ณัฐชยาน์ ชูช่วง : ​บทสัมภาษณ์พี่เลี้ยงเด่นโครงการสิ่งประดิษฐ์จากเศษขยะจากหาดกาสิง เยาวชนคนชายเล บ้านบ่อเจ็ดลูก

บทสัมภาษณ์พี่เลี้ยงเด่นโครงการสิ่งประดิษฐ์จากเศษขยะจากหาดกาสิง เยาวชนคนชายเล บ้านบ่อเจ็ดลูก


พี่เลี้ยงเด่น

ชื่อ : ณัฐชยาน์ ชูช่วง ชื่อเล่น : จ๊ะลัดดา

อายุ : 43 ปี

อาชีพ : ขายของในโรงเรียน



ถาม : ก๊ะเข้ามาทำงานเกี่ยวกับงานวิจัยร่วมกับโรงเรียนตั้งแต่เมื่อไร

ตอบ : ก๊ะเข้ามาตอนช่วงทำงานกับเด็กที่โรงเรียนรู้จักกับน้องเชษฐ์ช่วงทำวิจัยกับโรงเรียนขนาดเล็กโรงเรียนบ้านบ่อเจ็ดลูก เข้าไปเป็นทีมที่ทำงาน เรื่องทำอย่างไรให้โรงเรียนขนาดเล็กสอนงานวิจัย


ถาม : กี่ปีมาแล้วคะ

ตอบ : ตั้งแต่ปี 54 ประมาณนั้น


ถาม : ตอนนี้ถ้าถามถึงอาชีพพี่ดาทำอาชีพอะไรคะ

ตอบ : พี่ดาเข้าไปขายของในโรงเรียนบ้านบ่อเจ็ดลูก ผอ.ให้เขาไปช่วยเป็นร้านค้าสวัสดิการ แต่ทำเป็นของทานเล่นของเด็ก ๆ ตอนพักเที่ยง เป็นคุณแม่ลูกอ่อน


ถาม : เข้าไปขายของนานหรือยังคะ

ตอบ : พึ่งเริ่มได้สักเดือนหนึ่งแล้ว


ถาม : ก่อนหน้านี้ทำอะไรคะ

ตอบ : เปิดร้านขายของหน้าบ้านเป็นเหมือนร้านน้ำปั่น แต่พอลูกอ่อนเลยทำไม่ได้ มันยากเกินไปก็เลยทำอาหารไปฝากที่โรงเรียนขาย ผอ.ให้โอกาสไปช่วยขาย เพราะว่าลดภาระครูสอนเด็ก ๆ ได้เต็มที่ ให้พี่ดาไปรับผิดชอบในส่วนนี้ไป


ถาม : พี่ดามีลูกกี่คนคะ

ตอบ : 3 คน มีน้องแดน น้องแนน น้องแคน


ถาม : เห็นว่าทำงานกับเด็กที่ในโรงเรียนตั้งแต่ปี 54

ตอบ : ค่ะ ตั้งแต่ ผอ. คนก่อนเขาชวนไป ผอ.อาจย้ายไปตามวาระ แต่คนที่อยู่ประจำคือผู้ปกครองหรือคนในหมู่บ้าน ถ้าจะทำงานชุมชน จำเป็นต้องทำงานกับคนที่อยู่ประจำในหมู่บ้าน เพราะรับรู้ความเคลื่อนไหวทุกอย่างในหมู่บ้าน จ๊ะสนใจไหม ถ้าโรงเรียนเกิดอะไรขึ้น หรือว่าไม่มีครูจะช่วยได้บ้างไหม ช่วงนั้นลูกพี่ดาทั้งสองคนเรียนอยู่ คนหนึ่งชั้นอนุบาล น้องแดน ช้ัน ป. 4 พี่ดาเข้าไปสอนวิชาโครงงานฐานวิจัย ไปช่วยกระตุ้นคำถามเด็ก เป็นช่วงคาบเกี่ยวที่น้องแดน ป.4 มีรุ่นพี่แถวบ้าน เพิ่งจบ ป.6 ออกไปแล้วสอบเข้าโรงเรียนกำแพงวิทยาไม่ได้ โรงเรียนกำแพงวิทยาเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ของอำเภอ เป็นโรงเรียน ม.ต้น ม.ปลายอันดับสองของจังหวัด ซึ่งรุ่นพี่คนนี้เรียนโรงเรียนเอกชน พอเราเห็นอย่างนั้น เราก็แอบกังวล เลยอยากเข้าไปมีส่วนร่วมในโรงเรียนน้องแดน ไปช่วยกระตุ้น ช่วยส่งเสริมกิจกรรมของโรงเรียนทุกอย่างทำให้ได้มาเป็นทีมเดียวกันกับบังเชษฐ์ที่เข้าไปทำงานวิจัยกับทางโรงเรียน


ถาม : ทำมานานไหมคะพี่ดา

ตอบ : คนในชุมชนรู้จักเราในนามของทีมวิจัยของบ่อเจ็ดลูกไปแล้ว แต่ว่าของพี่ดาส่วนมากอยู่กับเด็กและเยาวชนเพราะเยาวชนที่เข้าร่วมเป็นลูกของเราเอง เหมือนเราไปเลี้ยงลูกแล้วก็ไปทำกิจกรรมกับลูก


ถาม : แสดงว่าก่อนหน้าที่จะเข้าร่วมโครงการ Active Citizen พี่ดาทำงานด้านเยาวชนมาก่อนแล้ว ทำไมถึงอยากทำงานด้านเด็กและเยาวชน

ตอบ : จุดเปลี่ยนของพี่ดาที่เห็นครั้งแรกคือเราเปลี่ยนที่ตัวเองก่อน ตอนนั้นยังไม่เข้ามาเต็มตัวยังไม่ถึงขนาดเห็นความสำคัญแต่เราไปเห็นเยาวชนรุ่นก่อนกของบ่อเจ็ดลูกสามารถพูด อธิบายหรือพรีเซ้นต์ได้ดี ซึ่งน้องๆ รุ่นนี้เรียนจบออกไปแล้ว เหมือนเป็นแรงบันดาลใจให้เราว่าสุดยอดน้องเขาเก่ง ตอนนั้นทำให้เรารู้สึกว่าอยากมีส่วนร่วม อยากเข้ามาทำประโยชน์ เราไม่ได้มีบทบาททางหมู่บ้าน เราแค่เหมือนจิตอาสาไปดูแลลูก ชวนคนของเราให้อยู่ในลู่ทางที่ดีกว่า แล้วช่วยพัฒนาเด็กเรียนอ่อนหรือที่อยู่ในสังคมที่เสี่ยงต่อภัยหลายๆ อย่าง การทำงานลักษณะนี้ เราฝึกเด็กให้เขาคิดได้ เราอยากพัฒนาลูกของตัวเองเพราะตอนสมัยพี่ดาเรียนพี่ดาเป็นเด็กหลังห้อง ทำงานด้วยแล้วก็เรียนไปด้วย เราไม่ได้เป็นเด็กที่เรียนเก่งมาก ไม่มีความสามารถในห้องเรียน ก็เลยเหมือนมีปมในการเรียนแต่ โครงการของ สกว.เข้ามาดึงศักยภาพเราขึ้นมาได้ ฝึกฝนเราได้ ทำให้เรากล้าคิด กล้าทำมากขึ้น


ถาม : ถ้าเทียบจากแต่ก่อนหน้านี้ที่จะทำโครงการตัวพี่ดาเป็นอย่างไรบ้าง ที่บอกว่าทำให้เราเปลี่ยนไปได้

