นายโกสัลล์ จุลเหลา : โครงการสื่อสร้างสรรค์พาท่องเที่ยวถิ่นมะเดื่อใหญ่ อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ

นายโกสัลล์ จุลเหลา (โก) อายุ 33 ปี

อาจารย์ประจำวิชาสังคมศึกษา ชั้นมัธยมศึกษปีที่ 4 โรงเรียนกำแพง

โครงการสื่อสร้างสรรค์พาท่องเที่ยวถิ่นมะเดื่อใหญ่ อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ

สัมภาษณ์วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2563

­

ถาม ช่วยแนะนำตัวและโครงการที่ทำ?

ตอบ ผมนายโกสัลล์ จุลเหลา หรือเรียกว่าอาจารย์โก สอนวิชาสังคมศึกษาอยู่ที่โรงเรียนกำแพง ผมเป็นพี่เลี้ยงโครงการสื่อสร้างสรรค์พาท่องเที่ยวถิ่นมะเดื่อใหญ่ อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ

ถาม อาจารย์สอนที่โรงเรียนกำแพงมานานเท่าไหร่?

ตอบ เริ่มต้นผมสอนอยู่ที่โรงเรียนปรางค์กู่ประมาณ 5 ปี และผมย้ายมาสอนที่โรงเรียนกำแพงมาได้ 5 ปี

ถาม ทำไมถึงมาเข้าร่วมเป็นพี่เลี้ยงโครงการ?

ตอบ เริ่มต้นผมอยากหาโครงการที่สามารถจะให้เด็กๆ ได้ทำกิจกรรมเกี่ยวกับสังคมทำสาธารณะประโยชน์ เคยมีเด็กๆ ที่ทำโครงการนี้อยู่แล้ว คราวนี้เด็กต้องการหาพี่เลี้ยง ผมพยายามประสานงานให้เด็ก ผมเลยอาสาเป็นพี่เลี้ยงให้เด็ก ผมพยายามประสานและลงมือทำเพื่อช่วยเด็กอย่างเต็มที่

ถาม ก่อนหน้านี้เป็นพี่เลี้ยงโครงการมาก่อนหรือไม่?

ตอบ ไม่เคยครับ ก่อนหน้านี้เด็กทำทีมกันมาอยู่แล้ว พอดีทีมเขาแตกเขาเลยขอให้ผมช่วยมาเป็นพี่เลี้ยง ผมเห็นว่าเป็นโครงการที่ดีผมจึงรวบรวมเด็กที่สนใจกลุ่มหนึ่งและสร้างทีมขึ้นมาใหม่

ถาม กลุ่มเด็กที่แตกหมายถึงเด็กปีที่แล้วหรือเด็กปีนี้?

ตอบ เด็กที่โรงเรียนจะมีปัญหาตรงที่พ่อเด็กจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 เด็กจะย้ายไปเรียนตามที่ต่างๆ พอเด็กย้ายไปจะมีปัญหาเรื่องการประสานงาน หลังจากนั้นมีเด็กพี่อยากจะทำโครงการต่อเขาเลยขอให้ผมมาเป็นพี่เลี้ยงให้

ถาม อาจารย์เป็นพี่เลี้ยงโครงการครั้งแรกใช่ไหม?

ตอบ ใช่ครับ

ถาม ตอนเด็กมาชวนอาจารย์อาจารย์รู้สึกอย่างไรหรือมีแนวคิดอย่างไร?

ตอบ พูดตรงๆ ในการทำงานกับเด็ก ผมอยากให้เด็กแสดงออกให้เต็มที่ เหมือนกับนกถ้านกจะหัดบินแม่นกจะปล่อยให้นกได้กางปีกบินเอง หน้าที่ของครูเราปลูกฝังให้เด็กได้ลองคิดได้ลองทำ ถ้าเกิดความผิดพลาดเราก็แค่ดูให้ตรงกรอบ นอกนั้นเราก็ปล่อยให้เด็กใช้ความคิดสร้างสรรค์ ถ้าเด็กขอร้องให้ผมช่วยทำผมก็ยินดีช่วยทำอย่างเต็มที่

ถาม ทำไมอาจารย์ถึงตัดสินใจมาเป็นพี่เลี้ยงในโครงการ?

