นายณฐกฤต วงษ์พินิจ : โครงการพัฒนาเพิ่มมูลค่าหัตกรรมหวายเทียมบ้านอรุณพัฒนา อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ

นายณฐกฤต วงษ์พินิจ (บูม) อายุ 16 ปี

ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนสวงษ์วิทยาคม

โครงการพัฒนาเพิ่มมูลค่าหัตกรรมหวายเทียมบ้านอรุณพัฒนา อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ

สัมภาษณ์วันที่ 26 มกราคม 2563

ถามจุดเริ่มต้นของการมาทำโครงการของบูมเป็นอย่างไร?

ตอบเพื่อนเข้ามาชวนว่ามาทำโครงการด้วยกันไหม ผมจึงถามไปว่าโครงการอะไร ทำยังไง มีรายละเอียดอะไรบ้าง เพื่อนจึงนำเอกสารมาให้ดู ผมอ่านก็รู้สึกดี จึงเข้าร่วมโครงการ

ถามก่อนหน้านี้ทำโครงการหรือกิจกรรมอื่นๆ มาก่อนบ้างไหม?

ตอบ ก่อนหน้านี้เคยถ่ายตัดต่อหนังสั้นให้สภาเด็กและเยาวชน

ถามเพื่อนร่วมทีมมาจากไหน?

ตอบเป็นเพื่อนในโรงเรียน ที่อยู่หมู่บ้านใกล้ๆ กัน

ถามทำไมถึงสนใจทำหัวข้อนี้?

ตอบเพื่อน (เบญ) ที่อยู่ในโครงการ บ้านเขาทำเกี่ยวกับหวายเทียมอยู่แล้ว เพื่อนจึงเสนอว่าอยากพัฒนาลายการสานจากการทำเฟอร์นิเจอร์ที่ทำอยู่แล้วเพื่อเพิ่มมูลค่า จึงนำมาเป็นหัวข้อโครงการ ผมสนใจหัวข้อนี้อยู่แล้วเพราะสมัยประถมศึกษาปีที่ 5 – 6 ผมเคยเป็นตัวแทนไปแข่งทักษะ และมีพี่ ๆ เข้ามาสอนสานตะกร้า จึงพอทำเป็นอยู่บ้าง ทำให้สนใจมากขึ้น ปกติผมไปเล่นบ้านเพื่อนเป็นประจำ สัปดาห์ละ 4-5 วัน เห็นผู้ใหญ่นั่งถักๆ สานๆ ผมเห็นว่าสวยดี ก็เกิดความสนใจ จึงอยากลองทำดู

ถามกิจวัตรประจำวันทำอะไรบ้าง บูมเป็นคนอย่างไร?

ตอบผมเหมือนเด็กปกติทั่วไป เช้าไปโรงเรียน เย็นเตะฟุตซอลกับเพื่อน กลับบ้านทำการบ้าน บางครั้งทำการบ้านทีเดียวให้เสร็จหมดทั้งอาทิตย์ เพราะคุณครูจะให้เอาไว้แต่ผมจะทำวันสุดท้ายซึ่งจะรวมกันไว้หลายๆ วิชา ผมทำรวดเดียวถึงตี 2 ตี 3 จนเสร็จ

ถามสถานการณ์วัยรุ่นในชุมชนเป็นอย่างไรบ้าง?

ตอบส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง มีการซื้อและขายยาเสพติด กลางคืนจับกลุ่ม รวมแก๊งค์ขับรถมอเตอร์ไซค์ซิ่ง

ถามมีใครชวนเราเข้าแก๊งค์บ้างไหม มีเพื่อนของเราอยู่ในแก๊งค์บ้างไหม?

ตอบผมไม่เคยครับ ส่วนเพื่อนๆ เคยมีบ้างที่ไปขี่มอเตอร์ไซค์ซิ่งแต่ออกมาแล้ว เราช่วยกันดึงๆ กันออกมา

ถามคิดว่าการสานหวายน่าสนใจกว่าการไปขี่รถมอเตอร์ไซค์หรือเล่นเกมไหม?

