ภัศรุต ประเสริฐ : ตามรอย “มโนราห์” เบื้องหลังศิลปะและศรัทธาที่เป็นได้มากกว่าการร่ายรำ

  • เยาวชน อ.เวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี รวมตัวกันทำโครงการเยาวชนสืบสานภูมิปัญญามโนราห์บ้านปากลัด สร้างศูนย์เรียนรู้เพื่อเปิดพื้นที่ให้วัยรุ่นเข้ามาเรียนรำ เล่นดนตรี และประดิษฐ์ชุดมโนราห์ ไปพร้อมๆ กับเดินหน้าออกไปเรียนรู้กับครูภูมิปัญญาในชุมชน
  • เยาวชนที่เข้ามาเรียนรู้จากหลากครอบครัวและโรงเรียน บ้างชอบมโนราห์ บ้างยังเรียนอยู่ บ้างอยากพัฒนาตัวเอง
  • เป็นตัวอย่างการทำโครงการที่เด็กๆ เรียนรู้ผ่านประเด็นวัฒนธรรม ซึ่งกระบวนการทำโครงการนั้นนอกจากได้ฝึกรำมโนราห์ และเรียนรู้เรื่องอื่นๆ เกี่ยวกับมโนราห์ ยังได้พัฒนาทักษะของตนเองอีกด้วย

หากตัวอักษรมีเสียงเชื่อว่าเสียงบรรเลง ‘มโนราห์’ หรือ ‘โนรา’ ที่ดังเป็นจังหวะฮึกเหิมและมีท่วงทำนองกระฉับกระเฉงเร้าใจนี้คงสามารถดึงดูดความสนใจของผู้คนได้แน่ๆ ศิลปะการแสดงชนิดนี้เป็นการละเล่นพื้นเมืองที่นิยมแพร่หลายทางภาคใต้ของไทย

ท่าทางการร่ายรำโนราสง่างามทรงพลังแต่ไม่ทิ้งความอ่อนช้อย ทั้งการวางลำตัวที่ต้อง ‘หน้าเชิด อกแอ่น’ การตั้งวงที่ต้องกางแขนให้ได้ฉาก 90 องศา การดัดนิ้วมือให้โค้งงอ ว่ากันว่าตอนดัดนิ้วถ้านิ้วมือหักลงมาได้ถึงข้อมือจะดีมาก การดัดให้แขนหมุนได้ขณะที่ข้อมือยังตั้งตรง การลงฉากหรือการย่อตัวที่ต้องได้เหลี่ยมเพื่อแสดงถึงรากฐานที่แข็งแรงและมั่นคง เหมือนโขนพระ ยักษ์ ลิง ในการแสดงโขน ขณะรำผู้รำปรับโครงสร้างร่างกายให้ส่วนก้นงอนเล็กน้อยเพื่อให้ช่วงสะเอวแอ่นแลดูสวยงามตามแบบฉบับการรำโนรา นอกจากนี้โนรายังมีจุดเด่นเรื่องเครื่องทรงและเครื่องแต่งกายที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ด้วยชุด ‘เครื่องลูกปัด’ สีฉูดฉาดหลากสี ลายข้าวหลามตัดและลายดอกพิกุล เป็นงานฝีมือที่มีความละเอียดและประณีต ‘เทริด’ (อ่านว่า เซิด) เครื่องประดับศีรษะของตัวนายโรงหรือโนราใหญ่ ลักษณะเป็นมงกุฎอย่างเตี้ย มีกรอบหน้าและมีด้ายมงคลประกอบ

ข้อสันนิษฐานถึงที่มาที่ไปของศิลปะพื้นบ้านมโนราห์มีหลากหลายความเชื่อ บ้างว่าได้รับอิทธิพลจากการร่ายรำของอินเดียโบราณที่เรียกว่า ‘ยาตรา’ หรือ ‘ชาตรา’ ที่เข้ามาทางแหลมมลายูสมัยอาณาจักรศรีวิชัย สังเกตได้จากเครื่องดนตรีประกอบ 5 ชนิด ที่เรียกว่า ‘เบญจสังคีต’ ได้แก่ โหม่ง ฉิ่ง ทับ กลอง และปี่ใน แบบเดียวกับที่ใช้บรรเลงโนรา หรือที่สมัยก่อนเรียกว่า ‘การแสดงชาตรี’

