"ศุภรัตติยา" ภูมิใจได้ลงทำงานในพื้นที่เพื่อเด็กเยาวชน

"ศุภรัตติยา" ภูมิใจได้ลงทำงานในพื้นที่เพื่อเด็กเยาวชน

นางสาวศุภรัตติยา วารินกุฏิ ผู้ช่วยเจ้าพนักงานธุรการ จากเทศบาลตำบลจอมพระ อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์ ถือได้ว่าเป็น “นักถักทอชุมชน รุ่นที่ 3” แล้ว สำหรับเจ้าหน้าที่ อปท. จังหวัดสุรินทร์ ที่ได้เข้าร่วมโครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น 4 ภาค ระยะที่ 3 : ขับเคลื่อนกลไกเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนด้วยหลักการจัดการความรู้และกระบวนการวิจัย เพื่อขยายผลสู่อปท.อื่น ในจังหวัดสุรินทร์ สนับสนุนโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)  และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เมื่อมาร่วมเรียนรู้ในเวที”การเพิ่มสมรรถนะนักถักทอชุมชน : การจัดการความรู้และการเป็นคุณอำนวย” เมื่อวันที่ 20 – 22 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา มาอ่านเรื่องราวของเธอกว่าจะมาเป็นนักถักทอชุมชน

สถานการณ์เด็กและเยาวชน

สถานการณ์เด็กและเยาวชนเทศบาลตำบลจอมพระ โดยรวมคือจะมีการรวมกลุ่มกัน บางทีอาจจะมีการแข่งรถหรือว่าไปเล่นกีฬา หรือว่าจะไปตกปลา หรือจะรวมกลุ่มทำกิจกรรมตามชุมชน

เคยทำงานด้านเยาวชนมาก่อนไหม

ไม่เคยค่ะ ครั้งนี้เป็นครั้งแรกเลย ที่มาทำเพราะอยากให้เด็ก ๆ มีความรู้ความสามารถเพื่อจะไปพัฒนาตำบลของเราค่ะความรู้ที่เราอยากให้เขามีคือความรู้เกี่ยวกับการใช้ชีวิตในช่วงของวัยรุ่น ไม่ต้องไปติดยาเสพติดหรือติดเพื่อน ก็จะมีกิจกรรมให้ทำ ทางเทศบาลก็จะมีการจัดกิจกรรมหรือออกชุมชนไปตามหมู่บ้านเพื่อให้เข้าถึงตัวเยาวชน

ทำไมเข้าร่วมการอบรมครั้งนี้ เราคาดหวังอะไร

การเข้าร่วมอบรมครั้งนี้ คาดหวังว่าจะได้รับความรู้ความสามารถในส่วนของกระบวนการคิดและการปฏิบัติค่ะ มาแล้วได้เรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งที่เราไม่เคยรู้มาก่อน ตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการที่จะนำเด็กและเยาวชนเข้าร่วมโครงการกับเรา เราจะมีวิธีการพูดอย่างไร โน้มน้าวเขาอย่างไร ตอนแรกไม่ได้เข้าร่วมโครงการจะไม่รู้เลยว่าจะต้องเข้าหาอย่างไรบ้าง แต่ว่าได้ลงพื้นที่ไป ไปสำรวจโดยให้ผู้ใหญ่บ้านพาไปว่าบ้าน ๆ นี้ ส่วนมากจะพบเด็กและผู้ปกครอง เด็กบางคนไม่กล้ามาพบเรา กลัวว่าเราจะพาไปเรียน หรือพาไปวิชาการ เขาจะหลบไปเลย บางคนให้ความร่วมมือ บางคนทำงานอยู่ด้วยและเรียน กศน.อยู่ด้วย

สิ่งที่ได้จากการอบรมจะนำไปใช้ประโยชน์อย่างไรบ้าง

ในการทำงาน ปกติจะเป็นคนทำงานด้านเอกสารนะคะ จะใช้ทางด้านความคิด สิ่งที่ได้จากการอบรมจะช่วยให้มีความเข้าใจไตร่ตรองและทำให้เรามีความรู้สึกว่าเราเข้าใจในงานนั้นมากขึ้นเพราะว่ามีทักษะกระบวนการเรียนรู้ต่างๆ ว่าต้องคิดอย่างไร ทำอย่างไร

การทำงานกับเยาวชนนอกระบบ

ในส่วนที่เราอบรม เราจะนำไปพัฒนาในส่วนของเด็กนอกระบบ จะนำความรู้ที่ได้ไปเสริมต่อให้เขาว่าถ้าใครที่จะต้องการมีความรู้ คือเรียนต่อ กศน. ถ้าเกิดว่าใครต้องการฝึกอาชีพก็จะให้ไปทางสายอาชีพเลย

อยากเรียนรู้อะไรเพิ่มเติม

ยังไม่เข้าใจเท่าไหร่เรื่องของกระบวนการคิด ก็อยากเพิ่มเติมความรู้ทางด้านนี้และตัวเองจะเป็นคนทีพูดไม่เก่ง ถ้าให้เขียนก็จะเขียนได้ดีกว่า

รู้สึกอย่างไรกับการเป็นนักถักทอชุมชนและเป็นพี่เลี้ยง

รู้สึกภูมิใจมาก ตอนแรกคิดว่าจะไม่ได้รับความร่วมมือ พอไปครั้งแรกคนก็ไม่ให้ความร่วมมือ แต่พอครั้งต่อไปเราไปเรื่อย ๆ เขาเข้าใจมากขึ้นว่าเราต้องการที่จะให้เขามีความรู้หรือว่าให้เขามีงานทำ

หัวใจสำคัญของการทำงานกับเด็ก

ความเข้าใจในตัวเด็กค่ะ ความเข้าใจว่าเขาต้องการอะไร และพาเขาไปในส่วนที่เขาต้องการไปทำ

สุดท้ายอยากฝากอะไร

ขอขอบคุณมูลนิธิสยามกัมมาจล กสศ. (กองทุนความเสมอภาคทางการศึกษา) และ อบจ.สุรินทร์ นะคะที่ให้โอกาสดิฉันได้เข้ามาร่วมในกิจกรรมของเด็กและเยาวชนตรงนี้ทำให้มีความรู้เพิ่มเติมมากขึ้น จากปกติจะอยู่แต่ที่ทำงานและจ้องหน้าคอมพิวเตอร์ ตอนนี้คือมีความรู้เพิ่มขึ้นในด้านความคิดและโลกทัศน์ต่างๆ เปลี่ยนไป

อยากเห็นเยาวชนนอกระบบของเราเป็นอย่างไร

อยากให้เขาประสบความสำเร็จในชีวิต มีงานทำ เรียนหนังสือและประสบความสำเร็จในทุกด้านค่ะ #