สุวัลยา ยาหยาหมัน : แกนนำเยาวชน Active Citizen จ.สตูล

นางสาวสุวัลยา ยาหยาหมัน  แกนนำเยาวชน Active Citizen จ.สตูล

­

·“น้องก๊ะ เด็กสาวชาวสตูล จากเยาวชนในโครงการสู่การเป็นพี่เลี้ยงที่หัวใจไม่ยอมแพ้”

ถ้าจะพูดถึงเด็กสาวที่มีความมุ่งมั่น ทะเยอทะยาน มุ่งเป้าหมายความสำเร็จ และไม่ยอมแพ้อะไรง่าย ๆ ไม่ว่าชีวิตของเธอจะต้องพบเจอกับอุปสรรคและความท้าทายในหลายด้านของชีวิต ทั้งชีวิตการเรียน การทำโครงการ และครอบครัวก็ตาม เธอคนนี้ก็มีคำพูดติดปากบอกกับเราเสมอว่า “ก๊ะต้องทำให้ได้”

เรากำลังพูดถึง น้องก๊ะ นางสาวสุวัลยา ยาหยาหมัน เด็กสาวชาวสตูล ปัจจุบันอายุ 22 ปี และกำลังทำงานเป็นเจ้าหน้าที่การเงิน ที่บริษัทเดอะเกอร์ริลล่า จำกัด

น้องก๊ะ เป็นหนึ่งในแกนนำโครงการ Active Citizen ที่มีเส้นทางการเปลี่ยนแปลงตัวเองค่อนข้างโดดเด่น และมีความก้าวกระโดดกว่าเด็กคนอื่น ๆ โดยเริ่มจากตอนที่อยู่ชั้นมัธยมต้น เธอเป็นเด็กขี้อาย เป็นคนไม่ค่อยชอบเข้าสังคม ชีวิตประจำวันโดยทั่วไปของน้องก๊ะก็คือไปโรงเรียน พอเรียนเสร็จก็กลับมาบ้าน อ่านหนังสือ และเข้านอน แต่พอเข้า ม.6 ได้เป็นสภานักเรียน ก็เริ่มมีการเข้าสังคมมากขึ้น ซึ่งขณะเดียวกันนั้นก็ได้เข้ามาทำโครงการ Active Citizen โดยการชักชวนของพี่อานัต ซึ่งเป็นญาติของตัวเองที่ทำโครงการนี้อยู่แล้ว “หลอก” ให้เธอมาเข้าร่วมประชุมโครงการถึงแม้ในตอนนั้นจะไม่อยากทำโครงการเท่าไหร่ แต่พอได้เข้าไปทำกิจกรรมจริง ๆ สุดท้ายก็ตัดสินใจที่จะทำโครงการต่อไปจนได้

·หาคำตอบในสิ่งที่อยากรู้ ‘นาพญาคืออะไร’ จนเกิดเป็นโครงการในปีที่ 1 “โครงการแนวทางการสร้างสื่อการเรียนรู้ประวัติบ้านนาพญา พญางอกเขี้ยว นาสี่บิง และแหลมต้นหยงกุโบว์ให้กับเยาวชน”

ตอนแรกน้องก๊ะไม่ได้อยากทำโครงการเลย แต่พอได้เข้าร่วมกิจกรรมการค้นหาหัวข้อโครงการก็เลยเปลี่ยนใจ เพราะว่าตอนนั้นน้องก๊ะและทีมระดมความคิดเห็นกันว่าจะทำเรื่องอะไรดี ซึ่งตอนแรกได้มา 4 เรื่อง คือ นาสี่บิ้ง สาหร่ายพวงองุ่น ประวัตินาพญา และการสานเสื่อจากใบเตย และมีอยู่หนึ่งเรื่องที่คุยกันในทีมแล้ว ไม่มีใครรู้ข้อมูลเลย ก็คือ ประวัติความเป็นมาของบ้านนาพญา ทั้ง ๆ ที่เป็นบ้านเกิดของทุกคน ตอนนั้นน้องก๊ะตั้งคำถามกับตัวเองว่า “ทำไมเราอยู่ตรงนั้นแล้วเราถึงไม่รู้ เราอยู่มาตั้ง 18 ปี นาพญาคืออะไร ทำไมต้องชื่อนาพญา ก๊ะเลยรู้สึกว่า พวกเราต้องทำเรื่องนี้แล้วแหละ จะได้พิสูจน์กันไปเลยว่าเป็นยังไง แล้วอีกอย่างก๊ะเป็นคนชอบวิชาคณิตศาสตร์ ข้อไหนที่ก๊ะทำไม่ได้ ก๊ะก็จะทำให้ได้ คือ ไม่ว่ามันจะถูกหรือผิดเราก็ต้องทำให้ได้ เราต้องเห็นว่าคำตอบมันคืออะไร ก๊ะเป็นคนแบบนั้น”และนี่จึงเป็นที่มาที่ทำให้น้องก๊ะและทีมอยากจะทำโครงการนี้ต่อไป จนเกิดเป็นโครงการแนวทางการสร้างสื่อการเรียนรู้ประวัติบ้านนาพญา พญางอกเขี้ยว นาสี่บิง และแหลมต้นหยงกุโบว์ให้กับเยาวชน