ไม่รู้เหมือนกันว่าคนรุ่นใหม่ปัจจุบันรู้จักมโนราห์ไหมหรือมองมโนราห์อย่างไร จะบอกว่าเป็นอีกหนึ่งวัฒนธรรมการแสดงดั้งเดิมที่ไม่ทันสมัยและน่าเบื่อหรือเปล่า แต่สำหรับเด็กเยาวชนกลุ่มมโนราห์บ้านปากลัด การละเล่นมโนราห์ดึงดูดเด็กเยาวชนในพื้นที่อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี และพื้นที่ใกล้เคียงให้มารวมกลุ่มเรียนรู้ ทั้งรำ ร้อง เล่น และประดิดประดอย จนได้ขึ้นเวทีแสดงจริง เริ่มต้นจากกลุ่มแกนนำที่มีเพียง 8 คน ตอนนี้มีสมาชิกสมัครเข้ามาอย่างเป็นทางการแล้วถึง 400 คน

  • เค – วิชญะ เดชอรุณ
  • บอม – ภัทศรุท ประเสริฐ

เค – วิชญะ เดชอรุณ วัย 15 ปี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนเวียงสระ อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฏร์ธานี บอกว่า คนสมัครเข้ามามีถึง 400 คนจริงๆ เพราะเขารับหน้าที่เป็นเลขาโครงการที่ต้องทำแฟ้มประวัติสมาชิก เป็นคนออกแบบใบสมัคร สอบถามชื่อนามสกุล ที่อยู่ แผนที่บ้าน เบอร์โทรติดต่อ หรือแม้แต่โรคประจำตัวของเด็กและเยาวชนทุกคนที่สมัครเข้ามา เพื่อไม่ให้มีใครตกหล่นจากโครงการ และเพราะมีผู้สนใจเข้ามาเรียนรู้เป็นจำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว ทำให้ต้องขยายพื้นที่ศูนย์การเรียนรู้ออกไปถึง 3 แห่ง ได้แก่ ศูนย์ที่ 1 ศูนย์ปากลัด อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ใช้พื้นที่บริเวณสวนปาล์มของครอบครัว บอม – ภัทศรุท ประเสริฐ อายุ 18 ปี หัวหน้าทีมแกนนำเยาวชนเป็นพื้นที่ศูนย์ฯ ศูนย์ที่ 2 วัดศรีพนมพลาราม อำเภอท่าชน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ติดเขตจังหวัดชุมพร และศูนย์ที่ 3 สำนักสงฆ์เกาะเวียงทอง อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี โครงการที่กำลังพูดถึงอยู่นี้มีชื่อว่า “โครงการเยาวชนสืบสานภูมิปัญญามโนราห์บ้านปากลัด”

มโนราห์ไม่ใช่แค่การร่ายรำ

“เป้าหมายชีวิตของคนแต่ละคนไม่เหมือนกัน การเดินทางในชีวิตของผมได้เรียนได้ทำงานประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งแล้ว บ้านผมเป็นมโนราห์สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ผมอยากกลับมาต่อยอดความเป็นศิลปะของปู่ย่าตายายไม่ให้หายไป” เป็นคำพูดของ ชานนท์ ปรีชาชาญ เด็กหนุ่มวัย 30 ปี ที่รับหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงโครงการให้ กลุ่มเยาวชนมโนราห์บ้านปากลัด

ชานนท์ จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหิดล คณะวิทยาศาสตร์ (วท.บ) เดิมรับราชการเป็นเจ้าหน้าที่ห้องผ่าตัด (OR) และช่วยดูแลเคสให้กับแพทย์ในโรงพยาบาล จะว่าแปลกก็ได้จะว่าไม่ใช่ก็ไม่เชิง ชานนท์ลาออกจากงานประจำตามสายงานที่ได้ร่ำเรียนมาตั้งแต่อายุยังน้อย ออกมาทำธุรกิจส่วนตัวเปิดคณะมโนราห์เป็นของตัวเองชื่อคณะพี่เสือรามจันทร์ น้องสิงห์ศิลป์ชัย จนได้ชื่อว่าเป็นครูภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านมโนราห์คนหนึ่ง ลองนึกดูว่ากว่าจะศึกษาเล่าเรียนจนจบมาใช้เวลาไม่น้อย แต่ชานนท์บอกว่า มโนราห์อยู่ในตัวตนของเขามาตั้งแต่เกิด การตัดสินใจของเขาไม่ได้มีใครคนไหนในครอบครัวบังคับ

