"เบียร์"สนใจเลี้ยงปลา หวังอบต.หนุน

สำหรับการมาเข้าค่ายครั้งนี้ของ "เบียร์ - สนั่น พางาม"อายุ 17 ปี เยาวชนนอกระบบ หนึ่งในเยาวชนของตำบลลุ่มระวี อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์ ที่มาเข้าร่วมเรียนรู้ใน ค่ายพัฒนาศักยภาพและสร้างเครือข่ายเยาวชนทั้งในและนอกระบบการศึกษา 25 อปท. จังหวัดสุรินทร์ (ภายใต้การดำเนินโครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น 4 ภาค) สนับสนุนโดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น , กสศ. , สถาบันยุวโพธิชน , สกสว. , ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) และมูลนิธิสยามกัมมาจล เมื่อวันที่ 1- 21 ตุลาคม 2562 ณ หน่วยอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำห้วยสามสบ ต.ศรีสะเกษ อ.นาน้อย จ.น่าน ซึ่งถือได้ว่าเป็นค่ายแรกในชีวิต ที่มาร่วมเรียนรู้ในค่ายนี้ เป็นเพราะป้าลาวัลย์ ที่ทำงานอยู่ที่อบต.ลุ่มระวี บอกว่ามาฝึกอาชีพ เจ้าตัวคาดหวังว่าจะได้ฝึกทักษะการทำเกี่ยวกับอะลูมิเนียม เพื่อจะได้มีความชำนาญและได้กลับไปทำงานที่กรุงเทพใหม่ "พอมาแล้วมันไม่ใช่อย่างที่ผมคิด เราคิดว่าจะมีช่างมาสอน มีสอนตัดอะลูมิเนียมอะไรพวกนี้ มันก็ผิดหวังนิดหน่อยครับ"

ถึงแม้เจ้าตัวบอกว่ารู้สึกผิดหวังที่ไม่ได้ฝึกอาชีพโดยตรง แต่ตลอด 21 วัน เจ้าตัวก็ได้เรียนรู้และเปลี่ยนแปลงตัวเองไปจากเดิม เริ่มจากกิจกรรมในค่ายชอบหรือไม่ชอบกิจกรรมใดบ้าง "ผมไม่ชอบให้นั่งสมาธิ รู้สึกอึดอัด ผมไม่ชอบอะไรแบบนิ่ง ๆ ผมชอบอิสระ ไปเรื่อย ๆ ส่วนสิ่งที่ชอบ คือ กิจกรรมศิลปะ การเดินป่า และตีบอล"

"เบียร์" ขยายความชอบเกี่ยวกับกิจกรรมแต่ละกิจกรรม "ที่ชอบกิจกรรมศิลปะ ชอบที่กิจกรรมนี้สร้างสรรค์ อย่างที่พี่กบ (วิทยากร) ว่าคนที่ไม่เคยทำผิด คือคนที่ไม่เคยทำอะไรเลย ข้อความนี้โดนใจผมมาก และอีกอย่างกิจกรรมนี้ ได้ช่วยระบายความโกรธในใจเราได้ด้วย ผมคิดว่าผมจะนำไปใช้ ถ้าเราโมโหมาก ๆ เราไม่ต้องไปทะเลาะกับเขา เช่นกับแม่ เราไม่ต้องเถียง แค่หยิบปากกา ดินสอ สมุด แล้ววาดรูป ฟังเพลงอยู่ในห้อง ไม่ต้องไปเถียงกับเขา แค่นี้ก็ทำให้แม่ไม่เสียน้ำตาแล้ว"

ส่วนกิจกรรมนิเวศภาวนา "เบียร์" เล่าบรรยากาศให้ฟังว่า "พอขึ้นไปก็ไปเคลียร์สถานที่ ตั้งกลด ผมเลือกที่ราบสูงชันขึ้นมา แล้วตัดไม้ไผ่มาทำที่มัดกลด กางกลดแล้วเราก็มาดูเพื่อน มาช่วยเพื่อน ตกกลางคืนเราก็นอน มีเสียงยุง มีเสียงอะไรต่าง ๆ ที่อยู่ในป่า ผมนอนตอนนั้นน่าจะ 4 ทุ่มครับ เพราะเพื่อนทำเสียงดังนอนไม่หลับ ตอนจะนอนก็กลัว มีเสียงโน้นนี่ มีเสียงเหมือนคนไออยู่ด้านล่าง ส่องไฟไปก็ไม่เจอ ตอนมองรอบตัวไม่มีใครเลยแต่มีเสียงไอ มีเสียงเดิน ผมกลัวก็ไปนอนกับเพื่อน ไม่สามารถอยู่คนเดียวได้ อีกอย่างคือมุ้งผมขาด ยุงเข้าไปเยอะ เลยไปนอนกับเพื่อน คือ แม็ค คลุมโปงข่มตานอน ระหว่างนั้นความกลัวก็หมดไปเพราะหลับไปแล้ว ตื่นมาอีกทีตอนเพื่อนเดินมาเคาะขวด ที่ชอบกิจกรรมนี้เพราะ บรรยากาศ อากาศเย็นดี ได้เห็นเพื่อนช่วยเหลือกัน ร่วมมือกัน ช่วยตั้งกลด"

