ธัญวรินทร์ หวังดี : หนีโควิดไปติดหาดกับอาหารเมนูหอยแซ่บๆ ที่บ้านมดตะนอย เกาะลิบง

เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา

  • หอยชักตีน หอยนางรม หอยดาว หอยตาชัย หอยตาแดง หอยเข็ม และพันธุ์หอยอื่นๆ อีกกว่า 20 ชนิด คือ สิ่งที่เราสามารถเจอได้ที่ บ้านมดตะนอย อำเภอเกาะลิบง จังหวัดตรัง
  • เมื่อบ้านมีของดีเป็นหอย เยาวชนบ้านมดตะนอยรวมตัวกันทำ โครงการมหัศจรรย์พันธุ์หอย เพื่อทำความรู้จักหอยให้มากขึ้น โดยปลายทางเพื่อดูแลอนุรักษ์ให้ชุมชนยังเป็นแหล่งที่อยู่ของหอยที่มีความหลากหลายให้ได้มากที่สุด และไกลไปกว่านั้น คือ หาวิธีการเพาะพันธุ์หอยที่ถูกต้องตามหลักวิชาการและไม่ฝืนธรรมชาติ
  • เด็กตรังยังหรอย กิจกรรมที่พวกเขาจัดเพื่อชวนเยาวชนจากพื้นที่อื่นๆ มารู้จักหอย ตั้งแต่ล่องเรือชมทัศนียภาพชุมชน เก็บหอยริมหาด และปิดท้ายด้วยการลิ้มรสเมนูหอยที่นำมาปรุงแบบฉบับเมนูพื้นบ้าน เช่น ยำหอยอูหนำกับน้ำจิ้มเหี้ยนรสแซ่บที่มีถั่วตำผสมลงไปด้วย น้ำพริกกะปิใส่หอยติบ หอยออด๋องแกงส้มสับปะรด เป็น sea to table หอยสดๆ คัดเลือกจากทะเล ปรุงแล้วเสิร์ฟตรงถึงโต๊ะอาหาร

เมื่อการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) กลายเป็นความปกติใหม่ (New Normal) ที่ไม่ควรถูกละเลย ขณะที่ชีวิตยังต้องเดินหน้าต่อ หลายคนโหยหาการเดินทางท่องเที่ยวและการผจญภัย เมื่อหน้ามรสุมผ่านไปท้องทะเลอันดามันอันกว้างใหญ่น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีอีกทางหนึ่ง ให้ได้ไปหลบพัก รับพลังจากธรรมชาติ ล่องเรือปล่อยใจอ้าแขนรับสายลมแสงแดดในท้องทะเลกว้างๆ สัมผัสหาดทรายขาวและน้ำทะเลสีเทอควอยซ์ รวมถึงอาหารทะเลสดๆ อร่อยๆ ในแบบฉบับที่ไม่ได้คุกคามธรรมชาติแต่สอดคล้องไปกับวิถีธรรมชาติและชุมชน

มาเรียม พะยูนน้อยกำพร้าแม่ทำให้หลายคนรู้จักเกาะลิบง จังหวัดตรัง ในฐานะบ้านหลังเกือบสุดท้ายของพะยูนในประเทศไทย หลังทีมสัตวแพทย์ นักวิชาการ ชาวบ้านและอาสาสมัครกว่าร้อยชีวิตได้ช่วยกันอนุบาลมาเรียมด้วยระบบเปิดในทะเลเพียงไม่กี่เดือน ขยะพลาสติกก็กลายเป็นสาเหตุหนึ่งที่พรากมาเรียมให้จากไปอย่างน่าใจหาย นี่ไม่ใช่ความเศร้าเสียใจแรกที่เกิดขึ้นกับผู้คนในเขตพื้นที่เกาะลิบง ชาวบ้าน ชาวประมงตระหนักถึงปัญหาและความเปลี่ยนแปลงเชิงลบที่เกิดขึ้นกับทรัพยากรธรรมชาติรอบตัว ปลา ปู หมึก กุ้ง และหอย ที่จับหาได้ยากขึ้น ความแปรปรวนของสภาพอากาศ และขยะทะเลเกยตื้นที่ไม่ได้มาจากชุมชนแต่มากับทะเลซึ่งอาจมีต้นทางมาจากบ้านของใครคนใดคนหนึ่งก็ได้ ใครจะไปรู้วันหนึ่งถุงพลาสติกหรือขยะขวดน้ำจากบ้านเรา อาจลอยไปเกยตื้นอยู่ที่ทะเลแถบเกาะลิบงก็เป็นได้

