​นายศราวุฒิ ยงกุล : โครงการศึกษารูปแบบการจัดการทรัพยากรธรรมชาติบ้านหนองสะมอนเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งหาอยู่หากินของคนชุมชน

นายศราวุฒิ ยงกุล (วุฒิ) อายุ 38 ปี ตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน (บ้านหนองสะมอน)

โครงการศึกษารูปแบบการจัดการทรัพยากรธรรมชาติบ้านหนองสะมอนเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งหาอยู่หากินของคนชุมชน

สัมภาษณ์ 27 กุมภาพันธ์ 2563

­

­

ถาม ขอให้แนะนำตัวและโครงการที่ทำ?

ตอบ ชื่อศราวุธ ยงกุล เป็นผู้ใหญ่บ้านหนองสะมอน ตำบลเมืองหลวง อำเภอห้วยทับทัน จังหวัด ศรีสะเกษ เป็นพี่เลี้ยงโครงการศึกษารูปแบบการจัดการทรัพยากรธรรมชาติบ้านหนองสะมอนเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งหาอยู่หากินของชุมชน

ถาม เข้ามาทำงานในชุมชนบ้านหนองสะมอนได้อย่างไร?

ตอบ ก่อนหน้านี้ก็เป็นวัยรุ่นทั่วไปจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 เข้าไปทำงานในกรุงเทพ ผมตั้งใจจะไปทำงานสร้างฝันสร้างอนาคตที่กรุงเทพ ผมอยู่กรุงเทพได้ 10 ปีกลับกลายว่ากรุงเทพไม่มีอะไรที่เราต้องค้นหาอีกต่อไป สิ่งที่เราต้องค้นหาจริงๆ คือเราต้องค้นหาตัวเราเองและคุณค่าในตัวเรา ผมเลยตัดสินใจกลับมาอยู่บ้าน กลับมาที่บ้านในตอนนั้นผมยังอยู่ในเกณฑ์เยาวชนอยู่ ผมได้รับเลือกเป็นประธานเยาวชนได้ทำงานร่วมกับน้องๆ เยาวชนทำงานบุญประเพณีในหมู่บ้านและงานกีฬาสำคัญต่างๆ ระหว่างนั้นก็ได้เรียนรู้วิธีการทำงานพฤติกรรมของเด็กๆ ไปด้วย ว่าพวกเขามีวิธีคิดหรือทัศนคติอะไร ที่จริงจุดประสงค์หลักในการที่เข้ามาทำงานเยาวชน ผมเห็นว่าเยาวชนเป็นตัวแปรสำคัญในการพัฒนาชุมชนในอนาคต

ผมมีเป้าหมายที่จะกลับมาอยู่บ้านเพื่อพัฒนาชุมชนของตัวเอง พัฒนาบ้านเกิดให้ได้มีโอกาสเข้าถึงโอกาสเพราะที่ผ่านมาผู้นำในยุคหลังยังมองหาโอกาสที่จะพัฒนาชุมชนของตัวเองไม่เจอ ผมมองเห็นแบบนี้ผมอยากพัฒนาชุมชน ผมเลยเริ่มจากการศึกษาและทำงานกับเยาวชน หลังจากนั้นได้มีโอกาสรวมกลุ่มอาชีพตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนเพื่อชุมชนมาโดยตลอดเป็นงานสร้างฝายและงานสาธารณะประโยชน์ต่างๆ ในระหว่างที่ทำโครงการเหล่านี้ได้เชิญน้องๆเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วม ปัญหาสังคมในบ้านเราคือเรื่องการถ่ายโอนวัฒนธรรม การถ่ายโอนแนวความคิดปลูกฝังให้เด็กๆ รักบ้านเกิด สิ่งเหล่านี้มันจะหายไปในช่วงอายุหนึ่ง พอพวกเขาเติบโตและกลับมาที่บ้านเกิดเขาจะไม่รู้เลยว่าทำไมเขาจะต้องทำงานเพื่อส่วนรวมเพื่อชุมชน ทำไมต้องมีจิตอาสา ผมเลยมองว่าเยาวชนเป็นแกนหลักในการพัฒนาชุมชน ผมพยายามสร้างให้เยาวชนมีส่วนร่วมกับงานในหมู่บ้าน พอหลังจากผู้นำหมดวาระลง ผมได้สมัครเป็นผู้ใหญ่บ้าน ชาวบ้านได้เลือกผมเข้ามาเป็นผู้ใหญ่บ้าน ผมได้มีโอกาสทำงานเพื่อชุมชนมากขึ้น ได้มีโอกาสผลักดันให้เยาวชนเข้ามาทำงานในชุมชนมากขึ้น ในกรอบของประธานเยาวชนก็ทำงานได้ในระดับหนึ่ง ในกรอบของผู้ใหญ่บ้านทำงานได้มากกว่า เราสามารถเชิญชวนหรือชี้แนะให้ผู้ปกครองเข้าใจ ยอบรับฟังแนวความคิดและเห็นความต้องการของเด็กๆ ได้ ผมเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงโครงการศึกษารูปแบบการจัดการทรัพยากรธรรมชาติบ้านหนองสะมอน ผมอยากให้น้องๆ ได้เห็นว่าทรัพยากรธรรมชาติมันสำคัญแค่ไหน ส่งผลอย่างไรบ้างกับชุมชนเรา

