ชลนิภา ขันสี : บทสัมภาษณ์เยาวชนเด่นโครงการสืบสานภูมิปัญญามีดงามบ้านต้นปัน

โครงการสืบสานภูมิปัญญามีดงามบ้านต้นปัน

ชื่อ-นามสกุล : ชลนิภา ขันสี

ชื่อเล่น : เฟิร์น

โรงเรียน: โรงเรียนบ้านแป้นพิทยาคม ชั้น มัธยมศึกษาปีที่ 4



ถาม : ปกติมีความสามารถหรือว่าชอบอะไรเป็นพิเศษไหม

ตอบ : เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ แล้วแต่วัน บางวันก็กินกับนอน บางวันก็เล่นกีต้าร์ บางวันก็ทำงานถ้าเปิดเทอมมาการบ้านเยอะก็ทำงานส่วนใหญ่


ถาม : เฟิร์นเคยทำงานกับโครงการดีวิถีพุทธมาก่อนหรือเปล่าหรือว่าปีนี้เป็นปีแรก

ตอบ : พึ่งเข้ามาปีนี้เป็นปีแรก เคยร่วมอยู่แต่ว่าเป็นเสี้ยวๆ ตอนท้าย ๆ แล้วก็มาจริงจังปีที่สอง


ถาม : ก่อนหน้าที่ยังไม่ได้มาเข้าร่วมโครงการนี้เราเคยทำงานเกี่ยวกับชุมชนมาก่อนไหม

ตอบ : ไม่เคย


ถาม : แล้วปกติทำอะไรก่อนหน้านี้

ตอบ : ก็เป็นเด็กในชุมชน แต่จะมีงานที่สภาเด็กขอให้ไปร่วมบ้างแต่ถ้าเป็นกิจกรรมในระยะยาวแบบนี้ไม่เคย


ถาม : ยกตัวอย่างให้หน่อยได้ไหมกิจกรรมที่ว่า

ตอบ : จะเป็นอบรมซะส่วนใหญ่ ที่เป็นเกี่ยวกับเพศ เกี่ยวกับคอรัปชั่นต้านทุจริต


ถาม : แล้วเราชอบไหม

ตอบ : มันก็เบื่อ ๆ เพราะว่าวิชาการแต่ถ้าเป็นกิจกรรมที่ได้ออกไปทำข้างนอกก็สนุก


ถาม : แล้วกับชุมชนกับเรา รู้จักคนในชุมชนมากน้อยแค่ไหน ถ้าให้เราวิเคราะห์

ตอบ : รู้จักพอสมควร เพราะชุมชนเป็นชุมชนเล็ก ๆ ที่รู้จักกันอยู่แล้วแต่ว่าถามว่าได้ติดต่อกันบ่อยไหม ไม่ค่อยค่ะ ประมาณว่าต่างคนก็ต่างอยู่ ทักทายกันบ้างบางครั้งบางคราว


ถาม : ที่เฟิร์นอยู่ชื่อชุมชนอะไรคะ

ตอบ : บ้านกอลุง


ถาม : มีประมาณกี่คนที่บอกว่าเป็นชุมชนเล็ก ๆ

ตอบ : ประมาณ 70 หลังคาเรือน


ถาม : เห็นบอกว่าเมื่อตอนปีหนึ่งมาเข้าตอนปลาย ๆ แล้ว ลองเล่าให้ฟังหน่อยไปไงมาไงถึงมาเข้าร่วมกิจกรรมในปีที่หนึ่งได้

ตอบ : พี่นุ๊กนิ๊กแล้วก็พี่ชายอีกคนเป็นเยาวชนสวนพุทธปีที่หนึ่งอยู่แล้ว ทีนี้ไม่รู้เลยว่าพี่คือเขาก็อยู่แถวข้างบ้าน พี่เขามาชวน เขาบอกว่าปีแรกจะทำเกี่ยวกับจิตอาสาพัฒนาวัดในชุมชน ทางพี่ก็จะชวนไปทำความสะอาดแต่ก็ยังไม่รู้ว่าไปทำอะไร อยู่ช่วยทำกิจกรรมแต่ไม่ได้มีบทบาทอะไร เข้ามาช่วงประมาณ workshop ก่อนจะจัดงานมหกรรม แล้วก็ค่อยๆ เรียนรู้ไปว่าเป็นโครงการเกี่ยวกับอะไร


ถาม : ตอนที่เข้ามาตอนนั้นเรารู้สึกอย่างไรบ้าง

ตอบ : ตอนนั้นไม่รู้เรื่องอะไรเลย มันสนุกก็อย่างที่บอกไปว่าชอบการที่ได้ทำกิจกรรมร่วมกับคนอื่น


ถาม : แล้วมีพวกพี่ๆ ตอนปี 1 ที่อยู่ชุมชนเดียวกับเราไหม

ตอบ : เป็นพี่นุ๊กนิ๊ก แล้วก็พี่บิว


ถาม : ตอนปีหนึ่งที่ไปเรามีปัญหาอะไรไหม ทางบ้านโอเคไหม

ตอบ : เหมือนที่บ้านเขาก็ชินด้วยเพราะทำกิจกรรมกับทางสภาเด็กอยู่ด้วย แต่ว่าอันนี้มันเป็นกิจกรรมใหม่ที่ได้ทำ ทางบ้านก็ไม่ได้ว่าอะไรช่วงนั้น ช่วงหลัง ๆ ก็ไม่ได้ว่าอะไรเหมือนกันเพราะว่าเราก็อธิบายว่าไปทำกิจกรรมอะไรบ้าง


ถาม : พอปีหนึ่งจบไปแล้วทำไมเราถึงมาทำกิจกรมในปีที่สองนี้ได้

ตอบ : พี่ปีหนึ่งก็คือพี่บิวเขาขยับไปทำงานร่วมกับสถาบันหริภุญชัย แล้วเด็กในชุมชนค่อนข้างน้อย พี่บิวขึ้นไปมีหน้าที่มากขึ้นก็เลยชวนไปแล้วบอกว่ามันเหมือนของปีที่แล้วแต่ว่ามันเป็นของปีที่สอง แล้วก็รวบรวมเยาวชนเยอะพอสมควรมาทำกิจกรรมในปีที่สอง


ถาม : ตอนนั้นเรามีเหตุผลอะไรที่ตัดสินใจเข้าร่วมกิจกรรมในปีที่สอง

ตอบ : อยากลองทำอะไรใหม่ๆ เพราะว่าปีที่แล้วได้รู้มาว่ามันเป็นโครงการที่ทำในระยะยาวทำกับชุมชนไปเรื่อย ๆ ก็คือยากทำให้เต็มกระบวนการเลยตัดสินใจเข้าปีที่สอง


ถาม : พอตัดสินใจทำกิจกรรมในปีที่สองแล้วเราทำโครงการชื่ออะไร

ตอบ : ปีที่สองเยาวชนดีวิถีพุทธธรรมสืบสานภูมิปัญญามีดงานบ้านต้นปัน


ถาม : ทำไมถึงเลือกทำโครงการนี้เกี่ยวกับมีดเพราะก่อนหน้านี้เราทำเกี่ยวกับจิตอาสาแล้วทำไมปีนี้ถึงมาทำโครงการนี้

ตอบ : เพราะว่าเราประชุมกันก่อนว่าแถว ๆ พุทธธรรมมีชุมชนไหนหรือว่าพื้นที่ของเราเองมีจุดดี จุดเด่นที่ไหนบ้างชุมชนของเฟิร์นมันไม่ค่อยมีอะไรอยู่แล้ว ชาวบ้านก็ใช้ชีวิตปกติ ไม่มีอะไรดึงดูดแต่จะมีชุมชนใกล้เคียงที่เขาเด่นในเรื่องมีดในจังหวัดลำพูน ถ้าเป็นมีดดั้งเดิมหรือใช้วิธีการดั้งเดิมจะเป็นชุมชนบ้านต้นปัน แต่ปัจจุบันไม่ค่อยเป็นที่รู้จักเลยอยากจะสืบสานให้มีการโด่งดังขึ้นมาอีกรอบหนึ่ง


ถาม : ตอนที่เราบอกว่าประชุมกัน ใครเป็นคนชวนประชุม พี่เลี้ยงชวนหรือว่าเราชวนคุยกันเอง

ตอบ : พี่เลี้ยงแล้วก็ที่ปรึกษารวบรวมเยาวชนแล้วก็ประชุมปรึกษาหารือกัน


ถาม : ตอนที่ประชุมหาจุดเด่นของพื้นที่ใกล้เคียงเราใช้เครื่องมืออะไรในการหาไหม

ตอบ : ตอนนั้นช่วยกันระดมความคิด ทุกคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าอยากให้มีดชุมชนบ้านต้นปันเพราะว่าถ้าทั่วไปอีกชุมชนก็แค่รีไซเคิลขยะขายก็ไม่ค่อยน่าสนใจเพราะเป็นเรื่องทั่ว ๆ ไป แต่ว่าอันนี้ดูโดดเด่นที่สุดทุกคนก็คิดเหมือนกัน


