จุไรรัตน์ เป็นพนัสสัก : ถอดบทเรียนพี่เลี้ยง โครงการเรียนรู้ รักษ์ สืบสานดนตรีพื้นเมือง

ถอดบทเรียนพี่เลี้ยง โครงการเรียนรู้ รักษ์ สืบสานดนตรีพื้นเมือง

ชื่อ – นามสกุล: จุไรรัตน์ เป็นพนัสสัก อายุ 46 อาชีพ ขับรถรับส่งนักเรียน

ชื่อเล่น: แจ๋ว ธุรกิจส่วนตัว: ค้าขาย และรับส่งนักเรียน



ถาม ทำอาชีพนี้มานานหรือยังคะ

ตอบ 10 กว่าปี


ถาม ค้าขายเป็นหลักใช่ไหมคะ

ตอบ ใช่ค่ะ ค้าขายรับช่วงต่อมาจากคุณพ่อคุณแม่ซึ่งทำค้าขายมากันอยู่แล้ว


ถาม รับส่งนักเรียน ไปโรงเรียนหรือคะ

ตอบ ใช่ค่ะ รับส่งนักเรียนละแวกบ้านจากตำบลทาปลาดุก อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน ไปเรียนในเมือง แล้วรับกลับบ้านตอนเย็น

ถาม จากจากตำบลทาปลาดุกไปในเมืองระยะทางเท่าไร

ตอบ ประมาณ 40 กิโลเมตร ไปกลับประมาณ 80 กิโลเมตร


ถาม ใช้เวลากี่ชั่วโมง

ตอบ พี่จะต้องออกบ้าน 6 โมงเช้าส่งนักเรียนคนสุดท้าย พักรถประมาณ 7 โมงครึ่ง ตอนเย็นไปจอดรับประมาณบ่าย 3 โมง มาถึงบ้าน 6 โมงเย็น เด็กที่รับเป็นเด็กมัธยม


ถาม โรงเรียนเดียวกันไหมคะ

ตอบ ไม่ค่ะ ของพี่รับโรงเรียนมัธยม 3 โรงเรียน จ.ลำพูน เป็นโรงเรียนประจำจังหวัด


ถาม พี่แจ๋วรับส่งนักเรียนมานานแล้วหรือยัง

ตอบ เรื่องรถรับส่งนักเรียนนี้ประมาณ 5 ปีคะ


ถาม ธุรกิจค้าขายเป็นธุรกิจของที่บ้านเลยใช่ไหมคะ

ตอบ ของที่บ้าน ทำมาประมาณ 20 กว่าปีคะ


ถาม ถ้าอย่างนั้นพี่แจ๋วก็ต้องรู้จักทั้งนักเรียนและผู้ปกครองเยอะ เป็นที่รู้จักของคนแถวนั้นใช่ไหม

ตอบ ใช่ค่ะ เพราะว่าตอนทำโครงการกับเยาวชนปี 1 พี่เป็นพี่เลี้ยงโครงการและเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ได้ทำงานร่วมกับชุมชน พอมีงานเยาวชนเข้ามาเลยรับมา แล้วมาหาน้องๆ ละแวกบ้านเข้าร่วมโครงการ เริ่มจากลูกตัวก่อน 2 คน และเด็กๆ ที่นั่งรถไปกับพี่ คนไหนสนใจก็ชวนเขามาทำ


ถาม พี่แจ๋วดูจากอะไรว่าเด็กๆ สนใจ เอาเรื่องลูกของตัวเองทำไมเลือกลูกของตัวเองมาก่อน

ตอบ ตอนแรกมีอาจารย์จากสถาบันหริภุญชัยมาหาผู้ใหญ่บ้าน บอกว่ามีโครงการเกี่ยวกับเยาวชน

เราได้ยินว่าเกี่ยวกับเด็ก เลยอยากให้ลูกทำกิจกรรม ไม่ลังเลตกลงรับโครงการมาทำเลย ไม่ถามว่าต้องทำอะไร ต้องทำอย่างไร ตกลงใจว่าถ้าลูกอยากทำก็ให้ลูกตัวเองมาร่วมด้วย


ถาม ตอนปี 1 ปี พ.ศ. อะไรคะ ที่พี่ทำโครงการครั้งแรก

ตอบ น่าจะปี 2561 คาบเกี่ยวมา 2562 ประมาณนี้


ถาม แล้วถ้าเป็นเด็กคนอื่นพี่แจ๋ว สังเกตความสนใจจากอะไรบ้าง

ตอบ เด็กคนอื่นพี่ก็อาศัยดูจากที่นั่งรถประจำ เรารู้จักเขาอยู่แล้วก็ชักชวนค่ะ คุยรายละเอียดโครงการให้ฟัง

เด็กก็สนใจอยากทำ เด็กถามว่าป้าแจ๋วไปด้วยไหม เราก็อธิบายตามที่อาจารย์แนะนำมา


ถาม พี่แจ๋วช่วยเล่าให้ฟังหน่อยได้ไหมคะ ว่าคุยกับน้องๆ ยังไงบ้าง

ตอบ ก่อนที่จะไปชวนเด็ก ตอนนั้นพี่ก็ยังไม่รู้ลึกๆ ว่าโครงการคืออะไร รอบแรกคุยกันที่บ้านผู้ใหญ่บ้านว่ามีโครงการของมูลนิธิสยามกัมมาจลกับสถาบันหริภุญชัย อยากชวนเด็กเยาวชนทำโครงการเกี่ยวกับเรื่องราวในหมู่บ้านที่เด็กสนใจ เป็นเด็กที่ไม่ได้กำลังเรียนจบชั้น ม.6 เพราะจบแล้วต้องไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยนอกชุมชน อาจมีเวลาทำโครงการไม่เต็มที่และไม่มีคนสานต่อในรุ่นต่อไป พี่เอาข้อมูลแค่นี้ มาคุยกับเด็กในรถตู้ บอกเขาว่าโครงการมีงบมาให้ทำตามหัวข้อที่ชอบ เด็กก็สนใจ แล้วมาคิดกันต่อว่าอยากทำอะไร


ถาม เด็กๆ มีท่าทางหรือท่าทีอย่างไรกันบ้างคะ ตอนที่พี่เล่าให้ฟัง

ตอบ ตอนแรกเด็กๆ สงสัยก็ว่าจะทำที่ไหน ทำอย่างไร ทำประมาณไหน ต้องไปประชุมหรือไปแบบวันเดียวกลับเพราะแถวบ้านคุ้นเคยกับโครงการแบบทำวันเดียวจบ ถ้าพวกเรารับปากว่าจะทำโครงการนี้ก็จะรวบรวมรายชื่อส่งไปแจ้งว่าหมู่บ้านเราสนใจทำโครงการ (8:59)


