อินทุอร หล้าโสด : บทสัมภาษณ์พี่เลี้ยงเด่น​ โครงการสืบฮีตตวยฮอยวิถีชีวิตขุนน้ำสาร “บ้านจำขี้มด”

โครงการ สืบฮีตตวยฮอยวิถีชีวิตขุนน้ำสาร “บ้านจำขี้มด”


บทสัมภาษณ์พี่เลี้ยงเด่น

ชื่อ : นางสาวอินทุอร หล้าโสด (แตง) อายุ : 36 ปี

การศึกษา : การศึกษานอกระบบ (กศน.) ระดับชั้นม. ปลาย

อาชีพปัจจุบัน : ไม่ได้ทำงาน (เพราะมีปัญหาด้านสายตา)



ถาม : พี่แตงเป็นพี่เลี้ยงตั้งแต่ปีที่ 1 ใช่ไหมคะ

ตอบ : ใช่ค่ะ มาเป็นพี่เลี้ยงตั้งแต่ปีที่แล้ว


ถาม : ก่อนที่จะทำโครงการปีแรก เคยทำงานร่วมกับชุมชนหรือเยาวชนมาก่อนไหมคะ

ตอบ : ใช่ค่ะ ตัวพี่กับกลุ่มน้อง ๆ จะทำเกี่ยวกับเรื่องของจิตอาสา กิจกรรมเยาวชนตั้งแต่ปี 48 ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา แล้วปีที่แล้วกับปีนี้ก็มาร่วมทำกิจกรรมกับทาง Active Citizen


ถาม : ปกติพี่แตงมีบทบาทในชุมชนด้านไหนบ้างไหมคะ ในการพาน้องไปทำจิตอาสา

ตอบ : ในชุมชนเราก็จะเป็นที่ปรึกษาของน้อง ๆ และบางทีเราก็รวมกลุ่มกันหางบประมาณมาจัดทำค่ายบ้างแล้วก็เคยรวมน้องๆ ไปเดินกล่องเพื่อส่งน้องคนหนึ่งในหมู่บ้านที่ยากจนให้เขาเรียนจบชั้น ปวช.


ถาม : พี่แตงทำกันเองกับน้องในชุมชนหรือว่าคนในชุมชนก็ร่วมด้วยคะ

ตอบ : จะเป็นตัวพี่กับน้องๆ ที่รวมกลุ่มแล้วเราก็ปรึกษาในส่วนของผู้นำชุมชน แล้วก็จะมีในส่วนของเอกสารที่เป็นเอกสารยืนยันซึ่งทางผู้นำชุมชนเขาเป็นนายทุนให้ เพื่อเวลาเราไปเดินจะได้มีเอกสารแสดงคนภายในหมู่บ้าน เขาก็ช่วย อาทิตย์หนึ่งเขาก็จะช่วยบริจาคคนละสี่สิบ ห้าสิบบาทเพื่อส่งน้องคนนี้ให้ได้เรียนหนังสือ


ถาม : อะไรคือแรงบันดาลใจให้พี่แตงต้องมาทำโครงการพวกนี้กับน้องเยาวชนด้วย

ตอบ : จุดเริ่มต้นเกี่ยวกับการรวมตัวของน้อง ๆ จากสถาบันวิจัยหริภุญชัยตั้งแต่ตอนประมาณปี 48 ที่เขาเริ่มมาทำโครงการ มาจัดตั้งกลุ่มน้องๆ ในหมู่บ้านเลยเป็นจุดเริ่มต้นทำให้เราเริ่มทำกิจกรรม


ถาม : ทำไมพี่แตงถึงต้องให้ความสำคัญกับน้องๆ ในหมู่บ้านของเราด้วยคะ

ตอบ : เพราะว่าช่วงนั้นพี่เริ่มมีปัญหาเกี่ยวกับสายตา และทำงานเหมือนคนปกติไม่ได้ จึงเข้ามารวมกลุ่มกับน้องๆ เพราะมีกิจกรรมหลายอย่าง เวลาทำกิจกรรม ทำให้เราไม่เครียดเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพตัวเอง มันเลยเป็นที่มาว่าทำให้เราชอบทำกิจกรรมอะไรแบบนี้ เป็นประโยชน์ต่อหมู่บ้านแล้วเป็นการรวมกลุ่มน้อง ๆ เพื่อให้เขามีกิจกรรมทำไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยวกับเกมหรือเรื่องอื่น ๆ


ถาม : พี่แตงสนิทกับน้องในชุมชนมากไหมคะ

ตอบ : เป็นรุ่นต่อรุ่น เพราะว่ารุ่นแรก ๆ ทีเราทำ’koกันบางคนก็ทำอยู่ บางคนก็มีครอบครัวไปแล้วเขาก็หายไป แต่หมู่บ้านเราเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ เจอกันตลอดอยู่แล้ว เหมือนกับว่าเป็นเพื่อน เป็นญาติเป็นคนสนิทที่เราทำงานร่วมกันตลอด ซึ่งน้องๆ เวลาเขาทำกิจกรรมร่วมกับเราเขาไม่รังเกียจ พาเราไปด้วยตลอด ไปในเวทีต่างๆ ทั้งอบรมสื่อ หรือเวทีพี่เลี้ยงเลยทำให้กลายเป็นความสนิท ความคุ้นเคยกันไป


ถาม : รู้จักหรือว่าใครเป็นคนแนะนำโครงการ Active Citizen ให้พี่แตง

ตอบ : ทีมงานของสถาบันหริภุญชัยเป็นคนติดต่อมา “ว่ามีโครงการแบบนี้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมไหม” ตอนแรกพี่มาคุยกับน้องก่อนว่าสนใจอยากทำหรือเปล่า ตอนแรกน้องก็กล้าๆ กลัว ๆ เพราะว่าโครงการที่ต้องทำกับหน่วยงานที่เป็นส่วนกลางหรือว่าหน่วยงานราชการ มันต้องทำเรื่องของเอกสารการเงิน ตอนแรกน้องๆ ไม่กล้าทำ เพราะว่ากลัวทำผิดพลาด แต่พอลองทำมีพี่ๆ ช่วยดูแลเรื่องเอกสาร มาปีที่สองก็เลยง่ายขึ้น น้องๆ เลยทำต่อในปีที่สอง


ถาม : ปีแรกที่ทำโครงการ พี่ๆ ในสถาบันมาชวนคุย ตอนนั้นคิดอะไรหลังจากที่เขาแนะนำแล้ว

ตอบ : ตอนแรกเขามาแนะนำบอกว่า “โครงการนี้เน้นเรื่องการปลูกฝังจิตสำนึก เรื่องรากเหง้าของวัฒนธรรมพื้นบ้าน ประเพณี วิถีชีวิตที่จะเลือนหายไป ” เป็นตัวโครงการที่น่าสนใจเพราะว่าสมัยนี้น้องๆ เยาวชนชอบทำโครงการเกี่ยวกับยาเสพติด โรคเอดส์ จิตอาสา แต่เรื่องประเพณีวัฒนธรรม รากเหง้าของตัวเอง ปลูกจิตสำนึกรักบ้านเกิด น้อยมากที่เยาวชนจะทำ พอมาคุยกับน้องในกลุ่มแล้วน่าสนใจเราก็เลยตัดสินใจทำ


ถาม : พี่เอาโครงการนี้มานำเสนอน้องๆ พี่แตงพูดคุยอย่างไรบ้างที่ชักชวนน้องเขามาทำแล้วเขาสนใจ

ตอบ : ตอนปีหนึ่ง ได้รับหัวข้อจากพี่ๆ เราก็มาชวนน้องๆ ที่เป็นแกนนำคุยก่อนว่าตอนนี้มีกิจกรรม สนับสนุนราเลยลองมาคุยกันว่าน้องๆ อยากทำกิจกรรมเกี่ยวกับอะไร ให้น้อง ๆ คิด ออกแบบกันดูว่าเขาอยากทำประมาณไหน แล้วลองมาตัดสินใจกันดูว่าอยากทำตัวกิจกรรมแบบไหน ในส่วนของเราอยู่ในหมู่บ้านเราเป็นที่ปรึกษาแล้วก็พี่เลี้ยงอยู่แล้ว เราจะไปทำอะไรมากก็ไม่ได้เพราะติดตรงปัญหาเรื่องสุขภาพ มีหน้าที่ในการชวนน้องออกความคิด พาน้องมาทำกิจกรรม เลยคุยกันว่าถ้าเราทำจะเป็นผลดีกับกลุ่มเยาวชนเองและหมู่บ้านเลยชวนน้อง ๆ ทำ พอดีมีน้องอยู่กลุ่มหนึ่งที่เขาสนใจทำก็เลยตกลง