ตอบ ผมเคยทำกิจกรรมที่เกี่ยวกับเด็กมาเยอะ เช่นพาเด็กไปบริจาคสิ่งของให้เด็กกำพร้า ผมคิดว่ากิจกรรมแบบนี้จะเสริมสร้างแนวความคิดให้เด็ก ในวิชาเรียนเด็กก็จะได้ทักษะเฉพาะการเรียน แต่กิจกรรมตรงนี้เป็นทักษะชีวิตสามารถนำไปใช้การประกอบอาชีพในอนาคตและสามารถส่งเสริมให้เป็นพลเมืองที่ดีได้

ถาม เคยทำงานเกี่ยวกับเยาวชนหรือชุมชนอะไรมาบ้าง?

ตอบ เคยทำครับ ทำเกี่ยวกับจิตอาสา พาเด็กไปพัฒนาคูคลอง ดูแลผู้สูงอายุในชุมชน

ถาม เด็กๆ มาปรึกษาอาจารย์เรื่องหัวในการทำข้อโครงการอย่างไร?

ตอบ เริ่มต้นมีการประชุมทีมงานก่อน หลังจากนั้นพวกเราชวนกันคิดเราอยากทำหัวข้อโครงการอะไรโดยที่ดูสร้างสรรค์และมีจุดประสงค์ที่จะพัฒนาท้องถิ่นของเรา เด็กเสนอมาหลายหัวข้อจนได้หัวข้อที่ต้องการ เขาอยากจะแนะนำแหล่งท่องเที่ยวของอำเภออุทุมพรพิสัย สมัยก่อนเขาจะเรียกว่าถิ่นมะเดือใหญ่ หัวข้อโครงการนี้เกิดจากการระดมสมองของเด็กๆ

ถาม มีวิธีการช่วยเหลือสนับสนุนน้องๆ ในโครงการอย่างไร?

ตอบ หลังจากได้หัวข้อพวกเราจะประชุมกันตลอด ช่วยกันหาข้อดีข้อเสียในการทำงาน วางแผนขั้นตอนการดำเนินงาน เด็กๆ จะเอาเรื่องของการเรียนเป็นหลักก่อนส่วนโครงการจะเป็นกิจกรรมรอง มันเป็นเรื่องที่ยากที่จะเอากิจกรรมมาใส่ในวิชาเรียน ผมจะมีหน้าที่ช่วยเด็กๆ แบ่งเวลาเรียนและกิจกรรม ช่วยเด็กๆ ตอนปฏิบัติ ช่วยเรื่องวางรากฐานความคิดให้เด็ก ผลักดันให้เด็กกล้าแสดงออกกล้าแสดงความคิดเห็น ผมจะชวนเด็กนั่งพื้นหรือนั่งโต๊ะคุยกันเหมือนว่าเราเป็นเพื่อนที่กำลังปรึกษากัน เป็นการละลายพฤติกรรมเพื่อให้เด็กกล้าแสดงความคิดเห็นพอได้หัวข้อและวางแผนงานเสร็จ หลังจากนั้นเราเชิญผู้มีประสบการณ์ในการทำนวัตกรรมมาถ่ายทอด เราเริ่มเห็นเป็นรูปร่างมากขึ้นจากนั้นเราชวนกันไปถ่ายทำตามสถานที่ต่างๆ บางทีผมจะพาเด็กๆ ไปลงพื้นที่ด้วยตัวเอง

ถาม ตอนลงพื้นที่มีวิธีการทำงานอย่างไร?

ตอบ การถ่ายทำเด็กจะเป็นคนคิดของเขาเอง เด็กจะมีความสามารถในเรื่องการถ่ายทำ ผมมีหน้าที่อำนวยความสะดวกเช่น ยืมรถโรงเรียน ถ้าวันไหนรถโรงเรียนไม่ว่างผมจะเอารถส่วนตัวของผมพาพวกเขาไป ให้เด็กๆ ทำหน้าที่ของเขาได้เต็มที่ผมมีหน้าที่คอยสนับสนุน

ถาม ช่วยเล่าบทบาทหน้าที่ของพี่เลี้ยงโครงการที่อาจารย์ทำ?

