นักพัฒน์ฯ อบต.ชุมแสง” เผยแนวคิดเชิงบวกพัฒนาเด็กเยาวชน


นักพัฒน์ฯ อบต.ชุมแสง”

เผยแนวคิดเชิงบวกพัฒนาเด็กเยาวชน

นายราชภูมิ ฉิมพลี (โอ๋) นักพัฒนาชุมชน อบต.ชุมแสง อ.จอมพระ จ.สุรินทร์ ถือได้ว่าเป็น “นักถักทอชุมชน รุ่นที่ 3” แล้ว สำหรับเจ้าหน้าที่ อปท. จังหวัดสุรินทร์ ที่ได้เข้าร่วมโครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น 4 ภาค ระยะที่ 3 : ขับเคลื่อนกลไกเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนด้วยหลักการจัดการความรู้และกระบวนการวิจัย เพื่อขยายผลสู่อปท.อื่น ในจังหวัดสุรินทร์ สนับสนุนโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เมื่อมาร่วมเรียนรู้ในเวที”การเพิ่มสมรรถนะนักถักทอชุมชน : การจัดการความรู้และการเป็นคุณอำนวย” เมื่อวันที่ 20 – 22 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา มาอ่านเรื่องราวของนักพัฒนาชุมชนท่านนี้กันว่ามีแนวคิดในการพัฒนาเด็กและเยาวชนในตำบลของตนเองอย่างไรบ้าง

แนะนำตัวเอง

เมื่อก่อนผมทำงานที่กรุงเทพฯ และผมกลับบ้านมาบวชเป็นพระให้แม่ เพราะแม่อยากให้บวช ขณะบวชผมเรียนไปด้วยที่มหาวิทยาลัยสงฆ์ที่สุรินทร์ มจร. (มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย) เรียนคณะรัฐศาสตร์เอกการปกครอง หลังจากที่จบมา ผมเองอยากนำความรู้ที่เรียนมาไปทำงานหรือไปช่วยเหลือสังคม พอดีกับตอนนั้นท้องถิ่นเขาเปิดสอบเกี่ยวกับพนักงานของตำบล ผมไปสมัคร ตอนแรกจะสมัครนักวิเคราะห์ แต่หาหนังสืออ่านสอบไม่ได้ และไม่เข้าใจว่านักวิเคราะห์เขาทำงานอะไร จึงเล็งเห็นว่านักพัฒนาชุมชนของเราเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถช่วยเหลือชุมชนสังคมได้ ผมจึงสมัครตำแหน่งนี้ หลังจากที่สมัครแล้วก็พยายามเอาให้ได้คือตั้งใจอ่านหนังสือ วันหนึ่งก็หลายชั่วโมง 7 – 8 ชั่วโมงต่อวัน และมีการไปติวบ้าง และหาแหล่งความรู้อื่นทางเฟสบุ๊ค เข้ากลุ่มนักพัฒนาชุมชนในเฟสบุ๊คประมาณ 2 – 3 กลุ่ม ก็สอบได้รอบแรก จึงได้เป็นนักพัฒนาชุมชน

เป้าหมายสูงสุดในชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว

อยากได้ตำแหน่งที่สูงขึ้น มีเงินเดือนที่มากขึ้น และอยากช่วยเหลือสังคมให้มากขึ้นกว่านี้ครับ ส่วนเป้าหมายสูงสุดของชีวิตคืออยากทำชีวิตครอบครัวให้ดีขึ้น และนอกจากงานหลักที่เป็นงานราชการแล้วก็อยากทำงานเกษตร ตอนนี้ปลูกสวนป่าอยู่