ถาม : อย่างปีหนึ่งตอนแรกที่เราไปชวนน้อง ๆ มาร่วมโครงการเราชวนตามความสมัครใจหรือว่าพี่แตงเล็งน้องก่อนว่าน้องคนไหนน่ามาทำโครงการ

ตอบ : ปีที่ 1 เรามีแกนนำหลักที่อยู่ในหมู่บ้านอยู่แล้ว ตอนแรกเรียกประชุม เลือกน้อง ๆ ที่เป็นแกนนำหลัก 6-7 คนเข้ามาคุยก่อน ตอนนี้มีกิจกรรมแบบนี้สนใจไหม อยากทำไหม แล้วพอมติของแกนนำตกลงว่าอยากทำก็คือให้แกนนำแต่ละคนประชาสัมพันธ์น้องๆ ในหมู่บ้านรู้ น้องๆ กลุ่มเยาวชนภายในกลุ่มคนไหนอยากทำเราก็ให้มาลงชื่อสมัครเข้าร่วมกิจกรรมค่ะ


ถาม : ปีหนึ่งเราได้รับผลตอบรับอย่างไรบ้างคะตอนที่ชักชวนน้องๆ มีคนมาร่วมเยอะไหมคะ

ตอบ : มีน้องๆ ประมาณเกือบยี่สิบกว่าคนที่มาร่วมทำกิจกรรมกับเรา ถือว่าดีเพราะว่าตอนที่เราทำกิจกรรมก็มีน้องๆ มาทำกิจกรรมเยอะพอสมควร รวมถึงพ่อแม่ผู้ปกครองที่เข้าร่วมกิจกรรมกับเรา


ถาม : ปีแรกเราทำโครงการอะไรคะ

ตอบ : ทำเกี่ยวกับครัวแต่งดา คือเครื่องที่ประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ภายในหมู่บ้าน เช่น งานศพ งานแต่งงาน งานขึ้นบ้านใหม่ งานบวช เป็นต้น


ถาม : ตอนนั้นที่ได้โครงการเองพี่แตงให้น้องๆ คิดกันเองเลยหรือว่าเสนอแนะให้น้องๆ ลองทำโครงการนี้ดู

ตอบ : ตอนแรกเราก็คุยกันแล้วลองให้น้องแต่ละคนเสนอกิจกรรมมาว่าอยากทำอะไร ตอนปีหนึ่งเราจับประเด็นไม่ค่อยได้ ประมาณสามสี่เรื่องที่อยากทำ แล้วพอเราไปปรึกษาทางสถาบัน ฯ ก็เลยได้เกี่ยวกับเรื่องครัวแต่งดา


ถาม : ที่บอกว่าปีหนึ่งเรายังจับทางไม่ได้เพราะอะไรลองเล่าให้ฟังหน่อยได้ไหมคะ

ตอบ : ตอนปีหนึ่งเรารู้แค่ว่า เขาให้เราทำเกี่ยวกับเรื่องวิถีชีวิต เรื่องปลูกจิตสำนึก เรื่องการรู้รากเหง้าของตนเองแต่เราไม่รู้ว่า ตัวโครงการที่แท้จริง คืออยากให้ออกมาในลักษณะไหน เวลาทำกลัวผิดพลาด กลัวว่าเวลาเราทำไปแล้วมันจะไม่ดี จะไม่ตอบโจทย์หรือเปล่า แต่จริงๆ เขาก็ไม่ได้ตายตัวว่าต้องทำกิจกรรมนั้น กิจกรรมนี้ให้เราทำตามแบบหมู่บ้านที่จะออกแบบ ออกความคิด


ถาม : ปีแรกในบทบาทของการเป็นพี่เลี้ยงเทียบกับปัจจุบันเราเปลี่ยนไปไหม

ตอบ : เวลาทำงานเราจะคอยประกบน้องๆ ตลอด ว่าต้องทำแบบนี้ ต้องอย่างนี้ อย่างนั้น เหมือนเรากดดันเด็กว่าเขาต้องทำตามรูปแบบ ตัวโครงการทุกอย่างที่วางแผนมา ตัวเราแล้วก็เด็กเองก็เครียด บางทีถ้าเขานัดส่งงานหรือรายงานฉบับสมบูรณ์ เด็กทำไม่ทัน ก็จะกดดันเด็กบ้าง ติดตามเด็กเกินไปเพราะเราลืมคิดไปว่าบางทีเด็ก ๆ ก็ต้องเรียนด้วย พอได้มาอบรมในส่วนของพี่เลี้ยงเอง ถอดบทเรียน ได้ทำกิจรรมร่วมกับทั้ง 14 โครงการ มาแลกเปลี่ยนกันทำให้เราคิดได้ว่า “บางทีก็ต้องยืดหยุ่นบ้าง เพราะว่าการเป็นพี่เลี้ยงไม่จำเป็นต้องไปเกาะติด ไม่ต้องกดดันเด็ก ไม่ต้องไปครอบงำเด็กตลอดเวลา มีหน้าที่แค่แนะนำและช่วยเสริม หนุนในส่วนที่น้อง ๆ ขาดไป” พอปีสองเราเริ่มปล่อยให้เขาคิดเอง ทำเอง ลองให้เขาทำ ไม่กดดันเขามาก เขาก็ทำได้ดี มันเลยทำให้เราเปลี่ยน ว่าเราไม่ควรไปกดดันมากเกินไปเพราะจะทำให้เด็กกดดันมากเกินไป


ถาม : พี่แตงเริ่มปล่อยให้น้องได้ทดลองเองตั้งแต่ปีหนึ่งเลย หรือว่าเราพึ่งมาเริ่มเปลี่ยนในโครงการปีที่สองคะ

ตอบ : เริ่มเปลี่ยนตั้งแต่ช่วงปีหนึ่งปลายๆ พอปีหนึ่งเริ่มส่งรายงานฉบับสมบูรณ์ครั้งที่หนึ่ง เริ่มถอดบทเรียนกับทางพี่ๆ เริ่มมาคุยกันกับพี่เลี้ยงที่ได้รวมตัวกัน ลองมาคุยกันว่าพี่เลี้ยงท่านอื่นเป็นอย่างไรบ้าง เขาทำงานแบบไหน ลองมาแลกเปลี่ยนความคิดกัน มันก็เลยทำให้ความคิดเราเริ่มเปลี่ยนว่า “เราตีกรอบให้น้อง ๆ ทำงานมากเกินไป ทำให้น้องทำงานลำบาก พอปีหนึ่งปลายเลยทำให้เราซาลง ปล่อยให้น้องๆ ได้ทำโครงการกันเอง มันเริ่มเปลี่ยนตั้งแต่ตอนปีหนึ่งใกล้จะจบ”


ถาม : พอเราเริ่มเปลี่ยนไม่กดดันน้องๆ บรรยากาศมันเปลี่ยนไปไหมคะ

ตอบ : อย่างแรก คือ เขากล้าถามเรามากขึ้น เพราะก่อนหน้านี้เราบังคับเขา จึงทำให้ไม่กล้าถาม กลัวจะโดนดุ แต่พอเราปล่อยให้เขาคิดเอง ทำเอง เขากล้าถามเรามากขึ้น


ถาม : ปกติพี่แตงดุไหม

ตอบ : ไม่ค่อยค่ะ ถ้ามีงานใหญ่ๆ เราวางหน้าที่ของแต่ละคนไปแล้ว ถ้าหน้าที่ของแต่ละคนยังไม่คืบ หน้าเราจะเรียกมาคุย ไม่ถึงขั้นโวยวาย แต่คุยกันแบบตรงๆ จากที่เคยหยอกกันก็ต้องคุยกันแบบเครียด ๆ