ตอบ : ไม่กล้าพูด ช่วงที่พี่ทำงานตอนปี 54 พี่ดาเดินตามหลังเด็ก เหมือนเด็กเขาพรีเซ้นต์ เราก็นั่งฟัง แล้วเด็กโดนคอมเม้นว่าควรเสริมตรงนี้ ตรงนั้น บางครั้งเราก็นั่งฟังแต่ไม่กล้าพูดเหมือนกับเด็ก ทำให้เข้าใจความไม่กล้าของเด็กตอนนั้น แต่พอเดินตามมาหลายปี ผอ.ชวนพี่ดาไปเป็นเพื่อน ชวนนั่งฟังในวงที่คุยกันมีการเช็คอินเราก็เริ่มพูดได้ ตอนแรกก็สั่น แต่พอนานๆ ไปเริ่มเป็นตัวเอง ไม่มีอะไรผิด ไม่มีอะไรถูก เราก็เลยกล้าคิด กล้าแสดงออกมากขึ้น


ถาม : ที่บอกว่ากล้าพูด กล้าแสดงออกเป็นตอนที่ทำโครงการ Active แล้วหรือยัง

ตอบ : ก่อนหน้านั้น แล้ว Active เป็นผลลัพธ์


ถาม : พี่ดาเข้ามารู้จักกับโครงการ Active นี้ได้อย่างไรคะ ใครเป็นคนแนะนำ

ตอบ : ลูกชาย น้องแดนเข้ามาก่อนปีแรก แล้วเขาก็ทำกับรุ่นพี่ พอรุ่นพี่ออกไปมีพี่เลี้ยงคนอื่น แต่เขาไม่สนิท พี่เขาไปหมดแล้วไม่มีใคร มะไปเป็นพี่เลี้ยงให้หน่อยได้ไหม แล้วพี่ดาก็ทักไปหาบังหยาดว่าแล้วมะจะไปเป็นพี่เลี้ยงได้ไหมควรไหมหรือว่าอย่างไร เขาบอกว่าไม่มีปัญหา เราก็ดีใจ ถ้าลูกประชุมเราก็ได้ไปด้วย ลูกมีกิจกรรมเราก็ได้ไปด้วย


ถาม : ถ้าอย่างนั้นแสดงว่าตอนที่น้องทำโครงการปีที่หนึ่งพี่ดายังอยู่ในฐานะผู้ปกครองธรรมดา ยังไม่ได้เข้ามาเป็นพี่เลี้ยง

ตอบ : ใช่ค่ะ แต่ก็ส่งเสริม เขาไปทำอะไรก็นั่งมองอยู่ด้านนอก แต่ยังไม่ได้เข้าไปอยู่ในกลุ่ม รู้ว่าลูกไปทำกิจกรรมกับเพื่อนในหมู่บ้านกลางดึก อยู่ตรงไหนพี่ดารับรู้อยู่แต่ว่าไม่ได้ไปเป็นพี่เลี้ยงให้เขารับรู้ว่าเขาไปทำงานกิจกรรมกับเพื่อนในงานของ Active


ถาม : ในตอนปีหนึ่งพี่ดาเห็น พี่ดาคิดว่าโครงการนี้มันเป็นอย่างไรบ้างในมุมของผู้ปกครอง

ตอบ : พี่ดาเห็นผลลัพธ์จากน้องแดน เขากระตือรือร้นกับหน้าที่ที่ไม่ใช่ต้องไปส่งครู ทำงานกลุ่มที่ไม่บังคับใครให้ใครทำ แต่ว่าตัวเองอยากทำด้วยความสุข ไม่มีใครไปก็ได้หรือว่าไม่มีเพื่อน เพื่อนคนไหนไม่รับผิดชอบก็ไม่เป็นไร เขาไปแล้วเขามีความสุข เห็นความรับผิดชอบ ความกล้าแสดงออกที่เห็นชัดเจน เขามีวุฒิภาวะมากขึ้น ยิ่งทำให้เราส่งเสริม แล้วรู้ว่างานนี้อยู่ในทีมของบังเชษฐ์ เพราะว่าบังเชษฐ์อยู่ในสายงานที่พัฒนาศักยภาพของคนให้มีความคิด เห็นผลชัดมากสำหรับน้องแดนในปีแรก


ถาม : ตอนปีสองที่น้องเขาเข้ามาพูด เรารู้สึกอย่างไรบ้างกับการที่จะต้องไปเป็นพี่เลี้ยงตอนนั้น

ตอบ : ปีแรกพี่ดากลัวว่าเขาจะไม่รับผิดชอบถ้าเราเข้าไปด้วย เราจะมีภาวะหวั่นใจว่าทำออกมาไม่ดี เหมือนกดดันตัวเอง เขาจะทำได้ไหม เขาจะรับผิดชอบได้ไหมในช่วงที่เขามาเป็นรุ่นพี่ แล้วพี่ดาเข้าไปอยู่เป็นพี่เลี้ยง กลัวว่าน้องแดนจะรับผิดชอบหน้าที่ตรงนี้ได้ไหม แล้วเขาชวนน้องสาวของเขาเองเข้ามาด้วย แต่เราก็วางใจเพราะในส่วนของเรา พี่ดาเรียนจิตวิทยา เรียนเข้าคลาสพัฒนาตัวเองมาด้วย เราเลยเข้าใจในภาวะที่เขาเป็นด้วย


ถาม : คำว่าหวั่น ๆ ในที่นี้คือพี่ดาหวั่นว่าถ้าเราเป็นแม่แล้วเราไปเป็นพี่เลี้ยงแล้วกลัวว่าลูกเราจะไม่ทำแบบนี้หรือเปล่าคะ

ตอบ : ใช่ค่ะ ประมาณนั้น แต่พอดูผลออกมาเราหวั่นหรือว่าเรากลัวไปเองเพราะว่าที่จริงแล้วเขามีความคิดมีการวางแผน จัดการตัวเองได้ พี่ดาว่าความกลัวนี้มันครอบงำเราเอง บางครั้งกลัวว่าจะออกมาไม่ดี จะทำได้ไหมแต่ที่จริงแล้วความกลัวเป็นของเราคนเดียวแต่ลูกไม่ได้กลัวอะไรเลย เป็นความคิดของพี่ดาเองกลัวว่าเด็ก ๆ จะผ่านโครงการไปได้ไหมหรือว่าจะทำออกมาดีไหม เราไปคาดหวังเด็กสูง เหมือนกับว่าเรากดดันตัวเอง ที่จริงแล้วเด็ก ๆ เขารีแล็กซ์มาก เขาพูดคุยกันเองในส่วนตัวเนื้องานของเขา เราแค่มองจากด้านนอกเหมือนงานไม่ได้เดินไปไหน แต่ที่จริงเด็กเขาคิดอยู่ในหัวอยู่แล้ว บางครั้งเขาก็บอกเราเฉพาะบางเรื่อง


ถาม : พี่ดาเรียนรู้จากตอนที่เข้าไปเป็นพี่เลี้ยงแล้วใช่ไหมคะ ถึงพูดได้ว่าจริงๆ แล้วน้องเขาก็มีความคิดอยู่ใน หัวของเขาอยู่แล้ว

