"ครูวัน"แฮปปี้ ช่วยพัฒนาชีวิตเด็ก ต.สวาย

โครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา จังหวัดสุรินทร์เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) สมัชชาการศึกษาจังหวัดสุรินทร์ คณะกรรมการการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ 25 อปท.จังหวัดสุรินทร์ และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เพื่อการพัฒนาเยาวชนนอกระบบการศึกษาในพื้นที่ขยายผล 25 อปท.จังหวัด มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มสมรรถนะศักยภาพของผู้บริหารและเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ให้มีบทบาทเป็น "พี่เลี้ยง" ทำหน้าที่โคช สนับสนุนและส่งเสริมการเรียนรู้ของเยาวชนด้วยการทำโครงงานพร้อมกระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่น และเป็นเจ้าภาพหลักขับเคลื่อนกลไกเพื่อการพัฒนาเยาวชนนอกระบบการศึกษาระดับตำบล อำเภอและจังหวัด ซึ่งอบต.สวาย อ.เมือง จ.สุรินทร์ เป็นหนึ่งในพื้นที่ขยายผล

เรามาทำความรู้จักการทำงานด้านเด็กและเยาวชน ของอบต.สวาย ผ่าน วันทนา ดุจจานุทัศน์ ครูชำนาญการศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านสวาย เป็นครูผู้ดูแลเด็ก อายุ 3 - 5 ปี ที่เพิ่งเข้ามาเข้าร่วมโครงการในฐานะผู้เก็บข้อมูลเด็กและเยาวชนนอกระบบ และทำหน้าที่ช่วยประสานและกระจายข้อมูลจากครูกฤษณา สุบินนาม หลังจากที่กลับมาจากการอบรม เป็นผู้กระจายข้อมูลให้ครูทั้งสามศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในตำบลได้รับรู้ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ได้จากการประชุม ให้ครูทั้งสามศูนย์ฯ รู้ว่าต้องมีบทบททำอะไร อย่างไรในโครงการนี้บ้าง

ครูเล่าต่อว่ามาเข้าร่วมโครงการได้อย่างไร “ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการซึ่งได้ไปเรียนการนำเข้าข้อมูลและการใช้แอพพลิเคชั่นในการอบรมครั้งที่ 2 “สิ่งทีได้ร่วมอบรมคือได้เรียนรู้การกรอกแอพพลิเคชั่นว่าต้องทำแบบไหนอย่างไรบ้าง ซึ่งครูมีทำหน้าที่เก็บข้อมูล และคัดกรองเด็กยากจน เด็กห่างไกล ซึ่งครูจะคัดกรองมาเบื้องต้นและนำเข้าที่ประชุมมาเล่าให้เพื่อนครูฟังว่าเด็กแต่ละคนเป็นอย่างไร

“พอมีโครงการนี้เข้ามาให้สำรวจเด็กที่ยากจน บ้านห่างไกล และขาดเรื่องอะไรบ้างก็ให้ครูสำรวจเพิ่มเติม สภาพเป็นจริงเป็นอย่างไร ทำให้ได้เรียนรู้การสำรวจข้อมูลที่ลึกมากขึ้น รู้สึกว่าข้อมูลเก็บมากกว่าแบบฟอร์มที่สำรวจเด็กเดิม และเป็นการสำรวจเด็กในสภาพความเป็นจริง จะได้เด็กที่ไม่ได้รับการสนับสนุนตรงส่วนใดเลย อย่างน้อยก็ยังได้รับการสนับสนุนจากตรงนี้ หรือจากส่วนใดส่วนหนึ่งเพิ่มขึ้นมาบ้าง อย่างน้อยจะได้ช่วยพัฒนาชีวิตของเด็ก การทำงานตรงนี้รู้สึกแฮปปี้มากที่ได้ช่วยตรงนี้ในการคัดกรองเด็กขึ้นไปให้โครงการได้พิจารณาอีกรอบ

ครูวันทนาเล่าว่าปกติครูศูนย์เด็กเล็กมีหน้าที่สำรวจข้อมูลเด็กปีละครั้งเก็บข้อมูลเด็กรายบุคคลและเยี่ยมบ้านเด็กเป็นประจำอยู่แล้ว ทำให้เห็นสภาพความเป็นอยู่ของเด็กเบื้องต้น เด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านสวาย มีประมาณ 120 กว่าคน ห้องหนึ่งมีประมาณ 20 - 25 คน มีครูดูเด็กแต่ละห้องรับผิดชอบ “ก่อนเปิดภาคเรียนการศึกษาครูทุกคนต้องสำรวจรายชื่อเด็กที่จะมาอยู่กับเรา สำรวจสภาพความเป็นอยู่ทั้งด้านพัฒนาการ 4 ด้านของเด็ก ที่บ้าน เป็นอย่างไร เบื้องต้นเราต้องรู้พื้นฐานของเด็กว่ามีพฤติกรรมหรือพัฒนาการอะไรบ้าง เรียนรู้เป็นรายบุคคล ซึ่งตรงนี้ทางครูได้ทำอยู่แล้ว เช่นพัฒนาการเด็กคนนี้เป็นอย่างไร เราจะต้องฝึกให้เด็กเรียนรู้เรื่องใดเพิ่ม เราต้องรับผิดชอบและต้องทำโดยตรง”

“ปกติเวลาไปเยี่ยมเด็กเราได้เห็นอยู่แล้วว่าสภาพความเป็นอยู่ของเด็กเป็นอย่างไร ข้อมูลที่มากขึ้นกว่าที่สำรวจได้สัมภาษณ์ที่มากขึ้นจากที่เคยได้สัมภาษณ์มาโดยตรง เราได้เจาะลึกมากขึ้นจริง ๆ ว่าปัญหาเกิดจากอะไร ต่อยอดขึ้นมาก และเราจะช่วยในรูปแบบไหนที่จะช่วยเหลือจริง ๆ สิ่งที่เพิ่มขึ้นจากการสำรวจเดิมคือเรื่องของรายได้ของครอบครัวได้จากแหล่งรายได้ใดบ้าง แต่ละครอบครัวได้สิทธิอะไรบ้าง”

นี่คือการทำงานเบื้องต้นของครูที่มีส่วนช่วยในกระบวนการพัฒนาเด็กเยาวชนนอกระบบ ตำบลสวายนั่นเอง

การทำงานตรงนี้รู้สึกแฮปปี้มากที่ได้ช่วยตรงนี้

ในการคัดกรองเด็กขึ้นไปให้โครงการได้พิจารณาอีกรอบ

ติดตามกิจกรรมในเวทีได้ที่นี่