พิยดา ฮะอุรา : ​บทสัมภาษณ์เยาวชนเด่นโครงการสื่อสารประวัติศาสตร์ผ่านเรื่องราวตำนาน สถานที่สำคัญและประเพณีของบ้านควน

บทสัมภาษณ์เยาวชนเด่นโครงการสื่อสารประวัติศาสตร์ผ่านเรื่องราวตำนาน สถานที่สำคัญและประเพณีของบ้านควน


เยาวชนเด่น

ชื่อ-นามสกุล : พิยดา ฮะอุรา ชื่อเล่น กุ้ง

อายุ 19 ปี

ระดับการศึกษาอนุปริญญา ปวส. 2 สาขาการท่องเที่ยว วิทยาลัยชุมชนสตูล



ถาม : ทำไมถึงเลือกเรียนสาขาการท่องเที่ยว

ตอบ : กุ้งเคยเรียนสายอาชีพระดับ ปวช.มาก่อนแล้ว ในระดับ ปวส. เลยเรียนเกี่ยวกับสาขาภาษาต่างประเทศ แล้วมีความชื่นชอบในด้านภาษา อยากต่อยอดตัวเองด้านการท่องเที่ยว เพราะชอบทำกิจกรรมจิตสาธารณะในชุมชน เลยอยากจะทำเกี่ยวกับท่องเที่ยวโดยชุมชน บวกกับตัวเองพูดภาษามลายูได้เลยอยากนำมาประยุกต์ใช้


ถาม : เราชอบทำเกี่ยวกับจิตอาสา ถ้าย้อนกลับไปก่อนที่กุ้งจะมาทำงานในโครงการ Active Citizen เราเคยทำงานเกี่ยวกับชุมชนอะไรอย่างไรบ้าง

ตอบ : กุ้งเพิ่งมาเริ่มทำตอนอยู่ ปวช. เพราะตอน ม.ต้นกุ้งเรียนอยู่ที่ มาเลเซีย 3 ปีเพิ่งกลับมา พอกลับมามีความรู้สึกว่าชอบช่วยเหลือคนอื่น


ถาม : ตอนที่เราบอกว่าเริ่มทำงานเกี่ยวกับจิตอาสา ตอนอยู่ ปวช. ตอนนั้นเราเข้าโครงการฯหรือยัง

ตอบ : กุ้งเข้าตอน ปวช. 2 (ม. 5) อยู่ระหว่างช่วงปิดเทอม


ถาม : ทำไมเราถึงอยากทำงานเกี่ยวกับเรื่องของจิตอาสา

ตอบ : น่าจะเป็นเพราะใจรักมากกว่า เวลาทำแล้วเรารู้สึกมีความสุขดี


ถาม : ลองยกตัวอย่างให้ฟังได้ไหมกิจกรรมจิตอาสาที่เราทำก่อนหน้านั้นเป็นกิจกรรมประเภทไหน

ตอบ : ที่ทำมาส่วนมากจะอยู่ในชุมชนแล้วก็แจกของให้น้อง


ถาม : ตอนที่กุ้งทำตอนนั้น เราทำกันเองแค่เฉพาะกลุ่มเด็ก ๆ หรือว่ามีผู้ใหญ่เข้ามาช่วยเรา

ตอบ : ถ้าเอาจริงๆ ชุมชนบ้านควนแรกเริ่มเลยเด็กในชุมชนไม่ค่อยพูดคุยกันสักเท่าไหร่ขนาดอยู่หน้าบ้านยังไม่ค่อยรู้จักกันเลย ต่างคนต่างอยู่สังคมเมืองมากกว่าเพราะว่าอยู่ในอำเภอเมือง เริ่มแรกจากผู้ปกครองด้วยกันก่อนที่ชักชวนมา ผู้ปกครองของแต่ละคนมารวมตัวกันเพื่อให้เยาวชนในชุมชนเข้ามาทำงานร่วมกันได้


ถาม : แสดงว่าตอนนั้นผู้ปกครองก็มาชวนกุ้งไปทำกิจกรรมใช่ไหม

ตอบ : ใช่ค่ะ


ถาม : เล่าที่มาให้ฟังหน่อยว่าเรารู้จักโครงการ Active Citizen เองหรือว่าใครแนะนำตอนปีหนึ่ง

ตอบ : ก่อนหน้ากุ้งเข้าโครงการกุ้งทำงานกับผู้ใหญ่ที่ทำเกี่ยวกับท่องเที่ยวชุมชนมาก่อนแล้วได้ไปเข้าประชุมด้วย ครั้งนั้นเราเป็นเด็กเยาวชนคนหนึ่งที่เข้าร่วมการประชุมของการท่องเที่ยวชุมชน แล้วเขาให้ไปนำเสนออะไรสักอย่างซึ่งกุ้งไม่มีความกล้าแสดงออกเลย บังปิงเป็นคนนำกุ้งเข้ามาทำงานเยาวชนในครั้งนี้ เพราะเขาเห็นว่าเป็นเด็กที่มีศักยภาพ น่าจะมาทำโครงการได้ก็เลยชักชวนเข้ามา ตอนที่เข้ามาแรก ๆ กุ้งเป็นคนที่ไม่พูดกับใครเลย พูดน้อยมาก ไม่เคยจับไมค์เลยมาก่อน เมื่อก่อนเรียนโรงเรียนประจำแล้วอยู่แต่ในหอ ไม่ค่อยจะได้พบเจอผู้คนสักเท่าไหร่ กลายเป็นเด็กเงียบไปเลย แล้วพอได้มาเข้าโครงการทำให้เราเปลี่ยนไปเป็นคนละคน เมื่อก่อนไม่ได้เป็นคนพูดเก่งแบบนี้ พูดไม่เป็น ไม่พูดเลย เป็นคนเรียบเรียงอะไรไม่ค่อยได้อยู่แล้ว ปีแรกยิ่งไม่ค่อยพูดแต่ว่าจะฟังซะมากกว่า เหมือนกับเวลาเขายื่นไมค์จะปัดตลอด เป็นเพราะความคุ้นชิน แต่พอได้ทำกิจกรรมอยู่เสมอทำให้เรากล้าที่จะพูดคุยมากขึ้น แต่พูดในแบบไม่เรียบเรียงคำ พูดไปอย่างนั้น มีไรก็พูดหมดแต่พอได้มาหัดพูด หัดคิดมันเลยทำให้เราเรียบเรียงคำในการพูดได้ สามารถสรุปจากคำพูดของคนอื่นได้


ถาม : จุดเริ่มต้นเกิดจากตอนที่เราเข้าร่วมกิจกรรมแล้วไปเจอบังปิงเลยชักชวนให้เรามาเข้าร่วมโครงการตอนนั้นจำได้ไหมว่าเขาไปพูดอย่างไงเราถึงสนใจอยากที่จะมาเข้าร่วมโครงการนี้

ตอบ : แกคงเห็นในตัวหนูว่าน่าจะทำอะไรได้มากกว่านี้ ผู้ใหญ่น่าจะเห็นว่าหนูมีศักยภาพมากพอที่จะไปพัฒนาชุมชน หนูอยู่กับท่องเที่ยวชุมชนอยู่แล้ว ก็เห็นว่าเด็กคนนี้น่าจะไปได้นะ ทำให้หนูสามารถมีรุ่นน้องได้ถึงสองรุ่นแล้วที่มาทำงานเยาวชนอยู่ตอนนี้


ถาม : ตอนแรกที่เราตอบตกลงมาเข้าร่วมโครงการเราคาดหวังไหมว่าเราจะได้อะไรจากการเข้าร่วมโครงการนี้

ตอบ: ความคาดหวังกุ้งคิดว่าเหมือนได้เปลี่ยนตัวเองเปลี่ยนทัศนคติตัวเองจากที่อยู่แต่ในห้องเล็ก ๆ จะช่วยให้เราได้พบเจอผู้คน เหมือนในวิทยาลัยกุ้งก็สามารถเป็นผู้นำได้ ทำงานมีระบบไม่ได้อยู่ท้ายๆ เหมือนเมื่อก่อน ถ้าเป็นแต่ก่อนใครทำกิจกรรมอะไรกุ้งไม่สนเลย แต่ตอนนี้มีกิจกรรมอะไรเอาหมด


ถาม : เมื่อกี้เราบอกว่าเราเป็นคนไม่กล้าพูดเลย ตอนที่เราทำโครงการในชุมชน พวกจิตอาสาเราไม่ได้พูด ไม่ได้แสดงออกแบบนี้หรอ

ตอบ : มีโอกาสนะคะ แต่ว่ายังมีความตื่นเต้นอยู่ผสมกับความกลัวอยู่ ทั้งอยากจะทำและยังกลัวอยู่ ทำให้บางทีทำงานออกมาแล้วมันไม่เต็มที่เท่าไหร่


ถาม : ถ้าอย่างนั้นตอนทำจิตอาสาใครจะเป็นแม่งาน เด็กหรือว่าผู้ใหญ่ทำ

ตอบ : ผู้ปกครองค่ะ


ถาม : ตอนที่เราเป็นจิตอาสาเรามีหน้าที่อะไร

ตอบ : ตอนแรก ๆ เป็นแค่สมาชิกปกติ ยังไม่ได้มีบทบาทอะไรเยอะ ตามคนอื่นตลอด เป็นแค่ผู้ฟัง


ถาม : ปีแรกที่กุ้งทำโครงการเกี่ยวกับอะไร

ตอบ : ทำโครงการเกี่ยวกับการศึกษาและอนุรักษ์พันธุ์ไม้ริมคลองของชุมชนบ้านควน


ถาม : ลองทบทวนตัวเองให้ฟังหน่อยว่าหลังจากทำโครงการในปีแรกเสร็จแล้ว จบแล้วเราได้เรียนรู้อะไรกับการทำโครงการนี้บ้างหรืออาจจะเห็นความเปลี่ยนแปลงของตัวเอง