ถาม : พอเราได้โครงการมาแล้วเรามีเป้าหมายในการทำโครงการนี้คืออะไร

ตอบ : มีแต่คนแก่ๆ ที่เขาตีมีด แล้วลูกหลานเขาพอทำได้แต่ไม่สืบสานต่อแล้ว บางคนออกไปทำงานนิคมอุตสาหกรรม บางคนย้ายออกไปเรียนต่างจังหวัด เราเป็นเด็กในชุมชนที่กำลังเรียนอยู่ในพื้นที่ไม่ได้ออกไปไหนไกล เลยเข้าไปศึกษาวิธีการทำ กระบวนการทำมีด อย่างน้อยเราก็เป็นเด็กรุ่นใหม่ที่ได้เข้าไปเรียน เป็นการเพิ่มคนที่จะเข้าไปเรียนรู้กับคนแก่ ไม่ถึงกับตีออกมาขาย แต่ไปเรียนรู้กระบวนการ วิธีทำ ความเป็นมา


ถาม : กลุ่มเป้าหมายที่เรากิจกรรมด้วยคือใคร

ตอบ : เยาวชนที่อยู่พื้นที่อื่นอยากให้เขารู้และเพื่อนในโครงการอื่น ๆ อยากให้เขารู้จักเพราะเขาก็ไม่เคยรู้มาก่อน พอเราทำโครงการเขาก็ได้เรียนรู้ และรู้จักมีดต้นปันมากขึ้น


ถาม : พอเราได้โครงการแล้วเรารับหน้าที่อะไรในโครงการนี้

ตอบ : เป็นเจ้าหน้าที่บัญชี


ถาม : เพื่อนเป็นคนเลือกหรือว่าเราเลือกเอง

ตอบ : เพื่อนเลือก


ถาม : เพื่อนบอกเหตุผลไหมทำไมถึงให้เราเป็นเจ้าหน้าที่บัญชี

ตอบ : เหมาะสมที่จะอยู่ในด้านคณิต คิดเลขมากกว่า


ถาม : เพราะอะไร เพราะเราเก่งคณิตหรอ

ตอบ : ก็พอได้แต่ว่าไม่ได้เก่ง เพื่อนๆ ก็รู้อยู่แล้วว่าเวลามีงานที่โรงเรียนก็จะแข่งคณิต มีความเชื่อใจในระดับหนึ่ง


ถาม : แล้วเราทำได้ไหม ยากหรือว่าพอทำได้

ตอบ : สำหรับตัวเองคิดว่ายาก เพราะว่าไม่เคยทำ เป็นตาราง ๆ ต้องคอยจดบันทึกทุกครั้ง ไม่เคยทำเลย พอถึงเวลาจริง ๆ ที่ต้องมาสรุป มาวิเคราะห์ขั้นตอนสุดท้ายนี่คือยากแต่ก็ทำได้


ถาม : เคยทำมาก่อนไหม

ตอบ : ไม่เคยทำเลยค่ะ ทุกอย่างที่ทำครั้งแรกหมดเลย


ถาม : อะไรบ้างที่เป็นครั้งแรกสำหรับเรา

ตอบ : บัญชี การเข้าถึงชุมชน การพูดแบบทางวิชาการกับคนในชุมชนเพราะคนในชุมชนก็ไม่เคยเห็นเราพูดแบบวิชาการมาก่อน


ถาม : อยากให้เราเล่ากิจกรรมที่เราทำในโครงการว่ามีกี่กิจกรรมบ้าง

ตอบ : พอเราประชุมเริ่มต้นการที่เราจะเริ่มโครงการแล้ว เราก็รวบรวมเยาวชน เราจะมีผู้นำชุมชนที่เป็นผู้ใหญ่ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านมาอธิบายข้อมูลคร่าวๆ ของโครงการ ครั้งแรกเราเปิดโครงการก่อนเราก็ชวนคนในชุมชนมาฟังเกี่ยวกับการบรรยายเรื่องราวต้น ๆ ที่จะทำโครงการ ขั้นตอนต่อมาเราลงพื้นที่เก็บข้อมูลว่าแต่ละหลังในชุมชนมีบ้านที่กำลังตีมีดอยู่ไหม มีกี่เตาเหล็ก กลับมารวบรวมข้อมูลที่สืบค้น มีประวัติด้วย ในชุมชนเราทำกันอยู่กี่หลัง ลงพื้นที่เก็บข้อมูลครั้งที่สองเรียนรู้เกี่ยวกับวัสดุอุปกรณ์การตีมีด แล้วกลับมารวบรวมอีกครั้ง จัดหางบประมาณในการซื้อของ ต่อไปเราก็ลงมือเข้าไปเรียนรู้ขั้นตอนการทำทีละขั้น การทำมีดแต่ละลาย การทำมีดแต่ละแบบ เราจะทำอย่างนี้อยู่ประมาณสามสี่รอบ เข้าไปเรียนรู้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อัพเลเวลการทำเพราะการตีมีดมีหลายแบบมาก ครั้งสุดท้ายจะปิดโครงการเลย จะมีงานมหกรรม ก่อนงานมหกรรมพวกเราได้ไปออกบูธ กับกลุ่มตีเหล็กบ้านต้นปันเที่สถาบันผ้าทอหริภุญชัย พวกเราก็ไปเข้าร่วมด้วย เข้าไปร่วมขายมีด โปรโมทมีด การทำแผ่นพับ แผ่นป้ายไวนิลไปจัดแสดงโชว์

ช่วงโควิดจะเป็นช่วงที่เราปิดโครงการในส่วนนี้เราไม่สามารถรวบรวมคนได้เป็นจำนวนมาก ขอแค่ไม่ถึง 50 ประมาณ 10-20 คนมาเข้าร่วมกิจกรรมของเรา ใช้มาตรการเว้นระยะห่าง ตรวจวัดไข้ก่อนเข้าร่วมเวทีปิดโครงการ มีการทำเฟสชิว แจกหน้ากาก แจกเจลแอลกอฮอล์


ถาม : ตอนที่เรารวบรวมเยาวชนหมายถึงเยาวชนในชุมชนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหรือว่าทีมของเรา

ตอบ : จะมีเยาวชนปีที่หนึ่งที่เป็นเยาวชนสวนพุทธไม่จำกัดชุมชน สามารถรับหลายๆ พื้นที่เข้ามาได้ ในปีแรกจะมีอยู่ประมาณสองสามคน ส่วนมากเขาจะมีแต่ผู้ใหญ่ที่มาปฏิบัติธรรม เยาวชนเป็นส่วนน้อย มีปีที่หนึ่งแล้วก็น้องปีที่สอง มีคนรู้จักที่อยากชวนร่วมทำที่ไม่ใช่ในชุมชนเข้ามาเป็นเยาวชนดีวิถีพุทธ


ถาม : ตอนนั้นได้ประมาณกี่คน

ตอบ : ได้ประมาณ 10 กว่าคน


ถาม : เราใช้วิธีการอย่างไรในการรวบรวมกลุ่มเยาวชน

ตอบ : ที่รวบรวมก็คือสนิทกันอยู่แล้ว มาเล่าโครงการของเราว่าปีที่แล้วทำอะไร ปีนี้ทำอะไรเขามีความสนใจมากเพราะว่าได้ออกไปผจญภัยสิ่งใหม่ ๆ ในการทำกิจกรรม เหมือนที่เราคิดว่าอยากจะลองทำสิ่งใหม่ๆ ในโครงการนี้


ถาม : กิจกรรมนี้มีปัญหาอะไรไหมหรือว่าราบรื่นดี

ตอบ : เยอะมาก หนึ่งเวลาว่างที่ไม่ตรงกัน เยาวชนช่วงวัยค่อนข้างห่างกัน อีกคนจะไปเรียนต่อเตรียมที่จะไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยมีเรียนพิเศษด้วย เพราะว่าเรียนคนละโรงเรียน การเรียนแต่ละโรงเรียนไม่เหมือนกัน หาเวลาว่างได้ก็คือวันเสาร์วันอาทิตย์ ปัญหาอีกอย่างคือพี่เลี้ยงของเรามีงานที่เยอะ แทบไม่ค่อยได้มาเลย ส่วนมากเป็นที่ปรึกษาพี่นุ๊กนิ๊กจะคอยช่วยอยู่เบื้องหลัง


ถาม : แล้วช่วงอธิบายโครงการให้กับชุมชนเราใช้พื้นที่ไหนทำกิจกรรม

ตอบ : บ้านต้นปันเพราะว่าเราทำโครงการที่บ้านต้นปัน เชิญชาวบ้านในชุมชนมาอธิบายโครงการ เขาจะรู้อยู่แล้วเราอธิบายคร่าวๆ ว่าเราทำความรู้เกี่ยวกับการตีมีดนะ แล้วเขาทราบอยู่แล้วเพราะว่าเป็นชุมชนที่เขามีการทำมีดอยู่แล้วเขาก็รู้จักกันหมด