กลุ่มเยาวชนบ้านมดตะนอย

สถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นไม่ได้ทำให้ชาวบ้านและกลุ่มอาสาสมัครพิทักษ์ทะเลในเขตพื้นที่เกาะลิบงท้อแท้ แต่กลับเป็นเชื้อไฟจุดประกายให้ผู้คนในพื้นที่ผนึกกำลังกันอย่างจริงจังและเข้มแข็งมากขึ้น พวกเขาทำงานด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติในท้องทะเลมาอย่างต่อเนื่องกว่า 5 ปี ถ่ายทอดจิตสำนึกและวิถีปฏิบัติจากรุ่นสู่รุ่น ไม่ใช่แค่ผู้ใหญ่แต่เด็กและเยาวชนได้เข้ามารับรู้และตระหนักถึงปัญหาต่างๆ ด้วยเช่นกัน

บ้านมดตะนอย อำเภอเกาะลิบง จังหวัดตรัง เป็นชุมชนที่ไม่ได้อยู่บนเกาะแต่เป็นส่วนหนึ่งขององค์การบริหารตำบลเกาะลิบง หมู่บ้านชาวประมงติดทะเลห่างจากตัวเมืองตรังมาทางทิศตะวันตกประมาณ 50 กิโลเมตร ชุมชนขนาดเล็กที่มีประชากรอยู่เพียง 320 ครัวเรือน หากมานั่งพักพิงเอนกายบริเวณชายหาดบ้านมดตะนอยยามเย็น เราจะเห็นเกาะลิบงตั้งเด่นอาบแสงสีส้มของพระอาทิตย์ตกเป็นแบ็คกราวน์อยู่ด้านหลัง พูดง่ายๆ ก็คือว่า ชายหาดบ้านมดตะนอยวางแนวขนานไปกับเกาะลิบงที่อยู่เบื้องหน้า เสน่ห์ของบ้านมดตะนอยเป็นชุมชนท้องถิ่นที่เปิดรับนักท่องเที่ยวแต่ยังเงียบสงบ เดินทางมาได้ไม่ยาก ด้วยทำเลที่ตั้งสามารถนั่งเรือไปยังสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ โดยรอบได้สะดวก ไม่ว่าจะเป็นถ้ำเจ้าคุณ ถ้ำมรกต เกาะมุก เกาะกระดาน และเกาะลิบง

ป่าชายเลนหรือป่าโกงเกงที่ทอดขนานไปทั้งสองด้านบริเวณคลองลัดเจ้าไหมก่อนไปหยุดที่ท่าเทียบเรือของชุมชนซึ่งยังคงเป็นโครงสร้างที่ทำจากไม้ เป็นบรรยากาศที่ทำให้รู้สึกว่า ‘เราเป็นแค่มนุษย์ตัวเล็กๆ คนหนึ่งท่ามกลางธรรมชาติเท่านั้นเอง’ ยิ่งมองทิวทัศน์มุมสูงลงมาจากโดรนยังแอบคิดในใจว่า ‘นี่ฉันอยู่ในป่าอะเมซอนหรือเปล่า?’

มหัศจรรย์พันธุ์หอย

ฝั่งหนึ่งของบ้านมดตะนอยเป็นโค้งทะเล เรียกว่า สันหลังมังกรเผือก ยามน้ำลงเต็มที่จะเห็นเป็นสันทรายโผล่พ้นน้ำยาวลาดไปไกลนับกิโลเมตร มีรูปร่างคล้ายมังกรสีขาว ลำตัวยาวกำลังตั้งท่าแหวกว่ายไปในทะเล ชายหาดบริเวณนี้เป็นที่อยู่ของสัตว์ทะเลหลายชนิด โดยเฉพาะหอย ไม่ว่าจะเป็นหอยชักตีน หอยนางรม (หอยตีเตบหรือหอยตีบ) หอยดาว (บูหลัน) หอยตาชัย หอยตาแดง หอยเข็ม หอยหวาน หอยแครงลิง หอยแครง หอยเม็ดหนุน หอยหลักไก่ หอยกูดเพา หอยปูน (หอยหลอด) หอยแว่น หอยออด๋อง (หอยสันขวาน) หอยอูหนำ หอยกัน หอยติง หอยลูกบ้า หอยเสียบ และหอยบอก พันธุ์หอยกว่า 20 ชนิดที่ว่ามานี้เป็นหอยที่กินเนื้อได้และอาศัยเฉพาะบริเวณหาดทราย แนวหญ้าทะเล และป่าชายเลนเท่านั้น

