ราฏา กรมเมือง : บทสัมภาษณ์พี่เลี้ยงเด่น โครงการข้าวอัลฮัม นำชีวิต พัฒนาเศรษฐกิจให้ยั่งยืน

บทสัมภาษณ์พี่เลี้ยงเด่น โครงการข้าวอัลฮัม นำชีวิต พัฒนาเศรษฐกิจให้ยั่งยืน  ตำบลเกตรี อำเภอเมือง จังหวัดสตูล


พี่เลี้ยงเด่น

ชื่อ-นามสกุล ราฏา กรมเมือง ชื่อเล่น ราฎา (ราด้า)

อายุ 30 ปี จบการศึกษาจากมหวิทยาลัยเกษมบัณฑิต คณะบริหารธุรกิจ สาขาการขนส่งระหว่างประเทศ 

อาชีพ : ลูกจ้างสำนักงานยุติธรรม จังหวัดสตูล



ถาม : แนะนำตัวเอง ชื่อสกุล อายุ จบการศึกษาจากที่ไหน

ตอบ : นางสาวราฏา กรมเมือง ชื่อเล่น ราด้า อายุ 30 ปี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต คณะบริหารธุรกิจ สาขาการขนส่งระหว่างประเทศ ปัจจุบันเป็นลูกจ้างที่สำนักงานยุติธรรมจังหวัดสตูล และเป็นพี่เลี้ยงในโครงการข้าวอัลฮัมนำชีวิตพัฒนาเศษฐกิจให้ยั่งยืนค่ะ


ถาม อยากให้ย้อนไปหน่อยว่า เพราะอะไรเราถึงเลือกคณะนี้

ตอบ ความจริงแล้วชอบทำอาหาร แต่เป็นคนรูปร่างอ้วน ตอนนั้นถูกขัดความฝันว่า ถ้าอ้วนแล้วไปเรียนทำอาหารจะอ้วนยิ่งกว่าเดิมก็เลยตัดความฝันเรื่องเรียนทำอาหาร ตัวเองเก่งวิชาเคมี นำคะแนนไปส่งที่มหาวิทยานเรศวร วิทยาเขตพะเยา เพราะแม่เป็นคนพะเยา เคยมีความคิดอยากไปอยู่ภาคเหนือ แต่ก็ถูกตัดความฝันอีกเนื่องจากไกลบ้านเกินไป ที่บ้านเป็นห่วง เพราะเป็นเด็กที่ไม่เคยออกจากบ้านไปไหนไกล ถ้าไปไหนก็ไปกับที่บ้าน ตอนนั้นปี 2551 มีอยู่วันหนึ่งอาจารย์มาแนะแนวเกี่ยวกับสาขาในคณะที่เรียน อาจารย์บอกว่าถ้าเรียนจบจะได้กลับมาทำงานที่บ้าน เพราะแถวบ้านกำลังจะมีท่าเรือน้ำลึกปากปาราที่รัฐบาลวางโปรเจค เราก็ไม่ค่อยรู้เรื่องหรอก ว่าโครงการจะมีผลกระทบอะไรหรือเปล่า แต่อีก 4 ปี คือ ปี 2555 รัฐวางโปรเจคนี้ไว้ ตอนเราเรียนจบพอดี เราก็ถูกขายฝันว่าเรียนสาขานี้จบแล้วได้กลับมาทำงานที่บ้าน เลยตัดสินใจไปเรียนเพื่อหวังกลับมาทำงานที่บ้านในอนาคตค่ะ


ถาม ทำไมถึงอยากกลับมาทำงานที่บ้าน

ตอบ เมื่อก่อนเราเป็นคนติดบ้าน จึงรู้สึกว่าเราได้ดูแลพ่อแม่ อีกอย่างเราก็ได้อยู่บ้านเราด้วย ก็คิดว่าตอนไปเรียน ก็ไปกรุงเทพ เพื่อหาประสบการณ์ 4 ปี จบแล้วก็กลับมาทำงานที่บ้าน ด้วยเหตุผลที่ว่าข้าวไม่ต้องซื้อ บ้านไม่ต้องเช่า ตั้งใจไว้แบบนี้ค่ะ


ถาม แล้วได้อย่างที่ตั้งใจไหม มีอะไรที่ผิดแผนไปไหม หลังจากเรียนจบ

ตอบ ผิดแผนหมดเลยค่ะ ที่บอกว่าอีก 4 ปีมีท่าเรือน้ำลึก สุดท้ายก็ไม่เกิด เรื่องนี้ยังเป็นข้อพิพาทกับชุมชน ที่ตัวเราก็มาเห็นที่หลังว่าโครงการมีผลกระทบมากกว่าที่การสร้างมูลค่าเพิ่มด้านการพัฒนา เพราะไปทำลายทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล เราก็ทำใจว่าพลาดแล้วล่ะที่เลือกเรียนสายนี้ แต่ระหว่างที่เรียน เราก็ตั้งใจไว้แล้วว่าไปเรียนถึงกรุงเทพ เราต้องได้อะไรมากกว่าเพื่อนๆ ที่เขาเรียนแค่ที่สงขลา อย่างน้อยๆ เราต้องมีประการณ์อื่นๆ ที่มากกว่า เช่นวิ่งเข้าหาโอกาสทำกิจกรรม หรือร่วมเวทีเสวนา ร่วมกิจกรรมอะไรก็ได้ที่จัดขึ้นใกล้เรา และใกล้ๆ กับมหาวิทยาลัย ให้ได้ประสบการณ์


ถาม เป็นไงมาไง ได้มาทำงานยุติธรรมจังหวัด

ตอบ กลับมาบ้านตกงานก่อน ที่แรกได้ไปทำงานชิปปิ้งบริษัทขนส่ง DHL แต่อารมณ์การทำงานไม่ใช่สไตล์เราเลย คือ เข้างานเช้า ตอนเย็นกลับ นั่งติดคอม รู้สึกเหนื่อยล้าด้วย อีกส่วนหนึ่งที่บ้านมีวิกฤตด้วย ป้าที่อยู่พะเยาป่วยไม่มีใครดูแล แม่ก็รับเขามาดูแลที่บ้าน แล้วเราก็อยู่กรุงเทพ ค่าครองชีพสูง ตอนอยู่กรุงเทพเราก็เช่าบ้านคนเดียว เงินเดือนที่ได้มาเอามาจ่ายค่าบ้าน ค่ารถไปกลับ ค่ากิน จึงทำให้ไม่มีเงินเก็บ หลังจากรับปริญญาทำงานได้สักระยะหนึ่ง พองานไม่ได้ตอบโจทย์ชีวิต บวกกับที่บ้านต้องมีคนกลับมาดูแล จึงทำให้ตัดสินใจกลับบ้าน พอกลับมาบ้านตกงานอยู่พักหนึ่ง เราจากบ้านไปนานและไม่ค่อยรู้จักใครเลย น้าสาวทำงานอยู่ที่ อสม. เราก็ไปไหนมาไหนกับเขา ทำให้เรารู้จักคนเยอะขึ้น ทำให้เห็นสภาพชุมชนมากขึ้น จากนั้นมีการเปิดรับสมัครเจ้าหน้าศูนย์ยุติธรรมชุมชน ในหน่วยงานกระทรวงยุติกรรม จริงๆ แล้วเราก็ไม่รู้จัก แต่อาศัยการอ่านหนังสือ และลองเข้าไปสอบ ผลคือสอบได้ จึงได้ทำงานนี้ ถึงจะยังไม่ใช่งานที่ใจรักแต่ขอให้มีงานทำก่อน


ถาม ทำมากี่ปีแล้ว แล้วตอนนี้รู้สึกยังไงกับงานที่ทำบ้าง

ตอบ 5 ปี รู้สึกว่าไม่ค่อยตอบโจทย์ที่เราต้องการเท่าไหร่ จริงๆ แล้วเราอยากทำงานที่เราทำแล้วมีความสุข แต่เราก็ยังหางานแบบนั้นไม่ได้ มันจำเป็นต้องทำงานเพื่อให้ได้รับปัจจัย เพื่อเลี้ยงชีพ ถ้าถามว่าใฝ่ฝันหรือหลงใหลหรือเปล่า ตอบเลยว่า “ไม่” แต่อย่างน้อยงานยุติธรรมมันมีคุณค่าตรงที่เราได้ช่วยคนอื่น เช่น ชาวบ้านไม่ได้รับความเป็นธรรม ชาวบ้านไม่เข้าใจเรื่องสิทธิ ถูกลูกหลง โดนชนแล้วหนี เป็นต้น เนื่องด้วยหน่วยงานนี้มีเงินกองทุนและสามารถช่วยเหลือได้ เราก็สามารถบอกชาวบ้าน ประสานงาน เพื่อให้เขาได้รับสิทธิตรงนั้น เรารู้สึกว่ามันเป็นด้านบวก เราเห็นคุณค่าตรงนี้ว่าเราได้ช่วยเหลือประชาชน