ตอบ : ในปีแรกถ้าพูดถึงในตัวโครงการเราได้รู้จักสายพันธุ์ต้นไม้ จากที่แค่ขี่รถผ่านไปวัน ๆ แต่ตอนนี้รู้สรรพคุณ รู้ถึงการใช้ประโยชน์ของตัวพันธุ์ไม้แต่ละชนิด รู้ว่าแต่ละชนิดหลงเหลือ มีน้อย มีมากขนาดไหนในชุมชน ในปัจจุบันกุ้งพัฒนาในเรื่องของการทำงาน ทำงานเป็นระบบมากขึ้น รู้วิธีการแก้ปัญหา มีปัญหาจะหาวิธีการจัดการกับปีญหาได้


ถาม : ถ้าในเรื่องของศักยภาพของตัวเอง เรื่องการกล้าแสดงออก ตอนนั้นเราเปลี่ยนไปหรือยัง

ตอบ : โครงการจะเปลี่ยนด้วยกันสองช่วง แล้วในช่วงแรกจะเป็นทั้งผู้ตามและผู้นำไปในตัวเลย เหมือนกับว่าถ้าให้เห็นตัวเองในช่วงสุดท้ายมากกว่าแล้วรู้สึกว่าตัวเองกล้าพูดมากขึ้น กล้าตอบสนองมากขึ้น


ถาม : กล้าตอบสนองที่ว่าคืออะไร

ตอบ : กล้าถาม กล้ายกมือ จากเมื่อก่อนไม่ค่อยถาม ไม่อยากสื่อสารอะไรเลยนอกจากฟังเท่านั้น


ถาม : แล้วตอนเราทำโครงการในปีแรกที่จบไปชุมชนกับเราความสัมพันธ์เปลี่ยนไปไหม

ตอบ : ดีขึ้นค่ะ


ถาม : หมายถึงว่าเขาเริ่มเห็นความสำคัญกับเยาวชนที่เรามาทำกิจกรรม มาทำโครงการนี้

ตอบ : ใช่ค่ะ ในปีแรกผู้ใหญ่เห็นสิ่งที่เด็กทำเป็นเรื่องตลกเสียมากกว่า หน่วยงานต่าง ๆ ยังไม่เห็นด้วย แต่พอปีที่สองเริ่มเยาวชนมีบทบาทในชุมชนมากขึ้น ให้เด็กไปช่วยกิจกรรม ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน


ถาม : ทำไมเราถึงคิดว่าเขาเห็นเป็นเรื่องตลก

ตอบ : เคยมีคำพูดหนึ่งเขาบอกว่า จะทำไปทำไม ทำไปก็ไม่ได้อะไร หนูทำเรื่องพันธุ์ไม้ริมคลอง แล้วทำทำไม มันอยู่แบบนั้นจะไปยุ่งกับมันทำไม ผู้ใหญ่หลายคนในตอนนั้นแสดงออกคล้ายๆ ว่าเด็กอนุรักษ์ ผู้ใหญ่จะทำลาย เขาจะสร้างเขื่อนตรงริมคลอง มันขัดแย้งกัน


ถาม : แล้วตอนนี้สรุปเขาได้ทำไหม

ตอบ : ทำแล้วแต่ยังไม่สมบูรณ์ ทำในบางช่วงเพราะการทำเขื่อนไม่ใช่ไม่ดี มันมีข้อดีแต่ถ้ามีต้นไม้มันจะดีมากกว่า ช่วยกันการกัดเซาะหน้าดินเวลาน้ำท่วม จนตอนนี้เขื่อนทำกัน ไม่คงทน กุ้งว่าต้นไม้อยู่ได้ยาวนานกว่าเขื่อน ทำให้พวกเราอยากจะอนุรักษ์ต้นไม้มากกว่า


ถาม : อย่างในปีที่สองอะไรที่เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้กุ้งรู้สึกว่ากุ้งยังอยากที่จะทำโครงการต่อ

ตอบ : ปีที่สองเปลี่ยนจากการอนุรักษ์พันธุ์ไม้มาทำเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของบ้านควนเรามีความอยากรู้ อยากเห็นก่อนว่ามันเป็นอย่างไร ประวัติศาสตร์ของบ้านเรา มีอะไรให้ศึกษาบวกกับชุมชนบ้านควน เป็นชุมชนเก่าแก่ในจังหวัดสตูล เราเลยอยากศึกษาประวัติศาสตร์ตรงนี้


ถาม : เราไปรู้หรือว่าได้ยินใครมาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของหมู่บ้านเรา ถึงทำให้เรารู้สึกว่าเราอยากที่จะทำโครงการนี้ จุดเริ่มต้นของมัน

ตอบ : ตอนนั้นความอยากรู้ได้มาจากผู้สูงอายุในชุมชนที่มีอายุ 80-9- ปีแล้ว คนที่รู้ประวัติต่างๆ จะเป็นผู้ใหญ่ที่มีอายุจะอยู่กับเราได้ไม่นาน ก็เลยสนใจในด้านนี้


ถาม : ในปีนี้กุ้งมีบทบาทอะไรในการรับผิดชอบในโครงการ

ตอบ : ปีนี้ที่ทำเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ช่วงแรกยังเป็นเยาวชนอยู่ พอช่วงสองเป็นทั้งพี่เลี้ยงและเยาวชนด้วย

ตอบ : เราเป็นพี่โตสุด น้องที่มาทำโครงการอายุน้อยสุดอยู่ประมาณ ม. 4-6


ถาม : ตอนที่เป็นเยาวชนมีหน้าที่อะไรเป็นประธานโครงการหรือว่าอะไร

ตอบ : ถ้าปีที่แล้วกุ้งเป็นประธาน ปีนี้กุ้งไม่ได้เป็นประธานแล้วแต่เป็นคนดูแลน้อง มีน้องที่เป็นประธาน และรองประธานอยู่ กุ้งเป็นพี่เลี้ยงเลย


ถาม : เป็นพี่เลี้ยงตั้งแต่ช่วงแรกหรือว่าช่วงไหน

ตอบ : รับเป็นบทบาทหน้าที่จะอยู่ปีที่สอง แต่ว่าช่วงแรกไม่ได้เป็นประธานไม่ได้เป็นอะไร เป็นคนที่ทำโครงการร่วมกับน้องเลย พอช่วงสองกุ้งจะไม่ได้ลงไปทำกับน้องสักเท่าไหร่ จะเป็นแค่คนดูแลภายนอกมากกว่าไม่ได้ลงไปทำตัวโครงการด้วย


ถาม : ลองเล่าให้ฟังหน่อยว่าช่วงแรกที่ทำกิจกรรมกับน้อง ๆ มันมีกิจกรรมอะไรบ้าง

ตอบ : ในช่วงแรกศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ที่มีอยู่แล้วตามหนังสือแล้วพอเรามีข้อมูลบางส่วนก็ได้ศึกษาต่อจากผู้เฒ่า ผู้แก่ในชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน ข้อมูลที่มีตามอินเทอร์เน็ต


ถาม : เวลาลงไปศึกษาข้อมูลประวัติศาสตร์ชุมชน กุ้งมีหน้าที่อะไรบ้าง

ตอบ : ช่วงแรก ๆ ที่ลงไปกุ้งซักถามเอง น้องๆ คอยเขียนคอยถ่ายวิดีโอ แต่ถ้าเป็นพวกคำถามกุ้งจะถามไปเองเลย


ถาม : ในช่วงนั้นทำไมกุ้งถึงเลือกะซักถามเอง ทำไมไม่ให้น้องๆ เป็นคนถาม

ตอบ : โครงการในปีที่สองมีน้องๆ แค่สามคนที่ทำต่อเนื่องมาจากปีที่หนึ่ง เพราะบางคนออกไปเรียนมหาวิทยาลัย น้องๆ สามคนนี้ไม่ค่อยกล้าพูด กล้าแสดงออกเป็นแค่ผู้ฟังอย่างเดียว พอมาทำปีสองช่วงแรก ๆ น้อง ๆ ยังไม่มีความกล้าในส่วนตรงนี้ ยังเขินอายอยู่ทำให้กุ้งต้องทำให้เป็นตัวอย่างก่อน แต่พอมาช่วงหลังน้องก็สามารถที่พูดคุย ซักถามได้ด้วยตัวเอง


ถาม : ตอนเราลงพื้นที่ไปสัมภาษณ์ข้อมูลมีปัญหาหรือว่าอุปสรรคอะไรในการทำงานบ้างไหม

ตอบ : ถ้าเป็นปัญหาอุปสรรค ปราชญ์ชาวบ้านกับพวกเรามีเวลาไม่ค่อยตรงกัน และในเรื่องของเสียงรบกวน พอเราอัดวิดีโอแล้วเสียงรบกวนมีเยอะ ทำให้มาฟังย้อนหลังไม่ค่อยรู้เรื่อง


ถาม : เราแก้ปัญหาเหล่านั้นอย่างไรบ้าง

ตอบ : ถ้านัดใหม่จะแจ้งล่วงหน้าเพื่อให้เวลาตรงกัน แล้วในส่วนของเสียงยังแก้ไม่ได้ เสียงรบกวนมีได้ตลอด


ถาม : แล้วคนในชุมชนหรือผู้รู้ที่เราลงไปสัมภาษณ์เขาให้ความร่วมมือกับเราดีไหม

ตอบ : ดีค่ะ แล้วเขาเต็มที่มาก ทุกคำถามเลยที่ถามไปเขาให้ข้อมูลได้


ถาม : ลองยกตัวอย่างให้ฟังหน่อยได้ไหมว่าเราถามประมาณไหนบ้าง

ตอบ : ปีสองกุ้งทำเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ สถานที่สำคัญ ประเพณี อาหารและตำนาน การถามเริ่มถามจากเรื่องตระกูลของชุมชนบ้านควน ที่มาที่ไปก่อนว่าเป็นอย่างไร แล้วก็ลงมาเจาะลึกในแต่ละอย่าง ในส่วนของสถานที่สำคัญ บ้านควนมีสถานที่สำคัญอย่างไรบ้าง ประเพณีต่างๆ ตำนาน บางจังหวะที่มีข้อสงสัยก็ช่วยกันถาม ผู้เฒ่าผู้แก่แต่ละคนจะมีความจำในเรื่องของประวัติศาสตร์ชุมชนแต่ละเรื่องแตกต่างกันไป เหมือนคนนี้รู้เกี่ยวกับตำนาน อีกคนรู้เกี่ยวกับสถานที่สำคัญ ถนัดกันคนละอย่าง เราไปเก็บข้อมูลจากผู้รู้ทั้งหมด 5-6 คนด้วยกัน