ถาม ผู้ใหญ่บ้านมานานเท่าไหร่?

ตอบ 1 ปี

ถาม โครงการที่ประทับใจคือโครงการอะไร?

ตอบ โครงการฟื้นคืนวัฒนธรรม นั่นคือโครงการบุญบั้งไฟ สมัยก่อนหมู่บ้านหนองสะมอนเป็นหมู่บ้านที่มีชื่อเสียงเรื่องงานบุญบั้งไฟมาตั้งแต่เริ่มแรก แต่ในยุคหนึ่งผู้นำไม่สานต่อวัฒนธรรมนี้ก็หายไปเกือบ 20 ปี พอผมได้รับตำแหน่งเป็นผู้นำงานแรกที่ผมจัดขึ้นก็คืองานบุญบั้งไฟ สิ่งที่ได้จากการจัดงานคือการหล่อหลอมการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน เพราะชุมชนในส่วนมากจะมีปัญหาเรื่องความขัดแย้งของการเลือกตั้ง ทั้งเลือกตั้งท้องถิ่นหรือเลือกตั้ง ส.ส. เกิดปัญหาทางความคิดไม่สามารถประสานกันได้ ผมพาคนในชุมชนทำกิจกรรม นำวัฒนธรรมที่มีอยู่ในอดีตกับคืนมาสามารถสร้างความสามัคคีให้กับชาวบ้านในชุมชนนั่นคือความภูมิใจแรกของผม

หลังจากนั้นมีโครงการทำฝายมีชีวิตในชุมชน ในหมู่บ้านจะมีโซนที่แล้ง โซนที่ท่วมและโซนที่น้ำไหลผ่านไปเฉยๆ เราชวนคนในชุมชนทำฝายมีชีวิตหลังจากนั้นระบบนิเวศก็กลับคืนมา ในส่วนที่เคยท่วมน้ำได้ระบายออกไป ในส่วนที่แล้งสามารถกักเก็บน้ำได้ และอีกหนึ่งความภูมิใจคือได้สร้างสะพานร่วมกับพี่น้องในชุมชนซึ่งงบประมาณ 1,500,000บาท พวกเราไม่ได้ใช้เงินของรัฐบาลเลยแม้แต่บาทเดียว เป็นงานที่เห็นความสามัคคีของพี่น้องร่วมกันแสดงออกอย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุด สิ่งที่ภูมิใจก็คือเรากำลังหล่อหลอมสังคมที่กำลังแตกแยกเห็นแก่ตัวให้กลับมามีส่วนร่วม ผมอยากให้น้องเยาวชนได้เห็นถึงกระบวนการและซึมซับวิธีการทำงานเพราะผมเองก็เป็นผู้ใหญ่บ้านที่อายุน้อยแต่ทำไมคนอาวุโสในชุมชนถึงทำตามได้

ถาม บทบาทของผู้ใหญ่ในการเป็นพี่เลี้ยงโครงการคืออะไร?