ถาม พี่คิดว่าอะไรทำให้เด็กๆ สนใจ กระตือรือร้นอยากทำโครงการ

ตอบ อย่างที่พี่บอกไปตั้งแต่ตอนแรกว่าเดิมทีชุมชนไม่มีกิจกรรมให้เด็กทำเลย ส่วนใหญ่เป็นงานของผู้ใหญ่ เช่น อบรมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) อบรมผู้สูงอายุ เป็นกิจกรรมที่ทำวันเดียวจบ ถ้าผู้ใหญ่ไปไม่ครบถึงจะชวนเด็กๆ ไปด้วย พวกเขาเคยชินกับกิจกรรมเป็นครั้งๆ แบบนี้ แต่ไม่ได้เป็นงานของเด็กโดยตรง ที่ผ่านมาเด็กไม่เคยทำโครงการที่ต้องรับผิดชอบเต็มตัวขนาดนี้เลย


ถาม ในบทบาทผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านตอนนั้นที่พี่แจ๋วทำหน้าที่อะไรบ้างคะ

ตอบ ตอนที่พี่เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน พี่ก็จัดอบรม ช่วยทำเอกสาร แบ่งหน้าที่กับผู้ช่วยที่เป็นผู้ชาย ที่จะรับผิดชอบงานหนักๆ ซึ่งต้องใช้แรงงาน แต่ถ้าเป็นเกี่ยวกับเอกสาร การประสานงานติดต่อ พี่เป็นคนรับผิดชอบ

­

ถาม พี่แจ๋วเป็นผู้ช่วยอยู่นานหรือเปล่าคะ

ตอบ ประมาณ 2 ปีค่ะแล้วพี่ก็ลาออก


ถาม เพราะว่าอะไรคะ

ตอบ เพราะว่าพี่มีงานหลายอย่าง ตอนนั้นพี่รับส่งนักเรียนด้วย มักกลับมาไม่ทันเวลาประชุมและช่วยงานได้ไม่อย่างเต็มที่ มีงานที่ต้องไปช่วยสำนักงานพัฒนาชุมชน อำเภอแม่ทา ในนามตัวแทนประธานสตรีตำบล พอทำงานได้ไม่เต็มที่พี่เลยตัดสินใจลาออก


ถาม ตอนที่ยังเป็นผู้ช่วยอยู่พี่แจ๋ว บทบาทหน้าที่ที่พี่แจ๋วได้รับ เป็นเพราะคนอื่นมองว่าพี่แจ๋วมีความถนัดในด้านนั้นใช่ไหมคะ หรือเป็นสิ่งที่พี่แจ๋วเสนอตัวรับผิดชอบด้านนั้น

ตอบ ไม่ค่ะ เกิดจากรวมทีมตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งผู้นำชุมชน เพราะต้องสรรหาทีมงานก่อน ซึ่งตอนมาชวนเราเข้าร่วมทีม เขาบอกเราชัดเจนแล้วว่าหน้าที่ของเราคืออะไร พี่ตอบรับเพราะเป็นงานที่พี่ทำได้ ไม่ได้อยากเกินไป แค่ติดตรงที่ว่า เราไม่สามารถเสียสละมาให้หมู่บ้านได้เต็มที่ เหมือนเอาเปรียบคนอื่นในทีม ถ้าเป็นงานจิตอาสาพี่ก็จะคิดอีกแบบหนึ่ง แต่งานผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เราได้รับเงินเดือน พอทำงานได้ไม่เต็มที่เพราะงานชนกันหลายอย่าง ตัดสินใจออกมาดีกว่า


ถาม กลับมาเรื่องของโครงการ ตอนชวนน้องๆ มาร่วมโครงการนะคะ ส่วนตัวพี่แจ๋วเป็นผู้ปกครองอยู่แล้ว รู้จักน้องๆ เป็นการส่วนตัวอยู่แล้ว พี่แจ๋วต้องแจ้งผู้ปกครองก่อนหรือเปล่าคะ

ตอบ ไม่ค่ะ งานนี้เป็นงานของเด็ก เราต้องคุยกับเด็กๆ ก่อน ที่เด็กๆ จะไปคุยกับพ่อแม่ ถ้าเราไปบอกพ่อแม่เพื่อชวนเด็กๆ มาทำ บางทีพ่อแม่อาจเกรงใจเราแต่เด็กไม่อยากมาทำโครงการก็ได้ พี่เลยใช้วิธีคุยกับเด็กๆ ในรถ ให้เด็กไปอธิบายกับพ่อแม่เอง


ถาม พี่แจ๋วรับส่งน้องๆ เที่ยวละกี่คนคะ

ตอบ 18-19 คนค่ะ


ถาม แล้วแกนนำได้มากี่คนคะพี่

ตอบ 5 คน รวมลูกตัวเอง เป็นเด็กในรถตู้หมดเลย เด็ก 5 คนนี้เขาชวนเพื่อนมาอีก มีกันประมาณ 8-9 คน แต่ที่เป็นแกนนำทำงานตลอดโครงการจริงๆ มี 5 คน


ถาม อะไรที่เป็นเบื้องหลังความคิด ที่ทำให้อยากสนับสนุนให้มีกิจกรรมของเด็กเยาวชนในชุมชน

ตอบ ตอนลูกเรายังเล็กพี่ยังไม่คิด ลูกพี่เป็นผู้ชายพอขึ้นขั้นมัธยม พี่เริ่มคิดว่าน่าจะมีกิจกรรมให้เด็กเยาวชนทำในชุมชน ลูกจะได้ไม่ว่างไปเที่ยวเตร่ เพราะเด็กวัยนี้เริ่มอยากออกไปเที่ยวเล่นกับกลุ่มเพื่อน เลยโพสต์ลงในเฟสบุคของตัวเองว่า ที่ไหนมีกิจกรรมสำหรับเยาวชนหรือว่าเด็กผู้ชายอายุ 13 ปีบ้าง หลังจากนั้นมีเพื่อนมาคอมเม้นแนะนำให้พาลูกไปเรียนพิเศษ พี่เข้าใจลูกว่าลูกพี่ไม่ได้มาแนวเรียนพิเศษ หรือเข้าโรงเรียนกวดวิชา หลังจากนั้นไม่นานก็มีโครงการนี้เข้ามา พี่เลยตบปากรับคำทันที

คนที่แนะนำเป็นครูเกษียณที่เป็นผู้ใหญ่ในชุมชนและได้เข้าไปเป็นคณะกรรมการทำโครงการร่วมกับสถาบันหริภุญชัย ลำพูน ตอนนั้นชุมชนเพิ่งเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านเสร็จใหม่ๆ เขาเลยนำโครงการนี้มาเสนอ


ถาม พอรับโครงการมาทำบทบาทพี่แจ๋ว คือ พี่เลี้ยงโครงการ ตอนนั้นเข้าใจไหมคะว่าพี่เลี้ยงต้องทำอะไรบ้าง

