กนกนันท์ หมื่นสิทธิโรจน์ : แกนนำเยาวชน Active Citizen จ.ลำพูน

นางสาวกนกนันท์ หมื่นสิทธิโรจน์  แกนนำเยาวชน Active Citizen จ.ลำพูน


นุกนิก-กนกนันท์ หมื่นสิทธิโรจน์ เด็กสาวผู้มีบุคลิกที่สดใส มีความมั่นใจในตัวเอง กล้าแสดงออก เรามักจะเห็นเธอเป็นผู้นำของน้อง ๆ เมื่อทำกิจกรรมในโครงการ Active Citizen เสมอ ซึ่งนอกจากบทบาทการเป็นผู้นำแล้ว นุกนิกยังได้เรียนรู้ ‘บทบาทอื่น ๆ’ ที่ทำให้เธอเติบโตขึ้น บนเส้นทางของการทำโครงการ Active Citizen อีกด้วย

  • ·เด็กสายกิจกรรม ชอบทำงานอาสาเป็นทุนเดิมจึงได้เข้าร่วมโครงการ Active Citizen ในปีที่ 1

ครอบครัวปลูกฝังให้ทำกิจกรรมในหมู่บ้านตั้งแต่เด็ก ๆ เช่น เป็นตัวแทนหมู่บ้าน อย่างตอนที่อยู่ขอนแก่นก็โดนจับประกวด พอมาอยู่เหนือก็ได้เล่นกีฬา แล้วพอมีงานจัดแข่งขันต่าง ๆ อาจารย์ก็ชอบเรียกเราไปแข่ง หลังจากนั้นก็เริ่มมีการออกค่ายอาสาตามสถานที่ต่าง ๆ เพราะเป็นความชอบส่วนตัว”

นุกนิกเล่าให้ฟังถึงความเป็นเด็กกิจกรรม และงานอาสาที่เธอเคยได้ทำมาตั้งแต่เด็กจนเรียนมหาวิทยาลัย จนกระทั่งเธอได้ถูก ‘พี่บิว’ รุ่นพี่ในโครงการ Active Citizen จังหวัดลำพูน ชักชวนให้มาทำโครงการร่วมกันใน ปีที่ 1 ก็คือ ‘โครงการเยาวชนดีวิถีพุทธธรรม จิตอาสาวัดในชุมชน’ เป็นโครงการจิตอาสาเพื่อการพัฒนาวัดในชุมชนโดยรอบสวนพุทธธรรม จังหวัดลำพูน โดยมีเด็กและเยาวชนในพื้นที่มาร่วมกิจกรรม และใช้วัดเป็นที่รวมกลุ่มเยาวชน สร้างกิจกรรมดี ๆ ร่วมกัน

ซึ่งการที่ทำโครงการนี้ นุกนิกบอกว่าเป็นเรื่องที่ดีสำหรับตนเองเช่นกัน เพราะก่อนหน้านี้เคยทำกิจกรรมร่วมกับสวนพุทธธรรมฯ อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการไปสวดมนต์ นั่งสมาธิ หรือการช่วยงานอาสาต่าง ๆเลยรู้สึกเหมือนพาตัวเองกลับไปอยู่ในช่วงเวลาแบบนั้นอีกครั้ง

ช่วงแรกที่เข้ามาทำโครงการ นุกนิกบอกว่า “ไม่เข้าใจว่าโครงการนี้ทำไปเพื่ออะไร” แต่พอได้มาลงมือทำจริง ๆ ก็ค้นพบว่า โครงการนี้ไม่ใช่แค่การทำงาน “จิตอาสา” เท่านั้น แต่เป็นโครงการที่ทำให้ตนเองได้พัฒนาศักยภาพในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นทักษะความเป็นผู้นำ เพราะว่าตนเองเป็นพี่ใหญ่สุดของทีม ในการทำงานจึงต้องมีบทบาทและความรับผิดชอบมากกว่าน้อง ๆ คนอื่น ๆ หรือแม้กระทั่งงานด้านการบริหารจัดการโครงการ การดูแลการเงินโครงการ และการทำรายงาน ล้วนเป็นสิ่งที่นุกนิกต้องเรียนรู้และต้องคอยเป็นพี่เลี้ยงสอนให้น้อง ๆ ได้ฝึกทำและเรียนรู้ไปด้วยกัน

  • ·ความท้าทายกับบทบาท “แม่งาน” ในงานมหกรรมเยาวชนเมืองลำพูน ปีที่ 1

ด้วยความที่นุกนิกเป็นพี่ใหญ่สุดของทีม ตนเองจึงได้รับบทบาทในการเป็น “แม่งาน” ในการจัดงานมหกรรมเยาวชนเมืองลำพูน ปี 1 ซึ่งถือว่าเป็น “ความท้าทาย” ของเธอเป็นอย่างมาก เพราะต้องดูแลภาพรวมของงานทั้งหมด และต้องทำให้งานนี้สำเร็จให้ได้

