ชานนท์ ปรีชาชาญ : ครูภูมิปัญญา พี่เลี้ยงกลุ่มมโนราห์บ้านปากลัด

พี่เลี้ยงเด่น นายชานนท์ ปรีชาชาญ (ครูชานนท์) อายุ 30 ปี

ครูภูมิปัญญา พี่เลี้ยงกลุ่มมโนราห์บ้านปากลัด

โครงการเยาวชนสืบสานภูมิปัญญามโนราห์บ้านปากลัด

­

­

­

ถามขอให้แนะนำตัว

ตอบชื่อชานนท์ ปรีชาชาญ ปัจจุบันเปิดคณะมโนราห์ ชื่อคณะพี่เสือรามจันทร์ น้องสิงห์ ศิลป์ชัยอยู่ในจังหวัด สุราษฎร์ธานี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหิดลคณะวิทยาศาสตร์ (วท.บ) เอกการแพทย์ เดิมทีผมรับราชการอยู่ที่จังหวัดพัทลุง เป็นเจ้าหน้าที่ห้องผ่าตัด (OR) เป็นผู้ช่วยดูแลเคสคุณหมอ แล้วลาออกมาทําธุรกิจส่วนตัว เกี่ยวกับมโนราห์ เพราะว่าที่บ้านเป็นมโนราห์สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ โดยมโนราห์อยู่ในความเป็นเราตั้งแต่เกิด อย่างน้องบอมแกนนำอีกคนนึงเขาก็เป็นลูกหลานของมโนราห์ที่มีชื่อเสียงในจังหวัดนครศรีธรรมราชเหมือนกัน

ถามทำไมถึงลาออกแล้วกลับมาอยู่บ้าน แล้วสืบทอดภูมิปัญญาที่มีอยู่ในบ้านเรา อยากรู้ว่าจุดเปลี่ยนการลาออกจากตรงนั้น

ตอบเป้าหมายชีวิตของคนแต่ละคนไม่เหมือนกัน คนอยากมีเป้าหมายในชีวิตที่แตกต่างกัน ผมมีความรู้สึกว่าการเดินทางของผมเรียนทำงานประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง หลังจากเรียนจบทำงานประสบความสำเร็จ จึงอยากเอาความรู้เหล่านี้มาต่อยอดความเป็นศิลปะของบรรพบุรุษปู่ย่าตายายของเราไม่ให้หายไป

ถามประวัติของโนราห์ในบ้านของครูเป็นมาอย่างไร

ตอบบ้านผมเป็นมโนราห์สองฝ่ายทั้งฝ่ายคุณพ่อและคุณแม่ ฝ่ายคุณพ่อนี้เป็นมโนราห์ที่มีชื่อเสียงของจังหวัดนครศรีธรรมราช หรือที่เรียกว่ามโนราห์วันเฒ่าเมืองนคร ท่านมีศักดิ์เป็นคุณทวดของผม ต่อยอดกันมา รุ่นคุณทวด รุ่นคุณย่าที่เป็นพี่สาวของปู่ ที่สืบทอดต่อก็คือมโนราห์หนูผิดหนูว่าที่จังหวัดตรังเป็นมโนราห์ที่มีชื่อเสียงเป็นบรมครูของจังหวัดตรัง มีลูกศิษย์ลูกหาทั่วภาคใต้ สายของคุณแม่เป็นสายของมโนราห์นาคไกรนรากับมโนราห์อาวร ชัยชาญ หรือบัณฑิตา สายของผมถ้านับกันในทางมโนราห์เรียกว่าเลือดบริสุทธิ์ ยังเป็นเลือดของมโนราห์ทั้งตระกูล 8 ตระกูล คือคุณทวดทั้ง 8 คน เป็นมโนราห์ทั้งหมด รุ่นคุณแม่ผมรับราชการครูจบจากวิทยาลัยนาฏศิลปนครศรีธรรมราช ท่านอยู่กับเรื่องศิลปวัฒนธรรมแบบนี้อยู่แล้ว เมื่อก่อนคุณแม่ของผมเปิดศูนย์การเรียนทำกิจกรรมสอนโนราห์ในโรงเรียนขนาดเล็ก ในอำเภอบางขัน จังหวัดนครศรีธรรมราช ชื่อว่าโรงเรียนจารึกราชต์ภาคย์ซึ่งเคยมีชื่อเสียง ผมเห็นสิ่งเหล่านี้มาตลอด ส่วนคุณพ่อรับราชการเป็นข้าราชการตำรวจ

