"เปิ้ล" เป็นตัวเชื่อมช่วยเหลือเด็กใน-นอกระบบ

โครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา จังหวัดสุรินทร์เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) สมัชชาการศึกษาจังหวัดสุรินทร์ คณะกรรมการการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ 25 อปท.จังหวัดสุรินทร์ และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เพื่อการพัฒนาเยาวชนนอกระบบการศึกษาในพื้นที่ขยายผล 25 อปท.จังหวัด มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มสมรรถนะศักยภาพของผู้บริหารและเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ให้มีบทบาทเป็น "พี่เลี้ยง" ทำหน้าที่โคช สนับสนุนและส่งเสริมการเรียนรู้ของเยาวชนด้วยการทำโครงงานพร้อมกระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่น และเป็นเจ้าภาพหลักขับเคลื่อนกลไกเพื่อการพัฒนาเยาวชนนอกระบบการศึกษาระดับตำบล อำเภอและจังหวัด ซึ่งอบต.สวาย อ.เมือง จ.สุรินทร์ เป็นหนึ่งในพื้นที่ขยายผล เรามาทำความรู้จักการทำงานด้านเด็กและเยาวชน ของอบต.สวาย ผ่าน กฤษณา สุบินนาม (เปิ้ล) ปัจจุบันเป็นผู้ดูแลเด็ก ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านสวาย ที่มาเข้าร่วมโครงการและมีบทบาทสำคัญในการทำงานด้านเด็กและเยาวชนเช่นเดียวกัน

“ทำงานที่นี่มา 1 ปีแล้ว เป็นครูประจำชั้นของเด็กวัย 3 ปี ค่ะบทบาทหน้าที่ของการอยู่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กคือเป็นผู้ดูแลเด็ก ทำหน้าที่เก็บเด็ก ดูแลเด็ก รับเด็กตั้งแต่เข้ามา โดยศูนย์ของเราจะรับเด็กตั้งแต่ 2 ปี ถึง 4 ปี"

"การได้เข้าร่วมโครงการนี้เพราะว่าทางหัวหน้าศูนย์ส่งเราไปร่วม ต้องขอบคุณ อบต.สวาย ที่จัดทำโครงการนี้ให้เรามา หัวหน้าศูนย์เห็นว่าเราอยู่ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จะมีกลุ่มงานวิชาการ กลุ่มงานการมีส่วนร่วมกับชุมชน ซึ่งตัวเองอยู่ในกลุ่มงานการมีส่วนร่วมกับชุมชน และได้ออกโครงการเยี่ยมบ้านเด็ก หัวหน้าศูนย์จึงเห็นว่าเราเหมาะกับโครงการนี้ จึงส่งเราไปอบรม”

“ตอนแรกก็งงว่าอะไรคือนักถักทอชุมชน ที่ส่งไปก็ยังงง ๆ ว่าส่งไปทำไมหรือ นักถักทอฯ เกี่ยวอะไรกับเรา เกี่ยวอะไรกับครูศูนย์เด็ก เราก็ไปทั้งที่ยังไม่ชัดเจน พอไปครั้งแรกก็ร้องอ๋อ เริ่มเข้าใจแล้วว่านักถักทอฯ เหมือนพี่เลี้ยงที่จะสามารถคุยกับทุกคน คุยกับเด็กด้อยโอกาส คุยกับเด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษา คุยกับเด็กปฐมวัย หรือผู้ปกครองเองที่เขาขาดแคลนหรือต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติม เราจะเป็นเหมือนตัวประสานหรือตัวเชื่อมต่อ เหมือนคนกลางที่จะคอยประสานระหว่างองค์กรของรัฐ หน่วยงานสนับสนุน หรือภาคีเครือข่าย แม้กระทั่งถ่ายทอดจากกลุ่มงานที่สนับสนุนไปยังคนที่ต้องการความช่วยเหลือจากเรา"

