิตสาธารณะที่จะสร้างการเรียนรู้ให้เด็กๆ ในชุมชน และอานิสงส์แบบนี้มันนำไปสู่การทำงานในมิติอื่นๆ

ที่ว่าคนที่ได้ไม่ใช่แค่เด็ก แต่เป็นพี่เลี้ยงชุมชน อยากรู้ว่าในภาพใหญ่ อยากให้โครงการที่ทำงานกับเด็กนี้ ทำงานกับคนในชุมชนอย่างไร ภาพใหญ่มันคืออะไร

ภาพใหญ่ก็คือทุกวันนี้การพัฒนาท้องถิ่นมันอยู่กับคนรุ่นก่อนมากเกินไป ขึ้นอยู่กับผู้ใหญ่ คนที่อายุ 40+ คนที่เป็นข้าราชการ สิ่งที่เห็นการขยับครั้งสำคัญคือมันมีเด็กๆ อยู่ในหมู่บ้านด้วยนะ มีเยาวชนที่เขาทำได้มากกว่าการไปโรงเรียน เด็กเหล่านี้ทำอะไรได้มากกว่าไปโรงเรียนตอนเช้าแล้วกลับบ้านตอนเย็นมาเล่นเกม เดิมเขาคิดว่าเด็กทำได้แค่นั้น อย่าใส่ใจเรื่องหมู่บ้าน เรื่องชุมชน แค่ตั้งใจเรียนไปเถอะ เขาก็เป็นห่วงว่าเราจะเอาตัวไม่รอดจากการทำอะไรแบบนี้ ผมว่าวันนี้โลกวันนี้มันเปลี่ยนไปเยอะ คนเริ่มเข้าใจสิ่งเหล่านี้มากขึ้น

เด็กไม่ได้ทำได้แค่ไปโรงเรียนแล้วก็กลับบ้าน ไม่ต้องรอจนเรียนจบแล้วจึงค่อยเปลี่ยนแปลงชุมชน เปลี่ยนแปลงสังคม เปลี่ยนแปลงตัวเองได้ เด็กสามารถไปโรงเรียนและทำอะไรได้มากกว่านั้น ทำได้ทั้งที่บ้านตัวเองและบ้านเพื่อน ข้ามตำบล ข้ามอำเภอไปช่วยเพื่อนได้ นี่คือสิ่งที่เราเห็นในศักยภาพของคนหนุ่มสาว นี่คือคนหนุ่มสาวที่มีพลัง สำหรับผม การเจอกันในวัยหนุ่มสาวมีค่าที่สุด เราไม่รู้ว่าสตูลจะเปลี่ยนได้จากงานครั้งนี้ไหม นั่นไม่ใช่ความสามารถของเราที่จะล่วงรู้ได้ แต่ประเด็นคือเราได้ทำลงไปแล้ว เราได้ขับเคลื่อนไปแล้ว สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็ปล่อยให้มันเติบโต ผมบอกน้องๆ ตลอดว่าอีก 10 ปีคงไม่สามารถมาขับรถลงพื้นที่ 15 วันแบบนี้ มันไม่ไหวแล้ว แต่ว่าสิ่งที่เราอยากเห็นคือเมล็ดพันธุ์เหล่านี้คุณเอาไปเลย

เห็นการงอกงามหรือเห็นการเปลี่ยนแปลงในตัวเด็กๆ อย่างไรบ้าง

เห็นการงอกงามจากตัวของบุคคล และที่มากกว่านั้นคือมันถูกแบ่งไปยังเพื่อนๆ แบ่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แล้วก็ไม่มีใครรู้สึกว่าตัวเองเด่นกว่าใคร หรือตัวเองด้อยกว่าใคร ทุกคนช่วยกัน อันนี้คือความสนุกที่เราเจอว่าเราอยากเห็นการเติบโตของกันและกัน อาจจะฟังดูโรแมนติกไป แต่บางมุมมันก็ต้องโรแมนติกเพื่อที่จะไปต่อได้

ถ้าเราไม่ทำแบบนี้กับเด็ก กับชุมชน คิดว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น