ถาม ความรู้ต่างๆ เราค่อยๆเรียนรู้จากที่เราทำงานใช่ไหม เพราะว่าเราไม่ได้เรียนจบมาทางนี้

ตอบ ใช่ค่ะ ถ้าชาวบ้านมาหาเรา แล้วปรึกษาเราเรื่องกฎหมาย เราจะติดต่อนิติกรประจำสำนักงานเลยว่า กรณีนี้แบบนี้ช่วยเหลือได้ไหม ถ้าคุยกันไม่รู้เรื่องจะให้คุยสายตรงเลย เราเป็นตัวกลางในการประสาน ทำให้เราได้เรียนรู้ว่ากรณีไหนช่วยได้ หรือช่วยไม่ได้ ก็ได้เรียนรู้จากการพบปัญหาในแต่ละวัน


ถาม หลังจากกลับมาอยู่บ้านแล้ว รู้จักกลุ่มบังเชษฐ์ได้ยังไง

ตอบ มีลุงที่ทำท่องเที่ยวชุมชน หนูมีศักดิ์เป็นหลาน กลับมาก็เห็นว่ามีศูนย์เรียนรู้อยู่ในชุมชน สมัยก่อนไม่มี จึงถามลุงว่ามันคืออะไร เขาบอกว่าไปกับลุง เดี๋ยวพาไปประชุม เลยได้เจอบังเชษฐ์ซึ่งตอนนั้นทำงานเกี่ยวกับท่องเที่ยวชุมชนอยู่เมื่อ 5 ปีก่อน แต่ยังไม่ได้รู้จักหรือสนิทกันเลย ตอนนั้นไปเจอเขาเป็นวิทยากร ก็ได้รับเป็นเพื่อนกันในเฟสบุ๊ก บังหยาดเห็นเราผ่านเฟสบุ๊กว่าทำกิจกรรมเกี่ยวกับเด็กเยาวชนอยู่ พอช่วงที่มีมีโครงการ Active Citizen ของมูลนิธิสยามกัมมาจลเข้ามา เขาเลยชวนเราเข้าร่วมโครงการ ตอนแรกเราก็ไม่รู้หรอกว่าคืออะไร แต่เขาบอกว่าเป็นงานเยาวชน ให้เรามาก่อน เราก็ไปตามคำชวนของเขา


ถาม ก่อนหน้ามาเจอบังหยาด เราทำกิจกรรมเกี่ยวกับเยาวชนอะไรมาบ้าง

ตอบ เริ่มแรกชวนเด็กๆ มาเก็บขยะกันก่อน จากนั้นพี่ที่สำนักงานที่รู้จักกันทำงานสภาเด็กและเยาวชน เขารู้จักป้าป้อมที่อยู่ จ.พัทลุง ป้าป้อมจึงเปิดงบประมาณมาให้ ได้ทำในส่วนของการเล่น เราเริ่มโพสลงในเฟสบุ๊ก พอเริ่มเป็นกลุ่มก็ไปของบจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มาทำเรื่องมวยไทย ชวนเยาวชนตัวเล็กมาออกกำลังกายด้วยมวยไทย เพราะหนูมีเพื่อนเป็นนักมวย เคยซ้อมมวย บางทีก็มีเด็กๆ มาเล่นที่บ้าน เขาบอกอยากต่อยมวย เราก็ถามเขาว่า ถ้าเราจัดกิจกรรมมวย เด็กๆ สนใจไหม เด็กๆ ก็สนใจ เราก็บอกเพื่อนสนใจมาเป็นโค้ชให้เราไหม เดี๋ยวเราไปชวนเด็กๆ มา ในการจัดกิจกรรม ก็ต้องมีงบประมาณในการเลี้ยงน้ำ เลี้ยงขนมเด็กๆ และ สปสช.บอกว่า มีงบที่เกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพ จากนั้นเราก็ลองเขียนโครงการ เป็นการเขียนโครงการครั้งแรกด้วย เพื่อของบสนับสนุนในเรื่องอาหารในการออกกำลังกายและขอค่าวิทยากรเล็กน้อย ได้งบประมาณหนึ่งหมื่นต้นๆ เราอยากจัด 20 วัน แต่เขาบอกว่ามันเยอะไป เราจัดไม่ได้หรอก จัดสัก 10 วันไหม เรารู้สึกว่างบมันก็ไม่ได้เยอะ เช่น ค่าน้ำ 5 บาท ค่าขนม 5 บาท เขาเห็นว่าเราเป็นกลุ่มใหม่ มาทำกิจกรรมแบบนี้คงไม่ได้ เหมือนตัดฝันของเราไปเลย สรุปเราก็ได้จัดแค่ 10 วัน พอเราจัดกิจกรรมมวยขึ้นมาจริงๆ ก็เกิดปรากฎการณ์ใหม่ขึ้นมาในชุมชน ในช่วงเวลาประมาณ 4 โมงเย็น - 6 โมงเย็น ที่เราจัดกิจกรรม ร้านเกมแถวนั้นเงียบไปหมดเลยจากเดิมมีเด็กๆ ไปเล่นเกม เพราะเด็กมาทำกิจกรรมกับเรา พ่อแม่เริ่มพาเด็กๆ มาฝากมากขึ้น จึงทำให้มีคนสนใจและเห็นกิจกรรมนี้ ทำให้เรามีเด็กอยู่ในมือ แล้วมาต่อยอดเรื่อง “อ่าน กิน เล่น” เราจะโพสต์เฟสบุ๊กตลอด ทำให้มีคนเห็นความเคลื่อนไหว บังหยาดก็เห็น สรุปว่ามีแค่ 3 งบที่หนูขอจาก สปสช. อ่านกินเล่น อีกครั้งหนึ่งเมื่อประมาณ 2-3 ปีมาแล้ว เพื่อนที่เป็นโค้ชมวยไปรับงบประมาณจาก สสส. มาแล้วชวนเราไปช่วยงาน เขาเห็นว่าเรามีกลุ่มเด็กเยาวชน เป็นงบโครงการปลูกผักในชุมชน ให้เด็กมาทำแล้วไปชวนผู้ใหญ่เข้ามามีส่วนร่วมในการปลูกผัก บังหยาดก็เห็นเราผ่านสิ่งที่เราโพสต์ ก็เลยชวนเราเข้ามาทำโครงการ Active Citizen เมื่อประมาณปี 2559 หนูทำงานกับเด็กมาก่อนแล้วประมาณ 3 ปี


ถาม เหตุผลอะไรที่ทำให้เราสนใจมาจับโครงการพัฒนาชุมชน ทั้งๆ ที่ก็มีภาระอย่างอื่นด้วย

ตอบ หนูลืมไปแล้วว่ามันเคยเป็นความฝัน จนเพื่อนมาเคาะความฝันเมื่อไม่นานมานี้ เพื่อนบอกว่านี่เป็นความตั้งใจของเราที่อยากทำมาตั้งแต่อยู่มหาวิทยาลัยแล้วนะ ตอนนี้เราก็ได้ทำ เราก็...เออ นี่มันคือความตั้งใจของเราที่อยากกลับมาทำกิจกรรมที่บ้าน ทั้งที่เราลืมไปแล้ว แต่วันที่เริ่มต้นกลับเห็นช่องว่างในชุมชน คือ ไม่มีเด็ก  หลังหนูกลับมาที่ชุมชนได้ 2 ปี เรารู้สึกว่ามันไม่มีเรื่องราวของเยาวชนในชุมชนเลย ไม่มีกลุ่มเด่นๆ ที่มีเยาวชนร่วมกันทำกิจกรรมเลย มีแต่กลุ่ม อสม. กลุ่มสตรี กลุ่มกำนันผู้ใหญ่บ้าน กลุ่มท้องที่ท้องถิ่น และกลุ่มผู้นำศาสนา พอเราเห็นแบบนั้นจึงอยากทำ ตอนแรกแค่อยากชวนมาให้สนุกเฉยๆ ไม่ได้คิดถึงการทำโครงการ เช่น ถ้ามัสยิดธ์มีงาน เราอยากเห็นภาพเด็กๆ มาช่วยเสิร์ฟน้ำ ยกของบ้าง เราคิดแค่ภาพเล็กๆ ในตอนเริ่มต้น ถ้าพอเราลงมาทำโครงการแล้ว ก็อยากให้เยาวชนมีตัวตน