ตอบ ผมช่วยน้องคุยเพื่อหาความต้องการว่าพวกเขาอยากทำอะไรในชุมชนบ้าง เขาอยากมีใจพัฒนาชุมชนในรูปแบบไหน น้องๆ ในโครงการร่วมกันคิดพูดคุยและสังเคราะห์ความต้องการของพวกเขาเอง พวกเขาอยากให้ป่าในชุมชนกลับขึ้นมา เมื่อก่อนป่าบ้านเราเป็นป่าค่อนข้างทึบมีความหนาแน่นพอสมควร มีพืชพรรณที่สมบูรณ์ ช่วงจังหวะที่พวกเขากำลังเติบโตมีพื้นที่ป่าที่กำลังหายไป พวกเขาเห็นปัญหาด้วยตัวเขาเองโดยที่ผมมีหน้าที่กระตุ้นตั้งคำถามเปิดโอกาสให้เขาได้แสดงความคิดเห็น

ถาม หลังจากที่น้องเยาวชนได้หัวข้อโครงการ บทบาทการเป็นพี่เลี้ยงต้องทำอะไรบ้าง? มีแนวทางในการสนับสนุนน้องๆอย่างไร ? (ช่วยเล่าเป็นเหตุการณ์)

ตอบ ผมชวนน้องน้องเข้าป่าเป็นอันดับแรก คุณไปดูฝายที่เราทำ ฝากสร้างประโยชน์อะไรกับชุมชนของเรา พาไปดูพื้นที่จริงได้เห็นป่าที่สมบูรณ์และป่าที่โดนทำลาย หลังจากพาไปสำรวจน้องๆ เกิดการตั้งคำถามว่าทำไมป่าตรงนี้ไม่เหมือนสมัยก่อน ทำไมป่าตรงนี้ถึงเป็นแบบนี้ ผมจะเล่าเรื่องราวสาเหตุและผลกระทบให้น้องๆ ฟัง และชวนคุยต่อในฐานะเยาวชนพวกเราจะทำอะไรได้บ้าง ผมพยายามปลุกไฟให้น้องๆ เสมอว่าสมัยก่อนผมเองก็เป็นเยาวชน ตอนกลับมาชุมชนแรกๆ แทบจะไม่มีใครรู้จัก แต่ผมมีความตั้งใจที่อยากจะพัฒนาชุมชน ถ้าวันนั้นผมทำได้วันนี้น้องๆ ก็ทำได้เหมือนกับผม

ถาม มีวิธีการอย่างไรในการเสริมพลังให้น้องเยาวชน?

ตอบ บางทีน้องๆ เขาผิดหวังกับเรื่องราวของชีวิตตัวเองเช่นมีปัญหาส่วนตัวบ้าง อกหักบ้างบางทีผมถึงกับต้องซื้อผ้าอนามัยมาให้น้องก็มี เราต้องเข้าถึงน้องๆ ให้มากที่สุดเท่าที่เราจะทำได้เราอยู่เป็นเพื่อนไม่สบายเราหายาให้ พอเขามีปัญหาอะไรเขากล้าที่จะคุยกับเรา เขากล้าที่จะเปิดใจ เห็นว่าเราเป็นพื้นที่ปลอดภัยของเขา

ถาม อะไรที่ทำให้น้องสนิทกับผู้ใหญ่วุฒิแบบนั้นได้?

ตอบ หมูกะทะ ถ้าน้องๆ เครียดนึกอะไรไม่ออกไม่รู้จะทำอะไรเราก็ชวนไปกินหมูกระทะ พอไปกินหมูกระทะบรรยากาศก็จะผ่อนคลาย เฮฮาปาร์ตี้ ชวนคุยเรื่องนั้นเรื่องนี้พูดถึงเรื่องงานบ้างพอเขาผ่อนคลายเขาก็สามารถจะคิดอะไรใหม่ๆ ได้ พวกเขาจะหาแนวทางแก้ปัญหาได้โดยที่เขาไม่รู้ตัว ผมจะใช้เวลาในช่วงนี้คอยเสริมสนับสนุนพวกเขา สิ่งที่ผมจะไม่พยายามทำคือผมจะไม่วางกรอบความคิด ผมจะไม่ชี้นำผมจะชวนตั้งคำถามปลายเปิดให้พวกเขาได้คิดได้ลองถามกันดู ถ้าทำแบบนี้จะเป็นแบบไหน ถ้าทำแบบนั้นจะเป็นอย่างไร มีวิธีการอื่นที่ทำได้ดีกว่านี้อีกไหม เป็นต้น

ถาม มีเทคนิค วิธีการอะไรบ้างที่ใช้บ่อยๆ แล้วได้ผลลัพท์ที่ดี?