ถาม : 5-6 คนประมาณกี่ครั้งที่ลงพื้นที่

ตอบ : คนหนึ่งประมาณ 2 ครั้ง


ถาม : กุ้งเป็นคนถามเองประมาณกี่ครั้งได้ เราถึงมองว่าเราควรจะปล่อยให้น้องเป็นคนถาม

ตอบ : ถ้าถามเองส่วนมากกุ้งจะถามแค่ครั้งเดียว หลังจากนั้นเพิ่มเติมอะไรน้องจะไปหาเองซะมากกว่า


ถาม : ช่วงแรกเราก็ถามให้ดูเป็นตัวอย่างก่อนแล้วครั้งต่อๆ ไปเราก็ปล่อยให้น้องเป็นคนถาม แล้วไปถึงช่วงไหนที่ทำให้กุ้งขยับจากการเป็นเยาวชนรุ่นพี่ที่ดูแลน้องขยับมาเป็นพี่เลี้ยงในโครงการ

ตอบ : ไม่ถึงกับขยับเป็นพี่เลี้ยงตอนปีหนึ่ง แต่มาเป็นช่วงแรกของโครงการปีที่สอง เพราะแล้วเทอมสองกุ้งต้องไปฝึกงานเลยต้องให้น้อง ๆ ทำกันเองคอยดูห่างๆ


ถาม : ช่วงที่เราไม่ได้ทำกับน้องๆ เรามีวิธีการติดตามน้องอย่างไรบ้าง

ตอบ : ถ้าเป็นการติดตามส่วนมากเป็นทางออนไลน์เพราะว่าไม่ได้เจอน้องเลย กุ้งไปไกลจากที่บ้าน


ถาม : กุ้งไปฝึกงานที่ไหน

ตอบ : ลงเกาะที่หลีเป๊ะ สองเดือนนั้นเป็นช่วงของเดือนที่ทำในช่วงที่สอง


ถาม : ลองเล่าให้ฟังหน่อยว่าช่วงที่เราขาดหายจากน้องไป เรามีวิธีการติดตามอย่างไร

ตอบ : เป็นตัวกลางในการประสานต่างๆ ให้กับน้องๆ เหมือนผู้ใหญ่สั่งมาว่าวันนี้ไปอบรมหรือว่าไปแลกเปลี่ยนกับเพื่อน ๆ ชุมชนอื่น กุ้งจะประสานกันทางออนไลน์


ถาม : นอกจากเป็นตัวกลางประสานงานให้กับน้อง ๆ แล้วเรามีการทำอะไรอีกไหมนอกจากนี้

ตอบ : ช่วงสองจะให้น้องทำเลย กุ้งกลับมาเขาสรุปโครงการเสร็จแล้ว เหมือนกับว่าเชื่อใจว่าน้องกลุ่มนี้เขาทำได้ปล่อยให้น้องเขาทำ แล้วเขาทำเองได้เลย


ถาม : เราเชื่อใจน้องว่าน้องทำได้ อะไรที่ทำให้เราเชื่อใจและมั่นใจน้อง ๆ

ตอบ : ก่อนหน้าที่จะวางมือให้น้อง ๆ เราเห็นความเปลี่ยนแปลงของน้อง ๆ แต่ละคน และเห็นว่าแต่ละคนถนัดแต่ละด้าน สามารถทำงานกันได้ง่ายและบวกกับว่าน้อง ๆ มีอายุไล่เลี่ยกันเป็นเพื่อนกัน น้องเขาเองก็เต็มที่กับการทำงาน


ถาม : อย่างน้อง ๆ ที่เขารู้ว่ากุ้งจะต้องไปฝึกงาน ไม่ได้อยู่ด้วย เขารู้สึกอย่างไรบ้างตอนนั้น

ตอบ : เต็มที่กับการทำงาน


ถาม : แต่ก็ไม่ได้กลัวว่าจะไปต่อไม่ได้ถ้ากุ้งไม่อยู่

ตอบ : ใช่ค่ะน้อง ๆ ไม่มีความกลัวในส่วนตรงนั้น


ถาม : เราคิดว่าเป็นเพราะอะไรเขาถึงไม่กลัว

ตอบ : เขาทำงานเป็นทีมกันได้มากกว่า เขาเห็นศักยภาพของตัวเองและสามารถทำงานได้เลย บวกกับเขามีความชอบในการทำงานแบบนี้ด้วย ทำให้

เขาทำได้ ไม่มีความกลัวในตรงนี้


ถาม : เป็นเพราะว่าส่วนหนึ่งเราก็ปล่อยให้น้องเขาทำด้วยตัวเขาเองมาตั้งแต่แรกแล้วด้วยไหม

ตอบ : ใช่ค่ะ ช่วงแรก ๆ ทำพร้อม ๆ กันกับน้อง ไม่ใช่กุ้งทำอยู่แล้วน้องไม่ทำ ไม่ได้แยกกันแบบนั้น ทำไปด้วยกัน ทำให้น้องเรียนรู้งานได้ง่ายและเร็วขึ้นด้วย


ถาม : ลำบากใจไหมที่เราต้องทำงานกับน้อง ๆ เหมือนเราต้องเป็นผู้ใหญ่มากที่สุด

ตอบ : บางทียังมีความเข้าใจไม่ค่อยตรงกันสักเท่าไหร่ เราเข้าใจ อย่างนี้แต่น้องเข้าใจอีกแบบหนึ่งทำให้มีความขัดแย้งกันอยู่ในส่วนนี้ จะเกิดปัญหากันบ่อยมากในการทำงาน


ถาม : เราแก้สถานการณ์นั้นอย่างไร ถ้าเข้าใจไม่ตรงกัน

ตอบ : ให้พูดรายคนว่าให้ต่างคนต่างพูดในสิ่งที่ตัวเองต้องการมาก่อนแล้วค่อยมาเรียบเรียงกันอีกครั้งว่าของใครเป็นอย่างไร เราเลยแก้ปัญหาได้ทุกครั้ง ไม่ใช่อีกคนคิดอีกแบบแล้วคิดไม่เหมือนกันทำให้น้อยใจกัน เราเลยให้สองฝ่ายพูดให้กระจ่างกันก่อน


ถาม : เราไปเอาวิธีการแบบนี้มาจากไหน

ตอบ : น่าจะเป็นเพราะกระบวนการในโครงการ ที่มีกระบวนการอยู่ในการแก้ปัญหา เวลาเกิดปัญหาเราแก้อย่างไร มันมีอยู่ตอนพี่ๆ เขาได้ลงมาทำกิจกรรมให้ บวกกับที่กุ้งมีประสบการณ์ด้วย สองปีแล้วได้ทำกิจกรรมเยอะ ทำให้สามารถนำมาประยุกต์ได้


ถาม : ในปีที่สองมีอะไรไหมที่เป็นเรื่องที่เรารู้สึกว่าเราไม่เคยทำมาก่อนแล้วเราต้องมาทำในปีนี้

ตอบ : ในปีที่สองไม่น่าจะมีนะคะ เหมือนจะมีความคล้ายคลึงกันอยู่


ถาม : มีอะไรไหมที่เรารู้สึกว่าเป็นเรื่องยากสำหรับเรามากในการทำโครงการปีนี้

ตอบ : ตัวโครงการไม่ค่อยมีปัญหา แต่ว่าจะเป็นตัวบุคคล ตัวของน้องๆ จะมีความขัดแย้งกันอยู่ในหลายๆ เรื่อง เหมือนที่บอกว่าปัญหาต่างๆ ไม่ค่อยลงรอยกันสักเท่าไหร่ ทำให้การทำงานช้าไปหน่อย


ถาม : ส่วนใหญ่ปัญหาที่ไม่ค่อยลงรอยกันเป็นเรื่องอะไร ยกตัวอย่างให้ฟังหน่อย แล้วเราแก้ปัญหาอย่างไร

ตอบ : ปัญหาคือกุ้งบอกให้เขาทำ แล้วน้องไม่รับฟังเอาแต่ความคิดของตัวเอง


ถาม : เวลาที่น้องไม่รับฟัง เรารู้สึกอย่างไรบ้าง โมโหไหมที่เขาไม่ฟัง

ตอบ : ก็มีเป็นอารมณ์นิดหน่อย ถ้าเอาจริงๆ กุ้งเป็นคนอารมณ์ร้อนมาก ก่อนที่จะมาทำโครงการเป็นคนไม่ค่อยยอมคนเท่าไหร่ การที่ได้มาทำโครงการนี้มันสอนให้ควบคุมตัวเองได้ ควบคุมสติได้ สอนให้เป็นที่ใจเย็น ตอนนี้พูดถึงตอนนี้เป็นคนที่ใจเย็นลงมากจากเมื่อก่อน


ถาม : ถ้าเป็นแต่ก่อนวงแตกแล้วใช่ไหม

ตอบ : ใช่ค่ะ แต่ว่าตอนนี้ใช้เหตุและผลมาพูดมากกว่า พอเกิดความไม่เข้าใจกันก็จะเรียกมารวมตัวกันทุกคนแล้วให้มาพูดความรู้สึกรายคนเลยว่า คนนี้มีความรู้สึกอย่างไรให้จบกันภายในวงเลย จะใช้วิธีการพูดคุยกันเพื่อปรับความเข้าใจกันมากกว่า