ตอบ แรกๆ ไม่ได้เข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงแก่นแท้ ตอนทำโครงการครั้งแรก (โครงการสืบสานก๋ายลาย สะบัดชัยล้านนา by หละอ่อนป่าตึงเหนือ) พี่ยังคิดว่าหน้าที่ของพี่เลี้ยงคือแค่ไปรับไปส่ง แล้วคอยดูแลเด็ก แล้วก็ยังเข้าใจว่างบประมาณที่ได้มาให้เอาไปซื้อของ ซื้ออุปกรณ์ เครื่องดนตรีต่างๆ แล้วก็เป็นโครงการระยะยาวที่ทำต่อเนื่อง 8 เดือน จนพี่โจ้มาอธิบายให้ฟังอีกครั้งว่าหน้าที่พี่เลี้ยงคืออะไรถึงจะเข้าใจ


ถาม แล้วพี่รู้สึกอย่างไรบ้างคะ หลังจากได้รู้แบบนั้น

ตอบ เราเข้าใจผิด พี่เริ่มสตาร์ทใหม่ จากที่คิดมาตลอดว่างบประมาณที่ได้มาจะเอาไปซื้อชุดฟ้อน ไม้ตีกลอง และอุปกรณ์อื่นๆ พอพี่โจ้บอกว่า ผมไม่สนใจว่าเด็กของพี่จะเก่งแค่ไหน จะฟ้อนสวยแค่ไหน จะตีกลองเก่งแค่ไหน วัสดุอุปกรณ์ของพี่จะขาดอะไร โครงการไม่ได้ให้ความสำคัญกับตรงนั้นเท่าพัฒนาการและความก้าวหน้าทางความคิดของเด็กก่อนและหลังจบโครงการ


ถาม แล้วพี่ผิดหวังไหมคะ

ตอบ ไม่ผิดหวัง พี่ก็เลยบอกเด็กและอธิบายให้เข้าใจว่า งบประมาณที่ได้ไม่ได้มีไว้สำหรับเอาไปซื้อของนะ แต่เราต้องมาบริหารจัดการระหว่างทำโครงการ ตามที่ได้ไปอบรมมาว่าแต่ละขั้นตอนต้องวางแผนทำโครงการอย่างไรบ้าง เช่น ไปประชุมชี้แจงชาวบ้านเพื่ออะไร ต้องทำอะไรบ้าง แล้วมีค่าใช้จ่ายเรื่องไหนบ้าง ต้องการเรียนรู้เรื่องอะไรและพัฒนาตัวเองด้านไหน แบ่งงบประมาณไว้ใช้ดำเนินการเป็นระยะๆ อุปกรณ์ เครื่องดนตรีไม่จำเป็นต้องซื้อใหม่ เพราะสามารถใช้ของเดิมที่มีอยู่แล้ว

ตอนทำโครงการครั้งแรก เด็กๆ เลือกทำโครงการเพราะมีบางคนในกลุ่มตีกลองสะบัดชัยได้ มีพื้นฐานอยู่แล้ว ทีมโคชจากสถาบันหริภุญชัยมาชวนน้องๆ คิดต่อว่า อยากได้อะไรจากการทำโครงการ ค่อยๆ สอนการวางแผนการทำงาน เช่น การหาข้อมูล ทำให้เด็กๆ รู้ว่าควรเริ่มต้นอย่างไร แล้วเดินหน้าไปอย่างไรต่อ


ถาม ระหว่างทำงาน พี่แจ๋ว ชวนน้องๆ วางแผนกันอย่างไรบ้างคะ

ตอบ ตอนทำโครงการปีแรก พี่นำเด็กๆ ทำเลยเหมือนเป็นครูอนุบาล ทำให้เด็กดูแล้วบอกเด็กว่าต้องทำ

แบบนี้ก่อน แล้วค่อยทำตรงนั้น คล้ายๆ ให้เด็กทำตามคำบอก โชคดีที่ได้ไปอบรมพี่เลี้ยงโครงการที่จังหวัดสตูล ทำให้ได้รู้ว่าพี่เลี้ยงควรวางบทบาทตัวเองอย่างไร ทำกระบวนการอย่างไร ที่สำคัญ คือ ไม่ใช่เป็นผู้นำแต่ต้องเป็นผู้หนุนเสริม กลับมาจากสตูลพี่เลยเปลี่ยนบทบาทตัวเอง จากเป็นผู้นำก็ให้เด็กๆ บริหารโครงการเอง แต่เราค่อยๆ เปลี่ยนนะ ไม่อย่างนั้นเด็กจะมีคำถามว่าทำไมช่วงแรกช่วยเต็มที่เลยแต่ตอนหลังมาถอยห่าง

เรามีกลุ่มไลน์ไว้ใช้ติดต่อกันระหว่างทำงาน น้องๆ มีประธานกลุ่ม สิ่งที่เราทำคือเปิดหัวข้อ แล้วชวนคิดกันว่าจะทำอะไรกันต่อ เปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้คิดก่อน หลังจากนั้นก็ให้นัดแนะกันเองว่าจะทำงานกันวันไหน ถ้าเป็นเมื่อก่อนเราจะเป็นคนนัดวันเวลา ตอนเรานัดเด็กๆ มาบ้างไม่มา แต่พอนัดกันเอง เราได้เห็นการติดตามและการเตือนกันในไลน์ อัพเดทกันว่าตอนนี้เดินทางมาถึงไหนแล้ว


ถาม ในตอนแรก พี่แจ๋วคล้ายเหมือนจะเป็นคนคิดให้เลยใช่ไหมคะ

ตอบ ใช่เพราะเราคิดว่าพี่เลี้ยงต้องดูแลเด็กๆ ดูแลแบบประคบประหงมเหมือนแม่ดูแลลูก เป็นเหมือนพี่เลี้ยงเด็กในศูนย์เด็กเล็กซึ่งเป็นความเข้าใจผิด


ถาม ตอนนี้พี่แจ๋วเข้าคำว่า การเป็นพี่เลี้ยงหรือการเป็นโคชอย่างไรบ้าง

ตอบ พี่เลี้ยงคือ คนที่คอยหนุนเสริมให้คำปรึกษา อยู่เบื้องหลังการทำงานของเด็ก ไม่ได้เป็นผู้ชักนำ หรือเป็นผู้ตั้งต้นการทำงานแล้วนำความคิดของเด็ก พี่เลี้ยงต้องไม่ชี้นำเด็ก แต่คอยแนะคอยเสริมด้วยการตั้งคำถามให้เด็กๆ คิดต่อในส่วนที่อาจตกหล่นไป ตอนนี้เราไม่ไปยืนข้างหน้าเด็กแล้ว แต่มาอยู่ข้างหลัง

