“ผอ.กองการศึกษา ต.สะเดา” เผยไม่หนักใจร่วมหนุนเด็กเยาวชนได้ดี


“ผอ.กองการศึกษา ต.สะเดา”

เผยไม่หนักใจร่วมหนุนเด็กเยาวชนได้ดี

อุไรรัตน์ จิตต์หาญ (หน่อง) ผู้อำนวยการกองการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม องค์การบริหารส่วนตำบลสะเดา อำเภอบัวเชด จังหวัดสุรินทร์ถือได้ว่าเป็น “นักถักทอชุมชน รุ่นที่ 3” แล้ว สำหรับเจ้าหน้าที่ อปท. จังหวัดสุรินทร์ ที่ได้เข้าร่วมโครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น 4 ภาค ระยะที่ 3 : ขับเคลื่อนกลไกเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนด้วยหลักการจัดการความรู้และกระบวนการวิจัย เพื่อขยายผลสู่อปท.อื่น ในจังหวัดสุรินทร์ สนับสนุนโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เมื่อมาร่วมเรียนรู้ในเวที”การเพิ่มสมรรถนะนักถักทอชุมชน : การจัดการความรู้และการเป็นคุณอำนวย” เมื่อวันที่ 20 – 22 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา มาอ่านเรื่องราวของเธอกว่าจะมาเป็นนักถักทอชุมชน

สถานการณ์เด็กเยาวชน

ตอนนี้จะเป็นปัญหาในเรื่องของยาเสพติด จะเยอะหน่อย พอมีปัญหาเรื่องยาเสพติด พอมีเด็กและเยาวชนบางกลุ่มที่เขาออกกลางคัน เนื่องจากว่าเขาเคยอยู่ในระบบ ดังนั้นเขาจะมีกลุ่มเพื่อนของเขากลุ่มเดิม พอเขาออกมา เขาเข้าไปในโรงเรียนเดิม เพื่อไปชวนเพื่อนของเขาให้ออกมากับเขา แต่ทีนี้เนื่องจากว่าเราเคยเข้าไปติดต่อในเรื่องของเด็กที่พอเขาออกมานอกระบบ ปรากฏว่ามันยังมีชื่อเขาอยู่ในโรงเรียน ตรงนี้เราจึงไปสอบถามกับทางโรงเรียนว่าทำไมเด็กยังมีชื่ออยู่ในโรงเรียน ข้อเท็จจริงคือเด็กอยู่ข้างนอก เด็กไม่ได้เข้าห้องเรียน เขาก็บอกว่าโดยระบบของด้านการจัดการศึกษา การที่จะคัดชื่อเด็กออกเป็นเรื่องยากมาก จะต้องคงชื่อเด็กไว้ก่อน เผื่อจะมีวิธีการดึงเด็กเข้าสู่ระบบได้คืน ดังนั้นตอนนี้จับกลุ่มเด็กนี้ค่ะ เพราะว่าเห็นชัด เด็กเขาออกจากโรงเรียน เขาไม่ได้ไปไหน เขาจะไปอยู่บ้านคน ๆ หนึ่งที่เขารู้สึกว่าไปแล้วเขาไม่ยุ่งยาก ไปแล้วเขาจะทำอะไรก็ได้ คือเราจะเห็นเขาอยู่ตรงนั้น