ถาม : เหตุการณ์ไหนหรือว่าสถานการณ์ไหนที่ทำให้เรารู้สึกว่าเราจะใจร้อนแบบนี้ไม่ได้แล้ว เราต้องใจเย็นต้องรับฟังน้องๆ

ตอบ : น่าจะเป็นช่วงระหว่างที่กุ้งไปฝึกงานแล้วพอกลับมาเป็นเหตุการณ์ที่น้อง ๆ เอาแต่ใจตัวเองไปเลยไม่รับฟังเหมือนกับว่ากุ้งไม่มีตัวตนไปเลย ไม่บอก มีงานกิจกรรมอะไรก็จะไม่บอกผู้ใหญ่เลย ทำกันเอง ไม่บอกกุ้ง


ถาม : แล้วเราทำอย่างไร หมายถึงว่าตอนนั้นหลังจากที่เราไปฝึกงานกลับมาสองเดือนน้องเปลี่ยนไปเหมือนเราไร้ตัวตน แล้วเราปรับความเข้าใจกันอย่างไรตอนนั้นถึงกลับมาสู่สภาวะปกติดได้

ตอบ : ก็เหมือนที่บอกว่าพูดคุยกันแล้ว ไม่ใช่แค่ครั้งแรกที่เป็นแบบนี้ แล้วก็ปรับพอเข้าใจกัน ผ่านมาอีกทีก็เป็นเหมือนเดิมมีอะไรก็ไม่บอก ชุมชนบ้านควนมีกุ้งเป็นพี่เลี้ยงแล้วมีพี่เลี้ยงใหญ่อีกคนหนึ่ง แต่ไปรับฟังคนอื่นมากกว่า


ถาม : ณ ตอนนี้ปรับความเข้าใจกันเรียบร้อยหรือยัง

ตอบ : ตอนนี้ปรับความเข้าใจกันแล้ว เข้าใจกันแล้วก่อนที่จะเสร็จโครงการคือทั้งสองปีเหมือนได้รับบทเรียนจากปีที่แล้ว ทำสองปีมีปัญหาทั้งสองปี ปีแรกอาจเพราะกุ้งหวังเยอะ หวังมากทำให้มีช่วงแตกหักในช่วงก่อนจะสำเร็จ ปีแรกหนักกว่าปีที่สองถึงขนาดไม่พูดคุยกันเลย จะแยกเป็นสองฝ่ายแล้วทำให้กว่าจะมาคุยกันได้อีกครั้งต้องใช้เวลานานมาก เป็นเพราะต่างคนต่างไม่เข้าใจกัน ปีที่สองเหมือนได้รับบทเรียนจากปีที่แล้ว พอมาเกิดเหตุการณ์แบบนี้อีกเหมือนประวัติศาสตร์ซ้ำรอย เรารู้แล้วว่าต้องทำแบบนี้ ต้องปรับความเข้าใจก่อนที่จะสายเกินไป ก่อนที่จะต่างคนต่างไม่คุยกัน ก็เลยให้มาคุยกันให้เข้าใจกันเพื่อให้เสร็จโครงการได้


ถาม : เขาบอกเหตุผลไหมว่าทำไมเขาถึงไม่ยอมบอกเรา

ตอบ : ตรงนี้ไม่ทราบเหมือนกัน น้องความเป็นเด็กด้วยแล้วเขาเอาแต่ความคิดของตัวเองเลยน่าจะไม่ค่อยใช้เหตุ ใช้ผลเท่าไหร่ กุ้งเองก็ไม่ได้ไปอะไรกับน้องเยอะด้วย เห็นว่าเขาก็เข้าใจแล้ว ไม่ได้ไปจี้ถามอะไรเขาเยอะ


ถาม : เอาความรู้สึกนี้ไปปรึกษากับที่บ้านไหมว่าทำไม

ตอบ : ก็ปรึกษาทั้งที่บ้านทั้งพี่ๆ ทั้งบังเชษฐ์ บังปิง หมดเลยเหมือนบังปิงแกก็บอกว่า บางทีให้ทำแนวนี้แล้วจะโอเค แต่ว่าน้องเขาจะทำมาอีกแบบ มันไม่ได้เป็นแค่ครั้งสองครั้ง กุ้งเลยปรึกษาบังปิงว่าจะทำอย่างไรดี ทำไมน้องไม่ตามเราเลย บังปิงบอกว่าลองให้น้องเขาทำดูก่อนว่าสิ่งที่เขาทำมา ถ้าเกิดมันทำได้ก็โอเค แต่ถ้าทำไม่ได้น้องเขาจะเห็นไปเองว่าเกิดผลแบบนี้ แกจะให้คำแนะนำมา เราก็รับฟัง บังปิงให้นิ่งไว้เราก็นิ่งมาตลอด


ถาม : คำปรึกษาดีไหมจากที่เราได้รับคำแนะนำแล้วเราทำตาม

ตอบ : ทำให้เราใจเย็นขึ้น ถ้าเราไม่ปรึกษาตัวกุ้งเองก็จะอารมณ์หนักหน่อย


ถาม : จากเหตุการณ์นี้เราคิดว่าเราได้เรียนรู้อะไรจากโครงการนี้ไหม

ตอบ : ตัวเราเองก็หันกลับมาดูตัวเองว่าเราผิดพลาดอะไรหรือเปล่า ทำไมน้องเขาฟังคนอื่นมากกว่าเรา เราไม่ดีหรืออย่างไร ตอนแรกคิดลบหมดเลยคิดว่าไม่เหมาะสมแล้วที่จะมาดูแลน้อง แต่พอผ่านเราเข้าใจว่าไม่ใช่เราไม่ดี แต่น้องๆ มีความคิดของเขา ที่ตัวเราเองอาจไม่ยอมรับหรือเปล่า เลยนำมาสู่ความคิดว่าถ้าเรามาแลกเปลี่ยนกันมาปรับความเข้าใจกัน เราก็ทำงานด้วยกันได้ จากเหตุการณ์ความไม่เข้าใจกันภายในทีมที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ ทำให้ได้เรียนรู้ว่าถ้าเราลองเปิดใจรับฟังกันทั้งสองฝ่าย จะทำให้ปัญหาที่เจอเล็กลงมาก กลายเป็นเรื่องเล็กน้อยและจะไม่เกิดปัญหาแบบนี้ขึ้นอีก


ถาม : ภาพรวมของตัวโครงการที่เราทำเกี่ยวกับประวัติชุมชนเราได้ข้อมูลเกี่ยวกับอะไรบ้างในการลงพื้นที่

ตอบ : ในปีที่สองได้ทั้งตัวข้อมูลที่เห็นเป็นรูปธรรม ได้รู้ว่าประวัติศาสตร์บ้านควนเป็นมาอย่างไร มีตระกูลอะไรบ้างมาบุกเบิก ในเรื่องของอาหารการกิน ประเพณีต่างๆ รู้หมดเลยว่าบ้านควนมีประเพณีนี้มาก่อนแล้วไม่มีแล้วในตอนนี้ สถานที่สำคัญมีบ้านร้อยปี เป็นปอเนาะแห่งแรกของจังหวัดสตูล พวกเราได้ทำเป็นป๊อบอัพเล็ก ๆ ที่สามารถให้คนนอกที่ไม่ได้อยู่ในชุมชนได้มาศึกษา มีเรื่องสถานที่สำคัญ การแต่งกาย อาหาร ประเพณีในออนไลน์ทำเป็นเพจขึ้นมาด้วย เพื่อลงข้อมูลต่างๆ


ถาม : ข้อมูลในป๊อบอัพมีอะไรบ้างนะ

ตอบ : มีสถานที่สำคัญ การแต่งกาย อาหาร ประเพณี


ถาม : กุ้งลองเล่าจุดเด่นหรือว่าความประทับใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชุมชนที่เราไปได้ข้อมูลมา แล้วถ้าเราอยากเล่าให้คนข้างนอกรู้จักหมู่บ้านเรา เราอยากถ่ายทอดเรื่องอะไร

ตอบ : เป็นตัวของชุมชนเหมือนชุมชนบ้านควนเป็นชุมชนที่ไม่เหมือนชุมชนอื่น ความไม่เหมือนคือเป็นชุมชนที่มีเอกลักษณ์ด้านการแต่งกายและภาษา ชุมชนบ้านควนพูดกันในภาษามลายูท้องถิ่นแบบดั้งเดิม แล้วเป็นภาษามลายูกลางคล้ายกับที่ประเทศมาเลเซีย ส่วนเรื่องการแต่งกายผู้หญิงกับผู้ชายมีการแต่งกายที่ใส่ชุดกูรง ชุดย่าหยา คล้ายกันเป็นท่อนเสื้อ กระโปรง เน้นเป็นลายดอกไม้ เป็นเอกลักษณ์เลย ในส่วนของสถานที่สำคัญบ้านควนเป็นชุมชนเก่าแก่ ณ ตอนนี้ยังมีเป็นบ้านอายุ 170 ปีที่คนยังอาศัยได้อยู่ สร้างขึ้นโดยไม่ได้ใช้ตะปูเลย ทั้งหลังใช้วิธีการตอกไม้ ในส่วนของประเพณีชุมชนบ้านควนเวลาทำกิจกรรม การละเล่นต่างๆ ชุมชนอื่นอาจใช้ภาษาไทย แต่บ้านควนใช้ภาษามลายูเป็นหลัก


ถาม : ทำไมบ้านเราถึงใช้ภาษามลายูเป็นหลัก

ตอบ : สมัยก่อนพระยาขุนพิทักษ์ภักดีได้มาสมรสกับลูกสาวคนบ้านควน เลยได้รับอิทธิพลมาจากประเทศมาเลเซียทำให้คนบ้านควนพูดภาษามลายูได้ คนบ้านควนจะนับถือศาสนาอิสลามร้อยเปอร์เซ็นต์ พูดภาษามลายูเป็นหลัก


