"มาโนช" มุ่งมั่นทำเพื่อเยาวชน ต.สวาย

โครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา จังหวัดสุรินทร์ เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) สมัชชาการศึกษาจังหวัดสุรินทร์ คณะกรรมการการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ 25 อปท.จังหวัดสุรินทร์ และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เพื่อการพัฒนาเยาวชนนอกระบบการศึกษาในพื้นที่ขยายผล 25 อปท.จังหวัด มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มสมรรถนะศักยภาพของผู้บริหารและเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ให้มีบทบาทเป็น "พี่เลี้ยง" ทำหน้าที่โคช สนับสนุนและส่งเสริมการเรียนรู้ของเยาวชนด้วยการทำโครงงานพร้อมกระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่น และเป็นเจ้าภาพหลักขับเคลื่อนกลไกเพื่อการพัฒนาเยาวชนนอกระบบการศึกษาระดับตำบล อำเภอและจังหวัด ซึ่งอบต.สวาย อ.เมือง จ.สุรินทร์ เป็นหนึ่งในพื้นที่ขยายผล เรามาทำความรู้จักการทำงานด้านเด็กและเยาวชน ของอบต.สวาย ผ่าน "มาโนช พิมพ์สัน" ผู้ช่วยเจ้าพนักงานธุรการกองการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ที่มาเข้าร่วมโครงการและมีบทบาทสำคัญในการทำงานด้านเด็กและเยาวชนเช่นเดียวกัน

"มาโนช" บอกว่าตนมาสมัครเป็นนักถักทอชุมชนเพราะความสมัครใจ"ผมมาเป็นโดยสมัครใจ ทาง อบจ.สุรินทร์มีหนังสือมาที่หน่วยงาน (อบต.สวาย) และให้เราพิจารณาดูว่าจะเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วม มีข้อดี ข้อด้อย อย่างไร ซึ่งมีความต่อเนื่องจากโครงการที่แล้ว ซึ่งผมก็เข้าร่วมด้วยพอมีโครงการนี้เข้ามาจึงมาเข้าร่วมอีกครั้งทั้งโดยหน้าที่ด้วย และโดยความสมัครใจด้วยครับ"

"ซึ่งเดิมที อบต.สวาย และเจ้าหน้าที่ทางกองการศึกษาฯ เคยเข้าร่วมโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ ในการติดตามค้นหาเด็กนอกระบบให้กลับเข้าสู่กระบวนการศึกษาในระบบการศึกษาและฝึกอาชีพให้กับกลุ่มเด็กเหล่านี้ให้เป็นไปตามความต้องการของเขา ให้เขาสามารถมีอาชีพ มีทักษะอาชีพติดตัว สามารถไปทำงานได้ โครงการดังกล่าวเข้ามาประมาณปี 2558 ร่วมกับ อบจ.สุรินทร์ และกองทุน กสศ. (กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา) มีหนังสือประชาสัมพันธ์มา เชิญทางผู้บริหาร ปลัด และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าไปรับทราบ และชี้แจงเกี่ยวกับการดำเนินโครงการ ฟังแล้วก็คิดว่าจะเกิดประโยชน์กับการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ โดยพื้นที่มีหน้าที่ในการค้นหา ในการช่วยเหลือเด็กที่อยู่ในพื้นที่ของตนเอง ผมจึงมองว่าน่าจะเป็นการช่วยเด็กกลุ่มนี้ให้เข้าสู่ระบบได้ จึงสมัครเข้าไปร่วมกับโครงการ"