·ร่องรอยการเรียนรู้ที่เห็นได้ชัด และความสำเร็จที่ได้รับเมื่อได้ทำโครงการปีที่ 1

ในปีที่ 1 น้องก๊ะและทีมได้ทำโครงการแนวทางการสร้างสื่อการเรียนรู้ประวัติบ้านนาพญา พญางอกเขี้ยว นาสี่บิง และแหลมต้นหยงกุโบว์ให้กับเยาวชน ซึ่งเป็นโครงการเกี่ยวกับการศึกษาประวัติศาสตร์บ้านนาพญาว่ามีความเป็นมาอย่างไร เพื่อนำไปเผยแพร่และสร้างเป็นสื่อการเรียนรู้ให้กับเด็ก ๆ ในชุมชน เพื่อให้เด็กๆ ในชุมชนได้รู้จักประวัติความเป็นมาของบ้านนาพญา และยังเป็นการสร้างจิตสำนึกรักบ้านเกิดให้กับเด็ก ๆ อีกด้วย

พอเริ่มต้นทำโครงการ น้องก๊ะและทีมก็ได้แยกย้ายกันไปตามล่าหาข้อมูลที่อยากรู้จากคนในชุมชนและคนนอกชุมชน ซึ่งเกิดปัญหาตรงที่ข้อมูลที่ได้มานั้นไม่ตรงกัน ทำให้น้องก๊ะและทีมต้องเอาข้อมูลมาวิเคราะห์กันอย่างหนักหน่วง และต้องไปหาข้อมูลเพิ่มเติมจากแหล่งข้อมูลอื่น ๆ ด้วย น้องก๊ะเล่าว่า ‘มันเป็นข้อมูลคนละชุดกัน เขาบอกว่า นาพญามันมีตำนาน เราได้ยินมาสองเรื่อง เรื่องที่เราได้ยินมาผ่าน ๆ แต่พอมาสอบถามใหม่มันกลับเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แล้วทุกหมู่บ้านก็เล่าแบบนั้นมาทั้งหมดเลย มันก็เลยเกิดปัญหาว่า แล้วเราจะหยิบเรื่องไหนมาทำต่อ เหมือนกับเรื่องนี้คนในหมู่บ้านเราเชื่อกันเยอะมาก แต่อีกเรื่องคนด้านนอกเขาพิสูจน์มาแล้วว่าเรื่องมันเป็นแบบนี้จริง ๆ เราก็ต้องมานั่งเลือกกันว่าจะเอาเรื่องไหนที่เราจะเดินไปต่อกันข้างหน้า ซึ่งตอนนั้นเราเลือกจากการหาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต และแต่ละหมู่บ้านก็เข้าข่ายเรื่องที่ 2 มากกว่า เพราะเรื่องที่ 1 มันเป็นแค่เรื่องที่คนในหมู่บ้านเราเขาเชื่อกันแบบนั้น พวกเราก็เลยเลือกเรื่องที่มันมีข้อมูลอ้างอิงมากกว่า’

