​นางสาวภัสร์สวรรณ ศรีรัตนะ : โครงการเรือพลีส เรือเร็วแห่งสายน้ำ

นางสาวภัสร์สวรรณ ศรีรัตนะ (จ๊ะจิ๋ม) อายุ 36 ปี

เจ้าหน้าที่โครงการอาหารปลอดภัยโรงพยาบาลตรัง บริษัทประชารัฐรักสามัคคีตรัง

(วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด

เลขานุการสภาองค์กรชุมชนตำบลบ้าหวี

เลขากลุ่มส่งเสริมการอนุรักษ์ป่าชายเลน บ้านทุ่งกอ หมู่ 3 ตำบลบ้าหวี

เลขากลุ่มท่องเที่ยวโดยชุมชนคลองหินลูกช้าง (โอทอปนวัตวิถี)

ตำแหน่ง: พี่เลี้ยงเยาวชน

โครงการเรือพลีส เรือเร็วแห่งสายน้ำ

ถาม ขอให้ช่วยแนะนำตัวเอง

ตอบ สวัสดีค่ะ ชื่อนางสาว ภัสร์สวรรณ ศรีรัตนะ ชื่อเล่นจิ๋ม อายุ 36 ปี ตำแหน่งที่รับผิดชอบในชุมชนมี3 ตำแหน่ง เลขานุการสภาองค์กรชุมชนตำบลบ้าหวี, เลขากลุ่มท่องเที่ยวโดยชุมชนคลองหินลูกช้าง (โอทอปนวัตวิถี), เลขากลุ่มส่งเสริมการอนุรักษ์ป่าชายเลน บ้านทุ่งกอ หมู่ 3 ตำบลบ้าหวี พี่ช่วยเหลืองานชุมชนของหมู่บ้านเกือบทั้งหมด เช่น กิจกรรม งานประจำปี พี่เป็นแกนนำในการช่วยเหลืองานของชุมชนทุกงาน พี่ทำหน้าที่ประสานงานและทำงานกับกำนันและผู้ใหญ่บ้าน

ถาม ขอให้ช่วยเล่าถึงบทบาทการทำงานกับเยาวชนและชุมชน ก่อนที่จะเข้าร่วมโครงการนี้

ตอบ ก่อนเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงในโครงการ พี่รับผิดชอบตำแหน่งในชุมชน 3 งานหลักที่กล่าวมาข้างต้น โดยหน้าที่หลัก คือ ประสานงานทุกอย่างทั้งเยาวชนเด็ก ผู้ใหญ่ พี่คุ้นเคยและเคยทำงานร่วมกับคนในชุมชนอยู่ก่อนแล้ว จุดเริ่มต้นของพี่คือ เป็นจิตอาสาในชุมชน เราทำงานช่วยเหลือชุมชนเป็นประจำ งานแรกที่พี่ทำเป็นงานของสภาองค์กรชุมชน ตำบลบ้านหวี พี่ทำงานชุมชนมาประมาณ 5-6 ปี ทำหน้าที่ติดต่อประสานงานทุกกิจกรรมที่เข้ามาในหมู่บ้าน งานข้อมูล งานเอกสาร งานจดแจ้งขึ้นทะเบียนของโครงการต่าง ๆ งานประชาคมของหมู่บ้าน ติดต่อผู้ใหญ่และทีมที่เข้ามาช่วยเหลืองานในชุมชนในตำแหน่งที่พี่รับผิดชอบ

ถาม ทำไมถึงสนใจทำงานชุมชน

ตอบ ส่วนโครงการนี้ มีพี่ชายทำอยู่ก่อนหน้า งานโครงการในลักษณะนี้หรือกิจกรรมเล็ก ๆ เราทำงานกันเป็นครอบครัวทั้ง พ่อ แม่ พี่น้องทั้งหมด 6 คน ซึ่งพี่เลี้ยงในโครงการนี้อีกคน คือ พี่บอล (ธีรยุทธ ศรีรัตนะ) เป็นคนในครอบครัวพี่ พี่กับพี่บอลเป็นพี่เลี้ยงหลักของโครงการนี้ ครอบครัวของเราทำงานช่วยเหลือชุมชนและส่วนรวมมาตลอด พ่อของพี่ก่อนที่ท่านจะเสียชีวิต ท่านเป็นอาสาสมัครชุมชน ส่วนพี่ชายทำงานเป็นจิตอาสา หลังจากที่มีสภาองค์กรชุมชนเกิดขึ้นในหมู่บ้าน คนในครอบครัวเราเริ่มทำงานกับชุมชนมาเรื่อย ๆ

ถาม ทำไมถึงสนใจเข้าร่วมโครงการนี้

ตอบ โครงการนี้เป็นโครงการระยะยาวโครงการแรกที่ทำ เริ่มต้นจากพี่บอล (พี่ชาย) เป็นคนชวนให้เข้าร่วมโครงการ พี่บอลอยากหาคนมาช่วยเพราะเขาทำมาโครงการนี้มาก่อน พี่บอลไม่ค่อยมีเวลาดูแลเด็ก ๆ เพราะเขาอาศัยอยู่ต่างอำเภอ ถ้างานมีปัญหา เขาจะโทรเรียกน้องสาวให้เข้ามาช่วยเหลือแทน พี่จึงได้เข้ามาเป็นพี่เลี้ยงเต็มตัวและเป็นพี่เลี้ยงโครงการหลักแทนพี่บอล ในโครงการนี้มีพี่เลี้ยงทั้งหมด 4 คน คือ จ๊ะจิ๋ม พี่บอล จ๊ะจันทร์ จ๊ะปุด (ผู้ปกครองของน้องในทีมวิจัย) คนที่เป็นหลักและมีเวลาว่างคือพี่และจ๊ะปุด ส่วนพี่บอลอยู่ไกลออกไปจากชุมชนและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านค่อนข้างมีภาระหน้าที่เยอะ เราจะทำงานกันเป็นทีม เราประสานงานร่วมกัน ส่วนคนที่ลงพื้นที่กับเด็ก ดูแลเด็ก เวลามีกิจกรรมที่ศูนย์ประชุมและพื้นที่ใกล้ ๆ บ้าน คือ จ๊ะจิ๋ม จ๊ะปุด แต่เวลาที่มีกิจกรรมใหญ่ เช่น ลงพื้นที่ในคลองหรือกิจกรรมต่างพื้นที่มีพี่บอลจะจันทร์คอยช่วยอำนวยความสะดวก

ถาม โครงการนี้ตัวเรารับบทบาทหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงครั้งแรกใช่ไหม มีความรู้สึกอย่างไร

