ธัญวรินทร์ หวังดี : แกนนำเยาวชน Active Citizen จ.ตรัง

นายธัญวรินทร์ หวังดี  แกนนำเยาวชน Active Citizen จ.ตรัง


  • น๊านนาน’ พี่ใหญ่ของน้อง ๆ ผู้ชนะความกลัวในใจ สู่การเป็นตัวแทนนำเสนอโครงการ

“น๊านนาน” หรือ ธัญวรินทร์ หวังดี ปัจจุบันอายุ 23 ปี ทำอาชีพขายของช่วยแม่ที่บ้าน น๊านนานเล่าให้ฟังถึงประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้ และเติบโตจากการเข้าร่วมโครงการ Active Citizen ปีที่ 1 ซึ่งได้รับคำชวนจาก “จ๊ะแหวน” พี่เลี้ยงของโครงการให้มาเป็น ‘ตัวประสาน’ น้องๆ หาเด็กๆ มาเข้าร่วมโครงการ

ที่มาที่ไปของโครงการ น๊านนานเล่าให้ฟังว่า “ตอนนั้น บ้านมดตะนอย จะมี 2 กลุ่มค่ะ แล้วตอนนั้นอีกกลุ่มเอาโครงที่เกี่ยวกับป่าชายเลนไป เราก็เลยคิดว่า มันมีอะไรที่สามารถลิงค์กันได้ เราก็เลยเอาเรื่องหอยดีกว่า แล้วมีกิจกรรมที่ต้องลงพื้นที่เยอะได้ลงไปกับกลุ่มนี้ด้วย แล้วพอดีว่าเราโตมากับหอย เพราะเป็นลูกชาวประมง ที่นี่จะทำประมงเกือบ 100 % ค่ะ เราก็เลยอยู่กับมันมาตั้งแต่เด็กๆ ค่ะ ก็เลยเลือกทำโครงการนี้ค่ะ ซึ่งผลลัพธ์ของโครงการในปีแรก ก็คือ ‘โมเดลหอย พร้อมทั้งสมุดบรรยาย’ เป็นความทรงจำที่ถูกเก็บไว้ระหว่างน๊านนาน พี่เลี้ยง และน้อง ๆ

ด้วยความที่โครงการของน๊านนาน มีพี่เลี้ยงที่คอยดูแลให้คำปรึกษาอยู่เสมอ ๆ ทำให้กลุ่มของน๊านนาน สามารถดำเนินโครงการผ่านไปได้ด้วยดี แต่ด้วยความที่น๊านนานเป็นพี่ใหญ่ของกลุ่ม เพราะอายุมากสุด ที่จะต้องคอยดูแลน้องๆ อายุ 11-12 ปี ก็ทำให้มีอุปสรรคในการทำโครงการบ้าง เช่น การจัดสรรเวลาในการทำกิจกรรมร่วมกัน เพราะน๊านนานจะต้องขายของที่บ้าน ในช่วงเวลาที่แม่ป่วย และน้องๆ ก็ไม่ว่าง หรือมาสาย ทำให้เกิดปัญหาในการพูดคุยกันบ้าง แต่ด้วย ‘ความเป็นพี่’ ต้องมีความเป็นผู้นำ และหลักการ ในการดูแลน้อง ๆ เวลาที่เกิดการแลกเปลี่ยนไอเดียกัน น๊านนานเล่าให้ฟังว่า ‘ก็จะใช้หลักของการฟัง ‘ประชาธิปไตย’ โดยนานก็จะถามคนอื่นก่อนว่าไอเดียที่คนนี้ที่นำเสนอมาโอเคมั้ย หรือว่าพอที่จะเอามาใส่ในโครงการได้ไหม เราก็จะถามก่อน เรารู้สึกว่ากลุ่มเราเป็นกลุ่มที่มีความเป็นประชาธิปไตย ส่วนใหญ่ถ้าอะไรที่เราไม่เห็นด้วยเราจะถามน้องๆ เราจะให้โหวตกันเลย’ นอกเหนือจากเรื่องโครงการ น๊านนานก็ใช้วิธีคิดนี้ในการพูดคุยกับน้อง ๆ ก่อนที่เลือกหัวหน้ากลุ่มด้วยเช่น ด้วยการบอกกับน้อง ๆ ว่า ‘อย่าให้นานเป็นหัวหน้ากลุ่มเพราะว่านานอายุเยอะที่สุด แต่ต้องเพราะนานมีศักยภาพ เอาศักยภาพมาเป็นหลัก ไม่ใช่อายุ

นอกจากความเป็นพี่ใหญ่แล้ว สิ่งที่น๊านนานได้เปลี่ยนแปลงตัวเองจากหน้ามือ เป็นหลังมือจากการทำโครงการ มี 2 เรื่องที่โดดเด่นก็คือ เรื่องการบริหารจัดการเวลา และเรื่องของการสื่อสาร ผ่านการก้าวข้ามความกลัวและความไม่มั่นใจ

เริ่มจากเรื่องการบริหารจัดการเวลา น๊านนานเล่าให้ว่า ‘เวลาที่จะต้องดูแลเด็กๆ เราจะต้องก็บรีฟเวลา บอกตาราง ว่าเราต้องทำยังไง ก็คือเกี่ยวกับการวางแผน เราจะต้องเป๊ะ เพราะว่าทุกคนมีธุระที่จะต้องจัดการ’ ซึ่งทักษะตรงนี้น๊านนานได้มาจากการทำโครงการร่วมกับน้อง ๆ เลย

