สุวัลยา ยาหยาหมัน : บทสัมภาษณ์เยาวชนเด่น​โครงการสืบสานภูมิปัญญาจักสานเตยหนามสู่การใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันของกลุ่มเยาวชนบ้านนาพญา

โครงการสืบสานภูมิปัญญาจักสานเตยหนามสู่การใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันของกลุ่มเยาวชนบ้านนาพญา ม.8 ต.ละงู อ.ละงู จ.สตูล


ชื่อเยาวชน : สุวัลยา ยาหยาหมัน ชื่อเล่น ก๊ะ

อายุ : 21 ปี

ระดับการศึกษา : ปวส.ปีที่ 2 สาขาการบัญชี

สถานที่ศึกษา : วิทยาลัยการอาชีพละงู



ถาม : ปีที่ 1 ทำโครงการเกี่ยวกับอะไร

ตอบ : ทำเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ สืบสานประวัติศาสตร์บ้านนางพญา


ถาม : ปกติเคยทำโครงการหรือว่ากิจกรรมอะไรกับชุมชนแบบนี้ไหม

ตอบ : ปกติไม่เคยทำค่ะ จะเรียนอย่างเดียว


ถาม : ลองเล่าให้พี่ฟังหน่อยว่าก่อนมาทำโครงการเมื่อปีที่หนึ่ง ถ้าไม่ได้ทำโครงการเราใช้ชีวิตในหนึ่งวันของเราทำอะไรบ้าง

ตอบ : วันจันทร์-ศุกร์ ตื่นเช้าไปโรงเรียนกลับจากโรงเรียนก็ทำการบ้าน บางครั้งไปอ่านหนังสืออัลกุรอานอาหรับ ตอนค่ำกลับมาเล่นโทรศัพท์ชั่วโมงหนึ่งแล้วก็นอน เสาร์-อาทิตย์ก็ทำการบ้าน


ถาม : ได้ไปรวมกลุ่มกับเพื่อนในหมู่บ้านบ้างไหมก่อนหน้านี้

ตอบ : ไม่เลยค่ะ ไม่ค่อยสนิทกับเพื่อนในหมู่บ้าน


ถาม : ปกติเรามีนิสัยอย่างไร

ตอบ : เป็นคนเงียบ ไม่คุยกับคนอื่นกับผู้ใหญ่ จะพูดกับเด็ก ๆ ส่วนมากอายุประมาณหลาน น้อง รุ่นเดียวกันจะไม่ค่อยสนิทหรือพูดคุยกัน


ถาม : ทำไมเราถึงเลือกที่จะไปพูดกับน้องตัวเล็ก แต่ไม่คุยกับเพื่อนรุ่นเดียวกัน จริงๆ น่าจะคุยกันรู้เรื่องกว่าไหมรุ่นเดียวกัน

ตอบ : เหมือนกับในวงเครือญาติ หรือว่าบ้านใกล้เคียงจะไม่มีรุ่นราวคราวเดียวกัน สมมุติก๊ะอยู่ ม. 6 จะมีม. 3 ม. 2 อะไรแบบนั้นมากกว่าเลยได้คุยกับเขามากกว่า มันสนุกไปอีกแบบเราไม่ต้องมานั่งเครียดเรื่องการบ้าน พอบางครั้งเราคุยรุ่นเดียวกันเขาจะถามว่าทำการบ้านหรือยัง เรียนอะไรวันนี้ แต่ถ้าคุยกับน้องจะกินข้าวหรือยัง ไปเล่นที่ไหนดี


ถาม : ในหมู่บ้านเราอาจจะไม่ได้ทำกิจกรรมอะไร แต่ถ้าในโรงเรียนเราเป็นเด็กกิจกรรมไหม

ตอบ : ตอน ม. 5-6 เป็นสภานักเรียน ทำกิจกรรมทุกอย่างของโรงเรียน ขึ้นนำร้องเชิญธงชาติ ประชาสัมพันธ์ตอนเช้าหรือมีข่าวครูให้ประชาสัมพันธ์บางครั้งก็ทำ


ถาม : เป็นคนขี้อายไหม

ตอบ : จริงๆ เป็นคนขี้อายแล้วไม่ค่อยพูดกับคนอื่น กับครูก็ไม่ค่อยพูด ไม่ค่อยกล้า


ถาม : แต่ว่าเราก็ทำกิจกรรมในโรงเรียน

ตอบ : บางทีครูที่สนิทตั้งแต่ ม.1 เขาพูดกับเรานำเราพูด แต่บางทีเขาเฉยๆ กับเด็ก เราก็ไม่กล้าเข้าไปพูดไปถามเด็ก จะพูดเฉพาะคนที่เราสนิท


ถาม : ถ้าเป็นความสัมพันธ์กับคนในชุมชน เป็นอย่างไรบ้าง เรารู้จักคนในชุมชน มากน้อยแค่ไหนถ้าให้ประเมินก่อนหน้านี้

ตอบ : ก่อนหน้านี้ประชาชนทั่วไปก็รู้จักแค่ญาติกัน คนอื่นนอกจากนั้นก็ไม่ค่อยสนิท ไม่ค่อยพูดเลย แม้แต่นายบ้านบางครั้งก๊ะยังไม่รู้จักเลยว่าคนไหน ก๊ะไม่สนใจคนในหมู่บ้านเลยก็ว่าได้


ถาม : ที่เราบอกว่าเราเล่นมือถือหนึ่งชั่วโมง ส่วนใหญ่ที่เราเล่น เราเล่นอะไร

ตอบ : อ่านนิยายในเว็บตูน เพราะว่าชอบอ่านนิยาย


ถาม : เฟสบุ๊ค ไลน์เราเล่นปกติไหม

ตอบ : เล่นปกติค่ะ แต่ไลน์ไม่ค่อยเล่น


ถาม : ทำไมเราชอบอ่านนิยาย

ตอบ : ทำให้เรามีจินตนาการ


ถาม: ส่วนใหญ่นิยายที่ชอบอ่านเป็นแนวไหน

ตอบ : แนวตลก เวลาอ่านก๊ะจะอ่านเนื้อเรื่องจบก่อนแล้วค่อยไปอ่านชื่อเรื่อง


ถาม : อันนี้ก็คือชีวิตประจำวันก่อนที่จะมาทำโครงการ คราวนี้แล้วใครเป็นคนมาชวนก๊ะ หรือว่าก๊ะรู้มาจากไหนว่ามีโครงการนี้อยู่ในตอนปีหนึ่ง

ตอบ : มีญาติลูกพี่ลูกน้องเขามาชวนว่ามีโครงการเข้ามาในหมู่บ้าน มาทำด้วยกันไหม ลองดูไหม ก๊ะกำลังจะจบม.6 แล้ว เลยคิดว่าลองหาประสบการณ์ด้านนอกดูก็เข้ามาทำ


ถาม : ไปได้ยินคำพูดอะไรของเขาถึงทำให้เรารู้สึกสนใจอยากจะมาทำโครงการนี้

ตอบ : เขาบอกว่าโครงการนี้มีงบประมาณให้ทำโครงการ ไม่ใช่จะได้กันง่ายๆ เขาเลือกมาถามเรา เราจะปฏิเสธเขาก็ไม่ได้ เขาบอกว่าลองมาทำดูไหม เดี๋ยวช่วย ๆ กัน ไม่ใช่ทำแค่สองสามคนแต่ว่าเราต้องช่วยกันทำ


ถาม : แล้วเราถามเขากลับไหมหรือว่าฟังอย่างเดียวแล้วจินตนาการตามเขา

ตอบ : ฟังอย่างเดียวแล้วเข้ามาทำเลยค่ะ


ถาม : แล้วตอนที่ฟังเรารู้ไหมว่าเป็นโครงการระยะยาว เกือบปี เราคิดไหมว่าเป็นโครงการกี่เดือน

ตอบ : คิดว่าจะเป็นโครงการระยะสั้น ๆ ครึ่งปี เจ็ดเดือนประมาณนั้น เลยมาเข้าร่วมเพราะว่าตอนนั้นจะเทอมสองแล้ว


ถาม : ตอนที่เราตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ ก๊ะคาดหวังไหมหรือว่าคิดไหมว่าอยากได้ความรู้หรืออยากพัฒนาอะไรในตัวเองถึงตัดสินใจมาเข้าร่วมโครงการนี้ในตอนนั้น

