คลิปวิดีโอสัมภาษณ์ "ครูหมี" ชี้พลัง ต.หนองสนิท ช่วย "ตัวร้าย" กลับตัวเป็น "คนดี"

(สัมภาษณ์)

ค่ายพัฒนาศักยภาพและสร้างเครือข่ายเยาวชนทั้งในและนอกระบบการศึกษา 25 อปท. จังหวัดสุรินทร์

วันที่ 30 กันยายน - 21 ตุลาคม 2562

สถานที่ หน่วยอนุรักษ์และจัดการต้นน้าห้วยสามสบ อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน


­

องค์การบริหารส่วนตำบลหนองสนิท เป็นอีกหนึ่ง อปท. (องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) จังหวัดสุรินทร์ ได้เข้าร่วมโครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น 4 ภาค ระยะที่ 3 : ขับเคลื่อนกลไกเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนด้วยหลักการจัดการความรู้และกระบวนการวิจัย และในเฟสที่สองได้ดำเนินโครงการ "การพัฒนาระบบและกลไกการสนับสนุนกระบวนการพัฒนาเด็กและเยาวชน และชุมชนตำบลหนองสนิท อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์"

ล่าสุดอบต.หนองสนิท ได้ส่งเยาวชนจำนวน 4 คน ได้แก่ นายศุภชัย นามวิสัย , นายยิ่งยง คำฝอย , นายดนัย อยู่เย็น และนางสาวทวีชญา เติมผล เข้าร่วมเรียนรู้ในค่ายพัฒนาศักยภาพและสร้างเครือข่ายเยาวชนทั้งในและนอกระบบการศึกษา 25 อปท. จังหวัดสุรินทร์ สนับสนุนโดย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น , กสศ. , สถาบันยุวโพธิชน , สกสว. , ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) และมูลนิธิสยามกัมมาจล เมื่อวันที่1 - 22 ตุลาคม 2562 ณ หน่วยอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำห้วยสามสบ ต.ศรีสะเกษ อ.นาน้อย จ.น่าน ที่ผ่านมา

ธัญธรณ์ พจนะแก้ว หรือครูหมี คุณครู กศน.จอมพระ จ.สุรินทร์ ในบทบาทพี่เลี้ยงในพื้นที่ ได้เป็นตัวแทนของอบต.หนองสนิท ในการพูดคุยถึงแนวคิดและมุมมองต่อการพัฒนาเด็กและเยาวชน ที่สำคัญคือการส่งเยาวชนเข้าร่วมค่าย 21 วันในครั้งนี้

ครูหมีเกริ่นให้ฟังถึงเหตุผลในการมาเข้าร่วมกระบวนกับอบต.หนองสนิทในการขับเคลื่อนงานด้านเด็กและเยาวชน ทั้งทีไม่ได้เป็นภารกิจโดยตรง “ครูหมีถือว่าเราก็เป็นคนตำบลหนองสนิท และคิดว่าเป็นคนของภาครัฐ และทุกคนต้องร่วมกันรับผิดชอบ ที่เรามาดูแล และต้องส่งเสริมสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นเด็กในระบบ เด็กนอกระบบ หรือชุมชน นี่คือความรับผิดชอบร่วมของกลไกที่เราทำงานร่วมกัน ดังนั้นเด็กที่อยู่นอกระบบก็คือสิ่งที่สำคัญ

