"ต.สวาย" มีจุดแข็ง ช่วยให้งานพัฒนาเยาวชนนอกระบบเป็นไปได้จริง

โครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา จังหวัดสุรินทร์เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) สมัชชาการศึกษาจังหวัดสุรินทร์ คณะกรรมการการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ 25 อปท.จังหวัดสุรินทร์ และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เพื่อการพัฒนาเยาวชนนอกระบบการศึกษาในพื้นที่ขยายผล 25 อปท.จังหวัด มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มสมรรถนะศักยภาพของผู้บริหารและเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ให้มีบทบาทเป็น "พี่เลี้ยง" ทำหน้าที่โคช สนับสนุนและส่งเสริมการเรียนรู้ของเยาวชนด้วยการทำโครงงานพร้อมกระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่น และเป็นเจ้าภาพหลักขับเคลื่อนกลไกเพื่อการพัฒนาเยาวชนนอกระบบการศึกษาระดับตำบล อำเภอและจังหวัด ซึ่งอบต.สวาย อ.เมือง จ.สุรินทร์เป็นหนึ่งในพื้นที่ขยายผล เรามาทำความรู้จักการทำงานด้านเด็กและเยาวชน ของอบต.สวาย ผ่าน "ดวงพร ม่วงอ่อน"นักวิชาการศึกษาชำนาญการ

"ดวงพร"ได้เล่าถึงบทบาทที่ได้รับในการเข้าร่วมโครงการนี้ให้ฟังว่า "งานที่ดิฉันได้รับมอบหมายในโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ความเสมอภาคทางการศึกษา จังหวัดสุรินทร์ คือเป็นตัวแทนของตำบลที่จะต้องนำข้อมูลที่ได้ลงพื้นที่ในการศึกษาข้อมูล หารายละเอียดเกี่ยวกับน้อง ๆ ที่ไม่ได้เรียนในระบบในตำบล นำเป็นข้อมูลสรุป เพื่อจะได้ดำเนินการลำดับถัดไป เพื่อดำเนินการในเรื่องของการไปแนะนำน้อง ๆ หรือไปให้ความรู้กับน้อง ๆ ในเรื่องของการเพิ่มคุณภาพชีวิตของแต่ละคนซึ่งน้อง ๆ ที่ออกนอกระบบการศึกษาส่วนมากมีคุณภาพชีวิตน้อยอยู่แล้ว นักถักทอชุมชน (เป็นชื่อที่ใช้เรียกเจ้าหน้าที่ที่เข้าร่วมโครงการนี้) ของตำบลเป็นส่วนหนึ่งที่จะไปคอยให้ความช่วยเหลือกับน้องๆ กลุ่มนี้”

ซึ่งเจ้าตัวได้ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการนี้ว่า "ถือเป็นโครงการที่ดีที่ให้โอกาสน้อง ๆ ในกลุ่มเด็กนอกระบบ ซึ่งน้อง ๆ กลุ่มนี้บางคนขาดโอกาสในการเข้าถึงหน่วยงานต่าง ๆการขาดโอกาสตรงนี้อาจเกิดจากหลายปัจจัย ปัจจัยเบื้องต้นอาจเป็นเพราะน้อง ๆ มองว่าตัวเองไม่มีค่าในสังคม ขาดการดูแลจากสังคม ขาดการเอาใจใส่จากสังคมบ้าง จากครอบครัวบ้าง เป็นหลาย ๆ ปัจจัย หน้าที่ของเราคือไปศึกษาค้นคว้า หาข้อมูลในจุดนี้ ว่าปัญหาของน้อง ๆ ว่าเกิดจากอะไรแต่บางคนก็มีปัญหาที่เกิดจากตัวของเขาเอง ซึ่งเราก็ต้องให้คำแนะนำ ให้ความรู้ ช่วยเหลือน้อง ๆ กลุ่มนี้ขึ้นมา ซึ่งในตำบลของเราตอนนี้ ตัวแทนเจ้าหน้าที่ก็ได้ลงไปให้ความรู้น้อง ๆ และน้องบางคนก็ได้มาร่วมกิจกรรมกับ อบต.สวาย ทางเราพยายามที่จะชักชวนน้อง ๆ ให้มาร่วมกิจกรรม กิจกรรมจิตอาสาบ้าง กิจกรรมในตำบลบ้าง เพราะว่าในตำบลของเรามีกิจกรรมในชุมชนค่อนข้างเยอะ ยกตัวอย่างเช่น ช่วงเข้าพรรษาจะมีกิจกรรมทำบุญเก้าวัด ทำบุญเลี้ยงพระทุก ๆ วันเสาร์ ซึ่งกิจกรรมนี้จะมีผู้นำหมู่บ้าน และผู้นำจากส่วนต่าง ๆ ไปทำบุญร่วมกัน”