ถาม เบื้อหลังอะไรของเรา หรือมีปมอะไรที่อยากมอบโอกาสให้เยาวชนในชุมชน

ตอบ เมื่อก่อนในชุมชนสภาเด็กและเยาวชนเป็นกลุ่มที่แข็งแรงมากซึ่งเราไม่เคยได้เข้าร่วมเลย เวลามีกิจกรรมไปต่างจังหวัด เราไม่เคยได้ไป หลังจากนั้นตัวเองรู้สึกว่าไม่ค่อยได้รับความสำคัญ จึงทำให้เรามีปมถูกมองข้าม คิดเหมือนกันว่ามันคือความจริงหรือว่าเราสร้างปมให้ตัวเองหรือเปล่า เราเคยทำเรื่องสายธารชีวิตมองย้อนกลับไปดูตัวเอง เมื่อก่อนเรารู้สึกว่าเราขาด เวลาเพื่อนๆ ได้ไปเที่ยวด้วยกัน เราไม่มีความทรงจำนั้นเลย เพราะไปโรงเรียนเช้าเย็นกลับบ้าน มาช่วยงานที่บ้าน หรือตอนเรียนมัธยมก่อนไปโรงเรียนก็ต้องไปเก็บยางพาราก่อน หลังจากนั้นต้องรีบอาบน้ำไปโรงเรียน ตอนเย็นกลับมาก็ไปเก็บขี้ยางอีก ชีวิตเรากังวลกับครอบครับจึงไม่มีโอกาสได้ไปเที่ยวกับเพื่อนๆ บางครั้งเราคิดว่าไม่ได้ใช้ชีวิตเหมือนที่เด็กๆ คนอื่นมีกัน เช่น ไปเที่ยว เฮฮา ไปหาประสบการณ์ เพราะเราอยู่กับครอบครัวเยอะมาก  สมมุติว่าจะไปหาดใหญ่ เราก็นั่งรถบัสเองไม่เป็น ทำให้รู้สึกว่าด้อยประสบการณ์ชีวิตในช่วงเป็นเด็กไป แต่พอเราโตขึ้นและได้ไปอยู่กรุงเทพ ก็ยังโชคดีที่มีเพื่อนๆ ที่ดี เวลาไปไหนมาไหนก็ติดสอยห้อยตามกันไป ทว่าเราก็ยังไม่ใช่ผู้นำ มักเป็นผู้ตามมากกว่า จากตรงนั้นทำให้กลับมาคิดว่า “ทำไมเราไม่เป็นผู้นำ” เพราะก่อนหน้านี้เป็นคนไม่ค่อยพูด มีแต่คนบอกว่าเราเป็นคนเก็บกด เราก็โดนตีตราอีก จนเอามาคิดอีกว่า “ทำไม” แต่ก็พยายามเปลี่ยนแปลงตัวเอง เรียนรู้ไปเรื่อยๆ แต่ก็ยังมีคนจำนวนหนึ่งที่เข้าใจและดึงเราออกมาจากความรู้สึกนั้น


ถาม ที่บอกว่าโดนเยอะ คือโดนตัดสินจากคนอื่นว่าเราเป็นแบบนั้น แบบนี้หรือเปล่า

ตอบ ใช่ เราโดนตีตราด้วย จนทำให้ต้องมาตั้งคำถามกับตัวเอง ว่าเราเป็นแบบนั้นอย่างที่เขาว่ากันจริงๆ หรือ


ถาม ตอนที่คิดกับตัวเองจริงๆ เราได้คำตอบไหมว่า ความจริงแล้วเราเป็นยังไง เพราะที่ราด้าบอกว่า ปกติไม่เป็นผู้นำ ไม่ค่อยพูดถ้าให้ราด้ามองตัวเอง คิดว่าตัวเองเป็นยังไง

ตอบ บางทีคิดว่าตัวเองเป็นคนสองบุคลิก ในบางครั้งเราเฮฮาสุดๆ ไปเลย และบางครั้งก็นิ่งสุขุม เคยมีคนถามเราว่า “ไม่เหนื่อยบ้างเหรอ ทำไมพลังงานเยอะมากเลย” เป็นคำถามจากคนอื่นที่เห็นเราในด้านที่มีความสุข แต่เรามีเพื่อนที่ไว้ใจและเข้าใจอยู่ 2 คน วันพฤหัสกับวันอาทิตย์เป็นวันประชุมทำงานกับเพื่อน เรามักรู้สึกเหนื่อย แล้วเราก็ร้องไห้ เขาแบ่งเวรกันมาอยู่กับเรา สองวันนี้เป็นที่รู้กันว่าเพื่อนห้ามคุยกับแฟน แต่มาอยู่กับเรา เหมือนเรามีเพื่อนเป็นที่ระบาย


ถาม จริงๆ เราเป็นคนที่รู้เท่าทันตั้วเองมากๆ นะ กับความรู้สึกที่ร้องไห้เกิดจากอะไร

ตอบ หลายครั้งที่รู้สึกเหนื่อย เรารู้สึกว่าพื้นที่ตรงนี้ไม่ใช่ที่ปลอดภัยสำหรับคนที่อ่อนแอ มันไม่มีที่ยืนสำหรับเราเมื่อไปยืนต่อหน้าคนอื่นๆ จึงทำให้เราไม่แสดงความอ่อนแอออกมา ฉันต้องแข็งแรงตลอดเวลา


ถาม ในส่วนของโครงการ เราเคยทำโครงการจากที่อื่นมาก่อน เป็นในรูปแบบหนึ่ง และตอนนี้มีประสบการณ์เป็นพี่เลี้ยงในโครงการ Active Citizen อยากให้ขยายความให้หน่อยว่าเห็นถึงความแตกต่างยังไงบ้าง Active Citizen มีความพิเศษยังไงบ้าง เมื่อเทียบกับงานอื่นๆที่เราเคยทำกับเกี่ยวกับเยาวชน

ตอบ โครงการ Active Citizen สร้างคนมาจากข้างใน รวมถึงตัวเราด้วย ครั้งแรกที่ไปร่วมโครงการ ตอนพี่เลี้ยงไปอบรม เราถูกตั้งคำถามที่ไม่มีใครเคยถามมาก่อน ถามในเรื่องความเชื่อว่าเรามาทำงานตรงนี้เราเชื่อในอะไร เรามีอะไรในใจจึงทำให้เราเข้ามาเดินในเส้นทางนี้ เราเห็นคุณค่าหรือความเชื่อของการทำงานกับเด็กๆ เห็นในเบื้องลึกว่าเมื่อเข้าสู่กระบวนการการทำงาน เราก็ถูกพัฒนามาเป็นพี่เลี้ยงที่สนับสนุนและโฟกัสเด็กๆ ต่างจากงานที่เราเคยทำมักมีคนมาตั้งคำถามที่เป็นแค่เปลือกนอก เช่น ทำอะไรบ้าง ได้งบมาเท่าไหร่  แล้วตอนนี้งบเหลือเท่าไหร่ ทำให้เราเสียดายกระบวนการมากว่า “เด็กๆ จะได้อะไร ” เพราะเรามีหลายอย่างที่อยากทำ คิดว่างบพอไหม คิดไปต่างๆ นา คิดไปถึงว่าเด็กๆ จะได้อะไรจากสิ่งที่เราทำ แต่พอเข้าโครงการ Active คำถามที่เขาตั้ง เป็นคำถามที่เราอยากตอบทั้งนั้นเลย ทำให้รู้สึกว่า เมื่อก่อนทำโครงการอื่นเราต้องนำเพราะเราเป็นพี่ ต้องสั่งให้เขาทำเพื่อให้งานสำเร็จ แต่เราก็ต้องจัดการให้ทุกอย่าง แต่โครงการ Active Citizen มาเปลี่ยนความคิดเราหมดเลยว่า เด็กต้องเป็นคนที่เรียนรู้ด้วยตัวเอง”บางครั้งเราต้องกัดฟันตัวเองว่า เราให้เขาทำเอง ล้มเองบ้าง จะทำให้เขาได้เรียนรู้ ก่อนหน้านี้เราคาดหวังให้โครงการสำเร็จ เด็กๆ ก็แค่ดีใจ แต่ไม่ได้ทำให้เขารู้สึกว่า นี่เป็นโครงการที่เขาคิดเอง และจัดการทุกอย่างเองนะ รูปแบบการทำงานมันคนละเรื่องกันเลย