หน้าที่การทำงานในปัจจุบัน

หลังจากที่ผมจบมา ผมมาสอบท้องถิ่น ปี 60 ตอนที่เขาให้สอบเข้ามาบรรจุ พอดีสอบได้ตำแหน่งนักพัฒนาชุมชน และอยู่ภายใต้การดูแลของหัวหน้าสำนักฯ งานแรกที่ให้จับคืองานเด็กและเยาวชน เป็นช่วงที่มีการจัดตั้งสภาเด็กและเยาวชน เป็นงานแรกที่ผมได้มาจับ ตอนนั้นยังไม่รู้จักเด็กเท่าไหร่ ก็อาศัยพี่ ๆ น้อง ๆ ที่ทำงานใน อบต.เดียวกัน คือเขาจะเป็นหัวโจก เป็นผู้นำเยาวชนในแต่ละหมู่บ้าน ผมจึงเห็นช่องทาง อาศัยพี่เหล่านั้น ดึงผมเข้าไปสู่ชุมชน เข้าไปแนะนำตัวกับเด็ก ๆ แรก ๆ ก็มีการทำโครงการของพัฒนาสังคมจังหวัด (พมจ.) ตอนนั้นเป็นโครงการละ 2 หมื่นบาท โครงการที่ทำตอนแรกเป็นโครงการพัฒนาศักยภาพของสภาเด็กและเยาวชน เป็นโครงการตามกรอบงบประมาณ

สิ่งที่ผมเล็งเห็นในตอนนั้นคือการที่เราชักชวนเด็กเข้ามาทำกิจกรรม มีกลุ่มของเด็กที่เขาทำจริง ๆ กับกลุ่มของเด็กที่ไม่ได้ทำ ถึงจะมีสภาเด็กและเยาวชนก็จริง แต่มีคนที่ร่วมกิจกรรมจริง ๆ จัง ๆ แค่ไม่กี่คน เฉพาะหัวหน้า ประธานสภาเด็ก หรือรอง หรือเลขา นะครับ ส่วนคนอื่น ๆ ที่อยู่ในกลุ่ม เหมือนว่าทั้งตัวผมเองและตัวเด็กเองยังเข้าไม่ถึงสมาชิกคนอื่น ๆ ไม่สามารถที่จะทำให้เขามามีส่วนร่วมกับเราได้

ความรู้สึกแรกของการมาทำงานเยาวชน

รู้สึกหนักใจเพราะว่าโดยพื้นฐานส่วนตัวของผมเป็นคนขี้อายและมีโลกส่วนตัวสูง การที่ผมจะเข้าไปหาเด็ก ต้องปรับตัวนิดหนึ่ง พยายามพูดคุย คือตอนแรกเราต้องหาผู้ช่วย หาคนช่วยเรา ได้อาศัยว่ามันมีข้อดีที่ อบต.ของผม เพื่อน ๆ ร่วมงานที่ทำงานอยู่ด้วยกัน เขาช่วยเหลือกัน ผมเลยนำเรื่องนี้ไปปรึกษากับพี่ ๆ น้อง ๆ ที่เขาทำงานที่ อบต. เขาจึงยื่นมือเข้ามาช่วย ช่วยพูด ช่วยพาผมเข้าไปหาเด็ก

โจทย์แรกที่เราได้รับในการทำงานเด็กมีเป้าหมายคืออะไร

เป้าหมายตอนแรกคือทำโครงการสภาเด็กที่เป็นโครงการของ พมจ. ทำโครงการและนัดประชุม นัดเด็กมาร่วมโครงการและทำกิจกรรมเกี่ยวกับเด็ก เป็นโครงการพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชน ก่อนหน้าที่ผมมาทำตรงนี้มีโครงการนี้มาก่อน เป็นโครงการที่อยู่ในแผนทั้งของ อบต.ด้วย แผนของ พมจ.ด้วย ที่เขาจัดตั้งมาอยู่เดิมแล้วครับ ก่อนหน้าที่ผมจะมาอยู่ ตอนที่หัวหน้าสำนักของผม ตอนที่เขาทำ ตอนแรก ตอนที่ภาระยังไม่มาก ตอนนั้นหัวหน้าสำนักผมเขาเป็นนักพัฒนาชุมชนมาก่อน พาเด็กทำกิจกรรม พาเด็กไปร่วมกิจกรรมกับวัด กับชุมชน ตอนนั้นเข้มแข็งมาก ตัวประธานสภาเด็กเอง และตัวสมาชิกเอง เขาทำโครงการแล้วไปรับทุนจากที่ต่าง ๆ จาก สสส.บ้าง จากอะไรบ้างอีก เพื่อมาประกอบอาชีพ ตอนนั้นรู้สึกว่าสภาเด็กของผมเข้มแข็งมาก แต่หลังจากนั้นที่ตัวหัวหน้าประธานเขาหมดวาระ ต่อมาไม่มีคนสานต่อ น้องๆ ที่เป็นรุ่นต่อๆ มาเขาไม่ได้ทำต่อ มันขาดการสืบเนื่อง ขาดการต่อเนื่อง