ถาม : อย่างข้อมูลที่กุ้งเล่าให้พี่ฟัง เกี่ยวกับชุมชนมีข้อมูลอะไรบ้างไหมที่เราไม่เคยรู้มาก่อนแล้วพอมาทำโครงการนี้แล้วเรารู้จักชุมชนเรามากขึ้น

ตอบ : น่าจะเป็นประเพณี ถ้าเป็นการแต่งกาย ภาษาก็ยังมีมาจนถึงรุ่นกุ้ง การพูดยังมีอยู่ แต่ตำนานเรื่องเล่ารุ่นกุ้งหรือน้อง ๆ ทุกคนไม่รู้เลย คนที่รู้จักตำนานมีอายุ 60-70 ปีขึ้นไป


ถาม : มีเรื่องเล่าไหนไหมที่เราฟังแล้วเราชอบ ประทับใจ

ตอบ : ที่เขาพูด ๆ กันมาเหมือนกันหมดเลยคือผู้หญิงที่มีลูกเกิดมาเป็นตัวหน่อพญานาคตอนแรกเป็นตัวหน่อเล็ก ๆ แต่ว่ามีหงอนขึ้นมา ชุมชนบ้านควนเป็นชุมชนที่ติดกับลำคลองเส้นใหญ่ของจังหวัดสตูล ตามตำนานบ้าหลังนั้นอยู่ติดกับลำคลองซึ่งเป็นที่อยู่ของพญานาค คลองนี้เชื่อมกับทะเลได้ ชุมชนฝั่งลังกาวีจะมีพญาครุฑแล้วพอมีพญาครุฑ พญานาคกับพญาครุฑทะเลาะกันเลยเป็นเหมือนประวัติศาสตร์ที่เชื่อมโยงกัน เพราะทางฝั่งลังกาวี ก็มีเรื่องเล่าเหมือนกัน


ถาม : เราชอบไหมเวลาที่ต้องไปนั่งคุยกับผู้สูงอายุ ไปสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชุมชน

ตอบ : ชอบฟัง ชอบอะไรแบบนี้อยู่แล้วเรื่องเล่าเป็นตำนาน ส่วนตัวเป็นคนชอบอะไรที่เก่าๆ ประวัติศาสตร์เป็นคนที่ไม่ค่อยชอบแฟชั่นไม่ค่อยตามเทรน


ถาม : เก่าๆ มีเสน่ห์อย่างไรเราถึงรู้สึกว่าเราชอบ

ตอบ : เป็นคนที่ชอบการแต่งกาย ถ้าเห็นเป็นตึกเก่าๆ มันมีอะไรที่รู้สึกว่าขนลุกดี ชอบ


ถาม : ตอนแรกที่เราตั้งใจทำโครงการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชุมชนตอนนั้นเป้าหมายคืออะไร

ตอบ : คาดหวังว่าเยาวชนรุ่นหลังจะได้รับรู้ข้อมูลของชุมชนได้ เกิดความสนใจที่จะนำไปต่อยอดได้อีก อะไรที่ไม่รู้ก็จะได้รับรู้


ถาม : พอเราทำโครงการแล้วเกิดผลตามที่เราคาดหวังไว้ไหม

ตอบ : เกินคาด เหมือนกับที่บอกว่าปีแรกยังไม่เห็นความร่วมมือจากผู้ใหญ่แต่พอปีนี้ เกินคาดทั้งตัวโครงการและตัวน้องเอง ศักยภาพของน้องๆ เพิ่มขึ้น สามารถถ่ายทอดให้กับคนในชุมชน และในช่วงที่ทำโครงการได้ทำกิจกรรม ได้ไปออกบูธ นำเสนองานภายในชุมชนตาม อบต. น้อง ๆ แต่ละคนที่ทำโครงการสามารถถ่ายทอดส่งต่อข้อมูลให้กับคนอื่นได้ตามเป้าหมายที่หวังไว้ผู้ใหญ่ให้ความร่วมมือมากขึ้นในปีที่สอง เพราะเขาได้เห็นตัวตนของน้องๆ เห็นศักยภาพ น้องๆ ก็เรียนรู้และสนุกไปกับมัน


ถาม : แล้วที่เราวางแผนไว้ที่เป็นไปตามคาดที่เราตั้งใจไว้มีอะไรบ้าง

ตอบ : เราได้รู้ในสิ่งที่ไม่ได้รู้จากการศึกษาด้วยตัวเอง พอเรารู้เรื่องการแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์ น้อง ๆ ในโครงการก็หันมาใส่ชุดสมัยก่อนเป็นผ้าที่สวยมาก เราจะใช้ชุดแบบนี้ใส่ไปชุมชนอื่น ไปหาเพื่อน ๆ ชุมชนอื่น เขาจะเห็นว่าชุมชนบ้านควนมีความสามัคคีกัน


ถาม : เราคิดว่าการทำโครงการนี้เสียงตอบรับจากชุมชน ทัศนคติของชุมชนที่มีกับเด็กอย่างพวกเราเขาเปลี่ยนไปได้ไหม

ตอบ : เปลี่ยนไปค่ะ เหมือนกับเห็นความสำคัญของเด็ก ๆ มากขึ้น เห็นในตัวของเด็ก ๆ มากขึ้น


ถาม : ถ้าถามถึงตัวกุ้งเองพอเราเห็นว่าผู้ใหญ่จากเดิมต่างคนต่างอยู่ บางคนเขาอาจมองว่าสิ่งที่เราทำเป็นเรื่องตลก พอเขามีทัศนคติที่เปลี่ยนไป ให้ความสำคัญกับเรามากขึ้น ส่วนตัวกุ้งเองรู้สึกอย่างไรบ้าง

ตอบ : ตัวกุ้งในฐานะที่เป็นพี่ก็รู้สึกภูมิใจที่ผู้ใหญ่หลาย ๆ คนเห็นคุณค่า เห็นถึงความสำคัญในตัวน้อง ๆ รู้สึกดีที่ได้เห็นการยอมรับ เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ จากที่เขามองเด็กว่าการทำงานเพื่อชุมชนจะมาทำทำไม ผู้ใหญ่ก็ทำกันอยู่แล้ว พอหลัง ๆ ผู้ใหญ่กลับเป็นคนชวนเด็ก ๆ ไปร่วมมือ ทำให้รู้สึกดีขึ้น


ถาม : เราคิดว่าเรื่องที่เราทำเกี่ยวกับการศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชนของเรา ชุมชนได้ประโยชน์อะไรจากเรื่องที่เราทำบ้างไหม

ตอบ : ในตัวของประวัติศาสตร์ชุมชนเกิดประโยชน์ ถ้าเราทำเรื่องการท่องเที่ยวพวกเราสามารถ ถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้อื่น คนต่างถิ่นมาเรียนรู้ได้


ถาม : เพราะว่าชุมชนเราทำเกี่ยวกับการท่องเที่ยวอยู่แล้ว เหมือนกับว่าพอชุมชนได้รู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของตัวเองก็สามารถเอาเรื่องประวัติศาสตร์ของเราไปถ่ายทอดให้กับนักท่องเที่ยวได้รับรู้ มีหน่วยงานหรือว่าผู้ใหญ่บ้าน โรงเรียนเข้ามาสนับสนุนหรือว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเราไหม ในการทำโครงการ

ตอบ : เขามาเอาความรู้จากเด็กไปทำต่อ น้อง ๆ บางคนเขาไม่คิดอะไรเขาก็ตามไปกับผู้ใหญ่ทั้ง ๆ ที่ข้อมูลที่หามาพวกเราหามาอย่างเหน็ดเหนื่อย แล้วผู้ใหญ่เอาไปชุบมือเปิบ


ถาม : เขาเอาไปทำอะไร

ตอบ : พอเราทำโครงการนี้ผู้ใหญ่เขาก็ทำด้วย ปีแรกทำเกี่ยวกับพันธุ์ไม้ ทำเกี่ยวกับคลอง ผู้ใหญ่เขาก็ทำเขื่อน เหมือนเขาเล่นตลก พอมาปีสองทำเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เขาก็ทำเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ด้วย พอพวกหนูได้ข้อมูลมา รับรู้แล้วไม่ใช่ทำแค่คนสองคน เราทำกันหลายคนเป็นสิบคน ก็ต้องมีหนึ่งในสิบที่นำข้อมูลไปพูดกับผู้ใหญ่ ทำให้เขาเหมือนกับว่าเขาไม่ต้องทำอะไรเลยแต่เอาเด็กไปเป็นเครื่องมือ เขารู้ว่ากุ้งจะไม่บอกอะไร แต่เขาจะถามจากน้อง ๆ ทำให้เขาเอาตัวน้อง ไปเป็นเครื่องมือไปเลย


ถาม : ตอนนั้นเรารู้สึกอย่างไร เหนื่อยไหมหาข้อมูลมาตั้งเยอะ อยู่ๆ ก็มาเอาไป

ตอบ : เสียใจอยู่นะคะ รู้อยู่แล้วว่าอุตส่าห์ทำกันมา เหนื่อยกันมา แต่ว่าน้องบางคนเราพูดไม่ได้ บางทีตัวน้องเองอาจจะเห็นผลประโยชน์ ถ้าน้องบอกไปตัวน้องอาจเป็นคนที่สามารถถ่ายทอดได้ แล้วเขาเอาน้องไปถ่ายทอดทำให้น้องได้รับการเชิดชูว่ารู้ข้อมูลประวัติศาสตร์ ตอนนี้เขาทำงานกับหน่วยงานไปแล้ว


ถาม : ตัวกุ้งเองได้รับความรู้อะไรเพิ่มขึ้นไหมจากการทำโครงการนี้ เกิดแรงบันดาลใจหรือว่าเป็นจุดประกายอะไรในตัวเราไหม

