ศุภชัย หนูแก่นเพชร : ​บทสัมภาษณ์พี่เลี้ยงเด่น โครงการสานพลังพัฒนาสวนป่าสู่การเป็นแหล่งเรียนรู้ชุมชนหมู่ที่ 7 ต.นิคมพัฒนา อ.มะนัง จ.สตูล

บทสัมภาษณ์พี่เลี้ยงเด่น โครงการสานพลังพัฒนาสวนป่าสู่การเป็นแหล่งเรียนรู้ชุมชนหมู่ที่ 7  ต.นิคมพัฒนา อ.มะนัง จ.สตูล


พี่เลี้ยงเด่น

ชื่อ - นามสกุล ศุภชัย หนูแก่นเพชร ชื่อเล่น ครูชัย

อายุ 51 ปี อาชีพ ครูสอนวิชาพละศึกษา ลูกเสือ และเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนอนุบาลมะนัง




ถาม : สวัสดีค่ะ อยากให้ครูเล่าให้ฟังในบทบาทของพี่เลี้ยง ครูชวนน้องๆ ทำกิจกรรมอะไรในโครงการไปบ้าง รบกวนครูบอก ชื่อนามสกุล อายุ สอนวิชาอะไรคะ

ตอบ :ชื่อ ศุภชัย หนูแก่นเพชร อายุ 51 ปี (อีก 9 ปีจะเกษียณแล้ว) สอนวิชาพละ จบทางด้านพละโดยตรง ผู้บริหารมอบหมายให้เป็นครูที่ปรึกษาของนักเรียนชั้น ม.3ในปีการศึกษาที่แล้ว ที่มาที่ไปในการทำโครงการ เริ่มตั้งแต่ผู้อำนวยการ ยงยุทธ ยืนยง นำโรงเรียนเข้าสู่พื้นที่นวัตกรรม แต่เดิมตอนที่ท่านยังไม่ได้ย้ายมา ท่านได้นำคณะของ สกว.เข้ามาทดลองทำอยู่หลายปีแล้วพอย้ายเข้ามาโรงเรียนอนุบาลมะนัง ท่านก็นำเรื่องนี้เข้ามาปฏิบัติอย่างจริงจัง

ช่วงแรกๆ การปรับการเรียนการสอนค่อนข้างทุลักทุเล เพราะโดยส่วนตัวเป็นคนรุ่นเก่า ถามว่างานวิจัยได้เรียนกันไหม ได้เรียนได้ทำวิจัย ได้สำรวจเก็บข้อมูล อาจารย์ก็ให้ผ่าน แต่ถ้าถามว่าได้อะไรจากตรงนั้นไหม ส่วนตัวเราก็ไม่ได้เข้าใจ แต่ท่านได้นำตัวอย่างหลักสูตร ตัวอย่างขั้นตอนการเรียนการสอนมาให้กับครูในโรงเรียน

ตอนโรงเรียนเปลี่ยนหลักสูตรมาเป็นโครงงานฐานวิจัยแรกๆ ผมพูดกับ ผอ.ตรงๆ ว่า ผมทำไม่เป็นนะ ถ้าจะให้ผมสอน ผอ. อย่ารำคาญผมนะ เพราะสิ่งไหนที่ผมไม่รู้เรื่อง ผมจะถาม ท่านตอบกลับมาว่า โอเคได้ ผมสอนไปก็เรียนรู้ไปพร้อมกับเด็ก เอาโจทย์ หัวข้อ ลำดับขั้นตอนที่ ผอ. ให้มา มาวางแผน ลองผิดลองถูก หลังจากนั้นประมาณ 2 - 3 เดือน ทีม สกว. ทีมบังคมและบังเชษฐ์เข้ามาอบรมให้ความรู้และได้รู้จักกัน บังเชษฐ์ชักชวนผมให้เข้ามาร่วมโครงการนี้อีกสักโครงการดีไหม ก็เลยถามกลับไปคำหนึ่งว่า ยากไหมน้อง?” เพราะเราไม่มีพื้นฐาน สิ่งที่บอกมาคือ เหมือนกันกับที่ผมสอนอยู่ แต่ไม่ได้ละเอียดมาก เพราะโครงการวิจัยที่ ผอ. ให้ทำไม่ได้เน้นเรื่องของผลลัพธ์ แต่เน้นเรื่องกระบวนการและวิธีการที่ทำให้เด็กได้มาซึ่งการค้นคว้า หาความรู้ ส่วนโครงการ Active Citizen มีส่วนที่เพิ่มเติมขึ้นมา คือ เน้นการทำงานเป็นกลุ่ม แล้วพัฒนางานไปจนสำเร็จ หลังจากนั้นบอกบังเชษฐ์ว่า พี่ต้องถาม ผอ. ก่อนนะ เนื่องจากพี่อยู่ในระบบการศึกษา ซึ่งต่างจาก active citizen คือการนำเยาวชนเข้ามาทำโครงการ เมื่อ ผอ.เห็นด้วย จากนั้นผมเข้าร่วมโครงการ active citizen อะไรที่เราไม่รู้ต้องศึกษาหาข้อมูลเพิ่ม และอะไรที่เราแก้ปัญหาไม่ได้ก็มีตัวช่วยเพิ่มมากขึ้นแต่เรื่องเวลาจากวันเสาร์อาทิตย์ต้องทำไร่ทำสวน กลับต้องไปรวมตัวเพื่อพูดคุยปัญหากันแทน จากนั้นก็พาเด็กๆ ลงเก็บข้อมูล การทำงานมีทั้งหมดมี 14 ขั้นตอน ขั้นที่ 1 คือทั่วไป ขั้นตอนที่ 2 คือ ต้องการสรุปหาประเด็นเพื่อให้ได้โจทย์มา ซึ่งขั้นตอนนี้ผมไปไม่ถูก ก็เลยโทรหาบังเชษฐ์ว่า มาช่วยพี่หน่อย! พี่งมตรงนี้มา 1 อาทิตย์แล้ว 5 วัน รวม 15 ชั่วโมงที่คิดไม่ออก

บังเชษฐ์บอกว่ามี หลักง่ายๆ 3 ข้อ “1.เรื่องใหม่ 2.เรื่องที่ง่ายต่อการทำ 3.เรื่องที่ทำได้จริงสุดท้ายแล้วเด็กๆ ก็ได้ประเด็นมาจากการลงเก็บข้อมูลมา 3 เรื่อง คือ 1.น้ำประปาสีชาเย็น 2.น้ำใต้ดิน 3.สวนป่าในชุมชน จากนั้นนำเด็กๆ ลงพื้นที่ 3 จุดที่เขาเลือก เริ่มจากน้ำประปาสีชาเย็น เจอปัญหาเยอะมาก เช่น ป่าถูกทำลาย ไปเจอมูลช้าง ไปเจอการเลื่อยไม้ เจอดินสไลด์ การฉีดหญ้าในสวนยาง เจอการบุกรุก เป็นต้น ส่วนที่สอง คือน้ำใต้ดินหรือน้ำบาดาล ไม่ใช่การเจาะ แต่จะเป็นการขุดบ่อของคนโบราณลึกประมาณ 15 เมตร พอเข้าไปดูแล้วไม่น่าสนใจเพราะว่าฐานข้อมูลเดิมไม่มีแล้ว จึงไปดูส่วนที่สาม คือ สวนป่าในชุมชน มีพื้นที่ประมาณ 8 ไร่ แต่ถูกบุกรุกเหลือ 4 ไร่ ส่วนที่เหลืออยู่เป็นป่าธรรมชาติที่รกร้างและเป็นแหล่งมั่วสุมของวัยรุ่น บริเวณรอบๆ มีขวดแก้ว พลาสติก แม้กระทั่งถุงยางอนามัย เป็นต้น แล้วกลับมาคุยกับเด็กๆ ว่า อะไรที่น่าสนใจ โดยใช้หลักสามข้อของลุงเชษฐ์คำตอบของเด็กๆ คือ สวนป่าชุมชนที่ไม่เอาน้ำประปาสีชาเย็นด้วยเหตุผลเดียวคือชุมชนตรงนั้นไม่ให้ความร่วมมือและยังมีอิทธิพลในพื้นที่มาเกี่ยวข้อง คิดว่าไม่ปลอดภัยกับคนที่มาลงมือทำ เด็กๆ บอกว่า สวนป่า เอาอันนี้แหละ ! มันง่ายกว่าและอยู่กลางชุมชน

พอได้ข้อสรุปมาแล้ว ในครั้งแรกได้สอนเด็กๆ เรื่องเครื่องมือเก็บข้อมูลเราจะไปดูอะไรบ้าง สอนเรื่องการตัดต่อภาพและการจดบันทึก เด็กๆ ลงพื้นที่อีกเป็นครั้งที่สอง เริ่มเก็บข้อมูลว่าในสวนป่ามีอะไรบ้าง มีต้นไม้เล็ก กลาง ใหญ่จำนวนกี่ต้น หลังจากจดบันทึกทุกอย่างแล้ว เราก็ให้เด็กๆ ตั้งคำถามว่า ทำไม เพราะอะไร อย่างไร และเอาคำถามเหล่านั้นมาแยกเป็นสามกลุ่ม กลุ่มแรก คือข้อมูลที่เราหาได้ทั่วไปตามอินเตอร์เน็ต กลุ่มที่สอง คือความรู้ที่เราออกสำรวจพื้นที่ สัมภาษณ์จากชุมชน กลุ่มสุดท้าย คือ คำถามที่น่าจะเอาไปปฏิบัติ เมื่อแยกเป็นสามกลุ่มเสร็จแล้ว จากนั้นให้เด็กๆ เอาคำถามส่วนแรก ที่ผมเรียกว่า R1 ให้เด็กไปหาข้อมูล เช่น ประเภทของต้นไม้ หาพื้นที่และอัตราเฉลี่ยต่อต้นต่อพื้นที่ แล้วก็ลงเก็บข้อมูลครั้งที่สองเพื่อสัมภาษณ์ชาวบ้าน ผู้นำชุมชนในระแวกพื้นที่ ที่มีผลต่อการใช้ประโยชน์จากสวนป่าแห่งนี้