นาน – ธัญวรินทร์ หวังดี อายุ 22 ปี ตัวแทนเยาวชนบ้านมดตะนอย อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง เล่าว่า หอยเป็นอาหารยอดนิยมของคนบ้านมดตะนอย ในขณะที่ผู้ชายหรือผู้นำครอบครัวออกเรือไปหาปลา เมื่อถึงเวลาน้ำลดผู้หญิงจะชวนลูกๆ ถืออุปกรณ์ลงชายหาดไปหาหอย หรือช่วงหน้ามรสุมที่ไม่สามารถออกเรือได้ อาหารริมหาดจากธรรมชาติอย่างหอยเป็นความมั่นคงทางอาหารที่ช่วยดูแลปากท้องของคนในชุมชนเสมอมา หอยแต่ละชนิดอยู่ในสภาพแวดล้อมต่างกัน มีลักษณะภายนอกต่างกัน รสชาติไม่เหมือนกัน แถมวิธีการเก็บหายังต่างกันด้วย บางชนิดต้องดูรอยเท้าหรือร่องรอยการเคลื่อนที่ บางชนิดดูลักษณะมูลที่ถ่ายออกมา หรือลักษณะทรายรอบๆ บางชนิดต้องใช้อุปกรณ์เสริมในการขุดหา บางชนิดอาศัยอยู่บนต้นไม้ริมป่าโกงกาง แต่บางชนิดก็ออกมาประจันหน้าให้เก็บกันได้ง่ายๆ

นาน กล่าวว่า แม้ชาวบ้านหันมาสนใจและร่วมมือกันดูแลรักษาทรัพยากรภายในชุมชน แต่ก็ยังมีบางคนไม่ให้ความร่วมมือและบุกรุกแหล่งที่อยู่ของหอย ไม่เฉพาะคนในชุมชนเท่านั้นที่สามารถเข้ามาจับสัตว์น้ำละแวกป่าชายเลนหรือโดยรอบบ้านมดตะนอยได้ แต่ชาวประมงจากพื้นที่อื่นก็เข้ามาได้เช่นกัน ความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติบ้านมดตะนอยได้รับผลกระทบจากพฤติกรรมของมนุษย์ที่ทำให้สมดุลนิเวศน์เปลี่ยนแปลงไป ปริมาณหอยบริเวณชายหาดบ้านมดตะนอยลดลงอย่างมาก หลายชนิดกลายเป็นหอยหายากแต่รสชาติอร่อยที่คนในชุมชนเท่านั้นมีสิทธิได้ลิ้มลอง นานกับเพื่อนๆ จึงรวมกลุ่มทำ โครงการมหัศจรรย์พันธุ์หอย เพื่อทำความรู้จักหอยให้มากขึ้น เป้าหมายปลายทางก็เพื่อดูแลอนุรักษ์ให้ชุมชนยังเป็นแหล่งที่อยู่ของหอยที่มีความหลากหลายให้ได้มากที่สุด และหากไปได้ไกลกว่านั้นกลุ่มเยาวชนอยากหาวิธีการเพาะพันธุ์หอยที่ถูกต้องตามหลักวิชาการและไม่ฝืนธรรมชาติ เพื่อขยายพันธุ์ก่อนปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติ

“แม่บ้านบางคนว่างงาน รายได้หลักมาจากการเก็บหอย เมื่อเก็บได้น้อยลงรายได้ก็ลดลงและมีรายได้ไม่แน่นอน สังเกตได้จากออกไปแต่ละครั้งใช้เวลาในการหาหอยนานขึ้น ต้องขุดหาลึกขึ้น เดินไปไกลขึ้น เจอแต่หอยที่มีขนาดเล็ก หอยปูนหรือหอยหลอดก่อนหน้านี้เป็นเวลาเกือบ 2 ปีที่ชาวบ้านแทบหาเก็บไม่ได้เลย บางครั้งเก็บได้น้อยมากจนต้องขอแบ่งซื้อปลาจากต่างหมู่บ้านมากินแทนหอย” นาน กล่าว