“บ้านผมเป็นมโนราห์สองฝ่ายทั้งฝ่ายคุณพ่อและคุณแม่ ฝ่ายคุณพ่อเป็นมโนราห์ที่มีชื่อเสียงในจังหวัดนครศรีธรรมราช หรือที่เรียกว่ามโนราห์วันเฒ่าเมืองนคร ท่านมีศักดิ์เป็นคุณทวดของผม ทางสายของคุณแม่เป็นมโนราห์นาคไกรนรากับมโนราห์อาวร ชัยชาญ หรือบัณฑิตา ถ้านับกันในทางมโนราห์บ้านผมเรียกว่าเลือดบริสุทธิ์ เป็นเลือดมโนราห์ทั้ง 8 ตระกูล เพราะคุณทวดทั้ง 8 คนเป็นมโนราห์ทั้งหมด รุ่นคุณแม่ผมรับราชการครูจบจากวิทยาลัยนาฏศิลป์นครศรีธรรมราช ท่านอยู่กับเรื่องศิลปวัฒนธรรมแบบนี้อยู่แล้ว เมื่อก่อนคุณแม่เปิดศูนย์การเรียนทำกิจกรรมสอนมโนราห์ในโรงเรียนขนาดเล็ก อำเภอบางขัน จังหวัดนครศรีธรรมราช ชื่อว่าโรงเรียนเจริญรัชต์ภาคย์ซึ่งเคยมีชื่อเสียง ผมเห็นสิ่งเหล่านี้มาตลอด”

หากบอกว่ามโนราห์เป็นรากเหง้าทางวัฒนธรรมที่อยู่คู่กับคนทางใต้คงไม่ผิด แต่น้อยคนนักที่จะรับรู้ที่มาที่ไปเว้นแต่ครอบครัวที่มีความเกี่ยวข้องกับโนราทางสายเลือดที่ยังคงไว้ซึ่งความศรัทธา มโนราห์ในแถบลุ่มน้ำตาปีหรือแถบอำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ฯ ซึ่งติดเขตจังหวัดนครศรีธรรมราช มีศิลปะการร่ายรําไม่เหมือนกับการรำมโนราห์แถบสุราษฎร์ธานีตอนบนและไม่เหมือนกับการรำแถบนครศรีธรรมราชตอนล่างรวมถึงพัทลุง แต่มีอัตลักษณ์ดั้งเดิมตามแบบบรรพบุรุษ จุดเด่นเหล่านี้ทำให้เด็กเยาวชนสนใจอยากค้นหาความรู้ ที่สำคัญมโนราห์ไม่ใช่เรื่องของการรำเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องของการบรรเลงดนตรี การเย็บปักชุดเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ เช่น การทำเทริด ทำหน้าพราน การร้อยลูกปัดเป็นเครื่องทรงส่วนต่างๆ เช่น ปิ้งคอ บ่า รอบอก หางหงส์ ปีกเหน่งและหน้าผ้า รวมถึงขั้นตอนการประกอบพิธีกรรม

ศิลปวัฒนธรรมที่หลายคนอาจมองเห็นแค่การร้องรำหรือเป็นแค่การแสดง แต่ครูชานนท์ บอกว่า นอกจากเรื่องการสืบทอดภูมิปัญญาด้านศิลปะวัฒนธรรมแล้ว สุนทรียภาพและมนต์เสน่ห์ของโนรายังเป็นเครื่องมือสร้างการเรียนรู้และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเชิงลบให้เด็กเยาวชนในชุมชนได้ การให้ความเคารพต่อบรรพบุรุษ พ่อแม่และครูบาอาจารย์เป็นแก่นแท้อย่างหนึ่งของมโนราห์ บทกลอนและคำร้อง ล้วนสอดแทรกคำสอน คุณธรรมจริยธรรมและคติธรรมที่ช่วยขัดเกลาจิตใจแก่ทั้งผู้ชมและผู้เรียนรู้การแสดงเอง