"พอไปอบรม (เวทียกระดับสมรรถนะบุคลากรท้องถิ่นเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาเด็กเยาวชนจังหวัดสุรินทร์ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 30 - 31 กรกฎาคม 2562) ได้หนึ่งครั้งก็เริ่มเข้าใจมากยิ่งขึ้น ซึ่งการอบรมตอนแรกก็รู้สึกเบื่อหน่ายว่าจะต้องไปอบรม แต่พอไปอบรมแล้วมันไม่ใช่ มันเหมือนการละลายพฤติกรรม เหมือนการให้เรารีแลกซ์มากกว่าที่ผ่านมาทุกครั้งที่เราอบรม ที่มีแต่งานวิชาการ ๆ รู้สึกไม่อยากไป แต่พอไปครั้งนี้มันไม่ใช่ เป็นครั้งแรกที่รู้สึกอยากไปอบรมโครงการนี้ คือเราได้รีแลกซ์ จากคนที่ดูแลเด็ก พาเด็กเต้น ๆ ตามสเต็ป 1 2 3 หรือเก็บเด็กตามสเต็ป ยกมือนะ ปรบมือนะ แต่พอไปอย่างนี้ปุ๊บ เหมือนตัวเองยังเป็นคนที่แบบว่าจะสอนเด็กได้ไหม สอนได้ แต่ยังไม่มั่นใจ พอไปปุ๊บ พิธีกรให้เราละลายพฤติกรรม พาเล่นกิจกรรม พาสันทนาการ เราก็รู้สึกดีขึ้น และบางกิจกรรมเราก็นำมาใช้กับเด็ก ทำให้เรามองอีกมุมหนึ่งว่าการอบรมไม่ใช่เฉพาะวิชาการอย่างเดียว เพราะว่าตัวเองตั้งแต่ทำงานเอกชนมาจนถึงงานในองค์กรของ อบต.ก็คือเจอแต่วิชาการ แต่พอมาอย่างนี้ รู้สึกโอเค สนุกสนาน และได้คลายเครียด ได้เปิดใจให้รู้สึกเข้าหาเพื่อน ยอมรับว่าแต่ก่อนตัวเองเป็นคนที่ไม่ค่อยเข้าหาเพื่อน หรือไม่ค่อยเข้าหาใคร มีแต่คนเข้าหา จะเป็นคนที่หน้านิ่ง เหมือนจะดุ คนเลยไม่กล้าเข้าหา แม้กระทั่งเด็กเอง"

"แต่พอไปโครงการนี้ ครั้งที่ 2 รู้สึกว่าเพื่อนจากหลาย อปท. เพื่อนจากหลายเทศบาล ทำความรู้จัก เขาจำเราได้นะ น้องเปิ้ลเป็นอย่างไร พี่เปิ้ลเป็นอย่างไร เราก็แปลกใจว่าทำไมเขาจำเราได้ เราก็จำเขาได้แต่เราไม่กล้าทัก เราก็เลยรู้สึกว่าโครงการนี้อย่างน้อยก่อนจะช่วยเหลือเด็ก เราก็ยังได้เปิดใจ บางเรื่องที่เราไม่เคยระบายกับใคร เราก็ได้ระบายกับเพื่อนที่เขาไม่รู้จักเรา เราก็กล้าเปิดใจ เราก็กลับมาคิดว่าทำไม ในเมื่อคนไม่รู้จักเรา เขายังดีกับเราได้ เราก็อยู่ในหมู่บ้าน โครงการนี้ก็สามารถให้เราไปช่วยเหลือเด็กในหมู่บ้านของเราก็กลับมาคิดว่าเออนะ ก็ดีขึ้น ทำไมเด็กในหมู่บ้านเรา ที่ข้อมูลได้มาว่าทำไมมีเยอะขนาดนี้เลยหรือที่อยู่นอกระบบ เรามองว่าหมู่บ้านเราเป็นหมู่บ้านที่เจริญมาก หมู่บ้านสวายมีชื่อเสียงเรื่องศิลปหัตถกรรมอันดับต้นๆ ของจังหวัด แต่ทำไมยังมีเด็กนอกระบบที่เป็นกลุ่มเร่ร่อน กลุ่มที่ไม่ได้รับการช่วยเหลือเยอะขนาดนี้เลยหรือ เป็นไปได้หรือ แล้วเด็กยากจนขนาดนี้จริงหรือ พอได้ออกพื้นที่กับพี่มาโนช พี่เด่น ก็เลยแบบ ฮืม? จากที่ตัวเองคาดฝันว่า ตัวเองอยู่ในหมู่บ้าน มา 30 ปี เกือบ 40 ปีแล้วก็ไม่คิดว่าจะมีกลุ่มนี้อยู่ บางหมู่บ้านเราผ่านถนนเส้นนั้น แต่พอเราเข้าไปในซอยอีก คือเคยอยู่ในกรุงเทพฯ มา เหมือนสลัมในกรุงเทพฯ เลย คือตำบลสวายมีอย่างนี้ด้วยหรือ เป็นเพิงบ้านติดกันบ้าง อาศัยเขาอยู่เป็นกระต็อบ เป็นเพิง แล้วกั้นด้วยผ้าห่มเก่าๆ พอฝนตกมาจะทำอย่างไร มีแบบนี้ด้วยหรือ ทั้งที่เขาเป็นเด็กในศูนย์เรา มีอย่างนี้ด้วยหรือ เราตกใจ เรายังมีโอกาสจึงอยากจะช่วยเหลือ จึงได้ไปอบรมต่อเนื่องค่ะ"