ตอบ ผมมักจะพูดกับเด็กเสมอว่าผู้ปกครองหลายคน เขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเรามีศักยภาพมากน้อยแค่ไหน ที่จริงเราสามารถทำอะไรก็ได้ที่เราอยากจะทำ แค่ว่าเรายังไม่ลงมือทำก็เท่านั้น ถ้าผู้ปกครองเห็นว่าเราทำไม่ได้เราแค่ลงมือทำแล้วแสดงให้เห็นว่าเราทำได้ มันจะดีกว่าไหมถ้าเราไม่ได้ทำอะไรเลย พอผมพูดแบบนี้บ่อยบ่อยเด็กจะมีแรงบันดาลใจ มีแรงสู้ สามารถใช้ได้ผลในทุกครั้ง เราต้อง”เติมไฟเติมฝันย้ำเป้าหมาย” ผมมักจะเล่าประสบการณ์ของตัวเองให้พวกเขาได้ฟัง ชวนพวกเขาวางแผนให้เห็นขั้นตอน1 2 3 ผมพยายามทำให้น้องๆ ได้เห็นว่าในอนาคตพวกเขาสามารถเป็นผู้นำหมู่บ้านได้ พวกเขาทำอะไรก็ได้ที่สามารถช่วยพัฒนาชุมชนของตัวเองได้ พวกเขาทำได้โดยตัวของเขาเองไม่ต้องรอผู้ใหญ่มาชี้นิ้วต้องทำแบบนั้นแบบนี้ ฝึกให้เขามีกระบวนการคิดวิเคราะห์ วางแผน ลงมือทำ

ถาม จากวิธีการนี้ เห็นการเปลี่ยนแปลงในตัวเยาวชนอย่างไร?

ตอบ การเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน ในการเป็นพี่เลี้ยงผมไม่ได้วางแนวทางปฏิบัติตลอดอยากที่ผมบอก จะใช้วิธีการตั้งคำถามพอพวกเขาได้คิดบ่อยทำบ่อย เขาจะมีกระบวนการคิดของเขาเองโดยอัตโนมัติ เขาจะซึมซับเองว่าเขาทำงานแบบมีระบบ นั่นแหละคือระบบงานที่แท้จริง

ถาม ช่วยยกตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงของน้องในโครงการ ใครเปลี่ยน เปลี่ยนอย่างไร?

ตอบ น้องเบลล์ เมื่อก่อนน้องเบลล์จะไม่มั่นใจในตัวเอง แต่ที่จริงน้องเบลล์มีศักยภาพในตัวเองสูงแต่เขาไม่มั่นใจเขาไม่รู้ว่าทำอย่างไรให้งานสำเร็จ พอเขาได้แนวทางแรงบันดาลใจจากผมได้วิธีคิดได้ตัวอย่างเขาสามารถนำไปปรับใช้กับตัวเขาได้ สามารถนำพาน้องในทีมทำงานอย่างเป็นกระบวนการได้ เมื่อก่อนอาจจะยังจับประเด็นไม่ได้ ไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหน ไปหาใคร ทำอะไร แต่ทุกวันนี้เขาจะเรียกน้องในทีมมาประชุมว่าถ้าเรามีโจทย์แบบนี้เราจะทำอะไร ทำอย่างไร การตั้งคำถามแบบนี้ทำให้ในทีมรู้ว่าจะไปหาคำตอบอย่างไร ไปหาใคร ไปทำอะไร โดยที่ผมไม่ต้องบอกด้วยซ้ำว่าในทีมต้องทำอะไร เขาจัดการกันเองได้

ถาม ได้วิธีการคิดอย่างเป็นระบบมาจากไหน ได้มาอย่างไร?

ตอบ นิสัยส่วนตัวผมชอบมองอะไรที่ไม่เหมือนคนอื่น ผมพยายามมองหลายหลายมุม หาบางมุมที่คนอื่นไม่เห็น พัฒนาตัวเองอยู่เสมอ สมัยตอนไปกรุงเทพฯ ผมทำงานเพื่อหารายได้พิเศษ ผมเรียนมหาวิทยาลัยแต่ก็เรียนไม่จบ ระหว่างนั้นผมอยากพัฒนาตัวเองผมไปสมัครเป็นพนักงานขายประกันของบริษัท AIA เพราะคิดว่าเขาอบรมตัวแทนประกันได้ดีที่สุด ตอนที่เป็นตัวแทนขายประกันเขาสอนให้ผมทำงานเป็นระบบ พอผมได้วิชาผมก็กลับมาใช้ชีวิตที่ชุมชนของเรา

ถาม ปัญหาอุปสรรคในการเป็นพี่เลี้ยงมีอะไรบ้าง?