"ที่สนใจเข้าโครงการนี้เพราะว่ามีสถานการณ์ในพื้นที่ที่มีเด็กเยาวชนที่หลุดจากระบบ ที่ไม่ได้ไปเรียนต่อ ไม่มีงานทำ เขาก็จะอยู่แบบว่างงาน จับกลุ่มกัน สร้างปัญหาเดือดร้อนวุ่นวายให้กับชุมชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสิ่งเสพติด เรื่องของปัญหาเด็กแว้น การทะเลาะวิวาท เรื่องของการลักเล็กขโมยน้อย แล้วที่สำคัญคือว่างงาน ไม่มีอะไรทำ ก็เป็นปัญหาเดือดร้อนของพ่อแม่ผู้ปกครอง ตอนที่ผมอยู่ในพื้นที่ตำบลสวายเองก็มองแล้วเด็กที่มีปัญหาค่อนข้างเยอะ เด็กที่หลุดออกจากระบบ บางทีเรียนในระบบแล้วไม่อยากเรียนก็ออกมา อันนั้นคือเรามองเห็นสถานการณ์แล้วแต่ยังไม่ได้ลงมือทำชุดข้อมูล ยังไม่มี ก็จะมีหน่วยงานที่รองรับคือ กศน. ถ้าเด็กเขาอยากเรียน เขาก็จะมาสมัครเอง เด็กที่เราประเมินแล้วว่ามีปัญหาน่าจะประมาณ 35% ที่หลุด บางทีทางโรงเรียนก็ยังไม่ได้จำหน่ายชื่อออกจากระบบในสถานศึกษาก็มี แต่ว่าเขาออกมาเอง"

"เห็นว่าโครงการจะมีประโยชน์กับเด็กและเยาวชนในตำบลของเราเอง อย่างน้อยเขาได้มาเรียน กศน.ก็ยังดี และได้ฝึกอาชีพ พัฒนาทักษะชีวิต และพัฒนาทักษะการงาน ให้ติดตัวไป พอผ่านช่วงวัย 18 ฝนคนอันตรายแล้ว ในช่วงเวลานั้น เขาก็จะมีความคิดเป็นผู้ใหญ่ มีความรับผิดชอบ รู้ว่าอะไรควรหรือไม่ควร รู้บาปบุญคุณโทษมากขึ้น มีจิตสำนึกที่ดีในการที่เขาได้เป็นผู้ใหญ่ มีความคิดแบบผู้ใหญ่มากขึ้น มีความรับผิดชอบมากขึ้น ให้ผ่านช่วงวัยอันตรายก่อน ซึ่งได้มีบุคคลหรือหน่วยงานที่จะเข้าไปในเรื่องของลักษณะการเป็นนักถักทอ พี่เลี้ยงให้ความสำคัญกับเขา เข้าใจเขา ให้คำแนะนำเขา และดึงเขาเข้ามา ไปสู่ในทางที่มันดีขึ้น สร้างสรรค์ขึ้น อย่างน้อยได้เข้าสู่ระบบการเรียน"

“สำหรับบทบาทในโครงการนี้ ผมเป็นนักถักทอฯ เป็นทั้งพี่เลี้ยง พี่ชาย เป็นอาจารย์ให้เขาได้ ให้เขารู้สึกอบอุ่น ไว้วางใจเรา ที่เราจะเข้าไปหาเขาแล้วเราสามารถช่วยเหลืออะไรเขาได้ สามารถให้อะไรเขาได้

"ตอนแรกที่เข้าร่วมรู้สึกว่าน่าจะท้าทายดี คือการลงไปพบเด็กเยาวชน เพราะเด็กกลุ่มนี้จะมีนิสัยที่พิเศษออกไป แตกต่างจากเด็กในระบบที่อยู่ในระเบียบวินัยของโรงเรียน ครูบาอาจารย์ อบรมสั่งสอน แต่เด็กกลุ่มนี้ออกมาแล้วจะมีพฤติกรรมที่พิเศษ เช่น ความดื้อ ความแข็งกระด้าง ดังนั้นเราจะทำอย่างไรให้เข้ากับเขาได้ มันท้าทาย ต้องใช้จิตวิทยาเข้าช่วย ดีที่ว่าเราอยู่ในพื้นที่ เด็กเขาก็จะรู้จักเรา เราก็มีบทบาทมาหลายด้าน เดิมทีผมบวชอยู่ก็เป็นครูสอนศีลธรรมในโรงเรียน พวกเขาออกจากระบบก็เคารพเป็นพระอาจารย์ ก็รู้จักเขา ยิ่งเราอยู่ในพื้นที่ตรงนี้ด้วยแล้วก็ยิ่งมีความคุ้นเคยมากขึ้น รู้ว่าเขาเป็นลูกใคร พ่อแม่ชื่ออะไร อยู่ที่ไหน ก็เลยช่วยให้เราเข้ากับเด็กได้ง่ายขึ้น แต่ก็ท้าทาย"