ถาม : หลังจากจบปีแรกทำไมเราถึงตัดสินใจทำกิจกรรมในปีที่สองต่อ

ตอบ : เรามาคุยกับน้องตอนที่จบโครงการปีหนึ่งว่า ปีแรกเรามีข้อผิดพลาดตรงไหน อยากจะแก้ไขตรงไหน เรายังทำได้ไม่ดีพอ เขาบอกว่ามีปีที่สองเลยมานั่งคุยกับน้องกันว่าอยากแก้ตัวไหม เพราะว่าปีแรกเรายังจับจุดไม่ได้ ยังตอบโจทย์ได้ไม่ดีพอ ถ้าอยากทำปีที่สองน้องๆ อยากทำไหม อยากกลับไปแก้ตัว อยากกลับไปทำอีกทีไหมน้องบางคนก็ถอย บางคนก็สู้ยังอยากทำ มติส่วนใหญ่ก็เลยตกลงทำต่อในปีที่สอง


ถาม : น้องในปีที่สองส่วนใหญ่เป็นน้องที่ทำปีที่หนึ่งมาก่อนไหมคะ

ตอบ : น้องปีที่สองส่วนใหญ่ จะเป็นน้องที่ทำในปีแรก แต่จะมีคนสองคนที่เป็นแกนนำหลักที่เขาไม่ทำต่อ


ถาม : ที่เขาไม่ทำต่อเพราะอะไรคะ

ตอบ : เขาขึ้น ม. 5 แล้วเขาเรียนหนัก อีกคนเขาเรียน ปวส. เขาฝึกงาน เพราะว่าเรื่องเรียนและผู้ปกครองด้วย น้องๆ อยากเรียนให้เต็มที่ เราเลยให้สิทธิเขาได้เรียนเต็มที่


ถาม : แล้วอย่างน้องที่เขาอยากทำต่อเพราะอะไร

ตอบ : บางคนบอกว่ามีกิจกรรมให้ทำช่วงเวลาว่าง เวลาเราทำกิจกรรมกับ Active Citizen เขาจะมีการอบรมตลอดไม่ว่าจะอบรมเรื่องของสื่อ พัฒนาศักยภาพของแกนนำ เขาก็อยากพัฒนาตัวเอง ไปอบรมเพื่อหาความรู้เพิ่มเติม อย่างน้องๆ บางคนที่ทำปีหนึ่งไม่กล้าพูด ไม่กล้าแม้จะนำเสนอโครงการบิดไปบิดมา แต่พอปีสองเราหยิบยื่นหน้าที่ให้เขานำเสนอโครงการเขาก็ทำได้ดี เพราะว่าเขาก็บอกว่าเรามองจากพี่ ๆ ปีหนึ่งแล้วเห็นว่าเขายังกล้าทำ พอปีสองเขาก็อาสาอยากทำเป็นคนนำเสนอโครงการ


ถาม : ชื่อน้องอะไรคะ

ตอบ : น้องฟ้า


ถาม : น้อง ๆ ที่ทำโครงการต่อปีนี้มีชื่ออะไรบ้างคะ

ตอบ : น้องฟ้า วันใส ใหม่ น้องเนย ที่เป็นแกนนำ


ถาม : แล้วอย่างน้องคนใหม่ที่เข้ามาทำโครงการเพราะอะไร

ตอบ : คนใหม่ตอนปีหนึ่งเขาเป็นน้อง ๆ ที่ร่วมทำกิจกรรมในหมู่บ้านแต่ไม่ได้เป็นแกนนำหลัก พอปีสองเราเริ่มดึงน้องๆ ที่มองเห็นแววว่าเขาพอที่จะเป็นแกนนำได้เราเลยชวนเขามา


ถาม : ปีนี้เราทำโครงการอะไรกันคะ

ตอบ : ทำเกี่ยวกับวิถีชีวิตขุนน้ำสารค่ะ


ถาม : โครงการนี้มีที่มาอย่างไร

ตอบ : เป็นโครงการต่อยอดของปีที่หนึ่ง เพราะว่าปีที่สองจะมีเรื่องครัวแต่งดา เกี่ยวกับพิธีกรรม แต่เป็นพิธีกรรมการบวงสรวงผีขุนน้ำสาร และรวมเกี่ยวกับคนที่อยู่ติดลำน้ำด้วย


ถาม : พี่แตงใช้วิธีการอย่างไรถึงพาให้น้องเขาติดสินใจโครงการนี้ขึ้นมา

ตอบ : ตอนแรกมาคุยกันเพราะว่าทางพี่ๆ เขาให้โจทย์ทิ้งท้ายไว้ว่าปีที่สองเราจะทำอะไรต่อหรือว่าจะต่อยอดโครงการปีที่หนึ่ง แต่ทำเด่นในแต่ละเรื่องไปเลย แล้วเรามาคุยกับน้องภายในกลุ่มว่าอยากทำโครงการปีที่หนึ่งไหมหรือว่าอยากทำเรื่องอื่นต่อ น้องก็มาคุยกัน ปีที่หนึ่งเราทำเรื่องครัวแต่งดาไป แต่มีอีกหลายอย่างที่เป็นครัวแต่งดาในพิธีกรรมในหมู่บ้าน ยังมีอีกหลายเรื่องที่เรายังไม่ได้ศึกษา เลยมาคุยกันว่ามีพิธีกรรมเลี้ยงผีขุนน้ำสารโดยการถามจากผู้รู้ในหมู่บ้าน ตกลงกันว่ามาเป็นเรื่องวิถีชีวิตของขุนน้ำสาร


ถาม : พอได้โครงการมาแล้ว กิจกรรมหลัก ๆ ที่น้องทำมีอะไรบ้าง

ตอบ : หาปราชญ์ผู้รู้เกี่ยวกับ ๑) เรื่องของทรัพยากรที่เคยมีแล้วหายไปในลำน้ำสาร ๒) วิถีชีวิตของคนสมัยก่อน กับคนสมัยนี้ที่เกี่ยวกับลำน้ำ ๓) พิธีกรรมการเลี้ยงผีของขุนน้ำสาร ไม่ว่าจะเป็นเครื่องเซ่นไหว้ อุปกรณ์ต่าง ๆในพิธีกรรม


ถาม : กิจกรรมที่ทำกับชุมชนน้องทำอะไรบ้าง

ตอบ : หาผู้รู้เกี่ยวกับการใช้ชีวิตสมัยก่อนเกี่ยวกับการหาปลา การดักปลา เราจะไปขอให้ปราชญ์ผู้รู้ที่เคยใช้ชีวิตสมัยก่อน ที่รู้จักเครื่องมือการจับปลา เช่น แห ยอ ตาข่ายดักปลา เราจะไปหาปราชญ์ผู้รู้ให้เขาอธิบายอุปกรณ์ต่างๆ ในการจับปลา ปราชญ์ผู้รู้การเลี้ยงผีขุนน้ำสาร ซึ่งในส่วนนี้มันติดโรคระบาดโควิดด้วย จึงทำให้ทำได้ไม่เต็มที่ พอเราจะขยับโครงการซึ่งเป็นการจัดค่ายสองวันหนึ่งคืน ซึ่งกิจกรรมทั้งหมดจะอยู่ในนั้นหมดเลยแล้วพอมาติดกับโรคโควิด ซึ่งเราไม่สามารถทำการรวมตัวได้ เพราะความรู้เกี่ยวกับโรคเราน้อย เพราะฉะนั้นพอเราจัดกิจกรรมก็ลำบากมากที่เราจะรวมตัวน้องได้ พอดีกับช่วงที่เขาห้ามรวมตัวกันด้วย เราเลยค่อยๆ ทำไปก่อน


ถาม : ในแต่ละกิจกรรมของโครงการ เช่น การหาข้อมูลจากปราชญ์ผู้รู้ เราในฐานะพี่เลี้ยงเข้าไปช่วยเหลือน้องๆ ในขั้นตอนนี้อย่างไรบ้าง

ตอบ : เราจะช่วยประสานวันเสาร์ วันอาทิตย์จะขอผู้รู้มาช่วยบรรยายเรื่องที่เราอยากศึกษาเรียนรู้ เราจะช่วยประสานงานมากกว่า