กระจายฐานที่มั่น จากหนึ่งเป็นสองจากสองเป็นสาม

การวางระบบการเรียนรู้ในศูนย์ให้มีการส่งต่อความรู้จากรุ่นพี่สู่รุ่นน้องและให้เด็กเยาวชนออกไปเรียนรู้กับครูภูมิปัญญาคนอื่นๆ ที่ยังมีชีวิตอยู่เป็นความตั้งใจตั้งแต่แรกของครูชานนท์

“ผมไม่ได้คาดหวังว่าเด็กๆ จะต้องเป็นมโนราห์หรือว่าเขาจะต้องเป็นนักแสดงที่โดดเด่น แต่เป้าหมายการเปิดศูนย์มโนราห์ของผมคือการส่งต่อภูมิปัญญา ในวันที่ไม่มีครูแล้วรุ่นพี่ที่สามารถสอนรุ่นน้อง แล้วรุ่นน้องไปสอนรุ่นต่อไปได้ ดึงเด็กๆ ให้หันเหจากการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสิ่งที่ให้โทษ”

บอม – ภัทศรุท ประเสริฐ อายุ 18 ปี ซึ่งอยู่ระหว่างเตรียมเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษา เป็นตัวตั้งตัวตีอยากทำโครงการนี้ ตอนนั้นบอมยังเรียนอยู่โรงเรียนเวียงสระ เมื่อรู้ข่าวจึงชักชวนครูชานนท์ให้มาช่วยเป็นพี่เลี้ยงประจำโครงการ

“ตอนแรก ๆ ผมไม่สนใจ ไปเที่ยวงานวัดได้เห็นมโนราห์คณะหนึ่งทำการแสดง ผมเริ่มรู้สึกชอบเพราะเป็นการแสดงที่สร้างบรรรยากาศสนุกไม่เครียด มีมุกตลกและสาระไปพร้อมกัน เมื่อก่อนตอนเด็ก ๆ ที่โรงเรียนผมเคยให้เรียนรำมโนราห์ เว้นช่วงไป 10 กว่าปีมานี้มโนราห์หายไปจากชุมชน ผมอยากให้มโนราห์กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง เพราะบรรพบุรุษผมรำมโนราห์ คุณทวดก็รำมโนราห์ได้แต่หลังจากนั้นมาไม่มีคนสืบต่อ” บอม เล่า

สำหรับกระบวนการเรียนรู้ บอม เล่าว่า การฝึกฝนแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มย่อยตามความสนใจหลักของผู้เรียน ได้แก่ กลุ่มรำ กลุ่มดนตรี และกลุ่มงานประดิษฐ์ เมื่อเรียนรู้ในสิ่งที่อยากรู้จนหนำใจแล้ว พวกเขาสามารถสลับสับเปลี่ยนไปฝึกฝนทักษะในกลุ่มอื่นควบคู่ไปด้วยในเวลาว่าง จากที่วางเป้าหมายรับสมัครเด็กเยาวชนในพื้นที่บ้านปากลัดและชุมชนใกล้เคียงแค่ 20 คน หลังรวมกลุ่มเรียนรู้พวกเขานำภาพบรรยากาศการทำกิจกรรมเผยแพร่ลงเฟสบุคทำจนได้รับการเผยแพร่ไปในวงกว้าง รวมถึงการบอกต่อปากต่อปาก ถึงตอนนี้กลุ่มเยาวชนมโนราห์บ้านปากลัดขยายตัวจนมีสมาชิกเพิ่มถึง 400 คน กระจายออกไปยัง 3 พื้นที่ เพื่อแก้ปัญหาเรื่องการเดินทางของเด็กเยาวชนที่อยู่ห่างไกลออกไป

ครูชานนท์ เล่าถึงแนวคิดที่ต้องขยายศูนย์จาก 1 แห่งเป็น 3 แห่งว่า “เด็กๆ มาจากหลายครอบครัวหลายโรงเรียน หลายอำเภอ ผมเห็นใจเด็กที่เดินทางมาทุกวันเสาร์ จากพื้นที่ไกล ๆ ระยะทางเกือบ 100 กิโลเมตร เช่น อำเภอท่าชนะกับอำเภอเวียงสระตั้งอยู่เหนือสุดและใต้สุดของสุราษฎร์ธานี เด็กต้องนั่งรถไฟมาเรียนรู้ หรือพ่อแม่เด็กขับรถกระบะมากันเป็นกลุ่มนั่งหลังรถตากแดดมา ผมเลยขยายพื้นที่การเรียนรู้เพิ่มแล้วเดินทางไปหาเด็กเอง เพราะมีความปลอดภัยในการเดินทางมากกว่า”