ตอบ : ใช่ค่ะ


ถาม : เมื่อกี้พี่ดาบอกว่าไปเรียนจิตวิทยามาด้วยไปเรียนตอนไหน

ตอบ : เรียนเกี่ยวกับพัฒนาตัวเองเพื่อให้เข้าใจคนรอบข้าง เข้าใจตัวเอง รู้จักการแก้ปัญหา เรารู้สึกว่าเราจะมีความสุขในชีวิตมากขึ้นถ้าเราไม่ได้คาดหวังในสิ่งที่เด็ก ๆ ทำหรือว่าปัญหาครอบครัว การเรียนจิตวิทยาพอมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันช่วยให้เราเข้าใจว่าที่จริงแล้วเด็กเขามีโลกของเขา เราไม่สามารถไปกำหนดชีวิตเขาได้ เราเลยแค่เป็นเพื่อน เป็นพี่ เป็นแม่ที่คอยรับฟังคำปรึกษาได้แค่นั้น ไม่ได้ไปกำหนดเขามากมาย ทำให้เรามีความรู้สึกกับสิ่งที่เด็ก ๆ ทำ ไม่ได้คาดหวัง


ถาม : ไปเรียนตอนไหน เรียนก่อนที่จะทำโครงการหรือว่าอย่างไร

ตอบ : ช่วงก่อนหน้าทำโครงการก่อนหน้าเข้ามาเป็นพี่เลี้ยง คาบเกี่ยวช่วงน้องแดนเข้าทำงาน Active ปีแรก ช่วงนั้นบางครั้งเราไม่เข้าใจลูก พูดกับลูกอาจจะใช้คำสั่ง ในขณะที่เขาเริ่มโตแล้ว เราไม่ควรใช้คำสั่งที่รุนแรง เลยเปลี่ยนเป็นการใช้คำถาม พี่ดาเริ่มรู้ปัญหาช่วง ม.ต้น น้องแดนเรียนอ่อนมาก เคยติดศูนย์เจ็ดตัว ตอน ม.3 เทอมสองเราก็ถามเขาว่าจะเรียนอีกไหมอยากเรียนไหม เราแค่ตั้งคำถามแบบนี้ เขาบอกว่าเรียน แล้วเด็กเรียนเขาต้องทำตัวอย่างไร เขาก็ครับแล้วก็จัดการตัวเองหลังจากนั้น การตั้งคำถามทำให้เขาได้คิด พี่ดาไม่ต้องคอยไปบังคับว่าต้องอ่านหนังสือ ต้องทำอะไร แค่ถามว่าจะทำอย่างไรถ้าเป็นเด็กนักเรียนต้องทำตัวอย่างไร พอเทอมสองก็ติดศูนย์ตัวเดียว ผลลัพธ์คือแค่เทอมเดียวเขาจัดการตัวเองได้ แล้วตั้งแต่ ม.4 เป็นต้นมาเราไม่เคยไปโรงเรียนเลย ผู้ปกครองไม่เคยไปโรงเรียนเลย ไม่เคยไปแก้ปัญหาเกี่ยวกับการติดศูนย์ติด ร.อีกเลย เพราะเราเปลี่ยนวิธีการคุยกับลูกในคำถามของโจทย์วิจัย พี่ดาว่าตรงนั้นมีส่วนมาก ๆ ทำให้เขารู้จักการแก้ปัญหาจากโจทย์ เพื่อกระตุ้นคำถามให้เขาไปคิดแล้วเขาก็สามารถแก้ปัญหาได้ แต่ว่าเราต้องหาคำถามปลายเปิด ให้เขาตอบมาได้ แก้ปัญหาเองได้ ไม่ไปกำหนดเขามาก


ถาม : ตอนถามบังเชษฐ์บังพงษ์แล้วว่าเราไปเป็นพี่เลี้ยงของน้องในโครงการได้ไหม ตอนนั้นคำว่าพี่เลี้ยงสำหรับพี่ดา คืออะไร

ตอบ : คิดว่าไปเป็นเพื่อน ไปเป็นเพื่อนเด็กเหมือนจะต้องพาเด็กไปประชุมแค่นั้น ถ้าต้องไปทำกิจกรรมเราก็ต้องพาเหมือนเป็นผู้ปกครองให้ เพราะว่าไม่ใช่แค่เฉพาะลูกของเราหลายครั้งไปทำกิจกรรมนอกเวลาเรียน นอกโรงเรียน ต้องมีผู้ใหญ่ไปด้วย เช่น ไปเข้าค่าย


ถาม : จุดเปลี่ยนตอนไหนที่ทำให้เรารู้สึกว่าพี่เลี้ยงจริงๆ ต้องเป็นแค่เพื่อนเหมือนที่เราคิดหรือเปล่า

ตอบ: พี่ดาคิดว่าเด็กในหมู่บ้านเหมือนลูกของเราทุกคนเลย เราอยากให้เขาออกจากวงจรยาเสพติด อยากให้เขามีพื้นที่ ได้ทำกิจกรรม ถ้าเรามีเนื้อที่ มีพื้นที่ให้เขาทำ ให้อิสระในการทำกิจกรรมที่อยู่ในลู่ในทางที่ดี เขาสามารถทำได้ทุกอย่างบางครั้งเราเปิดโอกาสให้เด็กที่ไม่ได้เรียน ไม่ใช่เฉพาะลูกเรา เพราะลูกเราไม่สามารถอยู่คนเดียวหรืออยู่กับเฉพาะครอบครัวตัวเองได้ น้องแดนก็ต้องมีเพื่อน มีสังคมเพื่อนในหมู่บ้าน แต่เพื่อนในหมู่บ้าน เพื่อนของเราอาจจะไม่ได้เรียนหนังสือแต่ก็เข้ามาในนี้ได้ หน้าที่พี่เลี้ยงเป็นทั้งแม่ เป็นทั้งญาติ เป็นทั้งเพื่อนให้กับเด็ก ๆ ทำให้เขารู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย รู้สึกว่าไปกับเราแล้วไม่ต้องกลัวอะไร แม้กระทั่งการกินการอยู่ ดึกดื่นพ่อแม่เขาก็โอเค ถ้าอยู่กับเราสามารถฝากฝังลูกเขาได้ รู้สึกว่าเราเป็นผู้ปกครองของเด็ก ไม่ได้คิดว่าเราเป็นพี่เลี้ยงแล้วต้องอยู่เหมือนห่างไกลกัน


ถาม : มันยากไหมที่เราต้องทำงานกับลูกด้วย หรือว่ามันง่าย

ตอบ : บางครั้งก็ยาก บางครั้งก็ง่าย อารมณ์เด็กทำงานด้วยกันมีทะเลาะในส่วนของเขา เพราะไม่เข้าใจกันคนนี้ทำคนโน้นไม่ทำ คนนี้มาคนโน้นไม่มา รู้สึกว่าเพื่อนไม่รับผิดชอบหน้าที่ ทำให้หงุดหงิด แต่เด็ก ๆ เขาก็จัดกาได้ โดยวิธีการของเขาคนเราไม่เหมือนกันทั้งเรื่องพ่อแม่ การเลี้ยงดู แต่ละคน แต่ละบ้านไม่เหมือนกันเราก็ต้องเข้าใจในบทบาทว่าเขาต้องมีงานทำ พ่อแม่เขาไม่อยู่เขาก็ต้องเลี้ยงน้อง เราก็เลยไม่ไปกดดัน จะเข้ามาเมื่อไหร่ก็ได้ บางครั้งก็ยากที่กับการจัดการเด็ก แต่เราบอกตลอดว่าจะมาเมื่อไหร่ก็ได้ ไม่มีอะไรกิน ก็เข้าไปหุงข้าวกันเองก็ได้ เด็ก ๆ เขาก็จะมากันกลางดึก เราก็เปิดบ้านตลอดเวลา ไม่คิดว่ามันเป็นความยากลำบาก