ถาม : แล้วพอลงไปในพื้นที่พี่แตงลงไปในพื้นที่กับน้องด้วยไหม

ตอบ : ไปค่ะ พอเราไปประสานเสร็จเราก็นัดวันที่ แนัดที่ศูนย์เรียนรู้ เราจะรวมตัวน้องๆ แล้วให้ปราชญ์ผู้รู้เป็นผู้สาธิต แล้วสอนวิธีการต่างๆ เล่าเรื่องราวพิธีกรรมทั้งหมดให้ฟัง เราจะอยู่กับน้องๆ ตลอดในการทำกิจกรรม


ถาม : ตอนที่ไปกับน้องพี่คอยช่วยน้องทำอะไรบ้าง

ตอบ : เรานั่งฟังแล้วช่วยน้องเก็บข้อมูลของผู้รู้ ที่สอนและให้คำแนะนำ พอเรามาสรุปแล้ว ก็มาคุยกันตรงไหนที่ตกหล่น จะช่วยเสริม ช่วยอธิบายเพิ่มเติมให้กับน้องๆ ฟังอีกทีค่ะ


ถาม : พอหลังจากเสร็จกิจกรรมแล้วเราก็จะมาชวนน้องคุยอีกทีใช่ไหมคะ

ตอบ : ใช่ค่ะ เราจะถามน้องว่า ผู้รู้สอนไปเขาคุยให้ฟังเราได้อะไรบ้าง จากการที่ผู้รู้สอนหรือว่าผู้รู้ให้ความรู้ไป


ถาม : อย่างตอนที่ไปถามข้อมูลผู้รู้ เราให้เขาเล่าเองเลยหรือว่าน้องเขาเป็นคนออกแบบคำถามไปว่าจะถามอะไรบ้าง

ตอบ : ตอนแรกที่เราลงสำรวจเก็บข้อมูล น้องๆ จะมีคำถามไปบ้างประมาณสามสี่ข้อแล้วหลังจากนั้นเราจะให้ผู้รู้เล่าให้ฟัง โดยที่พอเขาเล่าเสร็จน้องๆ จะตั้งคำถามอีกรอบในข้อที่น้องๆ สงสัย


ถาม : ในปีที่ผ่านมาเราได้ความรู้ในการเป็นพี่เลี้ยงมาแล้วในระดับหนึ่งพี่แตงมีการเอามาปรับใช้ในกิจกรรมครั้งนี้บ้างไหม เทคนิควิธีการ

ตอบ : ในส่วนของพี่เลี้ยงปีสองเราได้บทเรียนจากปีหนึ่งคือเราพยายามตีกรอบให้น้องทำ ตามที่เราออกแบบที่เราเห็นว่าควรทำ แต่พอเราได้บทเรียนปีสองเราก็พยายามปล่อยให้เขาคิด ออกแบบกันเอง แต่ตรงไหนที่ต้องเสริมต้องหนุน ต้องช่วยเราพยายามแนะนำและคอยช่วย เราไม่ประกบ ไม่ติดกับน้องเกินไปจนทำให้เขาทำงานลำบาก ปีสองเราเลยลองปล่อยให้เขาคิดเอง ทำเองมากขึ้น แต่ในส่วนที่เขาคิดเองทำเอง จะอยู่ภายใต้การหนุนเสริมของเรา


ถาม : ช่วงแรกที่เราต้องปรับจากที่ต้องตามติด มาเป็นพี่เลี้ยงที่ปล่อยให้น้องทำเอง มันยากไหม

ตอบ : พอเราปล่อยให้น้องทำเอง เหมือนว่าสบายใจทั้งสองฝ่ายเพราะเขาเองก็ทำงานง่ายขึ้น บางทีเรากดดัน หรือเกาะติดน้องมากไปตัวเราเองก็กดดันเพราะเราอยากให้เป็นไปตามที่เราวางไว้มากเกินไป พอเราปล่อยทุกอย่างก็สบาย ต่างคนก็ต่างทำงานง่ายขึ้น เราเองก็สบายใจที่จะให้น้องทำงาน เพราะว่าเป็นปีที่สองน้องที่ทำงานเขาก็จะรู้ลู่ทางการทำงานมากขึ้น ว่ากิจกรรมนี้ต้องทำแบบไหน สรุปบทเรียนต้องทำอย่างไร ต่างคนต่างสบายใจ เราทำงานได้เยอะขึ้น สบายมากขึ้น


ถาม : พี่แตงคิดว่าตัวเองถนัดเรื่องอะไรในการโคชเด็ก เช่น พาน้องวางแผน ชวนน้องถอดบทเรียน วิเคราะห์พัฒนาการเด็ก เราคิดว่าเราถนัดในด้านไหน

ตอบ : น่าจะเป็นเรื่องการวางแผนมากกว่า เพราะว่าเราจะชวนน้องคุย ถ้ามีกิจกรรมหรืองานอะไรสักอย่างเราจะชวนน้องคุย ชวนน้องวางแผนกิจกรรมว่าน้องอยากทำอะไร เราจะเป็นหลักคิดในการออกแบบหรือวางแผนกิจกรรม ถ้าน้องๆ ไม่เห็นด้วยหรือว่าอยากปรับเราจะมาคิดกันทีหลังความถนัดน่าจะเป็นการวางแผนงานมากกว่า


ถาม : มีความยากไหมในการทำกิจกรรมของน้อง ๆ ในปีนี้หรือว่าเรามีอุปสรรคปัญหาอะไรบ้างไหม

ตอบ : หลัก ๆ จะเป็นเรื่องของโรคระบาดโควิดเพราะว่าเราทำงานได้ไม่เต็มที่ ที่จริงเป็นปีที่เราวางแผนว่าเราจะทำงานให้ออกมาให้ดีที่สุด ตามที่เราคุยกับน้องไว้ เพราะว่าตอนปีที่หนึ่งเรามีบทเรียนหลายเรื่องไม่ว่าจะเป็นเรื่องการที่เราออกแบบกิจกรรมแล้วเราทำได้ไม่เต็มที่ การประสานงานเยาวชน ผู้รู้ รวมไปถึงผู้นำชุมชนภายใต้โครงการปีที่หนึ่งปัญหาเยอะมาก แล้วเราพยายามที่จะเอาปัญหาของปีที่หนึ่งมาทำในปีที่สอง แต่พอปีที่สองมาประสบปัญหาเรื่องโควิดอีกเลย ทำให้เราขยับงานยาก พอปีที่สองเราก็ทำงานได้ไม่เต็มที่อีก พอวันนั้นถอดบทเรียนกับทางสถาบันฯ เขาถามว่าอยากทำปีสามอีกไหม น้อง ๆ คิดว่าปีที่สองเรายังทำได้ไม่ดี หรือว่าอยากทำปีที่สามกันอีกก็ยังไม่สรุปว่าเราจะทำต่อหรือเปล่า


ถาม : ถ้าไม่ติดสถานการณ์โควิด พี่แตงคิดว่าโครงการของเราจะเป็นไปตามที่เราคาดหวังไว้ไหม

ตอบ : ช่วงปีที่สองอยู่ระหว่างที่น้องสอบเสร็จ แล้วปิดเทอมพอดี ซึ่งเป็นจังหวะที่ดีมากที่เราจะทำโครงการ แต่พอมาติดโควิดเลยติดขัดไปหมดเลย ที่จริงเราคิดว่าเราน่าจะทำได้ดีในระดับหนึ่ง เพราะว่ามันอยู่ในจังหวะที่น้องปิดเทอมแล้วทุกคนว่างที่จะทำกิจกรรมกันได้เต็มที่


ถาม : พี่แตงบอกว่าเราถนัดในเรื่องของการพาเด็กวางแผน พี่แตงไปรู้เทคนิคการวางแผนทำงานมาจากไหน

ตอบ : ตอนแรกที่เราทำงานกันแรก ๆ เวลาวางแผนเราจะวางตามแบบที่ต่างคนต่างออกความคิด พี่จะเป็นคนวางแผนก่อนแล้วให้น้องช่วยกันออกแบบอีกที แต่พอเราได้มาทำงานกับทางมูลนิธิฯ เขาจะมีกิจกรรมสำหรับพี่เลี้ยงทุก ๆ กิจกรรมที่อบรมสื่อ หรือพัฒนาศักยภาพของน้องๆ ไม่ว่าจะเป็นการเริ่มเขียนโครงการ หรืออะไรก็แล้วแต่เขาจะมีกระบวนกรที่ช่วยสอนเทคนิควิธีการทำงาน เราก็เลยนำตรงนั้นมาปรับใช้กับกิจกรรมในโครงการของเรา


