สาวินี แซ่ว้าน : บทสัมภาษณ์เยาวชน Best Practice โครงการนิทานพื้นบ้านม้ง บ้านป่าหวาย

นางสาวสาวินี แซ่ว้าน (ฉู) อายุ17ปี

เรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนป่าไม้อุทิศ 4 อำเภอพบพระ จังหวัดตาก

โครงการนิทานพื้นบ้านม้ง บ้านป่าหวาย ตำบลคิรีราษฎร์ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก

­

ถาม ช่วยแนะนำตัวชื่อจริงนามสกุล ชื่อเล่น เรียนชั้นอะไร โรงเรียนอะไร ทำหน้าที่อะไรในโครงการนี้?

ตอบ ชื่อนางสาวสาวินี แซ่ว้าน ชื่อเล่นชื่อฉู อายุ 17 ปี กำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนป่าไม้อุทิศ 4 หน้าที่ในทีมวิจัยอยู่ฝ่ายประสานงาน ประสานงานกับประธานทีมวิจัยคือพี่โมและผู้ใหญ่บ้านที่หมู่บ้าน

­

ถาม เข้าร่วมโครงการตั้งแต่เมื่อไหร่?

ตอบ ตั้งแต่ต้นค่ะ

­

ถาม ทำไมถึงสนใจทำโครงการนี้?

ตอบ พี่โม พี่ไม้ เขาเป็นพี่สาวของหนูชักชวน หนูคิดว่าน่าสนใจดี โครงการนี้น่าสนุก หนูเป็นคนชอบวาดภาพระบายสีอยู่แล้ว พี่ๆ ถามว่ามาลองทำดูไหม ยังไม่ได้ประกาศหาคนช่วย หนูตอบไปว่าลองดูก็ได้ หนูเลยช่วยพี่โมกับพี่ไม้

­

ถาม พี่ชวนอย่างไร?

ตอบ ชวนว่าจะทำนิทานมาทำเป็นสื่อช่วยสอนน้องๆ หนูเห็นว่ามันน่าสนุก พอทำเป็นสื่อน่าดู หนูก็เลยอยากทำ

­

ถาม หัวข้อวิจัยขอหนูคือเรื่องอะไร?

ตอบ หัวข้อวิจัยคือ นิทานพื้นบ้านม้ง

­

ถาม นิทานพื้นบ้านม้งเป็นอย่างไง ตามความเข้าใจของหนูหลังจากที่หนูได้ไปศึกษามา?

ตอบ นิทานพื้นบ้านม้งเป็นนิทานที่เล่ากันตั้งแต่บรรพบุรุษมา แต่ไม่มีการจดบันทึกเป็นอักษร เป็นประวัติศาสตร์ที่เล่าปากต่อปากมา หนูอยากบันทึกให้เป็นตัวอักษร ตอนนี้หนูยังเขียนเป็นภาษาม้งไม่ได้ เพราะว่าไม่ได้เรียนภาษาม้ง ในอนาคตเป็นไปได้หนูอยากเขียนภาษาม้งเป็น


ถาม ในนิทานม้งมีอะไรที่น่าสนใจ?

ตอบ ในนิทานม้งมีจุดเด่นจุดหนึ่งที่ไม่เหมือนนิทานของไทย เวลาที่หนูฟังผู้ใหญ่เล่า ตอนฟังจะรู้สึกกินใจเหมือนว่าเราเป็นตัวละครในนิทานม้ง

­

ถาม มีนิทานม้งเรื่องไหนประทับใจที่เรารู้สึกอินไปในตัวละคร?