ตอบ : ถ้าเป็นแรงบันดาลใจก็รู้สึกภูมิใจในตัวเองที่ได้รู้ประวัติศาสตร์ชุมชนตัวเอง เราเรียนท่องเที่ยวแล้วต้องเรียนเกี่ยวกับชุมชน รู้สึกว่าเราสามารถพูด สามารถถ่ายทอดให้กับเพื่อน ๆ ได้รับรู้ได้ว่าชุมชนเราเป็นอย่างไร ทั้ง ๆ ที่เพื่อนอยู่ชุมชนตัวเองแต่กลับไปเล่าเรื่องของชุมชนอื่น เรารู้สึกภูมิใจที่ได้มาอยู่ในจุดนี้แล้วทำให้ตัวเองได้รับรู้ข้อมูลมากกว่าคนอื่น


ถาม : ลองทบทวนดูว่าความเปลี่ยนแปลงของเราที่เกิดขึ้นจากการทำโครงการ ก่อนกับหลังเป็นอย่างไรบ้าง

ตอบ : ที่ชัด ๆ คงจะเป็นเรื่องความกล้าแสดงออก เหมือนที่บอกว่าช่วงแรกเป็นเด็กที่อยู่แต่ในห้องไม่ค่อยพบเจอผู้คน มันเปลี่ยนไปอีกคนหนึ่งเลยค่ะ ตอนนี้กล้าพูดคุย ตอนแรกพอมาเรียนด้านท่องเที่ยวเมื่อก่อนไม่เคยคิดมาเรียน เพราะว่าถ้ามาเรียนการท่องเที่ยวแล้วต้องเป็นงานบริการ พบเจอผู้คน แต่ละคนมีนิสัยที่ไม่เหมือนกัน พอได้มาทำโครงการนี้ได้นำตัวโครงการ ตัวระบบต่างๆ กระบวนการต่าง ๆ มาประยุกต์ กับตัวเองแล้วทำให้กล้าพูดคุย ถ้าเป็นเมื่อก่อนให้มานั่งพูดคนเดียวกุ้งไม่พูด กุ้งจะเป็นแค่คนที่ตามหลังมาตลอด แต่การทำโครงการนี้เปลี่ยนจากที่เป็นเด็กที่เจอไมค์กุ้งร้องไห้ทุกครั้ง ไม่จับเลย กลัวไมค์มาก แต่ตอนนี้ถ้าได้ทำอีกก็จะทำ เพราะว่ารู้สึกว่าดี ทั้ง ๆ ที่เรียนก็หนักแล้ว แล้วมาทำโครงการอีก เพื่อนบอกว่าไม่เหนื่อยบ้างหรอ ต้องมาทำทั้งโครงการต้องมาเรียน มันต้องแบ่งเวลาเก่งมากในการที่จะมาทำโครงการอะไรแบบนี้ได้

ตอบ : เมื่อก่อนหนูเป็นคนที่ชอบชื่นชมคนเก่งๆ ชอบเห็นรุ่นพี่เขาเก่งแล้วรู้สึกว่าตัวเองอยากเป็นบ้าง ครั้งนั้นไม่ออกค่ายมีรุ่นน้องหลายคนมาบอกกับหนูว่าเขาเห็นหนูเป็นพี่ที่เก่งคนหนึ่งเลย หนูไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะมีคนมาชมในตัวหนูได้ ทั้ง ๆ ที่หนูไม่เคยเป็นคนเก่งมาก่อนเลย หนูร้องด้วยความภูมิใจในวันนั้น ไม่คิดเลยว่าครั้งหนึ่งหนูจะได้มีประสบการณ์แบบนี้


ถาม : น้องในโครงการใช่ไหมที่เขามาบอกเรา

ตอบ : ไม่ใช่น้องในโครงการหนูไปค่าย เป็นค่ายที่วิทยาลัย มีทั้งเด็กปัตตานี ยะลาในค่ายหนูไม่เคยคิด ไม่เคยฝันมาก่อนว่าตัวเองจะกลายเป็นคนที่กล้าแสดงออกอะไรขนาดนี้ เขาให้ทำอะไรทำหมดเลย น้องๆ ในค่ายเลยเห็นว่าเราเป็นพี่ที่กล้าแสดงออก เก่งนะ พอน้องเขาเข้ามาบอกแบบนั้น หนูตกใจเพราะไม่คิดว่าหนูจะเป็นที่ภูมิใจกับน้อง ๆ คนอื่นได้


ถาม : ซึ่งเราคิดว่าความเปลี่ยนแปลงนี้เป็นผลมาจากการทำโครงการนี้ใช่ไหม

ตอบ : ใช่ เพราะว่าถ้าไม่ทำ ถ้าวันนั้นหนูไม่ทำโครงการหนูคงอยู่เป็นท้ายห้องเหมือนเดิม คงไม่กล้ามาพูด มาทำอะไรแบบนี้ ขนาดมีกิจกรรมอะไรหนูจะไม่ยุ่งเลย


ถาม : เราจำได้ไหมว่ามีเหตุการณ์ไหนที่เราบอกว่าตอนแรกเรากลัวไมค์มาก แล้วสถานการณ์ไหนหรือเหตุการณ์ไหนที่บีบบังคับให้เราจับไมค์แล้วเรารู้สึกว่าเราทำได้

ตอบ : น่าจะเป็นครั้งเดียวที่บังปิงเห็นหนูแหละค่ะ ที่หนูเล่าว่าหนูเป็นเยาวชนคนเดียวที่ไปประชุมของท่องเที่ยว บังปิงบอกไหนลองไปพูดดู หนูบอกว่าหนูไม่เอา ไม่พูดเพราะไม่เคยพูดมาก่อน เขาบอกให้หนูออกไปเลย หนูทำได้อยู่แล้ว พอออกไปเป็นคนที่ถ้าอยู่หน้าห้อง หรือเวลาไม่มีไมค์หนูจะสั่นแล้วจะร้องทันที แล้วเป็นเหตุการณ์ที่จำทุกวันนี้ว่าหนูเคยเป็นคนที่ร้องก่อนจับไมค์มาก่อน เราเห็นตัวเองในตอนนี้ คิดว่าทำไมวันนั้นถึงร้องได้ทั้ง ๆ ที่มันก็ไม่ได้น่ากลัวอะไรขนาดนั้น


ถาม : กล้าย้อนกลับไปเราคิดว่าเราจะร้องแบบวันนั้นไหม ถ้าให้จับอีกรอบ

ตอบ : ถ้าเป็นตอนนั้นก็คงจะร้องไห้เพราะไม่เคยเจอ เหมือนเป็นครั้งแรกของหนู พูดถึงคนไม่เยอะยี่สิบกว่าคน แต่สำหรับหนูมันเยอะมากเลย ต้องให้จับไมค์แล้วก็ไม่รู้จะพูดอะไรด้วย ออกไปสรุปเกี่ยวกับการท่องเที่ยว หนูไม่เคยพูดมาก่อน ขนาดออกไปหน้าห้องหนูยังไม่ออกเลย นี่ให้จับไมค์


ถาม : ถ้าเป็น ณ ตอนนี้เวลานี้เขาให้เราพูดอีกรอบ ที่เราเป็นเราตอนนี้เราคิดว่าเราจะพูดได้ดีไหม

ตอบ : ถ้าเป็นตอนนี้หนูสามารถพูดได้ เป็นร้อยคนหนูก็พูดได้แล้วตอนนี้ ถ้าเขาบอกว่าตัวแทนมาพูดหน่อยพูดได้อยู่แล้ว


ถาม : เรื่องของความสามารถที่เราคิดว่าเราอาจจะพึ่งค้นพบจากการทำโครงการนี้มีบ้างไหม ที่เราคิดว่าไม่เคยทำมาก่อน แต่พอได้มาทำแล้วเนี่ยคือความสามารถของเราที่เราค้นพบ

ตอบ : น่าจะเป็นการกล้าพูด ไม่เคยคิดมาก่อน ตอนแรกหนูไม่รู้ว่าการพูดต้องมีอะไรบ้าง เห็นเพื่อนเขาพูดเก่งๆ คิดว่าไม่ต้องมีอะไรมากแค่พูดออกมาเลย แต่จริง ๆ แล้วก่อนที่เราจะพูดเราต้องคิดก่อนที่จะพูดออกไป เป็นประสบการณ์ใหม่ที่ได้ ช่วงแรกก็งงว่าทำไมพูดแล้วไม่มีใครเข้าใจ พอได้ศึกษา ได้เรียนรู้ก็รู้สึกว่าการพูดต้องพูดให้เป็นกระบวนการ มีกระบวนการของมันในการพูดทั้งหมด ทำให้เรามีประสบการณ์ใหม่ตรงนี้


ถาม : เหมือนกับว่าการพูดไม่ใช่แค่พูด นึกอยากจะพูดก็พูด แต่ว่ามันต้องมีขั้นตอนของมัน มีความรู้ใหม่ๆ อะไรบ้างไหมที่เราได้จากโครงการนี้ไป

ตอบ : เป็นเรื่องของประวัติศาสตร์ต่างๆ เหมือนได้รู้ชื่อคน บางที บางคนไม่คิดไม่ฝันว่าจะเป็นคนใกล้ตัวเราข้อมูล คำถามต่างๆ


ถาม : ถ้าให้คะแนนเรื่องความรู้หรือว่าความเชี่ยวชาญที่เราได้ ก่อนกับหลังเราคิดว่าให้ประมาณกี่คะแนน

ตอบ : ถ้าเมื่อก่อนหนูเป็นคนที่ชอบศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์อยู่แล้ว ก่อนที่จะมาทำโครงการ ถ้าเอาประวัติศาสตร์บ้านควนหนูรู้เยอะมาแล้วเหมือนกัน ก่อนอยู่ที่ 7 คะแนน รู้อยู่หลายเรื่องเหมือนกันเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ตอนนี้ 9 คะแนน