ถาม เมื่อเราให้เด็กคิดเองทำเองแล้ว มันยากกว่าเดิมไหม ยังไงบ้าง

ตอบ ยาก เมื่อเขาคิดเองทำเอง แต่เรายังมีความเป็นตัวเองอยู่ รู้สึกไม่ถูกใจเรา รู้สึกอึดอัด จนบางครั้งเราก็เผลอคิดว่า “แบบนี้มันไม่ได้”แต่เด็กๆ คิดว่าได้ เราก็เอาตัวเองไปตัดสิน บ่อยครั้งที่เราถูกสะกิดว่านี่มันเป็นพื้นที่ของน้องนะ แรกๆ ทำให้เรารู้สึกห่วงและหวง แต่ตัวเราก็ต้องค่อยๆ ปรับไปค่ะ


ถาม คนที่ช่วยสะกิดเราออกมาคือใคร

ตอบ บังปิง บังเชษฐ์ และบังหยาดค่ะ และมันก็อยู่ที่ตัวเราด้วย บังเชษฐ์จะมาในรูปแบบที่ปล่อยโจทย์ให้เราคิด ส่วนบังหยาดออกแนวบ่นกันตรงๆ ว่า “มึงเป็นพี่เลี้ยง ควรให้น้องคิดเองสิ” บังปิงจะพูดนิ่มๆ


ถาม ที่ทำงานกับน้องๆ ในโครงการข้าวอัลฮัม อะไรเป็นความยากที่เราดูแลน้องๆกลุ่มนี้ ในบทบาทพี่เลี้ยงขอเรา

ตอบ อย่างแรกเขาเป็นเด็กผู้ชาย มีความเล่นบ้าง ทำให้เรารู้สึกห่วงเพราะอยากให้งานเป็นไปตามแผน สองเพราะบทบาทความเป็นพี่เลี้ยงมันยากอยู่แล้ว แล้วโจทย์ที่ได้รับมันก็ยากขึ้นไปอีก และสามเราไม่ได้มีความเชื่อมั่นกับเด็ก 100% ในช่วงแรก ดังนั้นเวลาเขาสื่อสารปนเล่น เราดูแล้วมันไม่มีแบบแผน ทำให้รู้สึกว่า “มักง่าย” คิดๆ ไปก่อนแล้วค่อยทำ เราคิดว่ามันไม่ได้อะ ถ้าคิดว่าถ้าจะทำสิ่งนี้ เราควรวางแผน ต้องทำอะไรบ้าง ตามขั้นตอนหนึ่งสองสามสี่ แต่เด็กๆ มักพูดว่าลองไปก่อนๆ แต่คำว่าลองไปก่อนสำหรับเรามันอาจเป็นคำท้าทาย แต่โอกาสผิดพลาดสูงมาก  ในขณะที่ทำโครงการถ้าเด็กๆ ทำอะไรพลาด เรามีแบบแผนสอดไปให้เขาและถอดบทเรียนกับเขา ครั้งหนึ่งแกล้งให้เขาวาดวงจรชีวิตข้าวโดยให้เวลา 1 อาทิตย์ เด็กๆ ได้ไปสัมภาษณ์ปราชญ์ผู้รู้ และศึกษาค้นคว้าทางอินเตอร์เน็ต แล้วคัดลอกข้อมูลนั้นมาวางในแผ่นผ้า เราก็ให้เขาวาดวงจรข้าวว่ามีอะไรตรงไหนบ้าง ผลที่ได้คือตกหล่นไปหลายอย่างมาก เราถามเขาว่าไหนละ วงจรที่ข้าวตั้งท้องและการใส่ปุ๋ย เพราะสิ่งที่เขาคัดลอกมานั้น ไม่มีสาระสำคัญเลย สุดท้ายเราก็ถามเขาว่าจะส่งทั้งที่งานไม่สมบูรณ์แบบนี้ใช่ไหม แล้วได้ลองทำลงในกระดาษหรือยัง เขาตอบว่ายัง เรากลับมาถอดบทเรียนทีหลังว่า เหตุการณ์วันนี้เป็นเพราะไม่เตรียมคำถามไปใช่ไหม แล้วเสียผ้าไป 1 เมตรเป็นเพราะอะไร เขาตอบว่าเดี๋ยวผมซื้อใหม่ก็ได้ครับ เราก็บอกว่าซื้อใหม่ไม่ใช่สิ่งสำคัญ แต่ผลที่เกิดขึ้นมันเป็นเพราะอะไร เริ่มมีอารมณ์กันขึ้นมา สุดท้ายเขาก็รู้ว่าผิดที่เขาไม่ได้วางแผนกันมาก่อน ไม่ได้ลองวาดในกระดาษก่อน เขาก็บอกเราว่า ผมขอโทษผมผิด”  เราถามเขาว่าอยากทำงานแบบไหน น้องๆ ต้องไปหาข้อมูลมาใหม่ ให้ไปสัมภาษณ์ปราชญ์ผู้รู้เพิ่มอีก เด็กแบ่งทำงานเป็นกลุ่ม ทำวงจรข้าว การเจริญเติบโตของข้าว แต่ข้อมูลที่ได้มาก็ไม่สมบูรณ์อีก แล้วจะทำยังไง วันนั้นไปหาปราชญ์ 3 รอบ


ถาม เหตุการณ์ตอนนั้นเราต้องควบคุมตัวเองมากไหม เพราะน้องๆ ก็เป็นผู้ชาย แล้วราด้าทำยังไง

ตอบ เรารู้จักเด็กๆ ประมาณนึงแล้ว ว่าเด็กคนไหนเป็นยังไง ทุกครั้งที่ลงมือทำ เราได้ถอดบทเรียน เราตั้งคำถามเพื่อให้เขาคิด เราจะไม่เอาชนะเขาด้วยการด่าหรือเถียง แต่ถามเพื่อให้เขาได้ย้อนคิดว่าสิ่งนั้นมันถูกหรือผิด เพราะบางครั้งเขาอาจไม่ได้คิดจริงจัง หรือบางครั้งคำตอบที่ออกมาฟังดูกวนๆ เราก็บอกว่าแน่ใจนะ คิดดีๆ เราต้องใจเย็นมากๆ ทั้งๆ ที่ข้างในเราคุกรุ่นมาก แล้วเราก็ออกจากสถานการณ์ตรงนั้นเลย ฟังเขาพูดออกมาแล้ว เราก็ให้เขาลองทำ ในใจเราเชื่อเขาอยู่อย่างหนึ่งว่าเขาจะทบทวนได้เพราะเราโยนคำถามให้เขาแล้ว ปัญหาคลี่คลายได้ตอนที่เราถอดบทเรียน ซึ่งน้องๆ ก็สะท้อนสิ่งที่เขารู้สึกจริงๆ สิ่งที่สะท้อนคือเด็กๆ บอกกับเราว่าบางครั้งเขารู้สึกโกรธและไม่พอใจ เราก็สะท้อนตัวเองด้วยเช่นกัน เพราะเราใช้อารมณ์ และได้ขอโทษน้องๆ ออกไป ทำให้เราคิดว่าการทำงานกับเด็กผู้ชาย นิสัยต้องตรงไปตรงไป เราต้องปรับตัวเองว่า เราตรงเปิดอกคุยกันด้วยความจริงใจ เรื่องผ้าหลังจากพูดคุยกัน ออกไปเก็บข้อมูลกลับมาใหม่ บรรยากาศก็เปลี่ยนไป เขาตัดสินใจทิ้งผ้า 1 เมตรไปเลย เราถามย้ำว่าผ้าผืนนี้จะทิ้งแล้วใช่ไหม เขาตอบว่าทิ้งเพราะเขาลบหลายครั้งจนเส้นด้ายมันเลื่อนไปหมดแล้ว แต่เราคิดว่าผ้าผืนนี้มันน่าจะทำอะไรได้อีก ซึ่งก็ไม่รู้จะบอกเขายังไง แต่เราเลือกทำให้เขาดู ก็ช่วยกันกับน้องสาวนำผ้ากลับมาวาดและระบายสีเป็นต้นข้าว ออกมาเป็นภาพที่สวยงามมาก เราอยากให้เขาเห็นว่าอย่าเพิ่งตัดสินอะไรก่อนที่จะทำ นี่คือผ้าที่น้องทิ้งนะ สิ่งที่ทำไปเพื่ออยากให้เขาเห็นคุณค่า