“ประเพณีวัฒนธรรมของเรามีค่อนข้างที่จะแน่นและชัดเจน เพราะว่าตำบลสวายเป็นตำบลที่หลากหลายในเรื่องของความสมบูรณ์ทางทรัพยากร ที่มีหลายอย่าง มีความสมบูรณ์มาก และอีกกิจกรรมหนึ่งที่จะชักชวนน้อง ๆ คือกิจกรรมของสภาเด็กและวัฒนธรรม จะพยายามให้น้อง ๆ เหล่านี้มามีส่วนร่วมกับสภาเด็กของตำบล และกิจกรรมจิตอาสาทุก ๆ วันที่ 28 ทางตำบลจะมีกิจกรรมทุกเดือน จะมีทั้งผู้นำหมู่บ้าน นัดกันว่าวันที่ 28 เราจะพัฒนาจุดไหนของตำบล เป็นการเวียนกันไปในแต่ละหมู่บ้าน หลัก ๆ คืองานประมาณนี้ที่เราดำเนินการอยู่ และในอนาคตข้างหน้าต่อ ๆ ไปก็เชื่อว่าเราจะพยายามทำงานที่เข้าไปให้ลึกกว่านี้และช่วยน้อง ๆ ให้ได้มากกว่านี้"

นอกจากหน้าที่ในโครงการที่ได้รับแล้ว “ดวงพร”ยังอธิบายงานหลักให้ฟังด้วยว่าต้องรับผิดชอบงานด้านใดบ้าง "บทบาทหน้าที่หลัก คือ รับผิดชอบในเรื่องการศึกษาวัฒนธรรม เรื่องของการศึกษาทั้งโรงเรียนของ สพฐ. โรงเรียนศูนย์เด็ก ส่วนด้านวัฒนธรรม ตำบลเรามีวัฒนธรรมหลายด้าน ทั้งด้านดนตรี ด้านอาหาร วัดแต่ละวัดจะมีงานแห่เทียนเข้าพรรษา งานลอยกระทง งานก่อเจดีย์ข้าวเปลือก งานขึ้นเขาสวาย งานก่อเจดีย์ทราย งานกวนข้าวทิพย์ งานแซนโฎนตา ประเพณีวัฒนธรรมเช่นรำตร๊ด กันตรึม ซึ่งหน้าที่ของ อบต.คือไปมีส่วนเกี่ยวข้องในการสนับสนุนงบประมาณ เรื่องการจัดกิจกรรม เวทีกิจกรรมที่ให้ชาวบ้านหรือให้น้อง ๆ ในตำบลสวายได้มีกิจกรรมในการดำเนินงาน มีกิจกรรมการมีส่วนร่วม ซึ่งตรงนี้คิดว่าเป็นตำบลที่แน่นแฟ้นและมีจุดแข็งในเรื่องของวัฒนธรรมมากๆ เลย จุดแข็งในเรื่องของความร่วมมือของคนในชุมชนจะเข้มแข็ง ชุมชนเข้มแข็ง สรุปคือต.สวายมีจุดแข็งที่ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก และทรัพยากรบุคคลก็เข้มแข็ง รวมถึงทรัพยากรวัฒนธรรมก็เข้มแข็งก็คิดว่าถ้ามีหน่วยงานหรือมีบุคลากรหรือมีองค์กรมาให้การสนับสนุนน้อง ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในระบบโรงเรียน เป็นเด็กนอกระบบเพิ่ม ก็คิดว่าน่าจะช่วยได้เยอะค่ะ เพียงแต่ว่าตอนนี้ตัวเองก็ขาดการประสานงานการดูแลน้อง ๆ กลุ่มนี้ ก็คิดว่าทางนักถักทอฯ หรือทางองค์กรที่มาช่วย ถือว่าต้องขอบคุณที่มาให้ทางเราได้ถูกกระตุ้น กระตุ้นให้เรา คอยแนะนำว่าควรทำแบบไหนอย่างไร ทำให้เรารู้กระบวนการที่จะเข้าไปถึงน้อง ๆ รู้กระบวนการและวิธีที่จะเข้าไปถึงตัวน้อง ๆ"