“ศูนย์ทำกิจกรรมทั้ง 3 กลุ่มย่อยพร้อมกันในหนึ่งวัน กลุ่มรำฝึกฝนท่ารำ กลุ่มเครื่องดนตรีฝึกฝนการบรรเลง ซ้อมเดี่ยวบ้างซ้อมกลุ่มบ้างตามความเหมาะสม ส่วนกลุ่มประดิษฐ์เน้นการเย็บปักถักร้อยชุดมโนราห์ด้วยลูกปัดซึ่งมีความละเอียดอยู่ไม่น้อย แต่ไม่ว่าจะเรียนรู้เรื่องอะไรเป็นหลัก ทุกคนจะได้เรียนพื้นฐานความเป็นวงมโนราห์ด้วยกันเพราะทุกส่วนมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน การเรียนรู้ในแต่ละครั้งมีครูชานนท์และรุ่นพี่มาช่วยสอน ผมรับหน้าที่ดูภาพรวม ดูความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการของแต่ละกลุ่ม” บอม อธิบาย

ไม่เพียงแค่การฝึกฝนร่วมกันภายในศูนย์เท่านั้น ครูชานนท์ยังรับบทบาทเป็นตัวเชื่อมแนะนำให้เด็กรู้จักกับครูภูมิปัญญาที่ยังมีชีวิตอยู่ในจังหวัดนครศรีธรรราชและจังหวัดพัทลุง เช่น มโนราห์ชาตรี พระเเสงศิลป์ มโนราห์อำนาจศิลป์ มโนราห์สุรินทร์ เชื้อบ้านเกาะ มโนราห์อรอุมา ศ. มณฑาศิลป์ มโนราห์สมทรง เทพทองศิลป์ และมโนราห์สุวิทย์ หอมกลิ่น ส่วนเด็กๆ เป็นแนวหน้าพูดคุยซักถามสิ่งที่ตนเองสงสัย อยากรู้ และต้องการหาคำตอบ

“ทุกครั้งที่ผมไปแสดงผมจะหาเวลาพาเด็กกลุ่มนี้เข้าไปเรียนรู้ในชุมชนต่างๆ ด้วย เน้นให้เขาพัฒนาความรู้ไม่ใช่มาถึงก็เรียนรำอย่างเดียว ฝึกให้เขารู้จักการซักถามผู้ใหญ่ ตั้งโจทย์กันมาก่อนไปสัมภาษณ์ แล้วก็ให้กลุ่มคัดเลือกคำถามเหลือ 10 เรื่อง จาก 100 เรื่อง เอาเฉพาะคำถามสำคัญ ผมเรียนรู้อย่างหนึ่งว่าเด็กมีความคิดเหนือจากสิ่งที่เราคาดหวังไว้ด้วยซ้ำ บางอย่างถึงทำได้ไม่ดีเท่ากับที่เราทำก็ไม่เป็นไร แต่เขาแก้ไขสถานการณ์ได้ แก้ไขสิ่งที่ทำผิด รู้จักวางแผน กล้าคิดกล้าพูดมากขึ้น

การทำงานในกลุ่มมีการตกลงตั้งแต่แรกว่าหลังจากเสร็จกิจกรรมทุกครั้ง เมื่อน้องๆ กลับบ้านไปหมดแล้ว กลุ่มแกนนำจะมานั่งประชุม เขียนสรุปทุกครั้งว่าวันนี้ทำอะไรไปบ้าง ผลลัพธ์ที่ได้ตรงตามเป้าหมายที่วางไว้ไหม ถ้าไม่ได้เขาจะแก้ไขอย่างไร แนะนำให้ลองวิธีการใหม่ ลองใช้เครื่องมือใหม่ ผมมองว่านอกจากเป้าหมายที่เขาต้องการเดินไปให้ถึงตามแผน เหนือสิ่งอื่นใดคือการลองผิดลองถูกที่ทำให้เขาเรียนรู้ และพัฒนาตัวเอง” ครูชานนท์ กล่าว