กิจกรรมที่เด็กและเยาวชนได้ลงมือทำในโครงการมีตั้งแต่การเก็บข้อมูลเรื่องพันธุ์หอย ทั้งที่อาศัยในป่าชายเลนและชายหาดจากผู้รู้ในชุมชนเทียบเคียงกับข้อมูลวิชาการ แล้วเรียบเรียงเป็นความรู้พื้นฐาน เช่น ลักษณะหอยชนิดต่างๆ สถิติปริมาณหอยที่จับได้ในแต่ละจุดเพื่อให้เห็นแนวโน้มความเปลี่ยนแปลง กลุ่มเยาวชนลงพื้นที่สำรวจหอยตามชายหาดและป่าชายเลนเพื่อทำแผนที่แหล่งที่อยู่ของหอยในชุมชน ศึกษาและจัดทำปฏิทินน้ำขึ้นน้ำลงที่มีความสัมพันธ์กับวงจรชีวิตของหอย เรียนรู้วิธีการเก็บหอยให้เกิดความเชี่ยวชาญมากขึ้น และทดลองนำหอยไปแปรรูปหรือทำเป็นเมนูอาหารพื้นบ้าน รวมถึงสร้างสรรค์เมนูใหม่แบบ sea to table เพื่อดึงดูดใจนักท่องเที่ยว ที่สำคัญเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายสูงสุดที่วางไว้ นาน บอกว่า กลุ่มเยาวชนได้ข้อความรู้จากศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน จังหวัดภูเก็ต เพื่อศึกษาเชิงลึกไปถึงเรื่องการเพาะพันธุ์และขยายพันธุ์หอย

Sea to Table ความมั่นคงทางอาหารในท้องทะเล

จะว่าไปจังหวัดตรังมีสภาพภูมิประเทศที่ค่อนข้างหลากหลาย มีทั้งอำเภอที่ติดทะเลและไม่ติดทะเล บางอำเภอติดภูเขา นานและเพื่อนๆ จัดกิจกรรม เด็กตรังยังหรอย ขึ้นระหว่างทำโครงการ เดาๆ จากชื่อแล้วคงเป็นกิจกรรมน่าอร่อยและทำให้อิ่มท้อง เจ้าบ้านบ้านมดตะนอยชวนกลุ่มเยาวชนจากพื้นที่อื่นๆ มาทำกิจกรรมในพื้นที่เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ ไม่ว่าจะเป็นการล่องเรือชมทัศนียภาพ การเก็บหอยริมหาด และการลิ้มรสเมนูหอย มีเมนูพื้นบ้าน เช่น ยำหอยอูหนำกับน้ำจิ้มเหี้ยนรสแซ่บที่มีถั่วตำผสมลงไปด้วย น้ำพริกกะปิใส่หอยติบ หอยออด๋องแกงส้มสับปะรด และเมนูที่กลุ่มเยาวชนมดตะนอยรังสรรค์ขึ้นมาโดยเฉพาะ เช่น ห่อหมักหอยติบ หอยออด๋องผัดน้ำพริกเผา หอยสดๆ คัดเลือกจากทะเล ปรุงแล้วเสิร์ฟตรงถึงโต๊ะอาหาร ไม่ต่างจาก Chef’s Table (การทานอาหารที่คนปรุงหรือเชฟเป็นคนเลือกสรรวัตถุดิบ แล้วคิดเมนูพิเศษเสิร์ฟเซอร์ไพรส์ให้คนทาน) และ Farm to Table (การเลือกสรรวัตถุดิบส่งตรงจากแปลงปลูก) ที่มักได้ยินกันอยู่บ่อยๆ

“เมนูดั้งเดิมที่มีอยู่เป็นอาหารท้องถิ่นของชุมชนแถบนี้ที่กินกันทุกบ้าน ถ้านักท่องเที่ยวมาเที่ยวก็จะได้กินเมนูเดิมๆ ซึ่งเรารู้สึกว่าจำเจ เลยคิดเมนูเพิ่มขึ้นมาเป็นทางเลือกดึงดูดใจนักท่องเที่ยวให้ได้ลองเมนูใหม่ๆ ที่ยังคงเป็นหอยสดจากชุมชน” นาน กล่าว