สำหรับปัจจุบัน ตอนที่ผมมาดูแลเรื่องสภาเด็ก เป็นเวลา 1 ปีกว่า ๆ หลังจากที่ได้บรรจุมา ตอนนี้ตัวสภาเด็กเขามีสถานการณ์ที่ยังไม่ดีขึ้น เพราะสืบเนื่องด้วยทั้งตัวผมเอง และตัวประธานสภาเด็กเอง เราไม่ค่อยได้ทำกิจกรรมร่วมกันเท่าไหร่ เหตุผลว่าตัวสภาเด็ก มีทั้งเด็กนอกระบบ เด็ก กศน. และเด็กในระบบด้วย เวลาผมนัดทำอะไรกัน บางทีเด็ก ๆ เขาไม่ว่าง และบางทีที่ผมพาประธานสภาเด็กไปทำงานด้วย ไปทำกิจกรรมด้วย ตัวประธานเองเขามีภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบครอบครัวเขา ต้องทำงาน บางทีเขาต้องไปทำงานต่างจังหวัดหลาย ๆ เดือนก็มี ทำให้ขาดความต่อเนื่อง

ความฝันต่อการทำงานเด็กเยาวชน

แรงบันดาลใจของผมคือผมเป็นคนชอบช่วยเหลือคนอยู่แล้ว เพราะผมเล็งเห็นปัญหาว่าอนาคตของชุมชนที่อยู่ในตำบลของผม ถ้าตัวเด็ก ๆ เอง เขามีส่วนร่วมในการช่วยเหลือกิจกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นงานของ อบต.เอง หรืองานของชุมชนเอง ถ้าผู้ใหญ่เขาเปิดโอกาสให้เด็กเข้ามามีส่วนร่วมเยอะกว่านี้ ผมคิดว่ามันจะดีมาก แนวคิดตรงนี้ผมเห็นของ อบต.หนองสนิทที่เขาทำได้ แล้วพอผมรู้จักนักพัฒนาที่นั่น ผมไปคลุกคลีและสอบถาม เพราะว่าผมเห็นงานกู้ชีพก็ดี เขามี จิตอาสาที่เป็นเด็กทั้งหมดเลย และเวลามีกิจกรรมต่างๆ เขาสามารถพาเด็กมาช่วยงานของ อบต.ได้เยอะ ทำให้งานที่เขาทำมีความง่าย ความราบรื่น ผมเองอยากให้เป็นแบบนั้นเหมือนกัน

การเข้าร่วมเป็นนักถักทอชุมชน

ตอนนั้นผมยังไม่ทราบว่ามีโครงการนี้นะครับ ท่านปลัด ท่านนายกฯ ท่านมาประชุมเกี่ยวกับโครงการนี้ก่อนแล้วท่านได้คัดเลือกว่าคนที่จะเข้ามาทำงานในหน้าที่นี้ก็จะมีผม นักพัฒนาชุมชน มีน้องนักวิชาการศึกษา และน้องนิติกร จึงได้เข้ามาเป็น