หลังจากอบต.สวาย เข้าร่วมโครงการนี้ ได้มีการอบรมเสริมองค์ความรู้ให้แก่ เจ้าหน้าที่อปท.ที่เข้าร่วมทุกคน เวทีแรกในเวทียกระดับสมรรถนะบุคลากรท้องถิ่นเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาเด็กเยาวชนจังหวัดสุรินทร์ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 30 - 31 กรกฎาค 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งเจ้าตัวก็สะท้อนสิ่งที่ตนเองได้เรียนรู้ว่า "สิ่งที่ได้รับจากการเข้าร่วมอบรมคือกระบวนการและวิธีการคือ การนำกิจกรรมที่จะนำไปให้น้อง ๆ ดำเนินการ ของเรานำกิจกรรมที่เรามีอยู่แล้ว ไปชวนน้อง ๆ เข้ามามีส่วนร่วม โดยการให้คุณค่าให้ความสำคัญกับน้อง ๆ เพื่อให้เขาได้เกิดความภูมิใจว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งในตำบลสวาย ที่เขาจะมีคุณค่าในตัวเขา ไม่ใช่ไปตรงไหนก็มีแต่คนไม่ใส่ใจ ไม่อยากรับเขา สังเกตน้องจะขาดความกล้าหาญในการที่จะแสดงออกในการที่จะนำเสนอตัวเองว่าตัวเองมีคุณค่านะ น้องกลุ่มนี้เขาชอบคิดว่าตัวเขา อยู่บ้านพ่อแม่ก็ด่า ไปไหนสังคมก็ไม่เอา เขาจะคิดอย่างนั้น แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่ เราก็พยายามให้คุณค่า พยายามชักชวน ตอนนี้บางเรื่องก็จะถามเขาว่าเขาชอบด้านไหนในเรื่องของอาชีพ เขาค้นพบตัวเองหรือยัง บางคนเขาอาจจะไม่ได้แสดงออกว่าเขาก็ไม่ได้มีความรู้ความสามารถอะไรที่ต้องไปว่าชอบอะไรอย่างไร คือเขาไม่ได้คิด ว่าตัวเขามีอะไรบ้างในจุดเด่นของเขา ในความรู้ความสามารถของเขา เขาไม่คิด เขาก็อยู่ไปวัน ๆ พอเราได้เข้าไปก็เกิดความสัมพันธ์ร่วมกัน" ถือว่าได้เครื่องมือในการไปทำงานที่เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ซึ่งทำให้เจ้าตัวเข้าใจบทความ “พี่เลี้ยง” ได้ดียิ่งขึ้น "บทบาทของเราเองกับเด็กเยาวชนก็คิดว่าเป็นฝ่ายเชื่อมระหว่างองค์กรกับน้อง เพื่อให้น้องมีบทบาทกับองค์กร กับงาน หรือกับตำบลมากขึ้น เราเป็นฝ่ายที่คอยให้กำลังใจน้องๆ เป็นฝ่ายที่ไปประสานงานว่าน้องต้องการอะไร เราเป็นตัวเชื่อม ช่วยแนะนำให้น้องเขามาแล้วมีที่ปรึกษาว่าเขารู้จักพี่เด่นนะ รู้จักพี่มาโนชนะ รู้จักพี่เปิ้ลนะ จะทำอะไรก็เข้าหาคนนี้นะ คนนี้ก็จะเป็นฝ่ายที่นำข้อมูลไปถ่ายทอดให้น้อง ๆ ต่ออีกทีหนึ่ง ซึ่งตัวเขาเองอาจจะไม่กล้าไปคุยกับผู้ใหญ่ ไม่กล้าไปพบปะกับสังคม เราก็เป็นฝ่ายให้กำลังใจ สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้กับตัวเขา"