ตอบ เราเป็นผู้แนะนำและเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังคอยสนับสนุนเด็กๆ เวลาที่เด็กมีปัญหาหรือมีความขัดแย้งภายในกลุ่มเช่น ปัญหาความคิดเห็นที่แตกต่าง เราต้องชวนคุยต้องหาวิธีการที่จะทำให้คนในกลุ่มเห็นภาพในทิศทางเดียวกันให้ได้

ถาม อาจารย์มีวิธีการแก้ปัญหาความขัดแย้งเวลาที่คนในกลุ่มทะเลาะกันอย่างไร?

ตอบ ยกตัวอย่างว่าคนเรามีเป้าหมายเหมือนกันทุกคน แต่วิธีการไม่เหมือนกัน บางคนจะตรงไป เลี้ยวซ้ายหรือเลี้ยวขวาก็ได้สุดท้ายถึงเป้าหมายเหมือนกัน ทางที่ดีหาวิธีที่ไปถึงเป้าหมายโดยที่ทุกคนยอมรับได้มากที่สุด ผมพยายามจะไม่เป็นโค้ชแต่ผมจะเข้าถึงเด็กและพยายามเป็นเพื่อน ชวนพวกเขาคุยสนุกสนานเฮฮาไม่ให้เด็กเครียด

ถาม อาจารย์พาเด็กเรียนรู้เรื่องการทำโครงการอย่างไร?

ตอบ โครงการจะมีการจัดอบรมผมจะพาเด็กไปเข้าร่วมอบรม เราประชุมกัน วางแผนงานว่าวันนี้เราจะทำอะไรเช่น วันนี้มีงานบุญที่อำเภอ เราจะแบ่งทีมกันไปถ่ายทำ ผมจะชวนตั้งคำถามว่ามีแหล่งท่องเที่ยวไหนที่ไม่เคยเปิดเผยในอำเภอมาก่อน ให้เด็กๆ ช่วยกันหาคำตอบ หลังจากนั้นผมจะเป็นคนพาพวกเขาไป

ถาม อาจารย์ไปกับเด็กๆ ทุกครั้งหรือไม่?

ตอบ ไม่ตลอดครับ บางครั้งเด็กก็ไม่สามารถไปพร้อมกันทุกคนได้ เราจะแบ่งเป็นกลุ่มย่อยไป เราต้องเข้าใจเด็กว่าเด็กมีภาระที่เขาต้องรับผิดชอบ

ถาม อาจารย์ช่วยเสริมทักษะอะไรให้เด็กๆระหว่างลงพื้นที่?

ตอบ สิ่งที่ผมต้องการสร้างให้เด็กคือภาวะการเป็นผู้นำผู้ตาม เวลาเรามีความคิดเห็นที่ขัดแย้งกันเราต้องฟังผู้นำและเราต้องเป็นผู้ตามที่ดี พวกเราต้องรู้จักฟังซึ่งกันและกัน เราต้องสร้างประสบการณ์ชีวิตให้กับเด็กเพื่อไปใช้ในชีวิตจริง

ถาม การเรียนรู้และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเด็กคือเรื่องอะไร?

ตอบ ความกล้าแสดงออก กล้าคิดกล้าที่จะนำเสนอสิ่งใหม่ๆ บางคนที่ผมเคยสอนเขาตั้งแต่เด็กไม่เคยกล้าที่จะแสดงออกเลย พอเริ่มมาทำโครงการนี้เขาได้มีส่วนร่วมกับโครงการ มีความคิดที่จะเป็นผู้นำ เขาสามารถจับไมค์พูดเวลาประชุม เราเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนของเขา

ถาม เทคนิคหรือเคล็ดลับในการเป็นพี่เลี้ยงของเราคืออะไร?