อีกหนึ่งกิจกรรมที่ต้องใช้ความอดทนมากคือกิจกรรมตีบอล"ชอบเพราะได้เห็นความอดทนของเพื่อนแต่ละคน ผมอยากให้เพื่อนสามัคคีกัน เพราะต่างกันต่างร้อน ต่างคนต่างหิวข้าว ต่างคนต่างเหนื่อย ผมจึงเข้าไปช่วยนำเพื่อน ๆ ครับ ตอนนั้นผมก็เหนื่อย ที่ชวนเพื่อนแล้วเขาไม่ค่อยสนใจ ที่ไปทำตรงนั้น ผมรู้สึกสงสารคนอื่นครับ แล้วก็เคืองคนที่ไม่ช่วยอะไร เลยก้าวออกไปเลย ผมเวลาโกรธหรือโมโห ผมจะทำได้ทุกอย่าง แต่ถ้าผมไม่โกรธ ผมก็จะไม่เสนอหน้าไป กิจกรรมนี้ช่วยให้ผมได้ปรับความเข้าใจไปหาเพื่อน ๆ เห็นว่าเขาเป็นคนใจร้อนหรือใจเย็นก่อนจะพูดเราจะรู้ก่อนว่าคนที่เราพูดเป็นคนอย่างไง ถ้าเราเป็นคนปากพล่อย เราทักเขามั่ว เราอาจโดนต่อยได้ ผมได้คลุกคลีกับเพื่อนที่เขาเกเร เรารู้นิสัยเขาส่วนหนึ่งแล้ว รู้ว่าพูดอย่างไรให้เขามาช่วยกัน"

หลังจากได้ทำกิจกรรมและเรียนรู้เรื่องราวต่าง ๆ ที่วิทยากร ในค่ายได้ให้ "เบียร์" ก็สะท้อนถึงนิสัยที่เริ่มเปลี่ยนแปลงไปบ้าง "นิสัยผม ผมว่าผมใจเย็นขึ้น เมื่อก่อนผมใจร้อน สิ่งที่ทำให้ผมใจเย็นลงคือศิลปะเวลาผมโมโหผมจะวาด ๆ ๆ แล้วทีนี้ผมนิ่งขึ้นครับ ผมเพิ่งมานิ่งใน 2 - 3 วันนี้ที่มีกิจกรรมศิลปะมานี่ละครับ ก่อนหน้านี้ผมจะกวนจะปั่นพี่เลี้ยงอย่างเดียวเลย แต่ตอนนี้ผมเริ่มนิ่ง เริ่มรู้แล้วไปทำศิลปะดีกว่า สิ่งที่ได้เรียนรู้เพิ่มคือความคิดสร้างสรรค์เช่นการทำพู่กันเองจากวัสดุที่เก็บมา แล้วก็ได้ทักษะในการแสดงออกเมื่อก่อนผมกลัวไมค์ ตอนนี้เริ่มกล้าจับไมค์พูดแล้วครับ เรื่องการเป็นผู้นำ ตอนเล่นบอลก็ชวนเพื่อนให้ช่วยกัน"

"สิ่งที่ผมทำได้ดีขึ้นคือไม่เคยขาดกิจกรรมตั้งแต่มา ทั้งที่ผมบอกว่าไม่ได้เป็นกิจกรรมที่หวัง สาเหตุเพราะคิดถึงหน้าป้าลาวัลย์ไว้ครับ แกมีอะไรแกช่วยแม่ผมตลอด กลัวทำให้ป้าเสียหน้าครับ"

"สิ่งที่จะเอากลับไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ต่อคือการอยู่ร่วมกับคนหมู่มากเวลาอยู่บ้านจะอยู่กับเพื่อน 2 - 3 คน อีกเรื่องคือการรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น เช่น เราเป็นคนทำก่อนคิด เราก็ตัดออกไป มาฟังคนอื่นก่อน”