และตอนนั้นผมอยากรู้เหมือนกันว่านักถักทอเขาเป็นอย่างไรบ้าง ผมก็พยายามค้นหาในอินเทอร์เน็ตบ้าง ดูยูทูปบ้าง ก็ได้ไปเห็นของเทศบาลเมืองแกที่เขามีนักถักทอรุ่นแรก ผมเข้าไปดูว่าใช่ เป็นสิ่งดี เพราะว่าผลงานของเมืองแกตอนนั้นโดดเด่นมาก ที่ผมดูในยูทูป ตามความเข้าใจของผม ผมเข้าใจว่านักถักทอชุมชนเองเป็นคนเข้าไปเชื่อมโยงกลุ่มคนที่อยู่ในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นของหน่วยงานภาครัฐเอง ของตัวเด็กเอง ของตัวผู้ปกครองเอง หรือของผู้นำในชุมชน เรามาทำกิจกรรมอะไรก็ได้ร่วมกัน อย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์หรือเกิดความสามัคคีของคนในชุมชน

พอเข้าโครงการนักถักทอ เราเข้าใจนักถักทอชุมชนอย่างไร

ตอนนี้ผมมาร่วมได้ 5 เวทีแล้ว ในตอนนี้ตามที่ผมจับประเด็นได้ ที่ผมคิดวิเคราะห์ได้คือ เหมือนว่ามุมมองต่อนักถักทอฯจากจุดเดิมก็เปลี่ยนไม่มากนะครับ เพราะอย่างไรผมก็คิดว่าตัวเองเหมือนเป็นส่วนเชื่อมประสาน เชื่อมกับชุมชน และช่วยประสานคนในชุมชน และทำงานในเรื่องของชุมชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเด็กและเยาวชน และเราได้ทำหน้าที่ของพี่เลี้ยงของเด็กและเยาวชนด้วย มีหน้าที่คือเราเข้าไปหาข้อมูลไปสืบค้น ลงไปหาข้อมูลในชุมชน เมื่อเราพบปัญหาหรือมีเด็กคนไหนที่มีปัญหา เราพร้อมที่จะเข้าไปช่วยเหลือ และหลังจากที่เราไปเจอปัญหาหรือไปพบปัญหาแล้วนะครับ ถ้ากำลังของเราไม่ได้หรือไม่พอเพียงเราก็ประสานกับคนอื่นหรือผู้ใหญ่ใจดีทั้งหลายเพื่อไปช่วยเหลือให้น้อง ๆ มีชีวิตที่ดีขึ้น

สถานการณ์เด็กในตำบล

ตอนนี้ปัญหาของเด็กคือเขาออกจากโรงเรียนเยอะ คือเหมือนเด็กเขาจะติดเกมด้วย ติดโทรศัพท์มือถือด้วย และติดเพื่อน เด็กส่วนใหญ่ที่ออกจากโรงเรียนจะเป็นช่วงประมาณมัธยมตอนต้นและตอนปลาย ตอนนี้เด็กเขาจะติดเพื่อนมาก และมั่วสุมกัน ที่มั่วสุมคือเหมือนเขาจะมีโลกส่วนตัวของเขาสูง และเชื่อฟังเพื่อนมากกว่าและบางทีอาจจะมีเกี่ยวกับเรื่องยาเสพติดมาเกี่ยวข้องด้วย

แนวทางที่ อบต.ลงไปช่วยเด็กกลุ่มนี้คือตอนนี้เราลงไปหาผู้ใหญ่ใจดี ไปหาผู้นำหมู่บ้านและผู้ปกครองของเด็กว่าเราไปดูก่อนว่าพฤติกรรมของเขา เขาไปลงตรงไหน จุดไหน เขาทำอะไรบ้าง และถ้าเกี่ยวกับพวกยาเสพติด เราก็จะได้ประสานกับทางตำรวจ เราจะมีโครงการเกี่ยวกับยาเสพติดเพื่อที่จะดึงเด็กเหล่านี้ออกมา เพื่อให้เขาเห็นโทษของยาเสพติด จะเป็นส่วนที่ อบต.ดำเนินการอยู่