ตอบ ใช่ค่ะ เป็นพี่เลี้ยงครั้งแรก ความรู้สึกส่วนตัวคือเวลาที่เราทำงานกับเด็ก เรารู้สึกสนุกและสบายใจ อาจติดปัญหาเรื่องของเวลาบ้าง เพราะเราทำงานประจำ เราต้องแบ่งเวลางานของเราเพื่อกลับมาที่บ้าน มาทำโครงการร่วมกับน้อง ๆ เพื่อให้โครงการได้ดำเนินต่อไปได้ โชคดีที่งานประจำไม่ได้ทำเป็นเวลา ทำให้เราสามารถแบ่งเวลามาทำโครงการได้ พี่ทำงานบริษัทประชารัฐรักสามัคคีตรัง (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด ตำแหน่งเจ้าหน้าที่โครงการอาหารปลอดภัย พี่ทำงานที่โรงพยาบาลตรัง โครงการที่พี่ทำเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่จัดส่งสินค้า วัตถุดิบ อาหารสด อาหารแห้ง ให้กับโรงพยาบาลตรัง ซึ่งอยู่ในหมวดของอาหารปลอดภัย เพื่อนำมาประกอบอาหารให้กับผู้ป่วย เราทำหน้าที่ดูแลการเงินให้กับผู้ประกอบการ

ถาม ช่วยเล่าถึงความโดดเด่นของตัวเองในการเป็นพี่เลี้ยงโครงการ (ในการชวนน้อง ๆ เรียนรู้)

ตอบ ความโดดเด่นของตัวเองคือ เป็นคนเสียสละ ซึ่งเป็นนิสัยประจำตัวของพี่ เรายินดีที่จะแบ่งเวลาส่วนตัวให้กับการทำโครงการ เราไม่กดดันตัวเองในเรื่องการทำงาน ตัวเราสามารถทำงานร่วมกับเด็ก ๆ ได้ เพราะเราเคยพูดคุย เคยทำงานคลุกคลีกับเด็ก ๆ มาตลอด จึงเป็นเรื่องง่ายกับการทำงานโครงการนี้ ก่อนหน้านี้เราเคยเป็นครูที่ปรึกษาโครงการ ม.6 (8 เดือน) ที่ กศน. (สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย) อำเภอหาดสำราญ ระยะเวลาที่ทำงานเป็นครู กศน.ประมาณ 3 ปีกว่า พอโครงการจบ ทำให้เรามีเวลาว่างอยู่บ้าน ครูคนหนึ่งที่เคยสอนพี่ได้มาชวนพี่ไปเป็นครู เนื่องจากตอนนั้นครูประจำชั้นเขาป่วยเป็นโรคมะเร็ง เขาเห็นว่าพี่จบปริญญาตรีมา เขาชักชวนให้ไปสอนที่โรงเรียนบ้านทุ่งกอ พี่มาเป็นครูประจำชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 สอนวิชาพื้นฐานทุกวิชา พี่คิดว่าด้วยประสบการณ์การเป็นครู ทำให้เด็ก ๆ ให้ความนับถือ เพราะว่าเราเป็นครูของพวกเขา พี่มีความคุ้นเคยกับเด็ก ๆ ในทีมวิจัย เพราะพวกเขาเป็นเด็กที่อยู่ในหมู่บ้าน ผู้ปกครองของเด็ก ๆ ให้ความไว้วางใจในตัวเรา เวลาที่ทำกิจกรรมต่าง ๆ จะไม่มีปัญหาอุปสรรคเรื่องการประสานงานกับผู้ปกครอง เวลาที่ชุมชนมีกิจกรรมอะไร ผู้ปกครองจะไว้ใจให้ลูกหลานมาร่วมกิจกรรม พอเริ่มมาทำโครงการนี้ ทำให้มีสมาชิกเพิ่มมากขึ้น เป็นกลุ่มทำงานที่เข้มแข็งขึ้น

ถาม พี่เลี้ยงพาน้อง ๆ ไปเรียนรู้เรื่องอะไร มีวิธีการชวนน้อง ๆ เรียนรู้อย่างไร

ตอบ พี่เข้ามาทำโครงการนี้ อยู่ในช่วงที่น้อง ๆ เริ่มระดมความคิด หาหัวข้องานวิจัย เกี่ยวกับเรื่องของดีในชุมชน เด็ก ๆ กำลังหาประเด็นที่สนใจอยากทำ เด็ก ๆ กำลังใช้ความคิดว่าชุมชนของพวกเขามีอะไรที่โดดเด่น เด็ก ๆ จุดประกายความคิดเรื่องเรือพลีส เพราะว่าเด็กบางคนในกลุ่มนี้ ครอบครัวของเขาทำอาชีพประมง ผู้ปกครองของเด็ก ๆ บางคนเป็นช่างทำเรือพลีส ทำให้พวกเขาสนใจเรื่องการทำเรือพลีสจำลอง เพราะว่าเรือพลีสอยู่ในชีวิตประจำวันของเขา

หน้าที่ของพี่เลี้ยง เริ่มตั้งแต่ชวนเขาวางแผนการทำงาน เราให้โจทย์กับน้อง ๆ ว่า “ถ้าเขาคิดจะทำโครงการนี้ จะต้องเริ่มทำอะไรก่อนและหลัง” ให้เขาลองวางแผนจัดลำดับการทำงาน ชวนเขาตั้งคำถามว่า “ถ้าอยากได้ข้อมูลเรื่องเรือพลีส เขาคิดว่าเขาจะหาข้อมูลจากใครบ้าง” เราให้เด็ก ๆ แบ่งหน้าที่กันตามความถนัดของตัวเอง หลังจากนั้นเราให้เขาเริ่มลงพื้นที่เพื่อหาข้อมูลที่มีรายละเอียดเชิงลึก เราจะชวนน้อง ๆ ลงพื้นที่เพื่อพูดคุยสอบถามข้อมูลจากผู้รู้ เรื่องการประกอบสร้างเรือพลีส ประโยชน์ของเรือพลีส เด็ก ๆ กลุ่มนี้เขาเริ่มต้นจากศูนย์ เขายังไม่เคยทำงานในลักษณะนี้มาก่อน ไม่เข้าใจเรื่องการวางแผนงาน เขาไม่รู้ว่าต้องเริ่มต้นอย่างไร เขามาปรึกษาพี่เลี้ยง พี่เลี้ยงมีหน้าที่ตั้งคำถามกับเด็กเพื่อให้เด็กตั้งคำถามกลับมา เราบอกเขาว่า “ต้องเริ่มต้นจากการหาข้อมูลจากคำถามที่เราอยากรู้” เช่น เรือพลีสมีความสำคัญอย่างไร เราถามให้เขาคิด ถ้าอยากได้ข้อมูลเรื่องนี้ต้องหามาจากที่ไหนบ้าง อาจเป็นผู้ใหญ่ในชุมชนที่มีความรู้เกี่ยวกับเรือพลีสหรือเปล่า เราให้เด็กบันทึกแหล่งข้อมูลทุกครั้ง คนที่ให้ข้อมูลชุดนี้เป็นใคร จากที่ไหน ช่วงเวลา รวมถึงระยะเวลาในการเก็บข้อมูล โดยส่วนใหญ่พี่ชวนตั้งคำถาม ช่วยกำหนดหัวข้อ ส่วนเรื่องรายละเอียดให้เขาคิดและจัดการกันเอง พี่ให้คำปรึกษาคำและแนะนำเรื่องการเก็บรวบรวมข้อมูลในทีมเราทำงานกันแบบพี่น้อง