"สิ่งที่เราได้จากการอบรมแล้วนำกลับมาใช้ อย่างแรกคือกิจกรรมที่เอาไปใช้กับเด็ก คือสันทนาการ แล้วตัวเองเป็นคนเปิดใจมากขึ้น กล้าที่จะรับฟังคนอื่น ตัวเองมีลูกเข้าสู่วัยรุ่นเหมือนกัน ได้มาใช้อันดับแรกคือกับเด็ก กับลูก ลูกสาวอยู่ ม.2 คือเราได้ใช้ ได้ปรับทัศนคติกับลูก ได้คุยกับลูกว่าเป็นอย่างไร ลูกก็กล้าเปิดใจเข้าหาเรามากยิ่งขึ้นแล้วเราก็นำความรู้มาใช้ แอบถามลูกว่าเด็กวัยรุ่นเขาทำอะไรกัน เขาชอบไปไหน เขาไปไหนกัน อะไรแบบนี้ ลูกก็จะบอก แต่ก่อน ลูกจะไม่ค่อยอยากคุยกับเรา เขาก็เรียนในเมือง เราก็รับส่งลูกปกติ แต่ตอนนี้เปิดใจมากขึ้น เราก็ได้รู้ และได้ข้อมูลมาบอกกลุ่ม มาบอกเครือข่ายของเราว่าเด็กกลุ่มนี้บางทีก็ไม่ได้ไปมั่วสุมกับสิ่งที่ไม่ดี บางทีเขาก็ไปทำสิ่งดี แต่ผู้ปกครองกังวลเกินไป บางครั้งเราก็ต้องเปิดโอกาสให้เขา ให้เขาอยู่ในกรอบที่เราตั้งไว้ แต่ต้องไม่ปิดกั้นจนเกินไป"

"สิ่งที่ได้นำไปใช้ อีกส่วนหนึ่งคือเราได้นำมาใช้กับผู้ปกครองของเด็กเพราะตัวเองอยู่ในศูนย์เด็ก ผู้ปกครองบางคนจะต่อต้านเวลาครูไปสำรวจ ครูไปเยี่ยมบ้าน หาว่าครูไปสร้างภาพอีกแล้วหรือ ครูแค่ไปถ่ายรูปแล้วกลับเราก็บอกเขา เราเปิดใจว่า ครูจะมานำเสนอ ครูจะมาหาข้อมูลเพื่อที่จะเสนอให้เด็กได้รับโอกาส ศูนย์เด็กเคยได้รับทุนแล้ว เด็กก็อาจจะได้รับทุนอีก เด็กอาจจะได้รับความช่วยเหลืออีก ก็คือบอก แต่เราก็ยังไม่รับปากว่าจะได้ไหม แต่บอกให้เขามีความหวัง พอบอกเขา คุยกับเขาเหมือนเพื่อน เราใช้ในสิ่งที่เราอบรมมาคือการเป็นเพื่อน การเป็นพี่เป็นน้อง ทำให้รู้สึกว่าเข้าหากับผู้ปกครองได้มากขึ้น ผู้ปกครองก็จะมาเล่า บอกว่าครู วันนี้ลูกเป็นอย่างนี้นะครู วันนี้เด็กข้างบ้านเป็นอย่างนี้ เราจะได้รับรู้ถึงลูกศิษย์ของเรา ลูกศิษย์ของห้องข้างเคียง ว่าเด็กคนนี้เจอพ่อแม่ทำอย่างไร เด็กคนนี้ไม่มาเรียนเพราะว่าพ่อแม่เขามัวแต่กินเหล้า อะไรแบบนี้ เขาก็จะได้มาเล่าบอกเรา เหมือนเราเป็นเพื่อน คำว่าเพื่อนกับคำว่าสอดรู้สอดเห็นมันมีเส้นกั้นอยู่ แต่นี่เราเหมือนเป็นเพื่อนกับเขา เป็นพี่น้องกับเขา เขาก็เลยจะเข้ามาหาเรามากขึ้น เปิดใจกับเรามากยิ่งขึ้นค่ะ"