เด็กๆ กลุ่มใหม่ที่ทำโครงการในปีที่สอง (โครงการ เรียนรู้ รักษ์ สืบสานดนตรีพื้นเมือง) เป็นนักเรียนที่ใช้บริการรถตู้ของเราเหมือนกันแต่เป็นเด็กจาก 3-4 หมู่บ้าน จึงเป็นโครงการในนามตำบลทาปลาดุก ส่วนน้องๆ ที่ทำโครงการในปีแรกหลายคนเรียนจบไปเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย ครั้งนี้ลูกชายคนเล็กของพี่เรียนจบชั้น ป.5 ขึ้น ป. 6 เขาบอกว่าปีก่อนทำงานช่วยรุ่นพี่เป็นเยาวชนแถวสอง ปีนี้อยากเป็นเยาวชนแถวหนึ่ง คือ อยากเป็นแกนนำโครงการ อยากเป็นตัวจริง เลยตัดสินใจทำโครงการต่อ

การทำงานในปีที่สองไม่ค่อยมีเรื่องน่าหนักใจ เพราะเรามีประสบการณ์จากปีแรก ปล่อยให้เด็กเป็นคนคิดวางแผนการทำงาน นัดหมายโดยใช้ไลน์เป็นช่องทางติดต่อ มีความรู้สึกว่าทำงานสบายขึ้น กลุ่มเยาวชนแกนนำในปีที่สองก็ได้รุ่นพี่จากปีแรกมาช่วยด้วย 4 คน ลูกของเรา 2 คนและเด็กเก่าอีก 2 คน กับเด็ก ใหม่อีก 4 คน


ถาม ความแตกต่างของการทำโครงการในปีแรกกับปีที่สองเป็นอย่างไรบ้า

ตอบ ตอนทำโครงการปีแรก มือใหม่ทั้งพี่เลี้ยงและเยาวชน มีความกลัวว่าต้องทำยังไง กลัวงานออกมาไม่ดีทำแล้ว ทำอีก ย้ำคิดย้ำทำ ยกตัวอย่างตอนทำโครงการปีแรก เราเป็นคนสั่งงานให้เด็กไปเก็บข้อมูลจากผู้รู้เรื่องการตีกลองสะบัดชัย เด็กๆ ไปมาเรียบร้อย แต่ได้ข้อมูลไม่ครบอย่างที่ตัวเราคิดไว้ เราถึงขั้นไปหาผู้รู้ไปหาข้อมูลมาเพิ่มเอง เพราะคาดหวังกับเด็กมากเกินไปและเอาตัวเองเป็นบรรทัดฐาน คิดว่าเด็กควรทำได้ดีกว่านี้

แต่ตอนนี้ไม่คิดแบบนั้นแล้ว เราต้องเป็นคนสังเกตว่าเด็กแต่ละคนมีความสามารถไม่เท่ากัน จะไปคาดหวังไม่ได้ และไม่ควรเปรียบเทียบเด็กคนนี้กับเด็กคนนั้น แต่เราควรปล่อยให้เด็กคิดและลงมือทำตามศักยภาพของเขา ดูเด็กเป็นรายบุคคล ดูพัฒนาการตั้งแต่ต้นจนจบ พี่เลี้ยงนี่แหละที่ต้องเรียนรู้ความเปลี่ยนแปลงของเด็ก พอมาทำโครงการปีที่สอง เราคิดว่าโครงการเป็นเครื่องมือให้เด็กได้ทำงานร่วมกัน เด็กได้เรียนรู้และพัฒนาตัวเอง

โครงการ เรียนรู้ รักษ์ สืบสานดนตรีพื้นเมืองมีแกนนำทั้งหมด 8 คน มีคนเล่นเครื่องดนตรี ได้ 2 คน ซึ่งก็เป็นคนที่เล่นเครื่องดนตรีเป็นอยู่แล้ว และที่บ้านมีเครื่องดนตรี บางคนจบโครงการแล้วเล่นดนตรีไม่ได้ หรือตีฉิ่งได้ ไม่ใช่เรื่องสำคัญ เราไม่ได้ต้องการเคี่ยวเข็ญว่าทุกคนต้องเล่นซออู้ได้นะ ทุกคนต้องไปเล่นสะล้อซอซึง แต่การเรียนรู้อยู่ที่กระบวนการทำงาน ทั้งการสืบค้นข้อมูล การรวบรวมข้อมูล ได้รู้สิ่งที่ไม่เคยรู้ เช่น ผู้รู้เรื่องดนตรีไทยในตำบลทาปลาดุก มีใครบ้างและอยู่ที่ไหนบ้าง ได้เข้าใจในสิ่งที่ไม่เคยเข้าใจ ส่วนความสามารถทางดนตรีเป็นผลพลอยได้ เด็กกลับมาเล่าให้เราฟังว่า ไม่น่าเชื่อเลยว่าตาคนนี้เล่นฆ้องวงได้ ขนาดตัวเราเองก็ยังไม่รู้ เราก็ได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กับเด็กด้วย


ถาม แต่ละครั้งน้องๆ ไปทำกิจกรรมไปสัมภาษณ์กับผู้รู้ พี่ไปกับเด็ก ๆ ด้วยไหมคะ หรือ ปฏิบัติแบบไหน

ตอบ ไม่ไป พี่ก็จะดูแผนการทำงานว่าช่วงเวลานี้เด็กๆ ต้องทำอะไร เราบอกให้เขาดูแผนงาน เช่น ช่วงเดือนนี้ต้องไปหาผู้รู้ ต้องใช้เวลากี่สัปดาห์ แบ่งงานกันอย่างไร ไปหาผู้รู้คนไหนบ้าง เด็กๆ มาประชุมกันที่บ้านเรา เราได้ช่วยในเรื่องการโทรนัดแนะผู้รู้ เกริ่นไว้ก่อนว่าจะมีเด็กเข้าไปหานะคะ แนะนำเบื้องต้นว่าเด็กกลุ่มนี้เป็นใคร เรื่องการเดินทางถ้าเป็นผู้รู้ต่างหมู่บ้าน พี่โทรถามเส้นทางให้ก่อนแล้วมาอธิบายให้เด็กๆ ฟัง ส่วนวันจริงเด็กๆ ไปพบผู้รู้ด้วยตัวเอง


ถาม ขั้นตอนต่างๆ ที่ว่ามา พี่มีวิธีคิดอย่างไรว่า เรื่องนี้มีจะช่วยระดับนี้ ตรงไหนพี่จะปล่อย หรือ พี่มีวิธีการประเมินอย่างไร