ตอบ หนูประทับใจที่สุดคือนิทานเรื่องที่พ่อเล่า เรื่องสื่อกั๋ง เขาชื่อว่าสื่อ คำว่ากั๋ง ภาษาม้งแปลว่าปกป้อง สื่อกั๋งเป็นหนุ่มม้งที่มีความกล้าเก่งทางด้านการสู้รบ เมื่อก่อนม้งอยู่ในประเทศจีน จีนจะยึดดินแดนของม้ง สื่อไปช่วยสู้รบอยู่แนวหน้าตลอด หลังจากนั้นนานไม่รู้กี่ปีไม่มีใครรู้ว่าสื่อหายไปไหน ชาวม้งเลยเอาเสื้อผู้ชายม้งคือเสื้อสื่อมาแขวนไว้ในบ้าน เวลาที่คนจีนเดินผ่านจะได้คิดว่าสื่อยังอยู่ในบ้าน อย่าเพิ่งไปทำอะไรม้งเดี๋ยวจะสู้ไม่ได้ หลังจากนั้นเสื้อก็ขาด ชาวม้งก็เลยคิดค้นตัดกระดาษแทนผ้า เอากระดาษมาทำแทน ลายบนกระดาษมันคล้ายเสื้อ ทำให้หนูรู้ว่าเมื่อก่อนม้งเค้ามีไอเดียความคิดสร้างสรรค์ สื่อกั๋งเป็นหนึ่งใน 5 ของผีบ้านผีเรือนที่ม้งมีความเชื่อว่าคุ้มครองบ้านหนูก็เลยรู้สึกประทับใจ


ถาม ทำไมเราถึงคิดว่าอยากให้นิทานม้งยังมีอยู่ตลอดไป?

ตอบ เพราะสมัยนี้เด็กจะฟังจะเล่นแต่โทรศัพท์ หนูรู้สึกว่านิทานม้งก็มีข้อดี หนูก็เลยอยากให้น้องๆ ได้ศึกษา ถ้าหนูไม่ได้ทำโครงการนี้ หนูก็ไม่รู้ว่ามีเรื่องนี้อยู่ เพราะว่าหนูเก็บข้อมูลมากจากหลายคน ไม่ได้เก็บมาจากพ่อคนเดียว


ถาม มีจำนวนกี่เรื่อง?

ตอบ มีเยอะหนูเก็บมาได้ 20 เรื่อง เลือกมาทำสื่อ 5 เรื่อง


ถาม มีเรื่องอะไรบ้าง?

อบ มีเรื่องสื่อกั๋ง เรื่องปั๊วประวัติของค้างคาว เรื่องความเป็นมาว่าทำไมคนถึงเป็นแบบนี้ เรื่องป่อกือฮาบเล่เป็นเรื่องต้นข้าวกับข้าวโพด อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องเสือกับควายป่า ที่เลือกทั้ง 5 เรื่องนี้ เราสังเกตจากสีหน้าของเด็กจะตื่นเต้นไปด้วยเวลาที่ฟังผู้ใหญ่เล่า หนูเอามาทำเด็กชอบมีความตลกอยู่ในนิทาน


ถาม แล้วตอนเด็กเคยทำงานเกี่ยวกับชุมชนมาก่อนไหม?

ตอบ ชุมชนหนูไม่ค่อยมีงานแบบนี้ให้ทำ มีแต่งานชุมชนจิตอาสา หนูก็ช่วยไปตลอด


ถาม ทำไมเราถึงสนใจงานชุมชน?

ตอบ รู้สึกว่าชุมชนไม่มีคนมาช่วยดูแล อาจารย์เคยบอกว่าชุมชนหนู ถ้ามีการพัฒนาสามารถเป็นสถานที่ท่องเที่ยวได้ ตอนนี้หนูเห็นอย่างชัดเจนบนดอย มีแต่ไร่อย่างเดียวเวลาแห้งสวย มีคนชอบไปถ่ายรูป อาจารย์บอกว่าถ้าอาจารย์มาบ้านหนูก่อนหน้านี้ อาจารย์จะไม่ให้ทำเรื่องนิทาน อาจารย์จะให้ทำเรื่องสถานที่ท่องเที่ยว เพราะว่ามีที่เที่ยวเยอะ น้ำตกแถวบ้านหนู มีถ้ำอีกหลายถ้ำให้เข้าไปสำรวจ หมู่บ้านหนูมีหลายอย่างที่น่าสนใจ


ถาม ก่อนมาเข้าร่วมโครงการหนูเป็นคนอย่างไร?