สำหรับการมาเป็นพี่เลี้ยง ครูหมีได้แรงบันดาลใจจากเด็กๆ ของเราที่เขาไปอบรมร่วมกับพี่อ้อย (วราภรณ์ หลวงมณี ผู้อำนวยการสถาบันยุวโพธิชน) ที่ศูนย์เน็ทฯ จ.สุรินทร์ ตอนนั้นเราหาเด็กไว้ 40 กว่าคน แต่เด็กไป 31 คน การที่เราได้ไปผูกพัน ไปเรียนรู้ ไปรับรู้สิ่งที่เด็กๆ สะท้อน มันทำให้เราเกิดพลัง เพราะว่าเด็กที่ไปกับเรานั้น ถึงแม้เขาจะแพ้การศึกษามา อยู่ในระบบ ก็ออกนอกระบบ พออยู่นอกระบบก็ยังออกนอกระบบ คนที่เราส่งเสริมสนับสนุนคือเด็กที่ออกนอกระบบเช่นเดียวกัน เป็นเด็กที่เคยเรียนนอกระบบกับครูหมีด้วยซ้ำ เพียงแต่เขาหลุดออกไปในช่วงวัย ช่วงระยะเวลา พอเขากลับมาคืนมันทำให้เราสะท้อนนึกคิดขึ้นมาได้ว่าเขาก็มีพลังส่วนตัวของเขา เขาก็มีสิ่งลึกๆ ที่อยู่ในใจนะ ที่เขาอยากพัฒนาตนเอง เขามีไอดอล เขามีความพร้อม เขามีศักยภาพ เพียงแต่ว่าชุมชน คนภาครัฐ เอกชน หรือองค์กรชุมชนต่างหากที่ไม่ให้โอกาสเขา ดังนั้นการที่เราได้ฟัง เราได้เข้าใจความรู้สึกของเขา ทำให้สิ่งที่ได้เรียนรู้เพิ่มพลังบวกให้ทั้งเราและเขา ทำให้เราอยากที่จะจับมือกันเดินพร้อมกันไปว่าทำอย่างไรคนที่แพ้การศึกษาอย่างเขาจะเดินจับมือไปกับภาครัฐอย่างเรา กับคนในชุมชนของเราได้ ทำอย่างไรเราจะกระตุกกระตุ้นเพื่อจะพัฒนาเขาไปได้ อย่างที่พาเยาวชนมาอบรมค่าย 21 วัน เราไม่ได้หาเพียงแค่ 4 - 5 คน เราหาไว้เป็นสิบๆ คน เรามีความพร้อมว่าเราต้องหาเผื่อแล้วว่าเด็กจะมากี่คน แม้ว่าเป้าหมายจะเพียง 5 คน เราหาไว้ 10 คน เราก็คาดหวังว่าอยากจะมาได้ทั้ง 10 คน 15 คนนะคะ แต่สุดท้ายการเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้นได้เสมอสำหรับวัยแบบนี้ วัยรุ่นเขาอาจจะมีการไปตามเพื่อน คล้อยตาม ความรู้สึกนึกคิดเป็นของตนเอง ดังนั้นที่มาได้ของตำบลหนองสนิทคือ 4 คน แต่ก็จะมีเด็กใน กศน.ของอำเภอจอมพระที่ครูหมีรับผิดชอบ มาในตำบลอื่นๆ เช่นเดียวกัน นั่นก็คือด้วยความผูกพันและความเป็นห่วงเป็นใยเด็กๆ ทำให้เรามีพลังที่จะติดตามเขา ที่จะดูแลเขา เหมือนกับว่าเป็นแม่อีกคนหนึ่งที่จะต้องช่วยสนับสนุนความรู้สึก ต้องดูแลทุกอย่างให้กับเขา แม้จะเป็นสิ่งเล็กๆ ที่ดูแลได้ในด้านจิตใจ แต่นั่นคือสิ่งที่สำคัญที่สุดของการเป็นพี่เลี้ยงที่เราจะทำต่อเพื่อให้เขากลับไปเดินต่อได้อย่างมั่นใจได้ อย่างน้อย แค่หนึ่งกำลังใจก็สามารถสร้างพลัง สร้างคน ให้เขากลับไปพัฒนา ไปสร้างชาติได้ นั่นก็คือสิ่งที่เรามองเห็นจากการที่เราได้มาเป็นครูพี่เลี้ยง หรือเป็นพี่เลี้ยงเด็กในการขับเคลื่อนงาน