ถาม : ผลตอบรับเป็นอย่างไรบ้าง

ตอบ : ดีนะคะ แต่ว่าเขาไม่ค่อยเชื่อมั่นในตัวเรา เขาจะพูดว่าเด็กอย่างนี้เนี่ยนะจะมาแค่แป๊บ ๆ หรือเปล่า เดี๋ยวก็ละเลยไม่ใช่มาช่วยตีขายเขาก็ไม่ค่อยเชื่อมั่นเท่าไหร่ อันนี้ในส่วนน้อย แต่ส่วนมากเขาก็ชื่นชมคาดหวังกับเราด้วย


ถาม : แล้วตอนที่เราได้ยินตอนที่เขาบอกว่าจะมาทำจริงจังเหรอ เราได้ยินแบบนั้นเราท้อไหม

ตอบ : ไม่ค่ะ เราเข้าใจเพราะขนาดเพื่อน ๆ ที่รู้จักในชุมชนเป็นลูกหลานของคนตีมีดต้นปันก็ยังละเลยภูมิปัญญาที่มีอยู่ เลยไม่รู้สึกท้อเมื่อชาวบ้านมองว่าพวกเราจะเข้ามาทำโครงการแค่ผ่านๆ แล้วหนีหายไป แต่อยากทำให้เขาเห็นว่าเราไม่ได้เข้ามาเพียงช่วงแรก ๆ จะพยายามพัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ


ถาม : อันนี้คือเขาพูดให้เราได้ยินเลยเหรอ

ตอบ : ประมาณบ่นเบาๆ กัน ยืนพูดกันว่าจริงเหรอ จะมาทำจริงๆ เหรอ ไม่ไปไหนใช่ไหมกลัวหนีหายไปเลย


ถาม : ในเวทีนี้ใครเป็นพูดคะ ใครทำอะไรบ้าง

ตอบ : หัวหน้าโครงการ ทำโครงการมาตั้งแต่ปีที่หนึ่งเป็นคนอธิบาย พูดสานต่อจากปีที่หนึ่งมาปีที่สองได้ ยืนอธิบายเล็ก ๆ น้อย ๆ


ถาม : ก่อนจะไปลงพื้นที่เรามีการแบ่งบทบาทกันก่อน แล้วอย่างเฟิร์นรับหน้าที่ทำอะไร

ตอบ : ตอนนั้นก็ยืนเพราะว่าเราไม่ค่อยรู้เรื่องเลย เริ่มๆ มาเราก็ไม่ค่อยรู้เรื่องเท่าไหร่ เราเป็นหนึ่งในนั้นที่เข้าร่วมการประชุมเพราะจะเข้าไปทำโครงการ คอยพูดอะไรที่หัวหน้าของเราขาดตกบกพร่องไป


ถาม : ตอนนั้นความรู้สึกขนาดเป็นแค่คนเสริมเรารู้สึกอย่างไรบ้าง

ตอบ : เราไม่เคยทำอะไรแบบนี้แบบจริงจัง ไม่เคยพูดกับชาวบ้านอะไรแบบนี้ ชาวบ้านเขาก็ดูภูมิใจเพราะเขาก็ไม่เคยเห็นเราพูดอะไรแบบนี้


ถาม : เปิดโครงการเราทำกิจกรรมอะไรกันบ้าง

ตอบ : ก็ไปอธิบายเกี่ยวกับโครงการว่าถ้าเป็นไปได้เวลาลงพื้นที่อยากขอชาวบ้านที่อยากที่เรียนรู้การตีมีดที่ไม่เคยทำเลย สามารถเข้ามาร่วมได้


ถาม : ตอนลงพื้นที่เก็บข้อมูลในชุมชนในทีมเราแบ่งบทบาทหน้าที่กันอย่างไร

ตอบ : ก่อนไปเราเตรียมเนื้อหาไว้แล้วว่าจะไปลงพื้นที่ศึกษาเกี่ยวกับอะไร แล้วแบ่งบทบาทหน้าที่ เลขามีหน้าที่จด หัวหน้าโครงการมีหน้าที่ไปสอบถามหรือว่าอธิบายโครงการ ที่เหลือคอยไปเรียนรู้กับเพื่อนๆ ในกลุ่ม


ถาม : แล้วตอนนั้นเฟิร์นทำหน้าที่อะไร

ตอบ : เรียนรู้กับพี่ ๆ ในกลุ่ม สอบถามบ้างถ้ามีอะไรที่สงสัยก็จะสอบถาม เพราะว่าลุงเขาเป็นกันเอง


ถาม : แล้วข้อมูลหลัก ๆ ที่ตั้งใจว่าจะลงไปเก็บตอนนั้นจะลงไปเก็บเกี่ยวกับอะไรบ้าง

ตอบ : ผู้คนที่ยังหลงเหลือที่ยังตีมีดอยู่ในชุมชนในบ้านแต่ละหลัง และการซื้อขายมีดในปัจจุบันเขาสามารถเอามีดของเขาไปขายที่ไหนบ้าง มีพ่อค้าแม่ค้าคนกลางไหม


ถาม : ทำไมเราต้องรู้เรื่องการซื้อขาย เกี่ยวกับอะไรพวกนี้ด้วย

ตอบ : มีด ตอนนี้เขาหาซื้อในห้างก็ได้แล้วแต่มันก็ไม่ทน มีคนส่วนมากที่เขาตามหามีดที่คงทน ดั้งเดิม คม ใช้งานเหมือนสมัยก่อนไม่เหมือนการทำโดยใช้เครื่องจักรที่มันไม่ทน ขายได้ราคาดี ส่วนมากเขาไปขายในตลาดวัว ในออนไลน์และตลาดทั่วไปที่ผู้คนไปเดินมาก ๆ ยังไม่มี


ถาม : ที่นี่เขาขายด้ามละเท่าไหร่ ถูกหรือแพง

ตอบ : 120 – 200 ถือว่าถูก อันนี้คือมีดที่ทั้งตีแบบเผาเหล็กทีละนิด ๆ แล้วก็ไปตีแล้วก็ไปเหลาด้าม แล้วไปฝนยางคั่งทุกขั้นตอนเลยไม่ได้ใช้เครื่องจักรเลย เพราะว่าแต่ละด้ามก็ประมาณหนึ่งถึงสองชั่วโมงกว่าจะได้


ถาม : ตอนที่เราลงไปเก็บข้อมูลรอบแรกเราไปทำกับใครบ้าง

ตอบ : ทำกับเพื่อนๆ มีอยู่ 6-7 คนที่เข้าร่วม


ถาม : แล้วคนในชุมชนที่เราไปหาข้อมูลมีใครบ้าง ได้ประมาณกี่คนวันนั้น

ตอบ : ประมาณ 6-7 เตาที่หลงเหลืออยู่ในชุมชน เราเข้าไปทุกบ้านเลย


ถาม : เรารู้อยู่แล้วว่าอยู่ตรงไหนบ้างหรือว่าเราไปถามใคร

ตอบ : ที่จริงไม่รู้ พวกเรารู้จักเฉพาะกลุ่มที่เป็นกลุ่มตีเหล็กหลักๆ ในชุมชน พอไปแล้วก็ได้รับคำแนะนำต่อไปเรื่อยๆ เเขาจะบอกว่าบ้านลุงคนนี้ตีนะลองไปดู บ้านนี้ก็ตีลองไปดู จากเดิมเรารู้แค่สองสามหลัง หลังจากวันนั้นที่ลงพื้นที่ก็คือเราได้รู้เพิ่มอีกหลายหลังเลยค่ะ ทีแรกเดินไปอยู่ดี ๆ แล้วตอนนั้นถ่ายคลิปเล่นๆ กัน มีลุงคนหนึ่งเขาเดินออกมาแล้วบอกว่าให้เราลองมาถ่ายบ้านลุงสิ บ้านลุงตีเหล็กนะ ก็พึ่งรู้เหมือนกันว่าบ้านลุงเขาก็ตีเหล็ก


ถาม : ตอนแรกที่ไปกะว่าจะได้กี่บ้าน

ตอบ : สามหลัง


ถาม : แล้วพอไปกลับมาได้กี่หลัง

ตอบ : 7 หลังค่ะ


ถาม : ข้อมูลที่ได้ ได้ตามที่เราต้องการไหม

ตอบ : ได้ค่อนข้างครบเลย บางส่วนเราอาจจะสื่อสารกับลุงไม่รู้เรื่องเราก็ไม่กล้าไปถามย้ำ ๆ แต่ละคนก็คือ 50 ขึ้นที่ยังทำอยู่


ถาม : แล้วเรามีปัญหาหรือว่าอุปสรรคอะไรบ้างในการไปลงพื้นที่ครั้งนี้

ตอบ : จะมีเป็นบางหลัง แต่ก็เหมือนๆ กันเพราะว่าลุงเขาก็เต็มใจที่ให้คำปรึกษา ให้วิธีการ