ดูดินฟ้าอากาศและปฏิทินข้างขึ้นข้างแรมเพื่อให้รู้จังหวะน้ำขึ้นน้ำลง นาน เล่าถึงวิธีการเตรียมตัวก่อนออกไปเก็บหอย แล้วเล่าต่อว่าช่วง 13 ค่ำถึง 4 ค่ำเป็นช่วงเวลาที่ชาวบ้านนิยมออกไปหาหอยเพราะน้ำทะเลจะลดลงไปไกลทำให้หาหอยได้ง่ายและมีพื้นที่เก็บหอยเยอะ เมื่อถึงเวลาก็หยิบถังน้ำ ถุงอวนตาข่ายและมีดกรีดยางเก่าๆ สำหรับใช้เขี่ยตาหอยออกไปเก็บหอยได้

เมื่อเก็บหอยได้แล้วก็มาถึงขั้นตอนการเตรียมอาหาร ซึ่งต้องอาศัยความรู้ในการเตรียมหอยอยู่พอสมควร สิ่งเหล่านี้เป็นภูมิปัญญาด้านอาหารของชาวบ้านที่สั่งสมส่งต่อกันมาจนกลายเป็นเรื่องธรรมดาในชีวิตประจำวัน เป็นวิถีการกินที่ชาวเลต้องรู้

“หอยชักตีนอยู่ตามหาดนำมาต้มสดได้เลย หอยออด๋องอยู่ตามป่าชายเลนต้องเคาะเปลือกออกให้เหลือแต่เนื้อข้างในถึงจะนำไปทำอาหารได้ ส่วนหอยติบมีลักษณะเป็นพวงจับมาแล้วต้องเคาะแล้วแช่น้ำไว้ 2 – 3 ชั่วโมง เกาะเนื้อออกแล้วค่อยนำมาทำอาหาร” นาน เล่า

ประกาศกติกาชุมชน พิทักษ์ทรัพยากร

ห้ามเก็บหอยขนาดเล็ก ให้เก็บเฉพาะตัวเต็มวัยที่มีขนาดใหญ่ (กำหนดขนาดตามแต่ละชนิดของหอย เช่น ห้ามจับหอยชักตีนที่มีขนาดเล็กกว่า 3 เซนติเมตร หอยตลับ 4 เซนติเมตร หอยสันขวาน 5 เซนติเมตร เป็นต้น)

ห้ามเก็บหอยที่มีเปลือกบาง

เว้นระยะการเก็บหอยช่วงที่หอยวางไข่

ห้ามทำลายแนวหญ้าทะเล

ห้ามใช้อวนตาถี่จับสัตว์น้ำ และห้ามใช้อวนลากบริเวณริมตลิ่ง

ที่ว่ามานี้เป็นแค่ส่วนหนึ่งของกติกาชุมชน

“ก่อนเข้าไปถามข้อมูลจากผู้ใหญ่ในชุมชน เราอธิบายเป้าหมายของโครงการให้ฟังก่อนว่าปลายทางของเราคือการอนุรักษ์ คนในชุมชนเติบโตมาจากทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่ โตมากับท้องถิ่น มีความหวงแหนและผูกพันกับป่าชายเลน ลำคลอง หรือชายหาดอยู่แล้ว อย่างต้นโกงกางเราใช้ประโยชน์แต่ก็มีการปลูกทดแทน เมื่อรู้จักโครงการผู้ใหญ่ก็เลยให้ความร่วมมือ จากก่อนหน้าชุมชนไม่ได้สนใจเวลามีคนภายนอกเข้ามาหาหอยในพื้นที่ ตอนนี้ตั้งกติกาชุมชนขึ้นมาชัดเจน มีการเตือน บอกคนจากต่างหมู่บ้านที่เข้ามาเก็บหอยหรือนักท่องเที่ยวให้ปฏิบัติตามกติกาของชุมชน เห็นคนทำผิดก็ไม่ปล่อยผ่านเหมือนที่ผ่านมา” นาน อธิบาย

โครงการของเด็กๆ หนุนให้ผู้ใหญ่เพิ่มกฎกติกาเรื่องการจับหอยเป็นหนึ่งในกติกาชุมชน และทำให้กติกาชุมชนที่เคยร่างกันไว้อยู่แล้ว แต่ยังไม่ประกาศหรือยังปฏิบัติกันอย่างหละหลวมกลับมาเป็นกฎกติกาการอยู่ร่วมกันกับทรัพยากรธรรมชาติที่ชัดเจน ถูกกวดขันและปฏิบัติอย่างเข้มงวดมากขึ้น มีกลุ่มแกนนำเยาวชนเป็นอีกแนวร่วมหนึ่งช่วยสอดส่องดูแลและเป็นหูเป็นตาร่วมกับผู้ใหญ่ เด็กและเยาวชนได้กลายเป็นเสียงของชุมชนที่ผู้ใหญ่ให้การยอมรับ