คุณค่าของมโนราห์ – สืบสาน ต่อยอด ส่งต่อ

“ครอบครัวผมพ่อแม่เล่นการพนัน ผมอยากหลีกเลี่ยงจากตรงนั้น ผมอยากเข้ามาปรับเปลี่ยนความคิดของตัวเองใหม่ ไม่อยากไปอยู่กับการพนันแล้วเพราะอยากมีอนาคตที่ดี เมื่อเข้ามาอยู่ในโครงการผมประสบความสำเร็จ หลีกเลี่ยงจากการพนันได้ อนาคตผมอยากป็นครูสอนวิชาภาษาอังกฤษแและอยากมีอาชีพมโนราห์ควบคู่ไปด้วย” เค เลขาของกลุ่มกล่าวอย่างมุ่งมั่น

ปัญหาเรื่องการพนัน ยาเสพติด และการทะเลาะวิวาท เป็นโจทย์ที่ท้าทายอย่างหนึ่งสำหรับชุมชนปากลัดแต่มโนราห์หันเหความสนใจทำให้เกิดการรวมกลุ่มอย่างจริงจังและเหนียวแน่นของเด็กและเยาวชนที่พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า “ชีวิตเลือกได้และมีทางเลือกเสมอ”

“ตั้งแต่ทำโครงการมาปัญหาเรื่องการพนันและเด็กยากไร้น้อยลง บางบ้านไม่ให้ความสำคัญเรื่องการเรียนของลูก ทางศูนย์ช่วยกันระดมทุนเพื่อไปช่วยเหลือเด็กตามบ้าน ส่วนเรื่องการพนันเราได้ดึงเด็กกลุ่มเสี่ยงออกมาจากวงพนันตรงนั้น ให้พวกเขามาร่วมเรียนรู้และทำกิจกรรมกับเรา หลังจากนั้นพอเขาเริ่มพัฒนาทักษะของตัวเองได้ดี เราชวนเขาไปออกงานกับคณะมโนราห์บ้านปากลัด เพื่อสร้างรายได้ให้ตัวเอง เขาจะได้มีเงินออมกลับไปให้ครอบครัว เวลาที่ผมไปแสดงมโนราห์ ผมใช้วิธีหมุนเวียนเด็ก ให้เด็กไปครั้งละประมาณ 14 – 20 คน สลับกันไป รายได้ของพวกเขาต่อการแสดงหนึ่งครั้งประมาณ 200 – 400 บาท ในหนึ่งเดือนพวกเขาจะได้ไปประมาณ 2 – 5 งาน ขึ้นอยู่กับเวลาว่างของเด็กและการจ้างงานของผู้ว่าจ้าง ช่วงเทศกาลงานเยอะมาก เด็กมีรายได้ตรงนี้เกือบทุกวัน ผมให้ผู้ปกครองทำสมุดบัญชี ทุกครั้งที่ได้เงินให้นำเงินไปฝากและนำสมุดบัญชีมาให้ผมดู เด็กมีเงินออมหลักพันถึงหลักหมื่น งานส่วนใหญ่ที่ผมชวนเด็ก ๆ ไปจะไม่ให้กระทบกับเรื่องการเรียนของพวกเขา” ครูชานนท์ กล่าว

ชีวิตจริงของเด็กอยากทำอะไรมากมาย นอกจากการไปโรงเรียนหรือการเรียนหนังสือให้เก่ง ครูชานนนท์จึงไม่เคยปิดกั้นการเรียนรู้ ตัวละครเอกในการเล่นมโนราห์ของที่นี่ไม่จำเป็นต้องมีรูปร่างสูงโปร่งหรือต้องหน้าตาดี จะสูง ต่ำ ดำ ขาว หรือรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไรก็สามารถเข้ามาเรียนรู้ร่วมกันได้ เพราะศิลปะการแสดงมีสรรพคุณช่วยพัฒนาศักยภาพและบุคลิกภาพของผู้เรียนให้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นได้

บอม บอกว่า การเข้ามาเรียนรู้ในโครงการสอนให้ยอมรับความต่างและไม่ตัดสินคนอื่นจากภายนอก

