สาวินี แซ่ว้าน : นิทานพื้นบ้าน ร่องรอยความทรงจำในโลกปัจจุบันที่พาไปรู้จักอดีต

เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา ภาพ The Potential

  • นิทานพื้นบ้านของชาวม้งมีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง สืบทอดจากการเล่าขานต่อๆ กันมาผ่านความทรงจำ ผู้ใหญ่มักเล่าให้เด็กๆ ฟังก่อนนอน มีความสนุกสนานที่สอดแทรกข้อคิดและคติความเชื่อ แถมนิทานยังเป็นบทบันทึกเรื่องราวและวิถีชีวิตของผู้คนที่สะท้อนให้เห็นการดำรงชีวิต กิจกรรมที่ทำในแต่ละวัน การประกอบอาชีพ รวมถึงวัฒนธรรมและค่านิยมของชาติพันธุ์
  • โครงการนิทานพื้นบ้านม้ง บ้านป่าหวาย ตำบลคิรีราษฎร์ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก เกิดขึ้นจากการที่นิสิตชั้นปีที่ 4 วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ซึ่งเป็นชาวม้งกลับไปที่หมู่บ้าน รวบรวมนิทานพื้นบ้าน ตำนาน และเรื่องเล่าในชุมชนมาผลิตเป็นสื่อการเรียนรู้

นิทานพื้นบ้านที่ทำให้รู้จักเรื่องราวใกล้ตัวที่หลายคนมองข้ามไป เปลี่ยนความไม่สนใจเป็นความภาคภูมิในความเป็นตัวของตัวเอง

จำได้ว่าสมัยเด็กๆ ฉันชอบไปนอนค้างบ้านย่า นึกย้อนกลับไปก็พอเดาสาเหตุได้ว่า ความรู้สึกชอบหรือความอุ่นใจที่ได้ไปบ้านย่ามาจากการที่ย่ามักเล่านิทานให้ฟังก่อนนอนเสมอ ย่ามักมีนิทานเรื่องใหม่ๆ มาเล่าให้ฟัง หรือหลายเรื่องฟังแล้วฟังซ้ำก็ยังรู้สึกสนุก ฟังจบบ้างไม่จบบ้างหลับไปตอนไหนไม่รู้ แต่ที่รู้คือตั้งแต่เด็กมาจนถึงตอนนี้ฉันสนิทกับย่ามาก

ทำไมเด็กถึงชอบฟังนิทาน แล้วทำไมต้องเล่านิทานให้เด็กฟัง?

เด็กตั้งแต่แรกเกิดถึง 7 ขวบอยู่ในช่วงวัยที่จินตนาการทำงานอย่างเต็มที่ อย่างที่ผู้ใหญ่มักบอกว่าเด็กวัยนี้ยังไม่รู้ประสา ยังไม่เข้าใจเหตุผลหรือเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัว นิทานจึงเป็นเสมือนโลกใบใหม่อีกใบหนึ่งให้พวกเขา เรื่องราวที่ถูกสอดแทรก ตัวละครที่อยู่ในเรื่องเล่าสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเด็กๆ มีงานวิจัยระบุว่า การเล่านิทานก่อนนอนช่วยเสริมสร้างสายใยรักระหว่างคนในครอบครัวและช่วยเสริมสร้างพัฒนาการด้านต่างๆ ของเด็ก พวกเขาได้รู้จักสัตว์ สิ่งมีชีวิต ธรรมชาติ รวมถึงความรู้สึกนึกคิดของตัวละครจากเรื่องราวที่ถูกถ่ายทอด บางเรื่องให้แง่คิด คติเตือนใจ ให้คุณค่าเรื่องคุณธรรม ศีลธรรม การตัดสิน การเอาตัวรอด การผจญภัย หรือแม้แต่อุปสรรคต่างๆ ที่ช่วยกระตุ้นกระบวนการคิด ความเชื่อมโยงและสร้างการเรียนรู้ในสมองของพวกเขา

เด็กจึงชอบฟังนิทานเพราะนอกจากสร้างความสนุกสนานแล้ว โลกของนิทานเป็นโลกที่อนุญาตให้พวกเขาจินตนาการได้ไม่รู้จบ เด็กที่ได้ฟังนิทานเรื่องเดียวกันในเวลาเดียวกันอาจจินตนาการไม่เหมือนกันเลยก็ได้ นอกจากนี้ การเล่านิทานยังช่วยให้เด็กได้ทำความรู้จักกับคำศัพท์ ใหม่ๆ ได้เห็นและจดจำตัวอักษรแม้ไม่รู้ความหมาย รู้จักประโยคและการสื่อความ เป็นการปูพื้นฐานทักษะการฟัง พูด อ่านและเขียนให้กับเด็กซึ่งช่วยกระตุ้นเซลล์สมองเพื่อการพัฒนาขั้นต่อไป