ถาม : เทคนิคการพาน้องวางแผนของพี่แตงเราใช้วิธีการอย่างไรที่จะพาน้องวางแผนได้สำเร็จ

ตอบ : กิจกรรมบางอย่างที่เราช่วยน้องวางแผน บางทีเราก็ต้องมาคุยกันแบบเปิดใจกับน้องๆ ก่อนว่าน้องอยากทำจริงไหม มีเวลาว่างจริงไหม ถ้าเราลงมือทำไปแล้วน้องบอกว่าไม่มีเวลาทำงาน ต่างคนต่างไม่มีเวลาว่าง งานที่เราวางแผนไปมันก็ไม่สำเร็จตามที่เราวางไว้ แต่ถ้าเราคุยกับแบบเปิดใจว่าน้องอยากทำกิจกรรมไหน อยากทำอะไรแล้วมีเวลาวางช่วงไหนที่ตรงกันมากที่สุด แล้วเราค่อยมาแชร์เวลา แชร์ความคิดกันซึ่งจะทำให้แผนงานและงานที่เราวางไว้สำเร็จตามเป้าหมายเราได้ อย่างบางทีเราวางแผนทำเรื่องของฝายวังปลาเราก็จะมาคุยกับน้องว่าเราต้องวางแผนว่าช่วงไหนที่น้องว่างที่สุด เคลียร์งานตัวเองได้ลงตัวที่สุดแล้วมาทำงานร่วมกัน แต่ถ้าต่างคนต่างวางแผนแล้วลงวันที่ ลงตัวงานแล้วมาบอกว่าติดงานนั้นงานนี้มันก็ไม่สามารถทำให้เราทำงานได้สำเร็จได้ การทำงานของพี่ตั้งแต่แรกคือเราต้องคุยกันก่อน เปิดใจว่าเราอยากทำจริงๆ เรามีเวลาว่างช่วงไหนที่ตรงกันมากที่สุดแล้วเราถึงจะมาทำกิจกรรมร่วมกัน


ถาม : แล้วพี่แตงใช้เทคนิคอะไรถึงพาน้องเขาเปิดใจได้

ตอบ : น่าจะเป็นในส่วนของการคุย แล้วเราสนิทสนมเวลาทำงานหรือทำกิจกรรม ออกไปอบรมทำงานต่างพื้นที่ถึงแม้ว่าเราจะมองไม่เห็นแต่เราก็ไปกับน้องตลอด ติดกับเขาตลอดเลยเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราคุยกับน้องง่ายขึ้น เราจะสนิทกับน้องภายในกลุ่มมากที่สุด ถึงเราจะแก่กว่าเขาสิบยี่สิบปี แต่การทำงานกับเขาเราต้องปรับตัวเองให้เข้ากับกลุ่มของน้องให้มากที่สุด เราถึงจะทำงานกับเขาได้ง่ายขึ้น


ถาม : ช่วงตอนหาข้อมูล เป็นต้นน้ำ แล้วในช่วงกลางของกิจกรรม เช่น การรวบรวมข้อมูล พี่แตงช่วยน้องอย่างไรบ้างคะ

ตอบ : หลังจากได้ข้อมูลจากผู้รู้มาเรานำมารวบรวมเพื่อนำไปใช้ในกิจกรรมต่อไป เวลาน้อง ๆ รวบรวมข้อมูลเหมือนที่คุยไปเมื่อกี้ เวลาปราชญ์ผู้รู้เขาสอนเรื่องต่างๆ เราจะเป็นคนคอยฟัง สังเกตการณ์ข้อมูลที่ผู้รู้ให้มาเพราะว่าเราฟังกับน้องตลอด พอรวบรวมข้อมูลแล้ว ข้อมูลไหนที่ขาดหายไปเราก็จะคอยช่วยเติมให้น้องในส่วนที่ขาดหายไป


ถาม : พี่แตงมีความคาดหวังให้น้องๆ เขาได้เรียนรู้อะไรบ้างจากการทำโครงการนี้

ตอบ : ตอนแรกที่คาดหวังเลยคือให้เขาเรียนรู้เรื่องทรัพยากรที่มีอยู่ในลำน้ำสาร เมื่อก่อนเคยมีปลา มีผักอะไรบ้าง แล้วอะไรบ้างที่ขาดหายไป สองวิถีชีวิตของคนสมัยก่อนกับปัจจุบันแตกต่างกันอย่างไร เมื่อก่อนคนที่เขาอยู่ในลำน้ำเขาจะเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีน้ำใจ บางคนที่เขาหาปลาได้เอาไปแลกข้าว เป็นวิถีที่สมัยนี้หาได้ยาก เป็นตัวที่เราคาดหวังว่าเราอยากให้เขาเรียนรู้วิถีของคนสมัยก่อน สาม ต่อยอดของปีที่หนึ่งคือการเลี้ยงผีของขุนน้ำสารซึ่งน้องรุ่นนี้จะเป็นรุ่นต่อไปที่ต้องสืบสานพิธีกรรมต่างๆ เพราะฉะนั้นประเพณีวัฒนธรรมนี้เราไม่สามารถที่จะละทิ้งได้เพราะเป็นประเพณีของบ้านเรา ประมาณ 70% ที่เขาได้เรียนรู้


ถาม : แล้วเป็นตามที่เราคาดหวังไหม

ตอบ : เป็นไปตามที่เราคาดหวังเพราะว่าถึงแม้จะติดช่วงสถานการณ์โควิดแต่ว่าเราก็ยังได้ทำกิจกรรมจนครบสมบูรณ์เพราะฉะนั้นน้องๆ ก็ยังได้รับความรู้และเรียนรู้พิธีกรรมที่เราอยากให้น้องเขาได้เรียนรู้ พอเรามาถามเขาว่าเขาเรียนรู้อะไรบ้าง ทางแกนนำก็ได้เรียนรู้และรู้ถึงวิถีชีวิตและทรัพยากรที่อยู่ในชุมชน น้องก็ตอบในส่วนที่เราอยากให้เขาได้รู้


ถาม : สามอย่างที่เราอยากให้เขาเรียนรู้ พี่แตงมีส่วนไปช่วยหรือว่าทำอะไรให้เขาเกิดการเรียนรู้ตรงนี้บ้างไหม

ตอบ : ตามหัวข้อที่คิดไว้ คือทุกครั้งที่มีการลงไปหาปราชญ์ผู้รู้พี่จะไปอยู่กับน้องตลอด ตัวพี่ก็ยังทันในช่วงวิถีชีวิตสมัยก่อนบ้าง พี่จะเอาความรู้ส่วนตัวในเรื่องของคนสมัยก่อนมาคุยให้น้องฟังบ้างเป็นการเพิ่มเติมความรู้ให้กับน้องเขาด้วย


ถาม : เวลาที่น้องทำกิจกรรมในแต่ละกิจกรรมน้องมีการใช้เครื่องมือในการศึกษาชุมชนบ้างไหม เช่น แผนที่ชุมชน Timeline

ตอบ : ตอนที่เราจะลงสำรวจปราชญ์ผู้รู้เราจะทำแผนที่ชุมชน เพื่อลงรายละเอียดบ้านผู้รู้ เราลองให้น้องเขาลองทำว่าบ้านของปราชญ์ผู้รู้อยู่ตรงนี้ มีในส่วนของปฏิทินประจำปีเกี่ยวกับประเพณีวัฒนธรรมประจำปี เขาจะมาดูว่าในประเพณีเลี้ยงผีขุนน้ำสารเขาจะอยู่ในช่วงเดือนไหนของปฏิทินประจำปี


ถาม : แล้วน้องเขาทำกันเองได้ไหม

ตอบ : แผนที่เราจะมีพี่เลี้ยงเข้ามาช่วยในปีที่สอง ช่วยสำรวจในส่วนของบ้านของปราชญ์ผู้รู้ก่อน แล้วมาช่วยกันดูว่าในส่วนของปฏิทินประเพณีจะมีในส่วนของผู้รู้เกี่ยวกับประเพณีวัฒนธรรมประจำปีของบ้านเรา ไปขอข้อมูลมาทำปฏิทินประจำปีให้น้องทำกันเอง ไม่ว่าจะวาด เขียนแผนผังปฏิทิน