ประสบการณ์ที่ได้รับจากเวทีทุกครั้ง

ทักษะที่ผมได้จากการเป็นนักถักทอ ที่สำคัญที่สุดคือผมได้ทักษะในการฟังคนอื่นมากขึ้น สามารถที่จะตกผลึกความคิดของตัวเองได้โดยที่ไม่เอาความคิดของตัวเองมาเป็นใหญ่

คือฟัง ผมสามารถเอาไปใช้ในการทำงานได้เพราะว่าตอนที่ผมทำงาน เพื่อนร่วมงานเยอะ เวลามีปัญหา ผมก็จะสอบถามเพื่อน ๆ ก่อนว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมีอะไรบ้าง และเราไม่ได้เอาความคิดตัวเองมาตีความว่าถูกหรือผิด แล้วเรามาปรึกษากันว่าเราจะทำอะไรอย่างไรได้บ้าง แก้ปัญหาอะไรได้บ้าง

ส่วนเรื่องการฟังน่าจะได้มาจากเวทีแรกเลยที่อาจารย์หยิก (อ.จรายุทธ สุวรรณชนะ กระบวนกรอิสระ) มาสอน กับตัวเองผมนำมาใช้ เพราะเวลาจัดกิจกรรมต่าง ๆ เวลาผมนัดประชุมอะไรกับเด็ก จะให้เด็กเขามีส่วนร่วมมากที่สุด ให้เด็กเขามาคุยกันก่อน ให้เขาเสนอแนะโครงการว่าจะไปแนวนี้นะ เราจะทำกิจกรรมร่วมกันแนวนี้นะ แล้วเราก็ลงมติกัน ว่าความคิดเห็นนี้ของเด็ก โดยที่ผมไม่ได้ไปกั้นเขตว่าเนื้อหาหรือสิ่งที่เป็นเป้าหมายมันจะเป็นอย่างนี้นะ ให้เด็กเข้ามามีส่วนคิดในแนวของเขาเองว่าเขาทำสิ่งนี้มันดีที่สุดแล้วนะ

วิธีทำงานของเราเปลี่ยนไปไหม อย่างไร

เปลี่ยนครับ เมื่อก่อนผมทำงานในระบบ จะมีตัวโครงการที่เขียนมาเอง ทาง อบต.เองเป็นคนเขียนโครงการเอง แล้วโครงการของสภาเด็กเอง เมื่อก่อนเด็กไม่มีส่วนร่วมในการเขียนโครงการเลย ตอนนี้คือถ้าจะมีโครงการอะไรที่เกี่ยวกับเด็กก็ตามจะนัดประชุมเด็กก่อน ให้เด็กเขามีเป้าหมายของเขาเองว่าโครงการที่จะทำ ที่เขาอยากจะได้จริง ๆ ว่าควรเป็นโครงการแบบไหน

สิ่งที่ทำให้ผมเปลี่ยนวิธีการทำงาน

คือการได้เข้าร่วมโครงการนักถักทอนี่ล่ะครับ ผมได้มาเห็นประโยชน์ สิ่งที่ทำให้มั่นใจคือผลที่ได้คือการตอบรับของเด็กหลังจากที่เขามามีส่วนร่วมในกิจกรรมมากขึ้น เขาให้ความร่วมมือมากขึ้น ถึงจะได้ผลที่ไม่ดีเท่าที่ควรเท่าไหร่ แต่ตอนนี้ผมเริ่มเห็นว่าเด็กเขากล้าแสดงออก กล้าเสนอแนะเรื่องของชุมชน เพราะว่าเขาเป็นคนที่อยู่ในชุมชนของตัวเองนะครับ เขารู้ปัญหาของชุมชน เขารู้ว่าชุมชนต้องการอะไร เด็กเขาจะรู้

การเปลี่ยนแปลงที่เห็นมีอะไร

เห็นการเปลี่ยนแปลงกับเด็กครับ สำหรับในองค์กรเองยังไม่เห็นผลเท่าไหร่ เพราะฟี้ดแบ็คจากทางผู้บริหารยังไม่ชัดเจน แต่ทางเพื่อนร่วมงานเขาจะเห็นว่าเด็กมีพัฒนาการที่ดีขึ้น แล้วเพื่อนร่วมงานมาช่วยเหลืองานของเรามากขึ้น เวลาจัดกิจกรรมต่าง ๆ คือเพื่อนร่วมงานจะมาช่วยกันเตรียมกิจกรรม ช่วยทำอะไรต่างๆ