ตอบ : ตอนนั้นไม่คาดหวังอะไรเลย ไม่รู้เลยว่าโครงการนี้เป็นอย่างไร เลยเข้ามาแค่แบบพี่เขาชวนไม่ได้หวังกับตัวเองไว้มาก ไม่หวังว่าตัวเองจะพัฒนาเรื่องนั้นเรื่องนี้ เข้ามาทำดู ลองดูแค่นั้นเอง


ถาม : เราเคยทำโครงการอะไรแบบนี้ไหม

ตอบ : ไม่เคยทำเลยค่ะ นี่เป็นครั้งแรก


ถาม : เราทำกับคนในหมู่บ้านเดียวกันใช่ไหม ตอนนั้นเพื่อนคนอื่น ๆ เรารู้จักไหม

ตอบ : รู้จักค่ะ


ถาม : พอมารวมทีมจะถึงขั้นตอนที่คุยกันว่าจะทำโครงการอะไร ลองเล่าที่มาให้ฟังได้ไหมว่าในตอนที่ประชุมหาข้อสรุปว่าจะทำโครงการอะไร ตอนนั้นบรรยากาศเป็นอย่างไรเราพูดคุยกันอย่างไรบ้าง

ตอบ : ตอนนั้นมีสามหัวข้อที่อยากทำคือ สาหร่ายพวงองุ่น และประวัติศาสตร์บ้านนาพญา สถานที่ท่องเที่ยวว่าบ้านเรามีสถานที่ไหนสำคัญบ้าง ตอนนั้นในแกนนำมี 5 คน มีพี่เลี้ยง 2 คนพวกเรามาถามหัวข้อแล้วช่วยกันโหวตว่าเราจะทำอะไรดี แล้วเพื่อนบอกว่าสาหร่ายพวงองุ่นปีหนึ่งมีแค่ 1-2 เดือนช่วงเดือนเมษา ประวัติศาสตร์บ้านนาพญามีผู้ใหญ่เริ่มทำไว้แล้ว พอถามด้านนอกเขาบอกว่าบ้านเราอยู่ตรงไหน นาพญาอยู่ตรงไหนบางคนไม่รู้จัก พวกเราบอกว่าเอาสิ่งที่เขาไม่รู้จักก่อนไหม แม้แต่บ้านของพวกเราเองเขายังไม่รู้จักเลยว่าบ้านของเราอยู่ตรงไหน อยู่ในจังหวัดเดียวกันแต่ไม่รู้ว่านาพญาอยู่ตรงไหน เราก็เลยรื้อฟื้นประวัติศาสตร์บ้านนาพญาที่รุ่นพี่ทำไว้มาค้นหาเรื่อยๆ ว่ามีตรงไหนอีกบ้าง จากสถานที่สำคัญที่อยากทำมันกลับมาเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ แหล่งที่มาที่แรกมีหลุมฝังศพ และนาสิบบิ้งที่เป็นพื้นที่แห่งแรกของบ้านนาพญาพวกเราก็ลงมติกันว่าจะทำประวัติศาสตร์เพื่อให้ทุกคนรู้จักและเพื่อให้น้อง ๆ ในชุมชนทำความรู้จักบ้านของตัวเองมากขึ้นด้วย


ถาม : ประชุมกันอยู่นานไหมกว่าจะได้ข้อตกลง

ตอบ : สองสามอาทิตย์ได้ ประชุมกันเกือบทุกคืนว่าจะทำอะไรกันดี


ถาม : พอเราตัดสินใจทำโครงการแล้ว ลองเล่าให้พี่ฟังได้ไหมว่าตอนปีหนึ่งที่ทำโครงการ เรามองเห็นตัวเองว่าเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างไหมในปีที่หนึ่ง

ตอบ : ที่ผ่านมาเรารู้จักเพื่อนแค่ชื่อ คนนี้ชื่อนี้แต่พอได้มารวมกลุ่มกันทำให้เราได้รู้จักนิสัยกันมากขึ้น ได้รู้ว่าคนนี้ไม่ชอบอะไร ชอบอะไร เรื่องการแสดงความคิดเห็นบางครั้งเพื่อนบอกว่าลองทำอันนี้ดูไหม เราคัดค้านอยู่ในใจแต่เรารับฟังก่อนถ้าลองทำแล้วใครจะทำบ้าง ต้องแบ่งหน้าที่กัน ทำให้ปรึกษากันได้พูดคุยกันมากขึ้น


ถาม : ตอนปีที่หนึ่งก๊ะรับตำแหน่ง บทบาทเป็นอะไร

ตอบ : เป็นเลขา เหรัญญิก ควบกัน


ถาม : เลขาทำหน้าที่อะไรบ้าง

ตอบ : คอยจดบันทึกวาระการประชุมต่างๆ


ถาม : ตอนนั้นที่เราเป็นเลขา เพื่อน ๆ ลงความเห็นให้เราเป็นหรือว่าเราอาสาที่จะเป็นในตอนนั้น

ตอบ : พี่เขาต้องการให้เราเป็นเพราะว่าตอนนั้นเราไม่ค่อยกล้าพูดด้วย ชอบเขียนมากกว่า


ถาม : ยากไหมกับการเป็นเลขา

ตอบ : ยากเหมือนกัน ตอนประชุมเราไม่สามารถบอกว่า ค่อย ๆ พูดนะ พูดช้า ๆ เพราะจดไม่ทัน เราต้องพยายามจดใจความสำคัญที่เขาพูดให้ได้


ถาม : นานไหมกว่าจะจดงานได้อย่างคล่องแคล่ว

ตอบ : เกือบสองเดือน


ถาม : แล้วเรามีเทคนิคอย่างไร เราถึงสามารถจดได้ทันว่าเขาพูดอะไรบ้าง

ตอบ : บางครั้งจดแค่ใจความสำคัญว่าในวงพูดเรื่องอะไรแล้วต้องการทำอะไรต่อไป หรือบางครั้งวาดเป็น mind map แค่ให้เรารู้เรื่องแล้วค่อยไปเรียงเป็นคำอีกครั้งหนึ่ง


ถาม : กิจกรรมหลัก ๆ ที่ทำในปีที่หนึ่งทำอะไรบ้าง

ตอบ : ลงพื้นที่ไปที่แหลมตันหยงกุโบร์ ลงพื้นที่ที่นา มีค่ายรักษ์บ้านเกิดของปีแรก มีประชุม ลงพื้นที่ไปสัมภาษณ์คนเฒ่าคนแก่ มีลงพื้นที่ไปหมู่บ้านต่าง ๆ ที่สัมพันธ์กับบ้านนาพญา


ถาม : ส่วนใหญ่ต้องพบปะผู้คนแล้วต้องเปลี่ยนตัวเองไหม เพราะเดิมเป็นคนไม่ค่อยพูด ไม่กล้าเข้าหาผู้ใหญ่อยู่แล้ว

ตอบ : ต้องเปลี่ยนตัวเองเยอะยิ่งตอนไปสัมภาษณ์ผู้ใหญ่ต้องอาศัยความกล้า เราต้องพยายามถ้าเราไม่พูดไม่ถามก็ไม่ได้ข้อมูล ถ้าเราไม่ลงมือทำจะไม่ได้อะไรกลับมาเลย ก็เลยถามในสิ่งที่อยากรู้ทำบ่อยๆ ก็ทำให้ตัวเองพูดเก่งขึ้นมาได้


ถาม : ถือเป็นจุดเปลี่ยนของตัวเองเลยไหมที่ทำให้เรากล้าลุกขึ้นมาพูด

ตอบ : ใช่ค่ะ ถ้าไม่มีกิจกรรมนั้นก๊ะก็ไม่สามารถพูดกับผู้ใหญ่ได้เลย


ถาม : ช่วงไหน กิจกรรมอะไร

ตอบ : กิจกรรมลงสัมภาษณ์คนเฒ่าคนแก่ที่มีความรู้เกี่ยวกับหมู่บ้านของเราแต่เป็นไม่ได้เป็นคนในหมู่บ้านมาตั้งแต่เดิม เพราะหมู่บ้านเราเชื่อมโยงกับหมู่บ้านต่างๆ เราไปสัมภาษณ์ถึงที่ว่าเกิดอะไรขึ้น ถึงมาอยู่ที่บ้านเราประมาณนั้น


ถาม : พอเราพูดได้ถามได้เหมือนเราปลดปล่อยตัวเองไหมเพราะก่อนหน้านี้ไม่กล้าพูด

ตอบ : ใช่ค่ะ เราเก็บกดมานานแล้วได้ปลดปล่อยสักที ทำให้สบายใจ ได้ทำในสิ่งที่อยากทำ ได้ถามในสิ่งที่อยากรู้ภูมิใจกับตัวเองตรงนั้น