ตอบ ผมต้องพยายามเข้าไปอยู่ในใจเด็กให้ได้ การเข้าไปอยู่ในใจเด็กไม่ใช่ว่าเราต้องเป็นครูที่ดี บางทีเราต้องสวมบทบาทเป็นผู้ร้ายอาจจะมีดุบ้าง เราต้องเข้าไปอยู่ในใจเด็กให้ได้คือให้เด็กศรัทธาเรา ต้องเป็นเพื่อนคอยให้คำปรึกษาแนะนำ ให้พื้นที่เด็กได้แสดงความสามารถอย่างเต็มที่

ถาม ช่วยยกตัวอย่างวิธีการที่จะสร้างความเป็นเพื่อนกับเด็กในทีม?

ตอบ มีหลายวิธี เด็กแต่ละคนจะมีวิธีที่ไม่เหมือนกัน เช่นบางคนเป็นคนสนุกสนานร่าเริงผมก็จะเข้าไปกอดคอบ้างให้เขารู้สึกคุ้นเคยกับเรา บางคนเงียบๆ ต้องคุยอีกแบบหนึ่ง บางคนติดเกมเราก็เอาเรื่องเกมไปคุย เราต้องมีวิธีการที่แตกต่างหลากหลาย สุดท้ายเราจะชวนเขามาคุยเป้าหมายงานของเรา

ถาม ช่วยขยายความวิธีการเข้าถึงใจเด็กในช่วงที่ทำโครงการ?

ตอบ เราต้องรู้ว่าเด็กมีความสามารถในด้านไหน รู้จักสภาพความเป็นอยู่และนิสัยใจคอ ต้องเข้าใจเขาตรงนั้นก่อนหลังจากนั้นเรามาปรับเข้าหากัน

ถาม ใช้เวลาในการสังเกตเด็กแต่ละคนนานเท่าไหร่?

ตอบ ไม่นานครับ ตอนมัธยมศึกษปีที่ 4 ผมเคยสอนพวกเขามาก่อน เราเจอกันประจำในวิชาสังคม ผมสังเกตและดึงศักยภาพของเขาออกมาให้ได้มากที่สุด

ถาม อาจารย์อยู่กับโครงการนี้มานานเท่าไหร่?

ตอบ 1 ปี

ถาม ในระหว่างทำโครงการมีปัญหาอุปสรรคอะไร?

ตอบ เวลาว่างของเด็กไม่ตรงกันเป็นปัญหาใหญ่ที่สุด เนื่องจากเด็กกิจกรรมเยอะ งานเยอะเป็นเรื่องยากที่จะเอาเด็กทุกคนมาทำกิจกรรมเพราะเวลาพวกเขาไม่ตรงกัน

ถาม แก้ปัญหาเรื่องเวลาว่างที่ไม่ตรงกันอย่างไร?

ตอบ ผมจะพยายามจัดสรรเวลา ผมจะใช้เวลา 15:30 น. ถึง เวลาเลิกเรียน หรือ คาบว่างจะให้เด็กมาคุยงานกันช่วงนั้น

ถาม มีปัญหาอื่นอีกหรือไม่?

ตอบ ปัญหาเรื่องพาหนะที่จะพาเด็กไปทำกิจกรรม เพราะว่าเด็กในทีมมีประมาณ 15 คน นัดไปรถคันเดียวไม่ได้ต้องทำเรื่องยืมรถโรงเรียน บางทีรถโรงเรียนก็ไม่ว่างเพราะต้องใช้ในราชการ อีกหนึ่งปัญหาคือเรื่องครอบครัวของเด็ก ผู้ปกครองสนับสนุนเต็มที่แต่ด้วยความที่เขาเป็นห่วงเด็กในการเดินทาง ผู้ปกครองบ่นว่าทำกิจกรรมเยอะไม่ค่อยได้อยู่บ้าน กังวลเรื่องอุบัติเหตุบ้าง เราแก้ปัญหาโดยเราต้องไปคุยกับผู้ปกครองให้ อธิบายให้ผู้ปกครองเข้าใจว่าทำกิจกรรมอะไรที่ไหน ถ้าผู้ปกครองของเด็กคนไหนมีปัญหาผมจะเป็นคนโทรไปคุยให้

ถาม เรียนรู้เรื่องอะไรบ้างในฐานะพี่เลี้ยงโครงการ?

