Interview : การอบรมเชิงปฏิบัติการ TOT ทบทวนและยกระดับสมรรรถนะของพี่เลี้ยงวิจัย

Interview

นางธัญธรณ์ พจนะแก้วครู

กศน. ตำบลหนองสนิท จังหว้ดสุรินทร์


“สิ่งที่ได้จากการเข้าร่วมโครงการ คิดอย่างเป็นระบบ มีการวางแผน

มีทักษะในการฟัง มีเทคนิคในการพูดมากขึ้น”


การเข้าร่วมโครงการ

ได้เข้าร่วมโครงการมาตั้งแต่หลักสูตรนักถักทอชุมชนแล้ว (โครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น 4 ภาค ระยะที่ 2 : หลักสูตรนักถักทอชุมชน เพื่อพัฒนาเด็ก เยาวชน และครอบครัว) นักถักทอคือ คนสร้างกระบวนการที่จะไปทำงานในพื้นที่หรือในชุมชนได้ โดยการเป็นโค้ชหรือการเป็นพี่เลี้ยงของเด็กในตำบลได้

­

สถานการณ์เด็กและเยาวชนในตำบลเป็นอย่างไร

สถานการณ์เด็กและเยาวชนในตำบลมีค่อนข้างเยอะพอสมควร หนึ่ง เด็กออกกลางคันที่ส่งมาให้ กศน. สองในเรื่องของการสร้างทักษะชีวิตให้กับเด็ก เด็กในชุมชนเรามีค่อนข้างเยอะ ทำอย่างไรมีทักษะชีวิตให้กับเด็ก และเด็กสามารถจัดกระบวนการเรียนรู้รุ่นต่อรุ่นให้เด็กรุ่นต่อไปได้ ทำอย่างไร เราจะมีพี่เลี้ยงรุ่นใหญ่ไปสามารถดูแลน้อง ๆ ในชุมชนในตำบลของเรา เพื่อไม่ให้เกิดเด็กกลุ่มเสี่ยงที่ออกกลางคัน เด็กออกกลางคันจะส่งมาที่ กศน.ของเรา ปัญหาคือ เด็กจะไม่จบภาคบังคับ เรื่องของกลุ่มเสี่ยง เด็กแว้นไม่ได้ไปโรงเรียน เสี่ยงติดยาเสพติดก็ได้ หรืออาจไปสร้างสิ่งรบกวนคนอื่นเขา

งานหลักที่เราทำสามารถเชื่อมและบูรณาการ การจัดกิจกรรมของเด็กได้ เป็นหน่วยงานภาครัฐ องค์กรและชุมชน ทำให้เรามองเห็นศักยภาพของชุมชนว่า เราสามารถที่จะมาทำกระบวนการเรียนรู้ให้กับเด็กได้

­

ทำไมถึงสนใจงานเยาวชน

เป็นเหมือนการเชื่อมโครงการให้เราสนใจ หนึ่งคือ การพัฒนาตนเอง ทำให้เราอยากเรียนรู้ อยากเข้าใจว่า ทำอย่างไรเราจะไปพัฒนาเด็กในตำบลของเราได้ เราจะมีวิธีการพูดคุย แลกเปลี่ยน ทำอย่างไรจะสร้างแรงบันดาลใจ แรงจูงใจให้เด็กมาเข้าร่วมกิจกรรมกับเราได้ หากเราไม่มีทักษะหรือกระบวนการ วิธีพูด เขาก็จะไม่ได้มาร่วมกิจกรรมกับเรา ถ้าเรามีศักยภาพตรงนี้ ไปพูดไปคุย ชักนำเขาก็จะสามารถเรียนรู้กับเราได้ แล้วเขาก็จะสามารถสร้างทักษะชีวิตในตัวเอง ชุมชน หรือสังคมได้


สิ่งที่เปลี่ยนแปลงหลังจากได้เข้าร่วมโครงการ

สิ่งที่เรามองเห็นตัวเอง หนึ่งคือเรื่องของกระบวนการคิดน่ะ คิดอย่างเป็นระบบ มีการวางแผน มีทักษะในการฟัง มีเทคนิคในการพูดมากขึ้น