ถาม : ตอนแรกเราก็แอบหวั่น ๆ ใช่ไหมเพราะว่าเราทำงานกับเด็ก ๆ

ตอบ : กลัว บางครั้งก็หวั่น ๆ พอตอนหลัง ๆ เราเริ่มเข้าใจ เด็กบอกผู้ปกครองว่ามาที่บ้านเรา แต่เขาไม่ได้อยู่ที่บ้านเรา เราก็คิดว่าเดี๋ยวพ่อแม่เขาจะมาบ่นไหม เราเลยบอกเด็กว่าจะไปไหนต่อก็มาแจ้งเราก่อน เรากลัว บางครั้งเราก็กลัวพ่อแม่เขาว่าเราส่งเสริมลูกเขาให้ไปออกนอกบ้าน


ถาม : น้องๆ คิดโครงการได้ก่อนที่พี่ดาจะเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงหรือว่าเราเป็นคนพาน้องคิดหาโครงการ

ตอบ : เขาคิดเอง แล้วบังเชษฐ์ บังหยาดเขาช่วยกระตุ้นคำถามด้วย เฟ้นหาโครงการที่ถูกใจเขาจริงๆ เขาเลือกมาสองสามโครงการ ที่ถูกใจหรือว่าโดนใจเขาสุดท้ายได้โครงการนี้มา พี่ดาไม่ได้มีส่วนร่วมในการคิด แค่นั่งฟังว่าจะเอาอะไร แล้วให้เขาลองอธิบายมาว่าเป็นอย่างไร แล้วมาโหวตกันในทีม


ถาม : พี่ดาลองเล่าบทบาทของการเป็นพี่เลี้ยงให้กับน้องๆ ในโครงการว่าแต่ละช่วง ในแต่ละกิจกรรมเข้าไปช่วยน้องอย่างไรบ้าง

ตอบ : ตอนแรกพาน้องไปเข้าร่วม ไปฝึกทักษะเกี่ยวกับการฟัง การพูด ตอนที่พี่โจ้มาสอนพี่ดาเป็นคนพาไป เราเฝ้าอยู่ตรงนั้นดูแลเขาให้เรียบร้อยแล้วเราก็กลับ เสร็จแล้วก็ไปรับ จัดการเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายตรงนั้น เพระว่าเด็กบางคนไม่มีค่าน้ำมันรถ ช่วงที่ยังไม่มีเงินของโครงการแล้วเวลานัดประชุมจะให้มาประชุมที่บ้าน พี่ดาจะเอื้อสถานที่ อาหารแล้วอุปกรณ์ทุกอย่าง พาไปศึกษาดูงานที่เป็นบ้านศิลป์ที่อีกหมู่บ้านหนึ่งประมาณ 20-30 กิโลเราก็พาเด็กไป แล้วพาเด็กเข้าร่วมกิจกรรม แต่ส่วนมากก่อนที่เราจะไปเรานัดประชุมกันก่อน จะทำกรุ๊ปไลน์ แล้วก็บอกว่าเราจะไปไหนกัน แล้วใครจะไปบ้าง ส่วนมากพี่ดาแค่กระตุ้นเขา แต่คนที่คือน้องแดน เพราะว่าเขาเป็นประธานโครงการ เขาเป็นคนจัดการว่าใครจะไปบ้าง พี่ดาแค่คอยสนับสนุนเรื่องการพาไปแค่นั้น ตอนออกงานกุมภาจันทร์ที่ริมชายหาด ทางกลุ่มเด็กๆ อยากได้การประดิษฐ์ของน้องแดน ก็ทำคบเพลิงไป เป็นคบเพลิงจากขวดกระเบื้องขวดฉลาม และเศษไม้ ทำไปร่วมในงานและทำกิจกรรมศิลปะสีลอยน้ำ พี่แดนก็เอางบประมาณไปช่วยซื้อแล้วก็ไปเข้าร่วม และช่วยสอนเด็ก และหาอุปกรณ์ทุกอย่างให้เด็ก แต่เขาก็เขียนว่าต้องใช้อะไรบ้างมาให้พี่ดาเป็นคนซื้อให้ส่วนมากเด็กจะขอแล้วเราช่วยสนองเรื่องอาหารการกินส่วนมากทำงานที่บ้าน หรือเวลาเขามีกิจกรรมก็จะช่วยพูดช่วยสอน บางครั้งเขาทะเลาะกันบ้างเราต้องไกล่เกลี่ยด้วย ที่ทำก็ช่วงโควิดได้งบประมาณจากตรงนั้นให้เด็กขายของ เป็นช่วงถือศีลอดของในหมู่บ้าน ขายของช่วยคนในหมู่บ้านในราคาต้นทุนไม่เอากำไร ใช้งบประมาณตรงนั้นช่วยให้เด็กมีรายได้ไปจุนเจือในครอบครัว ให้เด็กได้ทำงาน เด็กคนไหนที่เข้ามามีส่วนร่วมก็ได้ค่าแรงไป สอนให้เขาใช้ชีวิตประจำวัน แล้วช่วงหลังปลูกผักหลังบ้านให้ เขาได้เอาผักไปขาย ช่วงนี้ก็หมดไปแล้ว เราใช้เนื้อที่ของเราในการจัดการให้เด็กได้ทำทุกอย่าง


ถาม : เหมือนกับว่าพี่ดาเป็นพี่เลี้ยงที่คอยซัพพอร์ตน้อง ๆ ให้น้องได้ทำงานกันเอง แต่เมื่อไหร่ที่อยากได้รับความช่วยเหลือก็ให้มาบอกพี่ดา

ตอบ : อะไรที่เขาทำไม่ได้ ก็ให้บอกไม่ต้องกลัวอะไร ให้เขาถามว่าตรงไหนที่เขาสงสัย อันนี้ทำได้ไหม  ถ้าเป็นแบบนี้ ๆ เราก็บอกว่าได้ แล้วจะให้ทำอย่างไร ถ้าซื้อมาได้ไหมเขาจะมีคำถามมาว่าจะเอาเยอะไหม ทำแบบไหน ให้เขามีไอเดียมาให้เราก่อน แล้วเราก็ซัพพอร์ต ให้เขามีเหตุผลมากพอที่ว่าเขาจะทำอะไร เราแค่ซัพพอร์ตและตั้งคำถามกระตุ้นคำถามให้เขาคิด


ถาม : พอจะยกตัวอย่างได้ไหมคะ ที่บอกว่าเราจะตั้งคำถามให้เขาได้คิด อาจจะยกสถานการณ์มาก็ได้ค่ะ ที่พี่ดาได้ชวนเขาตั้งคำถามให้เขาได้คิด