ตอบ ผมได้รู้จักคนมากขึ้น ได้เห็นคนที่มีอุดมการณ์เดียวกันเรื่องการพัฒนาสังคมพัฒนาท้องถิ่น มันเป็นความเชื่อของผมที่ว่าเด็กเป็นอนาคตที่สำคัญ เรามีหน้าที่พัฒนาตัวเด็กให้มากที่สุดนั่นคือเป้าหมายของผม เรื่องที่สองผมได้ฝึกทักษะการเป็นผู้นำของตัวเอง ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ได้เข้าร่วมอบรมการเป็นพี่เลี้ยง ผมสังเกตเด็กกลุ่มอื่นๆ ที่มาเข้าร่วมผมได้ฝึกการเป็นผู้นำในตัวเองมากยิ่งขึ้น

ถาม การเปลี่ยนแปลงที่เป็นที่สุดตลอดระยะเวลา 1 ปี คือเรื่องอะไร?

ตอบ เราได้เห็นแนวทางวิธีคิดที่หลากหลายในการพัฒนาท้องถิ่นของเรา เราไปเห็นคนอื่นเห็นเครือข่ายทำอะไรที่หลากหลาย ผมมีมุมมองที่กว้างมากขึ้นจากการที่ได้ฟังเรื่องราวของพี่เลี้ยงคนอื่นมันมีค่าสำหรับผม

ถาม มีความคิดไหนบ้างที่อาจารย์คิดว่าน่าสนใจ?

ตอบ เราได้เห็นประสบการณ์ชีวิตของแต่ละคน มีพี่เลี้ยงบางท่านเขามีปัญหาเรื่องสุขภาพแต่ว่าเขาพยายามทำเพื่อเด็กของเขา บางคนที่เคยล้มเหลวเขาก็สามารถหลุดพ้นจากความล้มเหลวนั้นจนประสบความสำเร็จ ในตอนแรกผมคิดว่าผมบ้าอยู่คนเดียวที่มาทำงานเกี่ยวกับอาสาสมัคร พอได้มาเห็นหลายหลายคนได้เห็นมุมมองอื่นคนที่มีอุดมการณ์เหมือนกันทำอะไรคล้ายๆ กัน รู้สึกว่าเราไม่ได้บ้านะเรามีเพื่อน

ถาม อยากพัฒนาตัวเองในด้านไหน?

ตอบ เรื่องของความรู้ใหม่ๆ บางสิ่งบางอย่างเราต้องเรียนรู้ไปกับเด็ก ต้องต้องศึกษาให้มากกว่าเด็กเพื่อที่เราจะมอบความรู้ให้เด็กได้ เรียนรู้นวัตกรรมใหม่ๆพี่เอามาพัฒนาเด็กได้ อยากพัฒนาโครงการให้ดียิ่งขึ้น

ถาม เป้าหมายหลังจากนี้คือเรื่องอะไร?

ตอบ เด็กแต่ละรุ่นจะแตกต่างกัน แต่สิ่งที่ผมเห็นและผมจะบอกเด็กเสมอ ชีวิตคนเรามันไปข้างหน้าเรื่อยๆ เราไม่สามารถย้อนเวลากลับมาได้ เราควรจะเรียนรู้และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ ได้ทำอะไรที่แปลกใหม่ให้ได้มากที่สุด เพื่อเป็นประสบการณ์การไปใช้ทำงานในจะอนาคต ถ้าเด็กคนไหนคิดตรงกันเราก็มาร่วมกันทำโครงการอย่างใดอย่างหนึ่ง ตอนนี้ผมยังไม่รู้ว่าจะทำอะไรแต่อยากจะสนับสนุนเด็กต่อไป ผมจะเขาให้คิดว่าเขาอยากทำอะไร ผมจะคอยทำหน้าที่สนับสนุน

ถาม นอกจากโครงการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว อาจารย์มีประเด็นอื่นที่อยากทำอีกไหม?