ตอบ เมื่อก่อนหนูจะเป็นคนไม่ค่อยกล้าพูด เวลาหนูพูดใส่ไมค์ตื่นเต้น พอไม่ใช้ไมค์เวลาหนูพูดเสียงสด หนูรู้สึกโล่ง จะตื่นเต้นกับการพูดถือไมค์เพราะเราไม่ค่อยใช้


ถาม พอมาเข้าร่วมโครงการต้องถือไมค์บ่อยๆ หนูรู้สึกอย่างไรบ้าง?

ตอบ เมื่อก่อนหนูไม่ค่อยกล้าแสดงออก แต่พอเข้าร่วมโครงการหนูก็กล้ามากขึ้น กล้าเต้น กล้าพูด กล้าเขียน เมื่อก่อนหนูกลัวเพราะหนูลายมือไม่ค่อยสวย เมื่อก่อนหนูจะเป็นคนบอกให้เพื่อนเขียนมากกว่าแต่ตอนนี้หนูกล้าทำมากขึ้น


ถาม อะไรในโครงการที่ทำให้หนูกล้าและเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม หรืออะไรในตัวเราทำให้เรากล้าทำให้เราเปลี่ยนไป?

ตอบ เริ่มมาจากความมั่นใจในตัวเองเพิ่มมากขึ้น ทำให้กล้าทำมากขึ้น เมื่อก่อนเป็นคนไม่ค่อยมั่นใจในตัวเอง ที่โรงเรียนพอครูถามอะไร หนูรู้คำตอบแต่หนูจะไม่กล้าตอบไม่มั่นใจ คล้ายกับว่าคนรอบข้างกดดันด้วย แต่พอมาที่นี่หนูตอบไปหลายครั้ง คนข้างๆ ก็มองว่าคนนี้ก็รู้นะทำให้หนูมั่นใจมากขึ้น


ถาม เหมือนกับว่ามาที่นี่แล้วมีคนรับฟังใช่ไหม?

ตอบ เพราะมีคนรับฟังด้วย หนูก็เลยมั่นใจกล้าทำ

­

ถาม ช่วยเล่าหน้าที่ในโครงการอีกครั้ง?

ตอบ หนูทำหน้าที่ประสานงาน ประสานงานระหว่างประธานวิจัยคือพี่โมกับพี่ไม้และผู้ใหญ่บ้าน เช่น จะไปลงหมู่บ้านไปสำรวจหมู่บ้าน ช่วยไปถามผู้ใหญ่ว่าหอประชุมว่างไหม ถ้าได้เรื่องอย่างไรหนูก็ไปบอกพี่โมกับพี่ไม้อีกรอบ


ถาม ตอนที่พี่มอบหมายหน้าที่นี้ให้หนูรู้สึกอย่างไรบ้าง?

ตอบ หนูรู้สึกว่าจะทำได้ไหม เพราะว่าหนูนอนอยู่ที่หอพักด้วย ไม่ค่อยมีเวลาที่อยู่บ้าน หนูคิดว่าหนูจะทำได้หรือเปล่า แต่ว่าหนูมีเพื่อนคนหนึ่งคือ ซัว ซัวช่วยหนูทำ พี่โมพี่ไม้เวลาประสานงานเขาจะเข้าใจหนู เขาจะไม่ประสานงานมาในช่วงวันจันทร์ถึงพฤหัส วันศุกร์เขาจะประสานงานว่า ถ้ากลับบ้านช่วยไปถามผู้ใหญ่ให้หน่อย หนูก็จะกลับบ้านมาเสาร์อาทิตย์แล้วประสานงานให้กับพี่โมพี่ไม้อีกทีหนึ่ง


ถาม พอเราไปทำงานเป็นอย่างไรบ้าง?

ตอบ พอไปทำจริงไปถามผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่เป็นคนน่ารัก ผู้ใหญ่เป็นกันเอง รู้สึกโล่งขึ้น ที่เราตื่นเต้นเพราะว่าเราคิดไปเอง


ถาม ได้เรียนรู้อะไรจากการที่เราได้ไปสัมภาษณ์ ไปติดต่อประสานงานต้องได้เจอผู้ใหญ่?