จากนั้นก็นำข้อมูลที่ได้มาแยก เช่น อันไหนที่จะดำเนินต่อให้รวบรวมไว้ก่อน พอรวบรวมเสร็จก็ให้ตั้งคำถามอีกรอบ R2 คือ การสรุปรวม เช่น หาทางออก จากบทสัมภาษณ์ในมุมมองของชาวบ้าน หาต้นต่อของสาเหตุป่าตรงนั้นที่มันเกิดปัญหา ไม่ได้ใช้ประโยชน์และเป็นแหล่งมั่วสุมเพราะอะไร เมื่อเราประมวลคำถามเสร็จแล้ว ก็ได้คำตอบว่า ชาวบ้านไม่ให้ความสำคัญกับผืนป่าตรงนั้น ซึ่งเหลืออยู่นิดเดียวในรัศมี 2 กม. โดยรอบถ้าดูจากแผนที่เมื่อได้ข้อสรุปแบบนี้แล้ว เราตั้งคำถามกันว่า “เราจะทำอย่างไรเพื่อที่จะสร้างจิตสำนึกและรักษาผืนป่าตรงนั้นให้คงอยู่ถาวร” จึงได้คำตอบจากเด็กๆ ว่า ถ้าจะสร้างจิตสำนึก ต้องดึงความเชื่อเข้ามาจึงกลายเป็นที่มาของการบวชป่า

ก่อนการดำเนินงานบวชป่า ได้นำคำถาม R3 เข้ามาว่าเราจะทำการบวชป่าอย่างไร เช่น ก่อนบวช ขณะบวช หลังบวช และคำถามต่อไป คือทำอย่างไรให้มันอยู่อย่างถาวร? คำตอบข้อแรกคือ ก่อนที่จะบวชป่า เราต้องทำตรงนั้นให้เป็นป่าชุมชนที่สมบูรณ์ คือต้องมีข้อบังคับในการใช้สวนป่า ข้อที่สองต้องมีคณะกรรมการในการบริหารสวนป่า และข้อที่สามต้องมีการบวชป่า แต่ก่อนที่เด็กๆ จะไป ผมได้ไปคุยติดต่อไว้ก่อนแล้วในระดับหนึ่ง และเด็กๆ ก็เข้าไปประสานกับผู้นำชุมชน เขาก็โอเคและได้เชิญมาร่วมประชุม ขณะประชุม เขาให้เด็กร่างระเบียบการใช้สวนป่าและนำไปให้ผู้นำชุมชน คือกำนัน จากนั้นกำนันก็พาเข้าประชุมหมู่บ้าน สิ่งที่ได้คือคณะกรรมการและระเบียบสวนป่า หลังจากผ่านคำถามของการบวชป่า แนะนำเด็กๆ ทำไปทีละขั้นตอน เช่น บวชป่าต้องทำอะไรบ้าง พอถึงวันบวชป่า เด็กๆ ได้เชิญนายอำเภอมาเป็นประธาน เชิญเจ้าคณะจังหวัดมาเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ แล้วเริ่มทำการบวชป่า

ถ้าถามว่าเหนื่อยไหม ผมเหนื่อยนะ แต่ดีใจลึกๆ ตอนที่ภาพข่าวออก เป็นการบวชป่าครั้งแรกของสตูลในรอบหลายปี แล้วหลังสุดเจ้าคณะอำเภอได้ขยายการบวชป่าไปที่อื่นด้วย เป็นพื้นที่ที่ไม่ไกลกันมาก เมื่อบวชป่าเสร็จได้เชิญคณะกรรมการหมู่บ้านมาทำในหัวข้อ “ทำอย่างไรให้สวนป่ายั่งยืน” เขาก็มาร่างกิจกรรม งานประจำปีของสวนป่าว่าในรอบปีนั้น เขาจะทำอะไรบ้าง แล้วมาสรุปและนำเสนอให้เป็นผลงานของเด็กๆ


ถาม : ตรงนี้เราได้ปฏิทินมาแล้ว และนำมาสรุปใช่ไหม แล้วหลังจากขั้นตอนนี้มีไปทำอย่างอื่นอีกไหมคะ

ตอบ : ในส่วนของ Active Citizen เด็กเอางานตัวนี้ไปสรุป โดยนำชุมชนเข้ามา เป็นการพูดคุยและนำเสนอตัวเองโดยมีคณะของพี่เชษฐ์เข้ามาเป็นพี่เลี้ยงในการย้อนกลับว่า คุณคิดอย่างไร คุณได้อะไร และคุณคิดเห็นอย่างไร เป็นการสรุปโครงการครับ


ถาม : ในปฏิทินมีข้อมูลอะไรบ้างคะ

ตอบ : ของชุมชนมีการจัดงานวันเกิดให้สวนป่า ตรงกับวันบวชป่า จะมีการทำบุญเลี้ยงพระทุกปีในวันที่ 28 กรกฏาคม และจะมีการประชุมสัญจรบ้าง จัดงานในพื้นที่ตรงนั้นให้เกิดประโยชน์ โดยไม่ทำลายสวนป่า แต่ปีนี้ไม่ได้ทำเนื่องจากติดโควิด


ถาม : บวชป่าเมื่อปี 2562ใช่ไหมคะ

ตอบ : บวชป่าปีที่แล้วครับ


ถาม : ในมุมของครูกับกระบวนการทำงานที่เราช่วยไปเป็นพี่เลี้ยงให้กับเด็กๆ มีความยากและปัญหาอะไรบ้างไหมคะ

ตอบ :ปัญหาอย่างแรก คือเวลาความเป็นส่วนตัวหายไปและค่าใช้จ่าย อย่างที่สองตัวนี้สำคัญมาก คือพื้นฐานของเด็ก ในจำนวนเด็ก 22 คนที่ผมสอนอยู่ พูดตรงๆ คือเด็กที่รู้เรื่องและนำไปถ่ายทอดให้คนอื่นได้มีแค่ 7 คนเท่านั้นเอง ส่วนคนที่เหลือนั้นเป็นตัวประกอบ ส่วนที่สาม คือความกระตือรือร้นของตัวเด็กเอง เช่น ให้ไปหาข้อมูล บางทีก็ไม่ได้มา ด้วยความที่เป็นเด็กชนบทและระเบียบวินัยของเด็กๆ ด้วย ผลจากการไม่กระตือรือร้นตรงนี้ ผมคิดเปรียบเทียบระหว่างการเรียนในสภาพปกติกับการเรียนในการทำโครงการวิจัย ถามว่ามันดีไหม มันดีทั้งคู่ แต่ก็มีจุดด้อยอยู่ เช่น ในการสอนสาระโดยปกติแล้ว เด็กความคิดสร้างสรรค์ไม่เกิดและความกล้าไม่เกิด แต่เด็กจะได้ความรู้เพราะเราบังคับให้เขาเรียนแต่เมื่อเข้าร่วมโครงการ สิ่งที่ได้มากที่สุดคือระเบียบวินัยและการรับผิดชอบ ถ้าไม่มีสองตัวนี้ เมื่อให้เด็กไปค้นคว้าแล้วไม่ทำ คุณก็จะไม่ได้อะไรเลย และทุกครั้งที่เรียน ถ้าครูไม่ถอดองค์ความรู้ในแต่ละชั่วโมง เด็กก็จะไม่ได้อะไร เนื่องจากยังขมวดข้อมูลไม่เป็น ดังนั้นเราต้องช่วยเด็กๆ ตรงนั้น จะได้มากหรือน้อยเราก็วัดไม่ได้อีก เพราะมันถูกถ่ายทอดด้วยตัวเด็กเองและให้มันสะท้อนกลับ


ถาม ขึ้นอยู่กับว่าจะสะท้อนได้มากแค่ไหนใช่ไหม

ตอบ ใช่ๆ ครูผู้สอนเป็นตัวสำคัญ เช่น ถ้าครูตั้งคำถามไม่เป็นคือทุกอย่างจบเลย และเรื่องของจิตวิทยาจำเป็นมาก เช่น ผมเป็นคนตรงๆ ห้าวๆ ถามว่ามีผลกับเด็กไหม ตอบเลยว่ามีผลมากในแง่ลบมากกว่าบวกครับ


ถาม ยังไงบ้างคะ

ตอบ เด็กกล้าที่จะทำแบบเต็มใจหรือถูกบังคับก็คนละเรื่องกันนะ เมื่อลงมือปฏิบัติ ถ้าบังคับ เช่น สั่งไป 1 ก็จะได้ 1 ไม่เคยได้ 2 กลับมา แต่ถ้าตรงนี้เขามีใจอยากทำ สั่งไป 1 ก็จะได้กลับมาโดยไม่ต้องบอก ตรงนั้นมีผลมาก และส่วนของครู คือ แบ็คที่อยู่ข้างหลัง ต้องมองภาพออก ว่าจะให้เกิดผลลัพธ์อย่างไรในอนาคต แล้วจะเดินไปถึงจุดนั้นได้อย่างไร จุดจบหรือปลายทางการเรียนรู้คืออะไร เราต้องวาดฝันให้ออก แต่ถ้าเราวาดฝันไม่ออกคุณจะกำหนดทิศทางไม่ได้ มันอาจจะไปตามกระบวนการและขั้นตอนแต่ก็ขาดจินตนาการ ถ้าเราไม่วาดภาพ ไม่จินตนากรไว้ก่อน การทำงานจะยากขึ้น


ถาม : เหมือนที่ครูบอกว่า ถ้าเกิดเราสั่งเขาไป 1 ก็จะได้ 1 แต่ถ้าเราไม่ได้บังคับเราก็จะ หนึ่งสองสามสี่ กลับมา แสดงว่าครูต้องเคยเห็นตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงๆ ว่าถ้าครูทำแบบนี้เด็กได้แค่นี้ แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นอีกแบบเด็กจะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น อยากให้ครูเล่าประสบการณ์ตรงนี้ว่าต้องปรับตัวอะไร อย่างไร