ตอบ เราเข้าไปมีส่วนร่วมชวนตั้งคำถามตั้งแต่กระบวนการวางแผน แต่ไม่ได้ตามจู้จี้ เด็กๆ มาประชุมกันก่อนที่บ้าน วางแผนเรื่องการไปสัมภาษณ์ผู้รู้ เราก็ชวนถามว่าถ้าไปหาผู้รู้ ต้องทำอย่างไรบ้าง เตรียมอุปกรณ์อะไรไปบ้าง หาข้อมูลเบื้องต้น เขียนหัวข้อและเตรียมชุดคำถาม แล้วแบ่งหน้าที่กันว่า ใครเป็นคนจดบันทึก ใครเป็นคนสัมภาษณ์ ใครเป็นคนบันทึกวิดีโอ ใครเป็นคนถ่ายภาพนิ่ง ขั้นตอนการคิดทั้งหมดนี้เสร็จเรียบร้อยตั้งแต่วันประชุม


ถาม ต่อให้มีการวางแผนแล้ว ยังมีเหตุผลอื่นอีกไหมที่ทำให้พี่แจ๋วคิดว่าไม่ต้องไปกับน้องๆ ก็ได้

ตอบ เราเชื่อมั่นว่าเขาทำได้ บางคนเราเห็นเขาทำงานมาตั้งแต่โครงการครั้งแรก เลยไว้ใจ บวกกับเห็นผลงานที่พวกเขาทำกันมาก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นการแนะนำโครงการในที่ประชุมของหมู่บ้าน เชิญ ผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้านมาเข้าร่วม มีการแบ่งหน้าที่ว่าต้องมีการลงทะเบียน มีพิธีกรนำเวที มีคนเตรียมของว่าง แบ่งหน้าที่กันไป เราเห็นแล้วว่าพวกเขาทำได้ดี เราเลยไม่ห่วงเรื่องการเก็บข้อมูล เพราะมีทั้งคนบันทึก บันทึกไม่ชัดเจนก็ยังมีเสียงที่อัดไว้ นำมาถอดเทปได้


ถาม วิธีการทำงานพวกนี้พี่แจ๋วและน้องๆ เรียนรู้มาจากไหนคะ ว่าควรทำอะไรบ้างขณะไปสัมภาษณ์ เช่น การบันทึก อัดเสียง และถ่ายวิดีโอ

ตอบ เรียนรู้จากการอบรมในเวทีเด็กและพี่เลี้ยงที่มูลนิธิสยามกัมมาจลจัดให้ ทั้งการอบรมพี่เลี้ยงและการพาเด็กไปอบรมสื่อ อบรมมาแล้วก็นำมาใช้ตอนทำงานจริง


ถาม อยากให้พี่แจ๋ว ขยายภาพตอนทำงานร่วมกับน้องๆ ให้ฟังหน่อยค่ะ

ตอบ เลิกเรียนเด็กๆ นัดกันมาประชุมที่บ้าน เราก็เอาแผนงานที่เคยวางแผนกันไว้มากางออก เด็กๆ จะเห็นจากแผนงานว่าเขาต้องทำอะไรต่อ ต้องสืบค้นข้อมูลจากผู้รู้ภายในวันที่นี้ จะเริ่มงานวันไหน ผู้รู้มีทั้งหมด 4 หมู่บ้านจะแบ่งทีมกันไปยังไง ดูปฏิทินเพื่อหาวันเวลาที่ลงตัวก่อน เพราะน้องๆ บางคนทำงานพิเศษด้วย ก็ต้องเลือกวันที่น้องๆ ไม่ทำงาน จังหวะนั้นเราก็ชวนถามว่าไปหาผู้รู้ต้องทำอะไรบ้าง เตรียมอะไรไปบ้าง เด็กๆ จะช่วยกันคิดออกมาเป็นข้อๆ เช่น ชื่อ อายุ พอได้หัวข้อเราก็ถามต่อว่าแล้วแต่ละคนจะทำหน้าที่อะไรกันบ้าง พอกลับมาเขาก็มาเล่าให้เราฟัง ที่จดมาตัวหนังสืออ่านออกบ้างไม่ออกบ้าง เขาก็บอกว่า จดไม่ทันแต่มีบันทึกเสียงไว้นะ ค่อยถอดเสียงนั้นมาใส่ เอารูปเอาวิดีโอมาโชว์ให้เราดู


ถาม ถ้าเป็นเมื่อก่อนวิธีการสื่อสารกับน้องๆ ของพี่ก็ไม่ใช่แบบนี้ใช่ไหมคะ

ตอบ ไม่เลย เราจะบอกเองเลยว่า เวลาไปหาผู้รู้ให้ทำอะไรบ้าง ถามชื่อ อาชีพมานะ อย่าลืมถ่ายรูป อัดวิดีโอมานะ บอกหัวข้อบอกคำถามไปให้เด็กนำไปถาม


ถาม มีความยากและมีปัญหาอะไรระหว่างทำกิจกรรมต่างๆ ในโครงการบ้างไหมคะ

ตอบ ถ้าพูดถึงโครงการในปีที่สองการทำงานร่วมกับเด็กและชุมชนไม่มีปัญหาเลย นอกจากสถานการณ์โควิดที่ทำให้ต่างพื้นที่ไม่มีโอกาสได้รวมกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน เราแก้ปัญหาตรงนั้นด้วยการวิดีโอคอลคุยกัน แต่ไม่หนำใจเพราะไม่ได้ทำกิจกรรมร่วมกันจริงๆ เด็กก็บอกว่าเมื่อไรจะได้ไปเข้าค่าย ไปอบรม


ถาม แต่ถ้าเป็นในกับชุมชน กับผู้ปกครองกับคนอื่นๆ โครงการนี้ไม่มีปัญหาอะไรใช่ไหมคะ

ตอบ ไม่มีปัญหา ผู้ใหญ่ในชุมชนชอบอยู่แล้วที่เด็กๆ มาทำงาน ผู้ปกครองรู้ว่ามาทำงานกับเรา เขาก็ไม่ว่าอะไร เด็กมาทำงานอยู่บ้านเราเหมือนอยู่บ้านตัวเองเลย กิน 3 มื้อ มาแต่เช้ากลับค่ำพ่อแม่หายห่วงถ้ามาอยู่บ้านพี่แจ๋ว


ถาม พี่แจ๋วมีถอดบทเรียนน้องๆ บ้างไหมคะ

ตอบ มี ถอดบทเรียนช่วงท้ายๆ แบบไม่ได้เป็นทางการ เรามีคำถามถามน้องๆ แล้วให้เขียนออกมาว่าก่อนมาและหลังเข้าร่วมโครงการ ตัวเองมีความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง ลักษณะนิสัย ความคิด ยกตัวอย่างเช่น บางคนบอกว่า ก่อนเข้าโครงการเป็นคนขี้อาย พูดในที่ชุมชนไม่ได้ พอได้รวมโครงการแล้วกล้าพูดในที่ชุมชน หรือแต่ก่อนทำเอกสารการเงินไม่เป็น ตอนนี้มีความรู้และสามารถทำได้ แล้วก็ตามถึงผลตอบรับจากผู้ปกครอง น้องๆ ก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่าผู้ปกครองสนับสนุน