ฟี้ดแบ็คที่ได้รับกลับมาจากเพื่อนร่วมงาน

กับเพื่อนร่วมงานดีขึ้นกว่าเดิม จากเดิมมีการช่วยเหลือกันก็ดีอยู่แล้วนะครับในที่ทำงานของผม ตอนนี้คือมีการเข้าใจกันมากขึ้น เวลาทำงานอะไรก็ตามที่มีปัญหา ต่างคนต่างรับฟังปัญหาของกันและกัน และไม่โทษกัน เพราะว่าเรามาวิเคราะห์ปัญหาของงานที่เกิด ว่าเกิดเพราะอะไร แล้วเราช่วยกันแก้

ส่วนเรื่องการทำงานขอทีมนักถักทอฯ ในอบต.เขายังไม่เข้าใจ ไม่เข้าใจบทบาทของเราจริง ๆ ว่าเรามาทำอะไรนะ เขาเข้าใจว่าเราทำงานแค่กับเด็กและเยาวชน เขายังไม่เข้าใจว่าเราต้องประสานกับผู้ใหญ่ใจดีทั้งหลาย กับผู้นำชุมชน เพื่อทำโครงการ เพื่อช่วยเหลือเด็ก บางครั้งชุมชนก็ยังไม่เข้าใจเท่าไร

การทำงานกับชุมชน

เราต้องไปทำงานกับเขาครับ ผมยังต้องทำงานเกี่ยวกับชุมชนด้านการส่งเสริมอาชีพบ้าง และทำงานด้านสวัสดิการสังคมต่าง ๆ เวลาผมเข้าไปในชุมชน คือเราไปหาข้อมูลและเราสอบถาม พูดง่าย ๆ คือเราไปสอบถามเขาว่าความต้องการของชุมชนเขาต้องการอะไร เวลาเราไปส่งเสริมอาชีพเขาจริง ๆ ผมต้องไปดูข้อมูลก่อนว่าเขามีพื้นฐานอะไรบ้าง เขาต้องการอะไรบ้าง ถึงจะนำโครงการต่าง ๆ ไปให้เขาทำ ผมจะไม่ได้ทำงานด้านเด็กเพียงด้านเดียว

เด็กกลุ่มปัญหามาร่วมงานกับเราไหม

มีประมาณ 3 – 4 คนที่ดึงเข้ามาร่วมงาน และดึงเข้ามาเป็นสภาเด็กด้วย

เทคนิคการดึงเด็ก

อย่างที่พูดคือเพราะผมเป็นคนนอกพื้นที่ เป็นคนอำเภออื่น แล้วผมมาทำงานที่นี่ การที่ผมจะไปหาเด็กเอง ผมต้องไปกับหัวโจกของเขา หัวโจกเขาจริง ๆ มาทำงานเป็นพนักงานของ อบต.อยู่แล้ว และเป็นคนที่วัยรุ่นทั้งตำบลเขาเชื่อใจ เพราะพี่คนนี้เขาเคยทำงานคลุกคลี ทำงานด้านเยาวชนมาก่อน คือพี่เตย พนักงานขับรถจักรกลหนักเบา พี่เตยมีส่วนสำคัญมากในการช่วยผมในงานด้านเด็กและเยาวชน เพราะพี่เขาเคยทำงานร่วมกันกับ กศน.มาก่อนในเรื่องของเด็กและเยาวชน เวลามีโครงการต่าง ๆ แกจะเป็นคนหาเด็กมาเข้าร่วมโครงการ และเวลาเด็กในชุมชนมีปัญหา แกจะช่วยแก้ปัญหาของเด็กได้ทุกอย่าง เด็กเลยให้ความเคารพและนับถือ ผมได้พี่เตยพาไปหาเด็กกลุ่มนี้ ผมกับพี่เตย ตั้งแต่ผมเข้ามาตอนแรก ผมเป็นคนอัธยาศัยดี เข้าไปตีสนิทกับทุกคนที่ทำงาน เข้าไปคุย ไปอะไร ในช่วง 2 เดือนแรกยังว่างงานอยู่ ผมเดินไปห้องนั้นห้องนี้ ไปช่วยเขาทำงาน จึงเลยได้พูดคุยกัน