ตอบ : สิ่งที่ปรับ คือ การควบคุมตัวเอง เนื่องจากเราอยากให้เด็กมีความตั้งใจเต็มร้อย แต่การได้มาซึ่งความตั้งใจเต็มร้อยต้องใช้วิธีการแตกต่างกันไป ถ้าถามว่าเด็กต้องไปทำไหม คำตอบคือ เด็กต้องไปทำ ทำด้วยความเต็มใจกับถูกบังคับเราจะต้องเลือกวิธีการแบบไหน สำคัญที่สุดคือ ในจังหวะที่ต้องใช้คำพูด เช่น คำพูดที่เป็นการสั่ง เด็กมักจะไม่ชอบ เด็กชอบในลักษณะของความสนุก เช่น โอเคนะ วันนี้เราไปทำกิจกรรมนี้กัน ร่วมด้วยช่วยกัน และให้เด็กถึงเป้าหมายว่า เป้าหมายของเราคืออะไรเป้าหมายเราจะไม่ตีวงใหญ่ ตั้งเป้าหมายเล็กๆ เป็นครั้งๆ ไป แล้วผลลัพธ์ที่ได้ในแต่ละครั้ง ไม่เต็มร้อยก็ไม่เป็นไร ในส่วนของผู้สอนต้องทำใจในส่วนนี้ให้ได้ จากนั้นเราค่อยใส่จำนวนครั้งเข้าไป เพราะว่าเราไม่ได้ถูกล็อคด้วยเวลา ถ้าวันนี้ได้แค่สามสิบเปอร์เซ็นต์ไม่เป็นไร วันหลังเราค่อยไปอีกและเพิ่มไปเรื่อยๆ แต่ถ้าเราไปคาดหวังว่าวันนี้ต้องเป๊ะๆ ผลที่ตามมาคือเด็กเครียด นี่คือสิ่งที่ผมเจอมา


ถาม : ถ้าเป็นเมื่อก่อนเครียดไหม ที่ไม่ได้ตามที่คาดหวัง 100%

ตอบ เครียด ความเครียดมันจะสะท้อนไปทางอารมณ์ของผู้สอน เช่น สีหน้า ท่าทาง สิ่งเหล่านี้มีผลกระทบต่อเด็กโดยตรงเลย


ถาม : แนวคิดที่ครูบอกมาตรงนี้มันมีจุดเปลี่ยนครูได้รับความรู้จากการสะสมประสบการณ์มาอย่างไร ครูคิดว่าต้องลดเปอร์เซ็นในแต่ละครั้งและเราค่อยๆสะสมให้ครบร้อย แทนที่จะร้อยไปเลย

ตอบ : ได้มาจากการพาเด็กๆ ลงพื้นที่เอง ก่อนที่เราพาเด็กๆ ลงพื้นที่ ต้องสอนพื้นฐานให้กับเขาก่อน ในขณะสอนพื้นฐาน การสะท้อนของเด็กๆ เริ่มขึ้นจากในห้องเรียนแล้ว อะไรที่เขาชอบ เช่น การถ่ายภาพ เขาจะสนุกเฮฮา แต่เมื่อสอนเรื่องการจับประเด็น การสังเกต หรือเน้นในเรื่องตัวหนังสือมากขึ้น เด็กมีปฏิกิริยาอีกแบบ เมื่อลงพื้นที่ที่เชื่อมต่อกันจากการให้ความรู้เบื้องต้นในห้องเรียนกับการลงพื้นที่จริง เด็กไม่ได้เอาออกมาใช้เลย เพราะเขาจำไม่ได้ นี่คือสิ่งที่มันสะท้อนกลับ ทำให้ขั้นตอนต่อไปที่จะทำ มันก็ไปต่อไม่ได้


ถาม : เรื่องนี้ทำให้ครูเห็นภาพว่าเด็กแต่ละคนพื้นฐานไม่เหมือนกัน มีความตั้งใจไม่เท่ากัน จึงทำให้ในทางปฏิบัติเขาก็จะได้ไม่เท่ากันใช่ไหมคะ

ตอบ: ถูกต้องครับ ความแตกต่างในตัวเด็กมีอยู่แล้ว เด็กบางคนที่เจอมา ในส่วนของการเรียนหนังสือไม่ได้เรื่องก็มี แต่พอไปลงพื้นที่ในส่วนของการปฏิบัติที่เป็นทักษะพื้นฐาน การทำป้ายชื่อต้นไม้ การใช้เครื่องมือ เช่น หินเจียเพื่อตกแต่งป้าย เคลือบป้าย เหล่านี้ผมไม่ได้สอน แต่เด็กที่เรียนไม่ได้เรื่องทักษะชีวิตพวกนี้เขาสูง เขาก็เอาออกมาใช้ได้เลย แต่ในขณะที่เด็กบางคนก็ทำไม่เป็นเลย ส่วนที่สอง คืออารมณ์สะท้อนกลับของเด็ก ตรงนี้ทำให้เรารู้ว่า อารมณ์และความตั้งใจของครูเข้าไปเกี่ยวข้องที่มีผลต่อการเรียนรู้ของเด็กมาก


ถาม : คำพูดในเชิงสั่งการที่ครูพูดขึ้น พอจะยกตัวอย่างได้ไหมคะอยากได้เป็นประโยคเปรียบเทียบว่าถ้าเราพูดแบบนี้เด็กจะรู้สึกเหมือนสั่งการ แล้วถ้าเปลี่ยนประโยคอื่นยังไง

ตอบ: สมมุติว่าเดี๋ยวเราไปสำรวจลงพื้นที่กัน วันนี้ต้องได้จำนวนต้นไม้ในพื้นที่ต่อปริมาณพื้นที่ว่าต้องใช้กี่ต้นกับวันนี้เราไปเช็คดูนะ ว่าพื้นที่ตรงนี้ น่าจะมีต้นไม้สักกี่ต้น ไหนดูซิว่า อัตราเฉลี่ยต้นไม้ต่อพื้นที่นั้น มันมากไหม พอกับที่เราจะซ่อมแซมเพิ่มเติมไหม” คำถามอาจจะใกล้เคียง แต่อารมณ์ในการพูดก็มีผล ถ้าถามว่าเป้าหมายเปลี่ยนไหม ไม่ได้เปลี่ยนเลย แค่การใช้คำเน้นคำและน้ำเสียงเข้าไปมีผลกับเด็กค่อนข้างมาก


ถาม : วิธีที่ใช้คำถามเป็นตัวเดินเรื่อง ครูรู้สึกว่ายากไหมคะ

ตอบ ไม่ยาก เพราะเรายึดอยู่กับใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร จะไม่ยึดว่าคำถามนี้ จะต้องเป็นคำถามที่ถูกต้องตามหลักของการตั้งคำถาม แค่ถามให้รู้เรื่อง และบอกเป้าหมายได้ว่าเราต้องการอะไร เน้นแค่นั้น


ถาม : ซึ่งตรงนี้ครูก็ได้ปรับ เริ่มตั้งแต่เป็นโรงเรียนนวัตกรรมไหมหรือเห็นชัดในโครงการ Active Citizen

ตอบ ใช่ครับ พูดกันตรงๆนะ ผมจบพละมาโดยการใช้คำสั่ง แต่พอเข้าร่วมพื้นที่นวัตกรรม ผมใช้คำว่า “ถ้า” เป็นแบบนี้แล้วจะทำอย่างไร ทุกอย่างเปลี่ยนเป็นคำถามหมดเลย ไม่ได้เป็นคำถามที่เป็นคำสั่ง แต่เป็นคำถามที่อยากรู้เพื่อให้ได้คำตอบ


ถาม : เป็นครูมากี่ปีแล้วคะอยากให้ครูอธิบายในเชิงสะท้อนตัวเอง เพราะเรื่องที่จะเขียนจะนำเสนอภาพ โดยมีครูเป็นตัวหลัก

ตอบ 26 ปีแล้ว โดยพื้นฐานตัวเองเป็นคนตรงๆ คิดอย่างไรก็พูดอย่างนั้น อ้อมค้อมไม่เป็น ปกติเป็นคนพูดน้อย พูดไม่เก่ง คุยกับเพื่อนไม่เป็น ถ้ามีอะไรที่อยากรู้ ก็ถามไปตรงๆ “ มีน้องคนหนึ่ง พูดกับผมว่า พี่บ้ารึเปล่า ทำไมพูดแบบนั้น ” และเก็บความลับไม่เป็น ถือคติอันนี้มาตลอดเลย ความจริงก็คือความจริง ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย เราต้องยอมรับความจริงให้ได้


ถาม : เป็นแบบนี้มาตั้งแต่แรกเลยไหมค่ะ ครูบรรจุมา 26 ปีใช่ไหมค่ะ แล้วสอนอยู่ที่ไหนมาบ้างคะ

ตอบ: เป็นแบบนี้มาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว ใช่ครับ สอนที่โรงเรียนเจ๊ะบิลังเป็นโรงเรียนที่อยู่ในอำเภอ จ.สตูล เป็นเวลา 8 ปี เป็นครูสอนวิชาพละศึกษา ทำทีมวอลเล่ย์บอลของจังหวัด เป็นคณะทำงานเกี่ยวกับกีฬาจังหวัด จากนั้นก็ไปทำงานเกี่ยวกับลูกเสือ ปัจจุบันนี้เป็นคณะกรรมการบริหารลูกเสือของจังหวัด เป็นวิทยากรประจำจังหวัด และก็ได้ย้ายมาอยู่ที่โรงเรียนอนุบาลมะนัง เพื่อมาทำสวน คิดว่าเป็นเด็กชนบทมาก่อน ถ้าให้อยู่ในเมืองอยู่ไม่เป็น หากินไม่ได้ อยู่ในเมืองเพื่อนมีเงินเป็นแสนเป็นล้าน ส่วนเรามีหนี้สิน รายได้ไม่มี จึงย้ายมาอยู่ตรงนี้ประมาณ 15-16 ปีแล้ว มาต่อยอดสวนยางของพ่อ กลับมาสร้างเนื้อสร้างตัวที่นี่ เริ่มแรกก็ทำเหมือนเดิม คือการสร้างทีมกีฬา ทำงานลูกเสือ เพิ่งมาเปลี่ยนในช่วง 1-2 ปีหลังที่เข้าไปช่วยงานพื้นที่นวัตกรรม เหตุผลเพราะอุดมการณ์ เหมือนกับลูกเสือคือเราให้อย่างเดียว ไม่มีผลตอบแทน ไม่มีผลประโยชน์มีแต่ให้ ให้กับชุมชนและส่วนรวม จึงตัดสินใจเข้าไปทำส่วนนั้น แต่ถ้ามีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องผมไม่เอาเลย ไม่ชอบความวุ่นวาย ไม่ชอบการแก่งแย่ง