ถาม : แล้วพอไปสัมภาษณ์ครั้งนั้นเป็นครั้งแรกที่ทำให้เรารู้สึกว่าเราได้ปลดปล่อยเรากล้าถามเขา พอหลังจากนั้นมาเราเปลี่ยนไปเลยไหม กล้าพูดมากขึ้นไหม

ตอบ : หลังจากนั้นกล้าแสดงออกในกลุ่มกล้าพูด กล้าเสนอความคิดเห็นกับพี่ๆ มากขึ้นกล้าลองให้คำปรึกษาว่าลองไปบ้านนี้ดูไหม แต่ก่อนนั่งเงียบใครไปไหนคือไปหมด ไปบ้านนั้นก็ไป เขาบอกให้ทำก็ทำ แต่ตอนนี้กล้าพูด กล้าเสนอความคิดเห็นของตัวเอง


ถาม : แล้วอะไรที่มันทำให้เรารู้สึกว่าเราต้องกล้าพูด

ตอบ : เหมือนกับว่าถ้าเราไม่พูด มันเก็บอยู่ข้างในแล้วอึดอัดตัวเอง ไม่ได้พูด ทำอะไรไม่ถูก


ถาม : นี่ถือเป็นจุดเปลี่ยนของเราเหมือนกันในโครงการปีแรก

ตอบ : เปลี่ยนเลย แบบหน้ามือเป็นหลังมือเลย


ถาม : เพื่อนในกลุ่มสงสัยไหมว่าเราไปทำอะไรมาถึงกล้าพูดขึ้น

ตอบ : ถ้าเพื่อนในโรงเรียนก๊ะจะพูดอยู่แล้วแต่เพื่อนในชุมชน ที่ทำงานกลุ่มโครงการด้วยกันเขาไม่รู้ว่าเรามีมุมนี้ด้วยเขาก็จะตกใจ ว่าเราพูดได้ แสดงความคิดเห็นได้ทำไมไม่พูดตั้งแต่แรก เขาจะพูดแบบนั้น


ถาม : แล้วเราคิดว่าการที่เรากล้าพูดกล้าแสดงความคิดเห็นมันมีประโยชน์กับการทำโครงการของเราไหม

ตอบ : มีค่ะ เราต้องช่วยกันแสดงความคิดเห็นว่าตรงนี้ต้องทำอย่างไร ถึงจะออกมาดีลองดูก่อนไหม ต้องช่วยกันไม่ใช่แค่คนหนึ่งแสดงความคิดเห็นแล้วคนอื่นทำตาม เราลงมือทำด้วยกันแบ่งหน้าที่กันทำ ‘koสำเร็จได้ถ้าเราช่วยกันทำ เลยทำให้กล้าพูดมากขึ้น


ถาม : เวลามานำเสนอโครงการก๊ะเป็นคนนำเสนอไหมหรือว่าเพื่อนในทีมเป็นคนนำเสนอ

ตอบ : ตอนแรกจะเป็นไหมอีกคน กับเพื่อน


ถาม : แล้วก๊ะเคยมานำเสนอไหม

ตอบ : เคยมานำเสนอแต่นำเสนอปีหนึ่งงวดที่สองแล้วค่ะ เพราะว่าพี่เขาต้องไปทำงานแล้วมีแต่พวกเราเลยต้องลงมือทำกันเอง นำเสนอเอง


ถาม : เป็นอย่างไร ผ่านไปได้ด้วยดีไหม

ตอบ : งวดที่สองเหมือนจะต้องมีอะไรเสริมบ้างเราก็ต้องหาข้อมูลมาเพิ่ม มีผู้ทรงคุณวุฒิมาบอกเราก็กลับไปทำตาม ไม่ค่อยมีปัญหากัน


ถาม : ตอนปีหนึ่งผู้ทรงคุณวุฒิที่เขาให้ข้อแนะนำเรารู้สึกท้อไหม หรือว่าเขาชื่นชม หรือให้ข้อเสนอแนะ

อย่างไรบ้าง

ตอบ : จำไม่ได้ค่อยได้แล้ว จะมีข้อเสนอที่ว่าลองหาข้อมูลนี้เพิ่มไหม เหมือนงวดแรกที่นำเสนอพวกเราเน้นแต่หมู่บ้านตัวเอง แต่ไม่ค่อยรู้ว่ามีหมู่บ้านไหนที่มีความสัมพันธ์เชื่อมกับหมู่บ้านเราบ้าง ผู้ทรงคุณวุฒิเขาบอกว่าให้ลองหาดูก่อนไหมว่าชุมชนของเรามีความเกี่ยวข้องกับหมู่บ้านไหนอีกบ้าง


ถาม : ปีที่หนึ่งเราทำโครงการจบแล้วผลของปีที่หนึ่งเป็นอย่างไรบ้างเกิดผลกับชุมชนกับตัวเองอย่างไรบ้าง

ตอบ : กับตัวเองคือก๊ะได้พูดมากขึ้น ได้พูดกับประชาชนมากขึ้น กับป๊ะม๊ะตัวเรากล้าพูดกล้าบอกมากขึ้นว่าอันนี้ทำได้ อันนี้ทำไม่ได้ ตอนแรกชุมชนไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่พวกเราทำ ทำไปเพื่ออะไร ช่วงวันแรกที่มีค่ายผู้ปกครองไม่ค่อยให้ลูกมาเข้าค่าย แต่พอวันแรกผ่านไปวันที่สองเขาได้เห็นว่าสิ่งที่พวกเราทำ ทำให้ลูกเขากล้าแสดงออกกล้าพูดมากขึ้น ได้เห็นว่าลูกเขาได้รู้จักบ้านของตัวเองมากขึ้น และได้รักบ้านของตัวเองมากขึ้น เลยให้ความร่วมมือบางคนวันที่สองมาช่วยทำกับข้าว มีอะไรขาดเหลือมาคอยถามพวกเราผู้ใหญ่บ้านให้กำลังใจบอกให้พวกเราทำไปเถอะถ้าสิ่งที่ทำดีกับหมู่บ้าน เขาเห็นว่าเยาวชนก็สามารถพัฒนาหมู่บ้านได้และมาถามด้วยว่ามีอะไรทำอีกไหมเพราะจะมีโครงการอีกปีที่สอง


ถาม : ก็คือปีที่หนึ่งได้รับผลตอบรับดีเลยใช่ไหมปีที่หนึ่ง มันเกินคาดไหมจากที่เราคิดไว้ หรือว่าเป็นไปตามที่เราคาดหวัง

ตอบ : เกินคาด จากที่เราหวังแค่ให้พ่อแม่เราเข้าใจแค่นั้นก็ได้ แต่นี่ผู้ใหญ่บ้านก็มา อบต.ก็มาหมู่บ้านที่ก๊ะอยู่ชาวบ้านให้ความร่วมมือมาก


ถาม: ก๊ะว่าเพราะอะไรทำไมในปีที่หนึ่งทุกคนถึงให้ความสนใจ ให้ความสำคัญกับเราขนาดนั้น

ตอบ : เหมือนเราทำให้คนอื่นรู้จักบ้านของพวกเรามากขึ้นและสิ่งที่บางคนไม่รู้เลยว่าที่นี่คือที่ฝังศพของคนแรกที่มาอยู่ในหมู่บ้าน พอเราให้ข้อมูล แล้วเข้าได้รู้ เขาเลยอยากมาทำกิจกรรมกับพวกเราจนได้รับความสนใจมากขึ้น


ถาม : อันนั้นคือปีที่หนึ่งแล้วปีที่สอง ทำไมถึงเลือกที่จะมาทำโครงการต่อในปีที่สอง

ตอบ : ปีที่สองตอนแรกลังเลอยู่เหมือนกัน คิดว่าจะไม่ทำแล้ว เพราะมีกันอยู่สองคน คือ ก๊ะกับไหม แต่พี่เลี้ยงบอกว่าลองทำดูไหม เพราะปีแรกเราก็ผ่านมาได้ ทำไมปีที่สองจะทำไม่ได้ไม่งั้นคงเสียโอกาสมากเลย เราเห็นน้องๆผู้ชายในชุมชนนั่งเล่นเกมอยู่ตรงศาลาหมู่บ้านที่อยู่หน้าบ้านตั้งแต่เช้าถึงสองสามทุ่ม น้องๆ กลุ่มนี้เป็นญาติก๊ะเอง เราเลยชวนเขามาร่วมโครงการ ไปชวนหัวหน้าแก๊งค์เลย ให้เขามาพาทำกิจกรรมเขาถามว่ากิจกรรมอะไร เราก็บอกว่าลองมาดูก่อนเดี๋ยวจะติดใจ ตอนนั้นมีความคิดว่าเราต้องชวนเขาให้ดูน่าสนใจก่อน ไหมก็บอกว่าถ้าชวนน้องๆ มาได้ไหมก็อยากทำโครงการต่อ เราเลยประชุมชี้แจงโครงการกับน้องๆ ว่า โครงการนี้ทำอะไร ทำอย่างไร ระบบการทำงานเป็นอย่างไร น้องๆ ตกลงมาทำ เป็นผู้ชายประมาณ 9 คน มีก๊ะกับไหมเป็นผู้หญิงสองคน