ถาม : ลงพื้นที่ประมาณสามรอบเราไปลงพื้นที่หลังเดิมไหม

ตอบ : หลังเก่าค่ะ เพราะว่าลุงเขาทำทุกวันอยู่แล้ว แต่บ้านหลังอื่นเขาทำแค่ช่วงเวลาว่าง เพราะว่าบ้านหลังอื่นอาจจะมีการตีสิ่ว ตีเป็นกรรไกร เป็นจอบ แต่ว่าที่เราลงลึกคือบ้านที่ตีมีด


ถาม : เรามีการใช้เครื่องมืออะไรในการช่วยเก็บข้อมูลบ้างไหม

ตอบ : มีการจดบันทึกและถ่ายรูปไว้ อุปกรณ์ ป้ายที่เขาติดไว้เพราะว่าเหมือนเขาเป็นแหล่งเรียนรู้ด้วย แผ่นพับเราก็เก็บของเขามาด้วย เก็บมาศึกษาต่อ อัดเสียงเล็ก ๆ น้อย ๆ


ถาม : มีทำแผนที่ชุมชนด้วยไหม

ตอบ : ทำอยู่ค่ะ เป็นแผนที่เกี่ยวกับบริเวณในชุมชน แผนที่ทั้งหมู่บ้านเลย เราจะมาร์คไว้ว่าบ้านไหนที่ตีเหล็กบ้าง


ถาม : แล้วการทำแผนที่มันช่วยให้เราเข้าใจเรื่องอะไรบ้าง

ตอบ : ทำให้เรารู้ว่าในช่วงทั้งหมู่บ้าน ระยะของการตีมีดหมายถึงว่าบ้านแต่ละหลังบริเวณไหนมีการตีมีดมากที่สุด เราจะได้รู้สาเหตุด้วยว่าบ้านที่เขาไม่ได้ตีเพราะอะไร สมมุติว่าบ้านบริเวณนี้ไม่ได้ตีก็คือส่วนมากคนบริเวณนี้ทำงานนิคม หรือว่าอยู่ต่างจังหวัด ทางนี้ก็จะเป็นของคนที่ผู้เฒ่าผู้แก่อยู่

 

ถาม : ตอนที่เราทำแผนที่เราทำช่วงไหนของโครงการ

ตอบ : ช่วงกลางๆ โครงการเลยค่ะ


ถาม : ทำไมตอนนั้นเราถึงคิดว่าจะต้องทำแผนที่

ตอบ : ด้วยความที่เด็กที่ทำโครงการไม่ใช่เด็กในชุมชนบ้านต้นปัน แต่เราต้องการที่จะศึกษาเกี่ยวกับชุมชนบ้านต้นปันเพื่อให้เด็กในโครงการคุ้นชินกับชุมชนมากยิ่งขึ้น


ถาม :แล้วเราเอาแผนที่นั้นไปใช้ประโยชน์อะไรต่อไหม

ตอบ : แผนที่นั้นทำที่บ้านพี่ข้างๆ ตอนนี้ถ่ายรูปเก็บไว้ในเล่มรายงาน


ถาม : คิดว่าจะเอามาใช้ประโยชน์ต่อได้ไหม

ตอบ : ใช้ได้แต่ว่าความชัดเจนของพื้นที่ไม่ค่อยเท่าไหร่ ไม่ค่อยสวย


ถาม : มีตอนลงพื้นที่ครั้งที่สาม ตอนลงพื้นที่ทำมีด ทำไมเราถึงต้องลงไปทำด้วยเพื่ออะไร

ตอบ : การที่เราลงพื้นที่ครั้งแรกกับครั้งที่สองเราไปดูแต่ไม่ได้ลงมือทำจริง ๆ เลยมองภาพไม่ออก ลุงแค่ยกมาบอกแต่ไม่ยังไม่ได้ให้ทำ เพราะว่าช่วงนั้นเยาวชนในโครงการไม่ค่อยมีเวลา ปุ๊บปั๊บไปลงพื้นที่ไปเก็บข้อมูลก่อน แล้วพอครั้งที่สามมาก็ลงมือตี ไม่เชิงว่าลงมือตี แต่ว่าเรารู้ขั้นตอนอย่างละเอียด จนได้ด้ามมีดมาหนึ่งด้าม


ถาม : ไปเรียนกับคุณลุงชื่ออะไร

ตอบ : คุณลุงฆะ ยี่ห้อมีดของเขาที่ดังไปทั้งลำพูนด้วย เราเลยเน้นมาที่ลุงมากกว่า


ถาม : ตอนนั้นเป็นอย่างไรบ้าง เจอปัญหาหรือว่าอุปสรรคอะไรบ้างในกิจกรรมนี้

ตอบ : สถานที่ไม่ค่อยสะดวกที่จะทำกิจกรรมเพราะว่ามันเป็นเตาเหมือนกับว่ามีเสาแล้วก็เหมือนเป็นกระท่อมค่อนข้างต่ำแล้วก็แคบด้วย เด็กก็เข้าไปอัดๆ ก็ต้องค่อยๆ เข้าไปศึกษาทีละจุด ๆ แบ่งๆ กันเข้าไปศึกษา


ถาม : เยาวชนที่เข้าไปลองทำมีกี่คนถึงไม่พอ

ตอบ : ช่วงที่เข้าไปรอบที่ไปตีมีดตอนนั้นมีเพื่อนมาด้วยเพราะว่าเราชวนเพื่อนมาก็ประมาณ 10 กว่าคนรวมพี่เลี้ยงประมาณ 15 คน มันเล็กแล้วก็ต่ำด้วย เด็กช่วงนี้ตัวสูงกันมากหัวชนบ้างก็มี สถานที่ไม่ค่อยสะดวกเท่าไหร่


ถาม : เรามาทำกิจกรรมรอบนี้แล้วรอบที่สามเราสังเกตไหมว่าคนในชุมชนเขาเริ่มมองเราเปลี่ยนไปไหม

ตอบ : มองเปลี่ยนไปเพราะว่าช่วงที่ทำโครงการเราเข้าไปอยู่ในชุมชนบ่อยมากก็คือเป็นชุมชนใกล้เคียงเขาก็เห็นเราอยู่ในชุมชนนั้นบ่อยมาก เขาก็เข้ามาแวะเวียนถามบ้างแต่ไม่ได้เข้ามาร่วมกิจกรรมเพราะว่าเขาชินแล้ว ก็ปล่อยให้เด็กเขาทำไป


ถาม : ตรงกิจกรรมออกบูธไปไงมาไงลองเล่าให้ฟังหน่อย

ตอบ : ตอนนั้นมีงานจัดนิทรรศการผ้าทอของทางสถาบันวิจัยผ้าทอ กลุ่มตีมีดไปออกบูธกันอยู่แล้วประจำเวลามีงาน ช่วงนั้นเราทำกิจกรรมอยู่พอดี ก็เลยชวนกันไปช่วยลุงออกบูธ ตอนนั้นไม่ได้มีแค่มีดแต่มีทุกอย่างที่เขาตีหมดเลย เราก็ได้ไปเรียนรู้ว่าเขาก็ยังมีการออกงานออกบูธของเขา เบื้องหลังของเขาอีกอย่างก็คือมี อบต. มาช่วยสนับสนุนกลุ่มตีเหล็กนี้อยู่ เราก็ช่วยสนับสนุนอีกทีก็คือไปช่วยลุงขายบ้าง แล้วจากที่เราเรียนมาเราก็สามารถอธิบายคนที่มาเที่ยวงานเราได้


ถาม : เห็นบอกว่าในกิจกรรมนี้เรามีการโปรโมทมีด ทำแผ่นพับ ป้ายไวนิลด้วยอันนี้คือเราทำกันเองมั๊ย

ตอบ : เป็นของทางองค์การที่เขาทำให้ แล้วทางเราศึกษาการตีมีดเสริมมาจากแผ่นพับ แต่ว่าจากที่เราไปเรียนกับในแผ่นพับ เทียบกันแล้วแผ่นพับอธิบายไม่ค่อยละเอียด เราก็มีการนำมาปรับวิธีการให้ละเอียดขึ้นมากกว่านี้


ถาม : บรรยากาศในวันนั้นเป็นอย่างไรบ้างต้องออกไปพบเจอผู้คน

ตอบ : สนุก ชอบการได้เจอผู้คน เราคุยกับผู้ใหญ่ได้ในระดับหนึ่ง ได้อธิบายในสิ่งที่ได้ไปเรียนมา ภูมิใจที่มีความรู้เรื่องวิธีการตีมีดในระดับหนึ่ง มีคนถามข้อมูลเราก็ตอบได้จากประสบการณ์ที่ได้ไปเรียนรู้ ไม่ถึงกับลึกเพราะบางคนที่เข้ามาชมบูธ เขาก็รู้มากกว่าเราแต่เขาแกล้งถามเราก็ตอบได้นิดหน่อย


ถาม : จากตอนแรกที่เราบอกว่าเราเขินเราอาย แล้วตอนนี้ถ้าให้เราลองประเมินก่อน หลัง เราคิดว่าเราทำได้ดีมากขึ้นไหม