ถาม ตอนที่น้อง ๆ ลงพื้นที่เก็บข้อมูล พี่เลี้ยงมีวิธีชวนน้องเรียนรู้อย่างไร

ตอบ เริ่มจากให้เขาคิดวางแผน เราใช้โปรแกรม Messenger ในการสื่อสารกัน เพราะเด็ก ๆ ทุกคนเล่นFacebook กันอยู่แล้ว เราให้เขาตั้งกลุ่มเชิญเพื่อนสมาชิกเข้าร่วมกลุ่ม เพื่อติดต่อประสานงานและนัดหมายกัน หลังจากเด็กได้หัวข้อทุกอย่างแล้ว พี่เลี้ยงจะไม่เข้าไปจัดการอะไร พี่เลี้ยงให้คำแนะนำอยู่ห่าง ๆ เพื่อฝึกให้พวกเขารับผิดชอบในหน้าที่ของตัวเอง หลังจากที่เขาคุยกันในกลุ่มแล้ว เราคอยสังเกต หมั่นถามเด็กบ่อย ๆ ว่างานที่เขาคุยกันเป็นอย่างไรบ้าง ลงเก็บข้อมูลวันไหน พอเราตั้งคำถามแบบนี้ น้อง ๆ คิดคำตอบ เด็ก ๆ ใช้เวลาในการหาข้อมูลประมาณ 3 วัน ซึ่งวันแรกพี่จะลงพื้นที่ไปกับเด็ก อีก 2 วัน ต่อมาจะปล่อยเด็ก ๆ ให้เขาทำงานกันเองตามที่เขาได้วางแผนมา

เราจะเป็นกำลังใจให้กับเขา ให้คำแนะนำข้อมูลในส่วนที่ยังขาดไป เราจะคอยติดตามงาน มีส่วนไหนที่ยังไม่ครบบ้าง ตอนนั้นพี่ทำงานอยู่ในเมือง เราติดตามงานผ่านกลุ่ม Messenger เราอยากให้พวกเขารู้จักการบริหารงานด้วยตัวเอง หลังจากการลงพื้นที่ พี่เลี้ยงจะนัดหมายกับเด็กเพื่อประชุมงานในวันอาทิตย์ เพราะพี่กลับมาที่หมู่บ้าน ในวันประชุมเรารวบรวมข้อมูลที่เด็กหามาได้ทั้งหมด แต่ละคนจะนำเสนอข้อมูลของตัวเอง เราใช้เวลา 1 วัน เต็มในการสรุปรวบรวมข้อมูลของทุกฝ่าย พี่อยากให้เด็ก ๆ แต่ละคนได้นำเสนอข้อมูลของตัวเอง มีหนึ่งคนที่ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูล เช่น ถ้ามี 6หัวข้อ น้อง ๆ เขาต้องทำออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร ชั่วโมงสุดท้ายของการประชุม เราชวนเด็กเรียบเรียงข้อมูล ลำดับความสำคัญของข้อมูลที่ได้มา สำหรับการเก็บข้อมูล เรานัดหมายกัน 2 ครั้ง เพื่อเรียบเรียงข้อมูลทั้งหมด หลังจากที่ได้ข้อมูลมา เราให้เด็กทำบันทึก เราให้เขาคิดวิธีการเก็บข้อมูลเอง ข้อมูลของแต่ละคนจะได้มาไม่เหมือนกัน บางคนบันทึกด้วยเสียง บางคนจดลงสมุด เราให้เด็กวางแผนโดยการตั้งกรอบข้อมูลต่าง ๆ ไว้ เด็ก ๆ เริ่มเอาข้อมูลทั้งหมดลงในสมุด เรียบเรียงให้เป็นข้อมูลปัจจุบัน โดยให้เด็ก 2 – 3 คน เก็บข้อมูลทั้งหมดลงคอมพิวเตอร์

หลังจากเก็บข้อมูลเสร็จ 1 สัปดาห์ต่อมาเรานัดหมายกัน เด็ก ๆ เริ่มศึกษาเรื่องการทำเรือพลีสจำลอง เริ่มต้นจากการหาอุปกรณ์ เราให้เขาคิดกันเองว่า อุปกรณ์ในการทำเรือพลีสจำลองต้องใช้บ้าง ให้เด็ก ๆ ทำรายการออกมา อุปกรณ์ส่วนใหญ่ที่หามาใช้จะเป็นของที่มีอยู่ในชุมชน ส่วนบางอย่างที่ไม่มีจริง ๆ เราถึงไปหาจากข้างนอกมาเสริม เช่น กาวสำหรับการติดเรือ พี่เลี้ยงช่วยเหลือในเรื่องการจัดหาอุปกรณ์ที่ขาด เราอยู่ในเมืองหาซื้อมาได้สะดวกกว่า จากแต่ก่อนที่เราเป็นคนตามงานเด็ก ตอนนี้เด็กเริ่มใช้งานเราแล้ว เขาจะโทรมาบอกว่า “จ๊ะจิ๋มอยู่ไหน วันนี้กาวหมดนะ ร้านแถวบ้านหาซื้อไม่ได้” ถ้าพี่เลี้ยงกลับมาต้องซื้อกาวกลับมาให้พวกเขา ช่วงที่พวกเขาประกอบเรือกัน พี่เลี้ยงจะอยู่ช่วยเด็ก ๆ ถ้าวันไหนเราติดภารกิจ เราปล่อยให้เด็ก ๆทำ หลังจากนั้นเราคอยติดตามงานอีกที

ถาม ในโครงการบอกว่า น้อง ๆ ได้เข้าไปดูการทำเรือพลีสในพื้นที่ปัตตานี อยากให้ช่วยเล่าถึงเรื่องนี้