หลังจากเข้าร่วมโครงการ ได้มีการอบรมในเวทียกระดับสมรรถนะบุคลากรท้องถิ่นเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาเด็กเยาวชนจังหวัดสุรินทร์ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 30 - 31 กรกฎาคม 2562 หลังไปอบรมมาแล้ว "มาโนช" บอกว่าได้ความรู้และทักษะใหม่ที่สามารถนำไปใช้ได้จริง "สิ่งที่นำไปใช้ได้จริงคือวิธีการทำงานที่จำเป็นต้องทำงานเป็นทีม มีเครือข่ายที่จะคอยช่วยเหลือเรา และเรื่องของการเป็นนักฟังที่ดี ฟังปัญหากับกลุ่มเด็กนอกระบบ ไม่ใช่เราไปเสนอความคิดเห็นหรือคุยให้เขาฟังมากเกินไป อย่างน้อยลดในเรื่องตรงนี้แล้วให้เขาได้ระบายความรู้สึก เขาจะได้มีความคุ้นเคย ไม่เก้อเขิน และมั่นใจมากขึ้น ส่วนเรื่องการทำงานก็มีกลุ่มสภาเด็กและเยาวชนที่จะช่วยขับเคลื่อนงานตรงนี้ ลำพังคนเดียวหรือสองสามคนที่ไปอบรมเป็นนักถักทอฯ ก็ไม่ได้ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของภาคีเครือข่ายทุกเครือข่าย แต่ทาง อบต.สวายก็จะฝึกสภาเด็กและเยาวชนให้เขาได้มีจิตอาสาและเสียสละ"

สำหรับบทบาทนักถักทอฯ “มาโนช” บอกว่าบทบาทนี้ทำให้เขาสามารถช่วยเหลือเด็ก ๆ "เมื่อเราค้นพบพวกเขา(เด็กนอกระบบ)แล้ว เราสามารถช่วยเขาได้ในด้านการพูดคุย เป็นเพื่อน เป็นพี่ เป็นน้อง พูดคุยกับเขา จากที่ได้เป็นนักถักทอฯ ได้เครื่องมือในเรื่องการพูดคุยให้เขามีกำลังใจ มีความหวัง ไม่สิ้นหวัง ในการดำเนินชีวิต"

ซึ่ง“มาโนช” มีบทบาทในการทำงานด้านเด็กและเยาวชนในฐานะเจ้าหน้าที่อบต.ด้วย ได้ผ่านการทำโครงการเยาวชนมาส่วนหนึ่งด้วย ซึ่งการเข้าร่วมโครงการนี้ถือว่ามาช่วยเติมเต็มงานหลักของตนได้เป็นอย่างดี "มีโครงการฝึกอาชีพให้กับเด็กและเยาวชนทั้งในและนอกระบบ เช่น งานปูนปั้น การทำอักษรปูนปั้นเพื่อตบแต่งสวนท่องเที่ยว ก็เคยพาเด็กทำ และเข้าร่วมโครงการการศึกษาเชิงพื้นที่ก็ค้นหาเด็ก จำนวนกลุ่มหนึ่ง ก็ให้เขาฝึกอาชีพเรื่องของเครื่องยนต์ เครื่องตัดหญ้า เครื่องสูบน้ำ รถไถ เขาก็มีทักษะติดตัว เขาสามารถไปซ่อมเองได้ เพราะเขาก็มีเครื่องมือทางการเกษตร มีเด็กจบ 25 คน ที่จบหลักสูตรผู้หญิง 12 คน และสามารถประเมินได้เลยว่าทำไมเด็กกลุ่มนี้ถึงไม่มา บางทีเขาอาจจะไม่ชอบก็ได้ หรือเขาไม่อดทน หรือมีภาระหน้าที่ที่ต้องไปทำอย่างอื่น เพราะเขาขาดรายได้ ต้องไปทำงาน แต่ 12 คนนี้ยังมีความสนใจและต้องการจนสำเร็จการศึกษา ก็จะมีหน่วยงานวิทยาลัยสารพัดช่างเข้ามาช่วยเป็นอาจารย์ เป็นวิทยากรสอนให้ตอนเข้าร่วมโครงการ"