ตอบ : ดีมากขึ้นเลยเพราะช่วงแรกคือไม่กล้าพูดเลย เวลามีการ Workshop มีเพื่อนๆ อีกหลาย ๆ โครงการไม่ได้พูดกับใครเลย หลังๆ มาก็สนิทบางคนที่ไม่สนิทเราก็กล้าที่จะพูดกับเขา เริ่มที่จะพูดกับเขาก่อนเลย


ถาม : ตอนไหนที่ทำให้เราเปลี่ยนกลายเป็นคนที่กล้าที่จะพูดมากขึ้น

ตอบ : ช่วงจะปิดโครงการ แล้วตอนนั้นช่วงโควิดมีคนทักมาถาม บางคนก็มาถามเราว่าเมื่อไหร่จะมีอันนี้อยากเจอกัน คนในกลุ่มก็อยากเจอกัน คนนอกพื้นที่ คนนอกโครงการก็อยากมา สร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน สนิทกัน


ถาม : แล้วอย่างคนในชุมชนถ้าให้เราไปพูดในชุมชนเรากล้ามากขึ้นไหม

ตอบ : ตอบกล้าพูดมากขึ้น เพราะหลังจากที่เราได้เข้าไปทำโครงการกับชุมชนแล้วชาวบ้านแวะเวียนหา ก็กล้าพูดกับเขามากขึ้น


ถาม : มีคนในชุมชนเข้ามาถามบ้างไหม

ตอบ : มีค่ะ ช่วงนี้เรียนแล้วเขาก็มาถามว่าไปไม่ได้ไปแล้วหรอ ไม่ได้ทำแล้วหรอ ก็บอกเขาว่าช่วงนี้ติดเรียนแล้ว เปิดเทอมแล้ว


ถาม : ปิดโครงการเราออกแบบกิจกรรมรูปแบบเป็นอย่างไรบ้าง

ตอบ : รูปแบบตอนแรกตั้งใจทำเฟสชิล (Face Shield) ไปแจกที่โรงพยาบาลก่อนปิดโครงการ แต่ช่วงปิดโครงการจริงๆ เป็นช่วงที่ต้องรักษามาตรการไว้ เลยปรับแผมมาทำเฟสชิลกับเพิ่มกิจกรรมแจกเจลแอลกอฮอล์ เรามีการทำจุดสาธิตการล้างมือ แล้วฉีดพ่นสารรอบตัวด้วย


ถาม : แล้วอย่างโครงการเราเรื่องมีดเราเอาอะไรมานำเสนอบ้างวันนั้น

ตอบ : เรานำมีดที่เราตี มีมีดหนึ่งเดียวที่เราไปช่วยกันตีมานำมาเสนอแล้วเอามาอธิบาย ตอนเปิดโครงการก็ไม่ได้อธิบายเกี่ยวกับวิธีการทำมาก พอปิดโครงการก็มีการอธิบายการทำกระบวนการทำของเราตั้งแต่เริ่มโครงการมาเลย


ถาม : ตอนที่ปิดโครงการเรารับหน้าที่เป็นอะไร

ตอบ : คอยพูดอธิบายโครงการ ช่วยกับหัวหน้าโครงการ


ถาม : ผลตอบรับเป็นอย่างไร ใช้พื้นที่เดิมไหมในการปิดโครงการ

ตอบ : พื้นที่ชุมชนของเฟิร์นเอง เพราะว่าพอเราไปเรียนรู้จากพื้นที่ชุมชนบ้านต้นปัน เรามาคืนข้อมูลชุมชนของตัวเองเพราะว่าเขาก็ไม่ได้รู้เกี่ยวกับการตีมีด เขาก็ยอมรับเพราะว่าเราเป็นเด็กในหมู่บ้านแล้วเขาไม่เคยเห็นเราทำอะไรแบบนี้เหมือนกันมีแซวบ้าง ว่าแหมไม่รู้ว่าจะพูดเก่งแบบนี้ ไม่รู้ว่าทำอะไรแบบนี้ด้วย


ถาม : แล้วพ่อกับแม่ได้ไปด้วยไหม

ตอบ : ยายไปชวนยายไปด้วย


ถาม : ยายเป็นอย่างไรบ้างเห็นเราพูดแบบนั้น

ตอบ : ยายชิน เพราะอยู่บ้านก็เห็นเราพูดอยู่แล้ว ที่บ้านชินหมดแล้วแต่จะมีเป็นคนในชุมชนมากกว่าที่ยังไม่ค่อยชิน


ถาม : มีปัญหาอุปสรรคอะไรไหมในกิจกรรมนี้

ตอบ : น่าจะเป็นพี่เลี้ยงแล้วก็เด็กเยาวชนบางคนก็ไม่ว่าง


ถาม : ที่เราบอกว่ามีปัญหาพี่เลี้ยงคือพี่เลี้ยงเป็นอย่างไร

ตอบ : พี่เลี้ยงตั้งแต่เริ่มโครงการมาค่อนข้างติดต่อกันได้ง่าย แต่พอหลัง ๆ มาเขาไม่ว่างแล้ว พี่เลี้ยงคนหนึ่งเขาทำงานเทศบาล อีกคนเขาทำงานที่บ้านพักเด็กในชุมชน ภาระงานทำให้เขาไม่ค่อยว่างมากับพวกเรา แต่เราก็สามารถจัดการกันเองได้อยู่ เพราะมีที่ปรึกษา


ถาม : จัดการอย่างไร

ตอบ : อันไหนที่เราไม่รู้เราก็ปรึกษาพี่นุ๊กนิ๊กกับพี่บิว เรามีอะไรก็ปรึกษาเพราะพี่เขาก็ผ่านโครงการที่หนึ่งมาแล้วเหมือนกัน


ถาม : ตอนงานมหกรรมเราได้รับหน้าที่อะไรบ้างในงาน

ตอบ : รับหน้าที่เป็นพิธีกร เพราะว่าสนิทกันมากหลังจบโครงการสนิทกับทุกคนเลย กล้ามากขึ้น


ถาม : เป็นพิธีกรคือเราสมัครใจอยากเป็นเองหรือว่าเพื่อนเลือกเรา

ตอบ : หนึ่งเลยเพื่อนเลือกแล้วเราก็อยากเป็นด้วย ช่วงนั้นมีที่เราไม่เข้าใจแล้วเราเข้าไปที่สถาบันวิจัย เพราะพี่นุ๊กนิ๊กทำงานที่นั่น เข้าไปสอบถามเกี่ยวกับการทำโครงการ การรวบรวมรายงาน เลยสนิทกับทางสถาบันมากขึ้น ทำให้พี่ๆ เห็นเราเหมือนเป็นแกนนำหลัก เฟิร์นก็ได้อยู่ในคณะกรรมการ Active Citizen ลำพูน จะมีคณะกรรมการอยู่ 15 คน เฟิร์นได้รับหน้าที่เป็นเลขา เลยสามารถเข้าถึงกับทุกคนได้ง่าย เวลาจะติดต่องานไปเขาก็จะผ่านทางเรา


ถาม : ตื่นเต้นไหมที่เราจะได้เป็นพิธีกร

ตอบ : ตื่นเต้นมากค่ะ หลับเที่ยงคืน ไม่รู้จะทำอะไร ฝึกซ้อม ฝึกพูดอยู่อย่างนั้น เอาอะไรถือได้ก็ถือมาเป็นไมค์หมดเลย


ถาม : แล้วหนูเตรียมตัวฝึกพูด ฝึกเป็นพิธีกรอย่างไร เราเตรียมตัวหาเนื้อหาอย่างไรบ้าง

ตอบ : เราเป็นคณะกรรมการ ก่อนงานมหกรรมตอนแรกจัดเป็นงานมหกรรมออนไลน์ เราก็มีการวางแผนไว้อยู่แล้ว ช่วงหลังๆ เริ่มให้มีการจัดรวมกลุ่มกันได้ ก็เลยมีการประชุมของคณะกรรมการ 15 คนแล้วแบ่งบทบาทหน้าที่กัน ของเรามีพระอาจารย์ที่ทำเกี่ยวกับเรื่องสื่อ มาคอยช่วยที่จัดการทำงานเป็นลำดับของพิธีกร เขาให้บทพูดมาคร่าว ๆ แล้วให้เราไปฝึกพูดเอง ไม่เชิงเป็นพิธีกรทั้งวันแต่เป็นภาคสนาม ร่วมทำกิจกรรมกับเยาวชน ไม่เชิงวิชาการมาก


ถาม : ซ้อมนานไหม

ตอบ : คืนเดียวเพราะว่าทำงานร่วมกับประธานของคณะกรรมการ เขารับงานหมดเลย ได้รับมอบหมายให้ทำอะไรรับงานหมด เขาบอกว่าจะเป็นพิธีกรคู่กับเฟิร์น รับงานมาแล้วก็ต้องช่วยกัน