ถาม : เป็นช่วงไหนอายุของน้อง ๆ ทั้ง 9 คนที่เข้ามากับเรา

ตอบ : ประมาณ ม. 2 -ม. 6


ถาม : เราไปเลือกเองทั้งหมดหรือว่าไหมไปช่วยเลือกด้วย

ตอบ : ตอนแรกก๊ะคุยกับไหมว่าเอากลุ่มนี้ไหมที่นั่งเล่นเกมอยู่ให้เขามาทำกิจกรรมดู ดีกว่าให้เขาไปนั่งเล่นเกมแบบนั้นมันไม่ได้ช่วยให้เขาโตขึ้น หรือเรียนรู้โลกภายนอก


ถาม : ตอนแรกที่ก๊ะบอกว่าจะไม่ทำแล้วในปีที่สองอะไรคือเหตุผลที่เราคิดว่าจะไม่ทำแล้วตอนนั้น

ตอบ : ก๊ะซิ่วเรียน ในโครงการปีแรกก๊ะจบ ม. 6 ไม่ได้เรียนต่อมาปีหนึ่งแล้วพอมาปีที่สอง เลยตั้งใจอยากเรียนต่อ กำลังจะสอบทุนของสามจังหวัดภาคใต้เลยกลัวว่าจะไม่มีเวลาว่างบ้าง คณะบัญชีที่อยากเรียนปีหนึ่งเรียนสี่เทอม เราอยากเร่งตัวเองให้ทัน เลยคิดว่าไม่ทำโครงการต่อดีกว่า แต่ไหมบอกว่าลองทำดู ถ้าก๊ะทำเขาก็จะทำ ตัวเราสงสารน้องเพราะเขาอยากทำโครงการต่อเราก็เลยทำก็ได้


ถาม : พอทำแล้วเรามีวิธีการจัดการแบ่งเวลาอย่างไร เพราะว่าตอนนี้ก๊ะก็เรียนแล้วใช่ไหม

ตอบ : ค่ะปีสอง ตอนสอบทุนก็อ่านหนังสือบ้างไม่อ่านบ้าง จนแม่ต่อว่าแต่เราอยากหาประสบการณ์ตรงนี้มากกว่า ไม่ได้ทุนก็ไม่เป็นไรเอาไว้ก่อนแต่เปิดใจเปิดโลกให้ตัวเองก่อนก็เลยแบ่งเวลา ตอนนั้นปิดเทอมอยู่ ตอนเช้าจะแบ่งเวลา อ่านหนังสือประมาณ 1-2 ชั่วโมง นัดเวลาประชุมกับน้องๆ ช่วงประมาณทุ่มถึงสองทุ่ม


ถาม : แล้วได้ไหมทุน

ตอบ : ได้ค่ะ


ถาม : หลังจากนั้นเราก็ได้ตามเงื่อนไขที่พี่เลี้ยงบอกว่าถ้าไปหาน้องคนอื่นมาด้วยก็จะทำโครงการ เราสนิทกับน้องกลุ่มนี้ไหม

ตอบ : เราจะสนิทกับหัวหน้ากลุ่มเขา เพราะว่าเป็นหลานของก๊ะ


ถาม : หัวหน้าชื่ออะไรที่เราไปชวนมา

ตอบ : ธนวัฒน์ สืบสาย ประธานกลุ่มปีนี้


ถาม : ได้สมาชิกมาแล้ว อย่างนี้ชื่อในโครงการของก๊ะ เรารับหน้าที่เป็นอะไร

ตอบ : แรก ๆ ก๊ะยังเป็นเยาวชนเป็นเลขาโครงการ ไหมยังเป็นประธานเหมือนเดิม แต่สองเดือนผ่านไปพี่เลี้ยงไม่ว่าง ก๊ะคิดว่าจะไม่ทำโครงการต่อแล้ว เพราะเราอายุแค่ 21 จะเป็นพี่เลี้ยงได้ไหม น้องจะนับถือ ไว้ใจเราไหมก็ไม่รู้ ถามพี่ๆ ว่าถ้าไม่ทำได้ไหม คืนเงินให้พวกบังเชษฐ์ไปเลย แต่น้องๆ ในทีมบอกแล้วทำไมพี่ไม่เป็นพี่เลี้ยงเองเลย ก๊ะเลยถามว่าแล้วไว้ใจขนาดไหน เขาบอกว่ารู้จักกันมาตั้งนานแล้วไม่ไว้ใจได้อย่างไร ก๊ะเลยตัดสินใจเป็นพี่เลี้ยง แต่ก๊ะบอกว่าก๊ะจะให้เขาทำแบบเต็มรูปแบบเลย เลือกประธานใหม่ รองประธาน เลขา เลือกใหม่ทั้งหมดเลย


ถาม : นานไหมกว่าที่เราจะตัดสินใจมาเป็นพี่เลี้ยงโครงการ

ตอบ : ประมาณ 2 อาทิตย์ ตอนนั้นน้องเขาง้ออยู่ น้องเขาพูดใส่หูทุกวันว่าเป็นพี่เลี้ยงโครงการให้หน่อย น้องอยากทำ เราเลยคิดว่าถ้าน้องเขาอยากทำเราเป็นให้ก็ได้ เพราะเป็นความตั้งใจของเขา


ถาม : แล้วเราเอาเทคนิควิธีการ การเป็นพี่เลี้ยงในแบบฉบับของก๊ะอย่างไร

ตอบ : ก๊ะจะเล่นกับเขาซะมากกว่า นัดประชุมช่วงแรกเขาติดเกม บังเชษฐ์บอกว่าลองให้เวลาเขาดูหน่อย ก๊ะนัดประมาณทุ่มหนึ่งมากันสองทุ่มเราต้องใจเย็นด้วย ต้องเลทเวลาตัวเองด้วย ต้องรู้ว่าน้องจะมาประมาณสองทุ่มนะ เราต้องไปประมาณทุ่มครึ่งไปไปเตรียมขนม เตรียมน้ำให้เขาก่อน มาแล้วเล่นเกมถึงสองทุ่มครึ่งประมาณครึ่งชั่วโมง หลังจากนั้นก๊ะจะเก็บโทรศัพท์หมดเลยแล้วเริ่มประชุม เราทำได้เพราะว่าเราให้เวลาเขาก่อน ให้เวลาเขาสนุกก่อน ก่อให้เขามาใช้ความคิด ให้เขาได้ปลดปล่อยสิ่งที่เขารับมาทั้งวันก่อน


ถาม : เราเอาประสบการณ์ตรงนี้จากที่เราเคยเป็นเยาวชนทำโครงการมาก่อนหรือเปล่ามาปรับใช้

ตอบ : ถ้าเราเครียดเกินไป มันไม่ดี เราก็ปล่อยให้น้องๆ รู้สึกสบาย ๆ เริ่มแรกได้แค่ชื่อโครงการก็ได้แล้ว ไม่ต้องอะไรเยอะ พอมาอีกวันได้แค่ความเป็นมาสองบรรทัดก็ได้แล้ว ทำอย่างไรก็ได้ให้น้องๆ ใช้ความคิดของตัวเองให้มาก ก๊ะจะพูดน้อยแล้วให้น้องทำให้เยอะกว่าก๊ะ เราจะไม่เน้นเครียด เราเน้นสนุกกัน ครึ่งชั่วโมงพักเล่นเกมบ้าง พักนั่งคุยเรื่องอื่นบ้าง


ถาม : น้อง ๆ ให้ความร่วมมือดีใช่ไหมคะ

ตอบ : ใช่ค่ะ หลัง ๆ มารวมกลุ่มกัน 12 คน อีก 3 คนเขาชวนกันมาเอง


ถาม : เขาไปชวนอย่างไรเขาเล่าให้ฟังไหม

ตอบ : เพื่อนเขาถามว่าเราทำอะไรอยู่แล้วในใจอยากเข้ามาทำโครงการด้วยแต่ไม่รู้จะเข้ามาอย่างไร คนในกลุ่มก็เลยไป ชวนดูว่ามาทำดูไหม ถ้าจะทำก็ทำด้วยใจเขาก็เลยมาของเขาเอง