แต่ความโชคดีคือ ด้วยความที่นุกนิกเป็นเด็กสายกิจกรรมอยู่แล้ว ทำให้มีประสบการณ์ในการจัดงานใหญ่ ๆ พอต้องมารับผิดชอบเป็นแม่งานในงานมหกรรมปีนี้ ก็เลยรู้ว่าตนเองจะต้องวางแผนงานและแบ่งบทหน้าที่ให้กับน้อง ๆ อย่างไร

เมื่อถึงวันงานมหกรรม ถึงแม้ว่าจะมีการวางแผนและเตรียมตัวกันมาอย่างดี แต่ก็มีปัญหาหลาย ๆ เกิดขึ้น อย่างเช่น กำหนดบทบาทให้น้องคนหนึ่งเป็นผู้เดินแบบในงาน แต่พอถึงวันจริงน้องไม่ยอมเดินให้ แต่ด้วยความที่นุกนิกรับบทเป็นแม่งาน ตนเองก็ต้องหาวิธีการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อให้การจัดงานในวันนั้นผ่านพ้นและลุล่วงไปได้ด้วยดี

นอกจากการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นแล้ว สิ่งสำคัญที่ทำให้นุกนิกผ่านงานที่ท้าทายมาได้ เรื่องแรกคือ ‘การมีสติ’ ไม่ใช้อารมณ์ในการตัดสินใจ นุกนิกเล่าว่า ‘ถ้าใครที่ทำอะไรไม่ได้ดั่งใจเราเมื่อก่อน เราก็จะวีน หรืออารมณ์เสียไปแล้ว แต่พอมาทำโครงการนี้ แล้วทำกับวัดไปสักพักก็หล่อหลอม ก็เลยลดความเกรี้ยวกร้าดของตัวเองลง ลดการชี้นำของตัวเอง กลายเป็นคนใจเย็น เหมือนแบบพูดดีขึ้น ปกติแล้วเราจะเป็นคนพูดขวานผ่าซากหน่อย ๆ แต่พออยู่กับเด็ก เราอยู่กึ่งระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ การวางตัวของเราก็ต้องค่อนข้างปรับเยอะ”

เรื่องที่สองคือการเป็นผู้นำเพราะสามารถควบคุมและบริหารจัดงานให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี โดยนุกนิกสะท้อนตนเองว่า ‘เห็นตัวเองในเรื่องการเป็นผู้นำชัดมาก เพราะเราสามารถคุมคนอยู่ จากตอนแรกเราไม่มั่นใจเลย ปกติจะไม่ค่อยกล้าออกไปคุมใครขนาดนั้น จะเป็นคนที่ตามมากว่า เพราะชอบเบื้องหลัง ไม่ชอบเป็นคนอยู่ข้างหน้า แต่พอก้าวเข้ามาทำเองก็แบบคุมได้ ทำได้ก็จะเป็นทักษะนี้ที่เพิ่มมาปกติจะอยู่เบื้องหลัง

และเรื่องสามคือ เรียนรู้สิ่งใหม่’ ผ่านจากการเขียนโครงร่าง และการทำบัญชี ซึ่งจากเดิมตอนแรกที่ไม่รู้รายละเอียดการเขียนเลย หรือการแตะเรื่องของตัวเลย จนกระทั่งสุดท้ายสามารถสอนน้องได้ เป็นต้น

  • ·เส้นทางการเรียนรู้กับบทบาทที่หลากหลายจากเยาวชนสู่พี่เลี้ยง และกลายเป็นผู้ช่วยทีมโค้ช

ช่วงที่ทำโครงการในปีที่ 1 ตอนนั้นนุกนิกบอกว่า ตนเองรู้สึกสับสนในบทบาทของตนเองมาก เพราะต้องควบสองบทบาทในคนเดียว ๆ กัน คือเป็นทั้งเยาวชนและเป็นทั้งพี่เลี้ยงให้กับน้อง ๆ

“อย่างแรกเลยคือสับสนกับตัวเอง สรุปฉันจะเป็นอะไร ต้องเพิ่มต้องลดหลาย ๆ อย่าง บางทีจัดการกรุ๊ปพี่เลี้ยง กรุ๊ปเยาวชน บางทีเอามารวมกันกลายเป็นเรางงเอง แต่ว่ามันไม่ได้ยากแบบนั้น เราจัดการได้อยู่ก็เลยไม่ได้รู้สึกเครียดเท่าไหร่ แต่ก็ถ้าเกิดงานไม่เสร็จเราก็จะเครียดมีไปลงที่คนอื่นนิดหน่อย”