ถาม ใช้สีอะไรวาดต้นข้าว

ตอบ สีอะคลิลิค(·กระป๋อง)ค่ะ


ถาม เด็กพวกนี้ก็แสบเหมือนกันนะ

ตอบ มาก แต่เราต้องดูว่าใครถนัดด้านไหน เช่น คนไหนอยากโชว์ โชว์เลย คนไหนพูดเก่งก็ให้เขาพูด หรือคนไหนไม่ถนัดพูดแต่อยากลงมือทำก็ให้ไปทำ เราให้เขาทำให้สุด และสุดท้ายมันมาตกตะกอนตอนถอดบทเรียนว่ามันคืออะไร แล้วค่อยๆ ปรับกันไป เราจะพยายามเพิ่มเติมให้เขา อย่างเช่น รู้ไหมว่าสิ่งที่เราถนัด นั่นคือสิ่งที่ดี แล้วเราทำมันให้ดีที่สุด แต่ในขณะเดียวกันสิ่งที่เป็นกำไรของเรา คือ การที่เราได้มีโอกาสเรียนรู้ในสิ่งที่เราไม่ได้ทำ จากนั้นเด็กๆ มีความกระตือรือร้นมากขึ้น อย่างเช่น คนที่ชอบพูดเปลี่ยนมาถ่ายภาพ คนที่ถ่ายภาพลองมาระบายสีบ้าง หรือคนที่ระบายสีก็ไปล้างจานบ้าง สลับสับเปลี่ยนกันไป เราสร้างโจทย์และความท้าทายเพื่อให้เขาไม่ยึดติด เพราะเดิมทีเด็กๆ บอกว่า ผมไม่ถนัดอันนั้น อันนี้ ไม่เคยทำ แต่นี่คือโอกาสที่เราจะได้ลองทำ มันคือการเรียนรู้ ถ้าไปที่อื่นไม่มีใครให้โอกาสขนาดนี้นะ ถ้าไปที่อื่นเขาให้แสดงจริง ไม่ได้มีให้ซ้อมแบบนี้นะ เราพูดกับเขาบ่อยๆ เพื่อกระตุ้นให้เขามีความรู้สึกอยากลอง อยากทำตลอด แม้ว่าตอนนี้สันทนาการที่ว่ายากที่สุด เด็กในทีมฝึกสันทนาการเกือบครบทุกคนแล้ว มีบางคนบอกว่า อาทิตย์ที่แล้วผมทำได้ไม่ค่อยดี อาทิตย์นี้ผมขอแก้ตัวได้ไหม ทั้งที่ก่อนหน้าที่เกี่ยงกัน  วิธีการ ยกตัวอย่างเช่น คู่นี้ซ้อมเสร็จเปลี่ยนคู่ใหม่ คนที่เคยเก็บอุปกรณ์ ลองทำสันทนาการดู ถ้ายังออกมาได้ไม่ดีเรากลับมาถอดบทเรียนกัน มีน้องคนนึงบอกว่า วันนี้ผมทำได้ไม่ดี เราก็ถามเขาว่า อยากแก้ตัวไหม เขาตอบว่า อยากครับ แต่ผมยังไม่พร้อม เราก็ท้าทายเขานะ บอกว่า ตัดสินใจดีๆ น้อง เหล็กถ้าตีตอนร้อนมันจะง่ายนะ เขาก็บอกว่าอาทิตย์หน้าผมจะลองใหม่ครับ เราพยายามเปลี่ยนวิธีคิดเขา เราฝึกให้ทุกคนได้เป็นประธาน จะไม่ใครทำหน้าที่ของตัวเองซ้ำๆ เราพยายามหาโครงการหางานให้ เพื่อให้ทุกคนได้ลองเป็นประธาน เพราะตำแหน่งประธานไม่มีใครเข้าใจมันลึกซึ้งพอ ถ้าไม่ได้ลงมาทำเอง แล้วเวลาที่เขาไม่ได้เป็นประธาน เขาก็จะเป็นผู้ตามที่ดีมาก จากเมื่อก่อนบางคนที่เป็นผู้ตามจะไม่ได้สนใจอะไรมาก แต่พอวันนึงได้มาเป็นประธาน เขาจึงเข้าใจว่าเราต้องการทีมแบบไหน แล้วเราจะเป็นลูกทีมแบบไหนที่สามารถช่วยเหลือtประธานได้ พอเห็นแบบนี้ก็ไม่เป็นห่วงแล้ว เพราะทุกคนมีความรับผิดชอบและเข้าใจคนที่เป็นผู้นำ งานก็สามารถเดินต่อไปได้


ถาม ราด้าคิดว่าอะไรที่ทำให้น้องๆ ยอมเรา

ตอบ ความจริงใจ เมื่อก่อนเคยถอดบทเรียนกับเขาว่า ทำไมถึงมาอยู่ตรงนี้ ทั้งๆ ที่ทำไปก็เหนื่อย นี่คือเวลาเล่นของพวกเรา แล้วทำไมไม่เล่นเกมบ้าง แล้วเขาก็กลับมาถอดบทเรียนย้อนกลับกับเรา ว่า ทำไมถึงมาอยู่ตรงนี้ ทั้งที่ทำไปก็ไม่ได้อะไร ส่วนตัวเราบอกว่าความปรารถนาเดียวคือ หวังให้พวกเราเก่ง เพราะเราไม่ได้มีโอกาสแบบนี้ตอนเด็ก แล้วก็คิดว่าถ้าเรามีโอกาสแบบนี้ เราคงโตมาเก่งกว่านี้ สิ่งที่ทำก็เพื่อเด็กๆ ทั้งหมด ทุกคนรู้ได้จากการเปลี่ยนแปลงของตัวเอง จึงทำให้พวกเขาเชื่อและอยู่กับเราได้


ถาม คำว่า ตีเหล็กต้องตีตอนร้อน เราได้มาจากไหน ยกตัวอย่างเช่น ตอนเด็กๆ รู้สึกเฟล แล้วอยากพัก ซึ่งถ้าพี่คิดในใจ พี่ก็อยากให้เขาพัก แต่เรากลับให้น้องลองเลย มาจากประสบการณ์ หรือมีใครแนะนำไหม

ตอบ ไม่ได้มาจากประสบการณ์ แต่เราต้องคิดว่าจะทำยังไงให้น้องมันสู้ เพราะเด็กรู้สึกนอยด์ ในใจเราเชื่อว่าเขาทำได้แต่เขามักเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับเพื่อนอีกคนที่ทำดีกว่า เช่น สองคนแรกที่ผ่านไปในสัปดาห์ที่แล้ว พวกเขาเล่นดีเพราะมีประสบการณ์ในการขึ้นเวทีมาก่อน บังเอิญมาจับคู่กันพอดี ผลที่ออกมาคือเล่นดีและเต็มที่มาก ส่วนสองคนนี้เป็นสายวิชาการ เขาอยากลอง แต่พอเจอสถานการณ์ตรงนั้น ทำให้รู้สึกกดดัน มองภาพเพื่อนในอดีตว่าเก่ง ระดับ 10 แต่ตัวเองไม่ถึง 10 ตอนนั้นเราไม่รู้เพราะไม่ได้เข้าร่วมประชุมในสัปดาห์ที่ทำ พอถึงวันจริงเด็กก็พูดไม่ออก อย่างแรกอาจเพราะผู้ร่วมงานมาน้อย กลัวจังเลย สองพอเล่นไปตัวเองร้องเพลงไม่ดัง จึงไม่สามารถกระตุ้นผู้ร่วมงานให้รู้สึกตื่นเต้นได้ เราก็ยังมั่นใจว่าเขาทำได้ แต่ตัวเด็กอยากถอนตัวแล้ว การที่ถอนตัวนั้น ถอนได้แค่เพียงความรู้สึกแต่ศักยภาพมันยังมีอยู่ ดังนั้นถ้าจะทำต่อต้องไปให้สุด และต้องเร็ว เพราะเรารู้ว่าพลาดตรงไหน ผิดพลาดตรงที่ไม่สามารถควบคุมความรู้สึกของตัวเองได้ ดังนั้นครั้งต่อไปเราต้องควบคุมให้ได้ ถ้าเราไม่ได้จัดลำดับให้เด็ก งานไปต่อไม่ได้เลย ลำดับมั่วไปหมด พอถอดบทเรียนแบบนี้ได้ จึงได้รู้ข้อบกพร่อง ถ้าเกิดปล่อยไว้เป็นระยะเวลานาน แล้วถ้ามีคนอื่นมาแทรกระหว่างเขาทั้งสอง มันก็จะต้องมีตัวชี้วัดใหม่เพิ่มขึ้นมาอีกว่า คู่นี้ทำได้ดีกว่าเราอีก เราคิดว่าถ้าจะทำ ให้ทำเลยอย่ารอ ลุยเลย น้องก็มองหน้าก็ลุยต่อ