ตอบการสานหวายทำให้ได้อยู่กับตัวเอง เราจะตั้งใจดูว่าสานผิดหรือสานไม่ผิด บางครั้งเรากับเพื่อนนั่งสานหวายอยู่ด้วยกัน ได้พูดคุยกันสนุกสนาน ผมคิดว่าสนุกกว่าการไปขี่รถเล่น เพราะการขี่รถทำให้เปลืองน้ำมัน การสานหวายทำให้ได้สร้างรายด้วย

ถามโครงการดำเนินการไปแล้วกี่เปอร์เซ็นต์ เราทำหน้าที่อะไรบ้าง?

ตอบ75 เปอร์เซ็นต์ครับ ปฏิบัติเสร็จสิ้นแล้ว เหลือแต่การทดลองโพสต์ขาย ผมเป็นรองหัวหน้าโครงการ ผมจะทำหน้าที่เตรียมข้อมูลที่สนใจ จากนั้นจะแบ่งให้เพื่อนๆ ไปหาลายที่สนใจและนำกลับมาลองทำ โดยผมจะมีหน้าที่ทำลายใหม่ๆ ให้เพื่อนดู ช่วยๆ กันทำ ผมจะประสานงานเพื่อนรวมถึงไปตามเพื่อนกลับมาทำงาน บางครั้งเพื่อนไปอยู่บ้านแฟนพวกผมก็ขี่รถไปตามกลับมาให้มาทำงาน กลุ่มของเรามี 6 คน เพื่อนๆ ช่วยงานกันดี

ถามเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรในตัวเองบ้าง?

ตอบแต่ก่อนผมเป็นคนไม่แสดงออก ไม่จับไมค์ เวลาใครถามอะไรจะให้เพื่อนตอบหมด เราไม่ชอบ ไม่กล้า ครั้งแรกที่เพื่อนให้เราพูดหน้ากล้องเพื่อถ่ายคลิปการสานหวาย ผมก็พูดแปลกๆ ฮาๆ ตลกมาก บอกเพื่อนว่าอย่าเอาไปลง แต่เมื่อเพื่อนนำไปลง ก็คิดว่าไหนๆ ก็อายแล้วทำไปให้สุดๆ ไปเลย เรื่องการสานสมัยก่อนรู้จักแค่ลาย ขึ้น 3 ลง 3 เท่านั้น ตอนนี้รู้จักทุกลาย ลายรังนก ลายลูกแก้ว ผมฝึกทำได้ทุกลาย ถ้าลายใหม่ๆ ผมจะดูว่าเริ่มอย่างไร ขึ้นลงอย่างไร ไปสัก 2-3 แถว จากนั้นก็ฝึกฝนจนทำได้ ทำไปเรื่อยๆ ทำไปเรื่อยๆ ถ้าผิดก็กลับมานั่งดูว่าทำไม ทำไปเรื่อยๆ อย่างลายลูกแก้วผมทำๆ แก้ๆ อยู่ 4 – 5 ชั่วโมงจนเสร็จเป็นเก้าอี้ 1 ตัว ทำอยู่แบบนั้นจนกว่าจะทำได้

ถามบูมชอบวิชาอะไร การสานส่งผลต่อการเรียนของเราอย่างไร?

ตอบผมชอบคณิตศาสตร์มาตั้งแต่เด็ก การสานช่วยให้ผมมีสมาธิจดจ่อกับการเรียนมากขึ้น ผลการเรียนดีขึ้นจากแต่ก่อนได้ 2 กว่าๆ เดี๋ยวนี้ขึ้นมาเป็น 3 สมัยก่อนผมไปโรงเรียนไปนั่งเล่นกับเพื่อนไม่มีสมาธิ ช่วงหลังมานี้ผมนั่งเรียนฟังครู จึงทำให้ผลการเรียนดีขึ้น

ถามด้านการเข้าสังคมของเราเป็นอย่างไรบ้าง?

ตอบแต่ก่อนผมเข้ากับคนยาก ถ้าไม่สนิทจริงๆ ผมจะคุยกับใครไม่รู้เรื่อง แต่ถ้าสนิทแล้วจะเล่นสนุกเฮฮา แต่เดี๋ยวนี้เข้ากับเพื่อนง่าย ไม่เครียด

ถามอะไรที่ทำให้เรากลายเป็นนักสานหวายที่ชำนาญ?