เป็นผู้ถูกเลือกไหม ผมอาจจะเลือกเองก็ได้ ใจผมรักในความรู้ของบรรพบุรุษอยู่แล้ว ผมมีความรู้สึกว่าสำหรับผมมโนราห์ไม่ได้เป็นแค่ความเชื่อ แต่เป็นสิ่งหนึ่งที่ผมสามารถตอบแทนบรรพบุรุษของผมได้ ทุกครั้งที่ผมคิดถึงคุณปู่คุณย่าคุณตาคุณยาย ผมสามารถทำมโนราห์ในวันที่ท่านไม่มีแล้ว ผมมีความคิดแบบนี้มาตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่สมัยผมเรียนประถมมัธยม มโนราห์คือการระลึกถึงบรรพบุรุษแค่นั้นเอง โดยบรรพบุรุษเอาความเชื่อเข้ามาใส่

ถามก่อนหน้านี้อาจารย์เคยทำงานเกี่ยวกับชุมชนเกี่ยวกับโครงการที่ดึงเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมแบบนี้ไหม

ตอบไม่เคยครับเป็นครั้งแรกที่ทำโครงการแบบนี้ จากการไปอบรมกับพี่อี๊ด ผมเห็นสิ่งที่พี่อี๊ดพี่อุ๊ทำ พี่อุ๊คือเป็นเพื่อนของพี่สาวซึ่งผมไม่ได้เจอมานานมากจนจำไม่ได้ เมื่อไปรับความรู้ใหม่ๆ ผมชอบคำหนึ่งของพี่อี๊ดที่บอกว่า “สังคมให้อะไรกับเราตั้งเยอะแยะมากมายกว่าเราจะมีวันนี้ที่มีบ้าน มีรถ มีทุกอย่าง เราได้ตอบแทนอะไรกับสังคมบ้าง” คำพูดนี้ทำให้ผมกลับมาคิดว่าผมต้องทำโครงการนี้ให้สำเร็จ

ถามใครเป็นคนชักชวนชวนอาจารย์มาทำโครงการ อะไรที่ทำให้ตัดสินใจเป็นพี่เลี้ยงโครงการนี้

ตอบแกนนำคือน้องบอม ตอนแรกผมไม่รู้อะไรเกี่ยวกับโครงการนี้เลย น้องบอมมาบอกว่ามีงบจาก สก.สว. ทำเกี่ยวกับพัฒนาเด็ก อยากทำเรื่องมโนราห์ ผมอยากทำเรื่องโนราห์ อยากรู้ว่าโนราห์ของจังหวัด สุราษฎร์ธานีมีที่ไปที่มาอย่างไร เขามาบอกแค่นี้ ผมคิดแค่ว่าโอเคงั้นไปฟังก่อน ผมจึงพาน้องบอม น้องเค น้องป้อมไปฟังก่อน โครงการคืออะไร ในวันนั้นผมได้พบพี่ ๆ จากสยามกัมมาจล พี่โจ้ พี่แจง ซึ่งพี่แจงเป็นรุ่นพี่โรงเรียนเก่าของผม เมื่อสมัยผมเรียนมัธยมมีพวกโครงการของสภาเด็ก ผมไม่เคยสนใจเลยเพราะฟังแล้วรู้สึกไม่เข้าใจ ในวัยเด็กเราจะรู้สึกแค่ว่าเราต้องการเรียนเพื่อไปสู่เป้าหมายของเราเท่านั้น พอยิ่งได้ฟังพวกพี่ ๆ เขาพูดกันตอนกินข้าว มองว่าจริง ๆ แล้วชีวิตของเด็กไม่ได้มีแค่ว่าเรียนหนังสือให้เก่ง เขายังอยากทำอะไรอีกมากมาย เหมือนน้องบอม น้องเคเรียนสายวิทย์ เกรดเฉลี่ย 3.26 ผมมีความรู้สึกว่าทำไมเคยังอยากรำโนราห์ ในตอนที่เรายังเด็กเป้าหมายของเราคือเรียน ผมได้คุยกับพี่โจ้ได้ฟังจากพี่ ๆ ทำให้มี Mindset ในสมองที่เปลี่ยนไปว่า “จริง ๆ ชีวิตของเด็ก อยากทำอะไรมากมายนอกจากการที่เขาไปโรงเรียนและเรียนหนังสือให้เก่ง”

ถามครูมีความโดดเด่นหรือจุดเด่นอะไรในความเป็นโคชที่ช่วยเหลือ หนุนเสริมศักยภาพของน้อง ๆ