ตอบ ตอนนั้นคิดไว้ว่าจะไปค่ะ แต่สุดท้ายไม่ได้ไปค่ะ เนื่องจากติดเรื่องโรคระบาดโควิด-19

ถาม ทำไมถึงเลือกใช้วิธีการตั้งคำถามและให้โจทย์กับเด็ก ๆ กลุ่มนี้

ตอบ เราไม่อยากบอกทุกอย่างกับเด็ก อยากฝึกให้เด็ก ๆ ได้คิดเอง ตอนที่เราให้โจทย์ เราอยากดูว่าเด็กตอบได้ไหม เราอยากให้ประสบการณ์กับเด็ก อยากรู้ว่าเขามีวิธีคิด วิธีการอย่างไร เด็ก ๆ เขาทำได้ แต่ไม่ได้ราบรื่นทั้งหมด อาจมีเด็กบางส่วนที่ความจำและความเข้าใจยังไม่เต็มร้อย แต่เขาใช้วิธีถามพี่เลี้ยงว่า เขาต้องทำอย่างไรบ้าง หลังจากที่เขาถามเรา เราคอยให้คำตอบกับเขาอีกที ลักษณะของเด็กที่นี่ พวกเขาเป็นเด็กที่มีความคิดเป็นตัวของตัวเอง

ถาม ความโดดเด่นในการเป็นพี่เลี้ยงโครงการมีอะไรเพิ่มเติมอีกไหม

ตอบ พี่เป็นที่ปรึกษาที่ให้อิสระกับเด็ก เวลาเราทำงานด้วยกันเหมือนเพื่อน เวลาที่เราทำงานเราจะคุยเล่นกับเด็ก ๆ ทำให้พวกเขาไม่รู้สึกกดดัน เด็กรู้สึกไม่เบื่อ ถ้าเรากำหนดให้เขาทำตามใจเรา ต้องทำแบบนั้นแบบนี้ เด็กเขาไม่ชอบและไม่อยากทำงาน ลักษณะของเด็กที่นี่ พวกเขาเป็นเด็กที่มีความคิดเป็นตัวของตัวเอง สมมุติเราบอกให้เขาคิดแบบนี้ แต่ความคิดของเด็กจะแตกต่างกับเรา เขามีความคิดสร้างสรรค์ บางครั้งเราต้องยอมรับว่าเด็กเขาฉลาดกว่าพี่เลี้ยงเสียอีก เราคิดว่าการให้อิสระกับเด็ก ๆ เป็นวิธีการที่เหมาะสมที่สุด

ถาม ขอให้ยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่พี่เลี้ยงเปิดพื้นที่ให้อิสระกับเด็ก ๆ

ตอบ ที่เห็นชัดเจน คือ ตอนที่เด็ก ๆ ทำเรือพลีสจำลองสำเร็จเรียบร้อย กิจกรรมต่อไปเราจัดให้เขาลงพื้นที่ เพื่อทดลองดูว่า เรือพลีสจำลองที่ทำมาเมื่อเปรียบเทียบกับเรือพลีสจริงเป็นอย่างไร บางเรื่อง เช่น การจัดการ การลงเรือ ระดับน้ำ ระยะเวลาในการลงพื้นที่ ตัวพี่เลี้ยงยังไม่ทราบ เราต้องให้เด็ก ๆ สอนเรา เรามีความรู้แค่เพียงในส่วนของเราเท่านั้น แต่ความรู้ของเด็ก ๆ เราไม่สามารถไปล้ำเส้นได้ เขาเป็นคนบอกเรา เพราะเขาชำนาญในเรื่องของเขา

ถาม เทคนิค เครื่องมือของพี่เลี้ยงที่ใช้เป็นประจำและได้ผลคืออะไร ใช้อย่างไร ขอให้ช่วยยกตัวอย่าง

ตอบ เนื่องจากน้อง ๆ ในกลุ่มเป็นเด็กผู้ชายทั้งหมด ค่อนข้างมีความเป็นตัวของตัวเอง เทคนิคของพี่เลี้ยงคือ เราทำตัวเป็นคนไม่รู้ เหมือนว่าเราไม่รู้อะไรเลย เราเป็นคนถามพวกเขามากกว่า เช่น วันนี้เราจะไปไหนกัน วันนี้เราทำอะไร เราให้เด็กเป็นคนมาคุยกับเราเอง เราไม่ใช้วิธีบอกแต่เราจะใช้คำถามมากกว่า ให้เด็กเป็นคนตอบคำถามเรา ให้เด็กได้ใช้ความคิดของเขาอย่างเต็มที่เพื่อมานำเสนอเรา เราไม่ยื่นข้อมูลให้เขา เราเป็นคนที่แนะนำและตรวจดูความเรียบร้อย ถ้าเรื่องไหนมีข้อสงสัย เราช่วยตั้งคำถาม ทั้งเด็ก ๆ และพี่เลี้ยงจะตัดสินใจร่วมกัน หาข้อสรุปร่วมกัน วิธีการที่เราทำนี้ได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าที่เราไปสั่งสอนเขาเยอะ ยกตัวอย่าง เรื่องการทำเรือพลีสจำลอง ตั้งแต่ตอนเริ่มลงมือปฏิบัติจริง การสร้างโครงเรือ บางเรื่องเราไม่มีความรู้เรื่องนั้น บางเรื่องเราต้องแกล้งทำเป็นไม่รู้ ตอนที่ทำเรือพลีสจำลองนั้น เราไม่รู้เรื่องขั้นตอนการทำจริง ๆ เพราะเราไม่มีประสบการณ์การทำเรือ เรารู้แค่ว่า ลักษณะเรือแบบนี้เรียกว่าเรือพลีส ส่วนไหนที่เราไม่รู้ เราจะให้เด็กบอก ว่าตอนนี้ทำอะไร ใช้งานอย่างไร มีความสำคัญอย่างไร

ลักษณะของเด็กทีมนี้ เด็ก ๆ ค่อนข้างเฮี้ยว เราต้องวางตัวให้เขาเป็นผู้ให้คำแนะนำเรา เด็กเขาเรียนรู้ได้ไกลกว่าที่เราไปคุยกับเขาและบอกเขาหมดเหมือนว่าเรารู้ทุกอย่าง เขาจะรู้สึกว่าเราไปบังคับเขา ในกลุ่มของเด็กที่ค่อนข้างเกเร เขาไม่ชอบวิธีการที่สั่งสอนแบบนี้ ถ้าเราให้อิสระในการทำงานกับเขา ความสนุก ความสบายใจในการทำงาน ทำให้เขาเรียนรู้ได้มากขึ้น เราเปิดพื้นที่ให้เขาได้แสดงออกความสามารถของเขาอย่างเต็มที่ เขามีอะไรเขาจะบอกเรา เราแค่ทิ้งโจทย์ให้เขา เขาเกิดความรู้สึกท้าทาย ทุกอย่างเขาดำเนินการเองทั้งหมด เราไม่เข้าไปยุ่ง