ซึ่งวิธีการทำงานในรูปแบบนี้ "ดวงพร" อธิบายเพิ่มว่าเพิ่งเริ่มนำมาใช้และเริ่มเห็นผล"วิธีการทำงานแบบนี้เพิ่งทำมาตอนที่ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ ก็จะได้เข้าไปเรียนรู้ ได้เข้าไปดูจากที่อื่น เขาถ่ายทอดที่เขาทำมาสำเร็จ ในเรื่องของกระบวนการ เราก็พยายามเก็บความรู้ต่าง ๆ ของเขามาปรับใช้กับตำบลของตัวเอง แต่ถามว่าลงไปเต็มที่หรือยัง ตอนนี้ก็ยังไม่เต็มที่ แต่ในใจก็อยากจะลง เพราะว่ากับน้อง ๆ จุดนี้ ถ้าเราได้ลงไปถึงตัวเขาจริง ๆ ซึ่งเขาสามารถที่จะมีอนาคตที่ดีได้

ตอนนี้เราได้เครื่องมือชวนเด็กเข้ามาทำงานแล้ว แต่ยังไม่ได้นำไปทดลองใช้จริงยังเป็นเบื้องต้นที่กำลังจะเริ่มเข้าไปหาน้อง ๆ จะทำโดยวิธีไหน จะเริ่มอย่างไร จากที่แต่ก่อนก็มีความคิดว่าบางครั้งก็ดูจะยาก จากแต่ก่อนก็คิดว่าเราจะเข้าไปอย่างไรนะ น้องเขาจะคุยกับเราไหม เราคือใคร เขาจะมาคุยกับเราหรือ เราก็ไม่ใช่คนในพื้นที่ จะมาตีสนิทกับเขา เพื่ออะไร เขาก็คงตั้งคำถามในตัวเขาอยู่แล้วว่าคุณคือใคร มาทำไม แล้วฉันคือใคร แต่พอหลัง ๆ มาก็จะมีเทคนิคประมาณว่าเริ่มสร้างความคุ้นเคย หรือไม่ก็ค่อย ๆ เขยิบเข้าไป อาจจะใช้กิจกรรม เชิญมาร่วมกิจกรรม อบรมบ้าง เอางานในหน้าที่ของเราไปเป็นตัวช่วยในการเชิญน้อง ๆ เข้ามา และในด้านของกีฬาก็ได้ และงานประเพณีวัฒนธรรม จะลงพื้นที่บ่อย ๆ กับกิจกรรมของหมู่บ้าน"

เจ้าตัวเล่าเพิ่มเติมถึงวิธีการทำงานที่เริ่มเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ได้ผลมากขึ้น "สำหรับความสัมพันธ์ระหว่าง อบต.กับเด็กและเยาวชน ที่มาทำงานประสานกัน ค่อนข้างมีมายาวนานอยู่แล้ว แต่ว่าความชัดเจนแต่ก่อนอาจจะยังน้อย พอมีวิธีการลงไปเชื่อมปุ๊บ น้องๆ ที่อยู่ในระบบกล้าที่จะขึ้นมาเริ่มที่จะมีบทบาทมากขึ้น เขาเริ่มกล้า เวลามีงานกิจกรรมก็จะให้พี่นำน้องหรือพี่เป็นฝ่ายสันทนาการให้กับน้อง ๆ อย่างล่าสุดคือกิจกรรมสภาเด็กและเยาวชนของตำบลสวายก็จะนำน้อง ๆ ตรงนี้ ให้เขามา เขาจะเป็นผู้นำ ชักชวนน้อง ๆ ทำกิจกรรมโน้นนี่นั่น และหน่วยงาน อบต.เองโดยหน้าที่ ตรงนี้เราต้องทำอยู่แล้ว เราก็พยายามที่จะเอาข้อมูลที่เราไปเรียนรู้มาใช้ในหน้าที่ของเราด้วยก็ค่อนข้างได้เยอะ ก็พัฒนาตัวเองด้วย"