ยิ่งไปกว่านั้นพอเข้าสู่การทำโครงการปีที่ 2 นุกนิกได้ขยับบทบาทมาเป็น “ผู้ช่วยทีมโค้ช” ซึ่งแน่นอนว่ามันไม่ได้เป็นเรื่องที่ง่ายสำหรับเด็กสาวคนหนึ่งที่เริ่มต้นจากการเป็นเยาวชนมาสู่การเป็นพี่เลี้ยง จากพี่เลี้ยงก็ได้เข้ามาสู่บทบาทผู้ช่วยโค้ช แต่ในความยากนั้นก็เป็น ‘สนามฝึก’ เป็นโอกาสให้นุกนิกได้เรียนรู้ และสำรวจตัวเองมากขึ้น

ตอนที่เป็นเยาวชน เราไม่ได้คิดยิบย่อยอะไรขนาดนั้น ตอนเป็นเด็กเราก็คิดว่าแค่เราทำตามแผนไปแค่นั้น ส่งแล้วก็จบ พอมาเป็นพี่เลี้ยง เราแค่ตามงานกับเด็ก และช่วยทำงานให้เด็กก็เสร็จ จบแค่นั้น แต่พอมาเป็ผู้ช่วยทีมโค้ช ต้องวางแผนละเอียดมากขึ้นว่าพี่เลี้ยงจะต้องทำยังไง เด็กจะต้องทำยังไง เราจะไปถึงจุดนั้นยังไงต่อ คือ มันไม่เหมือนแค่ทำให้ แต่ต้องทำความเข้าใจทุกอย่าง ไม่ใช่แค่เด็กหรือพี่เลี้ยง แต่ต้องเข้าใจบริบทบริเวณโดยรอบ แล้วเนื้อหาเราต้องแม่นยำ เพราะเราอยู่ทีมกลาง ตอนนั้นหนูจำได้ว่าตอนที่พี่เบนซ์มาพูดว่าทำไมเขียนแบบนี้ ทำไมเขียนไม่เหมือนกัน เราไม่เข้าใจความหมายแล้วเราจะไปพูดให้เขาฟังยังไง เราไม่รู้เลยแล้วเราจะไปให้คำแนะนำอะไรเขาได้ เราก็เลยต้องทำการบ้านเพิ่ม ไปหาข้อมูลเสริม ถ้าเกิดพี่เขาไม่พูดขึ้นมา เราก็จะไม่รู้ว่าสิ่งนี้คือสิ่งที่เราต้องรู้” นุกนิกเล่าให้ฟังถึงความแตกต่างระหว่างสามบทบาทที่เคยได้รับ

นอกจากนี้ นุกนิกยังได้สะท้อนตนเองให้ฟังอีกว่า รู้สึกว่าตัวเองก้าวหน้าขึ้นมาก ถึงแม้ระหว่างทางการเรียนรู้ที่เจอก็เป็นเรื่องยากสำหรับเธอพอสมควร ยังมีช่วงที่เธอรู้สึกดาวน์กับตัวเอง แต่ก็พยายามดึงตัวเองให้กลับมา โดยการไปปรึกษาพี่ ๆ หรือคอยให้กำลังใจตัวเอง บอกจัวเองว่าอย่าไปยึดติดมาก พยายามทำความเข้าใจ และเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ

สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำหน้าที่ทั้งสามบทบาทก็คือ “การเรียนรู้รูปแบบงาน” ซึ่งจากเดิมที่เป็นเยาวชนและพี่เลี้ยง อาจจะไม่ได้เน้นเรื่องการเก็บข้อมูลหรือการทำวิจัยมากนัก แต่พอมาเป็นผู้ช่วยทีมโค้ชแล้ว งานข้อมูลเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ๆ รวมถึงเรื่องการบันทึกการประชุม ซึ่งจะมีเนื้อหาหรือมีคำศัพท์ที่ นุกนิกไม่เคยรู้จักมาก่อน เช่น AAR ARE CBR เพราะนุกนิกเรียนสายวรรณคดีมา พอต้องมาทำงานด้านนี้ ทำให้เธอต้องไปศึกษาเรียนรู้เพิ่มเติม และในการเป็นผู้ช่วยทีมโค้ชนั้นต้องทำงานกับเด็ก ๆ ในเชิงที่ลึกขึ้น เธอจึงต้องไปเรียนรู้เกี่ยวกับจิตวิทยาเด็กเพิ่มเติม เพื่อนำมาใช้พูดคุยและทำงานร่วมกับเด็ก ๆ ‘เพราะว่าเราต้องคุยกับเด็กเยอะขึ้น ด้วยความที่บอกว่าแรกๆ เราค่อนข้างพูดจาขวานผ่าซากนิดนึง เราก็ต้องซอฟตัวเอง ก็เลยต้องไปศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจิตวิทยาเด็ก การพูดคุยกับเด็ก เพราะเราไม่รู้ว่า คำพูดเราจะไปทำร้ายใครหรือเปล่า เราเลยต้องเปลี่ยนตัวเองในการพูดให้ซอฟลง