เรื่องใกล้ตัวและไม่ไกลใจ

นิทานพื้นบ้านม้งมีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง สืบทอดจากการเล่าขานต่อๆ กันมาผ่านความทรงจำ เผยแพร่ปากต่อปากจากคนรุ่นหนึ่งไปยังอีกรุ่นหนึ่ง จากพื้นที่หนึ่งไปยังอีกพื้นที่หนึ่ง นิทานเรื่องเดียวกันอาจมีเนื้อเรื่องเหมือนหรือต่างกันขึ้นอยู่กับผู้ถ่ายทอด อย่างไรก็ตาม จุดเด่นของนิทานพื้นบ้านม้งที่ผู้ใหญ่มักเล่าให้เด็กๆ ฟังก่อนนอน คือ ความสนุกสนานที่สอดแทรกข้อคิดและคติความเชื่อ นิทานเหล่านี้จึงเป็นบทบันทึกเรื่องราวและวิถีชีวิตของผู้คนที่สะท้อนให้เห็นการดำรงชีวิต กิจกรรมที่ทำในแต่ละวัน การประกอบอาชีพ รวมถึงวัฒนธรรมและค่านิยมของชาติพันธุ์

กลุ่มเยาวชนบ้านม้ง บ้านป่าหวาย

แม้จุดเริ่มต้นของ โครงการนิทานพื้นบ้านม้ง บ้านป่าหวาย ตำบลคิรีราษฎร์ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก เกิดขึ้นจากการที่นิสิตชั้นปีที่ 4 วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จังหวัดตาก ต้องเก็บชั่วโมงอาสาเพื่อสะสมหน่วยการเรียน แต่ความสนุกและสิ่งที่ได้ค้นพบระหว่างทางทำให้ มาย – อรณี แซ่ว้าน หนึ่งในแกนนำเยาวชน “กลุ่มเยาวชนบ้านม้ง บ้านป่าหวาย” ลืมเรื่องการนับชั่วโมงอาสาไปโดยปริยาย

บ้านม้งป่าหวาย เป็นชุมชนชาติพันธุ์ที่ตั้งอยู่ไม่ไกลนักจากอำเภอแม่สอด ชาวบ้านตั้งรกรากที่นี่มาราว 60 ปี ปัจจุบันมีประชากรประมาณ 900 คน ทำการเกษตรเป็นอาชีพหลัก เช่น ปลูกข้าวโพด ข้าว มันสำปะหลังและมันอาลู มายชวนน้องสาวแท้ๆ ฉู – สาวินี แซ่ว้าน และเพื่อนๆ น้องๆ ในชุมชนอีกจำนวนหนึ่งมาทำโครงการด้วยกัน กลายเป็นกลุ่มเยาวชนบ้านม้งที่มีแกนนำทำงานแข็งขันอยู่ประมาณ 7 คน เอาเข้าจริงพวกเขาไม่รู้อะไรมากนักเกี่ยวกับนิทานพื้นบ้าน เคยได้ยินพ่อแม่เล่านิทานให้ฟังอยู่บ้างแต่ก็ไม่เคยจดจำ มายและฉูจึงขอให้พ่อและปู่ รวมถึงผู้ใหญ่และคนเฒ่าคนแก่ในชุมชน ช่วยเล่านิทานพื้นบ้านให้ฟัง แต่ครั้งนี้ไม่ใช่แค่เล่าแล้วนอนฟังเฉยๆ เหมือนที่ผ่านมา

ไปบ้านผู้รู้ พูดคุยสอบถามถึงเรื่องนิทานพื้นบ้าน ให้ผู้รู้เล่านิทานให้ฟัง จดและบันทึกเสียง แล้วหาแนวทางออกแบบสื่อนิทานจากอินเทอร์เน็ต เป็นขั้นตอนการทำงานที่เรียบง่าย แต่ทำให้พวกเขารู้จักและเข้าถึงความเป็นชาติพันธุ์ม้งของตัวเองมากขึ้น พวกเขาได้เรียนรู้รากเหง้าของชุมชนและชาติพันธุ์ผ่านนิทาน