ถาม : มาช่วงไหนอีกสามคนที่เข้ามา

ตอบ : ประมาณสามเดือนสี่เดือนได้


ถาม : อย่างโครงการปีที่สอง ทำต่อจากปีที่หนึ่งใช่ไหมคะ

ตอบ : ทำเรื่องจักสานค่ะ


ถาม : เปลี่ยนไปเลยใช่ไหมจากโครงการที่หนึ่ง ทำไมถึงเลือกทำเกี่ยวกับจักสานปีนี้

ตอบ : ตอนแรกก๊ะกับไหมจะทำต่อ แต่พอน้องมาเราก็ต้องให้น้องคิดเองว่าจะทำอะไร แล้วน้องบอกว่าเดี๋ยวนี้ไม่มีคนทำจักสานเสื่อด้วยมือ มีแต่พลาสติก เขาเลยมาถามเราว่าทำเรื่องนี้ได้ไหม ตัวเราก็ไม่คิดว่าจะได้ เพราะเป็นผู้ชายกันทั้งทีม เอาผู้ชายทั้งหมดมานั่งสานเสื่อ แต่น้องๆ บอกตัวเองทำได้ เราก็ให้เขาแสดงความคิดเห็นของเขามา


ถาม : เกี่ยวกับเรื่องสานคือคิดตั้งแต่ตอนแรกเลยหรือว่ามาเปลี่ยนตอนที่พี่เลี้ยงหาย

ตอบ : เรามาเปลี่ยนตอนที่พี่เลี้ยงหาย ตอนที่ก๊ะขึ้นมาเป็นพี่เลี้ยงกับไหม


ถาม : ถ้าก่อนที่พี่เลี้ยงจะหายตอนนั้นเราตัดสินใจจะทำโครงการอะไรกัน

ตอบ : ตอนแรกจะทำสานต่อเรื่องประวัติ เพราะยังมีประวัติอีกเยอะให้ศึกษาต่อได้ หมู่บ้านไหนเกี่ยวข้องกับเรา มาจากอำเภอไหน ได้ทั้งจังหวัดสตูล แต่พอน้องมาทำก็ให้น้องๆ ลองปรึกษากันดูว่าจะทำอะไร


ถาม : ตอนแรกที่พี่เลี้ยงยังอยู่ ก๊ะกับไหมแล้วน้อง 9 คน จะทำโครงการต่อจากปีที่หนึ่ง แล้วพอพี่เลี้ยงหายไปเลยมาคุยกับน้องใหม่ว่าอยากทำโครงการนี้ต่อ หรือว่าอยากทำโครงการอื่นใช่ไหม

ตอบ : ใช่ค่ะ เพราะว่าน้องต้องทำของเขาเอง


ถาม : จากเดิมที่เราเป็นคนทำโครงการ เปลี่ยนมาเป็นน้องๆ ทำไมไม่ให้น้องทำต่อเลยที่เราคิดไว้

ตอบ : น้องๆ บอกว่าเขาไม่มีเวลาไปสัมภาษณ์คนด้านนอก เพราะต้องเรียนด้วย บางคนทำงานด้วย บางคนเดินเรียนในอำเภอสตูล ไป-กลับ เขาไม่มีเวลาว่าง เราเอาที่เขาสะดวก


ถาม : น้องทำโครงการเกี่ยวกับอะไร

ตอบ : จักสานเสื่อจากเตยหนาม


ถาม : ในชุมชนเขาทำกันเหรอ

ตอบ : ทำกันค่ะ แต่ห่างหายไปได้ราวสองปีแล้ว ตอนนี้ป่าเตยหนามเลยรกร้าง


ถาม : ในชุมชนมีป่าเตยหนามเยอะ ไม่ได้เอาไปใช้ประโยชน์ เราพาน้องเดินในชุมชนแล้วให้เขาเป็นคนเลือกหรือว่าน้องเขาเสนอมาเองในห้องเลยว่าอยากทำอะไร

ตอบ : นั่งประชุมกันค่ะ แล้วถามกันว่าอยากทำเรื่องอะไร มีเรื่องอะไรบ้างเสนอมาได้เลย


ถาม : โครงการของเราจะช้ากว่าทีมอื่นไหมเพราะว่าทางเราทำไปได้ประมาณ 2-3 เดือนแล้วพี่เลี้ยงมาหาย

ตอบ : ก็ไม่ช้าเพราะว่าตอนนั้นยังไม่ร่างโครงการ หัวเรื่องยังไม่ได้ เขียนแค่ความเป็นมาว่าทำไมเราถึงอยากทำแล้วพอน้องมาทำก็ต้องเริ่มใหม่หมด ถามว่าช้าไหมก็ช้าเพราะน้องผู้ชายทั้งหมดเขาจะติดเล่นซะส่วนมาก เราต้องคอยจี้ แต่ถามว่าเราช้ากว่าคนอื่นไหม เราไม่ช้าเพราะว่ามันคือประสบการณ์ทั้งหมดที่เราเลือกเรื่องนั้น พอมาทำเรื่องใหม่ เราก็ได้เปลี่ยนและได้เห็นอีกมุมของบ้านด้วยว่าเป็นอย่างไรบ้าง


ถาม : อีกมุมหนึ่งของหมู่บ้านเราเป็นอย่างไรบ้าง

ตอบ : ตอนแรกก๊ะก็ไม่ได้สนใจเรื่องจักสานเตยหนามเพราะว่าโต๊ะก๊ะก็ทำอยู่ พ่อแม่ก็ทำอยู่แต่คนในชุมชนไม่ทำแล้ว เพราะส่วนมากไปทำงานนอกชุมชน ส่วนตัวเราก็ไม่ได้สนใจพอน้องบอกว่าเตยหนามมีอยู่เยอะ เราก็บอกว่ามันก็อยู่ของมันแบบนั้นแหละ แต่น้องๆบอกว่าเรามาทำโครงการนี้จะได้ช่วยคนแก่ที่ไม่สามารถทำงานได้แล้ว อายุ 60- 70 ปี สร้างรายได้ให้เขาด้วยให้เขามาสอนแล้วเราให้ค่าจ้าง 100-200 บาทเป็นการช่วยผู้สูงอายุอีกแรง น้องเขาพูดแบบนั้นทำให้เราได้เห็นอีกมุมว่า คนเฒ่าคนแก่ทำงานใช้แรงงานไม่ได้แล้ว แต่ยังมีรายจ่ายซึ่งเราสามารถช่วยเขาได้ ส่วนป่าเตยหนามที่รกร้างพอได้ตัดเตยหนามมาใช้ พื้นที่ตรงนั้นสบายตาขึ้นเพราะก่อนหน้านี้ไม่มีใครดูแลเลย


ถาม : ในชุมชนเรามีผู้รู้เกี่ยวกับการจักสานเตยหนามไหม

ตอบ : มีเยอะมากเลยค่ะ


ถาม : ประมาณกี่คน

ตอบ : ประมาณ 5-6 คนได้ เฉพาะเสื่อ บางคนทำแก้วก็ได้ ที่ใส่ดินสอ ยางลบอะไรก็ได้


ถาม : อันนี้เป็นมุมที่ก๊ะเองก็ไม่เคยเห็นมาก่อนในชุมชนหรือเปล่า เรารู้สึกอย่างไรบ้างที่เรากับเด็กไปเจอสถานการณ์แบบนี้ทำให้เราได้รู้จักชุมชนอีกมุมหนึ่ง

ตอบ : รู้สึกว่าเราเริ่มรักหมู่บ้านของเรามากขึ้น อยากทำให้หมู่บ้านพัฒนามากขึ้นกว่าเดิมแล้วเห็นอีกมุมของคนเฒ่าคนแก่ที่ไม่มีรายรับเลยมีแต่รายจ่าย รู้สึกว่าสิ่งที่ทำได้ช่วยเหลือคนอื่น ภูมิใจที่ทำได้ น้องๆ ทำได้ แล้วเขาชวนเรามาทำด้วย ภูมิใจในตัวน้องๆ และภูมิใจที่เราสามารถทำให้เขามีความคิดแบบนั้นได้