ก่อนเข้าร่วมโครงการเป็นอย่างไร

ก่อนหน้านี้ เป็นครู ครูก็จะมีหน้าที่สั่ง ๆ ไม่ได้ฟัง ไม่ได้เก็บความรู้สึก พอเรามาทำตรงนี้ ทำให้เราฟังเด็กมากขึ้น ใช้อารมณ์ในการสื่อสาร การฟัง การพูด การใช้สายตา การใช้น้ำเสียง การใช้อารมณ์ให้เขาเกิดความไว้ใจ สามารถมาเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นกับตัวเขาให้เราฟัง สะท้อนมุมมองอีกมุมหนึ่งให้รู้ว่า ทำไมเขาต้องออกจากการเรียนกลางคัน ทำไมต้องมีปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวของเขา ซึ่งมันสะท้อนให้เห็นว่า การที่เราได้มาพัฒนาตนเองเรื่องนี้ กลับไปช่วยเหลือกลุ่มเด็ก ๆ ได้

­

ยกตัวอย่างเด็กมาสัก 1 คน

กลุ่มเป้าหมายที่เด็กออกกลางคัน จะมีน้องคนหนึ่งที่ออกกลางคัน ปัญหาของเขาคือ เรียนไม่ทันเพื่อน ถูกเพื่อนล้อ เขาเป็นหนุ่มประเภทสาม พอไปโรงเรียน เพื่อนล้อว่า หนูสวยอย่างงั้น อย่างงี้ หนูเข้าห้องเรียนช้ากว่าเพื่อน เพื่อนก็กรี๊ดใส่หนู มันทำให้หนูอาย เขิน พอขาดเรียนหลายวัน หนูก็ไม่กล้าเจอเพื่อนแล้ว หนูก็ไปเรื่อย ๆ ไม่ได้เข้าโรงเรียน ต้องออกกลางคัน ต้องมาเรียนต่อ กศน. พอมาเรียน กศน. ได้เรียนจบ ม.ต้น ม.ปลายได้เรียนต่อราชภัฎ

หลังจากที่คุยกับเขา ได้รู้ปัญหาว่า เขาไม่พร้อมที่จะอยู่ในระบบ ก็พูดคุยแลกเปลี่ยนให้เด็กว่า มีการเทียบโอนผลการเรียนจากในระบบมาเป็นนอกระบบ เด็กก็ไปขอผลการเรียนแล้วก็มาเรียนกับเรา จัดกิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาให้เด็ก พาเด็กเข้าร่วมทักษะชีวิต เข้าร่วมกระบวนการกับเรา เขาก็สามารถจบแต่ละขั้นตอนในการศึกษาขั้นพื้นฐานแล้วเขาก็สามารถเรียนจบ กลับมาพัฒนาชุมชนตนเองได้

­

เราพาน้องคนนี้ ไปร่วมกิจกรรมอะไรบ้าง

ร่วมกิจกรรมเข้าวัด พาเด็กๆ ไปร่วมทำความสะอาดวัด พาจัดกิจกรรมพี่ดูแลน้อง ส่งเสริมการอ่าน พอเด็กร่วมกิจกรรมกับเรา เขาจะซึมซับ มันจะเป็นไอดอลของเด็กว่า การประสบผลสำเร็จไม่ใช่การจบการศึกษาในระบบ แค่เรียนในห้องเรียนอย่างเดียว การมีทักษะชีวิตนี่สามารถทำให้เขาบรรลุวัตถุประสงค์ในสิ่งที่เขาต้องการ ในสิ่งที่ถูกเติมเต็มจากคุณครู หรือจากตัวเขาเอง จากสภาพแวดล้อมของเขาเอง

­

ทักษะอะไรที่เราเติมให้เขา

การสร้างความมั่นใจให้เขาว่า ทุกคนมีความพร้อมไม่เหมือนกัน ดังนั้นการสร้างความพร้อมให้ตัวเองก่อน คือเติมพลังให้ตัวเองก่อน การเตือนตัวเองก่อนถ่ายทอดให้คนอื่นได้ เราทำกิจกรรมหลายกิจกรรมโดยให้เขาไปพูด ไปเป็นพี่เลี้ยง พอมีน้อง ๆ ฟัง คิดตาม อย่างเป็นระบบ เป็นกระบวนการ ทำให้เขาเหมือนเป็นฮีโร่อีกคนที่เขาสามารถดูแลน้อง ๆ ได้ เขามีพลังที่จะเดินต่อ เป็นภูมิคุ้มกัน เป็นพลังให้ตนเองด้วย