เคยทำงานเรื่องเด็กมาก่อนไหม

ก่อนหน้านี้ งานเด็กเยาวชน ด้วยงานของพี่ ก่อนที่พี่จะเข้ามารับราชการตรงนี้ พี่เคยทำงานเป็นครูอาสาของ กศน. พอเป็นอย่างนั้น พี่จะเจอคนทุกรุ่นตั้งแต่เด็กจนแก่ ในเรื่องของการจัดการศึกษาให้กับคนในพื้นที่ที่เขาไม่มีโอกาสในด้านการศึกษา เพราะฉะนั้นถามว่าเรื่องเกี่ยวกับเด็กเยาวชนเราได้สัมผัสมาตลอด รวมถึงพอเราเริ่มรับราชการ จากที่ก่อนจะย้ายมาอยู่ที่นี่ ที่ทำงานเดิมเราได้จับงานด้านเด็กเยาวชนด้วย ทำโครงการหลาย ๆ อย่างที่เกี่ยวกับเด็กและเยาวชน ทั้งโครงการต้นกล้าความดี โครงการป้องกันการท้องก่อนวัยอันควร อะไรพวกนี้ ซึ่งเรามองว่าเป็นสิ่งที่ดี และทำให้เราได้รู้ว่าเด็กมีมุมมองแบบนี้นะ ซึ่งบางเรื่องถึงแม้ว่าเราจะเคยผ่านช่วงวัยนั้น แต่ด้วยสภาพแวดล้อม ด้วยยุคสมัยที่มันเปลี่ยนไป บางความคิด ณ วันเวลาของเรา เราไม่มีความคิดตรงนั้นเลย แต่เด็กทุกวันนี้ ทั้งสื่อและอะไร เขามีความคิดแปลกใหม่หลายอย่างที่มาท้าทายเขา ทำให้เห็นปัญหาตรงนั้นด้วย

แรงบันดาลใจให้มาทำกับเด็กนอกระบบ

ง่ายๆ ว่าด้วยความที่เราก็เป็นคุณแม่คนหนึ่ง มีลูกคนหนึ่งเป็นลูกชาย มีช่วงวัยที่ด้วยความที่เราเห็นลูก เห็นพัฒนาการของลูก มีช่วงหนึ่งที่มีประสบการณ์ตรงของเราเอง ลูกเราที่เขาเคยเชื่อฟังเราทุกเรื่อง แล้วอยู่ ๆ ตอน ม.2 เขาบอกว่ามันเป็นช่วงพีคที่สุดของ ม.ต้น ลูกเราก็พีคจริง ๆ จากเด็กที่เคยเหมือนกับว่าทุกวันตามเรา เดินตามเรา ไปไหนก็ตาม แม่ ๆ ๆ กลายเป็นว่าลูกเหมือนขาดการติดต่อกับเรา ไม่ถึงข้ามวันข้ามคืน แต่ระหว่างวันจากที่เขาติดต่อกับเราตลอดเวลา กลายเป็นเขาหายไปเลยช่วงเย็น ณ ช่วงเวลานั้น คนที่เป็นแม่คนจะรู้ว่านี่คือความทุกข์ใจ ก็ตามหาลูกจนไปเจอว่าลูกเราขับมอเตอร์ไซด์มาอยู่ตรงนี้ ๆ ตรงจุดที่เรามองว่าทำไมมาอยู่กับกลุ่มนี้ล่ะ ตรงนี้ ตั้งแต่นั้นมา เราไม่ได้ดุเขานะคะ เพียงแต่ว่าต้องการรู้ความคิดของลูก หลังจากนั้นก็เริ่มมีมุมมองแปลก ๆ จากเดิมที่เรามองในสภาพของเราที่เราเคยเจอมาสมัยก่อน ซึ่งจะไม่เหมือนสมัยนี้ ก็เริ่มปรับมุมมอง ปรับวิธีการว่า เด็กสมัยนี้มันไม่เหมือนสมัยเรานะ

สิ่งที่เราต้องทำคือทำอย่างไรเราจะเข้าถึงว่าลูกคิดอะไรอยู่ ทำไมจู่ ๆ ลูกเปลี่ยนไป เช่นเดียวกันกับเด็กในชุมชนของเรา ซึ่งมองว่าด้วยสังคมเมืองกับสังคมชนบท ถ้าหากว่าคนที่ได้เห็นความแตกต่างจะรู้ว่ามันแตกต่างกันมาก สังคมเมืองจะเป็นแบบหนึ่ง สังคมชนบทจะเป็นอีกแบบหนึ่ง สังคมชนบทเวลาส่วนใหญ่ถ้าลูกเขาทำผิด เขามักจะบอกว่าลูกไม่ได้ผิด อันนี้คือสิ่งที่เราได้ไปสัมผัสเขา คือลูกทำอะไรก็ตามเขาจะมองว่ามันเป็นเรื่องของเด็ก ซึ่งไม่ได้มีการที่จะไปบอกว่าเรื่องของเด็ก แม่กับพ่อมองอะไรอย่างไร เพราะมัวแต่ทำมาหากินด้วยส่วนหนึ่ง ก็เลยอยากทำตรงนี้ อยากให้เด็กที่เราเห็นว่าที่เขามีปัญหาเรื่องตรงนี้ อยากให้เขาได้กลับมาเหมือนลูกเรา มองว่าเขาเหมือนลูกเราค่ะ มองอย่างนั้น เลยอยากทำ