ตอบผมสอนให้เขาวางระบบ เมื่อเขาวางระบบของเขามาแล้วว่าเดือนนี้จะทำอะไรบ้าง และนำมาปรึกษาส่วนไหนที่เรามองว่ามันยังไม่โอเคหรือว่าเกินความสามารถศักยภาพของเขา เราไม่ดูถูกศักยภาพของเขาให้เขาลองทำก่อน ให้เขาคิดมาว่าถ้าทำแล้วเขาได้ผลลัพธ์อะไร ถ้าเขาไปทำแล้วทำไม่ได้ กลับมาก็ชี้แนะว่าทำแบบนี้ได้ไหม ผมวาง Mindset ให้เขาว่า “การที่เราจะไปถึงเป้าหมายโครงการวิจัยเรื่องโนราห์ปากลัดมีอีกหลายเส้นทาง ที่หนูเลือกเดินทางนี้แล้วเจออุปสรรคหนูเจอหน้าผา หนูยังกลับมาแล้วเดินใหม่โดยที่ไม่ต้องไปตั้งต้นใหม่ก็ได้ แค่หนูกลับมาเดินจากจุดที่มีทางไปใหม่ได้ หนูสามารถต่อยอดจนถึงเป้าหมายของหนูได้”

ผมกล้าพูดว่าที่เด็กพัฒนาเร็ว ผมให้เขาเรียนรู้แล้วให้เขาทำเอง ผมไม่เคยลงมือทำให้ ผมไม่บอกหมด เรื่องใบสมัครสมาชิกไม่ว่าเขาทำผิดมากี่ครั้งก็ตาม เขาจะคิดของเขาเองว่าในใบสมัครของเขาที่ให้น้อง ๆ กรอก ต้องใส่อะไรบ้าง เช่น ตอนแรกมีแค่ชื่อผู้ปกครอง เบอร์โทรติดต่อได้ เพราะว่ามีเด็กน้อย ตอนนี้เพิ่มข้อมูลโรคประจำตัวเข้ามา เขาเริ่มเรียนรู้เองว่า ควรมีหัวข้อนี้ใส่ลงไปด้วย เพื่อจะได้รู้ว่าน้องมีโรคประจำตัว เวลาที่น้องมาเรียนผู้ปกครองไม่ได้อยู่ด้วย เขาก็สามารถช่วยเหลือน้องได้จากฐานข้อมูลของเขา

ถามขอให้ครูยกเหตุการณ์ที่ชวนน้องเรียนรู้ เรื่องอะไรบ้างและเรียนรู้อย่างไร

ตอบตอนแรกน้องบอมเป็นคนเขียนโครงการไป พอได้ไปฟังโครงการ สิ่งที่เขียนไปเน้นเรื่องการรำเป็นส่วนใหญ่ จึงให้กลุ่มน้อง ๆ กลับมาเขียนโครงการส่งไปใหม่ ผมถามน้อง ๆ ว่า “หนูจะรำกันอย่างเดียวเลยเหรอในโครงการนี้ หนูไม่คิดที่จะเรียนรู้ หนูไม่คิดที่จะไปหาครูภูมิปัญญาท่านอื่นหรืออย่างไร” แล้วผมก็ชี้นำว่า มโนราห์ในกลุ่มลุ่มน้ำตาปียังมีอีกหลายท่านที่เป็นผู้อาวุโส ที่มีอายุสูง ๆ เช่น มโนราห์ที่มีชื่อเสียง อาจารย์ของมโนราห์เอกชัย ศรีวิชัย มโนราห์นิคม จากจังหวัดนครศรีธรรมราช เปรียบเทียบกับการทำลูกปัดจากจังหวัดสุราษฎร์ธานีกับจังหวัดพัทลุงที่ไม่เหมือนกัน ทุกครั้งที่ผมไปแสดงผมจะหาเวลาพาเด็กกลุ่มนี้เข้าไปเรียนรู้ด้วยในแหล่งชุมชนเหล่านั้น เน้นให้เขาพัฒนาไม่ใช่ว่ามาถึงก็เรียนแต่รำ

ฝึกให้เขาได้รู้จักการซักถามผู้ใหญ่ ให้เขาตั้งโจทย์กันมาก่อนไปสัมภาษณ์ ให้เขาวางแผนการไปทัศนศึกษา ซึ่งมีอยู่ในเล่มรายงานการไปทัศนศึกษาของน้อง ๆ เป็นวิดีโอสัมภาษณ์ครูภูมิปัญญา เขามาบอกว่าอยากไปสัมภาษณ์ ผมก็ถามเขาว่า “จะไปสัมภาษณ์เรื่องอะไรที่แตกต่างจากความรู้ของครูที่เป็นครูพี่เลี้ยงที่กำลังสืบทอดให้กับหนูอยู่” ให้เขาตั้งคำถามมา แล้วก็ให้กลุ่มพวกเขาคัดให้เหลือ 10 เรื่อง จาก 100 เรื่อง เอาเฉพาะคำถามสำคัญ