“สมัยยังเด็กมากๆ พ่อเคยเล่านิทานให้ฟังบ่อยๆ ตั้งแต่มีไฟฟ้าเข้ามาในหมู่บ้านก็ไม่ค่อยได้ฟังนิทานอีก เพราะทุกคนหันไปดูทีวี ตอนนี้ก็หันมาสนใจมือถือ ดูยูทูป (Youtube) เด็กไม่อยากฟังนิทานที่พ่อแม่เล่าอีก พ่อแม่ก็เลยไม่ได้เล่านิทานให้ลูกหลานฟังบ่อยๆ เหมือนเมื่อก่อน” มาย เล่า

“หนูเป็นลูกคนเล็ก พ่อชอบเล่านิทานให้ฟัง ตอนนี้มีหลาน หลานนอนกับพ่อ พ่อก็เล่านิทานให้หลานฟังอยู่บ้าง” ฉู กล่าวถึงนิทานพื้นบ้านที่ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชาวม้ง แต่ไม่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาให้มีบทบาทโดดเด่นในการพัฒนาเด็กและเยาวชน

กลุ่มเยาวชนบ้านม้งรวบรวมนิทานพื้นบ้าน ตำนาน และเรื่องเล่าในชุมชนบ้านป่าหวายได้ 20 เรื่อง หลังจากเก็บข้อมูลได้มากพอจึงคัดเลือกนิทานพื้นบ้าน 3 เรื่อง มาผลิตเป็นสื่อการเรียนรู้ แม้พวกเขาใช้ภาษาม้งสื่อสารกันในชุมชนเป็นปกติ แต่กระบวนการสืบค้นทำให้พวกเขาได้รับความรู้เกี่ยวกับคำศัพท์ภาษาม้งเพิ่มขึ้น บางคำเป็นคำศัพท์ที่ไม่เคยใช้และไม่รู้ความหมายมาก่อน นอกจากนี้ กระบวนการทำงานเชิงวิจัยทำให้พวกเขาได้เรียนรู้ทักษะการเขียนเรื่องเล่า และการวางภาพประกอบนิทานแต่ละฉาก หนึ่งในนั้น คือเรื่อง “ซึกะ” ที่ทั้งมายและฉูบอกว่าเป็นเรื่องที่พวกเขาชอบมากที่สุด

หนังสือ “Hmomg History of a People” โดย คีช ควินซี (Keith Quincy) ตั้งข้อสันนิษฐานถึงรกรากดั้งเดิมของชนเผ่าม้งว่า เดิมชนเผ่าม้งตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศจีน ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 ชาวตะวันตกกลุ่มแรกซึ่งเป็นมิชชันนารีคาทอลิกได้เข้ามารู้จักและติดต่อกับชาวม้ง ตามความเข้าใจของชาวจีน กล่าวว่า ม้งเป็นชนเผ่าโบราณที่เคยตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำเหลือง และเป็นศัตรูกลุ่มแรกๆ ของชาวจีน ด้วยเหตุนี้เรื่องเล่าต่างๆ เกี่ยวกับม้งในสังคมจีนจึงเต็มไปด้วยเรื่องราวของสงครามและการต่อสู้

ในช่วงเริ่มต้นของคริสต์ศตวรรษที่ 20 จำนวนประชากรม้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มขึ้นจากไม่กี่พันคนมาเป็นหกหมื่นคน ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเขตภูเขาสูงทางเหนือของประเทศเวียดนามและลาว บางส่วนอพยพจากยูนานผ่านพรมแดนพม่ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ทางภาคเหนือของไทย ข้อสันนิษฐานทางประวัติศาสตร์ที่ว่านี้สอดคล้องกับเรื่องเล่าในนิทานเรื่องซึกะที่มายและฉูกล่าวถึง

ซึกะเป็นสัญลักษณ์ที่ชาวม้งมักประดับไว้หน้าบ้าน มีลักษณะคล้ายธงชาติ มายเล่าว่า นิทานเรื่องซึกะเล่าถึงประวัติของวีรบุรุษชาติพันธุ์ม้งในสมัยทำสงครามกับจีน ซึเป็นผู้มีวิชาการต่อสู้เป็นเลิศ เป็นกองหน้านำทัพทำสงครามต่อสู้กับจีนจนได้รับชัยชนะอยู่เสมอ แต่อยู่มาวันหนึ่งซึได้หายตัวไปและไม่มีใครพบเห็นเขาอีก การหายไปของซึทำให้ชาวม้งหวาดกลัว เพราะขาดผู้กล้าคอยปกป้องชาวบ้านและชุมชนจากการถูกคุกคาม จึงนำเสื้อของซึแขวนไว้ตรงหน้ารั้วบ้านเพื่อหลอกตาข้าศึกให้เชื่อว่าซึยังมีชีวิตอยู่