ตอบ เวลาประสานงานถ้าผู้ใหญ่บอกว่าอะไร เราก็ต้องไปบอกพี่โมพี่ไม้ทันที ถ้าบอกช้าเกินไปเดี๋ยวมันจะยุ่งต่อการดำเนินงานเกี่ยวกับโครงการ เช่น ผู้ใหญ่บอกว่าวันที่นี้ต้องประชุมนะ ถ้าหนูกลับบ้านไปวันศุกร์แล้วผู้ใหญ่บอกว่าจะประชุมวันจันทร์ ถ้าหนูไม่รีบประสานงานมันก็จะไม่ทันเวลาของผู้ใหญ่ เราจะเตรียมตัวไม่ทัน เราต้องตรงต่อเวลา


ถาม โครงการนี้ได้เดินทางมาเกือบ 6 เดือน แล้ว พอหนูเห็นโครงการเป็นแบบนี้ ตั้งแต่เริ่มต้นจนเป็นรูปเป็นร่าง รู้สึกอย่างไรบ้าง?

ตอบ รู้สึกภูมิใจ หนูรู้สึกภูมิใจมากเพราะพี่โมพี่ไม้มอบงานนี้ให้ งานหนูเป็นงานนิทานสื่อทำมือ หนูเรียนวิทย์-คณิต การบ้านหนูเยอะมากไม่ค่อยมีเวลา แต่พอเห็นงานที่ทำแล้วเห็นว่ามันสวยงาม หนูรู้สึกภูมิใจและดีใจที่ทำออกมาได้ทันเวลา


ถาม คิดว่าการเปลี่ยนแปลงที่สุดของหนูคือเรื่องอะไร?

ตอบ คือเรื่องการแสดงออกและมองเห็นอีกมุมของหนู จากที่คิดว่าไม่ได้เป็นคนรักเด็ก พอเอาสื่อเข้าไปให้เด็กๆ ดู รู้สึกว่าโอเค หนูชอบเด็กนะ หนูชอบที่จะสอนเด็ก มันทำให้ได้เห็นอนาคตของหนูด้วย


ถาม เห็นอนาคตของหนูเป็นอย่างไร?

ตอบ อยากเรียนครู พอหนูรู้สึกโอเค หนูไปสอนน้องหลายรอบแล้ว รู้สึกว่าน้องๆ เขามีความสุข หนูก็แฮปปี้กับน้องเขา


ถาม หนูได้ค้นพบศักยภาพของตัวเองในโครงการนี้ใช่ไหม?

ตอบ ใช่ค่ะ หนูรู้สึกแฮปปี้ ตอนแรกหนูคิดว่ากดดันจะไปเรียนต่ออะไรดี พอหนูได้ทำกิจกรรมนี้ หนูคิดว่าด้านนี้คือด้านที่หนูชอบจริงๆ


ถาม พี่โมกับพี่ไม้เป็นพี่สาวหนูใช่ไหม?

ตอบ ค่ะ พี่ไม้เป็นพี่สาวหนูแท้ๆ ของหนู แต่พี่โมเป็นลูกพี่ลูกน้องกัน


ถาม ปัญหาในการทำงานเมีเรื่องอะไรบ้าง?

ตอบ ปัญหาหลักๆ ก็แค่เวลาไม่ตรงกัน วันที่เราจะนัดมาทำกิจกรรมร่วมกันมันยาก เวลาไม่ตรงกัน


ถาม หนูจัดการอย่างไรกับปัญหาเวลาไม่ตรงกัน?

ตอบ หาเวลาที่พี่โมพี่ไม้ไม่ติดเรียน หนูก็ดูเวลาของหนูถ้าตารางเรียนวันนั้นไม่ใช่วิชาฟิสิกส์ เคมี ชีวะ หนูก็จะขอลาโรงเรียน ถ้าเป็นวิชาที่สบายๆ หนูก็จะขอลาหนึ่งวันแล้วค่อยไปตามงานทีหลัง แม้จะไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูก แต่ว่าหนูรู้สึกว่ามันโอเคกว่าให้พวกพี่ๆ ขาดเรียน ให้พี่ๆ มาในวันที่สบายสบายดีกว่า


ถาม อะไรที่เป็นความสุขที่สุดในการทำโครงการ?