ถาม : กิจกรรมที่เรากับน้องออกแบบในการทำเตยหนามเราทำอะไรบ้าง

ตอบ : ตอนแรกนั่งประชุมว่าจะลงพื้นที่ไปดูว่าที่ไหนมีบ้าง เพราะว่าก๊ะรู้จักสองที่ พอมาลงพื้นที่จริงๆ น้องเขาจะรู้จักอีกเยอะ บางพื้นที่ต้องลงเรือไปที่ป่าชายเลน มีป่ายางแล้วป่าเตยหนามอยู่แถวป่ายาง ข้าง ๆ เป็นกุโบร์ มีกิจกรรมให้น้องลงมือทำ จักรสานเลย แล้วมีกิจกรรมเชิญผู้รู้ในชุมชนมาช่วยสอน ส่วนมากให้น้องๆ ลงมือทำเองเลย แล้วก็ศึกษาจากยูทูปด้วย


ถาม : ผลที่ได้น้องทำได้ดีไหม ตอนน้องทำ

ตอบ : ตอนแรกทั้ง 12 คนทำไม่ได้เลย พอตอนนี้ทำได้ประมาณ 3 คน ทำได้ดีขึ้น แบ่งหน้าที่กันไป มีฝ่ายไปตัดเตยหนามมาตากแดด ต้มน้ำ น้องเขาทำได้หมดทุกขั้นตอน


ถาม : เขาแบ่งหน้าที่กันเองหรือว่าก๊ะเป็นคนชวนให้เขาลองแบ่ง

ตอบ : เขาแบ่งกันเองค่ะ เพราะว่าตอนนั้นก๊ะต้องไปเรียนด้วย เป็นเด็กทุนต้องไปเสาร์- อาทิตย์ไปช่วยงานโรงเรียน


ถาม : อย่างตอนที่เราไปเรียน เราใช้วิธีการอย่างไรในการตามน้องคุยกับน้อง

ตอบ : คุยผ่านเฟสบุ๊คและโทรหากันบ้างเขาจะตั้งเวลาไว้ว่าวันนี้ลงพื้นที่ วันนี้ไปตัดเตยหนาม ก๊ะจะทักซ้ำไปว่าวันนี้ทำอะไรแล้วบ้าง วันนี้ลงพื้นที่หรือยัง เขาจะนึกขึ้นได้แล้วเขานัดกันเอง มีรูปมาฝากเราทุกวัน


ถาม : การดำเนินชีวิตของเราเปลี่ยนไปไหม เพราะว่าจากแต่ก่อนเราบอกว่าเรากลับมาจากโรงเรียนเล่นมือถือ แต่พอมาปีสองกิจวัตรของเราเปลี่ยนไปไหม

ตอบ : เปลี่ยนไป ตอนแรกกลับมาจากโรงเรียนก็ทำการบ้าน เพราะว่าน้องต้องไปเล่นฟุตบอลเราก็เอาเวลานั้นมาทำการบ้าน ประมาณชั่วโมง สองชั่วโมง ทุ่มหนึ่งนัดประชุมก็ไปที่ประชุมกัน กลับประมาณสามทุ่มแล้ว กลับมาบ้านอ่านนิยายประมาณหนึ่งชั่วโมงแล้วก็นอนจะไม่ทิ้งนิยาย


ถาม : ที่บ้านเขาว่าอย่างไรบ้างไหมที่เห็นเราไปทำกิจกรรม

ตอบ : แม่เป็นคนที่ไม่ห้าม จะสนับสนุนมากกว่าถ้าเราทำแล้วก็ไปให้สุด ส่วนตัวก็ตั้งใจเลยว่าต้องรับผิดชอบหน้าที่ของตัวเองให้มากพอ ทางบ้านมีข้อแม้คืออย่าทิ้งการเรียน เกรดต้องคงที่เท่าเดิม


ถาม : แล้วเราทำได้ไหมเกรดเราคงที่ไหม

ตอบ: ลดมานิดหนึ่งแต่เกรดเฉลี่ยรวมสองเทอมอยู่ที่ 3.5 ตามที่ตั้งเอาไว้


ถาม : เราไปทำกิจกรรมนอกบ้าน พอกลับเข้ามาในบ้าน เรามาเล่าให้ฟังไหมว่าไปทำอะไรมาบ้าง

ตอบ : เขาจะถามเองโดยอัตโนมัติว่าวันนี้ไปไหน ทำไปถึงไหนแล้ว ไปประชุมที่ไหน หรือว่า พาน้องไปลงพื้นที่กลับประมาณกี่โมง เราก็จะเล่าให้ฟัง


ถาม : แม่แปลกใจไหมในช่วงแรก เพราะปกติกลับมาเราก็ทำการบ้านอยู่บ้าน พอมาทำโครงการนี้เราออกบ้านเขาแปลกใจหรือว่าสงสัยไหมว่าเราไปทำอะไร

ตอบ : ตอนแรกที่พี่ๆ ชวนทำโครงการ ก๊ะบอกแม่ก่อนว่าก๊ะขอทำโครงการนี้นะ เราเป็นคนชอบพูดชอบเล่าให้แม่ฟังอยู่แล้วพราะแม่กับพ่อแยกทางกัน เรามีกันอยู่สองคนเลยพูดทุกเรื่องกับเขาทำให้แม่ไม่ค่อยแปลกใจ แม่แปลกใจมากกว่าที่เรามาร่วมทำโครงการกับพี่ ๆ ก๊ะเลยบอกว่าหาประสบการณ์ แม่ดีใจที่เราเข้าสังคมมากขึ้นเพราะว่าก๊ะไม่ค่อยพูดกับคนอื่น


ถาม : ปกติทำกิจกรรมในหมู่บ้านในชุมชน เราบอกแม่ไหมให้แม่ไปดูไปร่วม

ตอบ : บอกค่ะ แต่เขาทำงานข้างนอกเลยไม่ค่อยได้ไปดูเท่าไหร่


ถาม : การผันตัวจากเยาวชนในโครงการมาเป็นพี่เลี้ยงในโครงการ แตกต่างหรือว่ายากไหมในการเปลี่ยนบทบาทหน้าที่

ตอบ : ตอนแรกก๊ะทำให้ทุกอย่างเลย เวลานัดประชุมระบุเลยว่าจะประชุมเรื่องนี้ จู้จี้ถามว่ามากันครบหรือยัง ช่วงหลังเริ่มมาดูตัวเองว่ามันไม่ใช่แล้วแบบนี้ น้องไม่ได้คิดเลย แต่มันยากที่เราจะนั่งเงียบ ๆ โดยไม่แสดงความคิดเห็นก่อน ไม่พูดตัดหน้าแต่ให้น้องพูดก่อน ช่วงหลังมาก๊ะเงียบให้ได้มากที่สุด ให้น้องเป็นคนนำประชุม แต่เราต้องใช้ความพยายามมาก เพราะว่าแต่ก่อนเป็นคนที่ทนดูอะไรที่ช้าไม่ได้ ต้องทำเองทั้งหมด


ถาม : แล้วตอนนี้เปลี่ยนไปไหม

ตอบ : เปลี่ยนไปค่ะ เริ่มนั่งดูได้เยอะขึ้น ให้น้องเขาพูดเยอะกว่าเดิม เราก็คอยถามมากกว่า


ถาม : ทุกวันนี้เรายังคุยกับพี่เลี้ยงที่หายไปไหม

ตอบ : ไม่ค่อยได้คุยกันค่ะ แต่ถ้าเจอกันในหมู่บ้านก็คุยกันตามปกติ เขาก็ถามว่าน้องเป็นอย่างไรบ้าง ก๊ะก็บอกไปว่าน้องเขาทำได้อยู่


ถาม : เขาติดปัญหาอะไรถึงออกไปกลางคัน

ตอบ : ไม่ได้ถามเขา อยู่ ๆ เขาก็ออกไปเอง ก๊ะคิดว่าเขาก็คงมีเหตุผลของเขา เขาคงไม่ว่าง


ถาม : ตอนนั้นเราเคือง เราโกรธไหมที่มาชวนให้เราทำโครงการทั้งที่เราก็บอกแล้วว่าไม่ทำ สุดท้ายก็มาหายไป

ตอบ : ตอนนั้นโกรธนิดนึงที่ว่าทำไมไปไม่บอก ถ้าบอกสักนิดก็ยังดี เราจะได้ทำถูกแต่นี่หายไปเลย เราต้องใช้เวลาในการตั้งหลัก ว่าต้องทำอย่างไรต่อ พี่เขาไปไม่บอกเลย แต่ยังมีน้อง ๆ ที่บอกว่าก๊ะทำได้อยู่แล้ว ยังไงก๊ะก็ทำได้ เราเชื่อคำนั้น ก็เลยทำ