ตอบ เนื่องจากน้องๆ เยาวชนในทีมส่วนมากเป็นผู้หญิง ปัญหาส่วนใหญ่คือผู้ปกครองไม่ไว้ใจในตัวผมเพราะผมไม่มีครอบครัว การที่จะส่งน้องๆ ผู้หญิงมาทำงานกับผม เขาเกิดความไม่ไว้วางใจเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนเพราะผมเองก็ต้องเป็นส่วนหนึ่งของเด็กให้ได้ เข้าใจเด็กให้ได้ ทำงานร่วมกับเด็กให้ได้ มันเหมือนกับผมไปจีบเด็ก มีผู้ปกครองบางคนกันเด็กออกจากผม ห้ามผมมาพูดคุยกับเด็กๆ บางคนเจอหน้าผมต่อว่าก็มี ปัญหาค่อนข้างหนักแต่การจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ต้องใช้เวลามากพอสมควรที่จะพิสูจน์ตัวเองว่าเรามาทำงานไม่ได้คิดอะไรกับลูกของเขา เราไม่ได้นำพาเด็กๆ ไปในทางไม่ดี

ถาม แก้ไขปัญหานี้อย่างไร?

ตอบ แสดงออกให้เห็นว่าเรามาทำงานร่วมกัน ทำงานอย่างเปิดเผยสู่สาธารณะผู้ปกครองเห็นว่าเราไม่ได้พาเด็กไปในทางที่ไม่ดี เวลาที่มีงานประชุมในชุมชนจะให้ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมและชี้แจงว่าน้องๆ กำลังทำอะไรอยู่ เพื่อให้คนในครอบครัวเข้าใจมากขึ้น

ถาม มีวิธีการสื่อสารกับผู้ปกครองอย่างไร?

ตอบ ผมรับฟังอย่างเดียว ไม่โต้แย้ง ถามว่าผมเสียใจไหม ผมตอบว่าเสียใจ เรามีเจตนาที่ดีเรากำลังพยายามช่วยเหลือลูกของเขา บางอย่างเรารู้ปัญหาลูกเขาแต่เราพูดกับเขาไม่ได้ แต่กลับกลายเป็นว่าเขามองเราในแง่ลบ ผมพยายามทำให้ผู้ปกครองเห็น

ถาม ตอนนี้สถานการณ์ปัญหานี้เป็นอย่างไร?

ตอบ สถานการณ์ดีขึ้น สิ่งที่ผมทำเป็นรูปธรรมงานที่เด็กทำก็เป็นรูปธรรม เด็กๆ สามารถพัฒนาศักยภาพของตัวเองให้ผู้ปกครองเห็นว่าการที่เขาหายไปมันมีประโยชน์กับเขาอย่างไร ประโยชน์ที่เด็กได้รับเป็นการอธิบายตัวผมว่าผมกำลังทำอะไรอยู่

ถาม มีข้อแนะนำอะไรในการเป็นพี่เลี้ยงถ้าเขาได้เจอปัญหาแบบเรา?

ตอบ ถ้าคุณเจอสถานการณ์แบบนี้ สิ่งที่คุณต้องมีจริงๆ ก็คือไฟในใจคุณที่ไม่เคยมอด ไฟแห่งการปรารถนาดีต้องไม่มอด เราต้องคอยเติมไฟอย่าหมดแรงบันดาลใจในการทำงานแบบนี้

ถาม มีเทคนิคอะไรในการจัดการปัญหาเรื่องเพศในฐานะเป็นผู้ใหญ่บ้านที่ต้องงานใกล้ชิดเด็ก?