ถาม : พี่แตงกับพี่เลี้ยงท่านอื่นต้องคอยบอกไหมว่าต้องทำอะไรบ้าง

ตอบ : ในส่วนของการทำแผนที่ กับปฏิทิน พอน้องได้ข้อมูลจากทางพี่เลี้ยงและผู้รู้ เกี่ยวกับประเพณีในแต่ละเดือนเราก็นัดให้น้องๆ ทำกันเอง เราช่วยเติมในส่วนของข้อมูลที่ขาดหายไป บางทีข้อมูลอาจจะตกหล่นทางพี่เลี้ยงก็คอยช่วยกันเสริมค่ะ


ถาม : พี่แตงชวนน้องถอดบทเรียนบ้างไหมในแต่ละกิจกรรม

ตอบ : ปีนี้ติดหลายอย่าง กิจกรรมแต่ละกิจกรรมทำลำบาก ในกิจกรรมของปีที่สองเราจะถอดบทเรียนกันตอนท้ายค่ะ


ถาม : เราทำอย่างไรบ้างตอนถอดบทเรียน มีเทคนิคอะไรลองเล่าให้ฟังหน่อยค่ะ

ตอบ : ตอนถอดบทเรียนช่วงท้ายของการทำกิจกรรม เรามีน้องแกนนำและพี่เลี้ยงมานั่งคุยกันว่ากิจกรรมไหนที่ทำแล้วพบปัญหาอุปสรรค กิจกรรมไหนที่เป็นปัญหาในการทำงานมากที่สุด พอใจหรือไม่พอใจในการทำกิจกรรมไหนบ้าง ตามที่คุยกับน้องๆ เขาก็คุยเป็นเสียงเดียวกันว่า ทำกิจกรรมได้ไม่เต็มที่ ตามแผนที่วางไว้ ดังนั้นภาพสะท้อนว่าถ้าไม่ติดเรื่องของโรคระบาดน่าจะทำได้ดีกว่านี้ ทางผู้นำชุมชนเองก็น่าจะมีส่วนร่วมเพราะว่ามีกิจกรรมที่ให้ทำร่วมกันมากกว่านี้ น่าจะได้ความรู้มากกว่านี้


ถาม : ในเรื่องของโครงการอาจไม่เต็มที่ แต่ในตัวพี่แตงเองในฐานะของพี่เลี้ยงพี่แตงคิดว่ามันมีอะไรบ้างไหมที่เราได้เรียนรู้และพัฒนาขึ้นจากการทำโครงการมาสองปีนี้

ตอบ : ในส่วนของตัวเราที่คิดว่าพัฒนาขึ้นคือเรื่องของความคิดที่เราเปลี่ยนไป คือ การปล่อยให้เขาได้ทำกิจกรรมเองมากขึ้น ไม่ตีกรอบเขา เรื่องเอกสารจากเมื่อก่อนปีหนึ่งพอเราทำผ่านมาแล้วน้องที่ทำเรื่องการเงิน รายงานฉบับสมบูรณ์พอปีสองเรามาช่วยกันทำเรามาคุยกัน มันมีหลายอย่างที่ทำให้เราเปลี่ยนแปลง พัฒนาความความคิดของเรา เราต้องทำตามเอกสารตามขั้นตอนต่างๆ มันทำให้เราทำง่ายขึ้น จากที่เราทำไม่เป็นเลยเกี่ยวกับเรื่องเอกสาร บัญชี การเงิน มันทำให้ตัวเราและน้องพัฒนามากขึ้น การวางแผนในการทำงานหรือว่าการทำงานเป็นกลุ่ม ทำงานเป็นระบบซึ่งมันพัฒนาไปในหลายๆ ด้าน ทางโครงการจะมีการอบรมตลอด มีการพัฒนาศักยภาพของพี่เลี้ยงและน้อง ๆ ตลอด ทำให้เราพัฒนาไปได้เรื่อยๆ


ถาม : ชอบหรือว่าประทับใจอะไรบ้างไหมในโครงการ

ตอบ : ในส่วนตัวพี่ทุกครั้งที่พี่ไปอบรมกับน้องๆ หรือว่าไปทำกิจกรรมตั้งแต่เริ่มเขียนโครงการ อบรมสื่อ อบรมพี่เลี้ยง ในส่วนตัวที่ประทับใจคือทุกพื้นที่ 14 พื้นที่ทำร่วมกับเราทางมูลนิธิ สถานบันฯ และเพื่อนร่วมโครงการทั้ง 14 พื้นที่ เวลาทำงานร่วมกันทั้งหมด เขาจะเห็นว่าเราก็ทำงานได้ทั้ง ๆ ที่เราก็มีปัญหาเรื่องสายตา ทุกคนให้กำลังใจและไม่รังเกียจ ให้เราเป็นส่วนหนึ่งในการทำงาน เป็นส่วนที่ทำให้เราประทับใจมาก เหมือนเวลาไปก็ต้องไปเป็นภาระของคนอื่น แต่ก็ไม่มีใครแสดงความรังเกียจไม่อยากทำงานร่วมกับ ทำให้เรามีกำลังใจที่อยากจะทำโครงการต่อไป


ถาม : พี่แตงคิดว่าโครงการ Active Citizen แตกต่างจากการทำงานเดิมที่เราเคยทำมาก่อนอย่างไรบ้าง

ตอบ : มีหลายอย่างที่แตกต่าง ในส่วนของราชการหรือส่วนกลางไม่ว่าจะเป็นเรื่องงบประมาณหรือกระบวนการทำงาน แตกต่างจากงานที่พี่เคยทำ เพราะว่างานที่พี่เคยทำ พวกพี่กับน้องๆ จะเป็นคนที่เขียนโครงการเอง หางบประมาณเอง ซึ่งบางทีเรายังไม่เคยรู้จักคำว่าถอดบทเรียน ทุกกิจกรรมที่เราเคยทำจะเป็นเรื่องของการเขียนงบประมาณเพื่อนำมาทำในชุมชน พอเราทำเสร็จก็จบ ไม่มีการมานั่งคุยกันว่ากิจกรรมที่เราทำไปประสบความสำเร็จไหม ไม่เคยมานั่งถอดบทเรียนว่าปัญหาหรืออุปสรรค หรือข้อแก้ไขต้องมีอะไรบ้าง แต่พอมาทำงานกับโครงการ Active Citizen เราได้กระบวนการการเรียนรู้เกือบทั้งหมดที่เป็นตามหลักวิชาการ ตามหลักที่โครงการต้องมี เรียนรู้กระบวนการทำงานหลักการทุกอย่าง ซึ่งก่อนหน้านี้ที่ทำงานเราไม่เคยรู้ว่าเราต้องมีหลักการแบบนี้


ถาม : ทำงานกับน้องมาปีสองปีแล้วพี่แตงพอจะยกตัวอย่างน้องๆ ที่เราเห็นว่าเขาเปลี่ยนแปลงไป มีใครบ้างไหมที่เปลี่ยนแปลงชัดเจน

ตอบ : สามคนที่สังเกตเห็นว่าเขาเปลี่ยนคือ ๑ )น้องใหม่ เขาทำงานตั้งแต่ปีที่หนึ่ง เขาเป็นคนที่พอเราให้นำเสนอโครงการเขาจะอาย ก่อนหน้าที่จะมาทำโครงการ Active เขาไม่ค่อยทำกิจกรรมร่วมกับพี่ ๆ ในหมู่บ้านเลย แต่พอเราชวนมาทำกิจกรรมในปีที่หนึ่งเขาก็ทำได้ดีพอสมควร พอปีสองเริ่มฉายแววในเรื่องของความเป็นภาวะผู้นำมากขึ้น สามารถแก้ไขสถานการณ์ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดีมาก ๒) น้องฟ้า ตอนปีหนึ่งเป็นน้องภายในกลุ่มเยาวชนยังไม่ได้ขึ้นมาเป็นแกนนำเต็มตัว พอปีสองเราจับมาเป็นแกนนำเขาเริ่มจะมีแววในส่วนของการสามารถนำเสนอโครงการ หรือเวลาตอบคำถามตอบได้ฉะฉาน มั่นใจในตัวเองมากขึ้น ช่วงก่อนไม่ค่อยทำกิจกรรมร่วมกับคนอื่น แต่พอสองปีที่ผ่านมาเริ่มทำกิจกรรมกับพี่แกนนำ ๓) น้องหมิวปีที่หนึ่งเป็นแกนนำ ก็ยังขี้อายให้นำเสนอโครงการอายไม่กล้าพูด ไม่กล้าแสดงออก พอปีที่สองเราขยับให้เขามาเป็นพี่เลี้ยง เขาก็จะช่วยเสริมหนุน ช่วยน้องทำกิจกรรม ทำเอกสารหลายอย่าง กล้าคุยกล้าแสดงออก กล้าตัดสินใจมากขึ้น