ถาม : เราคิดว่าเราจะทำไหม ณ ตอนนั้น

ตอบ : เราคิดว่าเราทำไม่ได้เพราะว่าเป็นคนลงมือทำมาโดยตลอด มาเป็นพี่เลี้ยงให้นั่งดูเฉยๆ แค่นั่งถาม แค่นึกก็ทำไม่ได้แล้ว แต่ไหมบอกว่าพยายามเงียบ ๆ บ้าง เฉย ๆ บ้าง


ถาม : แล้วเราได้เข้าไปอยู่ในแกนนำเยาวชนของสตูลด้วยไหม

ตอบ : ได้เข้าร่วมอยู่ค่ะ ก๊ะเป็นฝ่ายบัญชี แต่บังปิงตั้งให้ว่าเป็นสารพัด ทำทุกอย่าง


ถาม : เป็นไงบ้าง ถ้าพูดถึงในเครือข่ายมันยากหรือว่าง่ายอย่างไรบ้าง

ตอบ : มันก็ยากค่ะแต่ว่าก๊ะจะเชื่อคำบังเชษฐ์คำหนึ่งคือ ผมเชื่อว่าคุณทำได้ บังเขาเชื่อว่าก๊ะทำได้ แล้วเราจะไม่เชื่อว่าตัวเองทำได้มันก็ไม่ใช่ ถ้าบังเขาเชื่อว่าเราทำได้เราก็ต้องเชื่อว่าตัวเองทำได้ เหมือนตอนเขียนโน้ตขึ้นกระดาน ตอนแรกไม่กล้า ตอนนั้นไม่มีใครทำนำเสนอรอบแรกของปีสอง ไม่มีใครทำ มีก๊ะบุหรันอยู่คนเดียว เขาบอกให้เราลองหัดทำ หาประสบการณ์ดูไหมลองดู ไม่มีใครทำ ก๊ะเลยบอกว่าลองก็ลอง เลยไปทำดู ตั้งแต่นั้นก็อยู่ในวงการนั้นมาจนถึงปัจจุบัน ทุกค่ายเลยจะยืนอยู่หน้าบอร์ด เฝ้าบอร์ดเลย


ถาม : ย้อนกลับไปตรงเตยหนาม พอเราชวนน้อง ๆ ทำโครงการนี้แล้วเราคิดว่าชุมชนได้ประโยชน์อะไรกับโครงการที่เราทำไหม

ตอบ : หนูว่าได้ค่ะ เพราะว่าเหมือนเราได้รื้อฟื้นสิ่งที่เขาทำมาใหม่ สิ่งที่เขาทำอยู่แล้วเราไปรื้อฟื้นกลับมาแล้วได้ลงมือทำด้วย เขาได้สร้างรายได้ให้กับคนเฒ่าคนแก่ด้วย ทุกคนได้กลับมาทำ มามองดูว่าแต่ก่อนเราทำได้ ทำไมเราจะทำไม่ได้ เหมือนกับเราไม่ต้องไปเสียเงินซื้อเสื่อพลาสติกด้วย เราแค่ไปเอาที่ข้างบ้าน ที่ข้างกุโบร์มาทำเองได้ ใช้ได้เหมือนเสื่อที่เราซื้อมา ได้ทำให้สิ่งที่เราเห็นอยู่มีคุณค่ามากขึ้น


ถาม : ที่เราบอกว่าเราสร้างรายได้ให้กับเขา เราไปหาช่องทางการตลาดให้กับเขาหรือว่ายังไง

ตอบ : ก๊ะมีเพจของเยาวชน มีอยู่งานหนึ่งที่ผู้ใหญ่บ้านเชิญให้ไปออกบูธขายเสื่อ แต่ตอนนั้นยังไม่ได้ไปเพราะว่าก๊ะไม่ว่าง แล้วมีพูดประชาสัมพันธ์ด้านนอกกับเพื่อนว่าบ้านเราทำเสื่ออยู่นะลองดูไหมจะเอาอะไรบ้าง


ถาม : แล้วมีคนมาอุดหนุนไหม

ตอบ : ตอนนี้พวกเรายังไม่ได้ทำเป็นผลิตภัณฑ์อย่างอื่น จะมีแต่เสื่ออย่างเดียว คนเฒ่าคนแก่เขาไม่ค่อยทำมาก เขาทำแค่ภายในหมู่บ้านใช้กันเอง น้องๆ ยังทำเสื่อผืนใหญ่ไม่ได้ ทำแค่ผืนเล็กอยู่ตอนนี้แค่พัฒนาให้เยาวชนทำเสื่อให้ขายได้ อยู่ในหมู่บ้านของตัวเอง


ถาม : มีพวกหน่วยงานมาช่วยเหมือนปีที่ผ่านมาไหมหรือว่าไม่มี

ตอบ : ปีที่สองไม่มี แต่หลัง ๆ อบต.ติดต่อมาจะทำวิสาหกิจท่องเที่ยวชุมชน


ถาม : ที่เขาเข้ามาติดต่อเขาเห็นอะไรจากโครงการของเรา

ตอบ : มีพี่อยู่ในหมู่บ้านเป็นไกด์แนะนำการท่องเที่ยวเกาหลีเป๊ะ ทาง อบต. อยากให้บ้านนางพญาทำวิสาหกิจท่องเที่ยวชุมชน เพราะปีแรกเราพบสถานที่ท่องเที่ยว มีประวัติความเป็นมา เขาเลยมาถามว่าเราลองทำไหม ถ้าอยาทำมานั่งประชุมเสนอกันดูว่าตรงไหนสามารถเป็นที่ท่องเที่ยวได้บ้าง


ถาม : แต่ก็จะเป็นของปีที่หนึ่ง อยากให้เราลองประเมินตัวเอง ปีที่หนึ่งที่ว่าเราเปลี่ยนแปลงแล้ว ปีที่สองเราคิดว่ามีอะไรอีกไหมที่เปลี่ยนแปลงไปยิ่งขึ้นกว่าเดิม

ตอบ : จากปีแรกเราก็กล้าพูดมากขึ้น กล้าแสดงออก มาปีที่สองต้องพาน้อง 12 คนทำโครงการ เราต้องใช้ความพยายาม เราสามารถเข้าหาน้อง ๆ ได้ ทำให้น้องเชื่อใจได้อีกอย่างเหมือนเราสามารถทำให้ผู้ปกครองน้องๆ เชื่อใจว่าเราจะไม่พาลูกเขาไปลงเหวไปในทางไม่ดีนะ เรามีมนุษย์สัมพันธ์กับผู้ใหญ่ในหมู่บ้านดีกว่าปีที่แล้ว อีกอย่างก๊ะมาอยู่ในเครือข่าย สิ่งที่ก๊ะไม่เคยทำก็คือโน้ตเทคเกอร์ ก๊ะไม่เคยทำได้ถ้ามีคนเยอะก๊ะต้องอยู่กับตัวเองให้มาก กว่าจะเขียนเข้าใจเรื่องที่เขาพูดได้แต่พอมาทำอยู่ตรงนี้คือเราต้องอยู่กับตัวเองท่ามกลางคนหมู่มากให้ได้ มีคนโน้นพูด คนนี้พูดเราต้องตั้งใจฟังคนที่เขากำลังพูด ต้องอยู่กับตัวเอง ต้องตั้งใจฟังให้เยอะแล้วจับประเด็นใจความสำคัญที่เขาพูดมาให้ได้ เพื่อให้ตัวเราเข้าใจแล้วคนที่อ่านก็เข้าใจด้วยจากสิ่งที่ได้ทำทำให้ก๊ะชอบเขียนมากขึ้น อยากทำงานตรงนั้นรักงานตรงนั้น สิ่งที่ก๊ะไม่เคยทำก๊ะได้ทำมากขึ้น จากลองทำกลับมาเป็นรักแล้ว