มีอีกหนึ่งตัวอย่าง คือ เรื่องการนัดหมาย สมมุติเราพิมพ์ข้อความลงในกลุ่มว่า พี่นิด พี่แก้วจะมาหาพวกเขา เพื่อดูวิธีการทำเรือพลีสจำลอง เรานำหัวข้อจากพี่นิดพี่แก้วมาบอกพวกเขา หลังจากนั้นพวกเขาจัดการเองว่าต้องเตรียมพูดคุยเรื่องอะไร เตรียมอุปกรณ์อะไร เรื่องการนัดหมาย เราทำสัญญาใจร่วมกันระหว่างเด็ก ๆ ในทีมและพี่เลี้ยง เพราะว่าพี่เลี้ยงอยู่ในเมืองต้องเดินทางเข้ามาในหมู่บ้าน เด็ก ๆ ต้องรับผิดชอบเอง เตรียมทุกอย่างเอง ประสานงานกันเอง เด็ก ๆ ทุกคนในทีมไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ที่ไหนในชุมชน เขาไม่มีการโทรหากัน เราใช้การพูดคุยผ่านโปรแกรม Messenger กลุ่มเท่านั้น ปรากฏว่า ตอนที่เราพิมพ์ข้อความคุยเข้าไปในกลุ่ม ด้วยนิสัยของเด็ก ๆ กลุ่มนี้ เขาจะไม่ตอบ ตอนนั้นเราช่างใจ หลังจากที่คิดว่าพวกเขาอ่านข้อความ เราอยากลองดูว่าพวกเขาจะจัดการอย่างไร เราตั้งคำตอบไว้ใจว่า พวกเขาอาจจะไม่ช่วยกันทำ แต่สุดท้ายกลับผิดคาด พวกเขาสามารถรับผิดชอบงานได้ดี ตอนนั้นเราคิดว่า การที่เด็กอ่านข้อความและไม่ตอบกลับแปลว่าเด็กไม่สนใจ แต่ความจริงเด็ก ๆ เตรียมพร้อมเรียบร้อยเพื่อรอเรา ในช่วงแรกอาจมีอุปสรรคบ้าง เช่น บางคนติดภารกิจส่วนตัว คนนี้เกเร เราตั้งกฎกติการ่วมกัน เราจะไม่โทรหาใคร ซึ่งเราไม่โทรตามใครจริง ๆ แต่เราจะทิ้งท้ายไว้ว่า “ความรับผิดชอบของใครของมัน ให้แต่ละคนดูกันเองว่ามีความรับผิดชอบมากน้อยแค่ไหน เพราะโต ๆ กันแล้ว” วิธีการนี้ถือว่าใช้ได้ผล

อีกเทคนิคหนึ่งที่ใช้คือ การตามใจ ปล่อยเด็ก ๆ ให้มีอิสระ เด็กรับรู้ว่าพี่เลี้ยงปล่อย พี่เลี้ยงไม่พูด เรานัดหมายให้เขามาร่วมตัวกันที่จุดนัดพบ เด็กต้องมาให้พร้อมทุกคน เด็กรู้ว่าถ้าเขามาช้าหรือทีมมาไม่ครบ พี่เลี้ยงจะเงียบไป หลังจากที่เราเงียบ เขาคิดกันว่า วันนี้พี่เลี้ยงโกรธอะไรพวกเขาหรือเปล่า เป็นการฝึกให้เขารู้ตัวและรับผิดชอบตัวเอง โดยที่เราไม่ได้ไปบังคับหรือต่อว่าเขา

ถาม พี่เลี้ยงมีแนวคิดอย่างไรถึงเลือกใช้วิธีการนี้

ตอบ พี่รู้ว่าเป็นวิธีการที่เสี่ยง เราไม่มั่นใจ เราต้องทำใจดีสู้เสือไว้ก่อน สังเกตจากการทดลอง ถ้าเราไม่พูดไม่ตาม เราแค่บอกโจทย์ไว้ให้ ในครั้งแรกมีปัญหาอยู่บ้าง หลังจากนั้นเรามั่นใจขึ้น เราให้อิสระกับเด็ก เด็กเองก็ต้องให้ความเคารพเราในฐานะคนที่ทำงานร่วมกันกับเขา เขาเริ่มเชื่อฟังเรามากขึ้น คนไหนที่เคยเกเรไปบ้าง ตอนนี้เขามีพัฒนาการที่ดีขึ้น เขามีความพยายามในการปรับตัวมากขึ้น การทำแบบนี้ก็ไม่ได้ราบรื่นไปทั้งหมด 100% แต่วิธีการนี้ได้ผลลัพธ์ที่ดีเกิน 50% เป็นการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับเด็ก ๆ กลุ่มนี้

ถาม ขอให้ช่วยเล่าถึงวิธีการทำงานกับเด็ก ๆ กลุ่มนี้

ตอบ ต้องยอมรับว่าเด็กกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่แสบกว่าน้อง ๆ ทีมอื่น สังเกตว่าเด็กกลุ่มเราเป็นกลุ่มบ้านนอก มีความคิดเป็นของตัวเอง ถ้าเปรียบเทียบกับเด็กในเมือง ความคิดเขาจะเป็นอีกแบบหนึ่ง เด็กในเมืองเขาค่อนข้างเกรงใจผู้ใหญ่ เด็กของเราไม่ใช่ว่าเขาไม่เกรงใจ แต่เขามีความเป็นตัวของตัวเอง เราไม่สามารถใช้วิธีการเดียวกันกับเด็กในเมืองได้ มันไม่ได้ผล เราจึงใช้วิธีปล่อยเด็กให้เป็นอิสระ เปิดพื้นที่ให้เขาได้ใช้ความคิด ความสามารถของตัวเองอย่างเต็มที่ตามวิถีของเขา เวลาที่เราทำงานกับเด็กกลุ่มนี้ เราใช้วิธีการสังเกตนิสัยส่วนตัวแต่ละคนเป็นอย่างไร ความดื้อมากน้อยแค่ไหน แต่ละคนไม่เหมือนกัน เริ่มต้นจากการที่เราพูดคุยกับเขา ถ้าเราถามเขาเยอะ ๆ หรือพูดเยอะเกินไป เขารู้สึกรำคาญ สัญชาตญาณของเรารับรู้ได้ ตอนนั้นเราตัดสินใจเลือกวิธีการปล่อยให้เขาทำงานอย่างอิสระดีกว่า แต่ไม่ใช่ปล่อยทิ้ง เราทำสัญญาใจต่อกัน เราไม่ตามหรือจู้จี้กับพวกเขาเยอะ แต่เขาต้องรับผิดชอบในหน้าที่ของตัวเองให้ได้ เราขอแค่นั้น ข้อดีของเด็กทีมนี้ก็คือ ถึงเขาจะมีปัญหา ทะเลาะกันบ้าง แต่เวลาที่ไปไหนมาไหนเขาจะไปด้วยกัน ไม่ทิ้งกัน ถ้าจะรุ่งต้องรุ่งทั้งทีม ถ้าจะดับต้องดับทั้งทีม เขาไม่ปล่อยให้ใครหลุดออกจากกลุ่ม พวกเขาเกาะกลุ่มกันตลอด