ถาม : อย่างที่ครูบอกว่า ทำให้เวลาส่วนตัวหายไป ใช่ไหมค่ะ

ตอบ: ใช่ครับ แต่เวลาที่หายไป กับ ความสบายใจ มันคนละเรื่อง เช่น ไปลูกเสือ 7 วัน ไปเป็นวิทยากรอบรมครู 7 วันเต็มๆ งบตัวเองก็ใช้ แต่สิ่งที่เราได้คือ เพื่อน ได้คุย ได้แลกเปลี่ยนความรู้ ได้สนุกสนานเฮฮา แต่ถ้าถามว่าเรื่องผลประโยชน์อื่นๆ ไม่มี มีแต่ให้อย่างเดียว


ถาม : เสมือนคติประจำใจของครูใช่ไหมค่ะ

ตอบ ใช่ๆ คติประจำใจคือโอกาส ครูเคยเสียโอกาสมาเพราะเรายากจนมาก่อน เป็นเด็กชนบทไม่เคยได้รับการช่วยเหลือ และเมื่อมาถึงจุดหนึ่งที่เราสามารถทำได้ จึงให้โอกาสเพื่อเอามาทดแทนในส่วนของตัวเองที่หายไป ให้กับทุกคนที่เขาพร้อมจะรับ


ถาม : สถานการณ์ของเด็กเยาวชนในพื้นที่ตรงนั้นเป็นอย่างไรบ้างคะ

ตอบ ปัญหาเยาวชนในระยะ 2-3 ปีที่ ผ่านมาถึงปัจจุบัน คือเรื่องของยาเสพติด มีเยอะมาก เช่น น้ำกระท่อม ยาบ้า เราเข้าไม่ค่อยถึง พวกบุหรี่และเหล้ายา ครูคิดว่ามันเป็นพื้นฐานเลยครับ แต่ในส่วนของเด็กนั้น เรื่องเหล้ายามีน้อย แต่เรื่องบุหรี่มีเยอะมาก ถามว่ารถซิ่งเยอะไหม ไม่เยอะ เด็กในพื้นที่เมื่อทำสวนเสร็จแล้ว ก็จะไม่ออกไปสุงสิงกับใคร


ถาม : อันนี้รวมเด็กในโรงเรียนด้วยไหมค่ะ

ตอบ: เด็กข้างนอกที่เป็นเยาวชนครับ ถ้าเป็นเด็กในโรงเรียน ปัญหาคือเรื่องโทรศัพท์มือถือและความรับผิดชอบ ค่อนข้างเป็นปัญหาใหญ่ จริงๆ โทรศัพท์ไม่ควรจะเป็นปัญหานะ ที่เป็นปัญหาคือเด็กใช้ไม่เป็น ใช้ได้กับใช้ไม่เป็นไม่เหมือนกันนะ ใช้ได้คือทุกคนใช้ได้ แต่ใช้ให้เกิดคุณค่ากับตัวเองนั้น เด็กๆ ยังขาดตัวนี้อีกเยอะ เด็กเกือบทุกคนมีโทรศัพท์มือถือ ผมขอใช้คำว่า ลูกเทวดาร้องขออะไรผู้ปกครองหาให้หมด จึงเป็นที่มาของใช้ได้ แต่ใช้ให้เกิดประโยชน์ยังใช้ไม่เป็น


ถาม : ครูรู้ว่าเด็กแต่ละคนมีภูมิหลังยังไงใช่ไหมคะ

ตอบ : รู้ครับ พูดง่ายๆ ว่าโดยนิสัยเราเด็กพละครับ ระยะทาง 5 กิโลเมตร ออกจากบ้าน 6 โมงเช้า ก่อนจะถึงโรงเรียน 8 โมง ถามว่าสองชั่วโมงหายไปไหน คือแวะตามบ้านชาวบ้านกินกาแฟกัน ตอนเย็นจากโรงเรียนเลิกสี่โมงถึงบ้านอีกทีก็สองทุ่มแล้วครับ กับชาวบ้านเรารู้จักหมด อีกอย่างเด็กที่อยู่ในสายตา เราจะรู้จักแม้กระทั่งพ่อแม่หรือตัวเด็ก เราจะรู้ว่าเด็กเมื่ออยู่ที่บ้านและที่โรงเรียนเป็นอย่างไรบ้าง รู้รายคนเลยครับว่านิสัยของแต่ละคนเป็นยังไง


ถาม : เป็นแบบนี้อยู่แล้ว ตั้งแต่ก่อนมาทำโครงการใช่ไหมค่ะ

ตอบ : ใช่ครับ เป็นมาตั้งแต่เริ่มบรรจุแล้วครับ


ถาม : ถ้าถามคนในชุมชนถึงครูชัย คนแถวนั้นจะรู้จักใช่ไหมคะ แล้วถ้าความสัมพันธ์ของครูกับผู้นำชุมชน คือถือคุยกันได้ใช่ไหม ไม่ได้มีปัญหากัน

ตอบ : เขารู้จัก คุยได้ครับ แต่ในส่วนพาวเวอร์มีแค่ไหนอันนี้ไม่รู้ เราคุยได้ เข้าถึงตัวได้ ติดต่อประสานงานได้ครับ


ถาม : ขั้นตอนการทำงานในโครงการนี้ของเด็กๆ ตามที่ครูเล่าให้ฟัง จะมีจุดที่ครูเข้าไปช่วยประสานกับผู้นำชุมชนและคนอื่นๆ ให้ อยากให้ครูลงรายละเอียดว่า ครูเข้าไปคุยอะไร อย่างไรบ้าง

ตอบ : ก่อนที่เด็กๆ จะทำไรสักอย่างที่เกี่ยวข้องกับบุคคลภายนอก เกี่ยวกับชุมชน เรารู้ความจริงอยู่หนึ่งอย่างว่า เราจะไม่ปล่อยให้โอกาสที่เด็กได้ลงมือทำสูญเปล่า เรากลับมาคิดโจทย์กับตัวเองว่าจะทำอย่างไร คำตอบคือ เราต้องลงมือไปก่อน เข้าไปคุยให้ผู้นำชุมชนเข้าใจก่อน เมื่อเด็กเข้าไปลงมือทำ เขาจะได้คำตอบและพร้อมเดินต่อได้ ยกเว้นบางอย่างที่ต้องสัมภาษณ์สด เช่น สัมภาษณ์ชาวบ้านในชุมชนผมจะไม่ลงไปด้วย ไม่ไปแทรกแซง สมมุติเด็กๆ วางแผนไปติดต่อประสานงานกับกำนันพรุ่งนี้ วันนี้ผมจะเข้าไปถามด้วยตัวเองว่า พรุ่งนี้กำนันอยู่บ้านไหม จะไปไหนไหม ถ้าไม่อยู่จะกลับมาช่วงไหน จะไม่ใช้โทรศัพท์ แต่เข้าไปหาด้วยตัวเองก่อน เราต้องยอมรับว่าบางครั้งผู้ใหญ่ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเด็กเท่าที่ควร ต่อให้เด็กไปนัดเองก่อนก็อาจจะไปแล้วไม่เจอ เราอยากให้เด็กทำงานเป็นแต่ไม่อยากให้เสียเวลา ถ้าไปแล้วกลายเป็นความผิดหวัง พอหลายๆ ครั้งเข้า มักเกิดคำถามว่า ไปทำไม! เด็กจะสะท้อนกลับว่า ไปทำไม ไม่เจอใคร เราไปทำอย่างอื่นดีไหมครู ผมไม่อยากให้เกิดตรงนั้น มันเสียความรู้สึกด้วย เสียเวลาด้วย ทั้งตัวเราเองและตัวเด็กๆ


ถาม : ในส่วนของน้องๆ ก่อนที่จะต้องไปเจอกับอะไร ก็ต้องมีการเตรียมตัวในส่วนของตัวเองก่อนใช่ไหมคะ เช่น การเตรียมคำถาม เขาจะมีอยู่แล้วใช่ไหม

ตอบ : มีอยู่แล้ว เพราะเราสอนให้เขาสร้างเครื่องมือ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคำถาม การบันทึก การเตรียมตัวลงสัมภาษณ์ เช่น โทรศัพท์ น้ำดื่ม อาหาร เป็นต้น ในกรณีที่เราสัมภาษณ์ไม่เสร็จ เราจะไปกินอาหารกันตรงไหน ไปไหนคนเดียวไม่ปลอดภัย เราแบ่งกลุ่มไปดีไหม เมื่อกลับมาแล้ว แต่ละกลุ่มเอาคำถามเหล่านี้ มาประมวลรวมกันและเข้ากองกลาง


ถาม : ที่ครูเล่ามาหนูเข้าใจ เพราะว่าอยู่ในชนบท คือบางทีต่อให้น้องๆ ติดต่อประสานงานผู้นำชุมชนไปเอง บอกวันเวลาเรียบร้อย เขาก็อาจไม่ได้ใส่ใจมาก แต่การที่มีครูช่วยอยู่เบื้องหลัง ให้มันมีข้อผิดพลาดน้อยที่สุด จุดประสงค์ของครูคือแบบนี้ไหมค่ะ