ตอนนี้หลังจากที่ทาง กสศ. ได้มีการแจ้งในเรื่องของเด็กที่มีปัญหาออกกลางคัน มีรายชื่อให้เราเช็คเลยว่ามีหมู่อะไรบ้าง ของตำบลเรามี 12 หมู่ ก็มีข้อมูลชัดเจนว่าเด็กอยู่หมู่ไหนบ้าง เราจึงแบ่งให้น้องแยกรายหมู่เลยค่ะ จากนั้นการลงไปหาเด็กรายคนไม่ใช่เรื่องง่าย สิ่งที่เราต้องรู้ให้มากที่สุดคือเด็กอยู่ในพื้นที่หรือไม่อยู่ บางคนเราไม่รู้หรอกว่าอยู่หรือไม่อยู่ ติดต่อใครง่ายที่สุด คือผู้นำค่ะ ทำหนังสือถึงผู้ใหญ่บ้านเลยแล้วก็วิ่งกัน วิ่งส่งหนังสือเสร็จปุ๊บ เราคุยตรงนั้นเลยกับผู้นำชุมชน “ขออนุญาตนะคะ ตามที่มีรายชื่อดังต่อไปนี้” เราทำอย่างนี้จริง ๆ นะคะ เพื่อความรวดเร็ว ผู้ใหญ่ช่วยดูให้หนูหน่อยค่ะ ผู้ใหญ่รู้จักใครบ้าง ส่วนใหญ่ผู้ใหญ่ในหมู่บ้านในชุมชนเราเขาจะรู้จักทุกครัวเรือนอยู่แล้ว พอท่านดูเสร็จแล้วก็อ๋อ เด็กคนนี้หรือ ตอนนี้ไม่ต้องเป็นห่วงนะ เด็กทำงานอยู่โรงงานแล้ว เขาไม่เรียนก็จริง แต่เขารู้ว่าเขาต้องทำอะไรต่อ แล้วคนนี้ล่ะผู้ใหญ่ อ๋อคนนี้ก็เพิ่งไปเหมือนกัน เขาได้ลิสต์รายชื่อให้เราเลยค่ะ คนนี้ไปเรียน กศน.แล้วนะ แต่คนนี้อยู่ที่บ้าน ยังไม่ยอมไป เราก็เก็บข้อมูลตรงนั้นมา แล้วพอครบทั้งหมดจึงเอากลับมาที่ อบต.ของเรา มาประชุม ประชุมทีมงานของเรา 5 คนที่ลงพื้นที่ นักถักทอ 3 คน และพี่เลี้ยงอีก 2 คน ก็ลงไป ลงไปแล้วมาประชุมกัน มาช่วยกัน เราคิดว่าเราจะจับเอาใครที่ดูแล้วเหมือนจะหนัก ที่เราคิดว่าถ้าจับแล้วจะเกิดผล ถ้าเกิดผลแล้วเชื่อว่าเด็กกลุ่มนี้เขาจะบอกกัน เพราะอะไร โดยส่วนใหญ่เด็กดื้อเขาจะรู้จักเด็กดื้อ อันนี้เป็นธรรมชาติของเด็ก เขาจะรู้จักของเขาว่าเด็กคนนี้นะ อยู่หมู่บ้านนี้ อย่างนี้ เราก็เริ่มทำเริ่มจับ