ตอบ ความสุขที่สุด คือ ตอนที่นำสื่อไปสอนน้องๆ เป็นความสุขแบบสุดๆ เพราะว่าน้องแฮปปี้ หนูเอาสื่อไปสอนอยู่ 3 ตัว น้องเขาสนุก ตื่นเต้นไปกับสื่อที่หนูนำไปสอน พอหนูเห็นรอยยิ้มของน้อง หนูรู้สึกดีใจ เวลาหนูเปิดสื่อให้น้องดู น้องร้องว้าว หนูรู้สึกว่าทำไมหนูตื่นเต้นจังเลย ตอนเป็นคนถือกระดาษและพูดหนูรู้สึกภูมิใจ


ถาม น้องๆ เรียนชั้นอะไรกัน?

ตอบ น้องๆ ป.2 เพราะว่าที่โรงเรียนหนูเพิ่งเปิดสถานศึกษาใหม่มีอนุบาลถึงแค่ ป.3


ถาม หนูเอาสื่อไปลองกับทุกชั้นไหม?

ตอบ ไม่ค่ะ หนูทำกับน้อง ป.2 หนูขออาจารย์ที่เป็นญาติกับเพื่อนหนูไว้


ถาม ทั้งหมดในโรงเรียนมีกี่คน?

ตอบ ทั้งหมดในโรงเรียนมี 170 คน


ถาม น้อง ป.2 ที่หนูไปเล่ามีกี่คน?

ตอบ 30 คน


ถาม ถ้าย้อนไปวันนั้น ตอนที่หนูเข้าไปโรงเรียน หนูประสานงานหนูทำอะไรบ้าง?

ตอบ หนูให้น้องเขาลงทะเบียน หนูให้น้องเขานั่งเป็นแถว หนูเล่าถึงวัตุประสงค์ของโครงการ เล่าว่าวันนี้หนูจะมาทำอะไรให้น้องๆ หนูจะเล่าลำดับขั้นตอนต่างๆ ทำอะไรบ้าง มีของรางวัลไปแจกให้น้องๆ ด้วย


ถาม ไปเอาของรางวัลมาจากไหน?

ตอบ เอามาจากงบประมาณที่เขียนขอและเหลือจากการบริหารจัดการค่าอาหาร


ถาม พอเล่าวัตถุประสงค์แล้วอย่างไรต่อ?

ตอบ พอหนูเล่าจบ หนูก็เริ่มดำเนินงาน หนูก็ให้เพื่อนมาเล่านิทานให้น้องฟัง เปิดภาพสื่อแล้วก็เล่าตามสื่อ หนูเป็นวิทยากรและให้เพื่อนเป็นผู้ช่วย


ถาม พอเล่านิทานจบ 3 เรื่องแล้วอย่างไรต่อ?

ตอบ ให้น้องๆ เลือกว่าจะทำสื่อชนิดไหน ให้น้องนั่งเป็นกลุ่มวงกลม แจกอุปกรณ์ให้ทำสื่อ สอนว่าให้วาดแบบนี้ สีนี้ต้องทำแบบนี้ ให้เขาทำแต่ละกลุ่มไม่เหมือนกัน หนูกับเพื่อนช่วยดูแต่ละกลุ่มว่าน้องเขาทำถูกหรือเปล่า พอเที่ยงพาน้องไปกินข้าว พอกลับมาจากกินข้าว ให้น้องส่งตัวแทนออกมาเล่านิทานที่เขาทำสื่อ น้องทำได้โอเค เอาสื่อตัวนั้นให้น้องเขาดูว่ามันสวยนะ ถามน้องๆ ว่าเขาอยากได้สื่อทั้งหมดนี้ไหม เขาต้องตอบว่าอยากได้ หนูบอกว่ารอจบวิจัยนี้พี่จะเอามามอบให้ที่โรงเรียน น้องๆ เขาก็ร้องเฮ้ น้องเขาดีใจ


ถาม อะไรที่ยากที่สุดสำหรับเราในการทำโครงการนี้?