ตอบ : ใช่ครับ นั่นคือจุดประสงค์หลักเลย เคยให้เด็กทำหนังสือเชิญผู้นำชุมชนเข้ามาที่โรงเรียนไหม เคยให้ทำ แต่ก่อนที่เด็กๆ เอาไปส่ง เราก็เข้าไปประสานกับผู้นำไว้ก่อน วันเวลาไหนว่างบ้าง จะเข้าไปให้ความรู้เรื่องนี้ ได้หรือไม่ได้ พอเขาบอกว่าได้ เราก็กลับมาทำหนังสือเชิญผู้นำ แล้วเด็กๆ ก็ถามว่า ครูว่าน่าจะวันไหนดี เราก็บอกเด็กไปว่า “เอางี้สิ! ลองเข้าไปติดต่อดูนะ” ให้เข้าไปอีกรอบนึง เมื่อเด็กเข้าไปถาม เขาให้คำตอบมา แต่เราพูดกับทางผู้นำไว้ว่า อย่าบอกเด็กๆ นะ ที่เรามาติดต่อไว้ก่อนแล้ว เมื่อเด็กๆ กลับมา เราก็ถามเขาปกติว่า เป็นอย่างไรบ้าง รู้วันเวลาหรือยัง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับตัวเขาด้วย ลึกๆ เหมือนกับการย้อมแมวหลอกแมวครับ เราไม่อยากให้เขาผิดหวัง ไม่อยากให้เสียเวลา แต่อยากให้เขาทำงานเองเป็นครับ ยอมเหนื่อยหลายรอบหน่อย เพื่อให้การทำงานราบรื่นขึ้น


ถาม : ในมุมของเด็กๆ คือเขาก็ติดต่อประสานงานมาได้ ครูได้เห็น feedback กลับมาไหมคะ ว่าเขารู้สึกภูมิใจว่าตัวเองก็ทำได้หรือคิดอย่างไรกับตัวเองบ้าง

ตอบ : สิ่งที่เห็นคือรอยยิ้มของเด็กๆ ที่แสดงออกมา “ได้แล้วครูได้แล้ว! พวกหนูไปติดต่อ เขาบอกว่าวันนี้ว่าง เราเข้าได้เลย เราสามารถทำหนังสือได้เลย” งานสำเร็จ เขาตื่นเต้นครับ แม้จะเป็นงานเล็กๆ แต่ก็เขาได้ทำด้วยตัวเอง เขามีความสุขตรงนั้น


ถาม : กลุ่มเป้าหมายคือเด็กนักเรียนชั้น ม.3 ห้องเรียนที่เราเป็นที่ปรึกษาใช่ไหมค่ะ

ตอบ : ครับ ตอนนั้นที่นำเด็ก ม.3 ไป เพราะว่าผู้บริหารให้เอาครูประจำชั้น ด้วยเหตุผลที่ว่า ความต่อเนื่องในการเรียนการสอน ก็เลยให้นำเด็ก ม.3 ไปเข้าร่วม


ถาม : พอมีผลลัพธ์จากสิ่งที่เราทำ มีการขยายไปในชั้นเรียนอื่นๆ ในโรงเรียนบ้างไหม อาจจะเป็นครูคนอื่นทำ หรือตัวครูเองต้องเข้าไปช่วยอะไรเพิ่มเติมไหมคะ

ตอบ : ในส่วนของโรงเรียน ผู้บริหารตั้งให้ทำโครงงานฐานวิจัยอยู่แล้ว ถ้าคนไหนมีปัญหาก็จะให้เป็นที่ปรึกษาของโครงการ ในกรณีที่ครูเดินต่อไม่ได้ เราก็ต้องเข้าไปแก้ปัญหาให้ถูกทาง จะเข้าไปดูว่าที่เดินต่อไม่ได้เป็นเพราะอะไร มันไปติดขัดอยู่ตรงไหน คอยเป็นที่ปรึกษา แนะนำ ครูคนอื่นที่ต้องการความช่วยเหลือ


ถาม : ส่วนใหญ่แล้ว จุดที่เขาติดขัดกันมากที่สุดจะเป็นเรื่องอะไร

ตอบ : คือความไม่ใส่ใจของครู ครูหลายๆ ท่านก็ยังมองว่าสอนในหนังสือดีอยู่แล้ว ทำไมต้องมาสอนในโครงงานฐานวิจัยอีก อีกอย่างคือ เหนื่อย ฉันสอนหนังสือในห้องสบาย แต่สอนข้างนอกเหนื่อยแล้วเด็กจะเรียนรู้เรื่องเหรอเมื่อถึงเวลานั้นจริงๆ ผู้บริหารบอกว่าคุณต้องทำ ถึงจะเดินต่อไปได้ แต่ปัญหามาจากความไม่ใส่ใจ ในเมื่อเดินต่อไม่ได้ ตรงนั้นเป็นหน้าที่ของเราแล้ว ที่จะต้องให้คำแนะนำกับเขาไป เขาจะทำไม่ทำก็อีกเรื่อง แต่ผมให้คำแนะนำกับคุณแล้วนะ


ถาม : ตอนแรกที่ ผอ.ได้เปลี่ยนมาเป็นโรงเรียนนวัตกรรม มันก็มีเรื่องคำว่า วิจัยเข้ามา ตอนนั้นครูรู้สึกยังไงบ้าง

ตอบ : บอกตรงๆ ว่า เครียด เมื่อนำวิจัยเข้ามา ผมพูดกับ ผอ. “ผมจะทำได้หรือ ผมไม่เคยเรียนวิจัย ผมไม่มีพื้นฐานเลย ” ท่านก็บอกว่า “เอาแบบนี้สิ ไปดูขั้นตอน” ตอนนั้นมีสิบขั้นเลย เอาข้อมูลเก่ามาให้ดู ผมถามท่านต่อว่า “ ผอ. แล้วทำไมต้องใช้คำว่าวิจัย ใช้โครงงานไม่ได้หรือก็หัวข้อเหมือนๆ กัน แต่ว่ารูปแบบการเขียน การนำเสนอในขั้นตอนการสรุปโครงงานมันไม่ถึง 5 บทเป๊ะ แต่อันนี้มัน 5 บท คิดว่ามันต่างกันแค่นิดเดียวเอง” ท่านก็บอกว่า โครงงานฐานวิจัยไม่มี PLC แต่ตรงนี้มันจะมีการพูดคุย จำเป็นต้องมีเช่น เวลาเราทำงานเสร็จในแต่ละครั้งเราต้องมาพูดคุย เพื่อที่จะให้ได้มาซึ่งข้อมูล ผมก็ถามว่ามันต่างกันตรงนี้ใช่ไหม ท่านก็บอกว่า ใช่จากนั้นก็ไม่ได้ติดใจอะไร พูดตรงๆ นะ แม้กระทั่งการทำผลงานยังทุลักทุเลเลย เนื่องจากไม่ได้เรียนมา กว่าจะผ่านตรงนั้นมาได้ เป็นอะไรที่มันยากมาก


ถาม : มันมีฐานโครงงานฐานวิจัยอันหนึ่งแล้ว พอมาเข้าโครงการ Active Citizen มันก็จะมีชุดข้อมูลที่มันคล้ายๆ กัน อยากให้ครูอธิบายให้ฟังหน่อยว่ามันต่างกันอย่างไร

ตอบ : ไม่ต่างเลย เพียงแต่ว่าเป้าหมายต่างกัน โครงการของ Active Citizen เด็กสนใจอะไร ไปได้ประเด็นมาแล้วไปดำเนินการต่อ เพื่อค้นคว้าหาความจริง เด็กได้ทำงานร่วมกัน ส่วนขั้นตอนการเดินงาน เหมือนกับการทำโครงงานฐานวิจัย แต่โครงงานฐานวิจัยจะละเอียดกว่าตรงตอนที่ก่อน ได้ประเด็นมาเพื่อตั้งชื่อเรื่อง คุณต้องเรียนรู้ขั้นตอนและรายละเอียดมาก่อน เอาล่ะ ! รู้จักโรงเรียนเป็นอย่างไร เขียน Mind Map เขียนอย่างไร ถ่ายภาพทำอย่างไร วิธีการจับประเด็นทำอย่างไร วิธีการสังเกตทำอย่างไร วิธีการพูดต่อหน้าชุมชนเป็นอย่างไร เป็นต้น เพื่อที่จะไปสู่ Active Citizen เป้าหมายสูงสุดจบที่ 5 บท จบที่ได้เรื่องนำเสนอและบันทึกเป็นเรื่องราวเก็บไว้ แต่โครงงานฐานวิจัย ทำไปหนึ่งปีแล้ว ยังทำไปไม่ถึงห้าบท ไม่เป็นไร เพราะเป้าหมายหลักมันอยู่ที่หัวข้อที่หนึ่ง คือ เรียนโครงงานฐานวิจัย เพื่อเอากระบวนการเรียนรู้ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน นั่นคือเป้าหมายหลัก แต่ Active Citizen เป็นการเอากระบวนการฐานวิจัยไปใช้ เพื่อให้ได้คำตอบ


ถาม : คำว่า เอาไปใช้เพื่อให้ได้คำตอบ คำตอบ คืออะไร

ตอบ :“คำตอบ” คือ คำตอบจากประเด็นที่เขาอยากรู้ ที่บอกจะเอาไปใช้ในชีวิตประจำวัน เรามีปัญหาเรื่องนี้ เราเอามาตั้งคำถาม และจะแก้ปัญหามันอย่างไร แล้วเราก็เอาคำถามเหล่านั้นไปหาคำตอบ และเมื่อได้คำตอบแล้วเราเอามาใช้ในชีวิตประจำวัน นั่นคือการเอาไปใช้ เป็นเป้าหมายหลัก แต่ของ Active Citizen ก็เป็นไปในแบบนั้น เพียงแต่ว่าเมื่อได้คำตอบแล้ว คุณจะเอาไปใช้หรือไม่ มันเป็นเรื่องของคุณ ให้เขาตัดสินใจเอง