ถาม : อะไรบ้างที่เราว่ามันเพิ่มขึ้นจนได้ 9

ตอบ : ก่อนจะเป็นบ้านควนเป็นมาอย่างไร รายละเอียดเกี่ยวกับคนที่มาบุกเบิกที่นี่


ถาม : เราได้เอาไปปรับใช้ในการเรียนหรือว่าปรับใช้ในชีวิตประจำวันของเราบ้างไหมจากการทำโครงการนี้

ตอบ : หนูเรียนท่องเที่ยวก็สามารถนำไปประยุกต์ได้เรื่องประวัติศาสตร์นำไปถ่ายทอดในห้องเรียนได้ และเรื่องของกระบวนการการทำงาน เวลาอาจารย์ให้ทำงานเราสามารถนำกระบวนการจากโครงการมาทำได้ ศึกษาข้อมูลก่อนแล้วเราค่อยมาเรียบเรียง ทำให้การทำงานง่ายขึ้น การที่หนูทำโครงการเป็น เป็นผลประโยชน์ที่ดีเลยในการเรียน เวลาอาจารย์แบ่งทำโครงงาน ทำวิจัยต่างๆ หนูเป็นคนหนึ่งเลยที่สามารถทำได้ สามารถอธิบายให้เพื่อน ๆ ฟังได้


ถาม : เรามีความคิดหรือว่าอยากจะทำอะไรต่อยอดจากโครงการนี้ไหมหลังจากจบโครงการไปแล้ว

ตอบ : อยากทำในส่วนของประเพณี การแต่งงาน บ้านควนมีอะไรดั้งเดิมเยอะมาก ในเรื่องของอาหารดั้งเดิม หรือว่าการแต่งกาย พวกขนมมันมีของขนมดั้งเดิม แล้วชุมชนอื่นก็จะเอาไปทำ ไปจดลิขสิทธิ์ของชุมชนนั้น ทำให้บ้านควนไม่ค่อยอยากทำอะไรเยอะแยะ แค่อยู่เงียบๆ ก็พอแล้ว แต่ถ้าหนูได้ทำอีกจะทำเกี่ยวกับขันหมากประเพณีการแต่งงาน ขันหมากดั้งเดิมของบ้านควนมีเยอะมาก ทำเป็นนกทำเป็นหงส์ รู้สึกว่าเป็นงานประณีต ถ้าเอาทั้งจังหวัดสตูลพวกขันหมากพวกนี้หายากมากนอกจากชุมชนบ้านควนซึ่งคนในชุมชนยังไม่เห็นความสำคัญในเรื่องนี้ คนที่ทำเหลือน้อยแล้วด้วย


ถาม : ความฝันหรืออนาคตของตัวกุ้งอยากทำอะไรต่อในวันข้างหน้า

ตอบ : ตอนนี้หนูก็เลือกสายนี้อยู่แล้ว ครอบครัวปลูกฝังมาตลอดไม่ให้เป็นลูกน้องใครอยู่แล้ว ไม่ชอบทำงานรายเดือน หนูไม่ชอบอะไรที่มาจ้ำจี้จ้ำไช ตอนนี้หนูได้ทำอยู่กับการท่องเที่ยวโดยชุมชน พอเราเรียนไกด์อันดับแรกคือต้องการได้บัตรไกด์อยู่แล้ว อันนั้นส่วนหนึ่ง ถ้าได้เปิดเป็นธุรกิจของตัวเองเป็นบริษัทของตัวเองเป็นความฝันหนึ่งของตอนนี้ เป็นธุรกิจการท่องเที่ยวที่ไม่ได้เป็นคนทำเองแต่จะเอาชาวบ้านหรือว่าคนในชุมชนเขาต้อนรับนักท่องเที่ยวช่วยกันในชุมชน


ถาม : กว่าที่เราจะไปถึงตรงนั้นได้เราอยากจะพัฒนาศักยภาพหรือว่ามีอะไรบ้างไหมที่เราคิดว่าถ้ามันพัฒนาได้มากกว่านี้มันจะดีสำหรับตัวเราที่เรารู้สึก

ตอบ : สิ่งที่อยากพัฒนาเป็นในเรื่องของบุคลิกนิสัย การเป็นอยู่มากกว่า นิสัยตัวเองยังไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่ อารมณ์ยังปรับไม่ค่อยได้ตอนนี้ มันก็ดีจากเมื่อก่อนแต่ถ้ามันดีกว่านี้จะดีมาก รับฟังผู้อื่น การจะมาเป็นผู้นำไม่จำเป็นต้องเป็นคนชี้นำคนเสมอ ผู้นำจะต้องเป็นผู้ฟังที่ดีด้วย


ถาม : ย้อนไปตอนปีหนึ่งก่อนว่าตอนที่กุ้งมากุ้งมีบทบาทหน้าที่อย่างไร ถ้าย้อนกลับไปตอนที่เราเข้ามาช่วยเล่าตัวเองหน่อยว่าตัวเองเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องที่จะต้องมาทำโครงการอย่างไรบ้าง รู้ไหมว่าต้องทำอะไรบ้าง

ตอบ : ตอนที่มาแรก ๆ บทบาทเป็นเยาวชนคนหนึ่ง ไม่ได้มีความกล้าอะไรสักอย่าง จะฟังคนอื่นเท่านั้น  ถ้าเอาในเรื่องของโครงการไม่รู้เลยว่าต้องทำอย่างไร มีกระบวนการอย่างไร แล้วต้องเริ่มอย่างไร ช่วงแรก เครียดเหมือนกัน ไม่เคยรู้มาก่อนว่าอะไรคือโครงการ แล้วมันมีอะไรบ้าง ต้องทำอย่างไร


ถาม : แปลว่าตอนแรกที่เราเข้ามาเราก็ไม่ได้มีความเป็นผู้นำอะไรตั้งแต่ต้น ค่อย ๆ ทำไปกับเพื่อน

ตอบ : ใช่ค่ะ ทำไปกับเพื่อน ตอนแรกทำกัน 5 คน เหลือมา 3 คน ทั้ง 5 คนก็ไม่ได้มีความรู้อะไรเกี่ยวกับโครงการ ทำไปเรื่อยๆ 2 คนเขาไม่ชอบ ไม่ใช่ทางของเขาก็เลยออกดีกว่าเหลืออยู่ 3 คน แล้วทั้ง 3 คนก็มีความถนัดที่แตกต่างกัน คนหนึ่งไม่พูดไปเลยหนักกว่ากุ้งอีก ฟังอย่างเดียวช่วงนั้นมีแต่คนไม่พูด ไม่มีใครพูดแล้วก็เลยลองเสนอกันดูว่าจะทำอะไรดี รู้แค่ว่าทำโครงการแล้วทำอะไรก็ได้ที่สามารถนำมาพัฒนาชุมชนได้ คิดแค่นั้น แล้วช่วงนั้นคิดอยากให้ชุมชนดีทุกอย่าง คิดมา 20-30 เรื่องได้ แล้วตัดไปเรื่อยๆ อีกคนโลกส่วนตัวสูง แต่คนบุกเบิกทั้ง 5 คนตอนนี้เหลือกุ้งคนเดียวแล้ว คนอื่นไม่ทำหมดแล้วเลิกทำแค่ปีแรก


ถาม : เป็นไปได้ไหมเพราะว่าเพื่อนเรามีบุคลิกแบบนี้มีทั้งคนไม่พูด มีทั้งคนโลกส่วนตัวสูง เราเลยต้องผลักดันตัวเองให้มาเป็นที่ต้องพูด ต้องนำทีม

ตอบ : ก็เป็นไปได้อีกค่ะ ส่วนตัวกุ้งถ้าได้ฝึกฝน ได้พยายามอยู่สม่ำเสมอมันก็คือเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ บวกกับว่าเป็นคนที่ไม่ค่อยอยู่กับที่สักเท่าไหร่ ชอบหาอะไรมาทำ เมื่อก่อนเป็นคนที่อยู่แต่ในห้องจริง ๆ ชอบวาดรูป ไม่คุยกับใครเลยแต่พอเราได้มาทำโครงการแบบนี้เห็นเพื่อน เห็นว่าทำไมเพื่อนเขาพูดเก่งจัง อยากจะพูดเป็นบ้างก็ค่อยๆ ฝึกตัวเอง แรก ๆ เหมือนที่บอกว่าหนูก็ร้องไห้อยู่เสมอ พอหลัง ๆ ก็สามารถพูดได้บางทีเขาก็ตกใจ ว่าเราพัฒนาตัวเองเร็วมาก ปีหนึ่งช่วงที่สองกุ้งสามารถที่จะพูดกับผู้อื่นได้แล้ว ถึงจะไม่ค่อยรู้เรื่องเท่าไหร่ เวลาเขาให้ล้อมวงให้พูดรายคน บางทีเขาพูดมีแต่คนชื่นชม แต่พอมาถึงคิวกุ้งพูดทุกคนเงียบ เลยรู้สึกเหมือนตัวเองทำไมเราพูดไม่รู้เรื่องหรือว่าเขาไม่เข้าใจหรือว่ายังไง รู้สึกไม่ค่อยดีเหมือนกัน คนอื่นพูดเขาชื่นชมว่าเออ พูดดีจังเลย พอของกุ้งเขาเงียบ


ถาม : แล้วเราเริ่มรู้สึกว่าคนฟังเริ่มฟังเรารู้เรื่องตอนไหน

ตอบ : รู้ตัวเองว่าตัวเองไม่สามารถปะติดปะต่อเรื่องได้ พอเริ่มทำงานปีสองก็เริ่มพูดโดยไม่ได้พูดไปก่อน พอเขาตั้งคำถามมาจะคิดก่อนว่าจะพูดอย่างไร พอพูดออกไปเห็นถึงผลตอบรับกลับมาด้วยว่าเขาก็รับฟังและเขาก็ยินดีกับเราที่เราพูดได้ ก็รู้สึกดีใจที่เขาไม่ได้เงียบเหมือนเมื่อก่อน