“หอยชักตีนวางไข่อยู่ตามรากของหญ้าทะเลซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจน จึงต้องมีการเว้นช่วงเวลาเก็บหอยและดูแลแนวหญ้าทะเลไม่ให้ถูกทำลายจากอวนตาถี่ เพราะอวนตาถี่ทำให้สัตว์ทะเลตัวเล็ก ไม่ว่าจะเป็นปลา ปู กุ้ง หอยที่ยังไม่โตติดอวนไปด้วย ด่านป้อมยามหน้าหมู่บ้านมีเจ้าหน้าที่ อพปร. (อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน) คอยดูแลคัดกรองอุปกรณ์จับสัตว์น้ำบนเรือที่ผ่านเข้าเขตชุมชน หากผิดกฎกติกาของหมู่บ้านจะไม่อนุญาตให้เรือเข้ามาได้ หมู่บ้านมีทางเข้าออกทะเลเพียงทางเดียวทำให้ง่ายต่อการตรวจตรา เราสอบถามจากคนเฝ้าด่านได้ว่ามีคนทำผิดมั๊ยในแต่ละสัปดาห์แล้วจดบันทึกไว้ จากการเก็บข้อมูลเท่าที่ผ่านมา พบการทำผิดกติกาชุมชนน้อยลงเรื่อยๆ ปริมาณหอยตามฤดูกาลก็มีเยอะขึ้น” นาน อธิบาย

โครงการมหัศจรรย์พันธุ์หอยเป็นเหมือนตัวจุดประกายความคิดและชนวนกระตุกจิตสำนึกของผู้คนบ้านมดตะนอยทุกวัยให้เหลียวกลับมามองทรัพยากรธรรมในพื้นที่ ตระหนักถึงคุณค่าของแหล่งความมั่นคงทางอาหารที่มีอยู่ในชุมชน แล้วร่วมมือกันอย่างแข็งขันเพื่อดูแลรักษาความมหัศจรรย์นี้ให้คงอยู่ต่อไป

“นอกจากกลุ่มเยาวชนที่ทำโครงการแล้ว โครงการเข้ามาปลุกจิตสำนึกให้น้องๆ เยาวชนในชุมชน หันมาสนใจเรื่องทรัพยากรในชุมชน เรามีแผ่นพับให้ความรู้เรื่องหอยจากข้อมูลที่เก็บได้ในโครงการ เมื่อน้องๆ ได้อ่านข้อมูลก็ยิ่งรู้สึกหวงแหนทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่ หรือการที่กลุ่มเด็กๆ อย่างเราเข้าไปถามไปขอข้อมูลจากผู้ใหญ่ก็ทำให้ผู้ใหญ่ได้ฉุกคิดเหมือนกันว่าหอยที่จับได้มันน้อยลงกว่าแต่ก่อนนะ แล้วมันน้อยลงเพราะอะไร คนในชุมชนจะทำอะไรได้บ้างเพื่อให้หอยกลับมามีจำนวนเพิ่มขึ้น พอได้คิดทบทวนผู้ใหญ่ก็อยากเข้ามามีส่วนร่วมอนุรักษ์ด้วย”

“มนุษย์ได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติมาเยอะแล้ว ควรร่วมมือกันอนุรักษ์ให้ไปถึงรุ่นหลัง ให้เขาได้เห็นหอยที่เป็นหอยจริงๆ ไม่ใช่จากในภาพหรือที่ตั้งโชว์ไว้” นาน กล่าวทิ้งท้าย

ดูเหมือนว่าสิ่งที่ได้รับกลับมาจากการท่องเที่ยวที่บ้านมดตะนอยมีมากกว่าแค่การไปพักผ่อน ที่นี่มีวิถีชีวิตของผู้คนหลากหลายแง่มุมให้ได้เห็นและเรียนรู้ ความเคารพ ความรักและแนวทางการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ กลับจากที่นี่เราคงได้รู้ได้เห็นปรากฎการณ์ต่างๆ รอบตัวในมุมมองที่หลากหลายมากขึ้น

อ่านบทความต้นฉบับที่นี่