ถาม เลยทำให้เราไม่ต้องกังวลไปด้วยใช่ไหมคะ

ตอบ ใช่เลย เราไม่ต้องกังวลว่าพาลูกเขามาเสียเวลา หรือกลัวว่าผู้ปกครองจะบ่น


ถาม ความสัมพันธ์ของน้องๆ ในทีมเป็นอย่างไรบ้างคะ

ตอบ ดีมากค่ะ น้องๆ อยู่ต่างหมู่บ้านก็จริง เหมือนไม่สนิทกันแต่ก็ดูแลกัน เราเห็นภาพของพี่ที่ดูแลน้อง รุ่นพี่ไปรับไปส่งน้องที่บ้าน เด็กสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกันได้เร็วและทำงานได้อย่างไม่มีปัญหา


ถาม น้องในทีม ปี 2 เล่นดนตรีได้แค่ 2 คนใช่ไหม

ตอบ ใช่ น้อง 2 คนนี้เป็นคนเสนอว่าทำโครงการเกี่ยวกับดนตรีพื้นเมืองไหม เพราะตัวเขามีพื้นฐานอยู่แล้ว

และเคยมีวงดนตรีในหมู่บ้านแต่วงแตก เพราะแต่ละคนต่างแยกย้าย ไปเรียนที่อื่น เครื่องดนตรีก็ถูกเก็บไปไว้ในโกดังเก็บของที่วัด เป็นจุดเริ่มต้นให้เด็กๆ คิดว่าถ้าอย่างนั้นก็ลองเอาเครื่องดนตรีมาลองมาเล่นเรียนรู้กันดีไหม แรกๆ เด็กๆ ก็คิดว่าทำโครงการแล้วทุกคนจะเล่นดนตรีได้ แต่พอมาทำโครงการจริงผ่านขั้นตอนต่างๆ พวกเขาได้เรียนรู้ว่าการทำโครงการไม่ใช่แค่การซ้อมดนตรี แต่เป็นการสืบเสาะให้ได้รู้จักดนตรีพื้นเมืองของตำบลทาปลาดุก เช่น มีที่มาอย่างไร ใครเล่นดนตรีพื้นเมืองได้บ้าง การซ้อมเป็นเพียงส่วนหนึ่งของโครงการ


ถาม แล้วน้องๆ ไม่งอแงหรือคะ ที่ไม่ได้เล่นดนตรีจริงจังอย่างที่คิดตั้งแต่แรก

ตอบ บทบาทตรงนี้เราอธิบายให้น้องๆ ฟังว่า เป้าหมายของโครงการนี้ไม่ได้ต้องการให้เล่นดนตรีเป็นเพื่อไปหารายได้ เราไม่ได้กดดันเขาตรงส่วนนี้ ถ้าใครสนใจอยากเล่นก็ชวนกันมาฝึกซ้อมได้ หรือไปเรียนรู้กับผู้รู้ เพราะตอนไปสัมภาษณ์เก็บข้อมูล ผู้รู้บางท่านบอกให้น้องๆ มาเรียนดนตรีกับท่านได้ ส่วนสำคัญคือการกระบวนการเรียนรู้ที่ได้พัฒนาทักษะต่างๆ ให้กับพวกเขาระหว่างทาง


ถาม พี่แจ๋วได้แนะนำให้น้องๆ นำเครื่องมืออะไรไปใช้ในการทำโครงการบ้าง

ตอบ แผนที่ชุมชนและปฏิทินวัฒนธรรม สำรวจว่ามีผู้รู้อยู่ที่ไหนบ้าง และในชุมชนมีการเล่นดนตรีพื้นเมืองในช่วงไหนบ้าง


ถาม เมื่อก่อนพี่คิดว่าตัวเองจะทำแบบนี้ได้ไหม ตั้งคำถามให้น้องๆ ได้คิดต่อ แทนที่จะคิดให้เขาทำ

ตอบ เราไม่คิดเหมือนกันว่าจะทำได้ แต่การอบรมในโครงการสอนให้เรารู้จักการเป็นผู้ฟังที่ดี รู้จักการตั้งคำถามที่ไม่ใช่การถามเพื่อเอาคำตอบโดยตรง เราเลยมาคิดวิธีการ คิดแนวคำถามตามที่ได้อบรมมา


ถาม พี่แจ๋วบอกว่าตอนทำโครงการในปีที่ 2 จะวิเคราะห์เด็กทีละคนแทนที่จะดูภาพรวม วิธีคิดนี้มาจากการอบรมด้วยไหมคะ

ตอบ เป้าหมายการทำโครงการนี้ต้องการสังเกตการเปลี่ยนแปลงของเด็กในทุกๆ ด้าน ทั้งพฤติกรรม ลักษณะนิสัย การเรียนรู้แบบนี้ทำให้เราต้องคอยสังเกตเด็กๆ พี่ไม่ได้บอกน้องๆ ว่าทุกคนจะโดนสังเกตพฤติกรรม แต่เราคอยดูอยู่


ถาม พี่เห็นความเปลี่ยนแปลงของลูกอย่างไรบ้างคะ

ตอบ ลูกชายคนโตเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ทำโครงการครั้ง จากที่ไม่สนใจเหตุบ้านการเมืองเลย ใครจะไปยังไงมายังไงไม่สนโลก มีประชุมกันที่ศาลากลางบ้าน เขาพูดขึ้นมาแบบไม่ไว้หน้าแม่ว่าทำอะไรกันอีกล่ะ เราก็บอกว่าลองอดทนไปกับเพื่อนๆ ไปทำกิจกรรมสนุกนะ พอได้ไปร่วมกิจกรรม เขากลายเป็นคนกล้าแสดงออกมากขึ้น เข้าสังคมได้ ลูกคนเล็กของชอบมาก ถึงแม้ยังเป็นเด็กอายุ 11 12 แต่ชอบการอยู่กับคนในสังคม ปรับตัว ทำอะไรก็ทำแบบคนอื่น มีระเบียบวินัย ถึงเวลาพักก็พัก ถึงเวลาทำงานก็ทำงาน