และมีส่วนผลักดันแผนงานเข้าสู่งบประมาณประจำปีของอบต.อีกด้วย"เราในฐานะเจ้าหน้าที่ อปท. เราก็จะมีเรื่องของความต้องการของเด็กและเยาวชน เขาเสนอความต้องการมา เพราะเขามีกลุ่มสภาเด็กและเยาวชน เขาเสนอความต้องการมา เราก็นำเข้าสู่แผนพัฒนาท้องถิ่น แผนพัฒนาตำบล เพื่อกลั่นกรองเข้าสู่เรื่องของโครงการ เสนอเข้าไปของบประมาณในข้อบัญญัติ กิจกรรมเราจะมีเยอะ ทางอบต.มีงบแผนเยาวชนโดยตรง กองการศึกษาจะรับผิดชอบโดยตรง แผนจะอยู่ในหมวดของกองการศึกษา ตั้งแต่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กมาจนถึงระดับเยาวชน ทั้งในและนอกระบบ ปีหนึ่งเรามีงบประมาณตรงนี้ประมาณหลักแสนบาท เพราะมีหลายโครงการ ของปี 63 อยู่ในข้อบัญญัติแล้ว ทั้งการไปเข้าค่าย และฝึกอาชีพด้วย โครงการของเด็กก็จะพัฒนาให้ครบทั้ง 4 ด้าน"

นอกจากนี้ เจ้าตัวยังมีบทบาทในการเชื่อมประสานกับเครือข่ายภายในตำบล หลังจากการเข้าร่วมโครงการที่ต้องมีกระบวนการลงไปเก็บข้อมูลเด็กและเยาวชน "ได้ประสานไปทางผู้นำชุมชน ผู้ใหญ่บ้าน ทำหนังสือเพื่อขอความร่วมมือเพื่อที่เจ้าหน้าที่ของอบต.จะลงไปติดตาม สำรวจข้อมูลเด็ก ซึ่งผู้นำชุมชน ผู้ใหญ่บ้านจะช่วยเรื่องของการอำนวยความสะดวก และพาเราลงพื้นที่ไปพบกับเด็ก มีการนำเอาวาระนี้เข้าไปหารือและประชุมประจำเดือนของประชาคมหมู่บ้าน มีผู้นำ หน่วยงาน สถานศึกษา รพ.สต. มาร่วมประชุมกันหมด ก็จะนำเรื่องนี้เข้าไป นำเรียนให้ทราบเกี่ยวกับโครงการนี้ว่ามีรายละเอียดอย่างไร ส่วนกลไกการทำงานของตำบลเราสามารถสร้างการมีส่วนร่วมได้อยู่แล้ว แต่เรื่องของการเก็บข้อมูลคือเราต้องลงไปเก็บร่วมกับทางผู้นำชุมชน เราจะปล่อยให้เป็นภาระของท่านไม่ได้ เช่น เราเอาแบบสำรวจมาให้ท่านสำรวจให้ โดยภารกิจงานอะไรต่าง ๆ ของท่านด้วย เหมือนเราเอาภาระ ท่านก็จะรู้สึกลำบากใจ เพราะเราก็ไม่ได้มีการตอบแทนอะไรให้ท่านด้วย เราต้องดำเนินการเอง ดังนั้นโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ ทางส่วนกลางคือ กสศ.ส่งรายชื่อเยาวชนมาให้ 34 คน ผมก็ลิสต์รายชื่อมา สำรวจเบื้องต้นได้ 3 คน และเพิ่มเติมได้อีก 1 คน"

และเจ้าตัวยังเอ่ยถึงเครือข่ายที่เข้มแข็งอีกกลุ่มหนึ่งคือ"เรามีเครือข่ายที่เข้มแข็งอีกเครือข่ายหนึ่ง คือ สภาเด็กและเยาวชนตำบลสวาย ซึ่งได้ประกาศสมาชิกใหม่เรียบร้อยแล้ว มี 21 คน สำหรับการคัดเลือกสภาเด็ก เราให้หมู่บ้านเขาคัดเลือกกันเอง เรามีใบประกาศประชาสัมพันธ์ แล้วแต่เด็กสมัครมา ก็ครอบคลุมทุกหมู่บ้าน ส่วนใหญ่จะเรียนชั้นมัธยม เขาเน้นสัดส่วนชายและหญิงพอดีกัน ชาย 10 คน หญิง 11 คน ประธานสภาฯ คนหนึ่ง เด็กตรงนี้จะเป็นเด็กในระบบทั้งหมด เดิมทีจะมีผู้พิการและผู้ด้อยโอกาสด้วย แต่ตอนนี้หมดวาระไปแล้ว ส่วนใหญ่เขาเรียนชั้น ม.5 เพื่อการทำงานที่เป็นไปด้วยความรวดเร็วในเรื่องการประสานงาน การเข้าใจกัน ทีมเวิร์ก ติดต่อกันได้ง่าย ประสานงานกันได้ง่าย กลุ่มนี้มีจิตอาสาอยู่แล้ว เป็นประธานสภาโรงเรียนด้วย ประธานฯ คนนี้มีภาวะผู้นำ กล้าคิดกล้าทำกล้าแสดงออก ผมได้พาเข้าไปพบท่านทวีป บุญวร นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสวาย เพื่อฟังโอวาทและคำอวยพรจากท่าน"