จะเห็นได้ว่า ตลอดเส้นทางการเรียนรู้ของทั้งสามบทบาทนั้น ช่วยเปิดโลกให้นุกนิกได้สำรวจตัวเอง มองเห็นศักยภาพและความสามารถของตัวเอง และสิ่งเหล่านี้ทำให้เธอได้ค้นพบในสิ่งที่ตัวเองอยากทำในอนาคต

  • ·อนาคต ความฝัน และการได้ค้นพบตัวเองจากการทำโครงการ Active Citizen

จากเด็กที่เรียนจบศิลปศาสตร์ สาขาภาษาไทย ปัจจุบันได้มาทำงานเป็นเลขานุการกิจ ที่สถาบันวิจัยหริภุญชัย เพราะสนใจงานด้านสังคม ก่อนหน้านี้ นุกนิกเล่าว่า ที่บ้านคาดหวังอยากให้ตนเองรับข้าราชการครู เพราะมองว่างานราชการเป็นงานที่ดีและมั่นคง แต่นุกนิกรู้สึกว่ามันไม่ใช่สิ่งที่ตนเองอยากทำจริง ๆ เพราะได้ค้นพบความชอบของตัวเองในช่วงที่ทำโครงการ Active Citizen

‘จากตอนแรกก็ถามตัวเองว่า เรามาทำอะไรตรงนี้ แต่พออยู่ไปอยู่มาเหมือนว่าเราชอบลงชุมชน เหมือนได้ค้นพบตัวเองทีหลัง เพราะตอนเรียน เรามุ่งแต่เรียน อ่านหนังสือ เขาวางกรอบไว้เราก็ไปตามกรอบของเขา แต่พอโตขึ้นก็รู้ว่าสิ่งที่เราต้องการคืออะไร เราชอบแบบนี้มากกว่า เราเลยอยู่ตรงนี้ คือความจริง มีเถียงในใจเหมือนกันแต่มันก็หล่อหลอมมาเรื่อย ๆ

สิ่งที่นุกนิกรู้สึกชอบจากการทำโครงการ Active Citizen จนกระทั่งการได้เข้ามาทำงานในสถาบันวิจัยหริภุญชัยแบบเต็มตัว ก็คือ การทำงานที่กับคนชุมชนโดยตรงแบบเจาะลึก ทำให้ตนเองได้เรียนรู้ และพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา

ภาพฝันในอนาคต “การกลับไปทำงานเพื่อพัฒนาชุมชนของตนเอง” ก็ยังคงเป็นเรื่องที่อยากสานต่อ นุกนิกบอกว่าตนเองอยากทำ“ศูนย์การเรียนรู้เกษตรผสมสาน” ให้เด็ก ๆ ในชุมชนหรือคนที่สนใจได้เข้ามาเรียนรู้เกี่ยวกับพืชสมุนไพร ไม้มงคล ไม้ประดับ เพราะไม่อยากให้ความรู้ตรงนี้หายไป อีกอย่างพ่อของตนเองก็ทำเรื่องนี้มาก่อนแล้วและเป็นผู้ที่มีความรู้และความถนัดทางด้านนี้ด้วย และที่สำคัญนุกนิกบอกด้วยความมั่นใจว่า ‘หากทำสำเร็จศูนย์การเรียนรู้เกษตรผสมผสานนี้ ก็สามารถสร้างอาชีพเสริมให้กับในชุมชนของเธอได้’

อีกหนึ่งความฝันที่อยากทำคือ การนำความรู้และความสามารถทางด้านการฟ้อนรำ ไปสอนให้กับเด็ก ๆ ในชุมชน หากมีกิจกรรม งานบุญ หรือประเพณีต่าง ๆ ที่จัดในชุมชนก็จะได้นำการแสดงฟ้อนรำนี้ไปแสดง เพื่อให้ทุกคนได้เห็นถึงศักยภาพของเด็ก ๆ เยาวชนรุ่นใหม่และเป็นการสืบสานศิลปะการฟ้อนรำให้อยู่ในชุมชนต่อไป