ตอบ ปัญหาคือความไม่เชื่อมั่นในตัวผม ผมจะต้องทำอย่างไรให้คนเชื่อมั่นในตัวผม วิธีการที่ผมทำตลอดในช่วงเข้าพรรษผมจะทำวัตร สวดมนต์ทุกวัน ในวัดมีผู้ปกครองเข้าร่วมสวดมนต์ผมจะเป็นผู้ชายคนเดียวที่เข้าไปในวัดที่เหลือมีแต่ผู้หญิงและคนสูงวัย ผมทำจริยวัตรน่าไว้วางใจเวลาทำงานกับน้องๆ จะไม่ไปไหนกันสองคน ความเชื่อมั่นจากการที่เราเป็นประธานเยาวชน เราเป็นประธานวิสาหกิจชุมชน เราจะช่วยให้ผู้ปกครองมีรายได้ เราคิดดีทำดีมันจะเป็นสิ่งสะท้อนในระหว่างทางที่เราทำงานมาตลอดและความเชื่อมั่นนั้นมันจากค่อยๆกลับมา กลับกลายเป็นว่าจากคนที่เคยเกลียดเราเวลาเราเดินผ่านบ้านเขาตอนนี้เขาเรียกเราไปกินข้าว

ถาม เหตุการณ์อะไรที่ทำให้ผู้ปกครองเปิดใจกับเรา?

ตอบ ผมชวนน้องๆ ทำงานบุญบั้งไฟ ในงานนี้ต้องใช้น้องๆ เป็นทีมงานถึง 40 คน จากที่ผู้ปกครองคิดว่างานแบบนี้ไม่มีใครทำ จะรวมตัวเด็กๆ ได้ แต่วันนั้นมีทีมงานเด็กจำนวน 50 คน แต่ละคนแบ่งหน้าที่กันทำงานออกมาได้ดีมาก ผลลัพธ์ที่ออกมาจากงานทำให้ผู้ปกครองภูมิใจในตัวลูกของเขา พอเสร็จงานบุญบ้างไฟผมให้น้องๆ มาสรุปบทเรียนในงานประชุมประจำเดือนของชุมชน น้องสามารถอธิบายได้ว่าเขาทำอะไรผู้ปกครองหลายคนไม่เคยเห็นน้องๆ สามารถพูดสื่อสารในที่สาธารณะได้

ถาม กลับมาอยู่บ้านได้กี่ปี?

ตอบ 8 ปี ต้นทุนตอนกลับมาคือไม่มีใครในชุมชนรู้จักเราเลย เราออกไปตั้งแต่ยังเด็ก ผู้ใหญ่ในชุมชนไม่รู้จักเรา เด็กๆ ในชุมชนไม่รู้จักเรา

ถาม เข้ามาทำงานในชุมชนได้อย่างไร?

ตอบ ตอนนั้นที่ชุมชนกำลังเลือกประธานเยาวชนพอดี ผมเข้าไปเสนอตัว ตอนนั้นเลยได้รับการเลือก

ถาม เรียนรู้อะไรจากการเป็นพี่เลี้ยงโครงการ?

ตอบ การเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างเด็ก ผู้ปกครอง และคนที่อยากจะพัฒนาชุมชนอย่างผม เมื่อก่อนมันเชื่อมไม่ได้เพราะไม่มีกระบวนการ ไม่มีโครงการพาเด็กๆ ไปทำงาน เด็กไม่ได้สะท้อนอะไรให้ผู้ปกครองเขาเห็น พอมาทำงานร่วมกับเยาวชนเห็นการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของทุกคนในชุมชนเห็นการร้อยเรียงความสามัคคีของคนในชุมชนซึ่งมันสำคัญมาก บางทีเป็นสิ่งที่เราที่เรามองข้าม เราไม่จำเป็นต้องทำงานกับเด็กก็ได้ เราไม่ต้องเป็นพี่เลี้ยงก็ได้แต่ผมเห็นโอกาส ในโอกาสนั้นถ้าเราไม่ทำเราอาจจะไม่ได้เข้าถึงผู้ปกครองของเด็กๆ เราอาจจะไม่รู้ความต้องการจริงๆ ของพวกเขาว่าพวกเขาอยากทำอะไร อาจจะไม่ได้ทำงานใหญ่ๆ ที่ต้องอาศัยแรงและความสามัคคี ผมมองเห็นกลไลการขับเคลื่อนชุมชน

ถาม ตัวเราเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไร?