เราได้เรียนรู้กระบวนการ ได้เรียนรู้หลายๆ อย่างที่เข้ามาเพื่อสามารถที่จะกลับไปแลกเปลี่ยนกับเด็กได้ พูดคุยกับเด็กเพื่อให้เข้าใจมากขึ้น อารมณ์เย็นมากขึ้น และที่สำคัญที่สุด การเปิดใจคุยกัน เพื่อให้เขาได้โอกาส เพื่อให้เราได้เรียนรู้ การฟังที่ดีก็คือสิ่งที่สำคัญเช่นเดียวกัน พอกระบวนการที่เราได้มาเรียนรู้จากพี่แอ๋ม (สุทิน ศิรินคร หัวหน้าโครงการ มูลนิธิสยามกัมมาจล) จากพี่อ้อย หรือว่าจากบุคคลอื่นๆ ที่เป็นวิทยากรในกระบวนการนั้นมันทำให้เรากับเด็กเข้าใจตรงกันมากขึ้น เพราะกระบวนการที่เราได้เรียนรู้ร่วมกันนั้นมันสามารถจูนให้ตรงกันได้กับความรู้สึกว่าเขาจะพูดสิ่งนี้มาเมื่อเราฟังแล้วเราสามารถจับประเด็นในสิ่งที่เขาอยากได้ได้ นั่นคือพลังที่เข้มแข็ง พอสบตาเราก็สามารถรู้ใจเด็กได้ด้วยว่าเขาต้องการอะไร บางครั้ง สื่อดิจิตัลคือสิ่งที่สำคัญเช่นเดียวกัน บางอารมณ์ที่เด็กถ่ายทอดออกมานั้นไม่ได้ถ่ายทอดด้วยคำพูด ไม่ได้ถ่ายทอดด้วยน้ำเสียง แต่เป็นการถ่ายทอดด้วยข้อความตัวหนังสือบาง ๆ ที่เราสามารถเข้าไปซึมซับไปสนับสนุน ไปพูดคุยอย่างเปิดใจได้ และบางครั้งบางโอกาสนั้นเขาถ่ายทอดออกมาด้วยแววตาไม่ได้ ด้วยสายตาไม่ได้ ด้วยน้ำเสียงไม่ได้ เราอยู่คนละฟากกันเหมือนเขาอยู่ที่ค่าย ครูอยู่ที่โน้น ครูก็สามารถรับรู้ถึงความรู้สึกของเขาว่าเขาเข้าค่าย เขารู้สึกอะไร เขาอยากได้อะไร เขาต้องการเพิ่มอะไร เขาขาดตรงไหน กำลังใจคือสิ่งที่สำคัญสำหรับเด็กๆ กลุ่มนี้ ดังนั้นเราจะต้องติดตามเพื่อรับรู้เขาตลอดเวลา ขอบคุณสยามกัมมาจลและธนาคารไทยพาณิชย์ฯ ที่มีการถ่ายทอดสดทุกกิจกรรมทำให้เราได้เรียนรู้ตลอดเวลาว่าเขาไปถึงไหน เขาอยู่อย่างไร เขาทำอะไร ดังนั้นการที่เราได้ดูแววตาผ่านสื่อมันสามารถทำให้เราได้รับรู้ถึงความรู้สึกของเด็กๆ ได้ด้วยค่ะ” ครูหมีร่ายความรู้สึกออกมาอย่างยาวเพื่อให้ทุกคนได้รับทราบถึงพลังในการเป็นพี่เลี้ยงและสัมพันธภาพที่มีระหว่างครูหมีกับเด็กเยาวชนในพื้นที่

สำหรับความคาดหวังในการส่งเยาวชนมาเข้าค่ายในครั้งนี้ ครูหมีบอกว่า “ความคาดหวังที่เราตั้งไว้ การที่เราจะคาดหวังอะไร ถ้าหากว่าพลังเขาไม่พอ เราไม่สามารถคาดหวังได้เลย ถ้าหากสิ่งเสริมแรงกับพลังบวกกับที่ชุมชน กับที่ต้นทุนมีไว้ให้ สิ่งที่เขาจะกลับไปทำ เรามีหน้าที่แค่ส่งเสริมสนับสนุนเขาได้ ให้แต่เรารู้ว่าเขาจะกลับไปทำอะไร เราพร้อมเสมอสำหรับคนภาครัฐหรือหน่วยงานองค์กรท้องถิ่นที่จะมาสนับสนุน ไม่ว่าด้านงบประมาณ ด้านพลัง ด้านคนที่จะมาร่วมกับเขา นั่นก็คือให้เป็นความรู้สึกที่ต้องการที่แท้จริงของเด็ก เราสามารถที่จะช่วยดูแลเขาได้ ตอนนี้ยังไม่มีโครงการที่เขาอยากจะทำ แต่ก่อนที่เขาจะมานั้น หลังจากจัดกิจกรรมสร้างแรงบันดาลใจกับกลุ่มของอาจารย์อ้อย เด็กก็ได้กลับไปทำว่าทำโครงการอะไรหลังจากกลับมา มีการพัฒนาชุมชน มีการทำอาหาร ขนม มีการร่วมคิดร่วมทำกับชุมชนโดยเริ่มจากกลุ่มเล็ก ๆ พาน้อง ๆ ในตำบลมาช่วยกันทำความสะอาดหมู่บ้าน ซึ่งเด็ก ๆ เขาเขียนว่าเขาจะทำทุกเดือน