มีอยู่เคสหนึ่งที่เรามองว่าเขาเป็นปัญหา พอลงไปเขาบอกว่าพี่ไม่ต้องมาหาผม ผมไม่ต้องการให้ช่วย เราก็บอกว่าไม่เป็นไรครับ เดี๋ยวพี่มาใหม่นะครับ คือเราจะเป็นคนที่เฮฮาอยู่แล้ว ไม่เป็นไรลูก เดี๋ยวพี่มาใหม่นะ พี่ไม่ไปไหน พี่อยู่ อบต.นี่ล่ะ เดี๋ยวพี่มาใหม่นะ รอให้หนูพร้อม เราก็ออกมาก่อน ถอยๆๆ อะไรแบบนี้ เพราะว่าเด็กเขามีเรื่องยาเสพติดด้วยค่ะ เราจึงคิดว่าจะทำอย่างไร เวลาเราเข้าไปเราต้องปลอดภัยด้วย แต่ก็ท้าทาย

บทบาทของพี่เลี้ยงคืออะไร

เรื่องบทบาทตรงนี้คิดว่าตัวเองเข้าใจนะคะ ด้วยการจะเป็นนักถักทอชุมชนหรือเป็นพี่เลี้ยงเข้าไป หลัก ๆ เรารู้แล้วว่าเราต้องทำอะไรให้กับเด็ก ทำอย่างไรให้เด็กกลับมาเดินทางที่ถูกต้อง ถูกต้องนี้ไม่ใช่หมายความว่าต้องถูกต้อง 100% หรืออะไร เพียงแต่ว่าทำอย่างไรให้เขากลับมาเดินในเส้นทางที่เขาสามารถที่จะสร้างความมั่นคงให้กับตัวเขาได้

ซึ่งจากที่เรามอง เรามองว่าเด็กทุกคนจะมีช่วงวัยของเขา บางทีมันจะมีความคิดที่แตกต่างผิดเพี้ยนออกไป ถ้าหากว่าเขาจมอยู่กับความคิดตรงนั้น เขาอาจจะเป๋ไปบ้าง เป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าเขามีความคิดผิดเพี้ยน แล้วเขาเจอกลุ่มคนที่สามารถรับฟังเขา และนำเขา หรืออะไรก็ตามที่ช่วยให้เขาเปลี่ยนมุมมองได้ จะเป็นสิ่งที่ดี เชื่อว่าตัวเองเข้าใจหน้าที่ที่เราจะไป ว่าต้องไปทำอะไรกับเด็กกลุ่มนั้น

แน่นอนที่สุดคือย้ำกับน้อง ๆ เสมอ กับทีมงานว่าห้ามซ้ำเติมเด็ก ไม่ต้องไปตอกย้ำว่าทำไมถึงอยากออกมาอยู่ข้างนอกโรงเรียน ทำไม ๆ เพราะบางครั้งคำถามพวกนี้บางทีเด็กไม่ได้อยากตอบ เพราะเด็กแต่ละคนมีเหตุผลไม่เหมือนกัน เด็กบางคนไม่กล้าตอบด้วยซ้ำไปว่าเป็นเพราะคุณครูหรืออะไร เพราะกลัวจะย้อนกลับไปหาคุณครูของเขา อันนี้เราเข้าใจเด็กนะคะ ส่วนใหญ่จึงจะไม่ค่อยถาม เอาแค่ว่าหนูอยากทำอะไร อยากอยู่ที่บ้านเราหรืออยากไปอยู่ที่อื่น หรืออย่างไร ส่วนใหญ่ถามอย่างนี้เขาจะบอก ว่าหนูอยากอยู่ที่บ้าน อยากทำอะไรที่อยากทำ

มีตัวอย่างเด็กคนหนึ่ง น้องผู้หญิงบอกว่าเขาอยากเรียนทำขนม เด็กคนนี้ออกเรียนตอน ม.1 เนื่องจากงานวันเด็กแห่งชาติที่ อบต.เราจัด แล้วเขาได้ไปรู้จักกับผู้ชายกลุ่มหนึ่งแล้วเขาเหมือนกับว่าเขาไปพึงพอใจกัน หลังจากจัดงานวันเด็ก เด็กก็หายไปเลย หายออกไปเลย เสร็จปุ๊บตอนแรกเราไม่รู้ว่าเด็กหายไปตั้งแต่งานวันเด็ก ผู้ปกครองของเด็กมาตามที่ อบต.แล้วมาถาม ผอ.กองการศึกษา เราก็ถามว่ามีอะไรคะคุณตา เขาบอกว่าหลานหายไปตั้งแต่งานวันเด็ก ถามว่าทำไมมาหากับหนูล่ะ เขาบอกว่าหลานหายไปในงานวันเด็ก ผอ.ต้องรู้ว่าหลานเขาหายไปไหน ซึ่งกลายเป็นเรื่อง โยงมาหาเราโดยอัตโนมัติ เท่านั้นล่ะค่ะ เราตามเลย