ถาม : จึงทำให้ครูรู้สึกว่าเวลาบังเชษฐ์มาชักชวน ไม่ได้ทำให้รู้สึกว่าเป็นสองเท่า แต่สามารถทำไปด้วยกันได้ใช่ไหมค่ะ

ตอบ : ครับ ผมขอใช้คำว่า “คนละเรื่องเดียวกัน” งานของ ผอ. และ งานของบังเชษฐ์ มันคนละเรื่อง แต่ทิศทางในการดำเนินการมันคือเรื่องเดียวกัน เพียงแต่คนที่เข้ามาทำเป็นคนละคนกัน โดยใช้เราเป็นตัวผ่านเท่านั้นเองถ้าถามว่างานงอกไหม? คำตอบคือไม่ แต่ส่วนที่มันหายไปคือเวลา เพราะว่าเราต้องเชื่อมต่อกับสองด้าน เราจะเสียเวลาตรงนั้นไป ถ้าถามว่าเราเสียหายไหม? ก็ไม่นะ เสมือนเป็นการทบทวนให้เราไปในตัว


ถาม : ครูได้เรียนรู้หรือได้พัฒนาตัวเองตรงไหนเพิ่มขึ้นไหม หลังจากที่เราเป็นตัวผ่านในโครงการทั้งสองอย่างนี้

ตอบ : ขอใช้คำว่า “เราได้โดยที่เราไม่ต้องหาเอง” สิ่งที่เราได้คือ บุคลิกของคนที่ถ่ายถอดให้เรา อย่างที่บอกไป ว่าตัวเรามีปัญหาเรื่องอารมณ์ แต่พอเข้าไปคลุกคลีกับเชษฐ์ การใช้คำถามและการใช้คำพูดของเชษฐ์คนละเรื่องกันเลย เราจึงซึมซับสิ่งเหล่านี้มาได้เยอะ เป็นที่ปรึกษาให้เราได้ด้วย เช่น “ เชษฐ์ ! พี่ทำอันนนี้ไม่ถูก พี่ควรจะทำอย่างไร” บอกตรงๆ ไม่อายที่จะถามเด็กนะ ถามว่าเขาตอบตรงไหม ก็ไม่ตรงนะ แต่เราเรียนรู้เอาเอง เราจับตรงไหนได้ก็เรียนรู้ตรงนั้น และในส่วนของผู้บริหาร เขาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในทีม สิ่งที่เห็นคือความตั้งใจและพร้อมที่จะให้กับส่วนรวม เป็นคนที่มองการไกล คิดในมุมกว้างมากๆ ไม่ปิดกั้น และพร้อมที่จะยอมรับความจริงว่า อะไรมันจะเกิดก็ต้องเกิด แต่เราจะแก้ปัญหามันอย่างไร นั่นคือส่วนของผู้บริหารที่ได้มา


ถาม : ในกลุ่มของบังเชษฐ์จะมีเครื่องมือที่ชื่อว่า RDM ครูอธิบายให้ฟังหน่อยได้ไหม ว่าตัวนี้มีประโยชน์อย่างไรบ้างค่ะ

ตอบ :RDM ที่โรงเรียนก็ยังใช้อยู่ คือการเรียนรู้โดยคำถาม เมื่อรวบรวมข้อมูลเสร็จแล้ว ต่อไปคือกระบวนการและลงมือปฏิบัติ สิ้นสุดที่เดินไปตามขั้นตอนแล้วทำ RDMคือการเรียนรู้ผ่านกระบวนการการลงมือปฏิบัติ และก็รวบรวมมา


ถาม : น้องๆทำได้ดีไหม จากที่ครูมอง

ตอบ : ผมใช้เป็นจำนวนคนแล้วกันนะ เอาที่ชัวร์ๆ 7 คน ส่วนคนที่เหลือได้บ้างไม่ได้บ้าง 14-15 คน หนึ่งใน 7 คนนี้คือ พราว งานหลักเขาเป็นคนสนับสนุนอยู่ ถ้าถามว่าเด็กรู้จักไหมว่า RDM คืออะไร ? เด็กไม่รู้จัก เพราะว่าเป็นคนไม่เก่งภาษอังกฤษ ผมก็ไม่เคยอธิบาย แต่ถ้าถามเด็กว่าทำอย่างไร ได้อะไร เกิดอะไรขึ้น เขาตอบได้แน่ๆ


ถาม : โรงเรียนมีตั้งแต่ชั้นอะไรบ้างค่ะ แสดงว่าน้องๆกลุ่มที่ทำเรียนจบแล้วหรือยังค่ะหรือมาคาบเกี่ยวกันอย่างไร

ตอบ : มีตั้งอนุบาล ถึง ม.3 ครับ ตอนนี้เด็ก ม.3 จบไปเรียนต่อที่อื่นแล้ว มีเรียนสองเทอม นี่ไม่พูดถึงโควิดนะ ปกติโรงเรียนจะเปิดพฤษภาคม ปิดตุลาคม ปิดประมาณ 20 วัน และเปิดอีกที 1 พฤศจิกายน ปิดอีกรอบ 30 มีนาคมนั่นคือภาคเรียนที่สอง  พอมาติดโควิด จึงมีการเลื่อนออกมาให้ครบ 200 วัน (สองเทอมเท่ากับสองร้อยวัน) ช่วงชั้นที่ 3 ตอนนี้เขาเข้าไปอยู่ในช่วงชั้นที่ 4 คือ ม.4-6 มันจะมีช่วงชั้นที่ 1 คือ ป.1-3 ช่วงชั้นที่ 2 คือ ป.4-6 ช่วงชั้นที่ 3 คือ ม.1-3 และในช่วงชั้นที่ 4 คือ ม.4-6 ตามกฎหมายที่กำหนดไว้


ถาม : ที่นี่จะมีอยู่ในช่วงชั้นที่ 3 ใช่ไหมค่ะแต่ครูยังได้เห็นน้องๆในชุมชนอยู่ใช่ไหมค่ะ

ตอบ ใช่ครับ เด็กในชุมชน เด็กๆ เหล่านี้ เขาไม่ทิ้งโรงเรียน เมื่อไหร่ที่เขาว่างก็จะเข้ามา มาเที่ยวและพบเจอกับคุณครูคนนั้นคนนี้บ้าง อันที่จริงโรงเรียนก็เป็นทางผ่านกลับบ้านของเขา อีกอย่างก็ยังติดต่ออยู่ผ่านทางแมสเซนเจอร์


ถาม : อยากให้ครูสรุปสวนป่าอีกทีว่า หลังจากที่ได้ทำโครงการไป อยากให้ครูฉายภาพให้เห็นว่าตอนนี้สภาพสวนป่า ตรงนั้นเป็นยังไงบ้างค่ะ

ตอบ : เป็นผืนป่า 4 ไร่ที่ร่มรื่น เป็นป่าทึบที่ไม่มีการบุกรุก สิ่งที่ปรากฏชัดเจนในตอนนี้คือไม่มีการมั่วสุมแล้ว แต่ตอนนี้พื้นที่ตรงนั้นไม่ได้ใช้ประโยชน์ ตัวชี้วัดก็คือ ถ้าเข้าไปนั่งยุ่งไล่ครับ


ถาม : เราก็ได้ตามเป้าหมายของโครงการใช่ไหมค่ะ เพราะเราต้องการไม่ให้พื้นที่ตรงนั้นเป็นแหล่งมั่วสุม

ตอบ :ใช่ครับ อันดับแรกคือเราไม่ต้องการให้ถางเพิ่ม ไม่ต้องการให้บุกรุก เพราะเราต้องการรักษาป่าตรงนั้นไว้ ถือว่าบรรลุเป้าหมาย ถ้าถามว่าต่อยอดในเรื่องของการใช้ประโยชน์ ให้มันเป็นเรื่องของอนาคตข้างหน้า แต่เป้าหมายที่เป็นจุดประสงค์ สองข้อหลักๆ เราทำสำเร็จแล้ว


ถาม : เสียงตอบรับจากชุมชนเป็นยังไงบ้างค่ะ

ตอบ : ในช่วงของการทำกิจกรรม ชุมชนให้ความร่วมมือ เขายังให้ความสนใจ ชาวบ้านถามว่า “เขาทำอะไรกันหรือครู” เราก็บอกเขาไป ในวันที่บวชป่านำปิ่นโตมาถวายพระ มากันเกือบร้อยคนในวันนั้น


ถาม ตอนบวชป่า ที่มี ชาวบ้าน มีสื่อและหน่วยงานภาครัฐให้ความสนใจ ในฐานะครูที่เป็นพี่เลี้ยงในโครงการรู้สึกอย่างไรบ้าง

ตอบ: ดีใจครับ อย่างน้อยก็มีคนเห็นและให้ความสำคัญ ดีใจแทนเด็กๆ และในส่วนของตัวเองนั้น บอกตรงๆ ว่าเหนื่อย ถ่ายภาพก็ยังไม่ได้ถ่ายเลย ช่วยเด็กๆ เต็มที่ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง ดีใจมากคือหลังจากบวชป่าเสร็จแล้ว ประธานฝ่ายสงฆ์ได้นำเรื่องการบวชป่าไปเผยแพร่อีกที่หนึ่ง นั่นคือการบอกให้เรารู้ว่า ไม่ได้มีแต่เราแล้วนะ ยังมีผู้นำชุมชนบางส่วนให้ความสำคัญ จึงได้นำกิจกรรมนี้ไปใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อไปอีก จะได้มีการรักษาผืนป่าผืนต่อไปเพิ่มขึ้นอีก นั่นคือสิ่งที่ภาคภูมิใจ


ถาม ส่วนที่เป็นโครงงารฐานวิจัย จะมีการแซวถึงครูชัยว่า เป็นโครงงารฐานวิชัยครูเคยได้ยินใช่ไหมคะและรู้สึกอย่างไรบ้างคือเขาแซวในทางที่ดีนะ เหมือนว่าครูเป็นคนที่ทำจนชัดเจนว่าทำโครงงานฐานวิจัยจะต้องทำยังไง