ตอบ ผมเคยเสนอเรื่องเกี่ยวกับประเพณี อาหารประจำท้องถิ่น สินค้าประจำหมู่บ้านเคยเสนอเด็ก เด็กอยากให้เขาพัฒนาด้านนี้ต่อ เพราะ เพจของเรามีคนติดตาม 3000 วิว เราควรต่อยอดอาจจะเป็นการหารายได้ให้กับท้องถิ่นต่อไปด้วย

ถาม เป้าหมายที่แท้จริงของการมาเป็นพี่เลี้ยงโครงการคือเรื่องอะไร?

ตอบ เป้าหมายของผมคือ การสนับสนุนให้เด็กได้ทำเต็มที่เต็มความสามารถเต็มศักยภาพของเขา

ถาม วิธีการค้นหาศักยภาพในตัวเด็กทำอย่างไร?

ตอบ ใช้วิธีสังเกตเด็ก เช่น เห็นเด็กบางคนมีแววแต่ไม่กล้าแสดงออก หลังจากนั้นกระตุ้นผลักดัน บอกเขาว่าเขามีความสามารถที่จะแสดงออกนะ เราต้องให้เขาระเบิดความสามารถของเขาออกมาได้เต็มที่ให้เขาทำในสิ่งที่อยากทำและสนับสนุนเด็กให้เต็มที่ “สังเกต กระตุ้น สนับสนุน

ถาม โครงการนี้ช่วยให้เด็กในโครงการมีความเป็น Active citizen อย่างไร? (ในมุมมองของอาจารย์สอนสังคมศึกษา)

ตอบ ที่เห็นคือการเข้าหาชุมชน เด็กบางคนไม่เคยลงพื้นที่ ไม่เคยออกจากพื้นที่เดิมๆ เขาได้เปิดโลกใหม่ของเขาในการเดินทางไปในที่ต่างๆ ได้คุยกับผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่นเพื่อพัฒนาหมู่บ้านของเขา

ถาม กิจกรรมแบบนี้เชื่อมโยงกับวิชาสังคมศึกษาที่อาจารย์สอนอย่างไรบ้าง?

ตอบ เรื่องสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นประวัติศาสตร์ ผมว่าอาจจะไม่ค่อยเกี่ยวเท่าไร สิ่งที่เกี่ยวน่าจะเป็นทักษะชีวิตที่เด็กสามารถนำไปปรับใช้กับตัวเขามากกว่า อย่างที่ผมบอกไปตอนต้นโครงการนี้จะเป็นการเปิดโลกเด็ก ให้รู้จักโลกที่กว้างมากกว่าที่พวกเขาเรียนในห้องเรียน

ถาม ในฐานะครูมีความเป็นได้มากน้อยแค่ไหนที่จะจัดการเรียนรู้ในลักษณะนี้ในห้องเรียน?

ตอบ ปัจจุบันในหลายโรงเรียนมีการนำนวัตกรรมแบบนี้มาใช้ในห้องเรียน เช่นโรงเรียนมาตรฐานสากล เรียกวิชานี้ว่า IS บางสิ่งบางอย่างก็ขึ้นอยู่กับบริบทของโรงเรียนว่าเขาสนับสนุนเต็มที่ขนาดไหน ถ้าโครงการแบบนี้ไปลงในโรงเรียนทุกที่เป็นเรื่องที่ดี เช่นหนึ่งโรงเรียนหนึ่งนวัตกรรม ผมมองว่าโครงการแบบนี้เป็นเรื่องนวัตกรรม เด็กควรที่จะได้เรียนรู้อะไรแบบนี้

ถาม ถ้าครูในโรงเรียนสนใจที่จะเข้าร่วมต้องเรียนรู้อะไรหรือวางบทบาทตัวเองอย่างไรบ้าง?