จากนั้นเราปล่อยให้เขาไปคิดวางแผนกันเองก่อน เพราะเข้าต้องเชื่อใจซึ่งกันและกันเมื่อต้องอยู่หน้าเวที แล้วเราถามเขาทีหลังว่า ลำดับขั้นตอนของน้องมีอะไรบ้าง รอบที่สองของการถอดบทเรียน คือ ผลลัพธ์ที่ได้ออกมาดีกว่ารอบแรก น้องเกิดความภูมิใจและมั่นใจในตัวเองมากขึ้น เราก็ไม่ห่วงแล้ว ถ้าวันไหนไม่มีใครมาสันทนาการ เขาก็สามารถทำได้ เรามองว่า เด็กเวลาเก่ง ไม่ว่าจะเก่งด้านไหนก็ตาม ไม่ต้องเก่งให้สุด แต่ให้รู้ว่าควรทำยังไงก็พอ เมื่อได้ลองทำทุกอย่างแล้ว เราก็เลือกทางที่เราถนัดที่สุด หรือใครเก่งด้านไหนก็ไปทำด้านนั้นให้เต็มที่ อย่างน้อยได้ลองแล้วไม่ด้านใดก็ด้านหนึ่ง ไม่ใช่ว่าไม่ได้ลองอะไรเลย

ที่ผ่านมาคนทำวิชาการอาจคิดว่าตัวเองเหนื่อยกว่าคนอยู่บนเวที คนที่อยู่บนเวทีก็คิดว่าตัวเองเหนื่อยกว่าเหมือนกัน กูเหนื่อยกว่ามึงอีก เพราะต้องคิดเมื่อเจอสถานการณ์ต่างๆ เฉพาะหน้า กูต้องแก้ปัญหา เราไม่อยากให้เกิดปัญหาแบบนั้น ถ้าน้องได้ลองทุกอย่างเหมือนกัน น้องจะเข้าใจทุกคนมากขึ้น นี่คือสิ่งที่เรารู้สึกว่าตั้งแต่ที่ทำงานมาน้องไม่เคยทะเลาะกัน สังเกตได้จากที่บังเชษฐ์มา...หรือเวลาที่ไปออกงานใหญ่และเกิดความผิดพลาด เขาจะ support กันเร็วมาก แล้วเราก็เห็นเด็กกลุ่มอื่นมัวแต่โทษกันเอง เด็กกลุ่มเราให้กำลังใจซึ่งกันและกัน


ถาม เพราะเขาเข้าใจกันว่าใครทำตำแหน่งอะไร เพราะทุกตำแหน่งมีความสำคัญด้วยกันทั้งหมด ให้ราด้านิยามตัวเอง ว่าเป็นพี่เลี้ยงสไตล์ไหน จากที่เล่ามาทั้งหมด

ตอบ เป็นพี่เลี้ยงที่เข้าถึงเด็ก ไม่ว่าจะเป็นการเข้าใจหรือคุยกับเขาได้ บางครั้งรู้สึกว่าเรามีพลังงานบางอย่างที่ดึงดูดให้เราเข้าหาเด็กบางคนที่เขาถูกทอดทิ้ง หรือไม่ได้รับความสนใจ เราจะเข้าใจเด็กเหล่านี้เป็นพิเศษ อีกอย่างเราเป็นคนที่คิดไว มีขั้นตอนว่าจะทำอะไรก่อนหลัง เช่นการทำงานกับเด็กๆ เราจะสแตนบายแผนรองรับให้เด็ก ว่าถ้าเกิดปัญหาเราจะเข้าไปสนับสนุนเขายังไง


ถาม การที่เราเข้าถึงและเข้าใจความแตกต่างของเด็กแต่ละคน โดยที่เราไม่เอาเด็กไปเปรียบเทียบกัน ราด้าคิดว่าตรงนี้สำคัญอย่างไร

ตอบ การไม่เอาตัวเองไปเทียบกับใครสำคัญมาก มันคือส่วนหนึ่งที่ทำให้เขาเห็นความสำคัญของตัวเอง ไม่จำเป็นต้องเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับใคร เราสังเกตเห็นจากเด็กบางคนเวลาที่เข้ามา รู้สึกว่าตัวเองพูดไม่เก่ง มันทำให้เขารู้สึกด้อยกว่าคนอื่นแล้ว เคยมีการถอดบทเรียนครั้งนึง มีเด็กคนหนึ่งบอกว่า “กูโง่กว่าคนอื่น กูต้องตามให้ทันเพื่อน” จากเหตุการณ์นี้ทำให้เราคิดว่าทำไมเขาถึงมองตัวเองโง่กว่าคนอื่น เราก็เลยบอกเขาว่า “สิ่งที่หนูเป็น เช่น ล้างจานเก่งกว่านะ รู้ไหมพวกนี้ที่มาไม่มีใครล้างจานกันเลยนะ พวกมันขี้เกียจ และนี่คือจุดเด่นของหนูนะ ” เราพยายามบอกเขาว่า อย่าเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับใคร เป็นตัวของตัวเองดีที่สุด เพราะเรามีคนเดียวบนโลก ไม่จำเป็นต้องเหมือนใคร เราคอย support เพื่อให้เขาภูมิใจในตัวเอง ให้เขาหาจุดเด่นตัวเองให้เจอว่าตัวเองเด่นด้านไหน ดังนั้นเวลาที่เราคุยกับเด็กก็จะแตกต่างกันออกไป สิ่งสำคัญคือเราอยากให้เขายืนหยัดในตัวเอง เวลาที่เขาคิดก็เป็นแบบของเขา พื้นที่การเรียนรู้ของเรามันไม่มีผิดหรือถูก ดังนั้นหนูคิดแบบไหน จงพูดในสิ่งที่หนูคิดออกมา เราไม่จำเป็นต้องพูดเหมือนคนอื่น เด็กบางคนพูดเก่ง แต่อาจทำไม่เก่ง ในขณะที่บางคนไม่กล้าคิดไม่กล้าพูด แต่กลับทำทุกอย่างได้ดี


ถาม จากที่ราด้าเคยบอกว่า ตัวเองเป็นคนที่หวั่นไหวง่าย เราเอาวิธีคิดแบบเดียวกันกับน้องๆ มาใช้กับตัวเองบ้างไหม

ตอบ ใช้ค่ะ กว่าจะสอนหรือสะท้อนให้กับเด็กๆ ได้ เราเองมีประสบการณ์จากความล้มเหลวมาหมดแล้ว เมื่อก่อนมันคือปมด้อย แต่วันนี้ประสบการณ์ที่เลวร้าย มันมีค่ามาก ที่ทำให้เราเอามันมาเป็นพลังบวกและยังสามารถเข้าใจเด็กๆ และพร้อมที่จะสนับสนุนเด็กได้อีก สิ่งที่เราได้เรียนรู้ คือมากกว่าประสบการณ์ มันเป็นสิ่งที่เปลี่ยนเราได้ เราก็เอาวิธีคิดนี้ไปใช้กับเด็กๆ ได้เหมือนกัน แล้วยิ่งเราสิ่งสะท้อนออกไปให้เด็ก เราก็ต้องเข้มแข็งมากๆ เช่น เวลาที่เราบอกให้เด็กแข็งแรง ตัวเราเองก็ต้องแข็งแรงเช่นกัน เพื่อที่เราจะได้ดูแลพวกเขาได้ดีกว่านี้


ถาม เรื่องที่ติดใจ ที่คิดว่าตัวเองล้มเหลว เราพอจะสะท้อนให้ฟังหน่อยได้ไหม

ตอบ เรื่องเพื่อน เป็นเพื่อนที่เราตั้งใจเริ่มงานเยาวชนมาด้วยกัน ผิดใจกันตรงที่เขาไม่เห็นด้วยกับโปรเจคนี้ ทุกอย่างมันก็พังไปหมด หนูไม่เคยเจอเพื่อนที่มีความลับต่อกัน หรืออาจเป็นเพราะเราอยู่ในพื้นที่มีคนที่เราไว้ใจ เราก็เลยเชื่อใจ เราใช้ฐานของหัวใจในการทำงานทุกอย่าง ยิ่งมาทำงานกับเด็ก เราตั้งใจมากและเพื่อนที่เราชวนมาร่วมก็ต้องมีความตั้งใจเหมือนกับเรา แต่สุดท้ายมันก็เกิดปัญหา เรื่องของการน้อยใจ เขาน้อยใจเราหรือเราน้อยใจเขา แต่สิ่งที่เขาแสดงออกคือการโจมตีผ่านสื่อโซเชียล มันรุนแรง ซึ่งเรามองว่า ถ้ามันอยู่ในสถานะคนที่เป็นเพื่อนกันหรือไว้ใจกัน เราก็ต้องเปิดอกคุยกัน เราพยายามเปิดอกคุยหลายรอบ แต่เขาไม่เลย จนรู้สึกว่าหมดหนทางแล้ว จนรู้สึกอีกว่ามันไม่เหลือความเป็นเพื่อนแล้ว เราก็ร้องไห้ ในขณะที่คุย เราเห็นเขาไปถึงข้างในว่าที่ผ่านมาเขาคิดแบบนี้กับเราใช่ไหม ที่ผ่านมาทำงานด้วยกันมานั่งน้อยใจว่าเราไม่ให้เกียรติเขา หรือเรื่องนี้เรารู้แต่เขาไม่รู้ มันเป็นเรื่องเล็กน้อยมากแต่มันก็เป็นปัญหาได้ จึงทำให้เรารู้สึกเสียใจ มันเป็นปมในใจ เราร้องไห้ ไม่กินไม่นอนเป็นเวลา 2 วัน จากนั้นก็ป่วยจนพ่อต้องพาไปโรงพยาบาล หลังจากที่กลับมาจากโรงพยาบาลจิตใจเราแย่มาก เริ่มเก็บตัว ไม่สุงสิงกับใคร ไม่พูดไม่จา เริ่มรู้สึกว่าชีวิตนี้ไม่ใช่แล้ว แต่ก็ยังโชคดีมีเพื่อนอยู่กรุงเทพ หนูบินไปกรุงเทพบ่อยมาก พอเราไปกรุงเทพก็ไม่ได้เอาปัญหาไปนะ แต่เพื่อนจะรู้ว่าเรามีเรื่องไม่สบายใจ เขาพาเราไปเที่ยว พาเราไปปลดทุกข์ เราไปหาพื้นที่ที่มีคนเห็นค่าเราอยู่