มีคนบอกว่าเห็นเด็กตามไปกับคนที่ทำเวทีที่เราจ้างมา วันนั้นพี่ก็ตามทันทีเลย ตามไปที่เจ้าของเวทีเครื่องเสียง กลายเป็นเด็กไปอยู่ที่นั่นจริง ๆ พี่ก็ว่าตายแล้ว ทำไมน้าไม่แจ้งหนูว่ามีเหตุการณ์แบบนี้ เขาถามว่าทำอย่างไรดีครับ เราเลยบอกว่าตอนนี้ทางผู้ปกครองเด็กแจ้งความเรียบร้อยแล้วนะ น้ารีบพาหลานน้ามาเคลียร์ที่นี่ด่วนเลยค่ะ เพราะตอนนี้หนูก็เสียหายด้วย อันนี้เรื่องจริงนะคะ ทุกวันนี้เด็ก 2 คนนี้แต่งงานกันในวัยที่เด็กอายุแค่ 14 - 15 ปี เขาแต่งงานกัน แล้วเขาออกเรียนเลย เราเลยคิดว่าเคสเด็กคนนี้น่าสนใจ พี่เลยเข้าไป ด้วยความที่เราได้ติดตามเขาตั้งแต่แรก ถามว่าจำพี่ได้ไหมลูก เขาบอกว่าจำไม่ได้ พี่ที่จัดงานวันเด็กไงคะ เขาก็อ๋อ เขาเริ่มคุ้นแล้ว ตอนนี้ทำอะไรอยู่ลูก เขาบอกว่าเขาเลี้ยงวัวเลี้ยงควายอยู่บ้าน ช่วยยายดูน้อง เนื่องจากว่าไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ อยู่กับตายาย พอถึงเวลาเย็นก็ไปรับน้องจากโรงเรียน ถามว่าแล้วคิดไหมว่าลูกต้องออกจากโรงเรียนมา ลูกอยากเรียนต่อไหม ไม่อยากเรียนแล้วค่ะ แล้วคิดว่าหลังจากนี้จะทำอะไร ตอนนี้ลูกอาจอยู่ตรงนี้ได้เพราะไม่ต้องใช้เงินอะไรมาก แล้วหลังจากนี้ล่ะลูก เขาบอกว่าพี่ หนูอยากทำขนมขาย แต่หนูไม่รู้เลยว่าจะทำอย่างไร เราก็อ๋อ อยากทำขนมหรือลูก เราให้เขากรอกแบบตามที่เคยให้ไปตอนนั้น เขาเขียนว่าเขาอยากเรียนทำขนม เขาอยากทำขนมอะไรก็ได้ เล็กๆ น้อยๆ ทำขาย 5 บาท 10 บาทในหมู่บ้าน เคสนี้น่าสนใจ เขาดีนะคะ เหมือนเขาแต่งงานแล้วเขามีความเป็นผู้ใหญ่ขึ้น อันนี้ก็เคสหนึ่ง

อีกเคสหนึ่งที่เราเคยเจอคือน้องผู้ชาย เราสนิทกับพ่อแม่เด็ก เขาขายอาหารรถพ่วง ประมาณช่วงบ่าย ๆ จะออกขาย แล้วทีนี้เด็กมีปัญหาเรื่องยาเสพติด ตอนนี้อยู่ในระหว่างการขึ้นโรงขึ้นศาล แล้วก็ออกจากโรงเรียนเลยค่ะ เขาไปเสพยากับเพื่อน เสพในจุดที่ไม่ได้ห่างจากบ้านพ่อแม่เยอะ แต่เป็นแหล่งที่เราจะไม่ค่อยกล้าเข้าไปกัน เพราะว่าเด็กกลุ่มนี้จะก้าวร้าวนิดหนึ่ง เด็กคนนี้เราใช้วิธีให้พ่อแม่เข้าไปช่วยคุยกับลูกหน่อยได้ไหม ป้าหน่องอยากให้เขากลับเข้ามา ไม่จำเป็นต้องในระบบนะ ป้าหน่องอยากให้เขากลับเข้ามาสู่การศึกษา วิธีการใดก็ได้ ให้เขาบอกว่าเขาต้องการแบบไหน เราก็ตะล่อมพ่อกับแม่เขา ซึ่งพ่อกับแม่เขายังบังคับลูกไม่ค่อยได้ ก็จะใช้วิธีนี้