“เด็กบางคนร่างใหญ่หรือตัวใหญ่ เราให้เขาลองดู พัฒนาไปเรื่อย ๆ เริ่มจากท่าง่ายก่อน ที่อื่นอาจไม่รับเด็กกลุ่มนี้ แต่ครูชานนท์เปิดโอกาสให้เข้ามา ไม่ได้ให้มาเป็นแค่ตัวตลกในการแสดง แต่เป็นตัวหลัก จากที่เขาไม่เคยมีโอกาส เขาได้แสดงความสามารถของตัวเองออกมาซึ่งเขาก็ทำได้ พอมีงานรำได้แต่งหน้าทำผมแต่งตัวสวยๆ ทุกคนก็ดูดีเหมือนกัน” บอม บอกเล่าจากประสบการณ์

“คุณค่าที่เกิดขึ้น คือ เด็กเป็นที่ยอมรับในสังคมมากขึ้น จากแต่ก่อนผู้ใหญ่อาจมองว่าเด็กไม่สามารถทำอะไรได้ พอศูนย์การเรียนรู้เกิดเป็นรูปธรรม ผู้ใหญ่เห็นว่าเด็กทำงานได้ ประสานงานกับผู้ใหญ่ได้ เช่น ครอบครัวของเด็กในศูนย์คนหนึ่งคุณพ่อเสีย คุณแม่เป็นมะเร็ง น้อง ๆ ในศูนย์ช่วยกันประสาน พม. (กระทรวงการพัฒนาสังคมและสวัสดิการมนุษย์) มาให้ความช่วยเหลือ ทำให้เกิดการยอมรับของคนในชุมชน น้องที่สมาธิสั้น (LD) มาฝึกกับเรา ผู้ปกครองบอกว่าลูกของเขาเปลี่ยนไป จากเด็กที่ใช้อารมณ์กับพ่อแม่ ใช้อารมณ์กับครู กลับพูดจาอ่อนน้อมขึ้น” ครูชานนท์ กล่าว

มโนราห์เป็นสื่อกลางทำให้เด็กเยาวชนได้รับการยอมรับจากผู้ใหญ่ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและทำให้พวกเขามองเห็นคุณค่าและศักยภาพในตัวเอง เค บอกว่า ผลการเรียนของเขาดีขึ้นจากเดิมมาก จากเกรดเฉลี่ยอยู่ที่ 2 กว่า หลังเข้าร่วมโครงการผลการเรียนของเขาดีขึ้นถึงระดับ 3.50 แต่ที่ดีกว่านั้นคือการมีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น

“ก่อนร่วมโครงการ ผมอยู่วงพนันกับพ่อแม่ทั้งคืนได้นอนตอนเช้า เรียนไม่รู้เรื่องเพราะพักผ่อนไม่เพียงพอ อยู่ในครอบครัวแต่ไม่รู้สึกถึงความอบอุ่น ตรงนั้นคือจุดต่ำสุดแล้วในชีวิตผม ตอนนี้สภาพจิตใจผมดีขึ้น ในโครงการมีพี่ๆ น้องๆ ที่สามารถปรึกษาได้ อยู่ร่วมกันแล้วมีความสุข ผมว่าผมมีชีวิตที่สดใสกว่าเดิม เรื่องมโนราห์เป็นสิ่งที่เกินคำบรรยาย ผมรู้สึกตื้นตันมากตอนได้รำ เคยคิดว่ามาอยู่ตรงจุดนี้ได้อย่างไร ทีแรกคิดแค่ว่าโอกาสแบบนี้ไม่ได้มีอยู่เสมอ เราต้องลองทำต้องรับไว้ วัฒนธรรมไทยแขนงนี้เป็นวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่มากสำหรับผม ทั้งดนตรีและท่ารำที่แตกต่างจากวัฒนธรรมอื่น มีอัตลักษณ์เฉพาะของตัวเอง ผมอยากรักษาและส่งต่อศิลปะการแสดงนี้ให้รุ่นน้องต่อไป” เค กล่าวทิ้งท้าย