ถาม ถ้าสมมุติมีพี่เลี้ยงกลุ่มอื่นที่ต้องเจอเด็กที่มีลักษณะแบบนี้ ตัวเราอยากแนะนำอย่างไร

ตอบ แนะนำว่าปล่อยเขาไปเถอะค่ะ เรากับเด็ก ๆ ผูกพันกันเหมือนญาติพี่น้อง ความเกรงใจที่เขามีให้กับคนนอกจะมีมากกว่าเรา การให้ความเคารพของเขามีมากกว่า เด็ก ๆ เขามองว่าเราเป็นทั้งเพื่อนทั้งญาติสามารถเล่นได้ ความเกรงใจต่างกัน เวลาที่เราปล่อยอิสระ เราต้องคอยสังเกตว่างานของเด็ก เขาดำเนินงานไปถึงไหนแล้ว ไม่ใช่ว่าปล่อยไป ไม่สนใจ ในช่วงที่เด็กรู้สึกเหนื่อยล้าหมดพลัง เราต้องช่วยกระตุ้นเขา เช่น ช่วงถือศีลอด เด็กไม่มีแรงในการทำงาน บางครั้งที่นัดหมายกัน คุยอะไรไปในกลุ่มจะไม่มีการโต้ตอบ มันทำให้เราคิดไปเองว่า เด็ก ๆ เบื่อ ถ้าเราให้เด็กทำกิจกรรมอื่นต่อเขาจะทำกันได้ไหม เด็ก ๆ จะกลับมารวมพลังกันได้เหมือนเดิมไหม เราเริ่มกระตุ้นพวกเขาโดยการพูดให้กำลังใจเขา เช่น เราต้องช่วยกันทำนะ เราหยุดแค่ตรงนี้ไม่ได้นะ งานที่เราทำยังคงอยู่ถึงแม้มีสถานการณ์แบบนี้

บางครั้งที่เด็ก ๆ เหนื่อยหรือมีปัญหาส่วนตัว พลังของเขาหมด ตัวอย่าง น้องคนหนึ่งในโครงการ เขามีปัญหาส่วนตัวและถอยห่างจากการทำโครงการไป เราเริ่มเข้าไปหาผู้ปกครองของน้อง เริ่มพูดคุยอธิบายกับเขาว่า กิจกรรมที่เขาทำนั้นยังสำคัญอยู่ ไม่ได้ยกเลิกหรือหยุดไป เคยมีผู้ปกครองถามถึงโครงการว่า ทำไมลูก ๆ ของเขาไม่ไปทำกิจกรรม เราตอบไปตามสถานการณ์ เล่าถึงสาเหตุที่ต้องหยุดพักไปเพราะสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ตอนหลังน้องกลับมาเข้าร่วมกลุ่มเหมือนเดิม การประสานงานกับผู้ปกครองของเด็กในโครงการนี้ถือว่ามีปัญหาไม่เยอะ เขาเห็นว่าเราคือลูกหลานของเขาและเป็นพี่เลี้ยงโครงการ เวลาที่มีกิจกรรมสัญจร ผู้ปกครองไว้วางใจให้เด็กไปกับเรา ผู้ปกครอง 90% ให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี

ถาม เรื่องที่ยากที่สุดในการเป็นพี่เลี้ยงคืออะไร

ตอบ ความกวนของเด็ก ๆ ส่วนเรื่องอื่นไม่มีอะไรที่เป็นอุปสรรค เด็กวัยรุ่นเขาจะกวนอยู่บ่อย ๆ เขาชอบเล่นกันในเวลาทำงานตลอด เราไปขัดความสุขของเขามันจะให้การทำงานลำบาก เราต้องมองข้ามไปบ้าง เล่นกันได้ แต่งานอย่าให้เสีย ทำงานเสร็จตามเป้าหมายที่เรากำหนดให้ได้ ความยากคือ เวลาที่เรามาทำงานร่วมกับน้อง บางครั้งเราเหนื่อยหรือเครียดมา เวลาที่เรามาเจอน้อง ๆ เรามุ่งมั่นเอาการเอางาน ส่วนเขาเล่นกัน เราอยากทำงานให้จบ เพราะระยะเวลาการทำงานของพี่เลี้ยงมีจำกัด เราพยายามไม่เครียด ถ้าเด็กทำไม่เสร็จ คือไม่เสร็จ เราบอกกับพวกเขาให้ดูระยะเวลาการทำงาน ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของงาน ให้เขาเห็นเป้าหมาย ส่วนในรายละเอียด เราปล่อยเขา สุดท้ายให้เขาจัดการบริหารเวลากันเอง

ถาม เรียนรู้เรื่องอะไรจากการเป็นพี่เลี้ยงโครงการ

ตอบ สิ่งแรกคือ เราต้องเสียสละเวลาของตัวเอง ซึ่งเป็นเวลาส่วนตัวของเรา เราต้องยอมเสียสละเวลาในส่วนนั้น เพื่อมารับผิดชอบงานของเด็ก ๆ มันจำเป็นที่ต้องเสียสละเพราะว่าเราเลือกทำโครงการนี้ เราต้องรับผิดชอบงาน บางสัปดาห์ในวันเสาร์วันอาทิตย์ พี่ต้องกลับมาที่บ้านเพื่อมาอยู่กับแม่และน้องที่บ้าน ถือว่าเราได้กลับมาเยี่ยมบ้าน ถึงแม้ไม่ได้มีเวลาไปพูดคุย สังสรรค์กับครอบครัว การที่เรามาอยู่กับเด็ก ๆ ตรงนี้ทำให้เราได้กลับมาเยี่ยมบ้าน