มีน้องคนหนึ่งอ่านหนังสือเกี่ยวกับแรงบันดาลใจในการพัฒนาตัวเอง น้องอยากให้เราอ่านหนังสือเล่มนี้ เราก็เอามาอ่านบ้าง จากนั้นเราก็เริ่มฟื้นตัวเอง เริ่มกลับมาเป็นตัวเอง หาพื้นที่ใหม่ๆ ไปอบรม แต่ก็ยังนั่งอยู่ในมุมมืดที่ไม่แสดงความคิดเห็นเหมือนเดิม แค่เอาตัวไปในที่ใหม่ๆ แต่ยังไม่ไว้ใจใคร ยังไม่กล้าพูดคุยหรือแลกเปลี่ยนกับใครประมาณปีกว่า เวลาผ่านไปตัวเราค่อยๆ ฟื้นขึ้นมา ออกไปเจอคนเยอะขึ้น ได้ไปเจอคนที่แย่กว่าเรา จากนั้นเราจึงได้แลกเปลี่ยนและเติมกำลังใจให้กันและกัน ทำให้เรารูว่าความจริงแล้วมันก็คือวัฏจักรของมนุษย์

ถ้าเราได้ทำงานในรูปแบบนี้มันคือการที่เราได้มาเจอสภาพปัญหา ถ้าวันใดเราก้าวข้ามปัญหาไปได้ นั่นคือเราประสบความสำเร็จแล้ว มันจะทำให้เรามีพลังเพิ่มมากขึ้นจนไร้ขีดจำกัด หรืออาจจะเจอบทความที่ดีมันยิ่งเสริมและเติมพลังให้กับเราไปอีก หรือเราไปเจอคนที่เป็นแบบเราและโดนทำร้ายมากกว่าเรา ทำให้เรารู้สึกว่ามีเพื่อน เราไม่ได้เจ็บเจียนตายแบบนี้คนเดียว ยังมีคนที่แย่กว่าเราอีก แต่เขาก็ผ่านมันมาได้ พอมันได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์แล้ว เราก็เลยรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาไปเลย เราแค่ต้องยอมรับ และเดินต่อแค่นั้นเอง


ถาม เราต้องยอมรับกับความเสี่ยงนี้ใช่ไหม

ตอบ ต้องยอมรับว่า และต้องเตรียมพร้อมที่จะต้องเผชิญกับมัน


ถาม มันคือช่วงที่ทำโครงการ Active แล้วรึเปล่า

ตอบ ใช่ค่ะ


ถาม ตอนนั้นบังเชษฐ์ แลบังหยาด ทำอย่างไรบ้าง

ตอบ บังหยาดพูดว่า “เราไม่ได้เกิดมาเพื่อแก้ไขปัญหาบนโลกนี้คนเดียวนะ ” สไตล์โผงผางหน่อย ส่วนบังเชษฐ์เขาไม่พูด แต่เขาเข้าใจเรานะ และเราก็เข้าใจเขาด้วย มันเป็นการสื่อสารภายใน แล้วเราพยายามกลบเกลื่อนปัญหาทุกอย่าง แต่เขามักจะเคาะถูกจุดทุกรอบเลย มีครั้งหนึ่งเราก็หลบหลีก แต่ไม่พ้น เราก็เลยร้องไห้ออกมา


ถาม จุดเปลี่ยนที่ทำให้เราผ่านมาได้ เกิดจากอะไรบ้าง

ตอบ จุดเปลี่ยนอย่างแรกคือคนและสภาพแวดล้อมรอบตัวเรา คนที่ให้ความสำคัญกับเรา เป็นพื้นที่ที่ทำให้เรามีตัวตนและมีคุณค่า สองการเติมความคิด ความมุ่งมั่น และความเชื่อมั่นให้กับเรา เขาพยายามดึงเราออกมา เพื่อให้เราแสดงศักยาภาพตัวเองออกมา แล้วเรากลับมาทบทวนว่า ถ้าวันนั้นเราไม่ทะเลาะกับเพื่อน เราก็จะไม่ได้เจอสังคมนี้ และวันนั้นเราโชคดีที่เราทะเลาะกัน จนทำให้เราเจอคนที่เห็นคุณค่า ไว้ใจเละเชื่อในอุดมการณ์ เชื่อในความตั้งใจ เชื่อในพลังของเรา และยังเสริมความคิดให้กับเราทุกอย่างจากข้างในมาสู่ข้างนอก ทำให้รู้สึกว่าการเติบโตของเรามาจากความโชคร้ายนี่แหละ ที่ทำให้เราเปลี่ยนแปลงมาถึงจุดนี้ได้ ถ้าวันนั้นเราไม่เจ็บปวด ตอนนี้เราก็ไม่เติบโต เราจะไม่รู้ถึงสภาวะภายในที่เรารู้สึกว่าแข็งแรง เราได้ช่วยเหลือคนอื่นอีกมากมาย เมื่อวันนี้เราเป็นแบบนี้แล้ว ก็จะมีรุ่นน้องที่เห็นเราเป็นแรงบันดาลใจ มีน้องคนนึงเดินเข่ามาจับมือ และพูดว่าผมชอบพี่มากเลย ผมอยากเป็นแบบพี่กว่ากูจะมาเป็นแบบนี้ มึงไม่รู้หรอกว่ากูเจออะไรมาบ้าง หัวเราะ เขาเห็นสิ่งที่เราทำ มันไปสร้างแรงบันดาลใจให้เขาทำสิ่งดีๆ ให้กับชุมชน ทำให้เรารู้สึกมีพลัง และได้ไปเจอน้องคนหนึ่งที่เลิกทำงานชุมชน เพราะไปเจอปัญหาที่ผู้ใหญ่มาตัดสินความคิดเขา เขาจึงถ่ายทอดส่งมาที่เราพร้อมร้องไห้ไปด้วย เราบอกเขาว่าประสบการณ์พี่เยอะกว่าน้องอีก เราสะท้อนให้เขาบ้าง สุดท้ายเขาเข้ามากอดเราและเขาตอบกลับมาว่า ขอบคุณนะ จะกลับไปสู้ต่อ ตอนนั้นแหละหัวใจเราฟูมาก เพราะเราได้ส่งพลังบวก เพื่อให้เขาได้กลับไปลุยอีกครั้ง เราเชื่อว่ามันคือวัฏจักรชีวิต ที่เราต้องเจอกับมรสุม และเราก็ต้องผ่านมันไปให้ได้ มันคือขุมพลังงานที่แผ่ไปและส่งต่อพลังให้คนอื่นๆ อีก


ถาม มีโครงการที่ราด้าไปช่วยเป็นพี่เลี้ยงด้วย เพราะพี่เลี้ยงบางโครงการหายไป จากตรงนี้เราคิดว่าบทบาทพี่เลี้ยงสำคัญมากไหม