จากการลงเก็บข้อมูลทำให้เห็นว่า น้องก๊ะและทีมมีการนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์กันอย่างละเอียด อีกทั้งยังมีการค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ หาข้อมูลที่มีการอ้างอิง เพื่อที่จะนำเรื่องราวเหล่านั้นไปทำโครงการต่อไป ซึ่งกระบวนการนี้ ทำให้น้องก๊ะและทีมได้ฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์ (Critical Thinking) ไปในตัว

หลังจากนั้น โครงการก็ได้ดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ จนมาถึงการจัดค่ายกับเด็ก ๆ ในชุมชน ซึ่งการจัดค่ายนี้จะเป็นการนำข้อมูลที่น้องก๊ะและทีมได้ศึกษา มาเผยแพร่ให้กับเด็ก ๆ ในชุมชนได้เรียนรู้ ซึ่ง ณ ขณะนั้น ด้วยความที่น้องก๊ะเป็นพี่ใหญ่ของน้อง ๆ และเป็นแกนหลักของทีม จึงได้แบ่งบทบาทหน้าที่ให้ทุกคนในทีมได้ทำตามความถนัดของตนเอง รวมถึงมีการออกแบบและกำหนดตารางกิจกรรมไว้อย่างชัดเจน เพื่อให้การจัดค่ายนั้นเป็นไปอย่างราบรื่นที่สุด ซึ่งถือว่าน้องก๊ะมีทักษะในการบริหารจัดการงาน (Management Skill) ได้เป็นอย่างดี

พอถึงวันที่จัดค่าย น้องก๊ะได้ทำหน้าที่เป็นผู้เล่าเรื่องประวัติความเป็นมาของบ้านนาพญา โดยการนำเนื้อหาที่รวบรวมมาเล่าให้น้อง ๆ ฟัง ซึ่งตอนนั้นน้องก๊ะบอกว่าตนเองได้ฝึกทักษะการสื่อสารไปในตัว (Communication) เพราะเมื่อก่อนเป็นน้องก๊ะเป็นด็กขี้อาย ไม่กล้าสื่อสารกับใครเลย ทำให้การจัดค่ายในวันนั้นได้รับเสียงตอบรับที่ดีเกินคาด จากเดิมที่ตั้งเป้าหมายไว้ว่ามีผู้เข้าร่วมประมาณ 25 คน แต่กลับกลายเป็นว่ามีคนเข้ามาร่วมกิจกรรม 40 กว่าคน ซึ่งทำให้น้องก๊ะและทีมได้รับการยอมรับและคำชื่นชมจากผู้ใหญ่ชุมชนว่า ถึงแม้จะเป็นเด็กแต่ก็สามารถที่จะเผยแพร่ความรู้ให้กับน้อง ๆ ในชุมชนได้ และนี่จึงเป็นความสำเร็จในการทำโครงการในปีที่ 1 ที่ทำให้น้องก๊ะเกิดความรู้สึกว่า “อยากวางเป้าหมายให้ไกลกว่านี้อีก”

·จุดเปลี่ยนผ่าน การเติบโตแบบก้าวกระโดดกับการเป็นพี่เลี้ยงเยาวชนในโครงการปีที่ 2

เมื่อโครงการปีที่ 1 ประสบความสำเร็จ พอขึ้นโครงการในปีที่ 2 ปรากฎว่าพี่เลี้ยงชุมชนที่ดูแลทีมของน้องก๊ะมีปัญหา ทำให้ไม่สามารถมาดูแลน้องก๊ะและทีมได้ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ เพราะน้องก๊ะและน้องไหม ถูกร้องขอให้มาเป็นพี่เลี้ยงแทน ซึ่งถือเป็นการเติบโตที่ก้าวกระโดดของน้องก๊ะและน้องไหมเป็นอย่างมาก จากเยาวชนต้องมาเป็นพี่เลี้ยงที่คอยดูแลน้อง ๆ และส่วนใหญ่มีแต่เด็กผู้ชาย อยู่ในวัยมัธยม บางคนก็ยังอยากที่จะเล่นเกมอยู่ ซึ่งตรงนี้ทำให้น้องก๊ะและน้องไหมต้องพบเจอกับโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายขึ้นและต้องหาวิธีการรับมือกับโจทย์นี้