ถาม มีน้องๆ คนไหนในทีมที่พี่แจ๋วอยากเล่าไหมคะ ที่เห็นความเปลี่ยนแปลงชัดเจน

ตอบ ความเปลี่ยนแปลงชัดเจน คือ บาส ค่ะ เป็นหัวหน้าทีม เป็นน้องใหม่ที่เข้ามาทำโครงการปีที่สอง ดูจากบุคลิกลักษณะภายนอกอาจถูกตัดสินว่าเป็นคนไม่มีความรับผิดชอบ ไม่เอาจริงเอาจัง เหมือนชอบเล่นมากกว่า แต่ไม่น่าเชื่อว่ามอบหมายให้เป็นหัวหน้าทีมสามารถคุ้มทีมได้เลย เวลาเราจะติดต่อประสานงานกับกลุ่มน้องๆ แจ้งผ่านบาสได้เลย แล้วบาสจะไปคุยในไลน์กลุ่มเยาวชนเอง อย่างตอนนัดสัมภาษณ์ผู้รู้ ใครไม่ไป ใครไปช้า น้องๆ จัดการกันเอง ในทีมให้ความเคารพความเป็นหัวหน้าทีมของเขา ถึงแม้ว่าขนาดดีนกับชมพู่ เป็นทำโครงการมาตั้งแต่ปีแรก ก็ยังให้ความเคารพกับความเป็นหัวหน้าของบาส เพราะบาสมีความเป็นผู้นำ ถือว่าให้เกียรติกันและกันในการทำงาน

­

ถาม ถ้าให้พี่แจ๋วนิยามตัวเอง สไตล์การเป็นพี่เลี้ยงของพี่แจ๋วเป็นแบบไหน จากที่เคยชี้นำ ตอนนี้เรียกว่ายังไงดี

ตอบ การเป็นพี่เลี้ยงของเรา คือ หนุนเสริม หรือเรียกว่าดันก็ได้ เพราะเราไม่ได้ชี้นำเขาเหมือนอย่างที่เคยทำก่อนหน้านี้ ซึ่งเราไม่รู้มาก่อนว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เราคอยดันอยู่ข้างหลัง ไม่ใช่โอบอุ้ม คุ้มครอง หรือปกป้อง แต่เพื่อพยุงให้เด็กๆ สามารถทำโครงการไปจนถึงเป้าหมายได้


ถาม จากการทำบทบาทพี่เลี้ยงในโครงการนี้ พี่แจ๋วได้พัฒนาตัวเอง ได้เรียนรู้อะไรบ้าง

ตอบ การพัฒนาตัวเอง อย่างแรก คือ การพัฒนาอารมณ์ ไม่เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง ไม่เอาตัวเองเป็นบรรทัดฐาน ไม่วัดคุณภาพความสามารถของเด็ก ด้วยความคาดหวังของเราเพราะเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน เด็กสมัยเรากับเด็กสมัยนี้ก็ไม่เหมือนกัน เด็กทำงานออกมาได้ตามศักยภาพของเขา อาจไม่ถูกใจเราร้อยเปอร์เซ็น แต่คือโครงการของเขา ที่ผ่านมาเราคิดว่าน้องๆ ทำงานได้ยอดเยี่ยมมาก


ถาม พี่เข้าใจเด็กมากขึ้นยังไงบ้างคะ

ตอบ ความคาดหวังของเราที่มีต่อเด็กลดลง แต่ยังได้มาตรฐานอยู่ ไม่มีความคิดว่าฉันทำได้ดีกว่าเธอ เราเลิกเปรียบเทียบเด็กทั้งกับตัวเองและกับเด็กกลุ่มอื่น เราพึงพอใจในความสามารถของเด็กในระดับที่เขาแสดงออกมา

อย่างน้องดีน ลูกของเราเอง เราไม่บอกว่าดีนต้องมาประชุมทุกครั้งนะ เพื่อนมาบ้านเรา ทำไมดีนไม่ลงมา ทำไมไม่อยู่จนจบ เขาพึงพอใจร่วมแค่นี้เราไม่บังคับ แต่เวลาไปสอบถามหาข้อมูลกับผู้รู้ เขาก็ไปกับทีมทำหน้าที่อัดคลิป แต่ถ้าให้เขามาทำเอกสารการเงินเขาก็ไม่ชอบ ส่วนเนเน่ชอบตอบคำถาม ปฎิภาณไหวพริบดี และทำงานเอกสารได้ ชมพูตอนนี้ยังไม่ค่อยพูด เราก็ไม่บอกนะว่าชมพูอยู่ตั้งแต่ปีที่แล้ว ทำไมยังเป็นแบบนี้ เพราะเขาพูดน้อยต่อยหนัก และจดบันทึกได้ละเอียดยิบ ต้นคือมือโปรในการตัดคลิป เราก็ไม่เอาไปเทียบกับคนอื่น เด็กแต่ละคนมีข้อดีต่างกัน และทุกคนมีดีในตัวเอง อยู่ที่ว่าผู้ใหญ่อย่างเราจะมองเห็นไหม


ถาม เวลาทำงานน้องๆ มีงอนกันบ้างไหมคะ

ตอบ ไม่


ถาม เหมือนกับถ้าคนนี้ทำ คนนี้ไม่ทำ คนนี้ไป คนนี้ไม่ไป แบบนี้คะ

ตอบ ถ้าใครไม่มาหรือไม่ได้ทำ เขาจะจัดการแบ่งงานอย่างอื่นให้ไปทำ ถ้าไม่ไปกลับมาแกต้องทำส่วนนี้นะ


ถาม ถ้าเป็นเมื่อก่อนพฤติกรรมอะไรของที่เด็กทำแล้วพี่จะรู้สึกขัดใจ

ตอบ เรียกมาประชุมยากมาก เพราะเราเข้าใจผิด คิดว่าตัวเองเป็นผู้นำเรียกเด็กมาได้ เด็กก็คงคิดว่าอะไรหนักหนาแต่กว่าเราจะเปลี่ยนตัวเองได้ก็เกือบปลายโครงการครั้งแรกแล้ว


ถาม ถ้าเด็กๆ เรียกรวมตัวกันเอง มีความแตกต่างไหมคะ

ตอบ พวกเขามากันได้และดูสนุกกว่าตอนที่เราเรียกเขามา ใครมาช้าเขาก็ตามตัวกันเอง เรามีหน้าที่เปิดประตูบ้านต้อนรับ


ถาม พี่ชอบหรือไม่ชอบอะไรบ้างคะกับกิจกรรมตรงนี้

ตอบ เมื่อมีโครงการเข้ามา เด็กๆ ได้มีงานทำ ถึงแม้ไม่ได้เป็นงานที่สร้างรายได้รายวันไปเลี้ยงครอบครัว แต่เป็นกิจกรรมที่ช่วยให้เด็กฝึกทักษะ รู้คุณค่าของตัวเอง หลายคนรู้สึกเฉิดฉาย ไปอวดเพื่อนได้ ฉันมีเสื้อสีม่วงนะ เด็กเยาวชนในอำเภอแม่ทาจะได้ใส่เสื้อ Active Citizen สักกี่คน ตำบลทาปลาดุกได้ใส่กี่คน พวกเขาภูมิใจกับสิ่งที่เขาได้รับ