ตอบ สิ่งสำคัญคือเสียสละเพราะกิจกรรมตัวนี้ไม่อยู่ในเวลาสอน ทำไปไม่ใช่ว่าจะได้เงินเดือนที่เพิ่มขึ้นต้องเสียสละเพื่อเด็ก ต้องมีใจที่อยากจะทำมีเวลาที่จะเสียสละและทุ่มเทให้กับเด็กอย่างเต็มที่

ถาม หลังจากได้เห็นการทำงานของเด็กตลอดระยะเวลา 1 ปี ที่ทำโครงการ อาจารย์รู้สึกอย่างไร?

ตอบ ความรู้สึกครั้งแรกคือตกใจไม่คิดว่าเด็กจะทำได้ดีขนาดนี้ จนบางทีมาคิดในใจว่าเราอาจจะปิดบังความสามารถเด็ก หรือครูหลายหลายท่านอาจจะปิดบังความสามารถเด็ก พยายามกดความสามารถเด็กไว้ แต่ถ้าเราปล่อยให้เขาทำอะไรที่เขาอยากจะทำเต็มที่ ปรากฏว่าเราเห็นสิ่งที่มันแตกต่างหลายมุมมอง บางรูปที่เด็กไปถ่ายถูกนำไปแชร์มากกว่า 100 ครั้ง ผมรู้สึกภูมิใจมากที่เขาได้ลงมือทำแล้วมีผลตอบรับในสังคมกว้าง

ถาม มีผู้ใหญ่ในโรงเรียนได้เคยเห็นโครงการนี้ไหม? มีเสียงสะท้อนอย่างไรบ้าง?

ตอบ ท่านผู้อำนวยการชื่นชมมาก ท่านเกษียณไปแล้วท่านบอกว่า เด็กได้ทำขนาดนี้ถือว่าพวกเขาเก่งมากควรที่จะสนับสนุนต่อไป หลายครั้งในการประเมินโรงเรียนได้นำเพจ “the story อุทุมพรพิสัย” เปิดให้คณะกรรมการประเมินได้ดู เขาชื่นชมว่าเด็กอายุเท่านี้สามารถทำได้เท่านี้ถือว่ามีความสามารถที่หลากหลายมาก ผมเห็นผู้ติดตามในเพจและมีการแชร์ส่งต่อไป ผมถือว่าโครงการนี้ประสบความสำเร็จแล้ว เด็กหลายคนได้พัฒนามากขึ้นจริงๆ

ถาม อยากให้โครงการนี้พัฒนาไปในทิศทางไหน?

ตอบ ผมคุยกับเด็กมาตลอดว่ามันมาขนาดนี้แล้วควรจะไปต่อ เพราะโครงการนี้ดีมากเราต้องกระตุ้นต่อ ทำเรื่องสินค้า Otop หรือ วัฒนธรรมของ อ.อุทุมพรพิสัย อยากให้พัฒนาไปมากกว่านี้

ถาม วิธีการไหนที่เราจะได้ครูพี่เลี้ยงตามคุณสมบัติที่อาจารย์บอกมาข้างต้นมาเข้าร่วมโครงการ?

ตอบ ต้องมองสองมุม มุมของฝ่ายเจ้าของโครงการที่ต้องลงมาถึงครูด้วย บางทีโครงการไม่ได้มาที่โรงเรียน อาจารย์บางท่านที่เขาไม่ได้ติดตามผ่านอินเตอร์เน็ตเขาไม่รู้ ส่วนทางฝั่งครูเราต้องรู้จักแสวงหาข้อมูลหาช่องทางที่จะพัฒนาเด็กให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น สองฝั่งต้องเชื่อมเข้าหากัน

ถาม ในโรงเรียนมีเครือข่ายเพื่อนครูที่สนใจเข้าร่วมไหม?

ตอบ ผมชวนอยู่ครับ วางโครงการไว้ว่าเราจะเล่นดนตรีบำบัดที่โรงพยาบาล ตอนนี้อยู่ในช่วงทำรูปแบบคิดว่าจะเกิดขึ้นในปีการศึกษาหน้า และขยายต่อโครงการนี้แต่ต้องรอให้เด็กสอบปลายภาคเสร็จก่อนจะประชุมกันอีกครั้งหนึ่ง