น้องก๊ะเล่าต่อว่า ช่วงต้นโครงการที่น้องก๊ะและน้องไหมต้องมาเป็นพี่เลี้ยงให้กับน้อง ๆ ปรากฏว่า น้องไหมสอบติดมหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง ทำให้ต้องย้ายไปอยู่ที่นั่น เมื่อน้องไหมไม่อยู่ น้องก๊ะเลยต้องรับบทหนักในการดูและน้อง ๆ และด้วยความเป็นตัวตนของน้องก๊ะที่บางครั้งคิดอะไรไปแล้วพูดออกมาเลย ไม่ทันคิดให้รอบคอยก่อนพูด ทำให้น้อง ๆ ในทีมบางคนรู้สึกอึดอัดใจในการทำงานร่วมกัน หรือบางครั้งที่มีการประชุมกันน้องก๊ะก็จะเข้าเรื่องงานเลย แต่ไม่ได้ฟังความต้องการของน้อง ๆ ว่าเขาอยากทำอะไร น้อง ๆ บางคนอยากขอเวลาเล่นเกมก่อนประชุม แต่น้องก๊ะก็ไม่ให้เวลาเขา ทำให้น้อง ๆ หนีกลับบ้านกันเกือบหมด เหลือประชุมกันแค่สามคน

เหตุการณ์วันนั้นทำให้น้องก๊ะกลับมาทบทวนตัวเอง และตั้งใจว่าหลังจากนี้จะให้เวลาและปรับความเข้าใจกับน้อง ๆ มากขึ้น เราต้องฟังน้อง ไม่ใช่ให้น้องฟังเรา “ครั้งหนึ่งที่ก๊ะไม่ให้เวลาเขาเลย ก๊ะเห็นผลลัพธ์ว่า มันไม่ได้ เขามีใจมาทำนะ แต่เขาก็อยากมีเวลาเล่นเกมของเขาบ้าง เหมือนบางคนเรียนกลับมาก็มาประชุมเลย บางคนไปทำงานกลับมาก็มาประชุมเลย เขาก็ขอแค่หนึ่งชั่วโมงหรือครึ่งชั่วโมงในการเล่นเกม ทำไมเราถึงให้เขาไม่ได้ พอก๊ะไม่ให้เขา เขาก็กลับบ้านเลย วันนั้นเรานั่งประชุมกันสามคนซึ่งมันไม่ใช่ ก๊ะเลยกลับมาทบทวนตัวเองว่าเราต้องให้เวลาและปรับความเข้าใจกับเขา เราต้องฟังเขา ไม่ใช่ให้เขาฟังเราหลังจากนั้นน้องก๊ะก็ได้ปรับตนเองใหม่ และสร้างข้อตกลงกับน้อง ๆ ว่า ก่อนประชุมเราจะให้เวลาเล่นเกมครึ่งชั่วโมงและรีบประชุมให้เสร็จตามเวลาที่นัดกันไว้ เพื่อที่ทุกคนจะได้แยกย้ายไปทำภารกิจของตัวเอง

อีกหนึ่งสิ่งที่น้องก๊ะได้เรียนรู้จากการเป็นพี่เลี้ยง ก็คือ การลงมือทำเป็นตัวอย่างให้น้อง ๆ และให้น้อง ๆ เห็นว่าผลลัพธ์ของการลงมือทำเป็นอย่างไร น้องก๊ะบอกว่าเรียนรู้วิธีการแบบนี้มาจากแม่ของตนเอง ‘แม่จะทำให้ดูก่อน แม่จะไม่พูดแต่จะทำเลย ทำให้ก๊ะเห็นว่า การที่แม่ไม่พูดแต่แม่ทำเลย มันทำให้เรารับรู้ว่าเขาทำอะไรให้เราบ้าง มันเกิดผลดีกับเรายังไง’