การเรียนรู้อีกเรื่องหนึ่งคือ ความรู้และทักษะการใช้ชีวิตอยู่กับเด็ก หลายเรื่องเรายังไม่รู้ ตามเด็กๆ ไม่ทัน เช่น เรื่องการทำงาน เวลาที่เราลงพื้นที่ไปทำกิจกรรม ตอนนั้นไปทำกิจกรรมที่บ้านมดตะนอย ไปเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชนบ้านมดตะนอย คนในชุมชนเขาอยู่กินกันอย่างไร พี่นิด พี่แก้ว จะกำหนดว่า ถ้าเราไปทริปนี้ เราต้องมีงานอะไรส่งบ้าง เช่น การส่งคลิปวิดีโอให้กับพี่นิด พี่แก้ว กลุ่มเยาวชนในโครงการและกลุ่มพี่เลี้ยง เด็ก ๆ ในกลุ่มต้องทำวิดีโอ จุดด้อยของเราเป็นเรื่องเทคโนโลยี เราได้เรียนรู้เรื่องการทำวิดีโอไปพร้อมกับเด็ก เราอยากลองทำคลิปแบบที่เด็กทำ เราอยากรู้ว่าเราจะทำได้ไหม กลุ่มอื่น ๆ เขาทำเสร็จ แต่กลุ่มของเรายังไม่เรียบร้อย พี่อยากเรียนรู้เรื่องของเทคโนโลยี ไอทีต่าง ๆ

อีกเรื่องหนึ่งคือ เราไม่รู้ว่าชุมชนอื่นๆ เขาใช้ชีวิตกันอย่างไร บ้านของเรากับบ้านของเขามีของดีแตกต่างกัน เราได้เรียนรู้การดำเนินชีวิตของชุมชนอื่น ทำให้มุมมองในการมองโลกของเรามันกว้างขึ้น เราดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการพาเด็ก ๆ ของเราออกไปเรียนรู้ชุมชนอื่น ๆ เขาได้เรียนรู้อะไรเยอะขึ้น เห็นมุมมองในการใช้ชีวิตของเขาที่กว้างขึ้น ตอนแรกเราไม่คิดว่าเด็กจะมีพัฒนาการเยอะขนาดนี้ เด็กของเรามีพัฒนาการที่ดีขึ้น ทั้งเรื่องของความคิด อุปนิสัย มีการปรับตัวที่ดี จากเด็กบ้าน ๆ ที่พูดจาไม่สุภาพเท่าไร ตอนนี้เขาสามารถนำเสนองาน แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ทำงานแบบมีส่วนร่วม ทั้งกับเพื่อนในทีม เพื่อน ๆกลุ่มอื่น ผู้ใหญ่ เขาเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ เราภูมิใจที่เขาสามารถพัฒนาตัวเองในด้านความคิดและการใช้ชีวิต แต่ก่อนเราเคยคิดว่าเราไม่น่าจะทำโครงการนี้ไหว เพราะเราเหนื่อยกับงานส่วนตัว บางครั้งเราไม่รู้ว่าจะพาเด็กไปต่ออย่างไร ไม่คิดว่าจะมาถึงทุกวันนี้ได้ เราพยายามปล่อยตัวตามสบาย เราไม่เครียด เพราะถ้าเครียดเกินไป การทำงานจะลำบาก เวลาที่ทำงานกับเด็กเราทำไปเรื่อยๆ เราเริ่มผ่อนคลาย

ถาม ปัญหาอุปสรรคในการทำงานมีอะไรบ้าง แก้ไขปัญหาอย่างไร

ตอบ ปัญหาอุปสรรคเกิดจากเด็กบางคน เพราะเด็กมีความดื้อเป็นพิเศษ เด็กบางคนเป็นคนขี้ใจน้อย ยกตัวอย่าง เมื่อ 3 อาทิตย์ก่อนหน้านี้ เราให้เด็กทำเรือพลีสจำลองเพิ่ม เด็กคนหนึ่งที่เป็นประธานกลุ่ม เขาไม่ได้มีส่วนร่วมในการทำงานครั้งนี้ ทำให้เกิดปัญหา ผู้ปกครองโทรมาหาพี่เลี้ยงว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมลูกเขาถึงไม่ได้มาเข้าร่วมกิจกรรมนี้ เรื่องนี้ทำให้เราต้องแก้ปัญหาหลายระดับ เริ่มตั้งแต่ตัวน้องเขา เพื่อนในกลุ่ม ผู้ปกครอง หน้าที่ของเราคือรับฟังและคอยไล่ถามว่าเกิดอะไรขึ้น เราพยายามถามทุกคนทุกฝ่าย เพื่อได้ข้อมูลให้มากที่สุด เราได้ข้อมูลว่า มีเด็กหนึ่งที่ไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรม ไปบอกผู้ปกครองว่าเพื่อนในกลุ่มไม่ชวน เขาน้อยใจและบ่นให้ผู้ปกครองฟัง เขาออกจากกลุ่มสนทนาที่เราตั้งไว้ หลังจากที่เรารู้สาเหตุ พี่เลี้ยงแก้ปัญหาโดยการโทรไปหาผู้ปกครอง อธิบายให้ฟังว่า เด็กไม่ได้มีเจตนาที่จะไม่บอก ปัญหาเกิดจากเด็ก ๆ กลุ่มนี้เขาบ้านอยู่ในละแวกเดียวกัน เขาใช้สะดวกในการนัดหมาย ส่วนน้องคนนี้เขาอยู่ห่างออกไปอีกชุมชนหนึ่ง เด็กกลุ่มนี้ไม่ได้สื่อสารบอกเพื่อน ๆ ในทีมให้ครบ เราประสานงานกับผู้ปกครองว่า เด็ก ๆ บางทีเขาน้อยใจ พอเรื่องไปถึงผู้ใหญ่ สิ่งที่สื่อสารออกไปทำให้ความหมายเปลี่ยน บางที่ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างผู้ใหญ่ได้ พี่ได้พูดคุยส่วนตัวกับน้องเขา เพราะเขาเป็นประธานกลุ่ม พี่บอกเขาว่า ในเมื่อเราได้รับสิทธิ์เป็นประธานกลุ่ม อยากให้น้องพัฒนาตัวเองมากขึ้นกว่านี้ บางทีเพื่อนสมาชิกในกลุ่มเขาทำงานกัน แต่เราไม่ได้เข้าร่วม พี่อยากให้ประธานกลุ่มเป็นตัวหลัก ไม่ว่าตัวเขาจะอยู่ที่ไหน ขอให้เขาเป็นตัวหลักที่ติดตามงาน ไม่ใช่เขาเป็นคนที่ติดตามงานจากสมาชิก เราไม่ได้พูดเชิงบ่นเขา แต่พูดให้เขาเห็นถึงความสำคัญของบทบาทหน้าที่ หลังจากที่ปรับความเข้าใจกัน น้องรู้สึกดีขึ้น ผู้ปกครองเข้าใจมากขึ้น ตอนนี้น้องเขากลับเข้ามาร่วมกลุ่มแล้ว ทุกคนร่วมกันทำกิจกรรมได้ดี