ตอบพี่สาวของผมก่อนเข้าเรียนในเมืองบอกผมว่า ถ้าจะไปโรงเรียนแบบไปบ้าง ไม่ไปบ้างแบบนี้ ก็ทำอะไรให้สำเร็จสักอย่าง จึงส่งผมไปทำอยู่ที่นั้นให้ไปทำอยู่ทั้งวันจนกว่าจะทำเป็น ผมไม่อยากไปโรงเรียนเพราะรู้สึกมีความเครียดสะสม ผมเรียนตามทันบ้าง ผลการเรียนกลางๆ แต่รู้สึกถูกว่า ถูกดุทุกวัน ไปทุกวันถูกว่าทุกวัน ไม่ชอบเลย

ถามแล้วการเรียนกับปราชญ์ชุมชนเป็นอย่างไร?

ตอบผมเรียนรู้จากคนเฒ่าในชุมชน รู้สึกสนุกกว่าเพราะว่าเวลาเขาสอนเรื่องสานเขาจะเล่าเชื่อมโยงกับสมัยอดีต เรื่องแต่เก่าก่อน ว่าชีวิตผ่านอะไรมาบ้าง ผมฟังแล้วรู้สึกสนุกดี บางครั้งคนเฒ่าเล่าตลก สนุกมาก พอผมสนใจการสานคนในชุมชนก็ชื่นชมว่าดี เพราะจะได้มีคนสืบสานการสานหวายเทียม

ถามหวายเทียมนำมาจากไหน?

ตอบ พ่อเพื่อนสั่งมาจากโรงงาน

ถามสมัยก่อนใช้อะไรทำ?

ตอบใช้หวายจริงๆ และผักตบชวา

ถามเป้าหมายต่อไป หลังจากการพัฒนาลายคืออะไร?

ตอบผมอยากเพิ่มยอดขาย เพิ่มมูลค่างานหวายให้สูงขึ้น เพื่อเพิ่มรายได้ให้คนที่มาสานในชุมชน และเพิ่มจำนวนคนสานให้มากขึ้นเพื่อให้คนอื่นๆ มีรายได้ หากสินค้ามีมูลค่าเพิ่ม คนอื่นจะสนใจมาสานเอง

ถามความยากและอุปสรรคในการทำโครงการคืออะไร?

ตอบด้วยปีนี้เป็นปีแรก ความยากของผมคือการตามเพื่อน บางทีเพื่อนไปอำเภอขุขันธ์บ้านแฟน นัดไม่มา ผมก็ต้องไปตามให้กลับมาช่วยๆ กันทำด้วยกัน ผมคิดว่าครั้งนี้เราทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม เริ่มด้วยกันแล้วก็ต้องทำด้วยกันไป ถ้าผมทำเองก็เป็นคนเดียว แต่การตามให้เพื่อนมาทำด้วยกัน ทำให้กลุ่มเราทำเป็นไปด้วยกัน บางครั้งผมหงุดหงิด แต่ก็บอกเพียงว่า “มาหน่อยเด้อ มาทำกันหน่อยเด้อ” อุปสรรคระหว่างการทำโครงการคือช่วงหาประวัติหมู่บ้าน ข้อมูลพื้นฐานชุมชนต่างๆ ผมไปขอข้อมูลผู้ใหญ่บ้าน ผุ้ใหญ่บ้านจะยุ่งตลอด มีครั้งหนึ่งผมไปหา เขาบอกว่าจะเอาข้าวขึ้นยุ้งให้เสร็จก่อน ผมเลยช่วยขนข้าวจะได้ข้อมูลเพราะวนเวียนมาหาหลายครั้งแล้ว ที่ต้องไปหาผู้ใหญ่บ้านให้ได้เพราะเวลาไปถามเอาจากผู้เฒ่าจะได้เรื่องราวแต่ไม่ได้ตัวเลข จำเป็นต้องเอามาจากผู้ใหญ่บ้าน ผมได้รู้ว่าชุมชนอรุณพัฒนามีการย้ายรกร้างมาตั้งกันใหม่ที่นี่ และอาชีพสานหวายมีมาแต่เดิมจากรุ่นปู่ รุ่นตา สืบทอดมาที่พ่อของเบญ (พี่เอ๋ พี่เลี้ยงโครงการ) แต่ทำกันในครอบครัวของเบญเท่านั้น

ถามพี่เอ๋ พ่อของเบญและเป็นพี่เลี้ยงโครงการด้วยให้คำปรึกษาเราอย่างไรบ้าง?