ถามในการลงพื้นที่สัมภาษณ์ครูภูมิปัญญาของเด็กๆ ครูทำบทบาทอะไร

ตอบบทบาทของผมเป็นตัวเชื่อม แนะนำให้เด็กรู้จักกับปราชญ์ครูอาวุโสครูภูมิปัญญาที่ยังมีชีวิตอยู่ ที่ท่านไม่ได้รำแล้ว แต่ในอดีตท่านเห็นสิ่งเหล่านี้ ท่านเคยรำในอดีต มโนราห์ในอดีตกับปัจจุบันต่างกันอย่างไร เชื่อมให้ฟัง แต่ให้ตัวเด็กเป็นคนอธิบายว่ามาทำอะไรด้วยตัวเองว่าเขาอยากรู้อะไร

ถามมีคำถามอะไรที่เด็กสงสัยเข้ามาปรึกษาเรา ส่วนใหญ่ที่เด็ก ๆ เข้ามาปรึกษาคือเรื่องอะไร

ตอบเด็ก ๆ เขาประสบปัญหาเรื่องที่น้อง ๆ ไม่สามารถนัดรวมกันเป็นกลุ่มได้เนื่องจากไม่ใช่เป็นโรงเรียน เป็นศูนย์ซึ่งอาทิตย์นี้น้องมา อีกอาทิตย์หนึ่งน้องไม่มา ขาดความต่อเนื่องเขาก็จะขอคำปรึกษาว่า ทำอย่างไร ผมเสนอว่าจากที่ทำกิจกรรมต่อเนื่องไป 1 เดือนนั้น “เมื่อนัดน้องมาไม่พร้อมกัน ให้ลูกพูดเหมือนเดิมทำเหมือนเดิมในอาทิตย์ถัดไปกับน้องอีกกลุ่มหนึ่ง” บางทีต้องคอยเสนอแนะให้เขา เพราะเขาจะไม่เข้าใจว่าทำไมนัดแล้วไม่มา ด้วยนิสัยของเด็กเมื่อทำแล้วไม่ตรงตามเป้าหมายที่อยากได้ เขาจะรู้สึกว่าเขาไม่อยากทำ เขาท้อว่า ทำไมความคิดเห็นของเพื่อนคนนี้ไม่เหมือนเขา ผมเป็นตัวประสานให้เขามานั่งพูดคุยกันในกลุ่มแกนนำ บอกเขาว่า ไหนลองคุยกันว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร

ถามครูเป็นตัวประสานช่วยให้เขาเอาปัญหามาคุยกัน

ตอบผมจะมองอยู่ห่าง ๆ เขาจะสอนกันเอง

ถามเวลาที่เด็กมีปัญหาครูมีส่วนช่วยในการไกล่เกลี่ย ครูทำอะไรบ้าง

ตอบผมจะมองก่อนแล้วดูว่าวิธีการควบคุมน้อง ๆ ในโครงการที่เข้ามาในกลุ่มแกนนำ เขาจะทำกับน้อง ๆ อย่างไร จะใช้วิธีการไหนกับน้อง ๆ ถ้าสิ่งไหนที่ผมมองว่า มันเป็นสิ่งที่เราไม่โอเค จะเข้าไปจุดประกายว่า เปลี่ยนได้ไหมลองสอนน้องอีกแบบ ถ้าน้องทำไม่ได้ก็ลองเปลี่ยนให้น้องไปนั่งสมาธิก่อน หรือให้น้องไปทำอะไรก่อน คือต้องคอยดูเพราะว่า ศูนย์โนราห์ เด็กไม่ได้มีแค่เยาวชนรุ่นเดียวกัน ฉะนั้นภาวะจิตของเด็กจะไม่เสมอกัน นี่คือความยากของเขา ผมถือว่าเขาก็ประสบความสำเร็จในการควบคุมน้องตั้งแต่อนุบาลถึงมัธยมให้อยู่ในกรอบที่เขาต้องการตามโครงการได้ เขาจะทำอย่างไรเพราะเด็กอนุบาลสมาธิสั้นว่า เด็กบางคนเป็นกลุ่มเด็ก LD เขาจะทำอย่างไร เพื่อขับเคลื่อนให้น้องอยู่ในกรอบที่เขาต้องการได้ จะคอยนั่งดูและคอยเสนอแนะ มีการตกลงตั้งแต่แรกว่าหลังจากเสร็จกิจกรรมทุกครั้งตามแผนที่วางไว้เมื่อน้อง ๆ กลับไปหมดแล้ว กลุ่มแกนนำจะมานั่งประชุม เขียนสรุปทุกครั้งว่าวันนี้ทำอะไรลงไป เหตุผลทำไมถึงทำกิจกรรมนี้ แล้วผลลัพธ์เป้าหมายคืออะไร แล้วผลลัพธ์ที่ได้ตรงตามเป้าหมายที่เขาได้ไหม เขาจะมาหาครู มาบอกว่าผลลัพธ์ได้ไม่ตรงตามเป้าหมาย ผมถามเพื่อให้กลุ่มแกนนำบอกว่าจะทำอย่างไรให้ผลลัพธ์ได้ตรงเป้าหมาย แนะนำให้ลองวิธีการใหม่ ลองใช้เครื่องมือใหม่