นอกจากการเป็นพี่เลี้ยงดูแลน้อง ๆ ทำโครงการแล้วในปีที่ 2 แล้ว น้องก๊ะยังได้ขยับตัวเองขึ้นไปเป็นผู้ช่วยทีมโค้ชโครงการ Active Citizen จังหวัดสตูลอีกด้วย น้องก๊ะเล่าว่า การเข้าไปช่วยงานตรงนี้ทำให้ตนเองได้ฝึกทักษะการฟังและการจับประเด็นขึ้นกระดาน ช่วงแรกมีความกล้า ๆ กลัว ๆ มาก กลัวว่าตนเองจะทำไม่ได้ จนกระทั่งได้ลองไปทำจริง ๆ ก็มีก๊ะบุหลัน ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมโค้ชโครงการ Active Citizen จังหวัดสตูล ที่คอยถ่ายทอดประสบการณ์และคอยแนะนำวิธีการจับประเด็นขึ้นกระดานให้ และเมื่อน้องก๊ะได้ฝึกทำไปเรื่อย ๆ ก็เริ่มรู้สึกสนุก และทำออกมาได้ดีขึ้น และสิ่งที่ได้จากการทำงานตรงนี้ก็คือ ความเชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้นว่าตัวเองทำได้ การมีสติ มีจุดโฟกัส และเข้าใจงานของผู้ใหญ่มากขึ้น อีกอย่างสิ่งนี้ยังนำไปเป็นเครื่องมือหาเลี้ยงชีพในอนาคตได้อีกด้วย

·มรสุมครั้งใหญ่ จุดตัดสินใจว่าจะเดินต่อไปยังไงดี

ขณะที่น้องก๊ะรับบทบาทเป็นพี่เลี้ยงในโครงการปีที่ 2 และช่วงนั้นเป็นช่วงที่ต้องเรียนต่อในระดับชั้น ปวส. ด้วย ทำให้เป็นช่วงเวลาที่ค่อนข้างหนักสำหรับน้องก๊ะ เพราะต้องเรียนไปด้วยและดูแลน้อง ๆ ทำโครงการไปด้วย

น้องก๊ะเล่าถึงช่วงความเหนื่อยล้าในช่วงนั้นให้ฟังว่า “ตอนเช้าไปโรงเรียน กลับมาก็สี่ห้าโมงเย็น เพราะเราเป็นเด็กทุน ช้าสุดก็ทุ่มนึง และเราต้องมาประชุมน้องต่อ ประมาณสองทุ่มต้องเคลียร์ตัวเองเพื่อไปอ่านหนังสือ เพราะว่าก๊ะจบ ม.6 และมาต่อ ปวส. ปีนึงเรียน 4 เทอม ไม่มีปิดเทอมและต้องเรียนซัมเมอร์ด้วย พอก๊ะทำมาได้เทอมนึง แต่เหมือนก๊ะไม่ไหวแล้ว แต่เราเสียดายเงิน เสียดายทุนที่ได้ อุตส่าห์แข่งมากับเพื่อน เพราะว่าจบ ม.6 เขาให้แค่คนเดียว ไหนเราจะห่วงแม่อีก และเหมือนเราบริหารเวลาไม่เป็น บวกกับเสาร์อาทิตย์ต้องช่วยงานกิจกรรมที่วิทยาลัยด้วยเพราะเป็นเด็กทุน และต้องอ่านหนังสืออีก”

ซึ่งนั่นเป็นจุดตัดสินใจที่สำคัญสำหรับน้องก๊ะว่าจะทำยังไงต่อไปดี แต่ความโชคดีคือ น้องก๊ะมีแม่ที่จะคอยเตือนสติอยู่เสมอว่า เราสร้างมาแล้ว แล้วเราจะพังมันด้วยตัวเองหรอ เหมือนกับสร้างน้องเขามาแล้ว ถ้าน้องเขาไม่มีที่ยึดแล้วเราจะทำยังไง” และในขณะเดียวกันก็มี บังเชษฐ์ ซึ่งเป็นโค้ชโครงการ Active Citizen จังหวัดสตูล ที่คอยให้กำลังและเชื่อมั่นว่า “ก๊ะทำได้เสมอ” ทำให้น้องก๊ะมีแรงผลักดันที่จะทำโครงการต่อไป และเริ่มปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการเวลาของตนเองใหม่ แบ่งเวลาในเรียนและการอ่านหนังสือ ส่วนบทบาทการเป็นพี่เลี้ยงก็เริ่มถอยตัวเองออกมาดูอยู่ห่าง ๆ ให้พื้นที่น้อง ๆ ในการจัดการงานกันเองมากขึ้น แต่จะคอยชวนพูดคุยและถอดบทเรียนกันเป็นระยะ ๆ ทำให้น้องก๊ะเริ่มเห็นการเติบโตของน้อง ๆ ในทีมมากขึ้น