รู้สึกอย่างไรกับบทบาทพี่เลี้ยงเยาวชน หนักไปไหม

ถามว่ารู้สึกหนักไหม แรก ๆ ก็รู้สึกนะ เราทุกข์เพราะอะไร งานของเรามีนโยบายใหม่ ๆ มาเยอะ ตัวเองมองว่าบางงานไม่ใช่งานเราเลย ทำไมเราต้องมาทำ แต่พอเราลงไปเห็น บางทีเด็ก ๆ ที่เขาเข้ามาคุยกับเรา เขามาพูดเล่น เรารู้สึกว่าเด็ก ๆ ก็น่ารักดีนะ บ้าๆ บอๆ ไป ทำให้มีความสุข อีกมุมหนึ่ง พอเราได้ไปเห็นเขา กลายเป็นความสงสารมากกว่า ไม่ได้เป็นความรู้สึกว่าหนักอกหนักใจ สงสาร คือต้องยอมรับว่าพ่อแม่ผู้ปกครองเด็กในชุมชนชนบท ส่วนใหญ่เด็กไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ เด็กอยู่กับปู่ย่าตายาย ถามว่าปู่ย่าตายาย การเลี้ยงดูลูกหลาน เขาเลี้ยงจริง ๆ ไหม เข้าใจคำว่าเลี้ยงไหม เลี้ยงแต่ไม่ค่อยได้สอน ไม่ได้บอกวิธีการที่ถูกต้อง คือท่านจะเลี้ยงเพราะนี่คือหลานของท่าน แค่นี้

พอเราได้สัมผัสตรงนั้น ไม่ใช่ความรู้สึกหนักใจ รู้สึกเหมือนเราได้ทำบุญนะ ได้ช่วยลูกช่วยหลาน คือทุกคนเหมือนลูกเราหมดเลย ในชุมชนนะคะ เพราะว่าลูกเราโตกว่าเขา เราเลยมองเขาเหมือนเป็นลูกเราคนหนึ่ง จะมีความรู้สึกว่าเวลาที่เห็นเด็ก ๆ เขาโดนผู้ใหญ่ตำหนิ จะเป็นคนที่คล้าย ๆ เพื่อนของน้องที่เขาตอนไปฝึกงาน จะรับไม่ค่อยได้ จะไม่ชอบให้ใครไปตำหนิเขา

เพราะโดยส่วนใหญ่ ผู้ใหญ่มักเอาเหตุผลของผู้ใหญ่ไปตัดสินเหตุผลของเด็ก ด้วยความที่เราเลี้ยงลูกเหมือนเพื่อน เราจะไม่เอาเหตุผลของเรา เราจะเอาเหตุผลของลูกมาก่อนว่าสิ่งที่เขาทำ เขาคิดอะไร คือเหตุผลของเรา เรามี เพราะเราผ่านประสบการณ์มาก่อน แต่กับลูก อย่าลืมว่าลูกยังไม่มีประสบการณ์ด้านนั้น เด็กพวกนี้ก็เหมือนกัน เขาไม่เคยมีประสบการณ์ด้านนั้นมาก่อน ดังนั้นสิ่งที่เขาทำ เขาทำตามเหตุผลของเขา เราเข้าไปเราต้องไปฟังว่าเขาคิดอะไรอยู่ เหตุผลอะไร หนูถึงคิดอย่างนั้น ทำแบบนั้น มากกว่า ก็เลยไม่หนักใจ แต่ชอบ