และเรื่องของการสื่อสาร ซึ่งเป็นไฮไลท์สำคัญในช่วงที่ต้องนำเสนอโครงการในปีแรก เป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีความหมายสำหรับน๊านนาน ‘ตัวเองเป็นคนขี้อายคือแบบไม่ค่อยพูดไม่ค่อยกล้าอย่างนี้ค่ะ พอมันมีครั้งแรกแล้วเราทำได้ดีใช่มั้ย ครั้งต่อไปเราก็ยังประหม่าอยู่นะแต่มันก็ไม่แบบเชิงไม่กล้า แบบมันทลายกำแพงไปเลย เราสามารถทำได้แบบนี้ แค่เรากล้าพูดมันไม่มีผิดไม่มีถูกแต่ว่านานเครียดมากเลยนะ ตอนจะนำเสนอโครงการแรก กลุ่มพี่เลี้ยงด้วยความที่ว่าเห็นว่านานเป็นหัวหน้ากลุ่มก็จัดวางให้นานเป็นตัวหลัก เป็นคนพูดเลยค่ะ เป็นคนนำเสนอเลยแล้วพอดีแบบช่วงนั้นน้องๆ ทุกคนพึ่งเข้ากลุ่มกันมา นานก็เลยต้องพูดให้กลุ่มโครงการด้วย ช่วงนั้นคืออย่างที่บอกนานไม่มีความมั่นใจเลย ก็คือพอพูดโครงการจบปุ๊บ จ๊ะแหวนก็บอกว่าเราพูดได้ดี ก็ชื่นชมว่าเราสามารถทำได้แบบนี้ มันเปลี่ยนความคิดของเราไปหลายๆ อย่างคือเราทำได้ต้องมีความมั่นใจ ถึงเราทำไม่ได้เราพูดไม่ดีสุดท้ายแล้วแค่เรามั่นใจ มันก็ทลายกำแพงเราไปแล้วซึ่งจากประสบการณ์ที่เราได้เห็นน๊านนานเป็นตัวแทนนำเสนอในวันนั้น แถบจะไม่รู้มาก่อนเลยว่าน๊านนานเป็นคนที่ไม่มีความมั่นใจ และจากเวทีในวันนั้น ทำให้ตัวของน๊านนานเองได้เห็นศักยภาพของตัวเอง จนอยากสร้างพื้นที่ที่เป็นทั้งการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ให้กับชุมชน และเป็นพื้นที่ที่น้อง ๆ จะได้ฝึกทักษะการสื่อสาร เอาชนะความกลัว หารายได้ด้วยการเป็นมัคคุเทศก์น้อยได้

  • สร้างพื้นที่ให้น้องๆ เป็นมัคคุเทศก์น้อย เพื่อสร้างการรายได้การท่องเที่ยวให้ชุมชน

น๊านนานได้พูดถึงอาชีพที่ฝันอยากจะทำ ก็คืองานอิสระ (Freelance) เพราะบุคลิกเป็นคนชอบความอิสระ ชอบไปเที่ยว ชอบภาษา แล้วนำเอาเรื่องราวแรงบันดาลใจที่ได้ระหว่างการท่องเที่ยวมาถ่ายทอดเป็นเรื่องราว เช่น งานเขียนเรียบเรียงต่าง ๆ ซึ่งถ้ามองไปถึงอาชีพที่สามารถค่าเลี้ยงชีพ มีรายได้ที่แน่นอนในอนาคตให้กับตัวเอง และชุมชนได้ ก็คือ อาชีพไกด์ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีไอเดียในการทำ ‘กลุ่มมัคคุเทศก์น้อย’ แต่ต้องหยุดไปเพราะเจอกับสถานการณ์โควิด 19 โดยที่น๊านนานเล่าให้ฟังถึงแรงบันดาลใจที่จุดประกาย อยากทำมัคคุเทศก์น้อยคือ มันจะมีกลุ่มวิสาหกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยวชุมชน ด้วยความที่เราทำตรงนี้ เราก็เห็นว่าเด็กๆ ในชุมชนมีเยอะ เราเลยอยากเพิ่มความมั่นใจ เพิ่มความกล้าให้เด็กๆ ด้วยวิธีการที่ให้เด็กๆ มาเป็นมัคคุเทศก์ อย่างที่บอกถ้าน้องเค้าผ่านจุดนี้ไป น้องเค้าก็จะมีความมั่นใจในการพูดและมีความมั่นใจในการเป็นตัวเองมากขึ้น นานเคยประชุมกับจ๊ะแหวน เคยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ถ้าเราได้ทำเกี่ยวกับด้านการพูดหรือว่าสร้างความมั่นใจให้กับน้องๆ ได้ เราก็ไม่ต้องไปกังวล ถ้าเกิดมีคนมากหน้าหลายตาที่มาเที่ยวในชุมชนน้องเค้าก็จะสามารถพูดได้ สามารถทำเองได้ น่าจะเข้าสังคมได้สบายและนอกจากนี้น๊านนานยังอยากต่อยอดความฝันจากการกลุ่มมัคคุเทศก์น้อย เพื่อการสร้างการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ให้กับชุมชนด้วย เพราะเมื่อประเทศเปิด อยากให้ชุมชนของตัวเองมีชื่อเสียงในเรื่องของการท่องเที่ยว เพราะหมู่บ้านมดตะนอยเป็นหมู่บ้านที่ใกล้เกาะลิบงมาก สามารถใช้รถสัญจรไปเกาะหลายเกาะได้ แต่ซึ่งต้องเป็นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติ เพราะน๊านนานยังคงอยากรักษาทรัพยากรธรรมชาติของหมู่บ้านเอาไว้นานนาน