  • ·กล้าที่จะก้าวข้ามเส้นแห่งความกลัว และปัญหา

คุณลักษณะที่สำคัญ” ที่ติดตัวน้องก๊ะมาจากการทำโครงการ Active Citizen ก็คือการเป็นเด็กที่มีความอดทน สามารถปรับตัวเข้ากับคนอื่น ๆ ได้ดีขึ้น อีกทั้งยังเป็นเด็กที่มีทัศนคติที่ดี ไม่จมอยู่กับปัญหา

ถึงแม้ว่า จะมีช่วงที่น้องก๊ะต้องเจอกับมรสุมชีวิต ทั้งการเรียน การทำโครงการ และปัญหาครอบครัวแต่น้องก๊ะก็ไม่ได้จมอยู่กับปัญหา และพยายามที่จะแก้ไขปัญหาให้ดีขึ้น น้องก๊ะเล่าให้ฟังว่า “ช่วงนั้นเป็นช่วงที่เจอปัญหาหนัก แต่ก๊ะไม่จมกับปัญหาตรงไหนและแก้มันด้วยตัวเอง ต้องก้าวข้ามผ่านเส้นที่เรากลัว เหมือนตอนจบโครงการ Active Citizen ปี 1 พ่อแม่เลิกกัน เรารับไม่ได้ เราเครียด แล้วเราก็ก้าวผ่านจุดนั้นมา พอจบ ปสว. ก็ไม่มีบ้านของตัวเอง เราจะทำยังไงล่ะ เราต้องไม่จมกับปัญหาตรงนั้น จะก้าวข้ามมัน ก้าวไปข้างหน้าต่อไป ให้ทุกคนในบ้านไม่เป็นห่วงและจมปลักกับเราด้วย เพราะพอเราเครียด แม่และยายก็เครียด’

การที่น้องก๊ะกล้าที่จะเผชิญกับปัญหา กล้าที่จะก้าวข้ามเส้นแห่งความกลัว ทำให้ปัจจุบันน้องก๊ะกลายเป็นเสาหลักที่สำคัญของครอบครัว ความเชื่อมั่นในตัวเองว่า “ก๊ะทำได้” และความไม่ยอมแพ้ เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้น้องก๊ะมีกำลังใจและไม่กลัวที่จะเผชิญกับทุกปัญหาที่เข้ามาท้าทาย

·หลากหลายความฝันที่อยากสานต่อในอนาคต

หากชีวิตไม่มีข้อจำกัดใด ๆ ความฝันแรกของน้องก๊ะที่อยากจะทำ คือ “การเป็นครูสอนคณิตศาสตร์” เพราะตนเองเป็นคนที่ชอบตัวเลข ชอบการคิดคำนวณ และอีกหนึ่งความฝันคือ “การเป็นผู้ตรวจสอบบัญชี” เพราะฐานเงินเดือนค่อนข้างสูง เพราะจะช่วยให้น้องก๊ะมีรายได้ที่จะจุนเจือครอบครัวได้มากขึ้น ซึ่งหลังจากนี้ น้องก๊ะตั้งใจว่าจะไปเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย ในคณะบัญชี เพื่อสานฝันการเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีให้เป็นจริงได้

อีกหนึ่งความฝันที่อยากทำ คือ “การสร้างกลุ่มเยาวชนบ้านนาพญา”เพราะว่าตนเองมีน้อง ๆ ในทีมอยู่แล้ว และทุกคนกำลังมีไฟที่อยากจะทำอะไรเพื่อชุมชนของตนเอง ถึงแม้ตอนนี้อาจจะยังไม่เป็นรูปเป็นร่างมากนัก เพราะสถานการณ์โควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาด เลยทำได้เพียงสร้างเพจกลุ่มเยาวชนขึ้นมาเท่านั้น แต่น้องก๊ะก็ยืนยันว่า “เมื่อสถานการณ์กลับมาปกติจะกลับไปทำอะไรเพื่อชุมชนบ้านเกิดของตนเองอย่างแน่นอน”