ตอบ:(หัวเราะ) เฉยๆ ครับ อาจเพราะเป็นคนพูดตรงๆ เวลาทำ ทำเต็มร้อยแต่จะได้แค่ไหนอีกเรื่อง เป็นคนคิดอย่างไรก็พูดไปแบบนั้น ผมดีใจและพร้อมที่จะช่วยตรงนั้นครับ แต่ถ้าถามว่ารู้สึกยังไง ก็เฉยๆ ครับ


ถาม : ส่วนตัวครูอยากจะได้รับความรู้หรืออยากพัฒนาทักษะด้านไหนเพิ่มเติมอีกไหมค่ะ

ตอบ : อยากเพิ่มเติมในส่วนของจิตวิทยา ระหว่างการปฏิสัมพันธ์ต่อคน เราเคยเรียนมานะ แต่พอนานเข้ามันลืม ถ้าเกิดมีเทคนิคเข้ามาหรือการประสานงานที่มันต้องใช้คำพูด มันก็มีประโยชน์ในมุมส่วนตัวนะ


ถาม : คือเราจะยิ่งเข้าใจก็ต่อเมื่อเราเอาออกมาใช้ใช่ไหมค่ะ

ตอบ:ถูกครับ ต่อให้คุณจำเก่งแค่ไหนมันก็ไม่มีค่า ถ้าคุณไม่ได้เอามันออกมาใช้ พอใช้จริงๆ มันไม่ได้ล็อคว่า ตรงนี้ให้เอาไปใช้ในตอนนั้น มันไม่ใช่ ในบางเวลาที่เกี่ยวเนื่อง เราก็สามารถนำมาพลิกแพลงได้ มันก็เป็นประโยชน์กับเราเมื่อเอามาใช้


ถาม : จากประสบการณ์ของครูที่นอกจากเป็นครูพละและเคยมีบทบาทเป็นโค้ชดูแลเรื่องกีฬา จะได้เห็นศักยภาพของเด็กแต่ละคน ครูคิดว่ามันมีผลไหมที่ทำให้ตัวเองเข้าใจว่าเด็กมีความแตกต่างกัน

ตอบ : เด็กความแตกต่างแต่ละบุคคลมีและชัดด้วย ด้วยความที่เราเป็นโค้ชจะรู้ว่าคนไหนเก่งอะไร จุดเด่นจุดด้อยคืออะไรแล้วใช้คนให้ถูกกับงานทำอย่างไร ถามว่าเก่งทุกคนไหม ก็ไม่นะ คนที่เก่งที่สุดก็ไม่ได้เป็นทุกเรื่อง แต่การใช้ให้ถูกกับงานเป็นเรื่องที่สำคัญ ผลที่ตามมาคือความภาคภูมิใจและความสำเร็จ เด็กจะสนุก ระหว่างการเป็นโค้ชและวิจัย กับสิ่งที่สะท้อนออกไปคืออารมณ์ มันคนละเรื่อง ต่างกันโดยสิ้นเชิง โค้ชคือทำยังไงก็ได้ให้ชนะ แต่โค้ชวิจัยต้องทำให้เด็กรู้เรื่องและทำด้วยด้วยความเต็มใจ พอเรามาทำในโครงการนี้ สิ่งที่ติดมากับเราคือการเป็นโค้ชกีฬาว่าจะทำยังไงให้มันชนะและสำเร็จลุล่วง จึงทำให้อารมณ์ค่อนข้างดุดัน


ถาม : ครูมีทำโครงการต่อ กับน้องๆ รุ่นต่อไปไหม

ตอบ : ตอนนี้มาจับเด็ก ม.1 ตอนนี้ผมเริ่มปูพื้นฐานไปถึงเรื่องลงพื้นที่เก็บข้อมูล และหาประเด็นที่เขาสนใจ เพราะเราเป็นโค้ชนี่แหละ จะวางแผนแล้วว่าปีที่แล้วจับ ม.3 เหนื่อยปีนึงแล้วก็หลุด ทำให้รู้สึกไม่คุ้มค่า ตัดสินใจบอก ผอ.ว่าปีนี้ผมขอลง ม.1 นะ กว่าเด็กจะจบ ผมขอต่อ 3 ปี ใน 3 ปีนี้ ถ้ามีโครงการของ Active Citizen เข้ามาจะเอาเด็กชุดนี้ลง ถ้าเกิดว่าเด็กได้ลงทำโครงการปีนี้ เหมือนกับเป็นการฝึกหัด แต่พอเข้าปีสองและสาม เราสามารถแตกในแง่ของความคิดของเด็กๆ แทนที่จะได้แค่ 7 คนมันอาจจะได้ทั้งห้องก็เป็นไปได้ จาก 7 คนที่ผ่านมา ก็มาเป็นที่ปรึกษาให้กับครูหลายๆ ท่านในปีที่แล้ว ความหวังลึกๆ ถ้าเด็กชุดนี้ ถ้าเราปลูกฝังต่อไป วันข้างหน้าเขาแม่นยำขึ้นมา ก็จะได้เป็นพี่เลี้ยงให้กับคนอื่นอีกหลายๆ คนในอนาคตข้างหน้าอีกก็ได้


ถาม : แต่ตอนนี้คือยังไม่ได้มีประเด็น เพราะกำลังหาอยู่ว่าเขาสนใจอะไรใช่ไหมค่ะ

ตอบ: ครับ ช่วงที่ผ่านมาติดช่วงโควิดบ้าง และภาระงาน พอดีกับที่ ผอ.ย้ายไปอยู่ที่โรงเรียนอนุบาลสตูล จะมี ผอ.ใหม่มา ได้ยินข่าวจาก สพท. เขาจะพาไปอบรม ถ้าเขาให้ความสำคัญเราก็ต่อ แต่ถ้าไม่ให้ความสำคัญเราก็ต่อของเราเองต่อไป


ถาม : ผอ.ใหม่ แต่โรงเรียนก็ยังทำในแนวทางโครงงานฐาณวิจัยไหมหรือแล้วแต่ ผอ.อีก

ตอบ : ส่วนหนึ่งที่เราปฏิเสธไม่ได้ คือนโยบาย แต่ว่าที่เอามาใช้แน่นอน คือกระบวนการ 5 ขั้นของการทำโครงงานฐานวิจัย ซึ่งก็นำมาใช้เกือบสองปีแล้ว เช่น การนั่งสมาธิ ร้องเพลง เล่นเกมกันก่อน และชี้แจงว่าเราจะเรียนเรื่องอะไรกัน จากนั้นเราก็ลงมือเรียนกัน สุดท้ายเรามาถอดองค์ความรู้ ว่าหนูได้อะไรจากการเรียนแล้วก็ถอดความรู้สึก ตัวนี้ยังใช้อยู่ตลอดครับ เป็นนวัตกรรมของโรงเรียน ถึงเปลี่ยนผู้บริหาร แล้วพื้นที่นวัตกรรมเปลี่ยนไปไหม คงไม่เปลี่ยน เพราะมันเป็นกฎหมายตรงนั้น


ถาม : ส่วนตัวแล้วครูสนุกไหมค่ะ เพราะฟังครูเล่าสนุก

ตอบ : แรกๆ เครียด แต่ตอนนี้โอเคแล้ว ช่วงหลังๆ มาทุกอย่างราบรื่นด้วยตัวของมันเอง เมื่อเราทำเป็นประจำ จึงไม่จำเป็นต้องพะวงหน้าพะวงหลังอยู่กับขั้นตอน ผมชอบวิจัยอยู่หนึ่งตัว คือ ไม่ตายตัว อะไรก็ได้ เราเดินตามแผนงาน แต่รูปแบบการเรียนการสอนก็แล้วแต่คุณ ให้มันเดินไปตามกลไกของมันก็พอแล้ว ถ้าเรื่องนี้เด็กเรียนแล้วไม่รู้เรื่อง ก็ไม่ต้องข้าม เรียนซ้ำจนเข้าใจโดยการเปลี่ยนวิธีใหม่เท่านั้นเอง อีกอย่างเด็กพูดมากขึ้น คือสิ่งที่เห็นชัด กล้าพูดกล้าถาม


ถาม : ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับเด็กเปลี่ยนไปไหมค่ะ

ตอบ : จากที่เขาไม่กล้าเข้าใกล้ กลับกลายเป็นว่าตอนนี้เขาคุยเล่น เข้ามาแกล้งบ้าง


ถาม : ถ้าให้นิยามตัวเองว่า ตัวเองเป็นพี่เลี้ยงแบบไหน จะนิยามตัวเองว่าอย่างไรค่ะ

ตอบ :“ไปตามขั้นตอน ทำงานให้สำเร็จ แต่ไม่ยึดวิธีการ ”


ถาม : แต่ว่า เป้าหมายต้องชัดเจนด้วยใช่ไหมค่ะ

ตอบ : ใช่ครับ สำหรับเป้าหมาย เราแค่เตรียม และตั้งเป้าว่าเราต้องการอะไร เราเดินให้ถึงเป้าหมาย ส่วนวิธีการนั้นก็แล้วแต่ เป็นยังไงก็ได้ แต่ในมุมเราจะไม่ปล่อยให้เด็กๆ ไปกันเอง เราจะคอยช่วยอยู่เบื้องหลังเสมอ เพื่อให้เขาเดินไปตามเป้าหมายต่อได้ แต่จะไม่ให้คุณรู้ว่าสิ่งที่เราทำ เราทำอะไร


ถาม : ในทางกลับกัน ถ้าโครงการนี้ ผลลัพธ์ไม่ได้ออกมาอย่างที่ตั้งเป้าว่า ชุมชนไม่ให้ความร่วมมือ อีกทั้งยังเป็นแหล่งมั่วสุมของวัยรุ่นเหมือนเดิม ครูคิดว่าตัวเองจะสะท้อนตรงนี้ยังไงค่ะ