เมื่อกล่าวถึงท่านนายกฯ “มาโนช” จึงเล่าถึงนโยบายของอบต.ในการทำงานด้านเด็กและเยาวชนให้ฟังกันต่อ "สำหรับแนวทางการขับเคลื่อนเด็กเยาวชนในพื้นที่ของเรา ท่านนายกฯ ให้ข้อคิดว่าเราจะมีจิตอาสา ที่มีส่วนร่วมพัฒนาชุมชนได้อย่างไรบ้าง รวมทั้งวัดด้วย ศาสนสถาน ท่านนายกฯ เดิมท่านเป็น ผอ.สถานศึกษา ระดับชั้นประถม ในหลายๆ โรงเรียน ท่านเกษียณแล้วลงสมัครการเมืองท้องถิ่น เข้ามารับตำแหน่งตอนปี 2555 จนถึงปัจจุบัน ส่วนปลัดคือคุณพนัส ศรีฐาน สำหรับชุมชนที่นี่ให้ความร่วมมือกันดีอยู่แล้ว"

“เริ่มแรกตอนเข้าร่วมโครงการ จากนั้นท่านนายกฯ เห็นความสำคัญในอนาคตของลูกหลานในพื้นที่ของตำบลสวาย จึงตั้งงบประมาณเกี่ยวกับการฝึกอาชีพและด้านอื่น ๆ ให้ตรงกับความต้องการของกลุ่มเยาวชน เปิดโอกาส การฝึกอาชีพก็จะเป็นการให้เด็กเลือกอาชีพเอง เราเองก็ประเมินสถานการณ์ด้วยว่าอาชีพอะไรเป็นที่ต้องการของตลาดด้วย และสามารถนำไปประกอบกิจการเปิดร้านประกอบการเองได้ด้วย ตอนนี้มีแล้วเป็นโครงการระยะสั้น 1 เดือน ใช้งบของ อบต. อาชีพก็จะมีงานสกรีนเสื้อ เป็นที่ต้องการของชุมชน เพราะที่นี่ยังไม่มี เขาไปสกรีนแต่ในเมือง ตรงนี้สามารถสร้างอาชีพให้เขาได้เป็นทางเลือกทางเลือกหนึ่ง และทางโรงเรียนเองมีความเห็นควรและต้องการให้สอนอาชีพนี้ให้กับเขา ที่มันไม่เหมือนในหลักสูตรในโรงเรียนที่เขาสอน อันนี้คือเราทำร่วมกับโรงเรียน สอนในโรงเรียนไปเลย แล้วดึงเด็กนอกระบบเข้ามาร่วมทำกิจกรรมโครงการ รวมไปถึงผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ เราจะมีโครงการนี้ของนักพัฒนาชุมชน เขาจะมีการฝึกอาชีพให้ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส และผู้สูงอายุ ในส่วนของศูนย์เด็กฯ ก็จะมีโครงการของคณะครูที่เขาจัดกระบวนการเรียนการสอน จัดกิจกรรมให้กับเด็กอยู่แล้ว ก็จะเอามาตั้งเป็นงบประมาณในข้อบัญญัติเพื่อดำเนินกิจกรรมต่อไป ซึ่งทางอบต.มีงบประมาณให้แก่เด็ก เยาวชน ตั้งแต่ตอนเกิด เริ่มมาประมาณเมื่อ 10 ปีที่แล้ว มาถึงสมัยนายกฯ ทวีป ยิ่งให้ความสำคัญเยอะมากครับ"