ถามเอาผลลัพธ์มาวิเคราะห์กันด้วยใช่ไหมคะว่าอะไรที่ทำให้สำเร็จอะไรที่ทำให้ไม่สำเร็จ

ตอบใช่ครับ ทุกครั้งจะเก็บเป็นข้อมูล บางครั้งก็เขายังเด็ก ผมมีความรู้สึกว่าความคิดเห็นของเขาไม่ตรงกันพอความคิดเห็นไม่ตรงกัน คนหนึ่งอยากทำอีกคนไม่อยากทำ

ถามเทคนิคเครื่องมือที่ครูชานนท์ใช้ได้ผลกับเด็กคืออะไรคะ

ตอบแอบดู แอบมองห่างๆ ทางหน้าต่างบ้าง ทางราวผ้า หรือทำเป็นแกล้งเดินผ่าน แอบอยู่ในมุมหนึ่งแล้วปล่อยให้เขามีความคิดของตัวเอง แล้วให้เขาทำไปตามอิสระ จะไม่ให้เด็กเห็นว่าผมอยู่ตรงนั้น จะดูว่าเขาจะทำอย่างไรกับน้อง เขาจะเอาพฤติกรรมอะไรใส่ให้น้อง เขาจะใส่อะไรให้น้อง ผมมองว่านอกจากเป้าหมายที่เขาต้องการเดินไปให้ถึงตามแผน เหนือสิ่งอื่นใดคือการลองผิดลองถูกของเขานี่ล่ะที่ทำให้เขาเรียนรู้ และพัฒนาตัวเองขึ้นมามีศักยภาพ

ถามเทคนิคการแอบมองถึงการแอบสังเกตดีกว่าการที่ครูอยู่ตรงนั้นอย่างไร

ตอบเขากล้าที่จะคิดมากกว่า กล้าที่จะทำมากกว่า เพราะเขาจะกังวลถ้าเราอยู่ด้วย เขากังวลว่าถ้าทำลงไปแล้วผิดหรือถูก เด็ก ๆ ในกลุ่มเยาวชนในความเชื่อของผม ตามที่ผมเรียนจิตวิทยามา เด็กเขาจะรู้แค่สีดำกับสีขาว เขายังไม่เข้าใจสีชมพู สีเขียว สีม่วง สีแดง ฉะนั้นผมจะปล่อยให้เขามีอิสระในการเติมแต้มสีอื่น ๆ ลงไป ก็เลยแอบมองให้เขาแต่งแต้มให้เป็นศิลปะที่สวยขึ้น

ถามใช้เทคนิคการสังเกตแอบมองตลอดทุกขั้นตอนเลยใช่ไหมคะ

ตอบใช่ครับ ทุกขั้นตอนไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมที่เขาทำเอง เช่น เวที ผมจะไม่ออกความคิดใด ๆ ทั้งสิ้น ให้เขาลงมือทำกันเอง ทำบอร์ด ทำป้ายเอง ทำเวทีเอง จัดให้ลูกคู่นั่งตรงไหน โนราห์รำออกทางไหน ให้เขาคิดเอง เขาจะทำอาหารอะไรที่จะเลี้ยงกัน เขาคิดกันเองทั้งหมด

ถามลึก ๆ ในขณะที่ครูแอบมอง สังเกต ครูก็ดูการเรียนรู้ของเด็ก ๆ แล้วก็มีแผนการในใจด้วย และสังเกตว่าเขามีปัญหาอะไร พร้อมจะช่วยเหลือด้วยใช่ไหมคะ ขอให้ครูเล่าตอนที่แอบมองเด็กครูคิดอะไรอยู่

ตอบใช่ครับ วิเคราะห์พฤติกรรมของเขา ว่าสิ่งที่เขาทำลงไปบางครั้งอาจมีการใช้อารมณ์ อาจทำให้มองเห็นว่านี่กลุ่มน้องผู้นำคนนี้อาจมีปมบางอย่าง อาจเห็นความรุนแรงมาก็มาเลยมาใช้กับน้อง ก็ต้องคอยห้าม แอบมอง เรียกมาคุย ที่ศูนย์ฯ ผมจะไม่ใช้ความรุนแรง ผู้ปกครองเด็กรู้กันว่าวิธีการ เมื่อควบคุมเด็กไม่ได้เหนือสิ่งอื่นใดต้องมาอยู่ในหน้าที่ของครู ผมใช้วิธีการลงโทษในแบบของผม เช่น การนั่งสมาธิ ผมจะบอกเขาว่านั่งสมาธิก่อน 30 นาที หลังจากนั่งสมาธิเสร็จแล้ว หนูลองคิดดูสิว่าหนูทำอะไรลงไป แล้วหนูลองมาบอกคุณครูสิว่าทำไมหนูถึงทำแบบนั้นลงไป หนูมีเหตุผลอะไร ทำไมหนูควบคุมตัวเองไม่ได้ เปลี่ยนแล้วก็พยายาม เปลี่ยนเขาจากเด็กขโมยของ ขโมยของกันเองก็มี เราก็ต้องเปลี่ยนเขา