สิ่งที่ตัวเองคิดว่าต้องการเติมในด้านต่าง ๆ (ทักษะ ความรู้)

ตอนนี้ผมยังขาดทักษะในการพูดกับชุมชนและทักษะการพูดกับเด็ก ยังไม่สามารถพูดปัญหาของเด็กได้ทั้งหมด ต้องอาศัยคนอื่นช่วยเช่นพี่เตย ผมเป็นคนพูดตรง ๆ ไม่รู้ความต้องการของเด็กเป็นอย่างไร อย่างเด็กช่างกล เด็กที่ซ่อมรถ ผมยังไม่มีความรู้เรื่องช่างยนต์ การที่เราไปหาเด็กกลุ่มเหล่านี้ได้ เราต้องไปคุยเรื่องนี้ เด็กชอบมอเตอร์ไซด์ เราต้องคุยเรื่องมอเตอร์ไซด์ก่อน อย่าไปเข้าประเด็นอะไร แต่ผมยังไม่เก่งเรื่องนี้ ได้เทคนิคนี้จากพี่เตย แต่อยากได้เทคนิคนี้กับตัวเอง

เวทีนี้ (KM) เราได้เรียนรู้อะไรบ้าง

ในเรื่องที่เราได้ คือ KM การจัดการความรู้ ได้กระบวนการคิด คิดว่าเราจะทำเรื่องหนึ่ง ๆ จะมีกระบวนการอะไรบ้าง มีการเรียนรู้อะไรบ้าง มีการบันทึก เพราะแต่ก่อนผมด้อยมากเรื่องการจดบันทึกแล้วทำให้ผมลืมข้อมูล หรือลืมอะไรบางอย่างที่มันสำคัญไป และนำกระบวนการนี้ไปเผยแพร่และนำมาปรับใช้ ผมคิดว่าการที่ผมมาอบรม KM ได้ประโยชน์มาก จะช่วยได้ทั้งงานประจำคือสวัสดิการสังคมและงานพัฒนาอาชีพ การเก็บข้อมูล การบันทึกข้อมูล และการนำข้อมูลนั้นมาคิดวิเคราะห์และเผยแพร่และทำจริงๆ รวมถึงงานของเด็กเองจะทำให้ผมเข้าไปคิดวิเคราะห์ชุมชนและตัวเด็กเองได้มากขึ้น และมีการจดบันทึกว่าเด็กเขามีสภาวะอย่างไรบ้าง เราจะได้ตีโจทย์ได้อย่างถูกต้อง และลงมือทำได้

ส่วนเรื่องการเป็นคุณอำนวย ผมยังไม่ค่อยเข้าใจ กับเรื่องบทบาทพี่เลี้ยงเยาวชนผมเข้าใจว่าคือการที่เราเข้าไปช่วยเหลือเด็กและไปสังเกตการณ์ เวลาเด็กมีปัญหาอะไร เราสามารถเข้าไปตอบโจทย์เรื่องนี้ได้ ไปช่วยเหลือ แต่จะพูดว่าเราไปโน้มน้าวเด็กคงจะไม่ใช่ เพราะอยากให้เด็กเขามีความต้องการในตัวเขาเอง แต่อย่างน้อยจุดเริ่มต้นเราต้องเข้าไปหาเด็กก่อนและไปช่วยเหลือเด็ก นี่คือบทบาทพี่เลี้ยงที่ผมก็ทำแบบนั้นอยู่