ตอบ : เวลาทำงานกลุ่มออกไปนำเสนอได้ไหม ถ้าทำทั้งหมดทำทันไหม เพราะว่าตอนนี้คนที่ทำมีน้อยเราจะทำได้ไหม ถ้าเราทำบอร์ด เราเอาแค่พอตัวเพราะถ้าทำไม่ทันจะหงุดหงิด กดดันตัวเองเพราะว่าตัวเองต้องเรียน ต้องทำงาน บางครั้งไม่ต้องสมบูรณ์มากก็ได้ ให้งานออกมาครบตามที่ต้องการ อาจไม่จำเป็นต้องหรูหราอลังการไม่จำเป็นต้องทำเหมือนหมู่บ้านอื่นเพราะเราต้องมาดูบริบทของตัวเอง บางคนเรียนแล้วต้องทำงาน การบ้านก็ต้องทำ แล้วคนที่เขาไม่ได้เรียนเขาก็มีงานทำ เขามาบางครั้งบางคราว แล้วเด็กที่อยู่ห่างกัน เรียนต่างหมู่บ้านหรือว่าต่างอำเภอออกไป เขาก็กลับมายาก แล้วเราจะทำทันไหมพี่ดาจะตั้งคำถามให้ประมาณนี้ช่วงหนึ่งไปดูงานเขาอยากทำอะไร เขาบอกว่าอยากทำเศษขยะที่มีอยู่ให้มันมีมูลค่าเพิ่มขึ้น เราก็ถามว่าต้องไปหาใคร ตัวเองไม่มีข้อมูลก็ต้องไปถามคนที่ควรจะไปหา ถามบังหยาดบ้าง ถามบังเชษฐ์บ้าง ควรไปไหน เขาบอกว่าตอนแรกอยากแกะสลักไม้ แต่ว่าการแกะสลักไม้ต้องไปขอคนที่แกะสลักที่เรือนจำ มีโรงเรียน สะดวกไหมเขาบอกว่างั้นเอาสีเพ้นท์ก่อนเพราะว่ามันง่าย งั้นไปเรียนสีก่อนดีไหม พี่ดาก็แค่เหมือนไกด์ไลน์ให้เขา ช่วยกระตุ้นให้เขาเบรกความคิดนิดหน่อย แต่พอมาสรุปหรือถอดบทเรียนตรงนั้นว่ายังอยากจะทำงานนี้อีกไหม เขาก็บอกว่ายังอยากทำต่อเกี่ยวกับการแกะสลักไม้ ที่เพิ่มมูลค่าในผลิตภัณฑ์เขา


ถาม : ถ้าให้พี่ดาลองคิดว่าเรามีความเชี่ยวชาญหรือว่าความถนัดในเรื่องอะไร หรือว่าการพาน้องทำโครงการในฐานะของการเป็นพี่เลี้ยง อาจจะเป็นเรื่องของการพาน้องวางแผน หรือว่าเรื่องของการชวนน้องตั้งคำถาม หรือว่าถอดบทเรียนสำหรับตัวพี่ดา คิดว่าเราถนัดเรื่องไหน หรือว่าใช้เรื่องไหนบ่อยสำหรับพี่

ตอบ : ตั้งคำถามหรือว่าประโยคชวนคิด เป็นคนซัพพอร์ต ถึงพี่ดาขนาดเป็นแม่ลูกอ่อนพี่ดาก็ไป เป็นคุณแม่ใกล้คลอดพี่ดาก็ไป ถึงอย่างไรตรงนั้นก็ เป็นจุดเด่นที่ว่าเราเข้าร่วมได้ตลอดไม่ได้ติดขัดเรื่องหน้าที่การงานของตัวเอง เราเห็นความสำคัญในเยาวชนตรงนี้มากกว่า ชุดคำถามที่พี่ดาให้กับเด็ก เราอยากให้เขาคิดให้ได้ ให้เขาคิดเองโดยที่เราแค่กระตุ้น พี่ดาเห็นผลลัพธ์ตอนที่ทำกับน้องแดนนั่นแหละ คำถามง่าย ๆ ที่เขาสามารถไปแก้ด้วยตัวเองได้ พี่ดารู้สึกว่าตรงนั้นมันเห็นผลได้ชัดมาก พ่อแม่ผู้ปกครองที่เข้าใจการตั้งคำถามหรือใช้คำพูดที่เป็นประโยชน์ต่อเด็ก จะช่วยเด็กได้มาก พี่ดาเรียนมาเกี่ยวกับการพัฒนาตัวเอง ถ้าเราไปตอกย้ำสิ่งที่ไม่ชอบ มันจะขยายภาพที่มันเสีย ขยายของไม่ดี มีอะไรให้เขาบอกเรา ไม่อยากใช้คำสั่งที่หรือบ่นว่าเขาพูดไม่ฟัง ไม่ไปโฟกัสตรงนั้นให้มันขยาย แต่ให้เป็นคำถามที่มันได้ประโยชน์กับเขามากกว่า


ถาม : เหมือนว่าเราก็เอาเทคนิคเรื่องของชุดคำถามมาจากที่พี่ดาไปเรียนจิตวิทยามา

ตอบ : บางครั้งเขาบอกว่าเขาหัวร้อน เขาบอกว่าอยากได้  เช่น เล่นเกมแล้วเขาอยากได้ของในเกม เราจะบอกว่าถ้าเล่นเกมแล้วอยากได้จะไม่ได้ เพราะเรารู้สึก ขาดแคลน ถ้าเรารู้สึกสนุกแล้วเราจะได้ ให้รู้สึกสนุก มีความสุข สิ่งไหนที่เครียดไม่สบายใจอย่าทำก็เลยบอกว่าให้เขาโฟกัสความสุขและความสนุกเสียส่วนมาก เราชี้ให้ไปทางนั้น


ถาม : ที่น้องเขาเลือกทำโครงการเกี่ยวกับสิ่งประดิษฐ์เพราะว่าในหมู่บ้านหรือว่าในชุมชนมีปัญหาอะไร น้องเขาถึงเลือกทำโครงการนี้

ตอบ : เรามีชายหาด เป็นหมู่บ้านริมชายหาดทะเล แล้วน้องแดนกับเพื่อน ๆ เขาชอบอยู่ริมชายหาดเสียส่วนมาก ขี่รถอยู่แถวนั้น ก็จะเห็นปัญหาการทิ้งขยะ เศษไม้ที่ลอยขึ้นมา เป็นขยะทะเลที่ลอยขึ้นมาช่วงมรสุมเยอะมาก บ้านเราเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว เด็กก็เลยรู้สึกว่าตรงนั้นเป็นทรัพยากรที่ถ้ามองทางบวกก็เป็นทรัพยากรที่สามารถรีไซเคิลได้ เขาอาจจะมองเห็นความเหลือเฟือของธรรมชาติตรงนั้นที่ให้มาแต่คนภายนอกอาจจะมองเห็นเป็นขยะ แล้วเราจะจัดการอย่างไรได้บ้าง ถ้าเด็ก ๆ มีความสุข มีจินตนาการในการจัดการของเขา เขาจะสนุก


ถาม : เวลาที่เขาทำเกี่ยวกับงานประดิษฐ์หรือว่าเขาไปขอความรู้จากคนในชุมชนหรือว่ายังไง

ตอบ : มีคนในชุมชนเราก็ไปดู ส่วนมากเราจะไปดูเพราะว่าเด็กๆ อยากทำเอง เขาไปเห็นแล้วเขาบอกว่าเขาทำได้ เขาไปมองไอเดียวแล้วเขาบอกว่าเขาทำได้ บางครั้งก็หาอุปกรณ์ที่มีอยู่ใกล้ๆ ทำ


ถาม : เวลาที่น้องเขาลงพื้นที่ อย่างในชุมชนน้องเขาไปเองหรือว่าพี่ดาจะคอยไปซัพพอร์ตน้อง ๆ เขา