ถึงแม้ "เบียร์" ดูเป็นคนที่มุทะลุ ชอบพูดทะลุกลางป้อง แต่เมื่อถามถึงงาน "จิตอาสา" เจ้าตัวบอกว่า ครอบครัว สอนให้ทำเรื่องนี้มาตั้งแต่เด็ก ๆ หากมีงานชุมชนในช่วย คนในครอบครัวต้องเข้าไปมีส่วนร่วม "ผมทำงานพัฒนาประจำที่หมู่บ้านมาตั้งแต่ ม.1 ไปช่วยงานที่อบต.ครับเช่น พัฒนาหนอง ลอกหนอง ตัดกิ่งไม้ตามถนน กวาดถนนตามหมู่บ้าน ผู้ใหญ่บ้านประกาศบอก แม่บอกให้ไปช่วย ผมก็ไปช่วย ที่ไปช่วยเพราะอยากให้มีชื่อใครสักคนในครอบครัวไป ไม่เป็นพ่อ ก็เป็นผมหรือแม่อย่างนี้ครับ คือครอบครัวต้องมีส่วนร่วม นอกจากติดภารกิจจริงๆ ถึงไม่ได้ไปมีส่วนร่วม "

เรื่องช่วยงานชุมชน "เบียร์" ถนัด แต่ถ้าเรื่องเรียนก็คิดหนักพอสมควร "เบียร์" เล่าย้อนใหัฟังว่าตอนเรียนอยู่ก็เกเร เกือบเรียนไม่จบ ม.3 เหมือนกัน "เมื่อก่อนผมก็ดมกาว เที่ยว มั่วสุมหมด ผมเริ่มดมกาวและเที่ยวตอน ม.2 เทอม 2 ตอนนั้นอยากรู้อยากลองไปกับเพื่อน พอ ม.3 เทอม 2 ผมก็เลิก แล้วมาตั้งใจเรียน เพราะขี้เกียจหนีทหาร และอีกอย่างเวลาเดินไปไหนในหมู่บ้านก็จะโดนคนแก่เขาล้อว่าไอ้ขี้ยาประมาณนี้ครับ ตอนโดนล้อก็โกรธ แต่ทำอย่างไรได้ เราพลาดไปแล้ว ก็ควรปรับปรุง ตอนนี้ไม่มีใครล้อแล้วครับ ตอนนี้เรื่องยา เรื่องไม่ดีอะไร เพื่อนหมู่บ้านอื่นมาชวน วางต่อหน้าก็ยังไม่เอาเลยครับ ปฏิเสธ เพราะเราเคยลองแล้วครับ แล้วมันทำร้ายตัวเองกินข้าวก็กินไม่ได้ เลยไม่เอาอีกแล้วครับ ก็อยากบอกเพื่อน ๆ ว่าถ้ามาทำแบบนี้แล้วก็เลิกเถอะครับ คนที่ไม่ได้ลองก็อย่าไปลองครับ เพราะไม่ดี ทำร้ายตัวเอง ผิดกฎหมาย ทำร้ายคนในครอบครัวด้วย" เบียร์เล่าเรื่องก้าวพลาดของตัวเองเพื่อเป็นอุทธาหรณ์ให้แก่เพื่อน ๆ และรุ่นน้อง จะได้ไม่ก้าวพลาดแบบเขาอีก

พอเรียนจบแล้ว "เบียร์" ไม่ได้เรียนหนังสือต่อ แต่มุ่งไปทำงานเพื่อหาเงินใช้ งานแรกในชีวิตคืองานกรรมกร ที่รุ่นพี่แถวบ้านแนะนำให้ไปทำ "หน้าที่ของผมคือคอยตามปูนให้เขา พอไปอยู่ได้ 6 เดือน กลับมาบ้าน เปลี่ยนที่ทำงานก็หัดทำเกี่ยวกับอะลูมิเนียมพวกหน้าต่างกระจก ผมมีหน้าที่ตัดกระจกและประกอบอะลูมีเนียม ยากที่จะทำให้มันตรงลาย กลัวขนาดมันจะไม่เท่ากัน ตอนทำต้องนิ่ง ต้องไม่สั่น ไม่วอกแวกกับอย่างอื่น ผมทำมา 6 เดือน ได้รายได้ 400 บาทต่อวัน รายได้ที่ได้มาก็ส่งมาให้พ่อแม่ เดือนละ 3 - 4 พัน ที่เหลือก็เล่นเที่ยวหรือใช้ส่วนตัว ผมก็ดูแลตัวเองได้ การที่ผมทำงาน พ่อแม่ก็ไม่ได้ว่าอะไร ถามว่าอยากเรียนต่อหลัง ม.3 ไหม ผมเคยคุยกับแม่ว่าจะเรียน แต่พอคิดไปคิดมาก็กลับไปบอกว่าไม่เรียนดีกว่า หางานทำดีกว่า หาประสบการณ์ดีกว่า ถ้าเรียนเราก็ได้แค่เขียน ๆ จด ๆ ไม่ได้ประสบการณ์ภายนอก เราจะเอาตัวรอดอย่างไรยังไม่รู้เลย สู้ไปหาประสบการณ์ดีกว่า"