ครูชานนท์ กล่าวว่า มโนราห์มีความเชื่อเรื่องการนับถือครูโนราและบรรพบุรุษ เรียกว่า ‘ครูหมอโนรา’ หรือเรียกว่า ‘ครูหมอตายาย’ คนทางภาคใต้ส่วนใหญ่มีตายายเป็นโนรา สมัยก่อนคนที่มีความสามารถ เป็นที่เคารพ เป็นคนดี คนเก่ง ต้องสามารถรำโนราได้ ครูหมอโนราจึงถือเป็นเทพศักดิ์สิทธิ์ มีอยู่หลายองค์ เช่น แม่ศรีคงคาหรือแม่ศรีมาลา พ่อเทพสิงหร ขุนพราน ยาพราน พรานบุญ (หน้าทอง) พรานทิพ พรานเทพ พ่อขุนศรัทธา หลวงสุทธิ์ นายแสน หลวงคงวังเวน พระยาโถมน้ำ พระยาลุยไฟ พระยาสายฟ้าฟาด พระยามือเหล็ก พระยามือไฟ และตาหลวงคง เป็นต้น

ครูชานนท์เน้นย้ำเสมอว่า มโนราห์เป็นศิลปวัฒนธรรมที่อยู่คู่ความเชื่อ ดังนั้น ไม่ควรเอาความเชื่ออย่างเดียวมาเป็นบรรทัดฐาน หรือมาชี้นำจนทำให้เกิดความหวาดกลัว

“การที่เรามาทำเรื่องมโนราห์ เรามารักษาภูมิปัญญาและมรดกทางวัฒนธรรมของบรรพบุรุษซึ่งเป็นภูมิปัญญาอย่างหนึ่ง มโนราห์แบ่งออกเป็นมโนราห์พิธีกรรมกับมโนราห์รำหรือเพื่อความบันเทิง สำหรับการร่ายรำแบบพิธีกรรมโรงครูในพิธีกรรมจะมีการเข้าทรงผีบรรพบุรุษ ผมสอนเด็กว่าการทรงเป็นกุศโลบายที่ต้องการให้ผู้สืบทอดหรือลูกหลานระลึกถึงคุณของบรรพบุรุษ ไม่ใช่เรื่องผีสางเพราะถ้าไม่มีบรรพบุรุษก็ไม่มีเรา” ครูชานนท์ กล่าว

เครื่องดนตรีเบญจสังคีตสำหรับบรรเลงมโนราห์ ประกอบด้วย

ทับโนรา (โทนคู่) มีเสียงต่างกันเล็กน้อย โดยมีคนตีเพียงคนเดียว เครื่องตีมีหน้าที่สำคัญในการควบคุมจังหวะ และเป็นตัวนำในการเปลี่ยนจังหวะทำนอง ว่ากันว่าผู้ตีทับที่ดีต้องรู้เชิงของผู้รำ เพราะการเปลี่ยนจังหวะ เปลี่ยนตามจังหวะการรำของผู้รำ ไม่ใช่ผู้รำเปลี่ยนลีลาตามดนตรี ผู้ที่ทำหน้าที่ตีทับจึงต้องนั่งมองเห็นผู้รำตลอดเวลา

กลองทัดขนาดเล็ก (โตกว่ากลองหนังตะลุงเล็กน้อย) ทำหน้าที่เสริมเน้นจังหวะและล้อเสียงทับ

ปี่ เป็นเครื่องเป่าเพียงชิ้นเดียวในวง ปี่มีเพียง 7 รู แต่สามารถกำหนดเสียงได้ถึง 21 เสียง

โหม่ง (ฆ้องคู่) มีเสียงต่างกัน เสียงแหลมเรียกว่า “เสียงโหม้ง” ส่วนเสียงทุ้มเรียกว่า “เสียงโหม่ง”

ฉิ่ง เป็นเครื่องดนตรีเสริมแต่งเน้นจังหวะ การตีฉิ่งมโนราห์แตกต่างจากการกำกับจังหวะของดนตรีไทย
โครงการเยาวชนสืบสานภูมิปัญญามโนราห์บ้านปากลัดเป็นส่วนหนึ่งของ “โครงการพัฒนาศักยภาพเยาวชนบนฐานความรู้สู่การขับเคลื่อนงาน Active Citizen จังหวัดสุราษฎร์ธานี” ดำเนินการโดย ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จ.สุราษฎร์ธานี สนับสนุนโดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และ มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์จำกัด (มหาชน)

อ่านบทความต้นฉบับที่นี่