ตอบ ที่ผ่านมาผมมั่นใจในตัวเองมากคิดว่าในการทำงานผมเจ๋งที่สุด สิ่งที่คนอื่นคิดอยู่คนละระดับกับเรา พอเรามาทำงานกับเยาวชนสิ่งที่เราคิดว่าเราเจ๋งกลับไม่ใช่ เราแค่หาข้ออ้างให้กับตัวเราเอง การสะท้อนความคิดเห็นของเด็กแบบนั้นคือมันจริงกว่าความคิดของเราเสียอีก ทำให้ผมได้ย้อนกลับมาดูตัวเองอะไรที่เราคิดว่าใช่มันไม่ใช่เสมอไป เราควรรับฟังเหตุผลของคนอื่นรับฟังเหตุผลของเด็กไม่ใช่เอาความคิดของเราเป็นหลัก ผมได้กลับมามองเห็นตัวเองชัดเจนมากขึ้น

ถาม มีแนวคิดพัฒนางานในชุมชนอย่างไร?

ตอบ ผมพยายามเปิดพื้นที่ให้คนหลากหลายในชุมชมมารวมตัวกัน เพื่อให้น้องๆ ได้แสดงศักยภาพความสามารถของพวกเขา อีกงานหนึ่งคืองานเกษียณของครูสมบูรณ์ ผมได้จัดงาน 100 ปีบ้านหนองสะมอนควบคู่ไปด้วยเป็นงานแสงสีเสียงที่ใหญ่มาก ไม่มีงานระดับหมู่บ้านที่จัดยิ่งใหญ่ได้ขนาดนี้ จากงานนี้เราจะเห็นว่าเด็กทำได้ขนาดนี้เลยเหรอ ผลตอบรับคือผู้ปกครองภูมิใจและมั่นใจในตัวเด็กๆ มากขึ้น งานแต่ละงานผมจะมอบหมายให้เยาวชน มอบหมายให้กลุ่มผู้ปกครองให้ทุกคนมีส่วนร่วมเพื่อทำงานในชุมชน

ถาม เด็กในชุมชนมีจำนวนกี่คน?

ตอบ 120 กว่าคน มีทั้งคนที่ติดเหล้า ติดยา ติดเพื่อน ติดบ้าน ทุกกลุ่มเราชวนมาทำงานร่วมกับชุมชน

ถาม ภาคีที่สนับสนุนงานในชุมชนคือใคร

ตอบ จะมีส่วนของคนที่เข้ามาดูงานในชุมชน เช่น ธกส กรมวิชาการเกษตร ในระหว่างที่เขามาดูงาน เราจะจัดให้เด็กในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ให้เด็กเป็นคนนำไปดูสวนของผู้ปกครอง หรือ การแสดงต้อนรับ

ถาม อยากจะพัฒนาตัวเองในด้านไหน เพราะว่าอะไร?

ตอบ การควบคุมสภาวะอารมณ์ของตัวเอง ทุกวันนี้สิ่งเร้าในสังคมมันเปลี่ยนไป เราจำเป็นต้องเข้าใจ สิ่งเร้าเหล่านั้น เวลาเด็กมีปัญหาเราจะแก้ปัญหาให้เขาไม่ถูก บางทีความไม่รู้ของเราเผลอไปตัดสินบางสิ่งบางอย่างมันส่งผลทำให้เด็กคนนั้นไม่กลับมาเลยก็มี ฉะนั้นเราต้องระวังมันจะไม่ใช่แค่เด็กแต่ส่งผลกระทบต่อครอบครัวและชุมชน

ถาม เป้าหมายงานพัฒนาเยาวชนในอนาคตคือเรื่องอะไร?

ตอบ อยากให้เด็กฝึกเรื่องการนำเสนอ การเป็นวิทยากรที่สามารถสื่อสารในสิ่งที่เด็กคิด ได้ใช้ความรู้ สิ่งที่ได้ทำ สิ่งที่เขาจะได้กลับมาคือการพัฒนาศักยภาพตัวเอง และค่าตอบแทนในการเป็นวิทยากรเป็นรายได้ให้กับเขา ยกตัวอย่างเมื่อก่อนผมก็ฝึกหัดพูดฝึกหัดนำเสนอ พอพูดแล้วคนอื่นเข้าใจรู้เรื่องก็ถูกเชิญไปเป็นวิทยากร บางทีผมให้เด็กไปกับผมพวกเขาจะได้เห็นบรรยากาศ

ถาม โครงการที่อยากทำในอนาคตคือเรื่องอะไร?