ถามวิธีการสังเกต การชวนคิดชวนถาม หรือการสังเกตวิเคราะห์พฤติกรรมแล้วก็คอยช่วยแก้ปัญหา การเปิดพื้นที่ไม่ชี้ถูกผิด ทั้งหมดทั้งมวลที่ครูพูดมา จุดเด่น เทคนิคของครู ครูเรียนรู้อะไรจากการเป็นโคชของครูบ้าง

ตอบผมเรียนรู้อย่างหนึ่งว่าเด็กเขามีความคิดบางอย่าง มีความคิดที่เขาเรียกว่า เหนือจากสิ่งที่เราคาดหวังไว้ด้วยซ้ำ แล้วบางอย่างทำได้ไม่ดีเท่ากับที่เราทำ แต่สิ่งหนึ่งคือเขารู้จักแก้ไขสถานการณ์เปลี่ยนแปลงเขารู้จักวางแผน เขารู้จักที่จะแก้ไข สิ่งที่เขาทำผิด กล้าที่จะคิดกล้าที่จะพูดมากขึ้น อยากฟังคนนี้ไม่กล้าที่จะคุย เขาก็กล้ามากขึ้น

ถามมีปัญหาอุปสรรคในการเป็นโคชของเราที่จะช่วยน้อง ๆ ในการทำโครงการ

ตอบอุปสรรคคือระยะเวลากับโจทย์ เด็กมาจากหลายครอบครัวหลายโรงเรียนหลายปัจจัย ฉะนั้นแล้วบางครั้งการรวมตัวอาจจะมีปัญหา เพราะน้อง ๆ มาจากโรงเรียน มาจากหลายอำเภอ แล้วอำเภอแต่ละอำเภอ เช่น อำเภอท่าชนะกับอำเภอเวียงสระ คือเหนือสุดและใต้สุดของสุราษฎร์ธานี เขาต้องนั่งรถไฟมามาเรียนรู้ มาทำกิจกรรมสิ่งนี้เป็นปัญหาหลักที่ผมเจอ ก็ต้องคอย support ยังดีที่มีหน่วยงานมูลนิธิสยามกัมมาจลให้งบประมาณ การฝึกให้เขารู้จักแบ่งสรรปันส่วนใช้งบประมาณ บางครั้งเขาไม่เข้าใจปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ กลุ่มเบ็ดเตล็ดที่เขาไม่สามารถควบคุมเงินได้ จะแก้ปัญหาอย่างไร เขาต้องรู้จักวิธีการหามาเพิ่มมาเสริมมาใส่ โดยวิธีการที่ใช้ความรู้ของเขา เช่น รำโนราห์เปิดหมวก บอกผู้หลักผู้ใหญ่ ว่าจะทำโครงการนี้ ชวนผู้ใหญ่มีส่วนร่วม ความคิดของเขาอย่างเช่น เขามองว่านี่เป็นความรู้ของชุมชน เขาก็กล้าเขียนหนังสือไปหาเทศบาล ไปหาผู้ว่าฯ มากยิ่งขึ้น กลุ่มแกนนำน้องเค น้องบอม เขาคิดเอง

ผมมองว่าโครงการนี้หลายครั้งไม่ได้ให้แกนนำไปพร้อมกันทั้งหมด เพราะว่าด้วยปัจจัยที่น้อยฉะนั้นกลุ่มแกนนำจะได้ไปแค่คนสองคน กลุ่มแกนนำก็ไปรู้จักคนนี้รู้จักกับผู้ใหญ่ท่านนี้ อีกคนไปรู้จักกับผู้ใหญ่อีกท่าน เขาก็มีการประสานแลกเปลี่ยนขอความรู้จากผู้ใหญ่ท่านอื่น ๆ

ถามครูอยากพัฒนางานการเป็นโคชของครูในส่วนไหนบ้าง เรื่องอะไรที่อยากพัฒนาเพิ่ม

ตอบผมอยากทำจุดเล็ก ๆ ให้แข็งแรง แล้วขยายเป็นวงกว้างไปมากกว่านี้ อยากขยายเครือข่าย เริ่มต้นจากจุดเล็ก ๆ น้องกลุ่มนี้ เอากลุ่มผู้นำไปขยายวงกว้างให้มากขึ้น ให้เป็นโครงข่ายที่เขาได้รับ Mindset เดียวกัน แล้วก็ไปแบบต่อเนื่อง