ในอนาคต "เบียร์" ยังไม่ตัดสินใจว่าจะยึดอาชีพอะไรถาวร ตอนนี้ทดลองเป็นกรรมกร คนงานก่อสร้าง คนงานทำอะลูมิเนียม ฯลฯ จะทดลองไปเรื่อย ๆ จนถึงอายุ 25 ปี เพื่อค้นหาอาชีพที่ตนเองชอบจริง ๆ ถึงจะยึดเป็นอาชีพในอนาคต แต่ถ้าถามว่าให้เลือกได้ระหว่างทำงานที่กรุงเทพกับทำงานที่บ้าน "เบียร์" ตัดสินใจเลือกที่ไหน เจ้าตัวตอบชัดว่า "ถ้าเลือกอยู่กรุงเทพฯ กับอยู่บ้าน แล้วมีอาชีพ ผมขออยู่บ้านดีกว่าครับ เพราะอยู่กรุงเทพฯ แค่เราก้าวเท้าออกจากห้องก็เป็นเงินหมดแล้วครับ แต่ถ้าอยู่บ้าน ไปไหน เราเดินไปได้ เพราะหมู่บ้านไม่ได้ใหญ่เท่าไหร่ จะกินอะไรเราหาเองได้ มีห้วยมีคลอง แต่อยู่กรุงเทพฯ เราซื้ออย่างเดียว อยากกลับบ้านครับ ผมอยากทำเกษตร เลี้ยงปูเลี้ยงปลา เพราะมีประสบการณ์ด้านนี้ ที่บ้านเคยเลี้ยงปลา กบ หมู แต่ตอนนี้เหลือแค่วัว ถ้ามีโอกาสก็อยากเรียนด้านการเลี้ยงปลาเพิ่มครับ เพราะเราไม่รู้เลยว่าถ้าปลาเป็นโรคเราจะแก้อย่างไร ถ้า อบต.สนับสนุนก็อยากไปเลี้ยงครับคือการเลี้ยงปลาเห็นกำไรแน่นอนครับ ปลาตัวละไม่กี่บาท อาหารก็ไม่แพงนัก 7 - 8 ร้อยบาท ผมเคยเลี้ยงกับปู่ด้วย ที่ทางก็มีของตัวเองแล้วด้วย " ถึงแม้วันนี้ "เบียร์" ยังไม่ตัดสินใจว่าจะทำอะไรในอนาคต แต่หลังจากกลับค่าย เจ้าตัวแพลนที่จะอยู่บ้านสักพักเพื่อช่วยพ่อแม่เลี้ยงวัวเลี้ยงควายตามทุ่ง ที่บ้านเบียร์ มีอาชีพทำนา ปลูกมัน เลี้ยงวัวเลี้ยงควาย

สุดท้าย เจ้าตัวก็ฝากบอกเพื่อน ๆ ว่า "อยากบอกเพื่อนๆ รุ่นเดียวกันที่ทำงานกรุงเทพฯ ว่า ทางที่ดีเรากลับมาอยู่บ้านดีกว่า หาอะไรทำอยู่บ้านดีกว่า เพราะการอยู่กรุงเทพฯ มลพิษเยอะ ของก็แพง ก้าวขาออกมาจะไปที่อื่นก็แท็กซี่ เริ่มต้นก็ 35 บาทแล้ว ค่าใช้จ่ายมันเยอะ อยู่บ้านมีความสุขกว่าครับ"

“ถ้ามีโอกาสก็อยากเรียนด้านการเลี้ยงปลาเพิ่มครับ เพราะเราไม่รู้เลยว่าถ้าปลาเป็นโรคเราจะแก้อย่างไร ถ้า อบต.สนับสนุนก็อยากไปเลี้ยงครับ”