“ส่วน อบต.ของเรา ในข้อบัญญัติปีที่ผ่านมาและปี 63 ก็ตั้งในเรื่องของการให้ความสำคัญกับเด็กและเยาวชน ตั้งแต่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก การจัดกระบวนการเรียนรู้ เราให้ผู้ปกครอง ผู้นำ คณะกรรมการศูนย์มามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ตอนนี้สนามเด็กเล่นสร้างแล้ว ทางศูนย์เด็กเล็ก ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นในการจัดกิจกรรมของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมกับครูและนักเรียน เหมือนมาช่วยครูสอน ตั้งแต่เปิดเทอมใหม่ ๆ พ่อแม่ผู้ปกครองก็ต้องมาอยู่เรียนรู้กับเด็กก่อน ก่อนที่จะปล่อยเด็กให้คุ้นเคยกับครู กับสถานที่ของเขา ในกิจกรรมการเรียนการสอนของแต่ละศูนย์เราก็จะมีกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับผู้ปกครองของนักเรียน เช่น วันนี้ผู้ปกครองมาเรียนรู้เรื่องการทำขนม ภูมิปัญญาพื้นบ้าน ร่วมกับนักเรียน ของเรามีศูนย์เด็กเล็ก 3 แห่ง รวมเด็กทั้งหมด 250 คน มีครูเยอะ บางปีจำนวนเด็กก็ต่างกัน เราแบ่งศูนย์เด็กเป็น 3 โซน โซนเหนือครอบคลุมหมู่ 7 – 10 (ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านกระไส) โซนกลาง (ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านสวาย) ให้บริการหมู่ 1 – 6 และโซนใต้ บริการหมู่ที่ 11 – 14 มีครูโซนเหนือ 7 คน ส่วนโซนกลางเป็นศูนย์ใหญ่มีครูเกินสิบคน และครูโซนใต้อีก 5 คน (มีนักเรียนประมาณ 30 คน)"

"ต.สวายมี กศน.ตำบล ส่วนกลางจะเป็นส่วนราชการ บริหาร การวางแผนผังของคนสมัยผู้นำแต่ก่อน ตรงไหนเป็นสถานที่ราชการก็จะนำมาอยู่รวมกัน ให้อยู่ใกล้ ๆ กัน กศน.มีทั้งส่งเสริมการเรียนและการพัฒนาเรื่องของอาชีพด้วย ความรู้ที่ได้มาจากสถานศึกษา ภูมิปัญญาท้องถิ่น ทางโรงเรียนมีเรื่องของอาชีพ เรื่องการจัดหลักสูตรการเรียน”

"โรงเรียนประถมเรามี 3 แห่ง มีขยายโอกาสด้วย และมีโรงเรียนชั้นมัธยม ครอบคลุมถึง ม.ปลาย รวมเป็น 4 แห่ง จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมที่นี่เด็กเยอะ มีเด็กหลุดออกนอกระบบก็เยอะด้วยหลายปัจจัย เคสหนึ่ง เด็กผู้หญิงจบ ม.3 แล้วไม่มีเงินไปจ่าย ติดโรงเรียน 6 พันบาท จึงไม่ได้วุฒิเลย ผมก็คิดว่าจะเข้าไปคุยกับโรงเรียนดู ทำอย่างไรให้เขาได้วุฒิ ม.ต้น คนนี้ผมเลยเพิ่มไปในระบบของโครงการ เขาอยากเรียนต่อ อยากได้ทุน เท่าที่ได้สำรวจมาแล้ว ทั้ง 4 คน ทางอบต.เองก็ไปตั้งงบประมาณ แต่เอาทุนไปให้ก็ไม่ได้ ต้องทำเป็นแนวทางอื่น เช่นโครงการก็ต้องสนับสนุนเป็นกลุ่มที่แต่งตั้งถูกต้องตามกฎหมาย มี พ.ร.บ.รับรอง เช่นสภาเด็กและเยาวชนให้เขามีบทบาทอย่างนี้ ดึงกลุ่มคนเข้ามา ดึงเด็กนอกระบบเข้ามามีส่วนร่วม ฝึกให้เขามีความเป็นผู้นำ”