สิ่งที่เราเห็นและคาดหวังคือการรวมกลุ่มในระดับหมู่บ้าน ซึ่งตอนนี้ก็มีจิตอาสาที่มาทำการพัฒนาทุกเดือน นั้นก็คือสิ่งเล็กๆ ที่เรามองเห็นจากการสร้างแรงบันดาลใจของเขา แต่ตอนนี้หลังจากกลับไป ครูหมีคาดหวังว่าเขาคงจะไปส่งเสริมตัวเอง สร้างแรงบันดาลใจจากสิ่งที่เขาคาดหวังว่าเขาจะไปสร้างอาชีพอะไร เขาจะรวมกลุ่มอย่างไรในการที่เขาจะอยู่รอดจากการเป็นคนนอกระบบ ให้สังคมยอมรับได้ค่ะ”

สำหรับสถานการณ์ของเด็ก ๆ เยาวชนในพื้นที่ ครูหมี บอกว่าจากที่สัมผัสมา เด็ก ๆ คิดว่าตัวเองถูกมองว่าเป็น “ตัวร้าย” .... “จากการที่เราได้สัมผัสกับเด็กๆ เด็กๆ พูดคำเดียวว่า “ฉันเป็นตัวร้ายที่ใครๆ มองเห็น” แต่ครูก็สะท้อนกลับไปว่าถึงเธอจะเป็นตัวร้ายแค่ไหน แต่เธอก็เป็นตัวร้ายที่ใคร ๆ รักได้ สามารถที่จะรักเธอได้ถ้าหากเธอย้อนกลับมาเพื่อที่จะเดินต่อในชุมชนของเธอนั้น ดังนั้นเด็กกลุ่มนี้เราจึงคาดหวังว่าเขาน่าจะประสบความสำเร็จมาก เพราะว่าวุฒิภาวะเขาน่าจะพร้อมมากขึ้น ประสบการณ์ที่เขาได้มา การเรียนรู้มันสามารถที่จะเป็นพลังบวก เป็นการเสริมแรงให้เขาในการกลับไปพัฒนาตนเองได้มากยิ่งขึ้น”

ครูหมีเล่าต่อว่า จากการได้ร่วมทำกิจกรรมกับเด็ก ๆ ทำให้เห็นมุมมองผู้ปกครองในมุมดี ๆ อีกด้วย “หลังจากที่เราทำกิจกรรมร่วมกัน จากการสร้างแรงบันดาลใจแล้ว เมื่อเด็กกลับไปทำ มุมมองของผู้ปกครอง สะท้อนกลับมาให้เรามองเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดีนะ คุณเก่ง คุณสามารถทำได้ คุณเป็นเด็กที่สามารถสร้างพลังให้ชุมชนได้ มองเห็นว่าคุณมีศักยภาพในตัวอยู่แล้ว แค่ทุกคนให้โอกาส ทุกคนเปิดโอกาส แต่ที่เราสัมผัสได้นั้น ผู้ปกครองให้โอกาสเด็กเหล่านี้ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นผู้นำชุมชน ไม่ว่าจะเป็นผู้ปกครอง หรือคนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง พยายามที่จะมาส่งเสริมสนับสนุนเขาโดยไม่ปล่อยให้เขาให้หลุดลอยไปมากไปกว่านี้ อย่างน้อยก็มีกลไกในระดับชุมชนที่ติดตามเขาอยู่ตลอด รายงานสถานการณ์ พูดคุยสถานการณ์ว่าเด็กกลุ่มนี้ทำอะไร ถึงไหน ตอนไหน ทำให้คนที่อยู่ใกล้ชิดอย่างเช่นผู้นำชุมชน ผู้ปกครองเขาสามารถเล่ารายละเอียดให้กับคนทำงานที่อยู่กลุ่มเบื้องหลังอย่างคุณครู อย่าง อบต. อย่างปกครอง ให้เราได้รู้สถานการณ์ของเขาตลอด” ครูหมี บอกเล่ากลไกที่เป็นเกราะให้เด็ก เยาวชน ในชุมชนให้เกิดความเข้มแข็งได้