ถาม เด็กหลายกลุ่มนะคะ ที่ชอบพูดแบบนี้ พูดถึงเรื่องเสื้อ ในมุมมองของพี่ พี่คิดว่าเพราะอะไรคะ

ตอบ เด็กก็คิดว่าฉันเจ๋ง ฉันเป็นเยาชนที่ทำงานกับมูลนิธิสยามกัมมาจลแล้วนะ แต่ถ้าใครไม่ได้ทำก็ไม่ได้เสื้อ ฉันเก่ง ฉันทำ บ้านเธอยังไม่มีโครงการนี้ไปเลย ถ้าอยากทำก็มาสิ แล้วเด็กเท่าที่พี่สังเกตแถวบ้าน ไม่ใส่เสื้อนี้ไปเรื่อยนะ จะเก็บไว้ใส่เฉพาะจำเป็นตอนออกงานเยาวชนจริงๆ เด็กชอบเสื้อนี้มาก เท่มากสำหรับเขา


ถาม แล้วตัวพี่เองสนุกไหมคะ ทำโครงการ

ตอบ สนุกค่ะ


ถาม ความแตกต่างจากตอนเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านไหมคะ

ตอบ ความรู้สึกคนละอย่าง ตอนเป็นผู้ช่วยทำงานกับผู้ใหญ่บ้าน ทำงานกับชาวบ้าน ต่างกับตอนทำงานกับเด็กๆ ทำงานกับชาวบ้านต้องระมัดระวัง ใจเขาใจเรา เด็กพูดง่ายกว่า เข้าใจสื่อสารกันได้ง่าย ชอบไม่ชอบเด็กก็บอกตรงๆ มาเลย เด็กไม่มีอะไรลับลมคบใน อยากได้ อยากไป เบื่อ เด็กก็จะบอก ง่ายๆ ไม่ซับซ้อน


ถาม พี่แจ๋ว เป็นพี่เลี้ยงเด็กคนเดียวเลยใช่ไหมคะ

ตอบ จริงๆ มี 2 คน แต่เราเป็นหลัก เพราะอีกคนนึงเป็นครู เขาจะมาช่วยบ้างเป็นบางครั้ง เพราะไม่ค่อยว่าง


ถาม ถ้าไม่นับผู้รู้ที่เด็กๆ เข้าไปถาม ชุมชนได้เข้ามามีบทบาทหรือมีส่วนร่วมในโครงการนี้ยังไงบ้าง

ตอบ ชาวบ้านทั่วไป ผู้ใหญ่บ้าน ตอนที่ประชุม มาฟังเด็กๆ อธิบายโครงการ เขาได้รับรู้ว่ามีโครงการนะ หลายก็บอกยินดีให้ความร่วมมือ มีอะไรให้ช่วยก็บอกได้ ปีก่อนการจัดมหกรรม การถอดบทเรียน มาจัดที่หมู่บ้าน ชาวบ้านชอบกันใหญ่เลย ปีนี้พลาดไม่ได้จัด การมีส่วนร่วมของชาวบ้านเลยมีไม่มากเท่าโครงการปีแนก


ถาม ถ้าไม่ติดสถานการณ์โควิด แผนเดิมตัวโครงการของเรา มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ของชุมชนบ้าง

ตอบ เราวางแผนไว้ว่าจะเผยแพร่โครงการของเราไปชุมชนอื่นด้วย


ถาม จบโครงการครั้งนี้แล้ว พี่อยากทำโครงการต่ออีกไหม

ตอบ ใจเราอยากทำ แต่ตอนนี้เริ่มมองหาเด็กในชุมชนยากขึ้น กลุ่มที่ทำโครงการมาด้วยกันกำลังจะไปเรียนมหาวิทยาลัย 4 คน ที่เหลือเป็นน้องๆ มัธยมต้น ส่วนตัวเรายังสนุกอยู่


ถาม พี่แจ๋ว แล้วพอสุดท้ายเด็กอยู่ครบทุกคนไหมคะ จนจบโครงการ

ตอบ หายไปช่วงท้าย 1 คน เพราะติดโควตาของมหาลัย และน้องต้องทำงานส่งตัวเองเรียน พอรู้ว่าสอบติดโควตามหาลัย น้องเลยต้องรีบไปหางานที่เชียงใหม่เพื่อจะเป็นค่าใช้จ่ายในตอนเปิดเทอม แต่ช่วงที่ทำโครงการน้องก็ช่วยเพื่อนๆ ทำโครงการเต็มที่


ถาม แล้วตอนที่น้องๆ ซ้อมดนตรีกันเอง หรือใครเป็นคนสอนคะ

ตอบ น้องๆ สอนกันเอง คนที่เล่นดนตรีเป็นก็สอนเพื่อนๆ


ถาม พี่แจ๋วบอกว่าชอบสังเกต พัฒนาการณ์ของเด็ก ความเปลี่ยนแปลงของเด็ก พี่แจ๋วเอาวิธีการสังเกตเด็กตรงนี้มาจากไหน ต้องทำอย่างไรบ้าง

ตอบ เรารู้จักเด็กกลุ่มนี้มาก่อนทำโครงการ อย่างน้อย 2 ปี เรารู้ว่าเด็กคนนี้บุคลิก ลักษณะนิสัยเป็นยังไง แต่สุดท้ายตอนทำงานสิ่งที่เราเห็นมาก่อนเป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้นเอง เอามาตัดสินเด็กไม่ได้เลย เหมือนน้องบาสที่ยกตัวอย่างไป วิธีการสังเกตของเราเลยดูว่าเด็กแต่ละคนเปลี่ยนแปลงไปจากที่เคยเป็นอย่างไรบ้างมากกว่า


ถาม เด็กๆ เลือกหัวหน้ากลุ่มกันเองหรือค่ะ

ตอบ ตอนเลือกประธานกลุ่ม น้องๆ เลือกกันเอง เสนอขึ้นมา 6-7 ชื่อ แล้วคุยกันว่าจะให้ใครเป็นหัวหน้า ถ้าเป็นเรามอง เราเลือกดีน ไม่ใช่เพราะเป็นลูกเราแต่เพราะดีนมีประสบการณ์ทำโครงการมาก่อน เรียบร้อย พูดเพราะ แต่เด็กๆ คิดอีกแบบ เขามองว่าบุคลิกของดีนไม่มีใครกลัว เลยเลือกบาสขึ้นมา


ถาม แล้วดีนเสียใจไหมคะ

ตอบ ไม่ๆ เด็กกลุ่มนี้เป็นเพื่อนกัน แก๊งเดียวกัน รักกัน เด็กว่ากันพูดกันไม่เห็นโกรธกันสักครั้งเลยนะคะ บางครั้งได้ยินบางคำพูดน่าจะโกรธกันนะ แต่เป็นคำของเด็กวัยรุ่น เขาไม่โกรธกัน