นานเข้าเสื้อของซึก็เปื่อยขาดไปตามกาลเวลา ชาวบ้านจึงทำกระดาษให้มีลักษณะคล้ายเสื้อของซึขึ้นเป็นสัญลักษณ์มาติดไว้แทน สิ่งนี้จึงกลายเป็นตัวแทนความเชื่อของชาวม้งที่เชื่อมโยงกับความรู้สึกปลอดภัยและความเคารพในบรรพบุรุษ ที่ช่วยปกป้องคุ้มครองให้ตนอยู่เย็นเป็นสุข มาย บอกว่า ช่วงปีใหม่ม้งของทุกปี ทุกบ้านจะทำพิธีกรรมหน้าซึกะบ้านของตัวเองเพื่อแสดงความเคารพ

“เราเห็นซึกะอยู่ที่บ้าน เห็นอยู่ทุกวัน แต่ไม่เคยรู้ว่าคืออะไรกันแน่ หรือมีที่มาที่ไปอย่างไร พอมาทำโครงการถึงได้รู้เรื่องเล่านี้ ได้เข้าใจว่าทำไมคนม้งถึงต้องไปทำพิธีหน้าซึกะ” มาย เล่า

“เรื่องซึกะทำให้เห็นว่าบรรพบุรุษสมัยก่อนรู้จักพลิกแพลง จะเรียกว่าเป็นความภูมิใจก็ไม่เชิง แต่ในใจคิดว่าคนม้งสมัยก่อนก็คิดได้เหมือนกันนะ มีความคิดประยุกต์เปลี่ยนจากเสื้อมาเป็นกระดาษ กล้าที่จะเปลี่ยน” ฉู กล่าว

นอกจากเรื่องซึกะแล้ว มาย กล่าวว่า นิทานพื้นบ้านม้งเรื่องอื่นๆ มักบอกเล่าถึงความเป็นมาของสัตว์ชนิดต่างๆ เพราะวิถีชาวม้งอาศัยอยู่กับป่ากับธรรมชาติ บ้างบอกเล่าถึงความเชื่อที่กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติมาแต่เก่าก่อน ถึงแม้การฟังนิทานจะให้ความสนุกสนานเพลิดเพลิน แต่ยุคนี้หากจะให้เด็กมานั่งนอนฟังผู้ใหญ่เล่านิทานธรรมดาคงไม่มีเด็กคนไหนนิ่งสนใจอยู่ได้นาน กลุ่มเยาวชนบ้านม้งจึงทำสื่อนิทานให้มีลูกเล่น เพิ่มเติมความตื่นเต้นและทำให้นิทานพื้นบ้านมีความน่าสนใจ นอกจากแบบที่เป็นนิทานรูปภาพประกอบเรื่องเล่าแล้ว ยังออกแบบนิทานให้จับต้องและเล่นได้ บางรูปแบบต้องหาทางแก้ปัญหา พลิกแพลง กลับหน้าหลังเพื่อพาไปยังเรื่องเล่าถัดไป ยกตัวอย่างเช่น ลูกเต๋านิทานและนิทานหกเหลี่ยม ที่ดึงดูดความสนใจของเด็กได้เป็นอย่างดี

สื่อนิทานสานสัมพันธ์

“ว้าววว!!” “โอ้!!” คำอุทานสั้นๆ ที่เปรียบได้กับฟีดแบ็คเชิงบวกจากเด็กๆ ในโรงเรียนบ้านป่าดงใหม่ สาขาบ้านป่าหวาย โรงเรียนประจำชุมชนเพียงแห่งเดียวที่เพิ่งเปิดมาได้เพียง 1 ปี

กลุ่มเยาวชนได้ทดลองนำสื่อนิทานไปนำเสนอให้กับเด็กๆ ในโรงเรียน เห็นได้อย่างชัดเจนว่า “สื่อที่แปลกใหม่” กับ “นิทานพื้นบ้าน” ทำงานเข้าขากันได้เป็นอย่างดี ข้อมูลจากครูที่บอกว่าเด็กสมาธิสั้น ไม่สนใจฟังซึ่งที่ครูพูด คุยหรือชวนกันเล่นในห้องเรียน แต่ภาพที่เกิดขึ้นเด็กๆ ในห้องเรียนมีสมาธิ สนใจและฟังเรื่องเล่าอย่างตั้งใจ ไม่วอกแวกไปทำอย่างอื่น