ถาม : พอถึงวันจริงมีติดขัดตรงไหนบ้างไหม

ตอบ : เยอะเลยเพราะว่าเป็นครั้งแรก ถ้าถามว่าผิดพลาดเยอะไหม เยอะแต่ไม่ค่อยเขินเท่าไหร่เพราะว่าเป็นคนที่เรารู้จักอยู่แล้ว เขาก็เข้าใจว่าเป็นครั้งแรก แต่ก็มีการแก้สถานการณ์ก็คือถ้าสมมุติเราพูดผิดอีกคนก็คอยเสริมขึ้นมา


ถาม : ถ้าให้เป็นพิธีกรอีกเราจะเป็นไหม

ตอบ : ได้ค่ะ แต่ว่าขอเวลาซักซ้อม


ถาม : กิจกรรมทั้งหมดที่เราทำมาตั้งแต่เริ่มประชุมโครงการจนปิดโครงการ เราคิดว่ามีอะไรที่รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ยากสำหรับเรามากที่สุดเลย

ตอบ : ช่วงสุดท้ายปิดโครงการ เพราะมีอีกปัญหาก็คือเลขาไม่ว่างแล้วก็ไม่ได้มาเลย หัวหน้าโครงการก็ติดเรียนพิเศษทุกอย่าง เลยอยู่ที่เรา ตอนนั้นมีกันสามสี่คน เราก็รับบททางบัญชีอยู่แล้ว สุดท้ายต้องมาทำรายงานและงานวิชาการด้วย ช่วงนั้นเลยปรึกษาพี่นุ๊กนิ๊กตลอด


ถาม : ตอนนั้นเรารู้สึกอย่างไรบ้างที่งานทุกอย่างมารวมที่เราหมดเลย

ตอบ : ไม่รู้อะไรเลยตอนนั้นบ่นอย่างเดียวเลย บางคนไม่มาก็เข้าใจแต่ทำไมทิ้งไปหมดเลย ทิ้งงานให้เราคนเดียว


ถาม : รู้สึกท้อ ไม่อยากทำไม

ตอบ : มีแต่ว่ามันก็เหลือแค่เราแล้ว เราก็ต้องทำให้สำเร็จ


ถาม : ช่วงที่เราท้อ ๆ เราผ่านไปได้อย่างไร

ตอบ : ตอนที่รู้สึกเหนื่อย เราก็พัก หยุดก่อน ไปหาอย่างอื่นทำก่อน ฝึกให้เราพยายามตั้งสติ ก่อน แล้วค่อยกลับมาทำงานใหม่ แบ่งงานทำทีละนิด


ถาม : เคยพูดกับเพื่อนตรงๆ ไหมว่าทำไมถึงไม่มาช่วย

ตอบ : ก็คือเหตุผลเดิม ๆ ก็คือเขาไม่ว่าง บางคนก็ติดขายของที่บ้าน ต้องช่วยพ่อแม่เขา


ถาม : แล้วเราแก้ปัญหาอย่างไร ถึงผ่านมาได้

ตอบ : ถ้าเขาไม่ว่างจริงๆ ก็อาจขอให้เขามาช่วยส่งงานไปนะ คิดอะไรได้ก็ส่งมาทางออนไลน์


ถาม : ทำไมเฟิร์นถึงไม่ทิ้งไปด้วยเลย ทำไมถึงต้องลุกขึ้นมารับผิดชอบเองในเมื่อหัวหน้าเองเขาก็ไม่ได้เข้ามาช่วยแล้ว

ตอบ : ก็เข้าใจเพราะว่าเขาก็ไม่ว่างจริงๆ เพราะว่าเราเป็นคนเริ่มขึ้นมาเอง เราเป็นคนชวนเขามาเองถ้าเราปล่อยก็ไม่มีใครทำอะไรแล้ว


ถาม : เคยคิดไม่ว่าเราก็ไม่ไหวแล้วเหมือนกัน ไม่ทำเหมือนกัน

ตอบ : เคยค่ะ แต่สุดท้ายก็คือทำ มันเป็นสุดท้ายทุกอย่างคือสุดท้ายก็ต้องทำ


ถาม : ทำไมละ

ตอบ : เรารับมันมาแล้วถ้าเราไม่ทำเราก็น่าจะปฏิเสธไปตั้งแต่รอบแรกแล้ว เพราะถึงปฏิเสธก็ไม่มีใครทำอยู่ดีเราก็ยอมที่จะรับหน้าที่นี้ที่จะทำ


ถาม : จากปัญหาที่เราบอกมา เราได้เรียนรู้อะไรบ้าง

ตอบ : ปกติถ้าไม่เอาก็คือไม่เอาแต่ว่าเราเป็นคนรับหน้าที่มาเราก็ต้องรับผิดชอบ ฝึกให้เรามีความรับผิดชอบมากขึ้น


ถาม : วิธีการที่เราบอกว่าเราต้องตั้งสติเราไปได้แนวคิดแบบนี้มาจากไหน

ตอบ : ถ้าเราหงุดหงิดมาก ๆ ก็อยู่นิ่งๆ ก่อนเพราะเราไปลงกับใครไม่ได้เดี๋ยวเราก็ผิดอีก เดี๋ยวเค้าหาว่าเราพาล เราก็อยู่ของเรานิ่งๆ แล้วไปหาทำอะไรอย่างอื่นให้หายเบื่อแล้วค่อยมาทำต่อ


ถาม : ปกติเป็นคนแบบนี้ไหมหรือว่าใจร้อน

ตอบ : ปกติถ้าทำอะไรได้ก็ทำก่อน ถ้าทำไม่ได้ก็พักไว้ก่อนค่อยทำ


ถาม : ถ้า ณ ตอนนั้นย้อนกลับไปได้เรายังจะชวนเพื่อนๆ กลุ่มนี้มาไหมหรือว่าเราจะใช้วิธีการจัดการตัวเองตอนที่งานมารุมเยอะ ๆ แบบนี้ไหมหรือจะทำอย่างอื่นที่จะช่วยให้เราทำงานได้ง่ายขึ้น

ตอบ : น่าจะติดต่อกับเพื่อนบ้างกับเพื่อนกลุ่มเดิมแต่ก็ไม่ได้ติดต่อขอให้คอย support ก็พอไม่ได้ขอให้มาช่วยเป็นแกนนำหลักเพราะมันอาจจะเป็นการเพิ่มภาระของเขา เขาอาจจะไม่ได้อยากทำเลยก็ได้


ถาม : ถ้ามีโครงการอีกแล้วเราต้องหาคนมาร่วม เราจะลิสคุณสมบัติไหมว่าจะต้องเลือกคนแบบไหนมาร่วมทำงานกับเราจากบทเรียนที่เราได้มา

ตอบ : อยากจะขอให้คนที่อยากจะทำจริงๆ อยู่กับเราไปตลอดจนจบ คอยช่วยเราได้ไม่ได้หายไปไหน


ถาม : แล้วเราจะใช้วิธีการประเมินอย่างไร เพราะตอนแรก ๆ เราอาจจะไม่รู้ว่าเขาจะมีเวลาให้เรามากน้อยแค่ไหน

ตอบ : เราก็จะสอบถามเขาแบบจริงจังเลย ว่าถ้ามีอะไรก็พูดออกมาเลย ถ้าไม่ทำก็คือไม่ทำ ถ้าจะทำก็คือต้องทำให้จนจบเลย


ถาม : ก็คือจะสร้างข้อตกลง ทำความเข้าใจร่วมกันก่อน แสดงว่าครั้งนี้เรายังไม่ได้เข้าใจกันชัดขนาดนั้น เราคิดว่าที่เราทำโครงการไปผลตอบรับของชุมชนก็ดีในระดับหนึ่ง แล้วเราคิดว่าโครงการที่เราทำเรื่องมีดชุมชนเขาได้ประโยชน์อะไรจากเรื่องที่เราทำบ้าง

ตอบ : ประโยชน์คือสร้างรายได้กับชุมชนมากขึ้นเพราะว่าหลังจากที่เราทำโครงการเสร็จ พอมีตลาดเยาวชนของเรา ชาวบ้านก็ทำมาขายได้ทุกวันพุธ สร้างรายได้อีกทางหนึ่งช่วยชาวบ้านในชุมชน


ถาม : นอกจากสร้างรายได้แล้วมีอะไรอีกบ้างที่เราคิดว่าเขาได้ประโยชน์

ตอบ : ทุกคนรู้จักมากขึ้นจากเราเป็นแกนกลางที่ช่วยขยายให้เป็นที่รู้จักให้กับผู้คนอื่นที่ยังไม่เคยรู้จักว่าชุมชนของเรามีของดีคือมีด


ถาม : พอเขาเห็นเราทำโครงการแบบนี้มีใครเข้ามาสนับสนุนเพิ่มเติมไหม

ตอบ : ตอนนี้ยังไม่มีค่ะ แต่ก่อนหน้านี้จะมีทางส่วนอบต. กับ อบจ.เขาทำอยู่แล้ว


ถาม : เราคิดว่าโครงการที่เราทำเป็นจุดประกายอะไรให้กับเราในอนาคตของเรา หรือว่าภูมิใจในตัวเองบ้างไหม