ตอบ พี่เลี้ยงสำคัญมากๆ เลย ลองนึกว่าตัวเองเป็นเด็ก แล้วอยู่ดีๆ จะให้มาทำโครงการ จะทำยังไง แล้วต้องทำแบบไหน แล้วไปต่ออย่างไร การทำโครงการเลยต้องมีพี่เลี้ยงคอยแนะนำ อย่างน้อยต้องอยู่ให้กำลังใจ เด็กกลุ่มนี้มักพูดเสมอเวลาบังเชษฐ์ถอดบทเรียนว่า อุปสรรคของเขาคือไม่มีพี่เลี้ยง เราก็ต้องไปกระตุ้นเขาว่า ใม่ใช่เราไม่มีพี่เลี้ยง น้องลองสังเกตดีๆ นะ พี่เลี้ยงของน้องไม่ได้มาอยู่ให้น้องเห็น แต่เขาคอย support ตลอด เนื่องจากพี่เลี้ยงคนนี้ ทำงานประจำที่ต่างจังหวัด เวลาที่เขาอยู่เราเห็นเขา support ทุกอย่างเลย ให้คำปรึกษาและคุยกันตลอด แต่เด็กจะรู้สึกว่าเวลามาค่ายมาทำกิจกรรมร่วมกัน เห็นกลุ่มอื่นมีพี่เลี้ยงอยู่ด้วยตลอด แต่กลุ่มตัวเองไม่มี ทำให้เขารู้สึกว่าขาดพี่เลี้ยงไปนะ เราก็เลยเป็นตัวตนให้เขารู้สึกว่า เรานี่แหละพี่เลี้ยงของเธอ เพราะเด็กๆ มีความตั้งใจอยากทำโครงการ เราก็ไปคุยกับพี่เลี้ยงเขาก่อนเขาก็บอกว่าไม่ไหวจริงๆ เราเลยบอกว่าถ้าเด็กอยากทำ เราจะเข้ามาช่วยนะ เขาก็ต้องมาสนับสนุนในส่วนที่เราช่วยและเติมเข้าไป จากนั้นเราจึงกลายเป็นพี่เลี้ยงที่มีตัวตนให้เขา พี่เลี้ยงตัวจริงจะคอยช่วยเหลือและประสานงานภายในชุมชนให้กับเด็ก


ถาม คอลัมน์ Everyone can be an educator เราคิดยังไงกับประโยคนี้ ที่ทุกคนสามารถส่งต่อความรู้ให้ได้ เพราะจากที่เล่ามาพี่เห็นภาพว่าเราเป็นคนที่ไม่ได้รับโอกาส ตอนนี้ได้รับโอกาสและยังเป็นคนที่ส่งต่อโอกาสให้คนอื่นด้วย เราคิดเห็นยังไง

ตอบ ความรู้ที่เราสามารถส่งต่อได้ สิ่งสำคัญคือเราต้องรู้จักตัวเองก่อน ต้องรู้ว่าตัวเองเป็นอย่างไร และมีคุณค่า โดยที่ไม่ต้องเก่งเหมือนใคร เราเคยพูดกับลุงว่า หนูอยากทำงานเยาวชนในชุมชน รอให้หนูพร้อมก่อนนะ แล้วลุงบอกหนูกลับมาว่า “ ทำไมต้องรอหนูพร้อมละลูก แล้วเมื่อไรหนูจะพร้อม ถ้าหนูพร้อมตอนอายุ 40 มันจะไม่สายไปเหรอลูก Learning by doing สิลูก หนูต้องเรียนรู้ไปด้วย ทำไปด้วยสิลูก ค่อยๆ ทำไป ให้เราได้ผ่านการทดลองทำและเรียนรู้ไปเรื่อยๆ

พอฟังลุงพุดปุ๊บเราก็ทำไปด้วยเรียนรู้ไปด้วยนะ แรกๆ เราต้องไปเอาความรู้มาจากคนอื่น แต่ในขณะเดียวกันมีคนสะท้อนมาว่า เขาได้รับความรู้จากเรา เราก็งงนะว่าเราให้อะไรกับคนอื่นได้ด้วยเหรอ โดยที่เราไม่รู้ตัวว่าเราสามารถให้คนอื่นได้ เหมือนประโยคนี้มันสะท้อนมายังเราและเด็ก มันทำให้เราเข้าใจว่าบทบาทพี่เลี้ยงคือผู้ที่ถ่ายทอด แต่วันนี้ในความเป็นเรา เราได้รับมาจากเด็กเยอะมาก ได้รับความรู้ กำลังใจที่เขาเติมให้กับเรา ทุกคนสามารถถ่ายทอดความรู้ให้แก่กันได้แม้แต่เด็กก็ยังถ่ายทอดให้เราได้ในสิ่งที่เด็กมีและสิ่งที่เด็กเป็น เราก็ถ่ายทอดให้คนอื่นได้ในสิ่งที่เรามีที่เราเป็น หรือปราชญ์ชาวบ้านที่เราลงพื้นที่ เขามีความรู้สึกว่าตัวเองเป็นชาวนาที่ไม่มีอะไรเลย เขาแค่ทำนา มีหน้าที่เอากล้าไปปัก แต่เขาคือองค์ความรู้ที่เด็กไปดูดมา ถ้าไม่มีเขาเหล่านี้ เด็กๆ จะไม่รู้วิธีการทำนาเลย


ถาม ก็คือทุกคนมีของๆ ตัวเอง

ตอบ ก็อยากให้ทุกคนรู้ว่าเรามีของ มีประโยคหนึ่งที่บังเอิญได้มาจากการที่หนูไปถามพี่คนนึงว่า “ทำไมพี่เก่งจัง?” ซึ่งเขาไม่บอกหนูแต่กลับหัวเราะ แล้วเขียนในกระดาษว่า “ในตัวคุณมีสิ่งพิเศษซ่อนอยู่” เขาเอากระดาษแผ่นนั้นหยอดลงในกล่องซึ่งกล่องนั้นเป็นกล่องแสดงความคิดเห็น เมื่อหยิบขึ้นมารู้เลยว่านี่คือกระดาษของพี่คนนั้น เพราะหนูติดตามผลงาน ยังอายุเท่าหนูเลย หนูเก็บกระดาษแผ่นนี้ไว้ คิดได้ว่าในตัวของทุกคนมันมีความพิเศษซ่อนอยู่จริงๆ นะ มันกลายเป็นความเชื่อที่อยู่ในตัวเรา ถ้าเราขุดมันออกมาได้ จะเป็นประโยชน์มากๆ มันเลย ทำให้เราอยากช่วยกระตุ้นเด็กเพื่อให้เขาแสดงความพิเศษส่วนนั้นออกมาด้วย


ถาม สงสัยคุณลุงที่บอกเรา learning by doing เขาเป็นใคร

ตอบ เขาชื่อลุงอิมรอน ตอนที่หนูอยู่กรุงเทพ เขาเป็นเครือข่ายภาคประชาสังคมของไทยพีบีเอส ตอนนั้นมีคณะกรรมการมุสลิม แล้วลุงเป็นหนึ่งในทีมงาน เขาก็พาเราไปเรียนรู้งานสื่อมวลชน พอได้มีโอกาสอยู่กับลุง หนูก็เล่าให้ลุงฟัง ลุงก็เลยสะท้อนกลับมาแบบนั้น


ถาม ในใจตอนนี้อยากทำอะไรอีกบ้าง ครั้งที่แล้วบอกพี่ว่าอยากทำศูนย์การเรียนรู้พัฒนาชีวิตทักษะชีวิต

ตอบ อยากมีพื้นที่ให้เด็กได้แสดงศักยภาพ พื้นที่ที่เป็นมากกว่าเสา มากกว่าหลังคา มากกว่าลานกว้างๆ พื้นที่ที่มีกระบวนการเติมศักยภาพให้กับเด็กๆ ได้ ใจจริงอยากมีอาชีพที่ทำงานด้านนี้โดยตรงเลย อาชีพที่หนึ่งตอบโจทย์รายได้ สองตอบโจทย์ความสุข สามตอบโจทย์คุณค่าในชีวิตของเรา เป็นสามสิ่งที่เรารู้สึกว่าเราอยากทำและอยากมี และยังอยากมีโอกาสพัฒนาตัวเอง เรารู้สึกว่ามันยังมีองค์ความรู้มากมายที่เราไม่มีโอกาสไป ด้วยภาระงานประจำที่ทำอยู่ เราแค่ใช้เวลาว่างมาทำงานเด็ก แต่ถ้าเรามาทำงานเกี่ยวกับเด็ก เราก็จะพัฒนาตัวเองได้เยอะกว่านี้อีก มันน่าจะสนุกมากเลยนะ


ถาม อันนี้คือสิ่งที่เราคิด แต่ถ้าเราค่อยๆ ทำได้เราก็ทำเลยใช่ไหม ไม่ได้รอพร้อม

ตอบ ใช่ค่ะ ทุกวันนี้ถ้ามีโอกาสเราก็จะทำทันที ถ้าไม่สะดวกเราก็จะพยายามแหวก ทำทุกวิถีทางเพื่อทำมันให้ได้