ถาม : แล้วชุมชนเข้ามามีบทบาทหรือมามีส่วนร่วมกับโครงการเราไหม

ตอบ : จะมีผู้นำชุมชน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องของทรัพยากร เรื่องของวิถีชีวิตคนในชุมชน เป็นผู้สนับสนุนในเรื่องของข้อมูลประวัติความเป็นมา เช่น สถานที่ที่ทำกิจกรรม พ่อแม่ก็จะสนับสนุนอุปกรณ์ในการโชว์ในโครงการ มีผู้ปกครองนำแห นำอุปกรณ์การจับปลามาให้เรานำไปใช้ในการจัดกิจกรรม


ถาม : ชุมชนเขาให้ความสำคัญกับเยาวชนมาก่อนอยู่แล้วหรือเปล่าคะ

ตอบ : ชุมชนให้ความสำคัญเกี่ยวกับกิจกรรมเยาวชนมาตั้งแต่แรก มีบางคนไม่สนใจแต่พอเราทำงานเข้า เราจะมีกิจกรรมที่ทำร่วมกับชุมชนตลอด เขาก็เริ่มทำงานร่วมกับเรา เป็นกิจกรรมที่เราทำงานร่วมกันมาตลอด ทุกคนให้ความสำคัญกับทุกโครงการที่เยาวชนทำ


ถาม : อย่างโครงการนี้คนนอกชุมชนเขามาให้การสนับสนุนอะไรกับชุมชนเราบ้างไหม

ตอบ : ปีที่สองเราทำเฉพาะในหมู่บ้าน เราเคยขอความร่วมมือเกี่ยวกับผู้รู้ครัวแต่งดาไปในกลุ่มผู้รู้ในตำบล เพราะว่าเขาจะมีผู้รู้เกี่ยวกับครัวแต่งดา เราทำหนังสือขอไป ก็ได้รับความร่วมมือจาก 3 พื้นที่มา 2 ท่าน ในส่วนของนายกเทศบาล สท. ที่ท่านเข้ามาดูกิจกรรม โครงการปีที่สองเราตั้งใจจะทำจากหมู่บ้านเราก่อนที่เป็นต้นน้ำ แล้วค่อยขยายออกไป เราก็ยังทำในชุมชนของเราก่อน


ถาม : ถ้าจบโครงการแล้วยังคิดว่าจะยังทำโครงการเกี่ยวกับเยาวชนต่อไหม

ตอบ : เราก็ยังมีกิจกรรมของน้องๆ ภายในกลุ่ม เราก็ยังทำ ล่าสุดวันที่สิบสี่-สิบหกที่ผ่านมาเราจัดค่ายจิตอาสาซึ่งเราได้รับงบประมาณจาก กฟผ. จัดค่ายสามวันสองคืน จัดร่วมกับน้องๆ ภายในตำบล ซึ่งน้องจอมขี้มดเป็นแกนนำหลักในการจัดกิจกรรมทำค่าย ยังทำต่อไปเรื่อยๆ


ถาม : พี่แตงได้เอาเทคนิคการเป็นพี่เลี้ยงในโครงการ Active Citizen ไปใช้ในค่ายนี้ไหม

ตอบ : เราขออนุญาตใช้เพราะว่าก่อนจัดค่ายเราขออนุญาตใช้ในส่วนของการทำคลิปวิดีโอสั้น เพื่อถ่ายทอดของดีในแต่ละชุมชน สอนให้น้องๆ ทำคลิปวิดีโอนำเสนอ ทางสถาบันฯ ก็บอกให้เราสามารถนำไปใช้สอนน้องได้เลย


ถาม : อย่างเทคนิคการถ่ายวิดีโอให้ใครเป็นคนสอน

ตอบ : เราให้น้องใหม่กับน้องฟ้าเป็นคนสอน เพราะว่าน้องใหม่เขาเคยอบรมตั้งแต่ปีที่หนึ่ง เขาจะพอรู้เรื่องเคล็ดลับวิธีการว่าต้องใช้โปรแกรมอะไร วิธีการตัดต่อต้องใช้อะไรให้สอนคร่าวๆ


ถาม : ผลเป็นอย่างไรบ้าง

ตอบ : ตอนแรกเรากำหนดอายุเป็น ม.3-6 แต่พอดีมีน้อง ม.3-6 ครึ่งหนึ่งแล้วมีน้อง ป.3- ม.2 อีก 10 กว่าคนเลยมาคิดว่าถ้าเราจะสอนให้เขาทำคลิปเองดูท่าจะยาก เลยให้ใหม่กับฟ้าเขาเป็นคนทำคลิปให้น้องเองแล้วให้เขาเป็นคนแสดงละครแทน ผลออกมาคือน้องก็ชอบ บางคนที่สนใจแล้วตัดต่อเองได้ก็มี สำหรับคนที่ชอบอัดคลิปวิดีโอ Tiktok ก็ทำเองได้ แต่ก็คงต้องมีการอบรมต่อยอดน้องๆ เพิ่มเติมเหมือนกัน


ถาม : พี่แตงคิดว่ามีเรื่องอะไรไหมที่เป็นเรื่องยากสำหรับเราในการพัฒนาเยาวชน

ตอบ : พี่ทำงานด้านเยาวชนมาสิบกว่าปีประสบความสำเร็จก็มีเยอะ ล้มเหลวก็มีเยอะ วิธีการทำงานของแต่ละคนไม่มีใครประสบความสำเร็จร้อยเปอร์เซ็นต์แล้วก็ไม่มีใครล้มเหลวร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ถามว่างานที่ยากที่สุดสำหรับพี่น่าจะเป็นการรวมกลุ่มของน้องๆ สมัยนี้มากกว่าเพราะว่าสมัยก่อนตอนที่พี่ทำใหม่ๆ โทรศัพท์มือถือยังไม่ค่อยหาได้ง่าย เพราะฉะนั้นเราชวนทำกิจกรรมง่ายมาก แต่พอสมัยนี้มือถือหาซื้อได้ง่ายเข้าถึงได้ง่ายมาก เป็นเรื่องยากที่เราจะไปดึงเขาออกจากมือถือแล้วมาร่วมกิจกรรมกับเรา เป็นโจทย์ที่ยากสำหรับพี่มาก ขนาดแกนนำเองเวลาทำกิจกรรมกับเราบางคนยังก้มดูมือถือเลย คุยไปคุยมาต้องขอยึดโทรศัพท์เพื่อคุยงานให้เสร็จ ไม่งั้นก็ไม่เสร็จ เราจะทำยังไงที่จะดึงเขามาทำงานร่วมกับเราได้นี่เป็นเรื่องยากสำหรับพี่ พ่อแม่บางคนเขาคิดว่าให้เด็กเขาอยู่กับมือถือดีกว่าไม่ต้องตะลอนไปทำเรื่องไม่ดีหรือไปเล่นน้ำ เขาจะลงทุนซื้อโทรศัพท์เพื่อให้เด็กอยู่กับบ้าน ตอนนี้ถ้าพี่จะรวมเด็กซักรุ่นเป็นเรื่องยากมากสำหรับตัวพี่เพราะว่ากว่าเราจะเข้าถึงน้อง กว่าจะดึงเขาออกจากโทรศัพท์เป็นเรื่องยากมาก เราต้องหาวิธีว่าถ้าเราจะทำปีสามจริง ๆ เราจะหาเด็กได้หรือเปล่าเพราะว่ามันยากพอสมควร ต้องใช้เทคนิค คำพูดแบบไหนที่จะดึงเด็กออกจากโทรศัพท์มือถือได้ เด็กที่ชอบทำกิจกรรมกับเราจริงๆ มันน้อยมากที่เขาจะมาร่วมกับเรา