ตอบ : ภูมิใจในระดับหนึ่งเลยเพราะว่าไม่เคยทำโครงการมาก่อน ทุกอย่างใหม่หมดเลย เป็นประสบการณ์ที่ดีให้กับตัวเอง ถ้ามีครั้งใหม่อีกก็ทำให้เราได้ทำงานอีกหลายๆ กิจกรรม ได้ฝึกพัฒนาไปเรื่อย ๆ


ถาม : ที่เราบอกว่าเราไม่เคยทำมาก่อน มีอะไรบ้าง

ตอบ : งานบัญชี การทำรายงานแบบจริงจังที่ไม่เหมือนการทำของทางโรงเรียน มันยากมาก การเข้าไปคุยกับคนในชุมชนก็ใหม่เหมือนกัน


ถาม : การเข้าไปคุยกับคนในชุมชนก็เป็นงานใหม่สำหรับเรา เราคิดว่าพอเราทำโครงการหรือวิธีการอะไรบ้างเวลาที่จะเข้าไปในชุมชนต้องมีเทคนิคอะไรบ้าง

ตอบ : เหมือนเราจะรู้จักกับคนในชุมชนอยู่แล้ว เราก็ไปตั้งข้อสงสัยกับเขา แล้วเขาก็อยากที่จะให้เราได้เรียนรู้เหมือนกัน ฝ่ายหนึ่งก็อยากรู้ ฝ่ายหนึ่งอยากที่จะสอนก็เลยราบรื่น


ถาม : อยากให้เราลองวิเคราะห์ตัวเองว่าก่อน-หลังทำโครงการเรามีความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างที่เห็นชัด ๆ

ตอบ : เรากล้าแสดงออกมากขึ้นนี่คือชัดที่สุด เราได้ฝึกทำอะไรหลาย ๆ อย่าง ได้รับหน้าที่บัญชีเราก็ได้ทำหน้าที่นั้น


ถาม : คำว่ากล้าแสดงออกมากขึ้น ก่อนหน้านี้เราเป็นอย่างไรบ้าง

ตอบ : ก่อนหน้านี้ไม่กล้าพูดกับใครเลย ถ้าเขาให้ขึ้นไปพูดอะไรก็กลัวผิดไปหมดเลย หลังๆมาอยากพูดอะไรก็พูดเลย เราว่ามันไม่ผิดมันก็เป็นความคิดของเรา


ถาม : กิจกรรมในแต่ละเวทีมันช่วยฝึกเราไหมที่ทำให้เรากล้าแสดงออกมากขึ้น

ตอบ : ฝึกค่ะ เพราะว่าเราได้เจอคนเยอะขึ้น เจอคนที่ไม่ได้ซ้ำ ๆ เดิม ๆ เขาก็เป็นคนใหม่ๆ ที่เราไม่รู้จักแล้วเขาก็เข้ามาพูดคุยกับเราเราก็กล้าที่จะคุยกับเขา


ถาม : แล้วมีอย่างอื่นไหมคะนอกจากกล้าแสดงออกแล้วเราคิดว่าเราทำได้ดีขึ้นกว่าเดิม

ตอบ : เรารับผิดชอบงานมากขึ้นจากที่เดิมเราคิดจะเทก็เทเลย แต่ตอนนี้ก็เทไม่ได้ฝึกให้เรารู้จักรับผิดชอบมากขึ้นต้องทำงานที่ได้รับมอบหมายให้เสร็จ


ถาม : ความสัมพันธ์กับชุมชนเราเปลี่ยนไปไหม

ตอบ : เปลี่ยน รู้จักคนในชุมชนเยอะเลย


ถาม : ก่อนหน้านี้เราเป็นอย่างไร

ตอบ : ก่อนหน้านี้เราไม่รู้จักใครเลย เพราะว่าเป็นคนในชุมชนแต่ตอนนี้เราก็รู้จักเขามากขึ้น


ถาม : แล้วเรื่องความรู้ เรื่องเกี่ยวกับมีดเราเป็นอย่างไรบ้างถ้าให้เทียบก่อนหลัง

ตอบ : ก่อนหน้านี้รู้จักแต่ว่ามีดอย่างเดียวแต่พอมาทำโครงการนี้รู้หมดเลยวิธีการทำ กระบวนการทำ วัสดุอุปกรณ์


ถาม : เราคิดว่ามีความสามารถอะไรบ้างไหมที่เราค้นพบว่าเราทำได้

ตอบ : คนหนึ่งคนมีศักยภาพในการทำงานได้มากกว่า 1 อย่าง ไม่จำเป็นต้องถนัดเพียงอย่างเดียว บางอย่างอาจยังทำไม่ได้ แต่ถ้าได้รับการอธิบายและได้ทำบ่อยๆ ก็สามารถทำให้เก่งขึ้นได้ แต่เราก็ไม่จำเป็นต้องเก่งไปเสียทุกอย่าง


ถาม : ก่อนหน้านี้เราคิดไหมว่าเราจะทำได้

ตอบ : ไม่เคยคิด แค่ได้ยินถ้าทำไม่ได้ก็ไม่เอา แต่เดี๋ยวนี้พอมีงานก็ลองดู ก็ทำได้ไม่ได้ยากอะไร


ถาม : ช่วงไหนที่เราบอกว่าต้องรับผิดชอบงานหลายๆ อย่าง

ตอบ : ช่วงที่เพื่อนๆ ไม่ได้มา พอเราทำได้เราก็พบว่าเราทำได้ อยากจะลองทำฝึกไปเรื่อย ๆ ในเรื่องความสามารถของเราในการทำงานของเราให้มันดีขึ้นจนเราถนัด จนเราชิน


ถาม : มีอะไรไหมที่เรารู้สึกว่าเราอยากทำให้มันดีขึ้น

ตอบ : งานฝ่ายวิชาการค่ะที่อยากทำ เราทำไม่ได้ก็ค่อย ๆ ทำไป ค่อยๆ พิมพ์ไปคอยให้ที่ปรึกษาของเราช่วย แต่ที่อยากทำคืออยากทำให้ดีเลย เช่น พอได้รับงานมาสามารถทำได้ในแต่ละบทของรายงาน


ถาม : แล้วถ้าให้เราให้คะแนนความเชี่ยวชาญของตัวเองก่อนที่เราจะมาทำกับหลังจากที่เราทำแล้วเราให้กี่คะแนน

ตอบ : ก่อนให้ 5 คะแนนหรือ 4 คะแนนก็ได้ หเพราะว่าไม่รู้อะไรเลย หลัง ๆ มาก็ประมาณ 7 คะแนน พอรู้บ้างแต่ละขั้นตอนการทำ


ถาม : อีก 3 คะแนนที่หายไปเพราะอะไร

ตอบ : ตอนนี้ทำได้ แต่การทำงานไม่ต่อเรื่อง ไม่ติดต่อกันยาวๆ ทำได้นิดหนึ่งตรงนี้คืออะไร พอได้รู้ไป พอไปอีกนิดก็ไม่รู้ว่าตรงนี้คืออะไรไม่รู้อีกแล้ว ต้องคอยปรึกษาต้องคอยถามพี่ ๆ อยู่ตลอด มันไม่ราบรื่นตั้งแต่ต้นจนจบ


ถาม : สิ่งที่เราได้เรียนจากโครงการนี้เราเอาไปใช้ในชีวิตประจำวันบ้างไหม

ตอบ : ปรับใช้ได้เยอะ เรามีการทำงานเป็นลำดับมากขึ้น การใช้คำพูดที่เราได้รับ ได้ยินมาจากในโครงการ เราค่อยๆ เรียนรู้ไปทีละนิด เมื่อก่อนที่เขาถามเราก็ตอบไม่ได้แต่พอเราได้เรียนรู้ ได้ซึมซับคำพูดใหม่ๆ ถ้าเขาถามเราก็สามารถตอบได้มั่นใจขึ้น


ถาม : แล้วได้เอาไปใช้ในห้องเรียนบ้างไหม

ตอบ : ได้ใช้ในการทำรายงาน ทำให้เราเรียบเรียงคำ ลำดับคำได้ถูกต้อง การเขียนการพิมพ์ถูกต้องมากขึ้น การคิดเลขก็ดีมากขึ้น


ถาม : ถ้าเป็นการใช้ชีวิตประจำวันทั่วไปเราเอาไปปรับใช้บ้างไหม

ตอบ : ช่วงนี้ยังไม่ค่อยได้ใช้ในชีวิตประจำวัน ส่วนมากผู้คนที่พูดคุยเขาก็ไม่ได้วิชาการ เราก็พอพูดได้เป็นปกติในชีวิตประจำวันของเราอยู่แล้ว


ถาม : หลังจบโครงการนี้ไปแล้วเราคิดว่าถ้ามีโครงการในปีต่อไปเราจะยังทำโครงการนี้ต่อไหม