ถามถ้าตัวเราเองครูอยากพัฒนาในส่วนไหนที่จะพัฒนาศักยภาพ ของการเป็นโคชเป็นครู

ตอบเรื่องจิตวิทยาการอยู่ร่วมกับเด็ก บางครั้งกลุ่มสืบสานมโนราห์บ้านปากลัดเด็กมาจากหลายที่ ฉะนั้นเราก็จะไม่รู้พฤติกรรมของเด็กทั้งหมด หลายครั้งการอบรมไม่มีนักจิตวิทยาที่รู้เรื่องของเด็กมากพอ มาคอย Support กลุ่มครูว่าควรจะทำอย่างไร ผมอาศัยความรู้บางครั้งถามจากอาจารย์ที่เรียน จากมหาวิทยาลัยว่าเด็กมีพฤติกรรมเป็นแบบนี้จะทำอย่างไร ถ้าเกิดไม่ใช่ผมที่จบจากสาขานี้ ครูพี่เลี้ยง หรือโคชอาจต้องมีคนที่เขามีความเข้าใจมากว่า หรือกลุ่มนักพัฒนาที่ทำงานกับเด็กและเข้าใจเด็ก การพัฒนาเด็ก การพัฒนาสังคม มาให้คำปรึกษา โคช ครู พี่เลี้ยงที่อยู่กับเด็ก พี่เลี้ยงจะได้ไม่ทำในสิ่งที่ผิดต่อเด็กไป หรือให้ความรู้ที่ผิดกับเขาไป

ถามโครงการนี้เป็นโครงการแรกที่ครูได้เป็นโคชเป็นครู ครูคิดว่าการเรียนรู้แบบเป็นกระบวนการ โครงงาน โครงการ แตกต่างจากกระบวนการสอนหรือกระบวนการเรียนรู้ในห้องเรียนในโรงเรียนอย่างไร

ตอบแตกต่างมากสิ่งที่ผมซึมซับมาตั้งแต่เด็กจนโต คือการเรียนรู้ในห้องเรียนโรงเรียน พอเราเรียนเราจะต้องฟังครูแต่กระบวนการเรียนรู้นอกห้องเรียนแบบนี้ ครูต้องฟังเด็กแล้วให้ความรู้ในสิ่งที่เขายังไม่รู้ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเขา มีความสำคัญมาก มองว่าวิชาหลาย ๆ วิชา น้อง ๆ สามารถเรียนรู้จากโรงเรียนได้ แต่วิชาการใช้ชีวิตวิชาการอยู่ในสังคมอย่างไรก็เป็นสิ่งที่หลาย ๆ คน ถ้าไม่มีผู้ใหญ่หรือพ่อแม่ หรือบุคคลที่มีความรู้จริง ๆ คอยให้ความรู้ เด็กจะไม่รู้ในเรื่องของการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเขา หรือการใช้ชีวิตอย่างถูกวิธี

ถามมากกว่าความรู้ที่เป็นวิชาการ เป็นความรู้ทักษะชีวิต

ตอบเป็นทักษะชีวิตครับ

ถามครูมีไอเดียในการจัดเก็บข้อมูลเรื่องมโนราห์เพื่อถ่ายทอดอย่างไรบ้าง

ตอบความรู้ในการจัดเก็บมโนราห์ ผมปล่อยให้เขาทำกันเอง ให้เขามาดูว่ามโนราห์แบ่งออกเป็นมโนราห์พิธีกรรมกับมโนราห์รำ การรำมีอะไรบ้างพิธีกรรมมีอะไรบ้าง แล้วก็ให้เขาลำดับ โดยการให้เขาเรียนรู้แล้วจดโน้ต ก็มาดูว่าสิ่งที่เขาจดตรงตามตามความรู้ของครูหรือเปล่า เรื่องมโนราห์อะไรที่ไม่รู้ก็พาเขาไปศึกษา อาจมีครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 ครั้งที่ 4 ครั้งที่ 5 จะพาเขา ผมถือว่า “อยู่ใกล้ได้เห็นเป็นเหมือน” เขาได้ห็นบ่อย ๆ เขาก็จะจำได้ จากที่เขาเห็นบ่อย ๆ ว่าเราลงมือทำ อันนี้ขั้นที่ 1 ขั้นที่ 2 ขั้นที่ 3 ขั้นที่ 4

ถามขอให้ครูเล่าเรื่องตอนที่ครูมีไอเดียเรื่องการต่อยอด ครูให้แกนนำจากพี่ไปสอนน้องครูช่วยเรื่องนี้