มาเวิร์คช็อปครั้งนี้ เราได้เรื่องทักษะการพูดเพิ่มขึ้นไหม

ได้ครับ สังเกตได้ว่าผมมาร่วม ผมพยายามที่จะพูดให้มากที่สุด จะแสดงออกให้มากที่สุด และพยายามคิดก่อนที่จะพูดกระบวนการ เพื่อจะได้ตกผลึกความคิดของตัวเองให้ได้มากที่สุด เหมือนผมมีเป้าหมายชัดเจนที่จะมาในเวทีครั้งนี้ เวทีนี้ผมคาดหวังว่าอย่างน้อยผมได้กระบวนการที่เราจะเข้าไปถึงตัวเด็กที่ผมทำหน้าที่เป็นนักถักทอ และกระบวนการที่เราเข้าไปถึงผู้ใหญ่ใจดีทั้งหลายที่อยากให้เขามาร่วมกิจกรรมของเรา มาร่วมช่วยเหลือเด็ก พอมา 2 วันนี้ก็ได้มากขึ้นครับ ผมมีความมั่นใจมากขึ้น เห็นวิธีการมากขึ้น เห็นวิธีการเข้าไปสื่อสาร กระบวนการที่คิดว่าทำให้เราเข้าใจและสามารถนำไปใช้ได้มากที่สุดคือกระบวนการ Facilitator ตั้งแต่กระบวนการฟัง คิด ตรึกตรอง ประมวลผล และนำไปใช้

องค์ความรู้ที่อยากได้เสริม

ผมอยากได้กิจกรรมสักกิจกรรมหนึ่งเพื่อเป็นตัวอย่างการสันทนาการบ้างก็ดีนะครับ เพราะเป็นกิจกรรมที่เวลาผมเข้าไปหาเด็ก เด็กมักชอบมีส่วนร่วมในกิจกรรมสันทนาการ แล้วค่อยมาตกผลึกความคิด ค่อยมาตีโจทย์ว่ากิจกรรมที่เราได้ เด็กเขาจะได้คิดเอง คิดเป็น อยากได้กิจกรรมที่มันหลากหลาย อยากให้มีการสอนแนะแนวการทำกิจกรรมพวกนี้มากขึ้น

อยากฝากอะไรถึงอบจ.สุรินทร์ กสศ.และมูลนิธิสยามกัมมาจล

ขอขอบคุณมูลนิธิสยามกัมมาจล กสศ.และ อบจ.สุรินทร์อย่างมากที่ทำโครงการดี ๆ เรื่องนักถักทอชุมชนอย่างนี้เกิดขึ้น ทำให้เราสามารถเข้าไปช่วยเหลือเด็กและเยาวชนของจังหวัดสุรินทร์เรามากขึ้น เพราะปัญหาของเด็กนอกระบบทุกวันนี้เป็นปัญหาที่สำคัญ เขาออกจากวัยเรียนเยอะ และเขาจะไปมั่วสุมกัน ถ้าเราสามารถดึงเด็กเหล่านี้เข้ามาอยู่ในระบบได้ หรือทำให้เขามีอาชีพ มีงานทำ ให้เขาพึ่งตัวเองได้ ต่อไปเด็กเหล่านี้จะเป็นผู้ใหญ่ที่ดีของสังคม เมื่อเราช่วยเหลือเด็กเหล่านี้แล้ว เด็กเหล่านี้จะเป็นฐานให้เราไปช่วยเหลือคนอื่นต่อไปครับ

สิ่งที่อยากฝากถึงเด็กเยาวชนทั้งในและนอกระบบ

ตอนนี้เด็กเองเขายังไม่เห็นว่าในอนาคตภายภาคหน้าเขาจะเจออะไรบ้าง อยากให้น้อง ๆ พยายามค้นหาตัวเองให้เจอให้ได้เร็วที่สุดและทำตามความฝันของตัวเองเพื่อให้ในภายภาคหน้าน้องจะสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ครับ #

ติดตามชมกิจกรรมในเวทีได้ที่นี่