“ทาง อบต.เองก็จะตั้งงบประมาณช่วยเรื่องของโครงการต่าง ๆ ให้ครอบคลุมตามความต้องการของเขา ว่าเป็นเรื่องของการศึกษาประเพณีวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม อาชีพ ที่มีทุนอยู่แล้วในพื้นที่ของเรา นี่คือจุดเด่นที่สามารถให้เขากลับมาเรียนรู้เรื่องวัฒนธรรมท้องถิ่น และฝึกอาชีพที่มีอยู่ในท้องถิ่นได้ เขาสามารถไม่ต้องไปทำงานที่ต่างจังหวัดห่างไกลครอบครัว เขาสามารถเป็นเจ้าของกิจการเอง หรือรับจ้าง เปิดร้านเองที่นี่ได้ ถ้าชอบการเกษตรก็มีพื้นที่ของตัวเอง ทำนา ทำไร่ ทำสวน เลี้ยงปลา ปลูกผัก เลี้ยงไก่ เลี้ยงวัว เลี้ยงควาย มีเยอะแยะมากมาย"

หลังจากเข้าร่วมโครงการทีมนักถักทอชุมชนของอบต.สวาย ได้ลงไปสำรวจ ข้อมูลเด็ก เยาวชน นอกระบบ ทำให้พบสถานการณ์ปัญหาที่แท้จริง"ตอนที่ลงไปสำรวจ ก็พบว่ามีน้อง ๆ ที่ไปทำงานแล้ว ไปทำงานเฟอร์นิเจอร์ที่กรุงเทพฯ ทำงานก่อสร้าง เพราะเขามีญาติพี่น้อง มีเพื่อน ไปเป็นผู้รับเหมาก็มี หรือมีครอบครัวแล้ว และไม่ได้อยู่ในพื้นที่ ซึ่งเขาสามารถเลี้ยงตัวเองได้ เลี้ยงครอบครัวได้ ไปมีครอบครัว ส่วนที่ออกแล้ว หลุดแล้ว แต่ยังอยู่ในชุมชนก็มี ช่วงตุลาคมที่ผ่านมาได้ลงสำรวจ โดยทำกิจกรรมควบคู่กับกิจกรรมของสภาเด็ก เกี่ยวกับโครงการเยาวชน และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการทำงานและขั้นตอนในการเก็บข้อมูล การสำรวจข้อมูล ก็จะมีการแบ่งหน้าที่สมาชิกของสภาเด็ก เช่น เด็กที่อยู่ หมู่ 1 ก็ไป 2 คน ผมก็ประสานผู้ใหญ่ให้ก่อน ทำรายชื่อมา ทำความเข้าใจกับผู้ใหญ่ ก็จะมีนักถักทอฯ รุ่นเยาวชน ลงไปเก็บข้อมูล ขอให้ผู้ใหญ่ได้ให้อำนวยความสะดวก และช่วยลงพื้นที่กับเด็ก ๆ เก็บข้อมูล เพราะในพื้นที่จะมีสุนัขที่ต้องระวัง หมายความว่าลงเก็บข้อมูลนี้ก็จะเอาสภาเด็ก 21 คนลงเลย แบ่งเลยใครอยู่หมู่ไหนก็ลงให้เรา เขาจะนั่งสัมภาษณ์ ถ่ายรูป"

หลังจากการสำรวจทำให้ทราบข้อมูลเบื้องต้นว่า "เด็กเหล่านี้มีผู้ปกครองอยู่แล้ว บางทีก็ไม่ได้มีฐานะที่ยากจน บางทีก็มีฐานะยากจน ขาดทุนทรัพย์ในการศึกษา การฝึกอาชีพ และการเรียนต่อไปในระดับที่สูงขึ้น จากการลงพื้นที่สำรวจ เด็กเหล่านี้ต้องการเรียนต่อ ม.ต้น 1 – 3 อยากได้ทุนเรียนต่อ อย่างน้อย กศน.ให้จบ ม.ปลายเพื่อให้ได้วุฒิสมัครงาน ส่วนใหญ่งานจะรับวุฒิ ม.ปลาย แต่จะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่อยากเรียนต่อ และกลุ่มที่อยากฝึกอาชีพ ทาง อบต.ก็หนุนทั้ง 2 กลุ่ม”