สำหรับสิ่งที่ตนเองได้รับจากการเข้าร่วมโครงการคือ "ตัวเองได้พัฒนาเรื่องความกล้าแสดงออกในการใช้คำพูด การใช้ภาษาในการสื่อสารกับน้อง ๆ ว่าเราควรใช้คำพูดแบบไหน ไม่ใช่จะวิชาการมาก เหมือนไปเล่นกับน้อง ๆ ลดอายุตัวเอง จะไม่ดุเขาเรียกเขาว่าหนู ทำอย่างนั้น อย่างนี้ อย่างนี้ ๆ นะ ให้น้องเขาเกิดความเป็นกันเอง สร้างความเป็นกันเอง พอมีอะไรเขาก็จะมาคุยกับเรา แต่ยังไม่มีกรณีไหนที่เราลงไปลึก ๆ ยังไม่มี และในเรื่องของการประสานงานก็คิดว่าโครงการการศึกษาพิเศษเพิ่งเข้ามา ดังนั้นการเข้ามาต้องดูด้วยว่าจะเริ่มจากจุดไหน การที่จะแนะนำน้อง ๆ เริ่มทำงานเชื่อมประสานกันในองค์กรที่ทำเกี่ยวกับเรื่องเด็กและเยาวชน ทำงานเป็นเนื้อเดียวกัน จากแต่ก่อนไม่ได้เป็นแบบนี้ ต่างคนต่างทำ เหมือนมาเช้าเย็นกลับ มาเช้าเย็นกลับ ไม่มีแผนงาน แต่ตอนนี้เริ่มมี เริ่มสร้าง เริ่มค่อย ๆ ขยับตามสเต็ปงาน"

นอกจากนี้ยังได้วิธีคิดที่นำมาปรับใช้กับการทำงานแบบใหม่ด้วย "อาจารย์หยิก (นายจรายุทธ สุวรรณชนะ วิทยากรอิสระ) ให้เราทำกิจกรรมแต่ละกิจกรรม อาจารย์ไม่ได้สอนเราด้วยคำพูด ไม่ได้สอนเราด้วยวิชาการ แต่เขาใช้เทคนิควิชาการให้เราอ๋อ ใครเขาจะคิดว่าเอาธูปยกไข่ได้ เราก็อืม ต้องรู้จักวางแผน ทำอย่างไรจะสอดธูปเข้าไปแล้วยกไข่ จากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งโดยไม่ให้ตกได้ ถ้าพูดโดยคำพูด โดยที่ไม่ให้เราคิด เราก็ไม่มีใครเชื่อว่าธูปยกไข่ ย้ายจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งได้ เราก็อ๋อ ทำอะไร เราต้องรู้จักการวางแผนวางสเต็ปงาน ว่าอันดับแรกเราควรทำอย่างไร การวางแผนจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งว่าทำอย่างไรแล้วจะแก้ปัญหาได้กระบวนการ ซึ่งแผนงานแต่ละอย่างมันก็ไม่ได้เป็นอะไรที่เป็นบล็อก มันขึ้นอยู่กับตัวปัญหา หรือตัวงานตรงนั้น เราควรจะทำอย่างไร ใช้สมองมากกว่า ใช้สมองคิดกระบวนการ โดยเอาความรู้ที่เราไปเรียนรู้มาวิเคราะห์ แต่ละงาน ๆ จากที่เรามองข้างนอก ทำไมเขาให้เรามาทำกิจกรรมแบบนี้ ทำกิจกรรมแบบนี้ พอมาวิเคราะห์ดู ก็อ๋อ รู้แล้วว่าทำไมเขาเอากิจกรรมนี้มาสอนเรา มาให้เราเรียนรู้ เพื่อนำกิจกรรมนี้ไปปรับประยุกต์ใช้กับปัญหาของเรา คิดว่าอย่างนั้นนะคะ อันนี้เป็นความรู้สึกส่วนตัวนะคะ พอกลับมาก็เริ่มเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานของตัวเอง ทำตาม สเต็ป 1 2 3 ไม่ใช่มาถึงแล้วไม่รู้ มีงานบนโต๊ะ ทำให้เสร็จแล้วจบไป เราก็เริ่มเอาแผนงาน เริ่มมีแผน ทำงานเริ่มมีแผน เริ่มเอาระเบียบ เอากฎ เอาแบบแผนที่เขาทำแล้วประสบความสำเร็จมาให้เราทำ"