ตอบ : ทำต่อค่ะ เพราะว่าเรายังไม่รู้อะไรที่มันสุด


ถาม : ตอนนี้เราจบโครงการแล้วเรามีความคิดไหมที่จะทำอะไรต่อช่วงนี้ระหว่างรอโครงการ

ตอบ : เรียนอย่างเดียวเลยตอนนี้ เปิดเทอมมาไม่ได้คิดอะไรเลยเพระว่าเปิดเทอมช้าด้วย แล้วเปิดเทอมมันอัด ๆ ตอนนี้ก็จะสอบ เราก็โฟกัสการเรียนอย่างเดียวเลย


ถาม : แล้วกับชุมชนบ้านต้นปันเรายังไปมาหาสู่อยู่ไหม

ตอบ : ยังไปอยู่ค่ะ ไม่ได้ทิ้ง


ถาม : เรามีความฝันไหมว่าในอนาคตเราอยากทำอะไร อยากเป็นอะไร

ตอบ : สนใจในสื่อเทคโนโลยี อยากเรียนไปทางด้านสื่อและเทคโนโลยีมากที่สุดกว่าด้านอื่นๆ


ถาม : อันนี้เป็นความฝันที่เราคิดว่าอยากทำอยู่แล้วหรือว่าเรามาอยากที่จะทำตอนทำโครงการ

ตอบ : ก่อนทำโครงการเราชื่นชอบ เป็นงานอดิเรกที่เราชอบสรรหาดูในยูทูปที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี แต่พอได้ทำโครงการเราได้นำสิ่งที่เราได้ดูจากก่อนหน้านี้มาใช้ แล้วรู้สึกชอบมากขึ้น ยิ่งทำยิ่งชอบขึ้นเรื่อย ๆ


ถาม : ที่ว่าทำในโครงการคือทำเรื่องอะไร

ตอบ : ถ้าสื่อเทคโนโลยีก็เป็นเรื่องของการนำเสนอโครงการเป็นวิดีโอ พูดคุยเกี่ยวกับโครงการ มีการแสดงหนังเกี่ยวกับโครงการ เล่าความเป็นมาของโครงการ การทำ photo brander ด้วย อันนี้เป็นหน้าที่ที่ขอทำเองเลยเพราะว่าเราชอบทำ


ถาม : แล้วมันยากหรือว่าง่ายตรงไหนบ้างไหม

ตอบ : ไม่ยากไม่ง่ายตรงไหนที่เราไม่รู้ก็ไปศึกษาเพิ่ม บางอันที่เราศึกษามาแล้วเราก็ทำได้เลย ก็ออกมาเป็นผลงานของเรา


ถาม : มีเรื่องอะไรบ้างไหมที่เราอยากพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม

ตอบ : สื่อเทคโนโลยีนี่แหละค่ะ และงานวิชาการอีกอย่างหนึ่ง เพราะว่าเรารู้ไม่สุด หมายถึงแต่ละขั้นตอนของเรายังทำไม่สำเร็จและติดขัด เช่น ตอนแรกไม่ได้ติดใจกับการทำวิชาการเลย เพราะไม่ใช่หน้าที่ของเรา แต่หลังจากที่คนในกลุ่มไม่ได้มาหน้าที่ มันตกมาอยู่ที่เรา ถ้าเราต้องรับผิดชอบงานตรงนี้อีกในครั้งต่อไป แล้วไม่ศึกษาให้ดี ก็อาจเกิดเหตุการณ์เหมือนเดิมอีก วนลูปเหมือนเดิมก็น่าเบื่อ จะทำให้เราไม่อยากทำงาน


ถาม : เวลาที่พวกเราจะต้องลงไปสัมภาษณ์ผู้รู้ในชุมชน ในกลุ่มเราก็ต้องมีการวางแผนในการที่จะออกไปทำกิจกรรมแต่ละกิจกรรมเราคิดว่าขั้นตอนการวางแผนมีประโยชน์หรือความสำคัญอย่างไรบ้างสำหรับการทำงานโครงการของเรา

ตอบ : มีประโยชน์อย่างตอนวางแผน เราจะถามก่อนว่าทุกคนอยากได้รับหน้าที่อะไร ทุกคนก็จะบอกว่าอยากทำหน้าที่จด ทำหน้าที่ถาม แต่ละคนมีหน้าที่ที่เขาได้รับ และเป็นหน้าที่ที่อยากทำ บางคนชอบจดถนัดในด้านนี้เป็นการฝึกจด เรียบเรียงคำ บางคนอยากเปิดใจกับคนในชุมชนก็จะรับหน้าที่สอบถาม


ถาม : ตอนที่ไปฝึกตีมีดตอนไหนที่ส่วนตัวเราคิดว่ามันยากที่สุดสำหรับเรา

ตอบ : ตอนตีเหล็กเลยเพราะว่ารอนานแล้วค้อนที่ใช้ตีหนักมาก มีดหนึ่งด้ามไปเผาไฟจนแดง จนร้อน แล้วพอมาตีมันหนักมากตีได้ไม่ถึงสิบครั้งไฟมีดก็หายไป มีดก็ตียาก เพราะแข็ง ก็ต้องไปเผาไหมทำแบบนี้วนไปเรื่อย ๆ มันค่อนข้างน่าเบื่อแล้วก็หนักด้วย เหนื่อยมากกับการตีได้เล่มหนึ่ง


ถาม : ส่วนตัวทำได้กี่อัน หรือว่าช่วยกันทำ

ตอบ : เอาจริง ๆ ก็คือไม่ได้ทั้งเล่ม เพราะว่าค่อนข้างใช้เวลานาน ลุงเขาก็บอกให้ลุงทำเถอะนะ เพราะว่าเขาชำนาญแล้วก็เลยไม่เป็นไรให้เขาทำต่อก็ได้ เราก็อาศัยศึกษาแต่ละขั้นตอนแทน


ถาม : เฟิร์นบอกว่ากลุ่มเป้าหมายคือเด็กและเยาวชนในชุมชนหลังจากทำโครงการแล้วเราเห็นไหมว่าเด็กสนใจเรื่องการตีมีดมีกระแสดีขึ้นไหม

ตอบ : ของเราคาดเคลื่อนไปเยอะเพราะว่าไม่ใช่เด็กในชุมชน เป็นเด็กนอกชุมชนที่สนใจ เหมือนเด็กในชุมชนเขาเห็นจนเบื่อแล้วเหมือนกัน เขาก็ไม่ได้อยากรู้เพราะถ้าเขาอยากรู้จริงๆ เขาก็คงทำตั้งแต่เด็กแล้ว แต่นี่เขาก็โตในระดับหนึ่งแล้วเขาก็ไม่ได้อยากรู้


ถาม : แต่พอมีคนข้างนอกอย่างเราเข้าไปเขาก็ไม่สนใจ หรือไม่รู้สึกว่าเขาต้องนำเสนออะไรบ้างเหรอ

ตอบ : ส่วนใหญ่เป็นเด็กที่เขาติดเที่ยว เขาเห็นเรามาทำกิจกรรมแบบนี้เขาก็บอกว่าดีแต่ว่าก็ไม่ได้สนใจที่จะเข้ามา


ถาม : แล้วตอนที่พวกเราไม่มีพี่เลี้ยงรู้สึกเคว้งคว้างบ้างไหม

ตอบ : ตอนนั้นเคว้งคว้างมากบ่นเลยว่าทำไมไม่มา รับหน้าที่กับเราแล้วใช่ไหมสัญญาว่าจะมาเป็นพี่เลี้ยงเราแล้วแต่สุดท้ายก็ไม่มา เราก็ทำกันเองเราก็ชินทำไปจนจบโครงการ เพราะว่าเขาไม่ว่างตั้งแต่ต้นๆ กลางๆ โครงการเลย


ถาม : เราก็ดูมีความเป็นภาวะผู้นำอยู่เรารู้สึกแบบนั้นไหม

ตอบ : หนูก็เป็นผู้นำค่ะ เพราะว่าที่ผ่านมาก็รับหน้าที่เองหมดเลย ช่วงหนึ่งที่หัวหน้าโครงการไม่ว่าง ก็กลายเป็นเราที่อธิบายแล้วก็เป็นแกนนำขึ้นมา แล้วเราติดต่อได้ง่ายด้วย


ถาม : ส่วนในทีมที่เหลือกันอยู่ที่ได้ทำงานระหว่างกันเป็นอย่างไรบ้าง

ตอบ : ก็ยังติดต่อกันตามปกติแต่ว่าเขายังไม่มีเวลาว่างมาทำ


ถาม : กลุ่มเป้าหมายของเรามันคาดเคลื่อนจากเด็กในชุมชนกลายเป็นเด็กนอกชุมชน เด็กนอกชุมชนที่ว่าคือเขาไปสนใจได้อย่างไร

ตอบ : ก็คือโครงการอื่นใน Active Citizen ที่เขาเห็นในงานมหกรรม