ก็คงไม่เกิดอะไรขึ้นครับ ถ้าเราปล่อยก็คงเกิดอย่างอื่น แต่วันนี้เราได้ทำแล้วมันเกิดขึ้นแล้ว เกิดโอกาส เกิดคน เกิดการรวมตัว เกิดการสื่อสาร เกิดการขับเคลื่อนคนหนุ่มสาว เรื่องเหล่านี้คนมักจะมองว่ามันยากนะ ส่วนตัวผม 3 ปี 2 ซีซัน มันใช้พลัง การทำงานกับคนหนุ่มสาวนี่มันใช้อารมณ์ มันใช้ความจริง มันใช้พลังมากกว่าการทำงานที่แค่การเรียนมาตั้ง แต่การสร้างการเรียนรู้กับผู้คนมันใช้ข้างใน เวลาเราลงไปมันใช้ข้างในมากกว่า เวลาเราทำงานกับหนุ่มสาว 100 คน มันใช้พลังทั้งหมดเต็ม 100 ที่จะต้องสร้างการเรียนรู้ร่วมกัน แต่ความมหัศจรรย์ก็คือพวกเขาก็คือแบตเตอรี่ มันเลยทำให้ฟันเฟืองแห่งการเรียนรู้มันยังทำงานต่อ แล้วเราก็สามารถที่จะไปด้วยกัน

‘การศึกษาอยู่ในชุมชน เพราะมีคุณครูอยู่เพียบเลย’ พอได้ยินประโยคนี้แล้วนึกถึงอะไรบ้าง

การศึกษาไม่มีพรมแดนครับ การศึกษาต้องไร้พรมแดน ต้องใจกว้างพอที่จะเปิดพรมแดนทุกอย่างแล้วก็ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่จำกัดนิยามว่าต้องเป็นแบบไหน นี่คือการศึกษา

พอเกิดโควิด-19 ทุกคนก็คาดหวังว่าโรงเรียนจะต้องถูก disrupted แน่เลย ส่วนหนึ่งมองว่าการเรียนรู้ ชุมชนจะเป็นคนจัดการเรียนรู้ด้วยตัวเองไม่รอโรงเรียน ไม่ต้องรอให้เด็กเข้าไปเรียนที่รั้วโรงเรียน ในฐานะคนหนึ่งที่ทำงานการเรียนรู้โดยชุมชนเพื่อเด็กในชุมชน คุณมีความเห็นต่อเรื่องนี้มั้ย

กระบวนการเรียนรู้ในชุมชน กระบวนการเรียนรู้ในครอบครัว กระบวนการเรียนรู้ในสังคม เกิดขึ้นมานานแล้ว เพียงแต่ว่ามันไม่มีพื้นที่การแสดงตัวแล้วก็ถูกละเลยไปนาน เพียงแต่สิ่งที่เกิดขึ้น ณ วันนี้ มันทำให้เราเห็นชัดขึ้นว่าการศึกษาไม่ได้อยู่แค่เพียงในรั้วโรงเรียน ไม่ได้อยู่ในมือกระทรวงศึกษาธิการ ไม่ได้อยู่ในอำนาจรัฐบาล ไม่ได้อยู่ภายใต้ความคิดของใคร แต่การศึกษาเกิดขึ้นทุกหนแห่ง ในท้องถิ่น ในท้องที่ ในผู้คน เขาศึกษาอยู่ทุกเมื่อ สิ่งที่ผมอยากพูดคือมันไม่ได้เกิดขึ้นแค่ที่สตูล ที่ active citizen แต่มันเกิดขึ้นในครอบครัวบางครอบครัว มันเกิดขึ้นในเด็กบางคนที่กำลังดูการ์ตูน Marvel อยู่ กำลังอ่านนวนิยายบางเรื่องอยู่ มันเกิดขึ้นแล้วมันเปลี่ยนแปลงข้างใน

สิ่งที่เราทำมันไม่ได้พิเศษอะไรมากกว่าสิ่งที่คนอื่นทำหรอก เพียงแต่ว่ามันเป็นโอกาสของเราที่ได้ลงมือทำสิ่งนี้ ที่ได้มาขับเน้นให้มันเด่นชัดขึ้น

อ่านบทความต้นฉบับ