ตอบ : พี่ดาอาจจะช่วยเรื่องน้ำมัน แล้วให้เขาไปจัดการกันเอง ส่วนมากเขาจะลงพื้นที่กันเอง ตอนแรกมาแยกก่อนว่าริมชายหาดมีขยะประเภทอะไรบ้าง ไปดูสำรวจ แล้วบ้างครั้งก็เก็บเป็นขยะส่วนรวมแล้วมาเช็คดูว่าจะเอาชิ้นไหนไปใช้ได้บ้าง กลับมาคิดก่อน พอไปเจอก็เอาตัวนั้นตัวนี้มาประดิษฐ็ตามคิดไว้ วันนี้เราจะเอาขอนไม้ หรือว่ากิ่งไม้ หรือว่าจะเอารองเท้าแตะก็จะเก็บมาแล้วเอามาทำอะไรได้ ตอนแรกเขาไปดูในยูทูปก่อนบางครั้งดูในยูทูปแล้วเห็นว่าเขาทำได้ เป็นตัวอย่างให้เขารู้สึกอยากทำ ให้เขาเอามาทำเรื่องของ Junk art ในทีมของบังเชษฐ์มีเรื่องของงานศิลปะอยู่ด้วย ก็เลยช่วยให้ไอเดีย ได้ไอเดียจากที่เราไปศึกษาดูงานด้วย ให้เด็กมาทำของชำร่วย กระถางดอกไม้เป็นสี จากแก้วน้ำพลาสติกเอาไปปลูกต้นไม้


ถาม : อันนี้คือเด็กทำเอง คิดเองกันเลย

ตอบ : ค่ะ บางครั้งเราได้ไอเดียจากเด็ก เขาทำศิลปะลอยน้ำจากไฟแช็ค เก็บขยะมาจนไม่มีไฟแช็คล์เลยไปเก็บแก้วพลาสติก เก็บอะไรมาได้ก็เอามาจุ่มสี อะไรก็ได้ที่เอามาจุ่มสีแล้วก็มาตกแต่งอาจจะเป็นกระถางดอกไม้หรือว่าปลูกตะบองเพชรก็ได้ จุ่มสีน้ำเป็นกิจกรรมสุดท้ายที่เขาได้ทำ เด็กเขารู้สึกว่าเขายังอยากทำต่อเพราะว่าโครงการจบแล้วแดนได้ทำโพเดี้ยมตอนไลฟ์สด ในไลฟ์สดที่บังพงษ์ยืนตรงนั้นคือโพเดี้ยมของน้องแดนเขาทำ


ถาม : แบบนี้คือน้อง ๆ เขาสามารถที่ทำกิจกรรมด้วยตัวเองได้ โดยที่เราไม่ต้องคอยห่วง อยากรู้ว่าในแต่ละ กิจกรรมที่น้องเขาทำกันเสร็จแล้วพี่ดามีการพาน้อง ๆ มาถอดบทเรียนไหมในแต่ละกิจกรรม

ตอบ : ยังไม่ได้ทำตรงนั้นในส่วนของตัวเองแต่บางครั้งเราก็พูดคุยในช่วงเวลาที่ทำ เราอาจจะไม่ได้กำหนดเวลาว่าวันนี้มาถอดบทเรียนนะ ส่วนมากจะคุยแล้วมันต่อยอดได้ยาว ถ้าทำอันนี้แล้วเราไปขายแล้วเขาสั่งเยอะ เราจะทำอย่างไร คิดไปแล้วจะทำได้ไหม มีคำถามให้เขา แล้วถ้าทำได้ เราจะเอาเวลาไหนหรือว่าจะเอาของมาทำอย่างไร เราจะให้เขาคิดรวมกันอยู่ตรงนั้นเลย เหมือนกับพูดคุยกันมากกว่า แต่ถ้าเป็นทางการบังเชษฐ์เขาก็จะมาถอดบทเรียนให้


ถาม : พี่ดาจะถามให้เป็นปกติมากกว่าที่จะชวนถอดบทเรียน

ตอบ : ใช่


ถาม : ทำงานกับน้อง ๆ กลุ่มนี้มาทำให้ตัวพี่ดาเองรู้จักพัฒนาการของเด็กมากขึ้นไหม

ตอบ : มาก ตอนแรกเราว่าเขาไม่รับผิดชอบ นัดแล้วไม่มาแต่เอาเข้าจริงเขามาแล้วเขาทำงานจัดการตัวเองได้เท่าที่มี มีอยู่วันหนึ่งมาสะท้อนให้ฟังหลังจากที่เขาอยู่กับเรามาแล้วเขาบอกว่าเขาเรียนไม่ได้ เขาอาจมีปัญหาเรื่องครอบครัวของเขา เขาบอกว่าเสียดายที่ไม่ได้เรียน ไม่ได้ตั้งใจเรียนตอนนั้น แต่บางครั้งเขาก็ไม่ได้พูดคุยกับพ่อแม่ หรืออาจจะพูดคุยแล้วแต่พ่อแม่ใช้คำสั่งที่เป็นลบพอเจอลูกแล้วก็ใส่ ๆ บางครั้งเราก็เข้าใจเด็กว่าทำไมเขาถึงไม่มีความสุขกับการเรียน ทำไมเขาถึงอยากไปมีความสุขกับการทำงานได้เงิน แล้วอยู่กับตัวเอง ออกห่างจากครอบครัว จากพ่อแม่ มีปัญหาเขาก็ไม่ปรึกษา เพราะไปปรึกษาเพื่อน ไปปรึกษาคนที่ไม่สามารถจะช่วยเขาได้ แต่เขากล้าบอกกับเราว่าเสียดายทำไมไม่ตั้งใจเรียน ช่วงนี้ต้องกลับมาแก้ตัวเสียเวลาเป็นปี แต่เวลาเขามาพูดกับเราเขาเปิดใจ พอเราไปฟังตอนที่เขาอยู่กับพ่อแม่ คนละแบบเราเลยคิดว่าถ้าเด็กได้อยู่กับเรา หรือว่ามีกิจกรรมที่เป็นโครงการที่ให้เด็กได้มีส่วนร่วมแบบนี้พี่ดาน่าจะช่วยเด็ก ๆ ได้เยอะ เราดูผลลัพธ์จากลูกตัวเอง น้องแดน น้องแนน ปีแรกที่เข้าไป น้องแนนช่วงแรกไม่พูดเลย ถ้าเข้าไปดูคลิปเก่าของโครงการ พอเฟสสองเขาทำโครงการ เขาออกนำเสนอเอง เป็นอะไรที่มหัศจรรย์ เหมือนเขาออกจาก comfort zone เดิม ๆ ออกจากความไม่กล้ามาทำ


ถาม : เห็นพี่ดาบอกว่าเราใช้พื้นที่ของเราบ้านของเราเป็นที่รวมทำกิจกรรม ทำไมถึงเลือกใช้พื้นที่บ้านของ เราเป็นที่ทำกิจกรรม

ตอบ : พี่ดาได้เปรียบที่บ้านพี่ดาอยู่กลางหมู่บ้านแล้วเราสามารถมีเวลาอยู่กับเด็กได้ตลอด เราเลยคิดว่างั้นที่สะดวกที่สุดก็คือบ้านเรา เด็กเขาก็สบายใจที่จะอยู่ที่บ้านเรา ก็เลยใช้เนื้อที่ตรงนี้ไป


ถาม : แล้วอย่างเรื่องของผู้ปกครอง ปรับความเข้าใจของผู้ปกครองอย่างไร สำหรับคนที่ไม่เข้าใจ

ตอบ : พี่ดาไม่ได้ไปแก้ตัวหรือว่าพิสูจน์อะไรมากมาย เราอยากให้เขาเห็นผลลัพธ์จากสิ่งที่เราทำ สิ่งที่เด็กทำ เหมือนเด็กออกมานำเสนองานหรือไลฟ์สด ผู้ปกครองหลายคนเขาเห็น เขาบอกว่าชวนลูกเราไปด้วย ชอบอยากให้เป็นแบบนี้ ก๊ะดาสอนอย่างไรอยากให้เด็ก ๆ เข้ามาตรงนี้ น้องแดน น้องแนนเองก็อยากเป็นพี่เลี้ยง เขาชอบที่จะสอน