ตอบ ยากที่สุดคือตอนที่ไปบันทึกนิทาน เพราะว่าให้ปราชญ์ผู้รู้เขาพูดภาษาม้ง หนูต้องแปลจากภาษาม้งเป็นภาษาไทย มีบางคำที่ภาษาไทยไม่สามารถเขียนแทนภาษาม้งได้ บางคำที่หนูไม่รู้จักเป็นภาษาม้งหนูก็ได้เรียนรู้ศัพท์ใหม่ๆ


ถาม ทำอย่างไรเวลาไม่รู้ว่าจะแปลเป็นภาษาไทยอย่างไร?

ตอบ หนูก็กลับไปให้ปราชญ์ผู้รู้ ว่าคำที่หนูแปลใช้ได้ไหม เขาบอกและช่วยแก้ บางคำผู้รู้ก็บอกว่าแปลประมาณนั้นได้


ถาม มีชื่อทีมของหนูไหม?

ตอบ ยังไม่มี ตอนนี้ชื่อทีมกลุ่มวิจัยนิทานม้ง ที่บ้านหนูยังไม่มีการรวมตัวของกลุ่มเยาวชน


ถาม มีกันกี่คนนอกจากฉูกับซัวแล้วมีใครอีกไหม?

ตอบ มีไม่เยอะ มีหนู ซัว เชง ปราชญ์ พี่วิทย์ พี่โม พี่ไม้


ถาม มีคนในชุนชนถามว่าพวกเราทำอะไรกันไหม?

ตอบ มีค่ะ เขาบอกว่าทำแบบนี้มีสาระ หนูก็อธิบาย เขาบอกให้ตั้งใจทำนะ ขอให้ประสบความสำเร็จ ได้คำชมและคำอวยพรบ้าง ยังไม่ได้ยินว่าทำไม่ได้ ยังไม่มีคำพูดแบบนี้มาให้พวกหนูได้ยิน ชุมชนเขาไม่เคยมีแบบนี้ เวลาพวกหนูทำคนในชุมชนให้ความสนับสนุน


ถาม เราไปเก็บนิทานจากใครมาบ้าง?

ตอบ พ่อของหนู ลุง ปราชญ์ผู้รู้ในหมู่บ้านอีก 2-3 คน


ถาม ปกติคุยกับพวกเขาประจำอยู่แล้วไหม?

ตอบ ส่วนมากจะเป็นญาติกันเป็นม้งเดียวกัน ปกติก็ไม่ได้คุยเพราะหนูไม่รู้จะคุยอะไร พวกเขาก็อายุเยอะกันแล้วไม่รู้จะสื่อสารกับเขาเรื่องอะไร


ถาม แต่พอเราต้องไปเก็บนิทานเราก็เลยได้คุยกับพวกเขามากขึ้น?

ตอบ ค่ะ ทุกคนที่ไปเก็บเป็นญาติหนูรู้จักค่ะ เป็นปู่ของพวกหนูนะ


ถาม ปกติเราก็ไม่ได้คุยกับปู่ แต่พอเราต้องไปเก็บนิทานเราเลยต้องคุยกับปู่มากขึ้น ?

ตอบ ใช่ค่ะ


ถาม พอเราได้ไปคุยกับปู่มากขึ้น ปู่เล่านิทานให้เราฟัง ความรู้สึกเป็นอย่างไรบ้าง?

ตอบ ความรู้สึกผูกพันมากขึ้น เพราะปกติไม่ค่อยได้คุยกัน พอได้คุยกันก็รู้สึกว่าปู่เอ็นดูเรานะ


ถาม พี่สามารถพูดได้ไหมว่าการเก็บนิทานของเรานี้มันช่วยลดช่องว่างความสัมพันธ์ระหว่างตัวเรากับปู่ ทำให้เราใกล้ชิดเข้าใจปู่ของเรามากขึ้น?

ตอบ ค่ะ


ถาม ฉูคิดว่าตอนที่ปู่เล่านิทานให้เราฟัง กับตอนที่ฉูเอานิทานไปเล่าให้น้องๆ ฟังความรู้สึกเดียวกันไหม?

ตอบ คล้ายกันค่ะ เพราะว่าน้องๆ เห็นหนูเวลาไปซื้อของเขาก็ทักหนู เมื่อก่อนเดินผ่านก็ไม่คุยกัน แต่เดี๋ยวนี้เวลาไปซื้อของก็ทักกัน นั่นพี่ฉูอยู่นั่น น้องๆ ทักทายมีคนรู้จักมากขึ้น เพราะปกติหนูอยู่บ้านก็จะไม่ได้ออกไปไหน

­

ถาม อยากให้ฉูลองพูดถึงเพื่อนๆ ในทีมหน่อย?