ความรู้สึกต่อการเข้าร่วมโครงการ "ครั้งแรกรู้สึกว่าอีกแล้วหรือ คือตัวเองเคยช่วยเหลือเด็กกลุ่มแบบนี้ แต่ว่าจะเป็นผลแบบนี้จริงหรือ พอไปดูวีดีทัศน์ มันเป็นไปได้หรือ มีจริงหรือสำหรับเด็กยากจนแบบนี้ แต่พอได้ไปเห็นสภาพคือยอมรับตอนนั้นว่าช็อก ช็อกสุดใจว่าหมู่บ้านตัวเองมีเด็กยากจนขนาดนี้เลยหรือ ตำบลเราเจริญ แต่ในความเจริญ ยังมีเด็กที่เหลื่อมล้ำอยู่มาก ก็เลยบอกว่ารู้สึกว่าเราไม่มีเงินทองที่จะช่วยเหลือเขาได้ขนาดนั้น แต่เรามีกำลังกาย เรามีเวลา เราเป็นตัวกลาง เราเป็นตัวเชื่อม เราก็น่าจะช่วยเหลือ น่าจะผลักดันเขาได้เต็มที่ ทั้งเด็กในระบบ และเด็กนอกระบบ"

ความคาดหวังกับการทำงานบทบาทนักถักทอฯ "ก็อยากให้มีโครงการนี้เรื่อยๆ อยากให้เป็นโครงการรุ่นสู่รุ่น ไม่อยากให้สิ้นสุดโครงการแค่หนึ่งปี หรือจบโครงการ เพราะว่าถ้าเด็กที่ได้รับโอกาสนี้ อยากให้มีโครงการไปเรื่อยๆ ให้เด็กได้รับความช่วยเหลือ คาดหวังว่าจะมีการช่วยเหลือเด็กอย่างนี้ไปเพราะว่าตัวเองมองว่าช่วยเหลือครั้งหนึ่ง อย่างเด็กที่อยู่นอกระบบสามารถเสริมอาชีพให้เขา บางคนไม่มีพื้นฐานอาชีพ ไม่มีทุน แต่เขาอยากฝึกปรือ เขาไม่มีโอกาส เขาก็ได้ฝึก บางคนอยากศึกษาต่อ เราก็ได้นำทุนตรงนั้นให้เขาได้ศึกษาต่อ สำหรับเด็กปฐมวัยที่ฐานะขาดแคลนจริงๆ ค่ะ"

"กับบทบาทหน้าที่ตัวเองจะดูมาทางด้านเด็กปฐมวัย แต่ถ้าเราออกไป เราจะเห็นเด็กกลุ่มโตด้วย เพราะว่าเด็กปฐมวัยที่ครอบครัวยากจน เขาจะมีพี่มีน้อง เราจะเก็บข้อมูลตรงนั้นมาส่งต่อด้วย และมาเล่าสู่กันฟังในทีมงานพี่มาโนช พี่เด่น เขาก็จะเล่ามา นี่นะ หนูไปเจอ หนูไปสัมภาษณ์น้อง หนูเห็นพี่เขาด้วย พี่เขาไม่ได้เรียน หนูจะบอกต่อด้วย ว่าเด็กคนนั้นฐานะยากจนนะ ไม่ได้เรียนนะ บางคนก็ยังไม่ถูกช่วยเหลือ หรือยังไม่มีอยู่ในข้อมูลด้วยซ้ำ เขาอาจจะย้ายมาจากที่อื่น เราก็จะเอาข้อมูลไปบอกทีมของเรา"