ถาม : มีอะไรที่พี่ดารู้สึกประทับใจในโครงการนี้

ตอบ : โครงการมีพื้นที่ให้เด็ก เยาวชน ที่ไม่ใช่เฉพาะเด็กนักเรียน เปิดโลกทำให้เขากล้าแสดงออก เพราะทุกอย่างเด็กทำเองหมดเลย เขานัดประชุมเอง จัดการหน้าที่แบ่งหน้าที่กันเอง เหมือนมืออาชีพ พี่ดาเปรียบเทียบเรายังไม่ได้ขนาดเด็กเลยบางครั้ง เด็กเองก็มาเป็นพี่เลี้ยงให้เราเหมือนกัน เป็นประสบการณ์ให้เราเหมือนกัน พัฒนาทั้งเด็กและผู้ปกครองเองด้วย อยากให้ผู้ปกครองเป็นพี่เลี้ยง ไม่ได้ระบุว่าต้องมีกี่คน แต่อยากให้ผู้ปกครองได้ลองไปเห็นแล้วเข้าใจเด็กในพื้นที่ว่าเขามีโลกของเขา แล้วตรงนี้เหมือนกับว่าทางโครงการมอบโลกให้เขา โลกหนึ่งที่จะแสดงให้เป็นตัวเอง


ถาม : แล้วมันแตกต่างจากโครงการหรือว่ากิจกรรมก่อนหน้านี้ที่พี่ดาจะเข้ามาทำโครงการนี้ไหมคะ วิธีการหรือว่ารูปแบบแตกต่างกันไหม

ตอบ : แตกต่างกันมาก โครงการของรัฐบาลส่วนมากให้เราไปมีส่วนร่วม เข้าร่วม แล้วยัดเหยียดมาโดยที่เราไม่ได้ไปเสนอแนะ มาอธิบายแล้วก็จบ แจกของแล้วก็ไปเหมือนทะลายทรัพย์ ไม่ได้สร้างประโยชน์อะไร แต่โครงการนี้คือการสร้างคนให้มีความคิดเหมือนให้เครื่องมือทำมาหากินทางความคิด ไม่ใช่ให้ปลาไปกิน ไม่ใช่แจกเงินให้ไปทำ แต่ให้ความคิดให้สามารถใช้ชีวิต ดำรงชีวิตไปได้ตลอด นื่คือสิ่งที่เด็ก ๆ หรือว่าเยาวชนจะได้รับ มันต้องเริ่มแบบนี้เพราะว่าขนาดพี่ดาเอง พอมาเรียนจิตวิทยาพัฒนาตัวเอง เราอายุสี่สิบแล้วยังพัฒนาได้แล้วถ้าเด็กพัฒนาตั้งแต่เด็กๆ เขาจะเติบโตไปขนาดไหน แล้วเขาจะมีความคิดพลังบวกขนาดไหนที่จะไม่ไปทำลายล้างคนอื่น แต่สร้างประโยชน์ให้กับคนอื่นได้ มันสามารถช่วยสังคมได้มากในโครงการแบบนี้


ถาม : ถ้าให้พี่ดาลองสรุปการเรียนรู้ หรือว่าสิ่งที่เราได้เรียนรู้มากที่สุดจากการที่เราได้มาเป็นพี่เลี้ยงในครั้งนี้ พี่ดาคิดว่าสิ่งที่เราได้มากที่สุดคืออะไร

ตอบ : โครงการนี้ทำให้พี่ดาเข้าใจการฟังคนอื่น เข้าใจคนอื่น ช่วงที่พี่โจ้เข้ามาสอนวิธีการฟังคนอื่นมีประโยชน์มาก ๆ เหมือนเราเข้าไปมีส่วนร่วมในชีวิตของเขาเลยว่าเขาคิดอย่างไร เขาอยู่อย่างไร เราจะเอาประโยชน์ตรงนั้นเพื่อดึงศักยภาพของเขามาได้อย่างไร เรารู้ว่าจุดอ่อน จุดด้อยของเขาเป็นอย่างไร การฟังสำคัญมาก เพราะถ้าเราไม่เข้าใจเด็ก จะไม่สามารถเดินได้ เราจะใช้อารมณ์ตอนอยู่ร่วมกับเด็กไม่ได้เลย ตัวพี่ดาเองก็ต้องฝึก ถ้าเราไม่รู้สึกไม่ฝึกเรื่องการฟังเราจะไม่เข้าใจเด็กเลย ไม่สามารถคุยกับเด็กได้ เราจะใช้อำนาจการเป็นผู้ใหญ่มาบังคับเด็ก ทั้งที่เขามีอิสรภาพ เราต้องเรียนรู้ไปกับเขา บางครั้งประสบการณ์ของพี่ดาอาจไม่ได้มากเราเรียนรู้พร้อมเด็กก็ได้ แต่ว่าเนื้อที่ตรงนี้มันเอื้อประโยชน์มาให้พี่เลี้ยงด้วย เหมือนกับว่าสร้างเราพร้อมกับสร้างเด็กไปด้วย


ถาม : พี่ดามองว่าตัวพี่ดาเปลี่ยนไปไหมหลังจากมาเป็นพี่เลี้ยง

ตอบ : มาก ยกตัวอย่างตอนรายงานแล้วพี่ดาบ่นน้องแดนว่าไม่ได้เตรียมตัวอะไรเลยนะ จะรายงานแล้วแต่ก็กลับมาอยู่กับตัวเองว่าเดี๋ยวก็ผ่านไปได้พี่ดาพูดกับตัวเอง พอมาวันที่เขารายงาน เขารื่นไหลมาก เป็นอะไรที่เรารู้สึกว่าเรากังวลไปเองเราต้องฟังเขาเยอะ ๆ ไม่ไปตัดสินแต่เคารพในการทำงานของเขา การทำงานแบบเก่าน้องนั่งอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ผลงานออกมาดี ยุคนี้ไม่ใช่แบบนั้นเสมอไป บางครั้งในหัวเขาอาจจะเรียบเรียงไว้เรียบร้อยแล้ว


ถาม : ขอถามความเปลี่ยนแปลงของเด็ก ๆ ที่เราเห็นชัดเจนว่าน้องเขาเกิดความเปลี่ยนแปลงมาก ๆ

ตอบ : ถ้าเห็นชัด ๆ ก็น้องแดน น้องแนน และน้องที่มาปรึกษาเรื่องการเรียนของเขา ที่เขาต้องดรอปแล้วต้องมาแก้ซ้ำ เขาทำให้เราเห็นว่าไม่มาทำหรือว่าไม่เข้าร่วมโครงการแต่เขาก็รู้ว่านี่คืองานของเขา ส่วนของน้องแนนเป็นเรื่องที่ว่าตอนแรกเขาไม่กล้าพูดเลย ไม่กล้าทำอะไร แต่พอหลัง ๆ รายงานเองเลย พูดเองเลย เขียนเองเลยทุกอย่าง แรกๆ เขาไปเรียนรู้ แต่พอหลัง ๆ  เหมือนกับว่ารู้สึกว่าโครงการนี้เป็นโซนปลอดภัยของเขา ทำให้เขาออกมาทำงานได้หรือตอนน้องแดนบอกว่างานของเขาไม่ต้องกังวล ไม่ใช่งานของมะ มะไม่ได้รายงานน้องที่คิดได้ว่าถ้าเขาตั้งใจเรียนตั้งแต่แรกก็ไม่ต้องมาเรียนซ้ำ หรือว่าเสียเวลาแบบนี้เขาบอกว่าเขาเสียเวลามาก รู้สึกว่าเด็กที่อยู่กับเราเขาคิดมาทางดีมากขึ้น แล้วรับผิดชอบหน้าที่การงาน พอมาหาเราเขาก็กล้าคุย กล้าปรึกษา


