"ครูหวิง" หนุนเด็กทำสิ่งชอบ เพื่อเปลี่ยนแปลงเป็น "เด็กดี"

ครูหวิง จิรนันท์ เครือจันทร์ ครูผู้ดูแลเด็ก อบต.เมืองลีง และมีบทบาทเป็นพี่เลี้ยงดูแลเด็กนอกระบบของตำบลเมืองลีง โดยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการ

พัฒนาเด็กและเยาวชนในตำบลร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลเมืองลีงซึ่งถือเป็นอีกหนึ่ง อปท. (องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) จังหวัดสุรินทร์ ที่ได้เข้าร่วมโครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น 4 ภาคระยะที่ 3:ขับเคลื่อนกลไกเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนด้วยหลักการจัดการความรู้ และกระบวนการวิจัย(เฟสสอง)

โดยครูหวิงจะเป็นผู้คอยดูแลเด็กระบบทั้งหมดของตำบลเมืองลีง ซึ่งครูหวิงเล่าว่าได้ออกสำรวจตามชุมชน พบว่ามีเด็กนอกระบบ จำนวน 31 คน ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่จะต้องนำมาพัฒนาศักยภาพ โดยครูหวิงได้ส่งเยาวชนจำนวน 4 คน คือ ธนภัทร โสมาบุตร (จ๊อบ) , นิมิตร ดาววะอิน (โอ๊ต) , ธนกร

นิโรรัมย์ (อ๋า) และราชา ศรีสุข (ออมสิน) ซึ่งเยาวชนเหล่านี้ สมัครใจมาร่วมเรียนรู้ในค่ายพัฒนาศักยภาพและสร้างเครือข่ายเยาวชนทั้งในและนอกระบบการศึกษา 25 อปท. จังหวัดสุรินทร์สนับสนุนโดย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น , กสศ. , สถาบันยุวโพธิชน , สกสว. , ธนาคารไทยพาณิชย์จำกัด(มหาชน) และมูลนิธิสยามกัมมาจล เมื่อวันที่1 - 22 ตุลาคม 2562ณ หน่วยอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำห้วยสามสบ ต.ศรีสะเกษ อ.นาน้อยจ.น่าน ที่ผ่านมา

ครูหวิง ได้พูดถึงเด็กรายบุคคลให้ฟังว่า “แต่ละคนมีความแตกต่างกันมาก น้องโอ๊ตเป็นคนที่ชอบอยู่คนเดียว ไม่ค่อยมีเพื่อน น้องออมสินเป็นคนที่พูดจาไม่เพราะกับคนในครอบครัวและเป็นคนอารมณ์ร้อน น้องจ๊อบก็มักมีปัญหาความสุมเสี่ยงต่าง ๆ และคนสุดท้ายคือน้องอ๋าจะเป็นคนที่ทำงานช่วยเหลือครอบครัว และได้เป็นตัวแทนจังหวัดสุรินทร์ที่ กสศ.คัดตัวไปให้ทุน น้องทำงานดูแลเกี่ยวกับเรื่องครอบครัว”

ครูหวิง บอกว่า ที่ส่งเยาวชนเข้าร่วมค่ายในครั้งนี้ ได้ตั้งความหวังไว้สูง “คาดหวังว่าหลังจากเขากลับไปจากค่าย คือเราตั้งเป้าไว้สูงนิดหนึ่ง เราอยากให้เขาเปลี่ยนแปลงตัวเองในเรื่องที่ไม่ดี เราอยากให้เขาดีขึ้น เราเป็นครู เราส่งเด็กมาแล้วก็คาดหวังให้เด็กเป็นในสิ่งที่เราอยากให้เป็น แต่จะได้มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับตัวเขาด้วย”