­

ในอบรมครั้งนี้ วิทยากรเติมอะไรให้บ้าง

เป็นการเติมเรื่องกระบวนการเป็นโค้ชชิ่งในการทำวิจัยให้กับเด็กรุ่นใหม่ เช่น การฟังอย่างเป็นระบบ การคิดอย่างเป็นระบบ การถ่ายทอดในเรื่องของทักษะกระบวนการคิดเป็น วางแผนอย่างเป็นระบบบนกรอบแนวคิดที่จะลงไปในพื้นที่ เราจะต้องเป็นพี่เลี้ยง เป็นคนดูแล เป็นคนถ่ายทอดประสบการณ์ต่าง ๆ ในการที่จะไปสร้างใครสักคนที่จะไปทำหน้าที่ เชื่อมร้อยกิจกรรมได้ในกิจกรรมของการวิจัย

­

สิ่งที่ได้เป็นพิเศษจากวิทยากรในการอบรมครั้งนี้

สิ่งที่อาจารย์เติมให้เป็นพิเศษและคิดว่าสำคัญ คือ การสร้างแรงบันดาลใจในเรื่องของการฟัง เพราะเป็นการพูดคุยแลกเปลี่ยนโดยใช้ กระบวนการกลุ่ม ได้คิดตาม ได้ฟังเหตุผล ได้ใช้อารมณ์ ได้สะท้อนความคิด ไม่ใช่เป็นแค่ผู้พูดอย่างเดียว หรือฟังอย่างเดียว มีวิธีการให้คนหนึ่งฟัง คนหนึ่งสังเกตและคนหนึ่งเป็นคนพูด ฟังอย่างจับประเด็นว่า พูดเรื่องอะไร ฟังแล้วได้อะไร ฟังแล้วเกิดอะไร แล้วเอามาสะท้อนจากสามคนว่า ฟังแล้วเราได้อะไรมากที่สุด แล้วเราสามารถที่จะใช้กระบวนการในกิจกรรมนี้ไปใช้กับกิจกรรมที่เราทำว่า ทำในเรื่องอะไร ทำแล้วจะได้ประโยชน์อะไร นั่นก็เป็นสิ่งที่ถูกเติมเต็ม กลับไปเราจะไปใช้แนวคิดอันนี้ในการเป็นโค้ช เพื่อที่จะต้องไปสามารถเล่าสู่กันฟังกับโค้ชตัวเล็ก T2 ได้ซึ่งถ้า T2 เข้าใจเหมือนเรา เขาก็จะสามารถทำงานอย่างเป็นระบบเหมือนที่เราเรียนรู้ได้

เพราะการสื่อสารจำเป็นสุด ไม่ว่าจะเป็นการใช้คำพูด ใช้อิริยาบถ ใช้บทบาท ใช้ความรู้ สะท้อนจากบุคลิกภาพ หากบุคลิกเราไม่น่าสนใจ คำพูด น้ำเสียง ในแต่ละกิจกรรม ถ้าประเด็นที่มาพูดไม่น่าสนใจ คนก็จะไม่คล้อยตาม หากว่าเราเป็นไอดอลชักจูงให้เขาเกิดความคิด ความสนใจ ฉันอยากทำ ฉันอยากเป็น ฉันอยากเลียนแบบสิ่งนี้ ไปทำและต้องทำให้ดี จากการสะท้อนในการทำงานของเราได้


Interview จากเวทีการอบรมเชิงปฏิบัติการ “TOT ทบทวนและยกระดับสมรรถนะของพี่เลี้ยงวิจัย 5 อปท.จ.สุรินทร์” (ภายใต้การดำเนินงานของ(โครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น 4 ภาค ระยะที่ 3 : ขับเคลื่อนกลไกเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนด้วยหลักการจัดการความรู้และกระบวนการวิจัย เฟส 2) ระหว่างวันที่ 17 – 21 กรกฏาคม 2562สนับสนุนโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) , กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น , มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) โดยมีอปท. จังหวัดสุรินทร์เข้าร่วมได้แก่ ทต.เมืองแก , ทต.กันตวจระมวล , อบต.หนองอียอ , อบต.สลักได , อบต.หนองสนิท