ถาม : กุ้งจะคิดก่อนที่จะมาพูด แปลว่าช่วงแรก ๆ พอได้ยินคำถามก็ไม่ได้ทำความเข้าใจกับคำถามก่อนตอบใช่ไหมหรือว่าตกใจอยู่

ตอบ : เป็นอาการสั่นแล้วก็กลัว เป็นอารมณ์กลัวมากกว่า บางทีหลีกเลี่ยง


ถาม : ปีแรกที่กุ้งบอกว่าตัวเองอารมณ์ร้อน มันมีเหตุการณ์ที่กุ้งอารมณ์จนคุมตัวเองไม่ได้ไหม

ตอบ : มีค่ะ เหมือนกับขึ้นเลย พูดไม่คิดเลย ทำให้เพื่อนไม่คุยด้วยเลย เราเลยมาคิดได้ว่าเราพูดไม่ดีเองใช้อารมณ์มากไป


ถาม : ตอนที่เราเริ่มมาปีสองไปฝึกงานแล้วเราต้องทำหน้าที่คล้ายพี่เลี้ยงที่ต้องตามน้อง ทีมเราไม่มีผู้ใหญ่ที่เป็นพี่เลี้ยงเหรอเราถึงต้องมาทำหน้าที่นี้

ตอบ : มีค่ะ แต่เราจะรู้สึกแปลก ๆ ถ้าเราไม่ตาม น้องจะเป็นอย่างไรบ้าง ทำกันได้ไหม มีความห่วงอยู่


ถาม : มันยากกว่ากันไหมกว่าการทำเอง ระหว่างการทำเองกับการเป็นคนคอยตามน้อง

ตอบ : มันก็คนละแบบถ้าทำเอง ถ้าเอาจริงๆ ความรู้ปีหนึ่งจะได้ดีกว่าปีสองเพราะว่าเราได้ลงมือทำเอง เจอเอง พบเองมันรู้สึกว่ารับรู้ได้ดีกว่า จนผ่านมาสองปีจะสามปีแล้วยังจำได้อยู่เรื่องราวในตอนนั้น แต่ถ้าถึงเรื่องราวในปีสอง ถ้ามาถามตอนนี้ต้องนึกก่อนว่ามันเป็นอย่างไร มันไม่ได้ลงมือเองแล้วเราไม่รู้ข้อมูล บางทีก็ต้องมานึกก่อนว่ามีอะไรบ้าง มันคนละแบบกับที่ได้ลงมือทำกับแค่ตามงานอยู่ห่างๆ


ถาม : มีหลายช่วงที่กุ้งมักจะพูดว่ากุ้งให้ความสำคัญกับการมีตัวตนของตัวเองว่าน้องเห็นเราไม่มีตัวตนหรือว่ารู้สึกดีใจที่ผู้ใหญ่เห็นความสำคัญของคนรุ่นใหม่ พี่อยากรู้ว่าทำไมกุ้งถึงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เรื่องที่เห็นว่าเราเป็นใคร เห็นว่าเรามีตัวตน หรือว่าเห็นว่าคนรุ่นใหม่ในชุมชนทำอะไรได้ หรือว่าเรารู้สึกอย่างไรบ้างตอนที่น้องเขาไม่เห็นเรามีตัวตน

ตอบ : ตอนแรกน้องเขาไม่รู้อะไรเลยแล้วเราทำให้น้องเขารู้ จนน้องเขารู้แล้วน้องเขาผลักไสไล่ส่งเราไปเลย เราเลยรู้สึกว่าไม่พึ่งเราแล้วก็ได้ ทำเองก็ได้ บางทีก็รู้สึกเสียใจว่าอุตส่ทำให้กล้าพูดได้ น้องบางคนเป็นหนักกว่าหนูอีกคือไม่พูด จนหนูทำให้น้องเขาพูดได้ ทำกิจกรรมแต่ละครั้งเราคอยให้กำลังใจเขาว่าเขาทำได้อยู่แล้ว เพราะว่าเรามาจากรากฐานที่เหมือนกัน พี่ยังทำได้ทำไมน้องจะทำไม่ได้จนตอนนี้น้องพูดได้ ทำอะไรได้ แล้วกลับไม่สนใจคนที่พากันไปตั้งแต่แรก จนตอนนี้น้องบางคนไม่รู้จักหนูไปเลย เวลาเจอกันบางคนก็ทักทาย พอเราไม่ทำโครงการเราก็ต่างอยู่เหมือนเดิม ชุมชนบ้านควนจะอยู่แบบถ้าไม่มีกิจกรรมจะต่างคนต่างอยู่ ไม่สนใจใคร พอไม่มีโครงการสิบคนก็แยกกันหมดเลย กับน้องบางคนพอเจอก็เหมือนคนไม่รู้จักกันเลย แต่ว่าถ้าได้มาทำกิจกรรมร่วมกันอีก น้องก็จะเป็นเหมือนเดิมนี่แหละ ถ้าไม่ได้ทำกิจกรรม ไม่ได้อยู่ด้วยกันจะอยู่เหมือนคนไม่รู้จักกันซะมากกว่า


ถาม : เราอาจจะยังสนิทกันไม่มากพอ

ตอบ : ถ้าไม่มีโครงการเราจะไม่รู้จักกันเลย ไม่เจอหน้ากันด้วยซ้ำ ทั้งๆ ที่อยู่หมู่บ้านเดียวกัน


ถาม : หมู่บ้านเราหมู่บ้านใหญ่ไหม

ตอบ : ทั้งตำบลมี 7 หมู่บ้าน


ถาม : เราทำเป็นระดับตำบลหรือว่าหมู่บ้าน

ตอบ : มันคละกัน ไม่ได้แค่หมู่เดียว ทั้งตำบลจะมีคนละหมู่ แต่ส่วนมากต้องขี่รถไป ห่างๆ กัน ไม่เคยเจอหน้ากันมาก่อนมาเจอกันตอนทำโครงการเลย


ถาม : เรียนก็ไม่เคยเรียนที่เดียวกัน

ตอบ : บางคนก็เรียนที่เดียวกันแต่ก็มีบ้าง 2-3 คนที่อยู่ด้วยกัน แต่ถ้าให้รวมตัวกันเยอะ ๆ ไม่มี


ถาม : ตอนที่จะมาได้เรื่องประวัติศาสตร์ทำไมกุ้งไม่ทำเรื่องพันธุ์ไม้ริมคลองต่อ

ตอบ : ตอนแรกจะทำต่อแต่ว่ามาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในทีม ตอนแรกเหลือน้องที่ยังไม่ไปไหนอีกประมาณ 3 คนเลยให้น้องลองลงความคิดเห็นกันดูว่าจะทำอะไรกัน น้องก็บอกว่าพันธุ์ไม้ทำมาแล้วอยากลองเรื่องอื่นบ้าง เขาเห็นความสำคัญเรื่องประวัติศาสตร์ น้องอยากทำตรงนี้เลยลองดู


ถาม : ที่กุ้งเรียนเรื่องท่องเที่ยวมันมาจากโครงการนี้ไหมหรือว่าเราเลือกเรียนท่องเที่ยวก่อน

ตอบ : ตอนนั้นเรียนท่องเที่ยวมาก่อนแล้ว แล้วมาทำประวัติศาสตร์ เพราะว่าทำตอนปิดเทอมปีหนึ่ง


ถาม : มีผลไหมที่ว่าเราเรียนท่องเที่ยวแล้วทำให้ความสนใจเราก็มาทางนี้ด้วย ปีที่สองก็เลยได้มาเป็นเรื่องประวัติศาสตร์

ตอบ : ในตัวหนูมีความสนใจในด้านนี้อยู่แล้ว เลยมาทำได้แต่ถ้าเอาท่องเที่ยวมาเกี่ยว เรียนท่องเที่ยวไม่ได้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์อะไรเยอะขนาดนั้นเพราะว่าการเรียนท่องเที่ยวจะเน้นไปในด้านของสายกลาง ไม่ได้ลงลึกถึงประวัติศาสตร์ชุมชนอะไรแบบนี้


ถาม : หมายถึงว่าเรียนเรื่องการจัดการว่าจัดการท่องเที่ยวอย่างไร

ตอบ : การตลาดอะไรแบบนี้


ถาม : แต่เนื้อหาก็ต้องไปดูในพื้นที่กันเอาเองว่าเที่ยวที่ไหนอะไร อย่างไร

ตอบ : ใช่ค่ะ เช่นเก็บเส้นทางท่องเที่ยว กฎหมายต่างๆ ไม่ได้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์สักเท่าไหร่แต่ว่าพอได้มาทำโครงการเหมือนกับว่าเราสามารถนำมาประยุกต์ได้กับรายวิชาต่างๆ


ถาม : มีวิชาไหนบ้างที่สามารถประยุกต์ได้

ตอบ : จะมีวิชาในช่วงปีหนึ่งวิชาจังหวัดศึกษา วิชาวัฒนธรรม การเป็นอยู่สามารถนำมาประยุกต์ได้


ถาม : วิชาพวกนี้เขาเรียนเกี่ยวกับอะไร

ตอบ : ถ้าเป็นจังหวัดศึกษาจะเรียนรู้เกี่ยวกับจังหวัดเลย ประวัติต่างๆ เวลาทำงานกุ้งจะนำประวัติของชุมชนบ้านควนมาประยุกต์ในวิชาถ่ายทอดให้เพื่อนฟัง


ถาม : เราก็มีความรู้ที่จะมาถ่ายทอดในห้องเรียน

ตอบ : ใช่ค่ะ แล้วก็สามารถนำมาทำเป็นงานได้ เพื่อนเห็นว่าเรามีความรู้ในด้านนี้เพื่อนเห็นความสำคัญในตัวเรา สามารถช่วยเพื่อนได้เยอะ


ถาม : ชอบใช่ไหมที่เพื่อนเห็นความสำคัญของเรา ที่เราได้มีโอกาสช่วยคนอื่น

ตอบ : รู้สึกดีอยู่นะคะ