ถาม : แล้วความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นระหว่างตัวพี่ดากับน้องแดน และน้องแนน เปลี่ยนไปไหม ก่อนกับหลังทำโครงการ

ตอบ : ไปไหนอยากให้เราพาไปด้วย ก่อนหน้านี้ไม่มีแบบนี้เขาอยากไปกับเพื่อน เขาเริ่มชัดเจนกับชีวิตมากขึ้น ยกตัวอย่าง อยากไปเที่ยวที่ไหน เขาเริ่มวางแผนไม่ใช่ว่าอยากจะไปแล้วใช้อารมณ์ วางแผนว่าปีหน้าเราจะไปเที่ยวตรงนั้นกันนะ ถ้าเขาไปกับเราแสดงว่าเขารักครอบครัวแล้ว เขาห่วง ให้ความสำคัญกับครอบครัว เริ่มจากตรงนี้ เริ่มจากคนในครอบครัวก่อน ถ้าเขารักจากตรงนี้ได้ เขาก็จะรักในหมู่บ้าน ในสังคมได้ นี่คือจุดเริ่มต้น ขาดตรงนี้ไปเขาไม่สามารถทำอะไรให้ใครได้เลยพี่ดาคิดแบบนี้ เพราะว่าเราเห็นได้ชัดว่าเขามีความรักในครอบครัว มีความสุขที่ได้ทำกิจกรรมกับครอบครัว


ถาม : ชุมชนเขาเข้ามาเข้าร่วมกิจกรรมกับโครงการของน้องบ้างไหม

ตอบ : มีโรงเรียน ครู ผอ. ที่ให้เด็กเข้ามาทำกิจกรรมกับเรา ในงานภุมภาจันทร์ ทาง ผอ. ชุมชน ผู้ใหญ่บ้านทางหมออนามัย ผู้ช่วย ผู้ปกครอง เข้าไปเป็นกลุ่มช่วยให้สัมภาษณ์กับบังเชษฐ์ บังพงษ์ เข้าไปร่วมกิจกรรม พอเขาเห็นสิ่งที่เราทำ เขาเลยอยากให้ลูกเข้ามาด้วย ทางชุมชนเขาให้การตอบรับดี


ถาม : ชุมชนเกือบทั้งหมดก็มาเข้าร่วมกับกิจกรรมนี้

ตอบ : ใช่ค่ะ เพราะว่าเราก็อยากให้เขาเห็นว่ามีกลุ่มของเด็กทำอยู่นะ เลยอยากให้คนในชุมชนได้เห็นได้ส่งเสริมเด็กด้วย


ถาม : โรงเรียนที่ว่าโรงเรียนอะไรคะ

ตอบ : โรงเรียนบ้านบ่อเจ็ดลูกทั้งครูและผอ. เข้าร่วมโครงการเกี่ยวกับฐานวิจัยด้วยมีอะไรก็เรียกใช้เด็กและเยาวชนให้มีส่วนร่วมในโรงเรียน และถ้าเราอยากให้เด็กช่วยอะไร เขาสามารถให้ยืมเด็กได้ให้เด็กมาทำกิจกรรมได้


ถาม : อย่างกิจกรรมนี้คือเขารู้จากเราหรือว่าเราไปขอความร่วมมือจากเขา

ตอบ : ทั้งสองอย่างเพราะว่าเขาเห็นว่าเราทำโครงการเวลามีกิจกรรมทำในหมู่บ้านเราก็แจ้งให้เขาทราบว่าวันนี้เยาวชนจะทำกิจกรรมในหมู่บ้ายอยากให้เข้ามามีส่วนร่วม แค่ไปบอกเขาก็ยินดีเข้ามาร่วมเป็นกำลังใจให้เด็ก


ถาม : แล้วเด็กเขาสะท้อนให้ฟังบ้างไหมว่าพอมีคนในชุมชน ในโรงเรียนเขาสนใจแล้วเขารู้สึกอย่างไรบ้าง

ตอบ : เขาก็บอกว่าอยากให้เหมือนกับว่าสิ่งที่เขาคิดเขาอยากบอกผู้ใหญ่ให้รับทราบว่าเราทำอะไรได้บ้างเขาจะสะท้อนแบบนั้นมากกว่า บังเชษฐ์กับบังพงษ์บอกว่าถ้ามีอะไรเพื่อจะสนับสนุนเด็ก ๆ ก็จัดการได้เลยเพราะว่าเขามีกลุ่มอยู่แล้ว แล้วทางหมู่บ้านมีอะไรที่อยากให้ช่วยก็แจ้งได้เลย


ถาม : น้องยังทำกิจกรรมอยู่หรือเปล่าคะ

ตอบ : เกี่ยวกับที่ไปเก็บขยะเขายังทำอยู่แต่ว่าการประดิษฐ์ยังไม่ได้ทำอะไร เด็กจะอยู่เป็นกลุ่มเป็นก้อนด้วยการเก็บขยะ แต่ก็ยังมีไอเดียที่จะทำต่อ มีการเก็บขยะเป็นเดือนละครั้ง


ถาม : อะไรที่พี่ดายังรู้สึกว่าเป็นเรื่องยากสำหรับพี่ดาในการทำโครงการหรือการเป็นพี่เลี้ยงของเรา

ตอบ : การเขียนโครงการ เพราะว่าเราต้องเรียบเรียงคำ เราไม่ชำนาญในด้านนี้ บางครั้งก็พาน้องไปบ้านอื่นที่เขามีความชำนาญให้เขาช่วยดูให้ แล้วก็เวลาที่ตรงกัน แค่นี้ที่มีปัญหาของเด็ก ที่เหลือก็ไม่มีอะไร


ถาม : โดยส่วนตัวเหมือนพี่ดาสนใจเรื่องของการพัฒนาตัวเองมีพูดถึงเรื่องของกฎของแรงดึงดูด คล้ายกับ ว่าเป็นฐานความรู้ที่เราสนใจอย่างหนึ่งกับกระบวนการเรียนรู้ที่พี่ดาพูดว่าได้เรียนรู้จากพี่โจ้ มีจุดไหนที่เรารู้สึกว่ามันสอดคล้องกันแล้วทำให้เรามาหยิบใช้ได้ง่ายมากขึ้น

ตอบ : การฟัง แล้วก็การสื่อสาร มีการนั่งสมาธิ ทำให้เด็กกลับมาอยู่กับตัวเองมีสติ แล้วพอเขามีสติแล้วเขาสามารถคิดหรือว่าจินตนาการได้ เรื่องเดียวกันกับที่พี่ดาศึกษาอยู่ เรื่องของกฎแรงดึงดูด หรือว่าการพัฒนาตนเองการพูด พูดอย่างไรก็ได้ที่ใช้น้ำเสียงไม่ตะคอก ไม่เป็นคำพูดติดลบกับเด็ก มันเหมือนกับสิ่งที่พี่โจ้ใช้งานอยู่กับเราเวลาที่พี่โจ้มาสอน เป็นเรื่องเดียวกัน ก็เลยนำมาใช้ร่วมกันได้ แต่เน้นหนักเรื่องการฟัง