ครูหมี เสริมต่อว่า เมื่อก่อนชุมชนไม่ได้มองสถานการณ์เด็ก เยาวชนเหมือนปัจจุบันนี้ “สถานการณ์เมื่อก่อน เราได้แต่มอง เราได้แต่เห็น เราได้แต่มองเห็นแค่ภาพที่มันเกิดขึ้น ซึ่งกลไกของเรายังไม่เกิด เราพยายามดึงกลไกแต่ละหน่วยงานแต่ละชุมชนว่าเราจะทำอย่างไร อย่างตำบลหนองสนิท พอเราสะท้อนสถานการณ์ในชุมชน ทุกๆ ชุมชน เราจะคุยกันทุกเดือนของการประชุมในหน่วยงานปกครอง โดยมีปลัด อบต. ได้แนบเนียนเข้ามามีส่วนร่วม และมีกำนันวรรณิสาเข้ามา มีส่วนในการพูดคุยแลกเปลี่ยนสะท้อนปัญหา หรือสถานการณ์ในชุมชน โดยที่มีหัวหน้าส่วนราชการแต่ละส่วนที่รับผิดชอบอยู่มาเล่าสู่กันฟัง เราก็ได้แต่คิดว่าเราจะเคลื่อนกันอย่างไร เราจะขยับกันอย่างไร พอดีว่าท่านนายกฯ (สมจิตร นามสว่าง นากยกอบต.หนองสนิท) ท่านเห็นความสำคัญของการพัฒนาคน ทำอย่างไร เราถึงจะพัฒนาคนได้ คือการเชื่อมร้อยระหว่างหน่วยงานของรัฐและเอกชน ของประชาชน ของทุก ๆ หน่วยงาน โดยการที่เรามาคุยกันทั้งหมดเลย เปิดใจคุยกันถึงสถานการณ์ โดยที่เราไม่ได้ปิดบังสถานการณ์เลยว่า กศน.มีปัญหาอะไร รพ.สต.เกิดปัญหาอะไรขึ้น โรงเรียนเกิดปัญหาอะไรขึ้น หน่วยงานเกษตรเกิดปัญหาอะไร ปกครองเกิดปัญหาอะไร เรามีสถานการณ์อยู่ในมือไม่ว่าจะเป็นเด็กออกกลางคัน สถานการณ์ยาเสพติด สถานการณ์เด็กท้องก่อนวัยอันควร ทำให้เราสามารถที่จะมองเห็นภาพรวม ๆ ว่าเราจะพัฒนาตำบลของเราไปในแนวไหน แล้วเราจะดึงคนกลุ่มไหนเข้ามาเป็นกลไกในการทำงาน แล้วกลไกของเราจะสามารถกลับไปดึงเด็ก ๆ เหล่านั้นเข้ามาร่วมกิจกรรม เพื่อให้เกิดกิจกรรมของพี่สอนน้อง พี่พาน้อง พี่ชวนน้อง ทำอย่างไร ที่จะให้ตำบลของเราเดินต่อเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน” ครูหมีเล่าที่มาของกลไกตำบลหนองสนิท ที่มุ่งพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนในตำบลของตนเอง

ครูหมี เล่าว่าตนเองได้เริ่มเข้าโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนกับ อบต. มาตั้งแต่ปี 2559 ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน “เราขยับมาทีละนิด ๆ โดยที่เมื่อก่อนยังไม่มีหัวหน้าสมเกียรติ (สมเกียรติ สาระ หัวหน้าสำนักงานปลัด อบต.หนองสนิท) เข้ามาทำงานตรงนี้นะคะ เราก็มีหัวหน้าจินตนาที่ตอนนั้นยังอยู่ เราก็ขยับทีละนิดๆ ทีละสเต็ป แล้วพอนายกฯ โอเค พอผู้นำโอเค พอทุกคนโอเคกันหมดแล้วว่าเราจะพัฒนาคนจากตำบลของเราโดยที่เราตั้งเป้าว่าทำอย่างไรที่ตำบลของเราจะรักกัน”

“จากสถานการณ์แรก ๆ เหมือนกับเป็นการ เอ้ย ลูกใครหลานใคร เหมือนกับว่ามันไม่ได้คุยกันทีแรก เหมือนกับว่าแล้วแต่ ลูกใครหลานใครไม่ได้สนใจ แต่พอมานั่งคุยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเรื่อย ๆ ปรับไปเรื่อย ๆ เฮ้ย สถานการณ์มันเริ่มเปลี่ยนนะ ความรุนแรงมันเริ่มเกิดขึ้นนะ ทำให้รู้สถานการณ์ ทำให้คนข้างในกลับเข้ามามอง คิดว่าอนาคตข้างหน้า ถ้าหากเป็นอย่างนี้คงไม่ไหว ดังนั้นการปรับเปลี่ยนมันก็ค่อยกระเถิบมาทีละน้อย ๆ โดยที่เราไม่ได้คาดหวังว่ามันจะต้อง 100% นะ”