ส่วนปัญหาอื่น ๆ คือเรื่องของเวลา เด็กบางคนติดงาน ติดธุระ ไม่สามารถมาร่วมกิจกรรมได้ มีน้องคนหนึ่งในกลุ่ม เขาทำงานก่อสร้าง วันนั้นต้องทำกิจกรรมเดินป่าชุมชนที่บ้านตะเหมก เขาติดปัญหาไม่สามารถไปร่วมกิจรรมได้ เพราะหัวหน้างานไม่ให้เขาไป ทำให้เด็กรู้สึกเครียด เพราะเขาอยากไปร่วมกิจกรรมกับเพื่อน ๆ ตอนกลางคืนน้องโทรมาปรึกษาพี่เลี้ยง อยากให้เราช่วยไปบอกกับหัวหน้างานของเขา พี่เลี้ยงรับฟังปัญหาและที่ให้เขาตัดสินใจด้วยตัวเอง ถ้าเขาไม่สามารถมาร่วมกิจกรรมได้จริง ๆ ก็ให้เขาทำงานต่อไป ถ้าเขาเลือกมาร่วมกิจกรรมก็ไม่ต้องห่วงงานตรงนั้น ให้เขาเคารพการตัดสินใจของตัวเอง ถ้าเลือกแล้วไม่ต้องกังวล หลังจากนั้นค่อยแก้ปัญหากันอีกที สุดท้ายน้องเขาเลือกไปร่วมกิจกรรมกับเพื่อน ๆ เวลาที่เด็ก ๆ เขาทำงาน เขาจะไปกันเป็นกลุ่ม อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด

ถาม พี่เลี้ยงอยากพัฒนาตัวเองในเรื่องอะไร เรื่องนั้นจำเป็นต่อการเป็นพี่เลี้ยงอย่างไร

ตอบ สิ่งที่อยากพัฒนาเป็นอย่างแรก คือ นิสัยของเด็ก ๆ อยากให้เด็กได้พัฒนาเรื่องการเรียนรู้ ทักษะการใช้ชีวิตผ่านประสบการณ์การทำงาน ถ้าเขาเจอสิ่งแปลกใหม่ในชีวิต อยากให้เขามีทักษะในการปรับตัว แก้ไขปัญหาด้วยตัวเองได้ ทักษะในการสื่อสาร อยากให้เขาเปลี่ยนแปลงเรื่องวิธีการสื่อสาร เรื่องคำพูด ที่เขาใช้สื่อสารกับกลุ่มเพื่อน ครูอาจารย์ ผู้ใหญ่ในชุมชน คนที่อยู่นอกชุมชน อยากให้เขาพัฒนาในส่วนนี้มากที่สุด เพื่อให้พวกเขามีทักษะชีวิตและเข้ากับคนในสังคมได้

พี่อยากพัฒนาตัวเองเรื่องการกล้าแสดงออก เพราะพี่ไม่ชอบเวลาที่ต้องออกไปนำเสนอหรืออยู่บนเวที พอมาทำโครงการนี้ ทำให้พี่กล้าแสดงออกมากขึ้น แต่ถ้าต้องนำเสนอพี่ยังรู้สึกไม่มั่นใจ เขินอาย พี่อยากพัฒนาในส่วนนี้เพิ่ม พี่คิดว่าการกล้าแสดงออกมีความสำคัญต่อการเป็นพี่เลี้ยง ถ้าเราไม่กล้าแสดงออก เราไม่สามารถเป็นผู้นำใครได้ เราจะอยู่แค่ในพื้นที่เล็ก ๆ ของเรา ถ้าเรามีความกล้าเพิ่มขึ้น มันทำให้เราไม่กลัวปัญหาอุปสรรคอะไร

อีกเรื่องที่อยากพัฒนา คือ เรื่องความรู้ พี่อยากเข้าร่วมพัฒนาองค์ความรู้ต่าง ๆ กับพี่เลี้ยงทีมอื่น พี่ยอมรับว่าพี่ไม่มีเวลาว่างส่วนตัวในการพบปะกับคนอื่นสักเท่าไร ถ้าเราได้ไปอยู่ที่ชุมชนอื่นบ้าง ได้เรียนรู้วิถีชีวิตชุมชนอื่น เพื่อเพิ่มประสบการณ์ให้กับตัวพี่และน้อง ๆ เราไม่ค่อยมีโอกาสออกไปข้างนอกเหมือนกับทีมอื่น ตอนนี้ทีมของเราเดินตามหลังทีมอื่นอยู่ พี่อยากทำกิจกรรมที่ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อน ๆ ในโครงการวิจัยนี้

ถาม คิดว่าอะไรในตัวเองที่ทำให้เด็ก ๆ กลุ่มนี้ เปิดใจยอมรับการเป็นพี่เลี้ยงของเรา

ตอบ คิดว่าเป็นความตั้งใจจริงของเรา ความรับผิดชอบของเรา ถ้าเรามอบหมายงานให้เด็ก ๆ แล้วเขาทำไม่ได้ เราจริงจัง พี่คิดเองว่าสิ่งที่พี่มี ทำให้เด็ก ๆ เกิดความเชื่อมั่นในตัวเรา ถ้ามีปัญหาอะไรขึ้น พวกเขาสามารถพึ่งพาเราได้ เวลาพี่ตัดสินใจทำอะไรสักอย่าง พี่ไม่ปล่อยผ่าน พี่ตั้งใจทำงานให้สำเร็จ เด็ก ๆ เขาไม่ค่อยดื้อกับพี่ เพราะว่าเราเป็นเหมือนญาติของเขา พวกเขาให้ความเคารพเรา เวลาที่พวกเขามีปัญหา เราสามารถแก้ไขปัญหาให้กับเขาได้ เราสามารถเป็นเพื่อนเล่นได้ ทำงานจริงจังได้ เป็นที่ปรึกษาได้ เราไม่ทอดทิ้งพวกเขา ทำให้พวกเขามีความมั่นใจและเชื่อมั่นในตัวเรามากขึ้น