ตอบเรื่องการวาง System หรือว่าวางระบบ ผมมองว่าตอนนั้นมีเด็กเข้ามาในโครงการมากขึ้น ถ้าผมคนเดียวสอนจะไม่ทั่วถึง ผมคิดวิธีการว่าจะทำอย่างไรเพราะเด็กเพิ่มขึ้น ฉะนั้นถ้าเราต้องจับเด็กมาสอนทุกคนใส่ใจเขาทุกคนอาจจะไม่ทั่วถึง ผมจึงสอนกลุ่มแกนนำให้เขาเป็น อย่างเช่นมี A1 แล้วก็มี A2 A3 A4 A5 โดยใช้ระบบเดียวกันทั้งหมดไม่เปลี่ยนไปจากระบบนี้

ถามข้อดีของแกนนำที่เป็นพี่สอนน้อง คืออะไรที่ครูมองไว้

ตอบข้อดีของพี่สอนน้องหนึ่งคือประหยัดเวลา ขับเคลื่อนได้เร็วจาก 1 ไป 2 จาก 2 ไป 3 จะขยายเป็นวงกว้าง จะ Motivate ไปเอง รุ่นพี่ก็จะพัฒนาตัวเองด้วยจากการที่เขาได้สอนน้อง

ถามในฐานะที่ครูอยู่ในครอบครัวมโนราห์ ครูคิดว่าเรื่องของมโนราห์จะสามารถพัฒนาชุมชนหรือช่วยเหลือสังคมหรือสร้างคุณค่าให้กับตัวเด็กหรือสังคมอย่างไรบ้าง

ตอบมโนราห์เป็นรากเหง้าทางวัฒนธรรมที่อยู่คู่กับคนในชุมชน ศิลปะวัฒนธรรมอันนี้ หลาย ๆ คน อาจมองแค่ร้องรำ แต่ความเป็นจริงสามารถฝึกแล้วก็เปลี่ยนพฤติกรรมของเขาได้ จากความเชื่อของบรรพบุรุษที่เอามาใส่ไว้ เรียกว่าความเชื่อที่เอามาครอบคลุมไว้ ให้เขาอยู่ในพฤติกรรมของการเป็นคนดี เคารพพ่อแม่ เคารพบรรพบุรุษ เขาจะรู้จักฟังพ่อแม่ปู่ย่าตายายองเขามากขึ้น คือการเอาจุดเด่นของศิลปวัฒนธรรมมาใช้ อันดับแรกเราต้องหาจุดเด่นของศิลปะเรื่องที่เราทำ ว่าจุดเด่นมีอะไรบ้าง ผมเชื่อว่าบนโลกใบนี้ทุกอย่างจะมีความเด่น เรียกว่าเป็นวัฏจักรอยู่แล้ว จะมีข้อเด่นอยู่แล้ว เราหาข้อเด่นออกมากลบข้อเสีย

ถามการเป็นพี่เลี้ยงของครูเป็นเรื่องมีความเป็นองค์รวม คือแตะไปถึงมิติที่เรียกว่าจิตวิญญาณด้วย คุณค่าภายในของเขา แล้วก็ทั้งเรื่องกายเรื่องใจ กายก็เรื่องความเป็นอยู่คุณภาพชีวิต เรื่องใจเขาที่จะมีความมุ่งมั่น ความมีแรงจูงใจที่ใช้ชีวิต ความรู้สึกที่เขาอยู่ด้วยกัน สิ่งที่คุณครูใช้เป็นเทคนิคเฉพาะคุณครูมีแกนสิ่งที่อยู่ในหัวก็คือการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ ให้เขาได้ลองผิดลองถูก บางทีครูก็ถอยตัวเองเป็น Mentor

ตอบใช่ครับ

ถามMentor ให้เขาทำไปเลยแล้วก็มาให้ข้อคิดทีหลัง แล้วสิ่งสำคัญที่คุณครูให้ประเด็นไว้ที่น่าสนใจสำหรับการที่จะหนุนเสริมความเป็นโคชให้ดีขึ้น ก็คือว่าการมีความรู้ทางด้านจิตวิทยาสำหรับเด็กที่จะมาไกด์ให้พี่เลี้ยงได้ทำในสิ่งที่ถูกต้องไม่พาไปผิดทาง ซึ่งครูก็ทำอยู่แล้วในเรื่องของการไม่ใช้ความรุนแรงแล้วก็น่าสนใจที่ใช้การลงเป็นเรื่องของการทำสมาธิค่อย ๆ สอน อันนี้ก็คงมีเบื้องลึกเบื้องหลังเล่นครูเลือกใช้วิธีการแบบนี้ซึ่งไม่ค่อยได้เห็นใครใช้เท่าไร คิดว่านี้สำคัญและจำเป็น พอคุณครูมีความเป็นองค์รวมตรงนี้ ทำให้คิดว่ามโนราห์ก็รับใช้สังคมผ่านศูนย์ฯ ของคุณครูใช้คำนี้ได้

ตอบครับ