การอบรมนี้ มีสิ่งใดนำไปใช้ประโยชน์ได้บ้าง

ชอบเรื่องการจับประเด็น ด้วยความที่ว่าเราลงไปคุยกับเด็ก เราคุยโดยที่เราไม่ได้คิดจะจับประเด็น คุยเพื่อให้เด็กผ่อนคลายมากกว่า คุยเล่น คุยนั้นคุยนี่เพื่อสร้างความคุ้นเคยกับเด็กโดยไม่ได้จับอะไรเลย พอมาถามอีกทีว่าเมื่อกี้เราคุยอะไรกับเด็กบ้าง ปรากฏว่าลืมไปเลย เพราะมัวแต่ฟัง มัวแต่คุยกัน ไม่ได้จดบันทึก มีน้อยมาก คือเวลาพวกเราออกไปจะไม่ค่อยได้จดบันทึก เนื่องจากว่าจำนวนเด็กที่เราลงไปมีหลายราย ต้องทำเวลา เนื่องจากว่าเราไม่ได้มีงานนี้งานเดียว เรามีงานในหน้าที่ความรับผิดชอบของเราด้วย เรื่องการจับประเด็นนี้ดีมากเพราะถ้าเราจับประเด็นได้จะเดินต่อได้ แต่สำคัญที่เราไม่ได้จับ เราไม่รู้เลยว่าเราจะไปตรงไหนต่อ

สิ่งที่อยากได้เสริมเพิ่มเติม

อยากได้ทักษะในเรื่องของเด็กพิเศษ ทุกพื้นที่มีหมดนะคะ ในกรณีของเด็กพิเศษที่ไม่ได้อยู่ในระบบเลย เนื่องจากว่าผู้ปกครองตามชนบทมักไม่อยากทำกับเด็กพิเศษ เพราะมองเขาเป็นภาระ พอผู้ปกครองเขารู้ว่าลูกเขาไม่เหมือนใครก็ไม่อยากให้ลูกเข้าสู่ระบบ เขามองว่าจะเข้าไปเป็นภาระ เราอยากให้ว่า ไหน ๆ กสศ.ก็ทำตรงนี้แล้ว ให้มีกลุ่มที่ประสบความสำเร็จของเด็กพิเศษมาสร้างพลังให้นักถักทอ ถ้าคุณลงไปในพื้นที่แล้วเจอเด็กเหล่านี้ สิ่งที่พี่สร้างแรงบันดาลใจให้เด็กพิเศษ หรืออะไรก็ตามที่สามารถดึงศักยภาพของเขาออกมาได้ ควรทำอย่างไร พี่มองว่ากลุ่มเด็กพิเศษเป็นกลุ่มที่ Bright แต่ส่วนใหญ่เราเห็นแล้วเราเลี่ยงก่อนเลยเพราะเกรงว่าจะเป็นภาระ ของทีมเด็กพี่ตอนนี้ เคสที่พี่ให้ทำ พี่ให้คุณครูทำ ด้วยความที่ว่าเรามีหลานที่เป็นเด็กพิเศษ พอเราลงไปที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก แป๊ปเดียวเรามองออกแล้วว่าเขาเป็นแอลดีหรือสมาธิสั้น แล้วตอนนี้เรามีเด็กที่อยู่ในข่ายของสมาธิสั้นของศูนย์เด็กของเรา 4 คน ช่วงนี้อยู่ระหว่างการส่งพบหมอ เพื่อประเมินอาการ พี่ให้ครูจับเคสนี้เป็นเคสวิจัยในชั้นเรียน เพราะทุกสิ่งทุกอย่างเขาจะแตกต่างจากเด็กทั่วไปหมดเลย พี่ให้เขาจับตรงนี้เพื่อให้เป็นผลงานของครูเขาด้วย และมีการรายงาน หลังจากพบหมอเสร็จต้องรายงานว่าหมอพูดว่าอะไร อย่างไร จะเริ่มให้ยาเมื่อไหร่ #

พอเราได้สัมผัสตรงนั้น

ไม่ใช่ความรู้สึกหนักใจ 

รู้สึกเหมือนเราได้ทำบุญนะ

ได้ช่วยลูกช่วยหลาน

คือทุกคนเหมือนลูกเราหมดเลยในชุมชน


ติดตามชมกิจกรรมในเวทีได้ที่นี่