อรณี แซ่ว้าน : แกนนำเยาวชน Active Citizen จ.ตาก

นางสาวอรณี แซ่ว้าน แกนนำเยาวชน Active Citizen จ.ตาก

­

นางสาวอรณี แซ่ว้าน หรือ มาย แกนนำเยาวชนจากโครงการการหนุนเสริมศักยภาพนักวิจัยเยาวชนชาติพันธุ์รุ่นใหม่ 5 อำเภอชายแดนจังหวัดตาก ปัจจุบันทำงานเป็นเจ้าหน้าที่สื่อของมูลนิธิช่วยเหลือเด็กชายแดน (โครงการ ZEEDS) ย้อนกลับไปตอนที่มายได้เข้ามาร่วมโครงการนี้ ตอนนั้นยังเรียนอยู่ชั้นปี 3 ที่วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ซึ่งมายได้รับการชักชวนจากอาจารย์ชิ (สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ โค้ชพัฒนาพลเมืองเยาวชน) ให้ลองเข้ามาทำโครงการเกี่ยวกับนิทานพื้นบ้านม้ง ซึ่งมายเองก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจดี เพราะตอนเด็ก ๆ ก็ไม่ค่อยได้ฟังนิทานพื้นบ้านม้งซักเท่าไหร่ มายจึงตกลงว่าจะทำโครงการนี้ และไปชักชวนเพื่อน ๆ และน้อง ๆ ในชุมชนมาทำโครงการนี้ไปด้วยกัน

“โครงการนิทานพื้นบ้านม้ง บ้านป่าหวาย” เป็นโครงการในปีที่ 1 ที่กลุ่มของมายได้ทำ ซึ่งเป้าหมายของโครงการนี้เป็นการบันทึกและรวบรวมนิทานพื้นบ้านของกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้ถึงที่มาและรากเง้าของตนเอง ความเชื่อต่าง ๆ รวมไปถึงเป็นแนวทางในการอนุรักษ์นิทานพื้นบ้านม้ง เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาและเรียนรู้ต่อไป

นอกจากนี้ มายยังเล่าเพิ่มเติมถึงความคาดหวังส่วนตัวที่อยากจะพาให้โครงการนี้ไปถึงก็คือ การรวมกลุ่มน้อง ๆ เยาวชนชาติพันธุ์ม้งทั้งในและนอกชุมชนให้เป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน หากมีกิจกรรมหรือโครงการดี ๆ เข้ามาจะได้ช่วยกันทำได้

สำหรับเส้นทางในการทำโครงการของมายก็ไม่ได้ราบเรียบและสมบูรณ์แบบ มีความท้าทายเกิดขึ้นที่ทำให้มายได้เรียนรู้ ซึ่งความท้าทายเรื่องแรกคือ เวลาว่างในการทำงานของคนในกลุ่มไม่ตรงกัน จึงทำให้งานดำเนินไปอย่างล่าช้า เวลาลงพื้นที่ก็ต้องไปช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์แทน

มันเป็นปีแรกของเรา หนูกับเพื่อนอีกคนก็เรียนอยู่ที่มหาลัย ส่วนน้องคนอื่น ๆ ก็เรียนอยู่ ม.5-ม.6 อีกโรงเรียน และต้องเตรียมตัวไปสอบเข้ามหาลัยอีก ซึ่งมันทำให้เราหาเวลาว่างให้ตรงกันค่อนข้างยาก”

อีกหนึ่งความท้าทาย คือ เรื่องการเก็บข้อมูลชุมชน มายเล่าให้ฟังว่า การลงพื้นที่เพื่อขอสัมภาษณ์และเก็บข้อมูลจากคนในชุมชนเป็นไปอย่างยากลำบาก เนื่องจากคนในชุมชนไม่ค่อยเปิดใจ เพราะเป็นเรื่องใหม่สำหรับเขา รวมถึงคนในชุมชนไม่เข้าใจว่าเด็ก ๆ กลุ่มนี้จะเอาข้อมูลเหล่านี้ไปทำอะไรต่อ

อย่างชุมชนปกาเกอะญอ อ.ชิ หรือคนอื่น ๆ ก็จะเข้าไปทำกิจกรรมกันเยอะ แต่ชุมชนม้งของเรา การเข้ามาทำกิจกรรม การเข้ามาเก็บข้อมูลมันจะค่อนข้างยาก เป็นเรื่องใหม่สำหรับเขา การทำความเข้าใจกับชุมชนเลยค่อนข้างใช้เวลานาน เพราะเขาจะมีคำถามว่า เอาข้อมูลไปทำอะไร ทำได้ด้วยหรอ เขาตั้งข้อสงสัย และไม่ค่อยเปิดใจ มันเลยยากสำหรับการทำงานกับชุมชนม้ง’

จากความท้าทายและอุปสรรคต่าง ๆ ที่มายได้พบเจอระหว่างการทำโครงการ ฯ ทำให้มายได้เรียนรู้ในหลาย ๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการวางแผน การจัดสรรเวลา และการสื่อสารเพื่อทำความเข้าใจกับคนอื่น ๆ เพื่อให้การดำเนินโครงการนั้นสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

นอกจากนี้มายยังสะท้อนอีกว่า ถึงแม้โครงการนี้จะมีอาจารย์ชิ เป็นคนเลือกหัวข้อมาให้ แต่ด้วยกระบวนการทำงานที่มายและเพื่อน ๆ ได้ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ช่วยกันวางแผน เพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ทำให้มายได้ฝึกการคิดที่เป็นขั้นเป็นตอนมากขึ้น รวมไปถึง ทำให้มายมีความสนิทสนมกับน้อง ๆ ในชุมชนมากขึ้น รวมถึงมีความกล้าคิดและกล้าแสดงออกมากขึ้นด้วย

สุดท้ายนี้ มายบอกกับเราว่า ถ้ามีโอกาสอยากจะพัฒนา “นิทานพื้นบ้านม้ง” ให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น เพื่อนำไปเผยแพร่ในยูทูป โดยทำในรูปแบบอนิเมชั่นและมีเสียงบรรยายเป็นภาษาม้ง เพื่อให้เด็ก ๆ ได้มาเข้ามาเรียนรู้กันมากขึ้น และอีกหนึ่งสิ่งที่มายอยากทำคือ การรวมกลุ่มเพื่อทำเรื่องผ้ากัญชงของชุมชนให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างรายได้เสริมให้กับคนในชุมชนอีกด้วย