"กับงานนักถักทอฯ ถามว่านอกเหนือหน้าที่ไหม ก็นอกเหนือจากหน้าที่นะ ประมาณครึ่งหนึ่งเลยค่ะ แต่ที่เกี่ยวข้องมากที่สุดก็คือการเยี่ยมบ้านเด็กปฐมวัย แต่นอกเหนือก็คือเราบางครั้งเราต้องใช้เวลาว่าง หรือวันเสาร์ วันอาทิตย์ หรือหลังเลิกเรียน ในการไปหาข้อมูลตรงนี้ ถามว่าทำให้เสียเวลาไหม ก็เสียเวลาอยู่ แต่ก็คือในเมื่อเราลงเรือลำนี้มาแล้ว เราก็อยากทำให้เต็มที่ เราก็อยากไปถึงฝั่ง ให้เต็มที่ ถึงจะช้าหน่อย แต่ก็อยากขับเคลื่อนให้ได้"

มุมมองตอนแรก มองว่าตำบลเราจะมีเด็กยากจนไหม เด็กยากจนมีเยอะจริง แต่ไม่คิดว่าจะยากจนขนาดนี้ จนไม่มีขนาดนี้จริง ๆ เปลี่ยนแปลงมุมมองไปสิ้นเชิง จนมีความคิดอยากจะช่วยเหลือเขาถามว่าเคยรู้สึกเบื่อไหม ก็เคย บางครั้งก็เบื่อ ก็ท้อ แต่พอมามองหน้าลูกของเรา ถึงลูกของเราไม่ได้เป็นขนาดนั้น แต่กับเด็กคนนี้ เขาจะเป็นอย่างไร เขาจะมีเงินเรียนไหม เขาจะอะไรไหม เด็กเราได้กินนม แล้วเราไปบ้านของเด็กคนนั้น เขาได้แค่นมโรงเรียน แล้วนมโรงเรียนก็ได้แค่ตามวันที่มาเรียน แล้วเขาจะกินอย่างไร เราก็คิดต่อ แต่เราก็ไปช่วยเขาไม่ได้ แต่ถ้าได้เงินอุดหนุนหรือเงินสนับสนุนมา ก็ถือเป็นโอกาสที่สามารถทำให้เขาก้าวหน้าได้ เพราะว่าตัวเองมองว่า พื้นฐานที่สำคัญคือตั้งแต่วัยเด็ก คือถ้าเด็กเข้มแข็ง เด็กมีพฤติกรรมที่ดี เด็กมีสิ่งที่ดีๆ อยู่รอบตัวเขา เขาก็จะพัฒนาเป็นคนดีต่อไปได้

"สิ่งที่อยากฝากถึงคนที่เกี่ยวข้องกับงานเด็กและเยาวชน ก็คือ อยากบอกว่าอยากให้สู้ สู้ต่อไป ถามว่าเหนื่อยไหม ทุกคนก็เหนื่อย ทุกคนก็อยากดิ้นรน ทุกคนก็อยากมีโอกาส แต่ในความเหนื่อย ความท้อ อยากให้หันกลับมามองว่าเรามีพร้อม เราสมบูรณ์ ยกตัวอย่างบางคนเขามีฐานะโอเค พอมีพอกิน แต่บางคนเป็นเด็กพิเศษ เขาไม่มีครบ 32 ซึ่งเขาก็อยากได้รับโอกาส ยกตัวอย่างบางคนครบ 32 ก็จริง แต่เขาไม่มีทุนทรัพย์ เขาไม่มีวิชาชีพ เราเป็นตัวกลางที่จะทำเหมือนตัวเชื่อม ตัวประสานให้กับเด็กเยาวชนหรือกลุ่มคนที่ขาดโอกาส ก็อยากให้เราสู้ต่อไป และอยากให้เราช่วยเหลือเขาต่อไป คนละนิดคนละหน่อยก็คิดว่าอาจจะทำให้เขามีความหวังขึ้นมาได้ และอาจจะเป็นอนาคตที่ดีของชาติได้"

ติดตามกิจกรรมในเวทีได้ที่นี่