มาย บอกว่า ตัวเธอเองหลงใหลการวาดภาพ โดยเฉพาะการวาดภาพเหมือน เธอไม่ได้เรียนจากใครที่ไหนเป็นพิเศษแต่หัดครูพักลักจำเอาจากคลิปสอนวาดภาพในอินเทอร์เน็ต ความถนัดของเธอทำให้การวาดภาพประกอบนิทานกลายเป็นเรื่องง่ายและน่าสนุก ส่วนแกนนำเยาวชนคนอื่นๆ ก็จะแบ่งงานกันทำตามความสมัครใจและความถนัด ช่วงไหนมีงานเร่งงานด่วนใครทำอะไรได้ก็ช่วยกันทำ

“เราต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อเป็นแบบอย่างให้กับน้องๆ และเพื่อชุมชนของเรา ใช้ความสามารถที่มีทำสิ่งที่เป็นประโยชน์และถ่ายทอดส่งต่อให้น้องๆ ทำต่อได้” มาย กล่าว

ส่วน ฉู เล่าว่า “ความสุข” จากประสบการณ์ที่ได้ไปพบปะน้องๆ นักเรียนในโรงเรียนทำให้เธอเห็นความฝันของตัวเองชัดเจนขึ้น

“ตอนนี้ความฝันอีกอย่างหนึ่งที่รู้สึกอยากทำ คือ อยากเป็นครู จากเดิมเลือกเรียนสายวิทย์คณิตเพราะอยากเป็นพยาบาลหรือเภสัชกร แต่พอได้เข้าไปเล่านิทานให้เด็กๆ ในโรงเรียนฟังสองครั้ง เวลาทำงานกับน้องๆ พูดคุยกันแล้วเขาให้ความสนใจ เข้าใจสิ่งที่เราสื่อสาร ทำให้รู้สึกอยากทำแบบนั้นอีก มีความสุขที่ได้ทำ เลยกลับมาคิดว่านี่น่าจะเป็นความฝันอีกอย่างหนึ่งของเรา” ฉู กล่าว

ปัจจุบัน สื่อนิทานทั้งหมดกลุ่มเยาวชนบ้านม้ง บ้านป่าหวาย มอบไว้ให้ทางโรงเรียนได้นำไปใช้ประโยชน์ต่อไป เรื่องเล่านิทานพื้นบ้านเหล่านี้นอกจากสร้างความสนุกสนานแล้ว ยังถักทอสายใยความเป็นชาติพันธุ์ม้งให้คงอยู่ในการรับรู้ของเด็กเยาวชนรุ่นต่อไป ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและคาดเดายากเหลือเกินในสังคมภายนอก

“ตอนนี้เราอนุรักษ์ เก็บรักษานิทานพื้นบ้านไว้ในรูปแบบหนังสือและสื่อการเรียนรู้ แต่การนำไปเผยแพร่ต่อ การทำให้ชุมชนทั้งหมดหรือคนภายนอกสนใจยังเป็นเรื่องที่ต้องคิดหาวิธีการต่อไป แต่ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้อย่างชัดเจนเกิดขึ้นกับพวกเราเองที่เป็นทีมทำงาน พวกเราได้พัฒนาตัวเองโดยเฉพาะเรื่องความมั่นใจจากการได้ออกไปพูดออกไปนำเสนอ จากการได้แสดงความคิดเห็นในเวทีอบรมหลายๆ ครั้งและจากกระบวนการเรียนรู้ต่างๆ ในโครงการ” มาย กล่าวทิ้งท้าย

โครงการนิทานพื้นบ้านม้ง บ้านป่าหวาย ตำบลคิรีราษฎร์ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก เป็นส่วนหนึ่งของ “โครงการเสริมสร้างความเป็นพลเมืองผ่านการพัฒนาศักยภาพการวิจัยให้แก่เยาวชนชาติพันธุ์ในพื้นที่อำเภอชายแดนจังหวัดตาก” ดำเนินการโดย วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรโรฒ จังหวัดตาก สนับสนุนโดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และ มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์จำกัด (มหาชน)
อ่านบทความต้นฉบับที่นี่