“ทั้งนี้ทั้งนั้นแล้วลำพังแค่งบประมาณโครงการ คงไม่เกิดความต่อเนื่องได้ เขาได้ความรู้ ได้ลงมือทำ พัฒนาอาชีพแล้ว ต่อไปเขาอาจจะไม่มีทุนทรัพย์ในการเปิดกิจการส่วนตัวของเขา ผมมองแผนระยะไกลหลังจากโครงการ อบต.มีแผนรองรับในเรื่องของการซ่อมเครื่องยนต์ จักรยาน จักรยานยนต์ เครื่องยนต์ดีเซล ก็มองเรื่องทุนเครื่องมือ อบต.ออกทุนเครื่องมือให้เขา ถ้าสำรวจกลุ่มเด็กนี้ได้ จะลองตั้งงบประมาณเกี่ยวกับการช่วยเหลือเครื่องไม้เครื่องมือให้เขา หากเขาจะทำด้านอาชีพ อบต.ก็จะสนับสนุนเครื่องไม้เครื่องมือให้เขา แต่ก็ต้องผ่านช่วงเราติดตาม ลงไปดู ประเมิน ให้เขา ดูความต่อเนื่องของเขา ว่าจะเป็นเจ้าของกิจการเองได้ ตอนแรกคิดว่าจะสร้างศูนย์ซ่อมเสริมที่นี่ให้เขาจับกลุ่มกันมา แต่ยังไม่ได้สร้าง ก็ถือเป็นงานใหญ่ งบประมาณค่อนข้างสูง และเรื่องของพื้นที่ด้วย ตอนนี้ก็ยังเป็นเชิงนโยบายอยู่"

ได้เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมพัฒนาลูกหลานบ้านตนเอง “มาโนช” บอกว่าเพราะมีคติประจำใจที่ที่ยึดไว้เป็นแนวทางการทำงาน "ก็คิดว่าถ้าช่วยเด็กได้ ทำให้เราได้บุญเช่นกัน บุญนี้ก็จะตกสู่เรา สู่ครอบครัว สู่ลูกหลานได้ และลดปัญหาเรื่องการว่างงานให้กับเด็กได้ เด็กก็จะได้รับการศึกษา จบภาคบังคับ และจบที่สูงขึ้นไป เรียกว่าเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้กับเด็ก ให้เด็กได้มีความหวังขึ้นมา ให้เขาได้มีพลังที่จะสู้อีกครั้งหนึ่งในช่วงระยะเวลาที่เขาจบออกมา เลยช่วงเวลาอายุแล้วก็ตาม ไม่เป็นไปตามระบบ แต่ก็ไม่สายสำหรับเขาที่จะเข้าไปสู่ในระบบ ก็ปรับปรุงแก้ไขชีวิตตัวเองใหม่ ให้เขามีความหวัง มีโอกาส อีกครั้ง ไม่ได้คาดหวังอะไรมาก อยากให้เขาได้มีอนาคตที่ดีกว่าเรา ไม่เป็นภาระของพ่อแม่ผู้ปกครอง ไม่เป็นปัญหาต่อชุมชน สังคม พึ่งพาตัวเองได้ มีวุฒิ ได้เรียนต่อ มีวุฒิการศึกษาได้ไปสมัครงาน ได้ฝึกอาชีพให้เขา ให้เขาได้มีอาชีพติดตัว มีงานทำ ช่วยเหลือตัวเองได้ ให้ผ่านจุดในช่วงของวัยรุ่นไปก่อน อยากช่วยประคับประคองให้เขาผ่านช่วงวัยนี้ วัยรุ่นตอนต้นและตอนปลาย เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ สับสนในชีวิตก็มี ด้วยเหตุหลายปัจจัย ทั้งครอบครัวและภายนอกคือเพื่อนฝูงชักชวนไปในทางที่ดีและไม่ดีได้"

สุดท้าย "มาโนช" ฝากถึงทุกคนให้ช่วยกันดูแลเด็กนอกระบบ "เด็กเยาวชนทั้งในและนอกระบบ ทั้งในตำบลเราเองและที่อื่น ๆ อย่างน้อยก็มีเด็กที่ไม่ได้กลับเข้ามาสู่โรงเรียน ในระบบ ถ้าพบเจออย่างไรก็ให้ช่วยกัน ช่วยกันทำอย่างไรให้เขาเข้ามาสู่ระบบให้ได้ และให้กำลังใจให้ความหวังกับเขา เรามีหนทางในการที่จะช่วยเหลือเขา"

ติดตามกิจกรรมในเวทีได้ที่นี่