“ครูหวิง” เล่าต่อถึงสถานการณ์เด็กนอกระบบในตำบลและแนวทางแก้ไข “ ที่เราได้สำรวจมาแล้ว คือเด็กส่วนใหญ่จะเรียนนอกระบบ ไม่กลับไปเรียนในโรงเรียนเดิมที่เขาเคยเรียน ถามว่าทำไมไม่อยากกลับไป เขาจะบอกว่าเพื่อนเรียนไปแล้ว ถ้าเขาไปเรียนหลัง มันเหมือนเป็นเด็กโข่ง เขาจึงไม่อยากกลับไป อีกอย่างหนึ่งคือเขาทำงานด้วย เขาอยากเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย เขาจึงเลือกเรียน กศน. น้อง 4 คนที่มาเขาได้สมัครเรียนแล้วในเทอมหน้า เริ่มเดือน พ.ย.นี้ และทุกคนอยากทำงานไปด้วย เรียนสายอาชีพไปด้วย เราได้ปรึกษากับ อบจ.สุรินทร์แล้ว เขาบอกว่าถ้าอยากลงเรียนจริงๆ ต้องจับกันเป็นกลุ่มจึงจะลงเรียนได้ ก็คุยกับเครือข่ายว่าถ้าเอาเด็กมารวมเยอะ ๆ แล้วไปเรียนด้วยกันจะดีไหม เขาอยากเรียนช่าง เกี่ยวกับช่างซ่อม ช่างยนต์ ช่างไฟฟ้า”

สำหรับการส่งเยาวชนมาร่วมค่าย “ครูหวิง” “ได้ลงไปทำความเข้าใจกับผู้นำชุมชนและผู้ปกครองด้วยตนเอง “ถ้าในชุมชนได้ลงไปคุย เช่น ผู้ใหญ่ หรือผู้ปกครอง เขาก็สนับสนุนเด็กเต็มที่ หรือเด็กที่เราสำรวจมา จะไม่มีว่าผู้ปกครองไม่ให้ไปเรียน คือทุกคนสนับสนุนเต็มที่ และที่เรามาค่าย 21 วัน เขาจะบอกว่าจะไหมเหรอ เด็กไหวไหม ไปอยู่โน้นเขาก็ติดตามตลอด เราจะเป็นคนให้ข่าวเขาตลอดเกี่ยวกับเด็กมาเข้าค่ายว่าเป็นอย่างไร เด็กอยู่อย่างไร ความเป็นห่วงเขามี เราไปเล่าให้เขาฟัง ส่วนมากเขาว่าโอเค เพราะเด็กอยู่บ้านไม่ได้ทำอะไร และสิ่งยั่วยุเยอะ เอาเด็กมาปรับเปลี่ยนบ้าง ถึงจะดีไม่เยอะแต่ก็ดีขึ้นในระดับหนึ่ง กลับไปแล้วจะอย่างไรยังไม่ได้คุยกับน้องเลยค่ะ น่าจะต้องกลับไปถอดบทเรียนน้องอีกทีหนึ่ง”

ซึ่ง “ครูหวิง” สะท้อนว่าการมองของชุมชนต่อเด็กนอกระบบนั้นยังไม่ดีนัก “จริง ๆ คือเขาไม่ยอมรับ แต่เขาก็ไม่ได้ให้โอกาสเด็กกลุ่มนี้เลย บางทีเขาคิดว่าเด็กกลุ่มนี้ไม่มีศักยภาพพอที่จะมาช่วยเหลือชุมชน ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ลงไปคลุกคลีกับเด็กเลยพอเห็นเด็กก็ตัดเด็กออกไปเลย แต่ตามที่เราได้ลงไปสำรวจ ได้คุยกับเด็ก ถามเขาอยากทำอะไร เขาก็สนองตอบที่ว่าอยากจะทำโน้นนี่นั่นกับเราเยอะแยะมากมายเลย”

“ครูหวิง” ได้แชร์ประสบการณ์ในการทำงานกับเด็กนอกระบบ ทั้งทีไม่ใช่ภารกิจ แต่ด้วยหัวใจของ “พี่เลี้ยง” ที่มีความผูกพันเป็นด้ายเชื่อมร้อยใจกัน “ถ้าพูดตรง ๆ แล้วไม่เคยลงมาทำงานกับเด็กนอกระบบเลย เพราะว่าเราดูแต่เด็กปฐมวัย ตัวเล็ก ๆ พอเราได้มาทำกับเขา รู้สึกมีความผูกพัน เขาอยากจะทำ เราอยากจะสนอง แต่ด้วยที่ว่าต้องเป็นตามขั้นตอน เราทำให้เด็กไม่ได้ ก็ทำให้เรารู้สึกอึดอัดมาก”

สุดท้ายครูหวิง ได้ฝากถึงเยาวชนเหล่านี้ “เราอยากให้เขาเปลี่ยนแปลงตัวเอง อยากให้เขาเป็นคนดี อยากจะสนับสนุนสิ่งที่เขาอยากจะทำ ที่เขาอยากจะเป็นค่ะ”#