ตอบ เพื่อนๆ มีข้อดีคือยอมรับฟังความคิดเห็นที่ต่างกัน จุดเด่นของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ทำให้ทำงานร่วมกันได้ เพราะบางคนก็เก่งในด้านที่แตกต่างกัน หนูรู้สึกว่าตรงจุดนี้ทำให้หนูกับเพื่อนรู้จักกันมากขึ้น หนูเก่งด้านนี้เพื่อนเก่งด้านนี้และเราสามารถมารวมกันได้ เพื่อนทุกคนให้ความร่วมมือ ยินดีและสนับสนุนสิ่งที่เราจะทำด้วย


ถาม อยากให้ลองชื่นชมตัวเอง 1 ประโยคเราอยากจะชื่อชนตัวเองว่าอะไร?

ตอบ ถ้าเป็นแค่ประโยคเดียว หนูอยากจะบอกว่า เรานี่แน่มาก แน่มากที่กล้าทำโครงการแบบนี้ พอเราเริ่มทำเราได้รู้สึกและรู้จักตัวตนของเราเองอีกหลายมุม เราแน่มากที่เรากล้าทำแล้วเราก็ทำมันได้จริงๆ


ถาม ถ้ามีความฝันจะได้ทำโครงการอีก เราอยากอยากทำโครงการอะไร?

ตอบ จะทำโครงการแบบที่อาจารย์บอก คือ โครงการสถานที่ท่องเที่ยวเพราะว่าหนูว่ามันน่าสนใจดี น่าสนใจมากๆ หนูสังเกตบนเขาที่เขาไปถ่ายรูปกันที่คนเค้านิยมไปมันก็เป็นแค่พื้นหญ้าธรรมดา ถ้าเราถ่ายรูปตรงนี้มันจะเห็นเป็นภูเขาที่ซ้อนกันเป็นชั้นบรรยากาศดี ถ้ามีโอกาสทำโครงการต่อหนูจะทำเรื่องการท่องเที่ยวหมู่บ้าน


ถาม อาจารย์ที่พูดถึงคือชื่ออาจารย์อะไร?

ตอบ อาจารย์เอสที่โพธิค่ะ ตอนที่อาจารย์ไปเที่ยวหมู่บ้านอาจารย์เห็นเลยบอก


ถาม เท่าที่ฟังนะคะ พี่ว่าโครงการฉูเจอนวัตกรรมนะ นวัตกรรมของการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างรุ่นสู่รุ่น เพราะว่าฉูฟังนิทานแล้วฉูรู้สึกว้าวความรู้สึกที่ชื่นชมปู่ เรารักกันมากขึ้นโดยที่เราไม่รู้ตัว พอเราไปทำเราถ่ายทอดไปเล่านิทานให้น้องๆ มันถูกถ่ายทอดด้วยความรู้สึกเดียวกันเลย เหมือนนิทานเป็นเครื่องมือที่สร้างความสัมพันธ์ให้กับคนอีกรุ่นนึง เรารู้สึกดีกับปู่แล้วเราก็ทำให้น้องรู้สึกใกล้ชิดกับเรามากขึ้น จากรู้จักก็กลายเป็นรู้สึก รู้จักกันมากขึ้นพี่คนนี้เคยเล่าเรื่องสนุกๆ ให้เรา มันเป็นวิธีการสร้างความสัมพันธ์กับคนรุ่นใหม่อีกแบบหนึ่งผ่านการทำอะไรแบบนี้ จากโจทย์เราไปหานิทานแต่ไม่ใช่แค่เพียงนิทาน แต่เข้าใจว่านิทานมีความเชื่ออะไร พอเราเล่าด้วยความเข้าใจในมิติที่ลึกขึ้น มันทำให้เราเห็นคุณค่าของตัวเราด้วย

ตอบ ค่ะ ขอบคุณค่ะ


สัมภาษณ์วันที่ 18 มกราคม 2563