นอกจากนี้ยังเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านจิตใจอีกด้วย "สิ่งที่ได้จากการอบรมอีกอย่างคือเรื่องจิตใจมีสมาธิในการที่จะต้องนิ่งกับเรื่อง ๆ นี้นะ อย่าเพิ่งอารมณ์ร้อน ทำอะไรไม่สำเร็จก็ย้อนกลับไปทำเริ่มต้นใหม่ อย่าเพิ่งหมดกำลังใจ ในเรื่องของการทำความดีและในเรื่องของอะไรอีกหลายๆ อย่างเอามาผสมกัน ถ้าทำไม่สำเร็จก็ทำใหม่ ถ้าทำแล้วได้ยินเสียงกระทบในแง่ลบก็ไม่เป็นไร เราถือว่าเราทำดี เพราะว่าวิทยากรหลาย ๆ ท่านบอกว่าทำแบบนี้ดี ทำแบบนี้ได้ช่วยเด็ก ๆ ได้ช่วยตำบลนะ ถึงคนอื่นมองไม่ดีแต่เรารู้ตัวเองว่าเราทำดี สามารถไปช่วยคน ๆ หนึ่งได้ และคน ๆ หนึ่งก็สามารถสร้างสิ่งที่มีประโยชน์ สิ่งที่มีคุณค่าให้กับชุมชน แทนที่จะไปสร้างความเดือดร้อนให้กับชุมชน เขาไม่ทำ เขากลับไปสร้างประโยชน์ อย่างน้อย คน ๆ นั้นเขาคิดในแง่บวกเห็นและช่วยรักษาสมบัติของชุมชน สร้างความดีให้กับชุมชน มีจิตอาสา ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว

ถ้าทำให้น้องเขาหลุดจากจุดนี้ได้ เปลี่ยนจากการมั่วสุม จับกลุ่มกัน แต่เขากลับมาทำจิตอาสา ช่วยงานวัดบ้าง ช่วยล้างถ้วยล้างจานบ้าง ช่วยกวาดขยะในตำบลบ้าง ก็ถือว่าประสบความสำเร็จกับตรงนี้ ถึงน้องเขาจะไม่มีอาชีพ แต่ถ้าเขาได้เปลี่ยนความคิดตรงนี้ก็ถือว่าประสบความสำเร็จในการทำงานของตัวเองแล้ว”

“ดวงพร” ฝากทิ้งท้ายไว้ว่า “สำหรับเป้าหมายของตัวเองคิดว่าถ้าทำได้แค่นี้ก็สำเร็จแล้ว ถ้าน้องเขาสามารถเปลี่ยนตัวเอง มาช่วยงานในชุมชน สักพักหนึ่งเขาก็จะเป็นตัวอย่างในชุมชนได้รับโอกาสจากผู้นำหรือจากผู้ใหญ่ ที่เขาคอยไปแนะนำ คอยไปชี้แนะ เขาก็คงจะได้ข้อมูล หรือได้โอกาสดี ๆ ได้ทำโอกาสดี ๆ ตรงนี้ ตัวเองมั่นใจว่าเด็กกลุ่มนี้น่าจะเกิดการพัฒนา จะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับตัวน้อง ๆ เอง"