ตอบ : รู้สึกแย่ แต่ในความรู้สึกนั้น ก็คงหาโครงการอีก แต่จะทำอะไร เพราะเรารู้อยู่ว่าปัญหา คือ การให้ความสำคัญของชุมชน ถ้าชุมชนไม่ให้ความสำคัญแล้วเราจะทำอย่างไร การให้ความสำคัญกับชุมชน คือ การสร้างกิจกรรมในสถานที่แห่งนั้น แต่ต้องไปดูกันว่า กิจกรรมที่เราเอาไปลง คนที่รับผิดชอบอยู่นั่นคือใคร เขาให้ความสำคัญขนาดไหน อะไรที่ทำให้เขาไม่ลงไปตรงนั้น ผมจะไม่ลงไปตรงนั้น แต่จะให้เด็กๆ ลูกหลาน เป็นคนจี้ผู้ใหญ่เอง สวนป่าผมก็ถูกเล็งมา เพราะเด็กๆ ไปจี้เขาโดยตรงว่า คุณไม่ให้ความสำคัญ มันเลยกลายเป็นแหล่งมั่วสุม ในวันที่ไปบวชป่าเด็กพูดแบบนี้เลยครับ แล้วผู้นำก็มาตัดพ้อว่า ทำไมให้เด็กพูดแบบนี้ ผมก็บอกไปว่า ผมไม่ได้ใช้ให้เขาพูดนะ เขาพูดกันเอง อีกหนึ่งอย่างที่เราเห็น คือพลังของเด็ก มีมากเกินกว่าที่เราคิด เมื่อใช้ให้ถูกทาง มันจะสุดยอดมาก


ถาม : แม้แต่คนที่สะท้อนมาว่า ทำไมให้เด็กพูดแบบนั้น แต่สุดท้ายเขาก็ไม่ได้ติดใจอะไรใช่ไหม

ตอบ : คนที่พูดคือเจ้าตัวเขาเองครับ กำนันและผู้นำในพื้นที่ครับ “ทำไมให้เด็กพูดแบบนั้น” ผมก็บอกว่า เด็กลงพื้นที่เก็บข้อมูลมาเองจากชุมชุน จากชาวบ้าน จากการสัมภาษณ์ เขาก็ต้องยอมรับความจริงนะ ไม่ใช่ว่าเราไม่พร้อมที่จะช่วย เราพร้อมนะ อะไรที่ให้ผมช่วยได้ผมช่วยเต็มที่ แต่คุณไม่ร่วม มันก็ไม่ได้ เพราะคุณคือผู้นำเป็นคนของประชาชน


ถาม : บทบาทและบุคลิกของพี่เลี้ยงก็สำคัญ เพราะในเหตุการณ์ตรงนี้ ให้นึกถึงว่าบางโครงการจะมีน้องๆ ผู้หญิงที่เป็นพี่เลี้ยง ถ้าเกิดเป็นน้องผู้หญิง มาเจอกับผู้นำชุมชนพูดแบบนั้นกับเขา แต่เขาไม่ได้มีบุคลิกหรือแบ็คกราวที่แข็งแรงแบบครู ก็อาจจะทำให้น้องรู้สึกแย่ ครูมีความคิดเห็นอย่างไรบ้างกับเรื่องนี้

ตอบ : ใช่ เปรียบเสมือนว่า เราขึ้นรถลำเดียวกันแล้ว เราจะปล่อยเด็กตามยถากรรมไม่ได้ เพราะเป็นพี่เลี้ยงต้องดูทุกเรื่อง เพียงแต่คุณอย่าเข้าไปยุ่งทุกเรื่องก็พอ เรื่องไหนที่เกินกำลังเด็กๆ ในแง่ของผลกระทบ พี่เลี้ยงต้องเป็นผู้ประสาน อย่าปล่อยให้เด็กๆ ไปเผชิญกับสิ่งเหล่านั้นเอง เด็กไปทำตรงนี้ เจตนาของเขาคืออะไร ก็เพราะต้องการพัฒนาบ้านเมืองเขา ถ้ามันเป็นความจริง คุณก็ต้องยอมรับความจริงให้ได้ ยังไงก็ห้ามทิ้งเด็กๆ เพราะเราพาเขาทำ เราจึงต้องร่วมมือกัน


ถาม : ทีมบังเชษฐ์ได้เข้ามาช่วยครูชัยยังไงบ้างค่ะ ที่ทำให้ครูเข้าใจกระบวนการในการทำงานกับเด็กๆ ง่ายขึ้นค่ะ

ตอบ : ช่วงที่ทำงานกันหนึ่งปีกับเชษฐ์ เกือบ 10 ครั้ง ทั้งในและนอก “ใน” คือการไปทำงานงานร่วมกับเด็กๆ และเชษฐ์ที่ทำงาน 4-5 ครั้ง แล้วก็เจอเชษฐ์ในสองมิติอีก 4-5 ครั้ง มิติแรกคือ โครงงานฐานวิจัยของโรงเรียน ซึ่งเขาเป็นทีมที่คอยถ่ายถอด อันนั้นเวลาเรามีปัญหาอะไรจะได้พุดคุยกัน และอีก 2-3 ครั้งที่เขาลงพื้นที่ที่เด็กๆ ลงไปทำโครงการจริงๆ เพื่อย้อนรอยข้อมูลและร่วมกิจกรรมบวชป่า ลงไปถอดบทเรียน แต่ตอนที่โจ้มาไม่ได้ไป จากนั้นมหกรรมออนไลน์การสรุปงาน เชษฐ์ก็มาตั้งทีมไลฟ์สด ก็ตอบขอบคุณทีมงานด้วยครับ


ถาม : มีครั้งไหนไหม ที่ทำให้ครูกระจ่างขึ้นมากเลย

ตอบ : เรื่อง การเลือกประเด็น อย่างที่บอกไปว่า ห้าวัน เอาห้าคูณสาม เท่ากับสิบห้า ในสิบห้าชั่วโมงกับการถูกล็อคว่า ฉันจะเดินยังไงกับการจับประเด็นตัวนี้มาเพื่อพัฒนาเป็นโจทย์วิจัย ตันมากไม่รู้จะไปยังไง จากนั้นเชษฐ์เข้ามา หยาดเข้ามา ใช้วิธีถามว่าพี่ต้องทำยังไง เอาอะไรมาเป็นตัวจับ โอเค วิธีการขั้นตอนเรารู้ แต่ประโยคแค่ 3 คำอย่างที่บอก จากนั้นพี่ทำเอง หลังจากที่ได้ประเด็นมาแล้ว พี่บอกเชษฐ์ วิจารณ์พี่หน่อยว่าเป็นยังไงบ้าง เขาสะท้อนกลับให้เรา โอเควันนั้น เรากระจ่างและได้คำตอบ


ถาม : หนูฟังครูชัยเล่าภาพรวมน้องๆ มาบ้างแล้ว อยากฟังตัวอย่างสักหนึ่งคน ที่ครูรู้สึกประทับใจและเห็นว่าทำงานกับเด็กคนนี้เห็นพัฒนาการของเขาตั้งแต่แรกจนจบโครงการ มีคนไนบ้างที่ครูรูสึกประทับใจ

ตอบ : จริงๆ แล้ว มีอยู่ 4-5 คน แต่ที่เด่นๆ มีอยู่คนนึง คือ พราว ถามว่ากล้าพูดไหม โดยพื้นฐานเขากล้าพูดอยู่แล้ว เพราะเป็นประธานนักเรียน สิ่งที่ประทับใจเด็กคนนี้คือ ไม่ปฏิเสธงาน แล้วงานที่ให้ไป หนักนะ อันนี้รู้มาจกเขานี่แหละ เด็กนอนเที่ยงคืน

ในงานวิจัยหลายๆ ตัว ให้พราวเอาข้อมูลไปลงสรุปรวมไว้ เราค่อยคุยกัน เขาคือผู้ช่วยผมในการสอน เพราะบางครั้งการเรียนในห้องมันไม่เสร็จ มันไม่จบ แต่ในอีกวันเราต้องเดินต่อ และเอาตัวจากวันนี้ไปเก็บต่อ งานหนักแค่ไหนไม่เคยบ่น ผมรู้จากแม่ของเขาด้วยความที่เราผ่านบ้านเขาบ่อย และอีกคนคือมาย เป็นคนที่ไม่ค่อยพูด จับประเด็นไม่เก่งเท่าไหร่ แต่พอได้มาเรียนรู้ เขาจับประเด็นได้ดีมาก พูดน้อย แต่บางครั้งที่เขาพูดเรามีสะอึก อีกคนคือปลาย มอบหมายให้รับผิดชอบเรื่องคอมพิวเตอร์ จะให้บันทึกงานทุกอย่างลงคอม อะไรก็แล้วแต่ที่เป็นเอกสารตกผลึกจะต้องลงคอม ไหนลองทำประกาศออกมาสิ ที่เราจะทำนั่น จะทำนี่ ปลายถ่ายรูปทำคลิปด้วย เพราะเราทำไม่เป็น เรามาได้คำตอบในวันสุดท้ายที่เชษฐ์มาถอดบทเรียน เขาบอกว่า เขาทำไม่เป็น แต่ที่ทำเป็นเพราะครูให้ทำ ไปหาเอาเองดิ้นเอาเอง ทำได้จริงๆ คือเรื่องคอมพิวเตอร์ประมาณ 50% พอผ่านตรงนี้ไปแล้วเขาได้ 75% อีก 15% ขอเรียนรู้ต่อเอาเอง แต่ที่เขาได้มาในช่วงโครงงานฐานวิจัยตรงนี้ เขาได้จากการที่เราป้อนงานให้เขาทำ เขาทำเองศึกษาค้นคว้าเอง

เรารู้อย่างเดียวคือ “เอา! ครูงานได้แล้ว ดูให้หน่อยสไตล์เราก็จะพูดว่า แล้วทำไมเป็นแบบนี้ ปรับตรงนี้อีกหน่อยได้ไหม “ได้ครู ได้ๆ” เด็กคนนี้มักตอบว่าได้ แล้วหลังจากนั้นเขาไปทำ