ถาม : พี่แตงลองนิยามคำว่าพี่เลี้ยงในความคิดของพี่คืออะไร

ตอบ : พี่เลี้ยงต้องเป็นคนที่ช่วยสนับสนุนในส่วนที่น้องๆ ขาดหาย หรือส่วนที่ยังหาคำตอบไม่ได้ ไม่ควรบีบบังคับหรือว่าชี้นำ


ถาม : ในบทบาทของพี่เลี้ยงพี่จะคอยดูอยู่ห่างๆ เวลาที่น้องทำกิจกรรมแต่ว่าเวลาที่มีสถานการณ์ที่เราต้องเข้าไปช่วยก็จะไปช่วย พอจะยกตัวอย่างได้ไหมคะว่าสถานการณ์ไหนบ้างที่เราเห็นแล้วว่าเราต้องเข้าไปช่วยแล้ว

ตอบ : ปีแรกที่เราจับทางไม่ได้เลย กิจกรรมสุดท้ายเวทีคืนความรู้สู่ชุมชน น้องๆ ประสานงานกับทางผู้นำชุมชนได้ไม่ดีเท่าที่ควร ซึ่งเราปล่อยให้น้องเขาไปประสาน ประชาสัมพันธ์ภายในหมู่บ้านแต่น้องสื่อสารผิดพลาดนิดหน่อย ทำให้เกิดความเข้าใจผิดระหว่างผู้นำชุมชนเองกับเยาวชน เราเลยต้องลงไปช่วยเคลียร์ปัญหาให้น้องๆ ว่าเราเป็นคนประสานงานเอง น้องอาจจะฟังผิด เลยกลายเป็นประเด็น วันนั้นเราก็ไปช่วยเคลียร์ให้น้องเพราะเราไม่อยากให้มีปัญหายืดเยื้อ ช่วยคุย ช่วยประสานให้ลงตัวก่อนที่เราจะมีเวทีคืนข้อมูลชุมชน


ถาม : พี่แตงบอกว่าปัญหาในปีที่หนึ่งที่เรามุ่งมั่นอยากแก้ ในปีที่สองพี่แตงพอจะบอกได้ไหมว่าเรื่องอะไร

ตอบ : ปีที่หนึ่งเราทำงานแบบกล้า ๆ กลัว ๆ ว่าจะทำถูกไหม จะดีไหม พอปีที่หนึ่งผ่านไปได้เราก็มาคุยกันว่า ถ้าทำปีที่สองเราจะทำให้เต็มที่ ไม่กล้า ๆกลัว ๆ แบบปีที่หนึ่งแล้ว เราวางตัวกิจกรรม โครงการไว้ คุยกับน้องว่าไม่ว่าจะเป็นเรื่องการประสานงานผิดพลาดก็ดี เวลาที่ไม่ตรงกันของน้องๆ หรือเวลาทำกิจกรรมแล้วต่างคนต่างคิด เราต้องมาปรับปัญหาทั้งหมดแล้วมาแก้ไขในปีที่สอง แต่พอปีที่สองมันก็ทำได้ไม่เต็มที่อีก


ถาม : พี่แตงบอกว่าประทับใจโครงการ Active Citizen ที่บอกว่าทำให้เรารู้สึกว่าไม่ได้ทำให้ตัวเรารู้มีปัญหาในเรื่องของสุขภาพ เฉพาะส่วนตัวพี่แตงมีกังวลบ้างไหมในเรื่องสุขภาพของตัวเองที่จะเป็นอุปสรรคในการทำงานต่อไป

ตอบ : บางทีอบรมเกี่ยวกับการนำเสนอโครงการเราบอกน้องว่าไปกันเองได้ไหม ให้พี่เลี้ยงคนใหม่พาไปเพราะว่าบางทีเราก็อยากพัก เราคิดว่าเราไปเป็นภาระให้เขา เขาก็บอกว่าทำมาด้วยกันหลายปีแล้วไปก็ต้องไปด้วยกัน คิดว่าเวลาเราไปทำงานกับน้อง ๆ เราก็เป็นภาระมันก็เป็นอุปสรรคในการทำงาน เวลาน้องๆ ตั้งใจทำงานหรือจะนำเสนอโครงการเขาก็ต้องมาห่วงเรา บางทีก็มีลืมกันบ้าง เราก็มาคิดว่าเป็นอุปสรรคทั้งตัวเราแล้วก็น้องด้วย เราก็บอกว่าเราไม่ไปแล้วนะให้คนอื่นไปได้ไหมแต่เขาก็ไม่ยอม แอบคิดเหมือนกันว่าเราควรหยุดดีไหม แต่พอเราไปทำงานกับ 14 พื้นที่ เขาก็ให้กำลังใจเรา ทำให้เรามีส่วนร่วมทุกกิจกรรมเลยเป็นกำลังใจที่เราอยากทำกิจกรรมต่อไป


ถาม : พอเราทำแล้วเราภูมิใจไหม

ตอบ : อย่างน้อยเราก็ภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งที่พัฒนาน้องๆ ในหมู่บ้านและนำชื่อเสียงหมู่บ้านของเรา


ถาม : ตอนที่เข้าอบรมพี่เลี้ยงแลกเปลี่ยนข้อมูลกับโครงการอื่น พอจะมีตัวอย่างไหมที่พี่แตงฟังของคนอื่นแล้วเอามาปรับใช้ในพื้นที่ตัวเอง

ตอบ : เวลาเราไปแลกเปลี่ยนหรือทำกิจกรรมหลายๆ พื้นที่จะมีพี่คนหนึ่งที่คอยคุยกับเรา เขาบอกว่าบ้านเขาก็มีปัญหานะ พี่จำชื่อหมู่บ้านไม่ได้แต่จะเป็นแม่ครูดี เขาจะคุยกับเราตลอดว่าบ้านเขามีปัญหาเด็กไม่ยอมร่วมกิจกรรม แม่ครูดีต้องไปตาม เราก็ลองฟังปัญหาของแม่ครูดีแล้วมาปรับว่าเป็นปัญหาเดียวกับเราแล้วเขามีวิธีการแบบไหนที่ทำให้น้องยอมมาร่วมกิจกรรมกับแม่ครูดี แม่ครูดีบอกว่าถึงจะอายุมากแต่เวลาทำโครงการแม่ครูดีจะยอมรับฟังความคิดเห็นของน้องกลุ่มเยาวชนหมดทุกคน ไม่ยึดติด ไม่อคติ เราจะเป็นกลางระหว่างที่ฟังความคิดเห็นของเด็กทุกคน บางทีเราอาจจะอคติบ้างว่าเด็กคนนี้เป็นหลานเรา คนนี้ไม่ใช่หลานเรา บางทีเราจะฟังคนที่เป็นญาติเราก่อน เมื่อก่อนเราอาจจะมีความคิดแบบนี้ แต่พอมาฟังแม่ครูดีเราก็เลยมาคิดว่ามันติดอยู่ตรงนี้บางทีเราอคติ เด็กคนนี้พึ่งเข้ามาทำงานทำไมเสนอความคิดเยอะจัง อาจจะไม่ฟังเขา แต่พอได้ยินความคิดของแม่ครูดีเราก็นำมาใช้ ทำให้เราเปิดใจเยอะขึ้น รับฟังมากขึ้น


ถาม : ข้อมูลที่รวบรวมมาทั้งหมดเก็บเป็น รวมเป็นรูปเล่มหรือว่าในรูปแบบไหน

ตอบ : น้องจะจดในบันทึกของน้องแต่ไม่ได้ทำเป็นรูปเล่ม ไม่ได้เผยแพร่ที่ไหน ตอนแรกเราคิดว่าจะทำเป็นวิดีโอสั้น ๆ นำเสนอข้อมูลทั้งหมดแต่ตอนนี้ยังไม่ได้ทำ ข้อมูลยังอยู่กับน้องทั้งหมด