เมื่อกลไกเริ่มเกิด เป้าหมายร่วมก็ตามมา “เรามองถึงอนาคตของตำบล สมมติว่าถ้าจากที่เรามองสถานการณ์ ถ้าเด็กในตำบลเราติดยาเสพติดเยอะ ปัญหาอะไรจะเกิดขึ้น ถ้าเด็กออกกลางคันเยอะ ปัญหาอะไรจะเกิดขึ้น ถ้าเด็กท้องก่อนวัยอันควร ปัญหาอะไรจะเกิดขึ้น สิ่งที่เราทำ เราไม่ผลักเขาออก เราพยายามที่จะดึงคนกลุ่มตัวอย่างนี้เข้ามาคุย เข้ามาชวนคิด ชวนคุย เพื่อเขาจะได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ว่าอะไรที่ทำให้เขาเป็นแบบนี้ ผู้ใหญ่ในตำบลนี้เปิดกว้างให้เด็กกลับมาแก้ตัว เป็นการรับผิดชอบร่วมกัน ทุกหมู่บ้าน ผู้นำจะรู้หมดเลยว่าเด็กเป็นใคร ลูกใคร หลานใคร อย่างคุณครู อย่างหน่วยงานจะไม่สามารถรู้ได้เลยว่ากลุ่มนี้เป็นอะไรอย่างไร แต่คนที่ใกล้ชิดที่สุดคือผู้นำ ผู้นำจะสอดส่องทุกกระบวนการของเขา เขาเป็นเด็กแว้นไหม เขาติดยาไหม เขาทำอะไรอยู่มุมไหน”

“การรายงานสถานการณ์ มันมีทั้งด้านบวกและด้านลบ สิ่งดี ๆ ก็จะมีกลุ่มเด็กดีก็จะทำในเรื่องดี กลุ่มเด็กที่อ่อนไหวง่ายหรือเด็กกลุ่มที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงเขาก็จะปฏิบัติกิจกรรมในกลุ่มเสี่ยง แต่คนที่จะติดตามคือผู้นำ ผู้นำจะรู้สถานการณ์หมด พอมาคุยมาแลกเปลี่ยนเราก็เริ่มคิดแล้วว่าเราจะไปปรับแก้อย่างไร เราจะไปคุยอย่างไร เราจะไปชักชวน เราจะไปสร้างแรงจูงใจอย่างไร” การเปิดใจหมดเปลือกไม่หมกเม็ดในพื้นที่ทำให้สามารถมองเห็นปัญหาได้ถึงแก่น

หลังจากมีกลไก ผู้ใหญ่ทุกคนในตำบลมองเห็นปัญหาเดียวกัน มุมมองต่อเด็กนอกระบบในปัจจุบัน ครูหมีสะท้อนเป็นมุมบวก คอยสนับสนุนทุกด้าน “เราคาดหวังว่า เราจะทำให้เขามีอาชีพ มีไอดอลของเขา เมื่อกลุ่มนี้สำเร็จในกลุ่มอาชีพที่เขาถนัด ที่เขาอยากทำ เขาจะเป็นไอดอลในการขับเคลื่อนงานของเราได้อย่างดีเลย เพราะว่าตัวร้ายที่กลับตัวเป็นคนดี พลังจะสูงกว่าคนดีๆ ที่ทำ อย่างน้อยเขากลับใจเข้าไปทำแล้ว เขาจะได้ทำสิ่งดี ๆ ให้ชุมชนได้เห็นว่าเขามีศักยภาพ เขาพร้อมที่จะเดินต่อถึงแม้ใครๆ จะมองเขาอย่างไรก็ช่าง แต่เขามีพลังและเขามีต้นทุน อย่างน้อย ยังมีคนโอบอุ้มเขาอยู่ ยังมีคนใส่ใจและดูแลเขาอยู่ค่ะ” ครูหมีกล่าวตบท้ายถึงการรวมพลังของคนหนองสนิท เพื่อช่วยกันพัฒนาศักยภาพเด็กเยาวชนในตำบล ให้เป็นเด็กดี เด็กเก่ง เพื่อเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในตำบลของตนเองสืบไปนั่นเอง นี่คือตัวอย่างของการพัฒนาคนในระดับตำบลที่คนในตำบลช่วยกันพัฒนาโดยไม่ต้องรอใคร #