ตอบน้าเอ๋เป็นน้าที่เราสนิท ไว้ใจ ให้คำปรึกษาตลอด อยู่ด้วยกันตลอด มีเหตุการณ์หนึ่งที่หัวหน้าโครงการขับรถล้มมือใช้ไม่ได้ไม่มีใครประสานงาน น้าเอ๋ก็เข้ามาช่วยประสานงานให้จนสำเร็จ พอครั้งที่ 2 เพื่อนติดแฟนไม่กลับมาทำงาน พวกเราไปปรึกษา น้าเอ๋ก็ช่วยทุกวิถีทาง ช่วยโทรไปตามจนกลับมาได้ นอกจากโครงการพวกเราก็คุยกับน้าหลายๆ เรื่อง เช่นการเรียน อนาคต การเรียนสายอาชีพ

ถามมีรายได้จากการสานหวายเทียมอย่างไร?

ตอบตั้งแต่ผมสานผมได้รายได้มา 4,000 กว่าบาทแล้ว เก้าอี้หนึ่งตัวขาย 700 ผมจะได้ 300 ผมนำเงินที่ได้มาใช้ส่วนตัว ไม่ได้ขอค่าขนมที่บ้านแล้ว

ถามหลังจากนี้จะทำอะไรต่อไป?

ตอบกลุ่มของเราจะประกาศขายทาง Facebook ชื่อเพจว่า เพจสานศิลป์ ดำเนินการโดยเยาวชนเอง โดยปรึกษาราคาจากน้าเอ๋ หากเราทำลายใหม่ๆ น้าเอ๋จะสอบถามราคาจากลูกค้าในเพจว่าเท่าไหร่ดี และแนะนำเรื่องราคา การตลาด การจัดส่ง ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนเริ่มต้นที่กำลังทดลองทำ

ถามเราชอบการเรียนรู้แบบไหน?

ตอบชอบแบบการลงมือทำ เพราะการลงมือทำจะทำให้เรารู้ว่าถูกหรือไม่ถูก หากเราอ่านแต่ทฤษฎีเราจะไม่รู้ว่าถูกไหม เราจะนั่งคิดแต่ว่าทำยังไง ได้ไหม แต่หากทำจะรู้เลยว่าทำถูก ไม่ถูก ผมอ๊อกเหล็กเอง มีน้าเอ๋เป็นคนสอน ได้ฝึกฝน ได้สาน ได้ทำลายยากๆ

ถามสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำงานคืออะไร?

ตอบแต่ก่อนผมคิดว่าโซฟาตัวหนึ่งต้องทำเองทั้งหมด แต่จริงๆ แล้วเราเอาโครงโซฟาเดิมมาปรับ อ๊อกเหล็กเพิ่มเข้าไป ทำให้สวยเป็นชิ้นใหม่ได้ ผมรู้จักตัวเองมากขึ้น ผมรู้ว่าผมชอบที่จะอยู่เงียบๆ สงบๆ ทำงานอะไรไปเรื่อยๆ ไม่เสียงดัง โวยวาย เรียนรู้จากน้าเอ๋ว่าทำอะไรต้องมีขั้นตอน มีเหตุผลว่าทำไปทำไม ใจเย็น ค่อยๆ อธิบายจนเราเข้าใจ

ถามข้อดีของบูมคืออะไร?

ตอบผมเป็นคนไม่ปล่อยเพื่อน ไม่ว่าเพื่อนจะเป็นอย่างไรผมจะตามกลับมา ไม่อยากให้ไปเหลวไหล ไม่อยากให้เพื่อนไปทำในสิ่งที่ไม่ดี หากเพื่อนโพสต์เพ้อเจ้อ หรือที่ไม่สบายใจผมจะไปที่บ้าน ชวนให้ลุกขึ้นมาทำงาน ผมกับเพื่อนรู้จักกันมานาน ไม่อยากให้เพื่อนออกนอกลู่นอกทาง ความเป็นเพื่อนก็อยากพากันไปได้ดี ผมคิดว่าการทำโครงการจะทำให้เราและเพื่อนผ่านช่วงชีวิตวัยรุ่นได้ ไม่ออกนอกลู่นอกทาง