ถาม : เราเคยคิดไหมว่าวันหนึ่งเราจะมารู้สึกรักกิจกรรมอะไรพวกนี้

ตอบ : ไม่ค่ะ เพราะว่าแรก ๆ เรียมีความคิดอย่างเดียวคือเราต้องเรียน อยากให้แม่ภูมิใจ มีงานทำ คิดแค่นั้น แต่พอมาอยู่ตรงนี้คิดได้ว่าเราจะเรียนอย่างเดียวไม่ได้ เราต้องมีมนุษย์สัมพันธ์กับคนด้านนอกด้วย เมื่อเราทำงาน เราจะไม่ทำงานคนเดียวแน่นอน เราต้องพูดคุยกับคนในที่ทำงานด้วย มันทำให้เรามีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ก๊ะเลยเปิดโอกาสให้ตัวเองแต่ก็ไม่ทิ้งการเรียน เราต้องเรียนเพราะว่าแม่อยากให้เราเรียน สิ่งหนึ่งที่ทำให้ก๊ะรักในตรงนี้คือมันทำให้ก๊ะมีประสบการณ์มากขึ้นกว่าแต่ก่อน มีคนชวนแต่เราไม่เข้าใจว่าทำไปเพื่ออะไร มันได้อะไรตอบแทนแต่พอมาทำมันมีอะไรตอบแทนเรามาก


ถาม : สำหรับโครงการนี้ที่ก๊ะบอกว่ามันมีอะไรตอบแทนมาก อะไรบ้างที่มันคือการตอบแทนจากโครงการนี้

ตอบ : สิ่งแรกคือตอนก๊ะซิ่ว ก๊ะเสียดายมากแต่พอมาทำโครงการนี้การเรียนมันไม่ใช่แค่อยู่ในห้องเรียน สิ่งที่ก๊ะทำคือการเรียนรู้ทั้งหมด โครงการนี้ทำให้ก๊ะคิดได้ว่าเราไม่จำเป็นต้องเรียนแค่ในห้องเรียนก็ได้ ก็เลยไม่เสียดายเวลาที่ซิ่วไปหนึ่งปีแล้วสิ่งที่ได้ตอบแทนคือประสบการณ์ยื่นทุกอย่างให้ก๊ะ มันหาได้ยากมากที่จะมายืนตรงนี้แล้วได้รับโอกาส บางคนมีโอกาสแต่ไม่คว้า ก๊ะจำคำของมะสอนไว้ว่าถ้ามีโอกาสแล้วเราอยากทำก็คือทำเลย ไม่ต้องมาถามคนอื่น ถามใจตัวเองว่าอยากทำไหม ถ้าอยากทำก็คือทำเลย ถ้าเราอยากทำเราทำได้อยู่แล้ว


ถาม : ตอนนี้ก๊ะเรียนอยู่ใช่ไหม เราได้เอาประสบการณ์การเรียนรู้ที่เราได้จากตรงนี้ไปปรับใช้กับการเรียนของเราไหม

ตอบ : ปรับใช้ค่ะ บางครั้งก๊ะไม่กล้าถามครูแต่ถ้าเราไม่ถามเราจะไม่รู้ ก็เลยกล้าถามมากขึ้น เหมือนบางครั้งครูถามไม่กล้าตอบ แต่ตอนนี้ไม่ว่าจะถูกจะผิดเราเข้าใจอย่างไรเราก็ตอบไปก่อน ถ้าอันไหนผิดครูจะอธิบายอีกทีก็ได้ประโยชน์ ก๊ะเข้าไปเรียนใหม่ ๆ ไม่กล้าพูดกับเพื่อนแต่ถ้าไม่กล้าพูดกับเพื่อนเราจะอยู่คนเดียว เราอยู่คนเดียวไม่ได้แน่นอน เราต้องไปคุยกับเพื่อนก่อนทำให้เรามีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีมากขึ้น


ถาม : จบโครงการปีนี้แล้วถ้าสมมุติว่ามีปีที่สามอีกเราอยากทำต่อไหม

ตอบ : อยากทำค่ะ แต่ต้องถามน้องๆ ก่อน


ถาม : ถ้าปีที่สาม ถ้าอยากทำอยากทำในบทบาทของพี่เลี้ยงหรือว่าอยากในบทบาทเยาวชนที่เป็นคนทำโครงการ

ตอบ : อยากทำในบทบาทของพี่เลี้ยงเพราะว่าเราอยากปั้นน้องๆ ให้เป็นรุ่นต่อรุ่น ถ้าเราไปเรียนแล้วมีน้องอีกที่จะทำ อยากเป็นพี่เลี้ยง ตอนนี้มีน้องมาสนใจ เราอยากให้มีรุ่นต่อรุ่นไปเรื่อยๆ


ถาม : แล้วอย่างน้องรุ่นนี้ที่เราสร้างมา 12 คนเรามองเห็นอนาคตไหมว่าเขาจะสานต่อความหวังของเราได้

ตอบ : เห็นค่ะ เพราะว่าตอนแรกที่เราบอกไปว่าเราไม่ทำแล้วถ้ามีปีสาม น้องบอกว่าเขาอยากทำอีกช่วยเป็นพี่เลี้ยงให้หน่อยได้ไหม ไม่ต้องช่วยอะไรเยอะ ช่วยเอกสาร ก๊ะเลยบอกว่าถ้าจะทำเดี๋ยวคิดดูก่อนเพราะว่าตอนนี้ฝึกงานอยู่ด้วยกลัวช่วยได้ไม่เต็มที่


ถาม : ก๊ะเรียนด้วย เป็นพี่เลี้ยงไปด้วย สำหรับเราเหนื่อยไหม มีบ้างไหมที่เรารู้สึกว่าเหนื่อย

ตอบ : มีค่ะ บางครั้งคุยกับแม่ว่าไม่อยากทำแล้ว แต่แม่บอกว่าแล้วน้องเขาจะอยู่อย่างไง เราก็เลยต้องทำ


ถาม : เราได้ทำอะไรหลาย ๆ อย่างที่เราไม่เคยทำมาก่อนเลย ประสบการณ์จากตรงนี้เราคิดว่ายังมีอะไรอีกไหมที่เรารู้สึกว่าเราอยากพัฒนาให้ดีกว่านี้

ตอบ : บางทีก๊ะว่าในตัวก๊ะยังมีความเป็นพี่เลี้ยงไม่พอ อยากให้คำปรึกษาน้องให้มากกว่านี้อยากพัฒนาตัวเอง อยากเป็นที่ปรึกษาให้ดีกว่านี้กว่าที่ตัวเองเป็นอยู่ เหมือนบางครั้งน้องมีคำถามก๊ะต้องไปหาข้อมูลอีกทอด บางทีอีกสองสามตอนกว่าก๊ะจะได้คำตอบ บ้านตัวเองมีอะไรบ้างเราถึงจะบอกเขาถูกหลายครั้งน้องรู้กว่าเราอีกเพราะว่าก๊ะเป็นคนที่ไม่ค่อยรู้เรื่องในหมู่บ้านลย


ถาม : ถ้าอย่างนั้นพี่เลี้ยงในรูปแบบของก๊ะที่เราอยากเป็นต้องเป็นแบบไหน

ตอบ: ต้องรู้ให้มากกว่าน้อง ให้คำปรึกษาน้องได้ จะต้องคอยตั้งคำถามที่ล้วงความคิดของเขาออกมาให้ได้แต่บางครั้งก๊ะยังตั้งคำถามได้ไม่ดีพอ


ถาม : มีความฝันหรือว่าอนาคตข้างหน้าหรือยังว่าเราอยากเป็นอะไร

ตอบ : ตอนนี้อยากจะทำตรงนี้ไปด้วยแล้วอยากเรียน ตอนนี้ความคิดเราไม่อยากเรียนเลยแต่แม่ให้เรียน อีกสองปีก็จะจบบัญชีแล้ว คิดว่าจะไปเป็นพนักงานบริษัทเอกชน พนักงานสำนักงานทั่วไปที่ไม่ใช่ข้าราชการ เพราะเราจะลางานมาทำงานตรงนี้ได้ แต่แม่อยากให้สอบราชการ ก๊ะอยากเปิดโลกอยากเปิดโอกาสให้ตัวเองเพราะกลัวว่าถ้าไปเป็นพนักงานราชการแล้วเราจะทำงานตรงนี้ไม่เต็มที่


ถาม : ทำไมไม่มาทำงานในชุมชนเลย ไม่เป็นนักพัฒนาชุมชนอะไรพวกนี้

ตอบ : เหมือนเราไม่ค่อยชอบเข้าหาผู้ใหญ่ด้วย


ถาม : ก็ยังไม่ค่อยชอบเข้าผู้ใหญ่เหมือนเดิม

ตอบ : ค่ะ แต่มันเปลี่ยนไม่ได้ ก๊ะไม่ค่อยชอบคุยกับผู้ใหญ่แต่ถ้าคุยเป็นการ เป็นงาน เราต้องการความรู้จริงก๊ะจะคุยได้แต่ถ้าเป็นเรื่องทั่วไปจะไม่คุยกับเขามากกว่า ก็เลยไม่ค่อยชอบ