ตอบ สร้างแกนนำ อยากพัฒนาเด็กรุ่นพี่ให้ดูแลเด็กรุ่นน้องได้ เมื่อรุ่นพี่กลับมาในชุมชนอยากให้เขาทำกิจกรรมร่วมกับน้อง นำประสบการณ์ที่เขาไปเจอมาแลกเปลี่ยนกับรุ่นน้อง ดูแลกันเป็นรุ่นๆไป บางทีเด็กยังไม่มีวิจารณญาณในการตัดสินใจเรื่องบางเรื่อง อยากให้มีรุ่นพี่ที่คอยแนะแนวพวกเขาทั้งเรื่องการเรียนการทำงานการใช้ชีวิต

ถาม ในชุมชนมีใครที่เป็นแนวร่วมบ้าง?

ตอบ ก่อนหน้านี้ผมทำวิสาหกิจชุมชนมาก่อน ธนาคารต้นไม้เป็นกิจกรรมหลักในการสร้างได้ให้กับชุมชน สร้างรายได้ในระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว ระยะยาวคือการสร้างทรัพทย์สินคือการปลูกต้นไม้ พอสร้างกลุ่มวิสาหกิจแบบนี้คือการสร้างเครือข่ายของคนในชุมชน พอมีเครือข่ายเราจะเห็นว่าแต่ละคนถนัดในด้านไหน เวลาเราจะทำอะไรซักอย่างในชุมชนเราจะชวนพวกเขาเหล่านั้นมาช่วย เช่น เราจะทำฉากแสงสีเสียงเราไปดึงคนที่เขาออกแบบเป็น คนที่วางโครงสร้างเป็น คนไหนตัดต่อเสียงได้เราชวนมาทำ ถ้าเราไม่มีกิจกรรมอะไรเลยแต่เราไปใช้เขามาทำงานสาธารณะ เคยมีคำถามอยู่เสมอว่า สังคมมันเป็นตัวแบบไหน ไหนทำงานเพื่อสังคมไม่เห็นได้อะไรเลย มันต้องเป็นคนที่มีแนวความคิดเหมือนกัน เวลาเราทำงานใหญ่เราถึงสำเร็จได้

ถาม ความแตกต่างระหว่างการทำงานเด็กกับผู้ใหญ่แตกต่างกันอย่างไร?

ตอบ ไม่ต่าง ผู้ใหญ่บางคนมีหัวใจที่เป็นเด็ก ต้องใช้กระบวนการทางความคิดการมีส่วนร่วม เหมือนกัน การมีส่วนร่วมในชุมชนสำคัญเวลามีกิจกรรมสำคัญของชุมชน เช่น ปีใหม่ถึงจะมีเกียรติบัตรให้กับผู้ปกครองที่มีจิตใจสาธารณะ ยกย่องพวกเขาต่อหน้าสาธารณะชน พูดถึงเด็กๆ ในชุมชนของเราส่งเสริมคุณค่าในตัวพวกเขา

ถาม ในชุมชนมีกองทุนสนับสนุนเพื่อทำงานด้านเยาวชนไหม?

ตอบ กองทุนพัฒนาเยาวชน ได้มาตั้งแต่ที่ผมเริ่มเป็นประธานเยาวชน พี่กับผู้ปกครองในชุมชนว่าเด็กอยากทำกิจกรรมในชุมชนแต่ไม่มีงบประมาณสนับสนุน ปรึกษาคนในชุมชนเราจะทำอย่างไร ยกตัวอย่างเช่นในงานศพได้มีการบริจาคงบสนับสนุน ช่วงแรกผมทำกิจกรรมออกพรรษาและปล่อย โคม กิจกรรมอะไรก็ได้ที่ซื้อมาขายไปเพื่อเอาเงินเข้ากองทุน พอได้เงินกองทุนมาเราเอาไปต่อยอดเพื่อให้ได้เงินกลับคืนมา กองทุนนี้จะสนับสนุนเยาวชนที่อยากทำกิจกรรมกับชุมชนในทุกเรื่อง ผมช่วยเรื่องบริหารจัดการกองทุนอยู่ ขอเพียงแต่เด็กในชุมชนบอกว่าอยากทำอะไร อยากไปไหน